วัตถุประสงค์ของพระธรรมวินัย

วันที่ 10 มีค. พ.ศ.2563

วัตถุประสงค์ของพระธรรมวินัย

 

                  ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงแต่งตั้งพุทธสาวกรูปใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่ได้ตรัสพุทธพจน์นี้ในมหาปรินิพพานสูตรแก่พระอานนท์ว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไปก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”

                 

                 พระธรรม คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าด้วยความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งความจริงเหล่านั้น แท้ที่จริงก็มีปรากฏอยู่เก่าก่อนแล้ว เพียงแต่ต้องอาศัย ญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพทุธเจ้า ในการไปรู้เห็น และนำมาเปิดเผยแก่ชาวโลกเราสามารถแบ่งพระธรรมออกได้เป็น ๓ ส่วน ได้แก่

 

                   พระธรรมส่วนที่ ๑ คือ หลักความจริงตามธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งปวง เช่น เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีการแก่ การเจ็บและการตาย แม้ชีวิตหลังความตายก็ยังคงมีภพชาติเบื้องหน้าทั้งฝ่ายสุคติและทุคติรออยู่

 

                   พระธรรมส่วนที่ ๒ คือ กฎแห่งความจริงที่ควบคุมสรรพสิ่งจึงบ่งชี้ชัดลงไปได้ว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นประโยชน์อะไรไม่เป็นประโยชน์ กฎแห่งความจริงเหล่านี้ มีผลเป็นความสุขและความทกุข์ ต่อตัวผู้ปฏิบัติเิอง เช่น กฎแห่งกรรม กฎไตรลักษณ์ เป็นต้น

                 

                  พระธรรมส่วนที่ ๓ คือ หลักการและวิธีการปฏิบัติให้ใจสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อบรรลุความจริงของสรรพสิ่งที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ เป็นผลให้พ้นทุกข์และพบกับความสุขที่แท้จริง เช่น สติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น

 

                 พระวินัย คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นระเบียบ ข้อบัญญัติ ข้อห้าม ข้อบังคับ เป็นหลักปฏิบัติให้กายและวาจาเกิดความสะอาด สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ

 

                ระดับศีลเบื้องต้น อันได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ระดับวินัยของพระภิกษุ                           ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ท่านใช้คำว่าอธิสีลสิกขา อันได้แก่ ศีล ๒๒๗ สิกขาบทของพระภิกษุ หรือศีล ๓๑๑ สิกขาบทของพระภิกษุณี ที่ว่าด้วย

 

                ๑) แบบแผนการดูแลความสะอาดและจัดระเบียบ ทั้งร่างกาย วัตถุสิ่งของ บริขาร เสนาสนะ        สิ่งแวดล้อม เพื่อให้บังเกิดความสบายกาย

 

               ๒) แบบแผนความประพฤติ ที่ต้องฝึกฝนอบรมให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อให้กายและวาจาสะอาด เป็นบาทเบื้องต้นของการฝึกสติสัมปชัญญะและสมาธิ เพื่อรองรับการปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป

 

 

               "พระธรรมวินัยคือ หลักการและระเบียบปฏิบัติเพื่อชำระกาย วาจา และใจให้สะอาดบริสุทธิ์จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้ในที่สุด"

 

                เมื่อเรานำ วัตถุประสงค์ของพระธรรมวินัย มาวางคู่กับอานิสงส์ของการบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา และ ข้อปฏิบัติของพระภิกษุในการฝึกฝนอบรมตนเอง ที่ปรากฏในสามัญญผลสูตรจะพบว่า

               

               ๑. การปฏิบัติตามพระธรรม คือ สำรวมอินทรีย์ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ มีความสันโดษ ละนิวรณ์ ๕ เข้าถึงฌานสมาบัติบรรลุวิชชา ๘ อันมีอาสวักขยญาณเป็นที่สุด ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของพระ
ภิกษุในการฝึกฝนอบรมตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใจสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากความเศร้าหมอง นุ่มนวล สงบระงับจากกิเลสอาสวะทั้งหลายไปตามลำดับ แต่สามัญญผลทั้ง ๓ ระดับนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีการปฏิบัติตามพระวินัยเป็นพื้นฐาน

 

                ๒. การปฏิบัติตามพระวินัย คือ สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่เสมอ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึง
พร้อมด้วยศีล อันได้แก่ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เป็นต้น ซึ่งอาจจะดูเหมือนว่าเป็นข้อห้าม ข้อบังคับต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งเกิดความอึดอัดแต่หากนำวัตถุประสงค์ดังกล่าวมากำกับแล้ว จะทราบได้ทันทีว่า พระวินัย
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ นอกจากจะเป็นไปเพื่อสามัญญผลเบื้องต้น คือการได้ยกตนขึ้นจากฐานะเดิมและได้รับการอุปัฏฐากจากบุคคลทั่วไปแล้ว ยังเป็นไปเพื่อความสะอาดกายและวาจา อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป

 

               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบคำถามของพระอานนท์เกี่ยวกับผลแห่งศีลไว้ใน กิมัตถิยสูตร ไว้ดังนี้

 

               “อานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมี
ยถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาและวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาและวิราคะเป็นอานิสงส์ นิพพิทาและวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ อย่างนี้อานนท์ ศีลที่เป็นกุศล ย่อมทำอรหัตตผลให้บริบูรณ์โดยลำดับอย่างนี้แล”

 

                 จากพุทธดำรัสที่ตอบพระอานนท์ทั้งหมดนี้ พระพุทธองค์ทรงชี้ชัดว่า ศีลมีอานิสงส์มากและเป็นวัตรปฏิบัติพื้นฐานสำคัญที่สุดของทุกชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสงฆ์ที่บวชอย่างมีเป้าหมาย เมื่อ
พระภิกษุตั้งใจรักษาศีลอันเป็นกุศล คือ การปฏิบัติตามพระวินัย มีการสำรวมระวังในพระปาติโมกข์ เป็นต้น ย่อมทำให้พระภิกษุสงฆ์ปราศจากอวิปปฏิสาร ย่อมมีอารมณ์ดีมีอารมณ์สบาย เมื่อพระภิกษุสงฆ์มีอารมณ์ดีมีอารมณ์สบายเป็นพื้นฐานแล้ว ย่อมสามารถปฏิบัติธรรมให้เจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งมีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ารวดเร็วย่อมจะมีความสุขใจและเล็งเห็นสัมฤทธิผลมากขึ้น ใจจึงเป็นสมาธินิ่งแน่นไม่ซัดส่าย ยังผลให้ยถาภูตญาณทัสสนะหรือการรู้เห็น ตามความเป็นจริง เกิดขึ้นอันเป็นเหตุนำไปสู่นิพพิทาและวิราคะ และกำจัดกิเลส ๓ ตระกูลให้สิ้นไปจากใจ บรรลุอรหัตตผล หลุดพ้นในที่สุด

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ ที.ม. ๑๐/๒๑๖/๑๖๔ (แปล.มจร)

๒ ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พระธรรม ได้ใน พระเผด็จ ทตฺตชีโว. ที่สุดแห่งธรรมถึงได้ด้วยความเคารพ ตอน
ธัมมคารวตา. (ปทุมธานี: กองวิชาการ อาศรมบัณฑิต มูลนิธิธรรมกาย. ๒๕๖๒)
๓ วิ.ม.อ. ๑/๗๗๖ (แปล.มมร)

๔ องฺ.ทสก. ๒๔/๑/๓ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3 

โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01538413365682 Mins