ต้องเป็๋นให้ได้ ( ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า ) ความรู้ที่แท้จริง ( ตอนที่ ๒)
....การเห็นด้วยดวงตาธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อจะมองดูสิ่งใด ส่วนประกอบที่สำคัญในการเห็นมีหลายอย่าง ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือแสงสว่าง ที่ใดไม่มีแสงสว่างเลย ที่นั่นมองไม่เห็นอะไรแน่นอน
.....การเห็นทางใจก็ในทำนองเดียวกัน ต้องมีแสงสว่างเกิดขึ้นในจิตใจ หลับตาธรรมดาที่ใช้ประจำนี้ลงเสีย ทำความรู้สึกเหมือนไม่เคยมี ไม่เคยใช้ นึกลงไปในที่ตั้งของจิตซึ่งอยู่ตรงกลางของกาย (เหนือสะดือ ๒ นิ้วมือกลางท้อง) ที่นั่นเป็นที่เกิดของภาพภายใน หรือเรียกตามที่รู้จักกันว่า ตาในหรือทางใน
.....การเห็นภาพภายใน ณ ที่นั้น ต้องอาศัยแสงสว่างเป็นอุปกรณ์สำคัญร่วมอยู่ด้วยก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะนำแสงสว่างใดๆ ในโลกนี้ เช่น ไฟฟ้า ไฟฉาย ไฟจริงๆ ใส่เข้าไปภายในตัว เพียงแต่ใช้ใจนึกถึงความสว่างที่มีในโลก หรือแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เช่น เปลวไฟ ไฟฟ้า ฯลฯ บรรดามีอย่างใดอย่างหนึ่ง นึกถึงให้ภาพความสว่างนั้นมองเห็นได้ที่ศูนย์กลางกาย
.....ขณะใดที่เห็นภาพความสว่างเกิดขึ้นภายในดังกล่าวแล้ว ชัดเจนเหมือนที่ตาธรรมดาภายนอกมองเห็น เมื่อนั้นใจจะเริ่มมีพลัง และสามารถเรียนรู้ความจริงในเรื่องราวต่างๆ ไปได้ ไม่มีที่สิ้นสุด
วิธีเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยการฝึกจิตดังกล่าวนี้ มิใช่เพิ่งมี หรือมีครั้งแรกเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น แต่มีมานานแสนนานนับเวลาจำนวนปีไม่ได้ เจ้าลัทธิต่างๆ มักเป็นผู้ค้นพบวิธีที่กล่าวแล้วนี้ บังเอิญภาพที่เห็นในใจของเจ้าลัทธิเหล่านั้น เกิดภายในตัวก็จริง แต่คลาดเคลื่อนจากศูนย์กลางกายอันเป็นที่ตั้งของจิต ไปเห็นที่ข้างหน้านอกตัวบ้าง ที่บริเวณเหนือศีรษะบ้าง หน้าผากบ้าง บริเวณหน้าอก หน้าท้อง ที่สะดือ หรืออื่นๆ
.....ความรู้ที่ได้จากการเห็นจึงไม่กว้างขวางรู้รอบเหมือนการเห็นในที่สำคัญ อันเป็นที่อยู่ของใจ ณ ศูนย์กลางกาย เปรียบเหมือนต้องการพบใครต้องไปหาที่ผู้นั้นอยู่อาศัย มิใช่หาตามถนนหนทาง
.....หรือเปรียบวิธีฝึกจิตให้เห็นความสว่างภายในเป็นการอ่านหนังสือออก อ่านออกแล้วก็ไม่ค้นคว้าหาอ่านจากห้องสมุดอันเป็นแหล่งเก็บรวบรวมหนังสือ แต่เก็บอ่านเล็กอ่านน้อยตามเศษกระดาษบ้าง หนังสือตามแต่จะหาได้บ้าง ย่อมไม่มีหนทางได้ความรู้แตกฉาน
.....ดังนั้น จึงเป็นที่ทราบกันว่า ศาสดาเจ้าลัทธิหรือหัวหน้าศาสนาต่างๆ จึงรู้และเห็นเพียงสวรรค์บ้าง พรหมบ้าง และถือเอาพระพรหมเป็นผู้สร้างทุกอย่าง ไม่รู้เห็นถึงพระนิพพานอันเป็นที่เลิกเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้เห็นถึงมารโลกอันเป็นที่สร้างกิเลสทำลายคุณภาพจิตใจของสรรพสัตว์ เหมือนพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงส่งจิตเข้าสู่ศูนย์กลางกาย เรียกว่า ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา นี้คือการเดินทางสายกลางของใจ
.....ส่วนที่เข้าใจกันว่า การปฏิบัติตนไม่หย่อนนักไม่ตึงนักในความประพฤติที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชีวิต คือไม่มัวเมาในกามคุณ และไม่เคร่งครัดจนเป็นการทรมานนั้น เป็นทางสายกลางของการดำเนินชีวิต ไม่ใช่ทางสายกลางของจิต
.....แต่ทางสายกลางทั้งสองเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน ถ้าชีวิตความเป็นอยู่มีความพอดี ไม่ฟุ่มเฟือยสุขสบายเกินไป ไม่อัตคัดขาดแคลนเกินไป
.....การทำจิตให้เดินเข้าศูนย์กลางกายทำได้ง่ายและประสบผลสำเร็จ ถ้าความเป็นอยู่ขาดความพอดีหรือเกินพอดี การนำจิตเดินเข้าสู่ทางสายกลางย่อมเป็นไปไม่ได้
หรือจะเรียกว่าเป็นทางสายกลางของกายกับทางสายกลางของใจ ต้องทำพร้อมกันไปจึงจะพบความสำเร็จดังนี้ได้
.....การนำจิตเข้าสู่ทางสายกลางภายในตัว ยิ่งทำได้มากเพียงใด ปัญญา ความรอบรู้ถึงความจริงที่แท้ของสิ่งทุกอย่างก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตาม ทำให้จิตมีคุณภาพ พิเศษเหนือสภาพปกติทั่วไป จิตสามารถมีความรู้ที่ได้รับจากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทั้งยังเหมือน ความรู้ที่ได้จากการคิดใคร่ครวญต่างๆ ด้วย
.....การค้นพบทางสายกลางดังที่กล่าวถึงอยู่นี้เอง เป็นความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงพบและปฏิบัติได้รับผลสำเร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงสั่งสอนผู้อื่นให้รู้เห็นตามด้วย
.....ในเวลานี้ ผลการค้นพบที่กล่าวถึงนั้นยังมีอยู่ ผู้สนใจใคร่รู้ใคร่ปฏิบัติตามสามารถปฏิบัติได้ทันที เมื่อปฏิบัติด้วยดี ถูกต้องวิธี ย่อมบรรลุความสามารถของจิตที่มีคุณภาพสูงสุดเหมือนดังพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
.....หรือถ้ายังไม่สามารถบรรลุได้ในปัจจุบันชาตินี้ ผลการปฏิบัตินั้นสามารถเก็บสะสมเป็นพลังเพิ่มพูนในแต่ละชาติภายภาคหน้าเรื่อยไปได้ ถ้ายังมีความตั้งใจมุ่งมั่นแน่วแน่มั่งคง ในชาติใดที่ปัญญาได้รับการสะสมเต็มที่ย่อมประสบผลสำเร็จเฉพาะตนทันที
ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)
โดย อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล