ข้อวัตรปฏิบัติที่ทำให้พระสงฆ์ เป็นเนื้อนำบุญของชาวโลก(ตอนจบ)

วันที่ 28 กพ. พ.ศ.2563

ข้อวัตรปฏิบัติที่ทำให้พระสงฆ์ เป็นเนื้อนำบุญของชาวโลก(ตอนจบ)

 

ความย่อของสามัญญผลสูตร

                   ในปลายสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ สวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ในเขตกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ครั้งนั้นพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ ได้เสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อกราบทูลถามปัญหา ซึ่งค้างพระทัยพระองค์มานาน ปัญหานั้นคือ สมณพราหมณ์ หรือผู้ที่เป็นนักบวชทั้งหลายนั้น ได้รับประโยชน์อะไรจากการบวช ที่สามารถเห็นประจักษ์ในปัจจุบันชาติบ้าง ด้วยเหตุที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงกระทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา เพราะหลงเชื่อและยกย่องบูชานักบวชอย่างพระเทวทัต

 

                     แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทรงพิศวงนักหนาว่า เหตุใดพระเทวทัตจึงได้ชักนำพระองค์ให้ก่อกรรมทำบาปอย่างอุกฤษฏ์ถึงปานนั้น และทรงมีคำถามเกิดขึ้นในพระทัยเสมอว่า นักบวชในแว่นแคว้นของเรานี้ ออกบวชเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และมีข้อวัตรปฏิบัติอย่างไรบ้าง

 

                      แม้จะทรงทราบดีว่า ในกลุ่มคนหมู่มากย่อมมีทั้งคนดีและเลว แม้ผู้เป็นนักบวชก็เช่นกัน ย่อมมีทั้งนักบวชที่ทรงศีลและนักบวชทุศีล แต่จะทราบได้อย่างไรว่า นักบวชรูปใดทรงศีลหรือทุศีล เพราะ
มีนักบวชอยู่มากมาย มีความเชื่อ แนวคิด แนวการสั่งสอน ตลอดจนแนวปฏิบัติแตกต่างกันออกไปอีก สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้พระองค์และ ข้าราชบริพารเกิดความสับสน และไม่รู้ว่าจะหาเกณฑ์มาตรฐานของความเป็นนักบวชที่ทรงศีลทรงธรรมได้อย่างไร

                       

                      พระเจ้าอชาตศัตรูซึ่งแม้ได้เสด็จไปถามครูเจ้าลัทธิทั้ง ๖ ท่าน ๑ ซึ่งมีชื่อเสียงมากในยุคนั้นมาแล้ว แต่ก็ได้รับคำตอบที่ไม่กระจ่างแจ้งนัก จึงได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อทูลถามปัญหาดังกล่าว

 

                     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงประโยชน์ หรือคุณค่าของการบวชตั้งแต่ประการแรกสุด ซึ่งจัดเป็น สามัญญผลเบื้องต้น คือการยกฐานะของผู้บวชเอง โดยเปลี่ยนจากสถานภาพเดิม ไปสู่สถานภาพของบุคคลที่ควรแก่การบูชากราบไหว้ ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสถึงสามัญญผลเบื้องกลางและเบื้องสูงในระดับต่อไปนั้น ได้ทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติที่นักบวชต้องปฏิบัติให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ เพื่อการบรรลุสามัญญผลแต่ละขั้น ข้อปฏิบัติสำคัญที่ทรงแสดงไว้ในพระสูตรนี้ คือ การถึงพร้อมด้วยศีล การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย การมีสติสัมปชัญญะ และการเป็นผู้สันโดษ

 

                    จากนั้นพระพุทธองค์จึงได้ตรัสถึงสามัญญผลเบื้องกลาง อันได้แก่การบรรลุสมาธิในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ซึ่งล้วนทำให้จิตใจมั่นคงและสงบสุข และสามัญญผล
เบื้องสูง คือ การบรรลุวิชชา ๘ ประการ อันได้แก่ วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิญาณ อิทธิวิธญาณ ทิพพโสตธาตุญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จตุปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ ตามลำดับ

