ขาดเสียซึ่งครูดี...ยากที่จะดีได้
อย่างไรก็ตาม เว้นพระบรมโพธิสัตว์ผู้ตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือผู้ที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้าเสียแล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะสามารถฝึกฝนอบรมด้วยตัวของตัวเองโดยปราศจากครูบาอาจารย์หรือต้นแบบ ดังที่ปรากฏอยู่ใน ปัญญาวุฑฒิสูตร ว่าด้วยความเจริญด้วยปัญญา๑ และ พหุการสูตร ว่าด้วยธรรมมีอุปการะมาก๒ ซึ่งมีอยู่๔ ประการ อันประกอบด้วย
๑) สัปปุริสสังเสวะ (การคบหาสัตบุรุษ) หาครูดีให้พบ
๒) สัทธัมมัสสวนะ (การฟังสัทธรรม) ตั้งใจฟังคำครูให้ชัด
๓) โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย) ตั้งใจไตร่ตรองคำครูให้ลึก
๔) ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)ลงมือทำตามคำครูให้ครบ
และด้วยการปฏิบัติตามธรรมดังกล่าวนี้ เป็นผลทำให้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ในที่สุด ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ต้นแบบที่ดีเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในการเริ่มต้นฝึกฝนอบรมตนเอง
เกี่ยวกับเรื่องต้นแบบที่ดีหรือครูดี ในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสยกย่องพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ดังที่ปรากฏใน สัจจวิภังคสูตร ดังใจความที่ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะ เธอทั้งหลายจงคบสารีบุตร และโมคคัลลานะเถิดสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นภิกษุฉลาด เป็นผู้อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำในประโยชน์ที่สูงสุด สารีบุตรสามารถที่จะบอก แสดงบัญญัติกำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ ได้โดยพิสดาร”๓
พระภิกษุทุกรูปนับตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล เมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องทำการขอนิสัย คือ ผู้บวชเข้ามาใหม่จะต้องเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ เพื่อขอให้ท่านเป็นที่พึ่งที่อาศัย ปกครองสั่งสอน ให้การอบรมแก่ตนเองต่อไป กล่าวคือ
๑) ขอในรูปแบบการคุ้มครองป้องกันยามมีภัย
๒) ขอในรูปแบบปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช เพื่อเป็นเครื่องอาศัยในการใช้สอยให้มีชีวิตรอดปลอดภัย
๓) ขอในรูปแบบข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ในการหา การใช้ การเก็บรักษาปัจจัย ๔ เพื่อไม่ให้ปัจจัย ๔ ทั้งหลายที่ได้มานั้น เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
๔) ขอในรูป แบบความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรม กล่าวคือ ความเข้าใจถูกในพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อใช้ในการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป
ดังนั้น การที่ใครจะฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้ดี มีความจำเป็นที่จะต้องมีต้นแบบหรือมีครูดี หากขาดเสียซึ่งต้นแบบหรือครูดีเสียแล้ว ก็ยากที่จะฝึกฝนอบรมตนเองให้ดีได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้พระภิกษุผู้บวชเข้ามาใหม่ในพระพุทธศาสนา จะต้องทำการขอนิสัยเพื่อเป็นการเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อขอให้พระอุปัชฌาย์อนุเคราะห์ทั้งความปลอดภัย สิ่งของ ความประพฤติที่ดีงาม ความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย และวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุธรรม จนกระทั่งกิเลสหมดสิ้นไปในที่สุด
"การที่ใครจะฝึกฝนอบรมตนเองให้ดีได้จำเป็นต้องมีต้นแบบหรือมีครูดีหากขาดเสียซึ่งต้นแบบหรือครูดีเสียแล้ว ก็ยากที่จะฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้ดี"
เชิงอรรถ อ้างอิง
๑ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๔๘/๓๖๗-๓๖๘ (แปล.มจร)
๒ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๔๙/๓๖๘ (แปล.มจร)
๓ ม.อุ. ๑๔/๓๗๑/๔๑๗ (แปล.มจร)
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3
โดยคุณครูไม่เล็ก