คำพ่อ คำเเม่
ตอน ทำดีได้แต่อย่าให้เด่น
ลูกรัก...
เมื่อทำงานอยู่กับใครไม่ว่าจะเป็นงานราชการหรืองานเอกชน ขอให้ลูกพยายามศึกษานิสัยใจคอของผู้ใหญ่หรือเจ้านายให้ดี ทั้งนี้เพราะผู้ใหญ่แต่ละคนไม่เหมือนกัน ประเภทน้ำนิ่งไหลลึกก็มี ประเภทปากหวานก้นเปรี้ยวก็มี ประเภทปากปราศรัยใจเชือดคอก็มี
ประเภทพูดจากะเราดี ชมเราตลอดเพื่อหลอกใช้เราทำงานให้ แต่ว่าไม่เคยให้อะไรเราเป็นชิ้นเป็นอันก็มี ถ้าเราหลงลมปากคนอย่างนี้เราจะเหนื่อยตลอดไป แต่ของดีๆ เขาจะให้แก่พวกพ้องหรือคนใกล้ชิดของเขาหมด แล้วมาพูดให้กำลังใจเราให้ทำดีต่อไป อย่าท้อแท้อะไรทำนองนี้ ประเภทปากหวานก้นเปรี้ยวอย่างนี้แหละ ร้ายนักละลูกเอ๋ย
ส่วนประเภทน้ำนิ่งไหลลึกนั้นต้องดูไปนานๆ จึงจะรู้ว่า ดีจริงหรือไม่ ดูที่การกระทำ เขาอาจจะไม่ชมเรา แต่พอถึงเวลาอาจให้บำเหน็จรางวัลเราก็ได้
ประเภทปากร้ายใจดีนั้นขอให้เราอดทนเขาให้ได้เท่านั้นแหละเป็นได้ดีทุกรายไป
หากลูกได้ทำงานกับผู้ใหญ่ที่ปากหวานก้นเปรี้ยว ไม่มีความยุติธรรม มีความลำเอียงและหูเบา ที่ต้องระวังตัวระวังใจ ทำงานเพื่องาน ทำไม่ให้ผิดพลาดบกพร่องเท่านั้นก็พอแล้ว อย่าไปหวังอะไรมาก ที่เตือนลูกอย่างนี้มิใช่จะสอนลูกให้เป็นคนเห็นแก่ตัวแต่เตือนเพื่อให้ลูกป้องกันตัวไว้ ไม่ต้องเหนื่อยและทุ่มเทกับงาน
เกินไป แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นความช้ำใจและขมขื่นเพราะผู้ใหญ่ไม่ยุติธรรม
ภาษิตที่กล่าวไว้ว่า “ทำดีได้แต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” นั้นยังเป็นอมตะอยู่เสมอ การทำความดีนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทำดีต้องให้ถูกบุคคลด้วยจึงจะได้ผลดีจริง
พระมหาโพธิวงศาจารย์
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)