 

                       ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา พระเจ้าอชาตศัตรูทรงปฏิญาณพระองค์เป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดพระชนม์ชีพทั้งกราบทูลขอขมาในการที่ปลงพระชนม์ชีพพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็น
พระราชบิดา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรับการขอขมานั้น และภายหลังที่พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับไปแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูยังไม่ทรงปลงพระชนม์
พระราชบิดา จะต้องได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในค่ำคืนนั้นเอง

 

                "เมื่อผู้บวชตั้งใจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง จริงใจ
ย่อมได้รับผลของการบวชทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดคือบรรลุมรรคผลและนิพพาน"

 

สามัญญผลเบื้องต้น...ยกตนจากฐานะเดิม

                   เมื่อได้ทราบถึงความย่อของสามัญญผลสูตรในข้างต้นแล้วเพื่อให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นในผลดี หรืออานิสงส์ของความเป็นสมณะ และข้อวัตรที่พึงปฏิบัติของนักบวชในพระพุทธศาสนา เราจะ
มาพิจารณาถึงเนื้อความที่ปรากฏในพระสูตรนี้ด้วยกันพระเจ้าอชาตศัตรู ครั้นได้รับพุทธานุญาตให้ทรงถามปัญหาได้แล้ว จึงทรงเริ่มปัญหาว่า

 

                  “อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงานจัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง พลอาสาขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรงพวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่าง
ย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้

 

                   คนเหล่านั้นได้รับผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบันจึงบำรุงตนเอง บิดามารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุขบำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่งมีผลมาก เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุข เป็นผลให้เกิดในสวรรค์ พระองค์จะทรงบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”

 

                  ในการตรัสตอบปัญหาครั้งนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงใช้วิธี การตอบปัญหาโดยการย้อนถาม ที่เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์๓ เพื่อให้พระเจ้าอชาตศัตรูสามารถตระหนักในสามัญญผลด้วยพระองค์
เองโดยตรัสตอบว่า

 

                 “บัญญัติได้ มหาบพิตร แต่ในเรื่องนี้ อาตมภาพขอย้อนถามพระองค์ก่อน โปรดตอบตามพอพระทัย พระองค์ทรงเข้าพระทัยเรื่องนี้ว่าอย่างไร คือ สมมติว่าพระองค์มีบุรุษทาสกรรมกรผู้ตื่นก่อน นอนทีหลังเฝ้ารับพระบัญชาตามรับสั่ง คอยประพฤติให้ถูกพระทัย ต้องเพ็ดทูลอย่างไพเราะ คอยสังเกตพระพักตร์ เขาคิดว่า  น่าอัศจรรย์ผลบุญนัก แท้จริง

 

                  พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร พระองค์นี้ทรงเป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ดุจเทพเจ้า ส่วนเราเป็นทาสกรรมกรของพระองค์ ต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง เฝ้ารับพระบัญชาตามรับสั่ง คอยประพฤติให้ถูกพระทัย ต้องเพ็ดทูลอย่างไพเราะ คอยสังเกตพระพักตร์ เรา
ควรทำบุญไว้จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน ทางที่ดีเราพึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต

 

                   ต่อมา เขาโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังความหิว และผ้าพอคุ้มกาย ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าราชบุรุษ กราบทลู พฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า บุรุษผู้เคยเป็นทาสกรรมกรของพระองค์ที่ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง......

 

                  (บัดนี้) เขาโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย วาจาใจ......ยินดียิ่งในความสงัด” พระองค์จะตรัสอย่างนี้เชียวหรือว่า “เฮ้ย เจ้าคนนั้น จงมาหาข้า จงเป็นทาสกรรมกรที่ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยรับคำสั่ง คอยประพฤติให้ถูกใจ พูดอย่างไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตดูหน้าตามเดิม” 

 

                  พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทูลปฏิเสธว่า “จะทำอย่างนั้นไม่ได้พระพุทธเจ้าข้า ที่จริง หม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้ ลุกรับ เชื้อเชิญให้เขานั่ง บำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยารักษาโรคและเครื่องยา) และจัดการรักษา ปกป้อง คุ้มครองเขาอย่างชอบธรรม”

