พระพหุปุตติกาเถรี

วันที่ 03 พค. พ.ศ.2560

พระพหุปุตติกาเถรี,วาไรตี้,บทความประจำวัน

 

เรื่องพระพหุปุตติกาเถรี(มีลูกมากใช่ว่าจะสบายในบั้นปลาย)

สถานที่ตรัส พระเชตวัน

            เล่ากันว่า มีตระกูลหนึ่ง ณ กรุงสาวัตถี ได้มีบุตร ๗ คนและธิดา ๗ คน บุตรและธิดาทั้งหมดนั้นเติบโตขึ้น อาศัยอยู่ในเรือน มีความสุขตามธรรมดาของตน. ต่อมาบิดาของคนเหล่านั้นได้ละโลกแล้ว.

              มหาอุบาสิกา เมื่อสามีล่วงลับไปแล้ว ก็ยังไม่แบ่ง ทรัพย์ให้แก่บุตรทั้งหลายก่อน.

            ครั้งนั้น บุตรทั้งหลายกล่าวกับมารดานั้นว่า “เมื่อบิดา ของฉันล่วงลับไปแล้ว ประโยชน์อะไรของแม่กับทรัพย์นั้น พวกฉันไม่อาจจะดูแลแม่ได้หรือ?”

      นางฟังคำของบุตรเหล่านั้นแล้วก็นิ่งเสีย ถูกบุตร เหล่านั้นพูดบ่อยๆ จึงคิดว่า ‘พวกลูกๆ จะบำรุงเรา, ประโยชน์อะไรของเราด้วยทรัพย์ส่วนหนึ่ง’ ได้แบ่งสมบัติทั้งหมด ครึ่งหนึ่งให้ไป.

          เมื่อล่วงไป ๒-๓ วัน ภรรยาของบุตรคนโตกล่าวกับ แม่ผัวนั้นว่า “โอ คุณแม่ของพวกเรา มาเรือนนี้เท่านั้น ราวกับให้สมบัติไว้เพียง ๒ ส่วนแก่บุตรชายคนโตของเรา.” แม้ภรรยาของบุตรที่เหลือ ก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน.

         ตั้งต้นแต่ธิดาคนโตก็กล่าวกับนางดุจเดียวกัน แม้ใน เวลาที่นางไปเรือนของธิดาเหล่านั้น.

    นางถูกดูหมิ่น คิดว่า ‘จะมีประโยชน์อะไร กับการอยู่ ในเรือนของคนเหล่านี้ เราจะบวชเป็นนางภิกษุณี’ แล้วไปสู่ สำนักของนางภิกษุณีขอบรรพชาแล้ว. นางภิกษุณีเหล่านั้น ให้นางบรรพชาแล้ว.

      เมื่ออุปสมบทแล้วปรากฏชื่อว่า ‘พหุปุตติกาเถรี.’ นางคิดว่า ‘เราบวชในเวลาแก่ เราไม่ควรเป็นคนประมาท’ จึงทำวัตรปฏิบัติแก่นางภิกษุณีทั้งหลาย คิดว่า ‘จะทำสมณธรรมตลอดคืนยังรุ่ง’ จึงเอามือจับเสาต้นหนึ่งที่ ภายใต้ปราสาท เดินเวียนเสานั้นทำสมณธรรม

        เมื่อเดินจงกรมก็เอามือจับต้นไม้ด้วยคิดว่า ‘ศีรษะ ของเราพึงกระทบต้นไม้หรือที่ไหนๆ ในที่มืด ‘ดังนี้แล้ว

    เดินวนเวียนต้นไม้นั้น ทำสมณธรรม นึกถึงธรรม ด้วยคิดว่า ‘จะทำตามธรรมที่พระศาสดาทรงแสดง’ ตาม ระลึกถึงธรรมอยู่เทียว ทำสมณธรรม.

      ในเวลานั้น พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีเทียว ทรงแผ่พระรัศมีไปดังประทับนั่งตรงหน้า เมื่อตรัสกับนาง ตรัสว่า “พหุปุตติกา ความเป็นอยู่แม้ครู่เดียวของผู้เห็น ธรรมที่เราแสดง ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปีของ ผู้ไม่พิจารณา ผู้ไม่เห็นธรรมที่เราแสดง”

       เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ ว่า :-

“ก็ผู้ใดไม่เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี

ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม

ประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่ของผู้นั้น.”

     เมื่อจบคาถา พระพหุปุตติกาเถรีดำรงอยู่ในพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ดังนี้แล.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029976801077525 Mins