.....ในระยะเริ่มประกาศพระศาสนานั้น ส่วนใหญ่พระบรมศาสดาประทับประจำอยู่ในแคว้นมคธ เนื่องจากมีเวฬุวันเป็นที่ประทับ จะเสด็จไปยังแคว้นใดก็ตาม เมื่อเสร็จพุทธกิจโปรดเวไนยสัตว์แล้วจะเสด็จกลับแคว้นมคธเสมอ แม้แต่เหล่าสาวกที่ออกไปประกาศพระศาสนา เสร็จแล้วก็จะพากันกลับมากรุงราชคฤห์ของแคว้นมคธนี้ทำนองเดียวกัน
.....เมื่อมีการประกาศพระศาสนาไปแพร่หลาย ข่าวคราวกระจายไปถึงนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงรอคอยพระราชโอรสมาถึง ๖ ปี ทรงทราบว่าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงดีพระทัย รีบส่งคณะอำมาตย์ไปทูลเชิญเสด็จกลับมาเยี่ยมพระนคร
.....ปรากฏว่าส่งไปคณะใด อำมาตย์เหล่านั้นได้ฟังพระธรรมเทศนา ปฏิบัติตามคำสอนพากันบรรลุเป็นพระอรหันต์หมด เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ภิกษุเหล่านั้นย่อมหมดความยินดียินร้ายในอารมณ์ทางโลกทั้งปวง ไม่มีความกังวลด้วยภาระอันใดของชาวโลก จึงไม่มีใครสนใจทูลให้พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องที่พระบิดาทูลเชิญ หรือมิฉะนั้นก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเองว่าเวลาใดสมควรเสด็จ ไม่ควรรบกวนพระทัย
.....จนถึงทูตคณะที่ ๑๐ มีอำมาตย์ชื่อกาฬุทายี อันเป็นสหชาติกับพระบรมศาสดาเป็นหัวหน้าคณะ อำมาตย์ผู้นี้ทราบล่วงหน้าจึงทูลลาบวชต่อพระเจ้าสุทโธทนะก่อนออกเดินทาง เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ฟังธรรมแล้ว ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะทำนองเดียวกัน
.....แต่ภิกษุกาฬุทายีไม่ลืมเรื่องพระราชาสุทโธทนะรับสั่งไว้ จึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดา พระองค์ทรงรับนิมนต์ และเสด็จด้วยพระบาทพร้อมเหล่าภิกษุ สิ้นเวลาเดินทางสองเดือน จึงถึงพระนครกบิลพัสดุ์ ประทับในอุทยานของพระญาติผู้หนึ่งพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๒ หมื่นรูป เรียกที่นั้นว่า นิโครธาราม
.....เหล่าพระญาติทั้งหลายได้พากันมาเฝ้า โดยให้พระญาติผู้เยาว์อยู่ด้านหน้าๆ เพื่อถวายบังคม ส่วนพระญาติผู้ใหญ่อยู่ทางท้ายๆ เพราะยังมีทิฏฐิมานะว่าเป็นผู้เกิดก่อน ไม่ยอมถวายบังคม พระบรมศาสดาทรงทราบอัธยาศัย จึงทรงกระทำพุทธปาฏิหาริย์เสมือนพระองค์ทรงลอยอยู่ในอากาศ โปรยละอองพระบาทเหนือเศียรเหล่าพระญาติเหล่านั้น ทำให้สิ้นมานะพากันถวายบังคม
.....ขณะนั้นมีฝนสีแดงเรียกว่า ฝนโบกขรพรรษ ตกมาจากอากาศ เป็นที่ชุ่มชื่นใจ ใครต้องการให้เปียกจึงจะเปียก ใครไม่ต้องการก็ไม่เปียก กลิ้งจากตัวไปเหมือนน้ำบนใบบัว ฝนนี้ทำให้พระองค์ตรัสเล่าความเดิมในพระชาติที่ทรงเกิดเป็นพระเวสสันดร เพราะมีฝนชนิดเดียวกันตกในวันประชุมพระญาติทำนองเดียวกัน
.....การประชุมครั้งนี้ ไม่มีผู้ใดทูลนิมนต์ถวายภัตตาหารพระบรมศาสดาและเหล่าภิกษุสงฆ์ เข้าใจกันว่าพระองค์คงจะเสด็จมาเสวยในพระราชวังเอง
.....รุ่งขึ้นพระบรมศาสดาพาเหล่าภิกษุเสด็จภิกขาจารตามถนนในกรุงบิลพัสดุ์ชาวเมือง แตกตื่น โกลาหล ต่างตระหนกตกใจ พากันออกมาดูและนำสิ่งของมาใส่บาตร เพราะชาวอินเดียสมัยนั้นถือวรรณะมาก วรรณะกษัตริย์เดินขออาหารอย่างนี้ ไม่มีใครทำ ชาวเมืองไม่เคยเห็น
.....พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบเรื่อง ทรงเสียพระทัยเป็นที่ยิ่งเพราะเป็นเรื่องเสื่อมพระเกียรติอย่างร้ายแรง รีบเสด็จตามไปทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จกลับพระราชวัง ทรงอ้างว่าขัตติยวงศ์ไม่กระทำเช่นนี้ แต่พระบรมศาสดาตรัสชี้แจงว่า พระองค์ปฏิบัติตามพุทธวงศ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำดังนี้ การเที่ยวภิกขาจารเป็นกิจวัตรของสมณะ สมณะไม่ควรประมาทในการบิณฑบาต สมณะควรประพฤติธรรมโดยสุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกอื่น
.....พระราชาทรงสดับพระธรรมเทศนาสั้นๆ เพียงเท่านี้ สามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันในขณะนั้นเอง จึงไม่ทรงห้ามปรามอีกต่อไป
.....พระบรมศาสดาประทับอยู่นครกบิลพัสดุ์เสด็จออกบิณฑบาตทุกวัน เพื่อโปรดชาวเมือง พระนางยโสธราทรงทราบข่าวการเสด็จมาแต่ต้น แต่พระนางไม่เสด็จไปเฝ้าด้วยยังน้อยพระทัยและเสียพระทัยไม่เคยสร่างโศกเลย ตั้งแต่พระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครไปเมื่อ ๖ ปีก่อน เพราะเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้น ภรรยาที่ถูกสามีทอดทิ้ง จะรู้สึกอัปยศมาก
.....แต่ด้วยความที่ทรงระลึกถึงผู้เป็นที่รักอย่างเปี่ยมล้น พระนางทรงแอบทอดพระเนตรทางช่องพระแกลในเวลาพระบรมศาสดาเสด็จภิกขาจารผ่าน พระนางทรงชี้ให้พระโอรสราหุลดูพระบรมศาสดาตรัสว่า “นั่นคือ พระบิดาของลูก” เจ้าชายราหุลทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงนึกรักพระบรมศาสดายิ่งนัก...