 

                 ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ทรงพบคำตอบหรือยังว่าผลของการบวชมีหรือไม่ พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงตอบอย่างมั่นพระทัยว่า ผลของการบวชที่เห็นในปัจจุบันมีอยู่อย่างแน่นอน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า นี้เป็นเพียงสามัญญผลข้อแรกเท่านั้น ยังมีข้ออื่น ๆ อีกมาก เป็นการจุดประกายความใคร่รู้ของพระเจ้าอชาตศัตรูให้ลุกโพลงขึ้น จนอดไม่ได้ที่จะทูลถามถึงสามัญญผลข้ออื่น ๆ อีกต่อไป   

             

               แม้ครั้งที่สอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงใช้วิธีปฏิปุจฉาพยากรณ์ ให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงขบคิดอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าหากชาวนาผู้มั่งคั่ง เคยเสียภาษีให้แก่พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ออกบวชเป็น
บรรพชิต มีวัตรปฏิบัติเป็นนักบวชที่ดีพร้อมทุกประการ พระเจ้าอชาตศัตรูยังจะมีบัญชา ให้ชาวนาผู้นั้นกลับมาทำงานเพื่อเสียภาษีอากรเหมือนเดิมหรือไม่ พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงตอบเหมือนในข้อแรกว่า จะไม่ทรงทำเช่นนั้นเด็ดขาด แต่จะทรงให้ความเคารพกราบไหว้ จะถวายการต้อนรับอย่างเหมาะสม จะบำรุงด้วยปัจจัย ๔ และจะถวายความคุ้มครองป้องกันอย่างเป็นธรรมอีกด้วย

 

                จากปุจฉาและวิสัชชนาระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าอชาตศัตรูนี้ ทำให้เราเห็นว่า ผลดีของการบวชเป็นสมณะในขั้นต้นหรือสามัญญผลขั้นต้น ก็คือ การยกตนให้พ้นจากฐานะเดิม นั่นคือ
แม้จะเป็นเพียงทาสกรรมกร หรือพ่อค้า ชาวไร่ ชาวนา แต่เมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว กษัตริย์อย่างพระองค์ยังต้องให้ความเคารพกราบไหว้ในขณะเดียวกันนั้น เรายังสามารถตรองเห็นคำสอนที่แฝงอยู่ในคำถามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกว่า

 

                ๑. คุณธรรมพื้นฐานที่ผู้บวชจะต้องมีคือ สัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจถูกต้อง บางทีใช้ว่า ความเห็นถูก กล่าวคือ เห็นถูกว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว โลกนี้โลกหน้ามีจริง บุญ-บาปมีจริง บุญให้
ผลเป็นความสุข แต่บาปให้ผลเป็นความทุกข์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เหล่านี้เป็นต้น 

 

                 ๒. การบวชเป็น หนทางหนึ่ง ในการสร้างบุญ บารมี เพราะบุญสามารถเอื้ออำนวยให้คนเราเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรมส่วนบาปนั้นส่งผลให้ชีวิตคนเราตกต่ำลงเรื่อย ๆ        

 

                ๓. เมื่อบวชแล้วต้องสำรวมกาย วาจา ใจ อยู่อย่างสันโดษรักสงบ จริงอยู่ว่า เมื่อใครก็ตามที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วมี สิทธิ ในการรับการบำรุงด้วยปัจจัย ๔ และการคุ้มครองแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมี หน้าที่ ที่พึงปฏิบัติเพื่อให้สมกับสิทธินั้น ๆ นั่นคือ การสำรวมระวัง พอใจในปัจจัยอันเป็นเครื่องดำรงชีวิตของสมณะตามสมควร ไม่ปรารถนาความฟุ้งเฟ้อ รักการปฏิบัติธรรม

 

