พระพุทธเจ้าทรงห้ามทำพระพุทธรูปจริงหรือ?

วันที่ 11 มิย. พ.ศ.2561

จากกรณีมีการกล่าวจ้วงจาบและลบหลู่พระพุทธรูปของบุคคลที่นับถือศาสนาอื่น ว่าไม่ถูกต้องไม่สมควรทำ และที่ทำมาก็ผิดและไม่เหมือนพุทธเจ้า เช่นกรณี พระพุทธรูปทำไมไม่มีหนวดเหมือนคนอินเดียมีหนวด?

1.พระพุทธองคตรัสเล่าเองว่า "ปลงผมและหนวด" ก่อนออกบวช
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยต่อมา เรากำลังรุ่นหนุ่ม มีเกศาดำสนิท ยังอยู่ในปฐมวัย เมื่อพระมารดาและพระบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้บวช มีพระพักตร์อาบด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสงอยู่ จึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนไม่มีเรือนบวช เมื่อบวชแล้ว ก็เสาะหาว่ากุศลเป็นอย่างไร

 

 
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมาร(พระวิปัสสีพุทธเจ้า)ได้ตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำรถกลับไปวังจากสวนนี้แหละ ส่วนเราจักปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต ณ สวนนี้แหละ.
 
 
 
 
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราอนุญาตพวกเธอนั่นแหละจงให้กุลบุตรทั้งหลายบรรพชาอุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด.

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงให้กุลบุตรบรรพชาอุปสมบทอย่างนี้.

   ชั้นแรก พวกเธอพึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและอุปสมบท ปลงผมและหนวด แล้วให้ครองผ้ากาสายะ ให้ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลายแล้ว ให้นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี สั่งว่า เธอจงว่าอย่างนี้แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้.
 
 
 
 
 


พระพุทธเจ้าทรงห้ามทำพระพุทธรูปจริงหรือ?
   ยังไม่พบหลักฐานว่า มีพุทธดำรัสห้ามสร้างพระปฏิมาหรือพระพุทธรูปองพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแต่หลักฐานในคัมภีร์ที่กล่าวถึงการมีอยู่หรือการสร้างพระพุทธรูปไว้ปรากฏอยู่ เช่น

   หลักฐานพระพุทธรูปมีมานานแล้ว ปรากฏในคัมภีร์ ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (พระไตรปิฏกอรรถกถา มมร.เล่ม 39 หน้า235-236)

 "ชนแม้ทุกคน จะทำความเคารพยำเกรง บูชาเฉพาะจักรรัตนะและมณีรัตนะเท่านั้น ปรารถนาพรนั้น ๆ และพรบางอย่างที่ปรารถนาแล้ว ๆ ของเขาก็สำเร็จผลได้ รัตนะแม้นั้น เสมอด้วยพุทธรัตนะย่อมไม่มี.
      ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่า รัตนะ เพราะอรรถว่า ทำให้เกิดความเคารพยำเกรง พระตถาคตเท่านั้น ก็ชื่อว่า รัตนะ. จริงอยู่เมื่อพระตถาคตเสด็จอุบัติแล้ว เทวดาและมนุษย์ ผู้มีศักดิ์มาก ทุกหมู่เหล่าเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมไม่ทำ ความเคารพยำเกรงในรัตนะอื่น ย่อมไม่บูชารัตนะไร ๆ อื่น. จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ก็บูชา พระตถาคต ด้วยพวงรัตนะขนาดเท่าภูเขาสิเนรุ. และเทวดาเหล่าอื่นและมนุษย์ทั้งหลายมีพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าโกศลและท่านอนาถบิณฑิกะ เป็นต้นก็บูชาตามกำลัง. พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์ ๙๖ โกฏิ ทรงสร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง ทั่วชมพูทวีป อุทิศถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว. ก็จะป่วยกล่าวไปใย สำหรับหมู่คนที่เคารพยำเกรงเหล่าอื่นเล่า. อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์ไร ๆ อื่น แม้ปรินิพพานแล้ว การทำความเคารพยำเกรง อุทิศสถานที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ประกาศพระธรรมจักรและสถานที่ปรินิพพาน หรือเจดีย์ คือ พระปฏิมา [พระพุทธรูป] ก็เป็นไปเหมือนของพระผู้มีพระภาคเจ้า. รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคตแม้เพราะอรรถว่าทำให้เกิดความเคารพยำเกรง ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้."
 
