เสด็จนครกบิลพัสดุ์ โปรดพระพุทธบิดาและชาวเมือง(ตอนที่ ๒)

วันที่ 23 เมย. พ.ศ.2547

 

 

.....พระบรมศาสดาประทับอยู่นครกบิลพัสดุ์เสด็จออกบิณฑบาตทุกวัน เพื่อโปรดชาวเมือง พระนางยโสธราทรงทราบข่าวการเสด็จมาแต่ต้น แต่พระนางไม่เสด็จไปเฝ้าด้วยยังน้อยพระทัยและเสียพระทัยไม่เคยสร่างโศกเลย ตั้งแต่พระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครไปเมื่อ ๖ ปีก่อน เพราะเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้น ภรรยาที่ถูกสามีทอดทิ้ง จะรู้สึกอัปยศมาก

.....แต่ด้วยความที่ทรงระลึกถึงผู้เป็นที่รักอย่างเปี่ยมล้น พระนางทรงแอบทอดพระเนตรทางช่องพระแกลในเวลาพระบรมศาสดาเสด็จภิกขาจารผ่าน พระนางทรงชี้ให้พระโอรสราหุลดูพระบรมศาสดาตรัสว่า “นั่นคือ พระบิดาของลูก” เจ้าชายราหุลทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงนึกรักพระบรมศาสดายิ่งนัก

.....พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุติดตามรูปหนึ่งเสด็จยังตำหนักของพระนางยโสธรา พระองค์ตรัสชี้แจงต่อภิกษุที่ติดตามว่า อย่าห้ามปรามถ้าพระนางจะเสด็จเข้าสวมกอดพระบาทของพระองค์กรรแสง เพราะถ้าถูกห้ามอาจถึงพระทัยวายด้วยความโศก

.....เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง พระนางประคองพระวรกายอันซูบผอม พระฉวีวรรณเศร้าหมองออกมาเฝ้า กลิ้งเกลือกพระเศียรแทบพระบาท ทรงพระกรรแสงแทบสิ้นสมปฤดี
พระพุทธเจ้าทรงปลอบโยนให้สร่างโศก ตรัสถึงพระชาติต่างๆ ในอดีต ซึ่งพระนางทรงเคยเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของพระองค์มานับพระชาติไม่ถ้วน เช่นพระชาติที่เคยเป็นกินนรและกินนรีด้วยกันมา ทรงสรรเสริญความซื่อสัตย์ของพระนาง

.....พระนางยโสธรเทวีทรงฟังแล้ว ก็สร่างโศกและทรงคลายเสียพระทัยลง ตั้งพระทัยฟังธรรมด้วยความโสมนัส เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจบ พระนางก็ทรงบรรลุเป็นพระโสดาบัน

.....ในวันที่ ๕ นับจากที่เสด็จมาถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ในพระราชวังมีพระราชพิธีวิวาหมงคลระหว่างเจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดา (คือพระน้านางปชาบดีโคตมี) ของพระบรมศาสดา กับเจ้าหญิงชนบทกัลยาณี พระเจ้าสุทโธทนะทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาร่วมงานด้วย เมื่อทรงฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว จะเสด็จกลับ ทรงมอบบาตรให้เจ้าชายนันทะถือตามส่งเสด็จ

.....เจ้าชายนันทะเสด็จตามออกมา เจ้าหญิงชนบทกัลยาณีทราบเรื่องรีบวิ่งมาทูลเตือนให้เสด็จกลับวังโดยเร็ว “เจ้าพี่ เสด็จกลับมาเร็วๆ นะเพคะ”

.....แต่เจ้าชายเสด็จตามพระพุทธองค์ไปไกลเพียงใด พระบรมศาสดาไม่ทรงขอบาตรคืน กระทั่งถึงที่ประทับนอกเมือง พระองค์ตรัสถามพระอนุชาว่า “นันทะ เธอจะบวชไหม”

.....ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์มาด้วยกัน เจ้าชายนันทะทรงรักและเกรงพระทัยพระเชษฐามาโดยตลอด ในครั้งนี้ก็ทำนองเดิม เจ้าชายทรงตอบรับด้วยความเกรงพระทัยว่า “บวช พระเจ้าข้า”

.....พระบรมศาสดาทรงให้เจ้าชายนันทะอุปสมบทเป็นภิกษุ นับตั้งแต่วันบวชนั้นเจ้าชายไม่ทรงยินดีในเพศบรรพชิตเลย ทรงระลึกถึงแต่พระคู่หมั้นตลอดเวลา ใคร่ทูลขอลาสิกขาอยู่เสมอๆ แต่ทรงเกรงพระทัยพระบรมศาสดา

.....เจ้าชายนันทะทรงผนวชแล้วไม่นาน พระนางยโสธราจึงทรงให้เจ้าชายราหุลเสด็จไปทูลขอราชสมบัติจากพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาทรงใคร่ครวญแล้ว เห็นว่าเจ้าชายควรได้อริยทรัพย์มากกว่าโลกียทรัพย์ จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรให้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้พระกุมารเป็นสามเณรรูป แรกในพระศาสดา

.....พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว เสียพระทัยว่าราชสมบัติไม่มีผู้สืบทอด จึงทูลขอพระพุทธานุญาตว่า ต่อไปภายหน้าหากจะมีการอุปสมบทให้กุลบุตรผู้ใดก็ตาม ขอให้ผู้ปกครองเห็นชอบด้วยก่อน พระบรมศาสดาทรงอนุญาต จึงเป็นธรรมเนียมสืบกันมาทุกวันนี้

.....เมื่อประทับอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์พอสมควรแก่เวลา พระบรมศาสดาเสด็จกลับกรุงราชคฤห์ ภิกษุนันทะและสามเณรราหุลตามเสด็จด้วย มีเจ้าชายในราชสกุลทรงออกผนวชตามหลายพระองค์ ทั้งที่บวชด้วยศรัทธาและบวชตามเพื่อน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.032170065244039 Mins