ครบรอบ ๕๐ ปี วัดพระธรรมกาย วันมาฆบูชา
ตอน เกียรติประวัติเเละกตัญญูบูชาประกาศคุณมหาปูชนียาจารย์
แรงบันดาลใจหลักที่ก่อให้เกิดวัดพระธรรมกายก็คือ คำสั่งของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่ให้ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายออกไปทั่วโลก การที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ สั่งไว้เช่นนี้ ก็เพราะวิชชาธรรมกายเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ที่สามารถช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ เข้าถึงพระนิพพานได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้ทุกคนได้พบกับความสุขภายใน และจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้เปี่ยมด้วยสันติสุขได้จริง
ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของวิชชาธรรมกาย และความสำคัญของผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย คือพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) คณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายจึงยกย่องท่านไว้ใน ฐานะมหาปูชนียาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ยังยกย่อง คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย และ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น ครูผู้สอนธรรมปฏิบัติ ท่านแรกของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ว่าเป็นมหาปูชนียาจารย์อีกด้วย
ปัจจุบันแม้พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ และคุณยายอาจารย์ฯ ทั้งสองท่านละสังขารไปแล้ว แต่หมู่คณะวัดพระธรรมกายยังคงผลักดันภารกิจเผยแผ่วิชชาธรรมกายให้รุดหน้าต่อไปตามมโนปณิธาน ของมหาปูชนียาจารย์ จนกว่าสันติสุขของมวลมนุษยชาติและสันติภาพของโลกใบนี้จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
- พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ บนแผ่นดินรูปดอกบัวที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
- ท่านออกบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะมีอายุ ๒๒ ปี ณ วัดสองพี่น้อง หลังจากเคยตั้งจิตอธิษฐานบวชอุทิศชีวิตแด่พระศาสนาตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เนื่องจากเกิดธรรมสังเวชในเรื่องการทำมาหากินของผู้ครองเรือน
- เมื่อบวชแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มุ่งมั่นฝึกธรรมปฏิบัติโดยไม่เคยขาดเลยแม้แต่วันเดียว ขณะเดียวกันก็ศึกษาค้นคว้าความรู้ในพระไตรปิฎกไปด้วย จนกระทั่งเชี่ยวชาญภาษาบาลี
- ในพรรษาที่ ๑๒ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ต่อมาในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ กลางพรรษาที่ ๑๒ นี้ ท่านตั้งสัจจาธิษฐานทำสมาธิภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน "ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการเป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต" จากนั้นนั่งเจริญสมาธิภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย กลางดึกคืนนั้น ณ อุโบสถวัดโบสถ์บน
- เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ นำความรู้ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ท่านศึกษามาเป็นเวลา ๑๐ กว่าปี มาตรวจสอบความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติว่าตรงกันหรือไม่ ก็ปรากฏว่าตรงกันโดยไม่มีความคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด ทำให้ท่านปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง
- ต่อมาพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้รับการเเต่งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ จากนั้นท่านก็มุ่งมั่นทำงานพระศาสนาสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร และสอนวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายเเก่มหาชนโดยมีคำสอนที่เป็นสูตรสำเร็จในการปฎิบัติธรรม คือ "หยุดเป็นตัวสำเร็จ"ทำให้ในยุคนั้นวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีพระภิกษุ-สามเณรมากที่สุดในประเทศไทย และมีชื่อเสียงเลื่องลือ ไปทั่วสังฆมณฑล ทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