 ในอรรถกถาพระวินัยปิฏกมีเรื่องการแต่งตั้งภิกษุผู้ทำหน้าที่ต่างๆ ของสงฆ์ ก็ปรากฏมีภิกษุผู้รักษาโรงอุโบสถ และผู้รักษาเรือนพระปฏิมา(เรือนพระพุทธรูป) ในปฐมสมันตปาสาทิกาแปล  (พระไตรปิฏกอรรถกถา มมร.เล่ม 2 หน้า 194)
        "ควรแต่งตั้งภิกษุผู้อยู่ในอาวาส, ส่วนภิกษุผู้ถืออัพโภกาสิกธุดงค์ก็ดี ผู้ถือรุกขมูลิกธุดงค์ก็ดี ไม่ควรให้รับวาระ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ภิกษุรูปหนึ่งยังเป็นพระนวกะอยู่, แต่เธอเป็นพหูสูต สอนธรรมให้การสอบถาม บอกบาลีแสดงธรรมกถา แก่ภิกษุเป็นอันมาก ทั้งช่วยภาระของสงฆ์ด้วย,ภิกษุนี้ เมื่อฉันลาภอยู่ก็ดี อยู่ในอาวาสก็ดี ไม่ควรให้รับวาระ, ควรรู้กันว่าเป็นคนพิเศษ. แต่ภิกษุผู้รักษาโรงอุโบสถ และเรือนพระปฏิมา[พระพุทธรูป]ควรให้ข้าวยาคูและภัตเป็นทวีคูณ ข้าวสารทะนานหนึ่งทุกวัน ไตรจีวรประจำปี และกัปปิยภัณฑ์ที่มีราคา ๑๐ หรือ ๒๐ กหาปณะ. "
 
 
      "ภิกษุนั้นรับสาสน์ของอุบาสกผู้มีศรัทธามีความเลื่อมใส ด้วยคำว่า เอวมาวุโส ดังนี้แล. ได้ยินว่า การนำข่าวสาสน์ที่เป็นกัปปิยะเห็นปานนี้ไป ย่อมควร. เพราะฉะนั้น ภิกษุไม่พึงทำความรังเกียจในข่าวสาสน์ทั้งหลายเช่นนี้ว่า ขอท่านจงถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคเจ้าตามคำของเรา ดังนี้ ก็ดี ว่า ขอท่านจงไหว้พระเจดีย์ พระปฏิมา[พระพุทธรูป]ต้นโพธิ์ พระสังฆเถระ ดังนี้ ก็ดี ว่า ท่านจงทำการบูชาด้วยของหอมการบูชาด้วยดอกไม้ที่พระเจดีย์ ดังนี้ ก็ดี ว่า ขอท่านจงนิมนต์ให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกัน, พวกเราจักถวายทาน จักฟังธรรม ดังนี้ ก็ดี ข่าวสาสน์เหล่านี้เป็นกัปปิยสาสน์ ไม่เกี่ยวด้วยคิหิกรรมของพวกคฤหัสถ์ ด้วยประการฉะนี้แล."
 
ในเรื่องการถวายทานสงฆ์สองฝ่าย
"ถามว่า เฉพาะในกาลก่อน ทายกทั้งหลายถวายทานแก่สงฆ์สองฝ่ายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งตรงกลาง ภิกษุนั่งข้างขวา ภิกษุณีนั่งข้างซ้าย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระสังฆเถระแห่งสงฆ์ ๒ ฝ่าย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบริโภคปัจจัยที่พระองค์ได้ด้วยพระองค์เองบ้าง รับสั่งให้แก่ภิกษุทั้งหลายบ้าง. ส่วนในบัดนี้ คนผู้ฉลาดทั้งหลายตั้งพระปฏิมา[พระพุทธรูป]หรือพระเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ แล้วถวายทานแก่สงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ตั้งบาตรบนเชิงข้างหน้าแห่งพระปฏิมา[พระพุทธรูป]หรือพระเจดีย์แล้วถวายทักษิโณทกกล่าวว่า ขอถวายแด่พระพุทธเจ้า ดังนี้แล้ว ใส่ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันใดเป็นที่หนึ่งในบาตรนั้น หรือนำมายังวัด ถวายบิณฑบาตและวัตถุมีระเบียบและของหอมเป็นต้น กล่าวว่า นี้ถวายพระเจดีย์" (7/368)
 
ตติยสมันตปาสาทิกาแปล  อรรถกถาพระวินัย (9/200)
      ก็เรือนเจดีย์ เรือนโพธิ์ เรือนพระปฏิมา[พระพุทธรูป]ร้านไม้กวาด ร้านเก็บไม้เวจกุฎี โรงอิฐ โรงช่างไม้ ซุ้มประตู โรงน้ำ ศาลาคร่อมทาง ศาลาริมสระเหล่านี้ ไม่ใช่เสนาสนะ.
 