                คำสอนที่แฝงอยู่ในบทสนทนานี้ ข้อที่ ๑ และ ๒ อยู่ในระดับของความเห็นที่ถูกต้อง                หรือสัมมาทิฏฐิของพระสงฆ์ผู้ที่เริ่มเข้ามาสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ และเมื่อเข้ามาแล้ว ต้องปฏิบัติตามในข้อที่ ๓ คือ สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่อย่างสันโดษ และรักสงบ นี้เองคือ ข้อวัตรปฏิบัติเบื้องต้นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ให้แก่พระสงฆ์ผู้ที่เริ่มเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้

 

                คำตอบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่กระจ่างในพระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นอย่างยิ่ง ทรงรู้สึกเสมือนได้รับน้ำอมฤต จึงกระหายใคร่รู้ที่จะได้เสพเพิ่มขึ้นอีก พระเจ้าอชาตศัตรูจึงตรัสถามถึงสามัญญผลที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก

 

        "ความเห็นถูกในเรื่องบุญ บาป โลกนี้ และโลกหน้าทำให้เกิดศรัทธาในการออกบวชยกฐานะตนสู่ผู้ควรแก่การเคารพกราบไหว้"

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑  ครูเจ้าลัทธิทั้ง ๖ ท่าน ได้แก่ ๑) ปูรณกัสสปะ เป็นผู้มีความเห็นว่า วิญญาณเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ไม่มี
การเปลี่ยนแปลง ไม่เชื่อทั้งเหตุและผลของการกระทำ กล่าวคือ ไม่เชื่อบุญ บาป และกฎแห่งกรรมนั่นเอง
๒) มักขลิโคสาล เป็นผู้มีความเห็นว่า วิญญาณเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดีและไม่ดีใน
ชีวิต ล้วนเกิดขึ้นเพราะโชค ว่าดีหรือร้าย และเมื่อเวียนเกิดเวียนตายไปเรื่อย ๆ ก็จะบริสุทธิ์ได้เอง ๓) อชิต
เกสกัมพล เป็นผู้มีความเห็นตรงข้ามกับสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ กล่าวคือ ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล โลก
นี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น และสัตว์ทั้งหลายสิ้นสุดลงที่ความตายในชาตินี้ ไม่มีสิ่งใดเหลือ ๔) ปกุทธกัจจายนะ
เป็นผู้มีความเห็นว่า สภาวะทั้ง ๗ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ และชีวะ เป็นสิ่งไม่หวั่นไหว เที่ยงแท้ นิรันดร์
ไม่ขึ้นกับการกระทำใด ๆ ทั้งดีและชั่ว ๕) นิครนถนาฏบุตร เป็นผู้มีมีความเห็นว่า ความจริงมิได้มีเพียงหนึ่ง
ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การเปลื้องผ้าและทรมานตน รวมถึงข้อปฏิบัติในเรื่องอหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)
เป็นหนทางหลุดพ้น ๖) สัญชัยเวลัฏฐบุตร เป็นผู้มีความเห็นว่า ไม่มีความจริงอันเป็นสัจจะ มุ่งการกล่าวถึง
สิ่งที่ไม่ควรพยากรณ์ ได้แก่ โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง และกล่าวซัดส่ายไปมา เช่น อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่
อย่างอื่นก็มิใช่ เป็นต้นขุ.ธ. ๒๕/๑๒๒/๖๙ (แปล.มจร)

๒ ที.สี. ๙/๑๘๒/๖๐-๖๑ (แปล.มจร)

๓ การตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๔ แบบ ได้แก่ ๑) เอกังสพยากรณ์ คือ การตอบปัญหาแง่
เดียว ๒) วิภัชพยากรณ์ คือ การตอบปัญหาโดยการจำแนกธรรม ๓) ปฏิปุจฉาพยากรณ์ คือ การตอบปัญหา
โดยการย้อนถาม ๔) ฐปนียพยากรณ์ คือ การงดตอบ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่ควรตอบ

๔ ที.สี. ๙/๑๘๓/๖๑-๖๒ (แปล.มจร)
๕  ที.สี. ๙/๑๘๔/๖๒ (แปล.มจร)

                                                        จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3   

โดยคุณครูไม่เล็ก

 

                    

 

 

                    

 

                   

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037812348206838 Mins