.....จากวีรกรรมทุ่งสำริดที่สร้างชื่อ กลุ่มสตรีผู้กล้าหาญของเมืองนครราชสีมา นำโดยท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม ที่รู้จักกันดี ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์แล้วนี้ สามารถนำมาใช้เพื่อสอนลูกหลานไทยให้รู้จักกับความกล้าหาญและการพ่ายแพ้ จึงไม่ใช่ข้อแสดงถึงความผิดความถูกในสมัยนี้ ที่คงไม่กล้านำเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วกว่า ๑๕๐ ปีมาหาความจริงกันตรงนี้…
.....เรื่องท้าวสุรนารีนี้ นัยว่าเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จากเหตุการณ์ที่เจ้าอนุวงศ์ แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนครอบครัวคนไทยจากบรรดาของกรมการเมืองเอง และชาวเองนครราชสีมาไปเป็นเชลย หากใครขัดขืนก็จะถูกฆ่า และในจำนวนเชลยนั้นมีบุตรและภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมา รวมทั้งนางโมภรรยาของพระยาปลัดเมืองนครราชสีมารวมอยู่ด้วย และแล้วกลุ่มสตรีที่เป็นเชลยเกิดใจกล้าเข้าสู้รบที่ทุ่งสำริด จนได้รับชัยพาครอบครัวไทยเหล่านั้นคืนกลับมายังเมืองนครราชสีมาตามเดิมได้
.....ณ ทุ่งสำริด พระณรงค์สงครามออกอุบายให้หญิงสาวจำนวนหนึ่ง ออกไปทำหน้าที่หลอกล่อทหารลาวไปจากกองเกวียนอพยพ ครั้นถึงเวลา ๑๐ ทุ่ม ในขณะที่ทหารลาวเหล่านั้นถูกหญิงสาวหลอกล่อให้ดื่มสุราจนเมามายไม่ได้สติกันอยู่ ทหารไทยจึงพร้อมด้วยนางโมกับชาวนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนมากับขบวนด้วยนั้น ได้พร้อมใจกันเข้าโจมตีทหารลาวโดยใช้อาวุธที่ทำขึ้นเอง เช่น ไม้หลาว ไม้กระบอง เป็นต้น ฆ่าฟันศัตรู ทั้งการลอบใช้คบเพลิงเข้าทำลายเกวียนบรรทุกกระสุนดินดำของกองทัพลาว โดยลาวไม่ทันรู้ตัวจึงถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก จนชาวเมืองต้องนำศพข้าศึกไปทิ้งไว้จนเต็มหนองน้ำ กลายเป็นชื่อหนองน้ำหัวลาว ในเวลาต่อมา
.....ทำการยกย่องคุณหญิงโมขึ้นเป็นตัวแทนบรรดากลุ่มสตรีชาวโคราชที่ร่วมกันสู้รบกับทหารต่างเจ้าท้าวต่างแดนนั้น ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการรวมตัวกันต่อสู้ข้าศึก ย่อมสร้างวีรกรรมได้ทุกครั้งที่เกิดบ้านแตกสาแหรกขาด การต่อสู้เพื่ออิสรภาพและชิงอาณาเขตต่อกันเป็นเรื่องของยุคนั้น ดังนั้นการรบแพ้หรือชนะก็เป็นกติกาข้อตกลงของผู้เป็นนักรบ ซึ่งเรื่องมันก็ผ่านมานานแล้ว เช่นเดียวกันการยอมตายหรือยอมแพ้นั้นเป็นบทพิสูจน์ความกล้าหาญและการสวามิภักดิ์ ฉะนั้นจึงไม่มีความเจ็บแค้นในประวัติศาสตร์ ทว่าเป็นบทเรียนของน้ำใจไมตรีที่สอนให้คนในชาติได้รู้จักกับการอภัยและสร้างชาติด้วยความเสียสละ โดยมุ่งสร้างชาติบนพื้นฐานด้วยความไม่มาทในทุกขณะ
.....ร่วมเรียนรู้กับโครงการบันทึกสยาม ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทย ของสื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมไทย ได้ตามร้านหนังสือทั่วไปขณะนี้ค่ะ
สุพัฒนะ.