      ภิกษุนั้นพึงปรนนิบัติเจดีย์. แม้ในต้นโพธิ์ เรือนโพธิ์ เรือนปฏิมา[พระพุทธรูป] ร้านไม้กวาด ร้านเก็บไม้ เวจกุฎี ซุ้มประตู กุฎีน้ำ โรงน้ำ และโรงไม้สีไฟก็มีนัยเหมือนกัน.
 
                    ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต 47/28
ที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงธรรมจักร และสถานที่ปรินิพพาน หรือปฏิมากรรม(พระพุทธรูป)และเจติยสถานเป็นต้น ของพระกัสสปพุทธเจ้า แม้ปรินิพพานแล้ว เหมือนกับการทำการบูชาแสดงทำความเคารพเจาะจงต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า รัตนะที่จะเสมอด้วยพระตถาคตจึงไม่มี แม้เพราะอรรถว่าอันบุคคลทำการบูชาอย่างนี้.
 
บุญเท่ากันแม้ในการบูชาพระพุทธเจ้าผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ แม้บูชาในพระปฏิมา[พระพุทธรูป]ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แม้ปรินิพพานไปแล้ว
วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน 71/330
          ...พระอริยสาวก อาจารย์ อุปัชฌาย์ มารดา บิดา และครูเป็นต้น ชื่อว่าปูชารหบุคคล (บุคคลที่ควรบูชา) ใคร ๆ ไม่สามารถจะทำการนับส่วนแห่งบุญที่บุคคลบูชาแล้วในปูชารหบุคคลเหล่านั้น ด้วยสักการะมีระเบียบดอกไม้ดอกปทุม ผ้า เครื่องอาภรณ์และปัจจัย ๔ เป็นต้น ด้วยทรัพย์ตั้งแสนเป็นต้น แม้ด้วยอานุภาพอันใหญ่ได้ มิใช่เพียงบูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่อย่างเดียวเท่านั้น แม้บูชาใน
พระเจดีย์ พระปฏิมา[พระพุทธรูป]และต้นโพธิ์เป็นต้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แม้ปรินิพพานไปแล้ว ก็นัยนี้เหมือนกัน.
 
ชนเหล่าใด ทำลายเป็นกรรมหนัก เสมอด้วยอนันตริยกรรม
                 ปปัญจสูทนี  อรรถกถามัชฌิมนิกาย  อุปริปัณณาสก์ 22/312
      ถามว่า ต่อมา เมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วชนเหล่าใด ทำลายเจดีย์ ทำลายต้นโพธิ์ ประทุษร้ายพระบรมธาตุ กรรมอะไรจะเกิดแก่ชนเหล่านั้น ?
      ตอบว่า (การทำเช่นนั้น) เป็นกรรมหนัก เสมอด้วยอนันตริยกรรมแต่การตัดกิ่งไม้โพธิ์ที่ขึ้นเบียดพระสถูปที่บรรจุพระธาตุ หรือพระปฏิมา[พระพุทธรูป]ควรทำ แม้ถ้าพวกนกจับที่กิ่งโพธิ์นั้นถ่ายอุจจาระรดพระเจดีย์ ก็ควรตัดเหมือนกัน. ก็เจดีย์ที่บรรจุพระสรีรธาตุสำคัญกว่าบริโภคเจดีย์ (เจดีย์ที่บรรจุเครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้า). แม้รากโพธิ์ที่งอกออกไปทำลายพื้นที่ ที่ตั้งเจดีย์จะตัดทิ้งก็ควร ส่วนกิ่งโพธิ์กิ่งใดขึ้นเบียดเรือนโพธิ์ จะตัดกิ่งโพธิ์นั้นเพื่อรักษาเรือน (โพธิ์) ไม่ควร. ด้วยว่า เรือนมีไว้เพื่อต้นโพธิ์ ไม่ใช่ต้นโพธิ์มี
ไว้เพื่อประโยชน์แก่เรือน แม้ในเรือนอาสนะก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ก็ในเรือนอาสนะใด เขาบรรจุพระบรมธาตุไว้ เพื่อจะรักษาเรือนอาสนะนั้น จะตัดกิ่งโพธิ์เสียก็ได้. เพื่อการบำรุงต้นโพธิ์จะตัดกิ่งที่ค้อมลง หรือที่ (เนื้อ) เสียออกไปก็ควรเหมือนกัน. แม้บุญก็ได้ เหมือนในการปฏิบัติพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
 
