“เคารพ” คือต้นทางแห่งความเจริญ ตรงข้ามกับ
“จับผิด” ซึ่งเป็นหายนะของมวลมนุษยชาติ
รู้จักใจกันก่อน
การที่จะศึกษาเรื่องความเคารพให้เข้าใจได้ง่ายนั้น จะต้องมาทำความเข้าใจเรื่อง “ใจ” กันเสียก่อน เพราะความเคารพเกิดขึ้นที่ใจ และเรื่องใจเป็นความลับประจำโลก ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมาบังเกิดขึ้นในโลก ไม่มีใครรู้ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของใจว่า
๑) คนเราทุกคนมีใจ ไม่ใช่มีแค่กายเท่านั้น
๒) ใจมีลักษณะเป็นอย่างไร
๓) ใจตั้งอยู่ที่ไหน
๔) ใจมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
๕) ความดีและความชั่วถูกบรรจุเข้าไปในใจคนได้อย่างไร
๖) ความชั่วกัดกร่อนใจอย่างไร
๗) ความดีสามารถเพิ่มความผ่องใสให้แก่ใจได้อย่างไร
ไม่มีใครรู้เรื่องเหล่านี้เลย นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ใจที่จะเกิดความเคารพขึ้นได้ จะต้องเป็นใจที่มีคุณภาพเท่านั้น ถ้าใจไม่มีคุณภาพ จะไม่มีความเคารพเกิดขึ้นในใจได้เลย
ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องความเคารพต่อไป ก็ขออาราธนาพุทธพจน์อันเป็นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องใจมาให้รับทราบกันก่อนว่า การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทำให้พระองค์รู้ยิ่งเห็นจริงในเรื่องใจลึกซึ้งขนาดไหน
ตัวอย่างพุทธพจน์เรื่อง ใจ
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ
จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้
ขุ.ธ. (ไทย) ๔๐/๔๐๓
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ
การฝึกจิตเป็นการดี
ขุ.ธ. (ไทย) ๔๐/๔๐๓
จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้
ม.มู. วัตถูปมสูตร (ไทย) ๑๗/๔๓๓
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้
ม.มู. วัตถูปมสูตร (ไทย) ๑๗/๔๓๓
ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชุํ กโรติ เมธาวี อุสุกาโรว เตชนํ
ชนผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอก
อันบุคคลรักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ให้ตรง
ดุจช่างศรดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น
ขุ.ธ. (ไทย) ๔๐/๓๘๙
วิหญฺญตี จิตฺตวสานุวตฺตี
บุคคล ชอบประพฤติตามอำนาจของจิต ย่อมเดือดร้อน
ขุ.ชา. ทุก. (ไทย) ๕๗/๔๔๐
สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ
ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดยิ่งนัก
มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ (เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองแล้ว
นำสุขมาให้
ขุ.ธ. (ไทย) ๔๐/๔๑๐
โย ปหฏฺเฐน จิตฺเตน ปหฏฺฐมนโส นโร
ภาเวติ กุสลํ ธมฺมํ โยคกฺเขมสฺส ปตฺติยา
ปาปุเณ อนุปุพฺเพน สพฺพสํ โยชนกฺขยนฺติ
นรชนใด มีจิตร่าเริง มีใจเบิกบาน เจริญกุศลธรรม
เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้น
พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ
ขุ.ชา.เอก. กัญจนขันธชาดก ๕๖/๕๖/๙๐
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก