พระสงฆ์...ผู้กุมความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนา

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2563

พระสงฆ์...ผู้กุมความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนา

                  เหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานราว ๑๐๐ ปี พระพุทธศาสนาได้แบ่งออกเป็น ๒ นิกาย คือ เถรวาท และมหาสังฆิกะ หลังจากนั้นอีกราว ๑๐๐ ปี ได้ปรากฏว่ามีพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ๑๘-๒๐ นิกาย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น นอกจากเถรวาท ที่มาเจริญรุ่งเรืองในเกาะลังกา ยุคนั้นแล้ว ยังมี สรวาสติวาท ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียยุคนั้น ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้ากนิษกะ

 

                 มีคัมภีร์ทางพระพทุธศาสนามากมาย อาทิ พระสุตตันตปิฎกมัธยมอาคมและสังยุกตอาคม อภิธรรมมหาวิภาษา อภิธรรมโกศภาษยะ อภิธรรมนยายานุสาระ เป็นต้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป พระสงฆ์ของนิกายสรวาสติวาทนี้ได้สูญสิ้นไป

 

                 คัมภีร์สำคัญๆ ดังกล่าวที่เป็น ต้นฉบับ สันสกฤตจึง หลงเหลืออยู่เพียงอภิธรรมโกศภาษยะเท่านั้น นอกนั้นโดยส่วนใหญ่จะเหลือเพียงฉบับแปลจีนโบราณเท่านั้น สาเหตุที่มีฉบับแปลจีนโบราณหลงเหลืออยู่ นั่นเป็นเพราะในภายหลังได้เกิดนิกายพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศจีน ซึ่งยุคนั้นได้คัดเลือกคัมภีร์ที่สนใจในการศึกษาและแปลมาเป็นภาษาจีนโบราณ

 

                  ถ้าสมมติว่า ในยุคนั้นไม่มีการศึกษาเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน แม้จะเป็นคัมภีร์ฉ์บับแปล ก็คงจะไม่มีมาถึงเราอย่างแน่แท้แต่สำหรับ เถรวาท ที่ยังคงมี หมู่สงฆ์สืบทอดมาถึงปัจจุบันในหลายประเทศ ทำให้เรามีพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาที่อาจกล่าวได้ว่ามีความสมบูรณ์สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

               

                ประเด็นที่เกี่ยวกับ พระสงฆ์กับความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสาเหตุของความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาไว้อย่างละ ๕ ประการ ไว้ใน        ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร ไว้ดังนี้

 

               ๑. ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนพระไตรปิฎกที่ทรงจำนำสืบกันมาไม่ดี คือ อาจขาดหายไปบางส่วนหรือเพิ่มเติมเข้ามาตามยุคสมัย เมื่อบทและพยัญชนะไม่ครบ จึงทำ ให้ภิกษุในภายหลังเข้าใจสาระของธรรมผิดเพี้ยนไป

 

               ๒. ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้ว่ายาก ไม่ฟังคำตักเตือน ไม่อดทนขาดความเคารพครูบาอาจารย์ จึงเรียนได้ไม่ดีนัก

 

               ๓. ภิกษุที่เรียนเก่ง จดจำพระธรรมคำสั่งสอนได้มาก เป็นผู้มีระเบียบวินัย แต่ไม่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้เพื่อน ๆ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป ย่อมทำให้ขาดผู้สืบสานมรดกธรรม จึงทำให้พระ
สัทธรรมเสื่อมสูญไปด้วย

 

             ๔. ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพระเถระ เป็นผู้มักมาก ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ขาดความเพียรในด้านการปฏิบัติสัทธรรม จึงไม่บรรลุธรรมในระดับที่ควรจะบรรลุ อันเป็นเหตุให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญ

 

              ๕. สงฆ์แตกแยกกัน มีการทะเลาะวิวาทกัน ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้ผู้คนขาดความศรัทธา ผู้คนที่เคยเลื่อมใสศรัทธาก็เหินห่างไป เรื่องนี้ย่อมเป็นเหตุให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญไป

 

              สาเหตุทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์เสื่อมสูญไป และเมื่อพระสัทธรรมหรือพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงตั้งให้เป็นพระศาสดานั้นค่อย ๆ เสื่อมสูญไป จึงเป็นที่แน่นอนว่า พระพุทธศาสนาย่อมประสบกับความเสื่อมเช่นเดียวกันหากแต่พระสงฆ์ในพระศาสนา ประพฤติปฏิบัติตรงข้ามกับเหตุแห่งความเสื่อมนี้ ก็ย่อมนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาแน่นอนเช่นกัน ซึ่งเหตุที่ทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรือง ๕ ประการนี้ ได้แก่ 

 

             ๑.ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัย ย่อมเล่าเรียนพระไตรปิฎกที่ทรงจำนำสืบกันมาอย่างดี จึงมีความเข้าใจเนื้อเรื่องและสาระสำคัญของพระสูตรที่เรียนแล้วได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น

 

            ๒. ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย มีความอดทน น้อมรับคำพร่ำสอนของพระเถระผู้เป็นครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ กรณีนี้ย่อมส่งเสริมให้พระสัทธรรมตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญ

 

            ๓. ภิกษุทั้งหลายที่เรียนเก่งเป็นพหูสูต ทรงธรรม ทรงวินัย และทรงมาติกา ตั้งใจทำหน้าที่กัลยาณมิตรบอกธรรมแก่ผู้อื่นโดยเคารพเมื่อพระภิกษุเหล่านี้ล่วงลับไปแล้ว พระธรรมจะตั้งมั่นอยู่ด้วยหลักฐานมั่นคง

 

          ๔. ภิกษุทั้งหลายผู้เถระไม่มักมาก มีความประพฤติเคร่งครัดไม่ย่อหย่อน ปรารภความเพียร เพื่อกระทำให้แจ้งในธรรมที่ยังไม่แจ้ง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ

 

         ๕. สงฆ์มีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอันดี ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่แข่งขันชิงดีกัน แต่ชื่นชมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน วัตรปฏิบัติของสงฆ์เช่นนี้ ย่อมทำให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสเกิดความเลื่อมใส ส่วนคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น

 

           เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า พระธรรม คือ คำสั่งสอนหรือมรดกธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรดกธรรมนี้จำเป็นต้องมีผู้ศึกษาอย่างจริงจังในภาคปริยัติหรือภาคทฤษฎี ทรงจำได้ถูกต้องแม่นยำศึกษาธรรมด้วยความเคารพ และแน่นอนว่าเมื่อเป็นภาคทฤษฎี

 

             จึงจำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์ผู้ทรงภูมิรู้ธรรมในการแนะนำสั่งสอนให้เข้าใจถึงประเด็นต่าง ๆ อย่างละเอียด นี่จึงเป็นสาเหตุที่ผู้ศึกษาต้องมีความเคารพในตัวผู้สอน เมื่อศึกษาจนถ่องแท้แล้วก็ไม่เก็บงำไว้
เพียงผู้เดียว แต่ได้ทำหน้าที่ของผู้สอน เฉกเช่นเดียวกับครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ในพระธรรมวินัยให้แก่ตนเอง นอกจากนี้ยังไม่หยุดอยู่เพียงภาคทฤษฎี

 

            แต่ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติคือ ลงมือปฏิบัติโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่ย่อหย่อนความเพียร เพื่อกระทำให้แจ้งในธรรมที่ยังไม่แจ้ง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ และที่สำคัญ คือ มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่ทะเลาะวิวาท ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

 

            ดังนั้นในเรื่องความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้นี้ จึงอยู่ที่ ข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์เป็นสำคัญว่า ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาพระธรรมวินัย การทำหน้าที่กัลยาณมิตรและประพฤติปฏิบัติธรรมรวมถึงความสมัครสมานสามัคคี มากน้อยเพียงใด

 

       "ข้อวัตรปฏิบัติอันดีงามของพระภิกษุสงฆ์คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง"

ชิงอรรถ อ้างอิง

๑ องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๕๖/๒๕๕-๒๕๘ (แปล.มจร)

                                                                                              จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3

                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020981816450755 Mins