      จริงอยู่ ในเวลาที่มีงานฉลองพระวิหารเป็นต้น คนผู้ไปด้วยความตั้งใจว่า เราจักไหว้พระเจดีย์ และจักไหว้พระปฏิมา[พระพุทธรูป]นั้น ๆ เราจักดูโปตถกรรม(การทำหนังสือ) และจิตรกรรม (การวาดภาพ) ดังนี้ ไหว้หรือเห็นสิ่งหนึ่งแล้วก็ตั้งใจเพื่อต้องการไหว้ เพื่อต้องการชมสิ่งนอกนี้แล้ว ก็ไปเพื่อไหว้บ้างเพื่อดูบ้างทีเดียว อย่างนี้ จิตชื่อว่าก้าวไปจากอารมณ์ โดยอัชฌาศัย คือความปรารถนา. 
 
                      อรรถกถานิธิกัณฑสูตร พรรณนาคาถาที่ ๗ 39/313
          ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี.
     ในคาถานั้น ชื่อว่า เจติยะ เพราะควรก่อ ท่านอธิบายว่า ควรบูชา. ชื่อว่า เจติยะ เพราะวิจิตรแล้ว. เจดีย์นั้นมี ๓ อย่าง คือ บริโภคเจดีย์อุทิสสกเจดีย์ ธาตุกเจดีย์.
     บรรดาเจดีย์ทั้ง ๓ นั้น โพธิพฤกษ์ ชื่อว่า บริโภคเจดีย์ พระพุทธปฏิมา[พระพุทธรูป] ชื่อว่า อุทิสสกเจดีย์ พระสถูปที่มีห้องบรรจุพระธาตุชื่อว่า ธาตุกเจดีย์.

         สรุปว่า ยังไม่พบหลักฐานว่า มีพุทธดำรัสห้ามสร้างพระปฏิมาหรือพระพุทธรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย มีแต่หลักฐานในคัมภีร์ที่กล่าวถึงการมีอยู่ของพระพุทธรูปไว้หรือเรือนพระปฏิมาปรากฏอยู่ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนทางหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สร้างพระพุทธรูปหรือไม่ แต่มีความชัดเจนว่า ไม่ได้ตรัสห้ามไว้ เมื่อไม่ตรัสห้ามหรือไม่ตรัสอนุญาตก็ต้องเข้าหลักมหาปเทส 4 อย่างได้
         และอีกอย่างที่คนอ้างเหตุว่าพระพุทธเจ้า ให้ธรรมะกับวินัยเป็นศาสดาแทน จึงหมายถึงการห้ามสร้างประพุทธรูป ที่จริงการสร้างพุทธรูปก็จัดอยู่ในส่วนของธรรมะ คือ การแสดงการบูชา ก็เป็นของมงคลสูตร และเมื่อบูชาก็เกิดบุญซึ่งเป็นส่วนของบุญกิริยาวัตถุเช่นกัน
       ทำไมสมัยแรกยังไม่ปรากฏหลักฐานพุทธรูป? เพราะสมัยนั้นผู้คนนิยมสร้างพระสถูปเจดีย์กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ยุคสมัยต่อๆ มาจึงนิยมสร้างพุทธรูป จึงทำให้หลงเหลือหลักฐานมาจนถึงปัจจุบันนี้


พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 190

                          พระพุทธานุญาตมหาปเทส  ๔
           [๙๒]   ก็โดยสมัยนั้นแล    ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่า    สิ่งใดหนอ    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้    สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาต  จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระมีพระภาคเจ้า.  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง   ๔  ข้อ   ดังต่อไปนี้.            
๑.   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า  สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร   ขัดกับสิ่งที่ควร  สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.           
๒.   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า    สิ่งนี้ไม่ควรหากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร   ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.           
๓.  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า  สิ่งนี้ควรหากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร   ขัดกับสิ่งที่ควร  สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.           
๔.  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า  สิ่งนี้ควรหากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร  ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร   สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022874434789022 Mins