.....ในระยะเริ่มประกาศพระศาสนานั้น ส่วนใหญ่พระบรมศาสดา ประทับประจำอยู่ในแคว้นมคธ เนื่องจากมีเวฬุวันเป็นที่ประทับ จะเสด็จไปยังแคว้นใดก็ตาม เมื่อเสร็จพุทธกิจโปรดเวไนยสัตว์แล้ว จะเสด็จกลับแคว้นมคธ เสมอ แม้แต่เหล่าสาวกที่ออกไปประกาศพระศาสนา เสร็จแล้วก็จะพากันกลับมา กรุงราชคฤห์ของแคว้นมคธ นี้ทำนองเดียวกัน
.....เมื่อมีการประกาศพระศาสนาไปแพร่หลาย ข่าวคราวกระจายไปถึงนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงรอคอยพระราชโอรสมาถึง ๖ ปี ทรงทราบว่าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงดีพระทัย รีบส่งคณะอำมาตย์ไปทูลเชิญเสด็จกลับมาเยี่ยมพระนคร
.....ปรากฏว่าส่งไปคณะใด อำมาตย์เหล่านั้นได้ฟังพระธรรมเทศนา ปฏิบัติตามคำสอนพากันบรรลุเป็นพระอรหันต์หมด เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ภิกษุเหล่านั้นย่อมหมดความยินดี ยินร้ายในอารมณ์ทางโลกทั้งปวง ไม่มีความกังวลด้วยภาระอันใดของชาวโลก จึงไม่มีใครสนใจทูลให้ พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง ที่พระบิดาทูลเชิญ หรือมิฉะนั้นก็เห็นว่าเป็นเรื่อง ที่พระบรมศาสดาทรงพิจารณา เองว่าเวลาใดสมควรเสด็จ ไม่ควรรบกวนพระทัย
.....จนถึงทูตคณะที่ ๑๐ มีอำมาตย์ชื่อกาฬุทายี อันเป็นสหชาติกับพระบรมศาสดาเป็นหัวหน้าคณะ อำมาตย์ผู้นี้ทราบล่วงหน้าจึงทูลลาบวชต่อพระเจ้าสุทโธทนะก่อนออกเดินทาง เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ฟังธรรมแล้ว ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะทำนองเดียวกัน
.....แต่ภิกษุกาฬุทายีไม่ลืม เรื่องพระราชาสุทโธทนะรับสั่งไว้ จึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดา พระองค์ทรงรับนิมนต์ และเสด็จด้วยพระบาทพร้อมเหล่าภิกษุ สิ้นเวลาเดินทางสองเดือน จึงถึงพระนครกบิลพัสดุ์ ประทับในอุทยานของพระญาติผู้หนึ่งพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๒ หมื่นรูป เรียกที่นั้นว่า นิโครธาราม
.....เหล่าพระญาติทั้งหลายได้พากันมาเฝ้า โดยให้พระญาติผู้เยาว์อยู่ด้านหน้าๆ เพื่อถวายบังคม ส่วนพระญาติผู้ใหญ่อยู่ทางท้ายๆ เพราะยังมีทิฏฐิมานะว่าเป็นผู้เกิดก่อน ไม่ยอมถวายบังคม พระบรมศาสดาทรงทราบอัธยาศัย จึงทรงกระทำพุทธปาฏิหาริย์ เสมือนพระองค์ทรงลอยอยู่ในอากาศ โปรยละอองพระบาทเหนือ เศียรเหล่าพระญาติเหล่านั้น ทำให้สิ้นมานะพากันถวายบังคม
.....ขณะนั้นมี ฝนสีแดง เรียกว่า ฝนโบกขรพรรษ ตกมาจากอากาศ เป็นที่ชุ่มชื่นใจ ใครต้องการให้เปียกจึงจะเปียก ใครไม่ต้องการก็ไม่เปียก กลิ้งจากตัวไปเหมือนน้ำบนใบบัว ฝนนี้ทำให้พระองค์ตรัส เล่าความเดิมในพระชาติที่ ทรงเกิดเป็นพระเวสสันดร เพราะมีฝนชนิดเดียวกันตก ในวันประชุมพระญาติทำนองเดียวกัน
.....การประชุมครั้งนี้ ไม่มีผู้ใดทูลนิมนต์ถวาย ภัตตาหารพระบรมศาสดา และเหล่าภิกษุสงฆ์ เข้าใจกันว่าพระองค์คง จะเสด็จมาเสวยในพระราชวังเอง รุ่งขึ้นพระบรมศาสดาพาเหล่าภิกษุ เสด็จภิกขาจารตามถนนใน กรุงบิลพัสดุ์ชาวเมือง แตกตื่น โกลาหล ต่างตระหนกตกใจ พากันออกมาดู และนำสิ่งของมาใส่บาตร เพราะชาวอินเดียสมัยนั้นถือวรรณะมาก วรรณะกษัตริย์เดินขออาหารอย่างนี้ ไม่มีใครทำ ชาวเมืองไม่เคยเห็น
.....พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบเรื่อง ทรงเสียพระทัยเป็นที่ยิ่งเพราะ เป็นเรื่องเสื่อมพระเกียรติอย่างร้ายแรง รีบเสด็จตามไปทูล เชิญพระบรมศาสดาเสด็จกลับพระราชวัง ทรงอ้างว่าขัตติยวงศ์ไม่กระทำเช่นนี้ แต่พระบรมศาสดาตรัสชี้แจงว่า พระองค์ปฏิบัติตามพุทธวงศ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำดังนี้ การเที่ยวภิกขาจารเป็นกิจวัตรของสมณะ สมณะไม่ควรประมาท ในการบิณฑบาต สมณะควรประพฤติธรรมโดยสุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่ เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกอื่น
.....พระราชาทรงสดับพระธรรมเทศนาสั้นๆ เพียงเท่านี้ สามารถบรรลุเป็น พระโสดาบันในขณะนั้นเอง จึงไม่ทรงห้ามปรามอีกต่อไป
.....พระบรมศาสดาประทับอยู่ นครกบิลพัสดุ์เสด็จออกบิณฑบาตทุกวัน เพื่อโปรดชาวเมือง พระนางยโสธราทรงทราบข่าวการเสด็จมาแต่ต้น แต่พระนางไม่เสด็จไปเฝ้าด้วย ยังน้อยพระทัยและเสียพระทัย ไม่เคยสร่างโศกเลย ตั้งแต่ พระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครไปเมื่อ ๖ ปีก่อน เพราะเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้น ภรรยาที่ถูกสามีทอดทิ้ง จะรู้สึกอัปยศมาก
.....แต่ด้วยความที่ทรงระลึก ถึงผู้เป็นที่รักอย่างเปี่ยมล้น พระนางทรงแอบทอดพระเนตร ทางช่องพระแกลในเวลาพระบรมศาสดาเสด็จภิกขาจารผ่าน พระนางทรงชี้ให้พระโอรส ราหุลดูพระบรมศาสดาตรัสว่า “นั่นคือ พระบิดาของลูก” เจ้าชายราหุลทอดพระเนตรเห็น แล้วทรงนึกรักพระบรมศาสดายิ่งนัก...