.....๒. เพื่อนขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมหรือต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม
ถ้าเพื่อนขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๒ คือ เพื่อนจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมหรือต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม เพราะจิตใจถูกครอบงำด้วยอคติ ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) เป็นคนอคติ สังคมไทยแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสังคมชาวพุทธ แต่เพราะเหตุที่บุคคลในแต่ละทิศ นับตั้งแต่ผู้เป็นบิดามารดาและครูอาจารย์ขาดอริยวินัย ไม่ตระหนักถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ให้สมบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้ผู้คนในรุ่นต่อๆ มาเป็นจำนวนมาก ทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะนอกจากจะเป็นคนทุศีลแล้ว ยังเป็นคนมีคติอีกด้วย
พฤติกรรมของพวกคนอคติที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเล่นพรรคเล่นพวก ผู้ใหญ่ที่ชอบเล่นพรรคเล่นพวก ก็มักจะถูกเรียกขานว่าเป็นคน ๒ มาตรฐาน คือปฏิบัติต่อผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เสมอกัน เพราะลำเอียง การปฏิบัติด้วยใจอคติเช่นนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมแล้ว ยังมีส่วนปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติอีกด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถสูง เป็นคนดี มีความตั้งใจทำงานอย่างสุจริต ด้วยหวังจะช่วยกันพัฒนาสังคมและบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า แต่ถ้าไม่มีเส้นสายก็ยากที่จะได้มีโอกาสทำงานรับใช้บ้านเมือง ในตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสังคม ในทางกลับกับบุคคลที่มีความรู้งูๆ ปลาๆ ขาดอัจฉริยภาพและวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ แต่มีเส้นใหญ่ก็มีโอกาสได้รับตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมือง เมื่อได้โอกาสก็คอรัปชั่น
เมื่อคนพาลได้เสวยตำแหน่งหน้าที่การงานสูงแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การคัดเลือกบุคคลเข้าไปร่วมทำงานกับเขา เขาจะต้องจัดสรรเอาญาติพี่น้องหรือพรรคพวกเพื่อนฝูง หรือมิฉะนั้นก็พวกที่ติดสินบนหรือจ่ายใต้โต๊ะให้เขา เข้ามาเป็นอันดับแรก โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพและความรู้ความสามารถ ทั้งๆ ที่แม้โดยทั่วไปจะต้องใช้วิธีการสอบคัดเลือกก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงระเบียบปฏิบัติตามประเพณีเท่านั้นหาใช่เป็นกฎเกณฑ์กับพฤติกรรมของคนอคตินี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไปทุกวงการ แต่ที่เป็นข่าวอยู่เสมอก็มักจะเป็นพฤติกรรมในแวดวงของนักการเมือง และข้าราชการเพราะสื่อต่างๆ นิยมติดตามมาเสนอต่อสาธารณชน
๒) สาดโคลนใส่กัน พฤติกรรมของคนอคติทำให้คนเราแตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่สามารถอยู่ร่วมกันด้วยความสมัครสมานสามัคคี อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นมิตรเทียม ถ้าสามารถประสานประโยชน์กันได้ ก็สามารถจับมือเป็นพันธมิตรกันได้ เพื่อร่วมปกป้องผลประโยชน์ของพวกตน แต่ถ้าเมื่อใดการแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว หรือไม่เป็นธรรม (คนอคติก็รังเกียจและไม่ยอมรับความไม่เป็นธรรมเหมือนกัน) คนที่เคยเป็นพันธมิตรกัน ก็ออกมาสาดโคลนใส่กัน ด้วยการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ
ฝ่ายที่เสียประโยชน์ก็จะพยายามว่าร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อแสดงให้สาธารณชนเห็นว่าฝ่ายตนเป็นคนดี แต่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนเลว ส่วนอีกฝ่ายที่ถูกโจมตีก็จะพยายามหาเหตุผลมาแก้ตัว กลบเกลื่อนการว่าร้ายของฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันก็พยายามเปิดโปงความชั่วร้ายของฝ่ายตรงข้ามด้วย โดยสรุปก็คือความเป็นมิตรแท้หาไม่ได้ในหมู่คนอคติ คราใดที่เกิดขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งก็จะสาดโคลนใส่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อหาความดีใส่ตนทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายต่างก็เลวพอๆ กัน
๓) ประทุษร้ายกัน การสาดโคลนใส่กัน เป็นเพียงการกล่าวร้ายของผู้ที่มีอคติต่อกัน ผู้ที่ขัดแย้งกัน หรือผู้ที่เป็นคู่อริกัน แต่ถ้าความขัดแย้งนั้นทวีดีกรีร้อนแรงมากขึ้น จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายยอมกันไม่ได้ การประทุษร้ายกันก็จะเกิดขึ้น แม้ทั้งสองฝ่ายจะเคยเป็นพันธมิตรกัน เคยเป็นเพื่อนใกล้ชิดสนิทสนมกัน เคยร่วมชายคาเดียวกัน หรือเคยร่วมหัวจมท้ายกันมาก่อนก็ตาม
การประทุษร้ายกัน อาจมีวิธีการแตกต่างกันไป แต่มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือทำความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตหรือทรัพย์สินของคู่อริ
ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมได้เคยใช้ประทุษร้ายกันมาแล้ว
๓. เพื่อนขาดความรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
ถ้าเพื่อนขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะกิดขึ้นประการที่ ๓ คือ เพื่อนจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพัวพันกับอบายมุข ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) นิยมชมชื่นอบายมุข ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจน้อย เนื่องจากได้รับการปลูกฝังอบรมลักษณะนิสัยและคุณธรรมของมิตรแท้จากทิศเบื้องหน้าและเบื้องขวาน้อย อีกทั้งไม่เคยสัมผัสกับรสแห่งธรรมจากทิศเบื้องบนเลย เขาก็อาจจะเข้าไปพัวพันกับอบายมุขมาตั้งแต่เด็ก