- กิตติศัพท์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ในเรื่องการสอนทำสมาธิภาวนาโด่งดังไปยังประเทศต่าง ๆ จนกระทั่งมีชาวอังกฤษและชาวญี่ปุ่นมาบวชเป็นพระภิกษุครั้งแรกในประเทศไทย และต่อมาพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ได้ส่งพระภิกษุชาวต่างชาติกลับไปสอนธรรมปฏิบัติในประเทศบ้านเกิดของแต่ละท่าน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปสู่ชาวโลก
- พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ รวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๓ พรรษา
- ก่อนมรณภาพ ท่านฝากฝังให้บรรดาลูกศิษย์ช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป และได้เตรียมการไว้อย่างรอบคอบ โดยมีคำสั่งให้คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกของท่าน อาศัยอยู่ที่วัดปากน้ำต่อไป เพื่อรอคอยผู้สืบทอดวิชชาธรรมกาย ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ กล่าวไว้ว่า “มาเกิดแล้วที่จังหวัดสิงห์บุรี”
- ด้วยระลึกถึงพระคุณของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย หลวงพ่อธัมมชโยพร้อมด้วยคณะสงฆ์วัดพระธรรมกาย เหล่ากัลยาณมิตร และคณะศิษยานุศิษย์ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก
จึงร่วมใจกันหล่อรูปเหมือนทองคำของพระเดชพระคุณหลวงปู่ขึ้น ๘ องค์ โดยประกอบพิธีหล่อรูปเหมือนตามวันเวลาดังนี้
องค์ที่ ๑ หล่อเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
องค์ที่ ๒ หล่อเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
องค์ที่ ๓-๔ หล่อเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
องค์ที่ ๕ หล่อเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
องค์ที่ ๖ หล่อเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕
องค์ที่ ๗ หล่อเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
องค์ที่ ๘ หล่อเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘
เพื่อ นำไปประดิษฐาน ณ อนุสรณ์สถานที่เกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตของท่าน ทั้งหมด ๗ เเห่ง จำนวน ๗ องค์ ได้เเก่
๑.สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
๒.สถานที่ต้้งมโนปณิธานบวชตลอดชีวิต อนุสรณ์สถานคลองบางนางเเท่น อ.สามพราน จ.นครปฐม
๓.สถานที่เกิดใหม่ในเพศสมณะ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
๔.สถานที่เกิดใหม่ด้วยกายธรรม วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
๕.สถานที่เผยเเผ่วิชชาธรรมกายครั้งเเรก อนุสรณ์สถานบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม
๖.สถานที่ค้นคว้าเเละเผยเเผ่วิชชาธรรมกาย วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
๗.สถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
เเละ อีกองค์นั้น สำหรับอัญเชิญนำขบวนธรรมยาตรา รวมทั้งหมดเป็น ๘ องค์
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น
- คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น เกิดเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ท่านเริ่มศึกษา
ธรรมปฎิบัติกับพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนทฺ สโร) ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่ออายุ ๓๐ ปี และเข้าถึงธรรมเมื่ออายุ ๓๕ ปี
- ต่อมา ท่านไปบวชเป็นอุบาสิกาแม่ชีที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พร้อมกับคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้เป็นทั้งศิษย์เเละกัลยาณมิตรของท่าน เพื่อทุ่มเทเวลาศึกษาวิชชาธรรมกายกับ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ
- หลังจากคุณยายทองสุขบวชเป็นอุบาสิกาแม่ชีและศึกษาวิชชาธรรมกายจนแตกฉานแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ จึงไว้วางใจส่งท่านออกเผยแผ่ธรรมปฏิบัติในจังหวัดต่าง ๆ และเนื่องจากท่านมีศิลปะในการสอนเป็นเลิศ จึงมีผู้สนใจมาเล่าเรียนวิธีปฎิบัติกับท่านเเละเข้าถึงธรรมเป็นจำนวนมาก ในครั้งนั้นคุณยายทองสุขจึงถือเป็นกำลังสำคัญอีกท่านหนึ่งของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ในการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
- ด้วยความที่คุณยายทองสุขมีความเชี่ยวชาญในวิชชาธรรมกายมาก ทำให้ท่านค้นพบวิธีบูชาข้าวพระ ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ของท่านได้ปฏิบัติสืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว
- คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น ละสังขารเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ รวมสิริอายุได้ ๖๓ ปี
- ด้วยความเคารพรักในคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำเเดงปั้น ผู้เป็นปฐมาจารย์สอนภาวนาเเก่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คณะสงฆ์วัดพระธรรมกายและเหล่ากัลยาณมิตร
จึงร่วมใจกันหล่อเจดีย์น้อยทองคำเพื่อบรรจุรัตนอัฐิธาตุของท่าน เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย
- คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นศิษย์เอกของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- เมื่อคุณยายอาจารย์ฯ มีอายุได้ ๒๖ ปี ท่านได้ยินกิตติศัพท์การสอนธรรมปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ที่ขจรขจายไปทั้งแผ่นดิน จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาช่องทางไปฝึกสมาธิ ที่วัดปากน้ำ โดยมีเป้าหมายหลักที่จะไปตามหาพ่อที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อขอขมาที่ท่านเคยพลาดพลั้งพูดจาล่วงเกินพ่อ
- ในขณะที่ยังไปไม่ถึงวัดปากน้ำ คุณยายอาจารย์ ได้ศึกษาธรรมปฎิบัติจากคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น ครูสอนสมาธิจากวัดปากน้ำ จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ต่อมาท่านไปบวชเป็นอุบาสิกาแม่ชีที่วัดปากน้ำและได้ศึกษาวิชชาธรรมกายขั้นสูงจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านมีญาณทัสนะแม่นยำจนกระทั่งได้รับคำชมจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ว่า “ลูกจันทร์นี้เป็นหนึ่ง ไม่มีสอง”
- หลังจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มรณภาพ คุณยายอาจารย์ฯ ยังคงสอนธรรมปฏิบัติอยู่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในบริเวณวัดปากน้ำ เพื่อรอคอยผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เคยสั่งไว้
- ในครั้งนั้นมีลูกศิษย์ไปเรียนธรรมปฏิบัติกับท่านอย่างเนืองแน่น ต่อมาจึงมีการขยับขยายพื้นที่ด้วยการนำคณะศิษย์ไปสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมที่จังหวัดปทุมธานี
- ณ พุทธสถานเเห่งนี้ คุณยายอาจารย์ช่วยวางรากฐานอันมั่นคงไว้ทั้งในด้านวัตถุ บุคคล เเละวัฒนธรรมอันดีงามของชาววัด ซึ่งนอกจากช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่วัดพระธรรมกายมาจนกระทั่งทุกวันนี้แล้ว ยังมีผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่พระพุทธศาสนาและยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเผยแผ่วิชชาธรรมกายในอนาคตอีกด้วย
- คุณยายอาจารย์ฯ จึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งปวงของวัดพระธรรมกาย และจากผลงานที่ท่านสร้างไว้นี้ ทำให้ท่านกลายเป็นนักบวชหญิงที่มีบทบาทต่อความเจริญรุ่งเรืองแก่พระพุทธศาสนามากที่สุดท่านหนึ่งในยุคปัจจุบัน
- คุณยายอาจารย์ฯ ละสังขารเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ณ วัดพระธรรมกาย ขณะมีสิริอายุได้ ๙๒ ปี
- ด้วยความเคารพรักคุณยายอาจารย์ฯผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย คณะสงฆ์วัดพระธรรมกาย เหล่ากัลยาณมิตร และศิษย์ยานุศิษย์ของคุณยายอาจารย์ฯ ทั่วโลก
จึงร่วมใจกันหล่อรูปเหมือนทองคำของท่านเป็นจำนวน ๓ องค์ โดยประกอบพิธีหล่อรูปเหมือนตามวันเวลาดังนี้
องค์ที่ ๑ หล่อเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑
องค์ที่ ๒ หล่อเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗
องค์ที่ ๓ หล่อเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙
เเละสถานที่ประดิษฐานรูปเหมือนของท่าน
อ้างอิงข้อมูล: หนังสือ ๔๘ ปี วัดพระธรรมกาย
(MISSIONS FOR PEACE ปฎิบัติการเพื่อสันติภาพ)