ทุกข์เพราะยึดถือ
เมื่อปี ๒๕๓๐ ข้าพเจ้าย้ายมาอยู่ในบ้านหลังปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่กันสิบกว่าครอบครัว บรรยากาศเงียบ สงบเพราะเป็นซอยตัน มีวิถีชีวิตในระหว่างเพื่อนบ้านเหมือนชาวกรุงเทพฯ ทั่วไป คือต่างคน
ต่างอยู่บ้านใครบ้านมัน แต่พอปี ๒๕๓๒ แต่ละบ้านเริ่มพูดคุยกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะ ๓ ครอบครัวทางต้นซอยเกิดมีลูกคลอดออกมาไล่เลี่ยกันในตอนต้นปีนั้นเอง เป็นเด็กผู้หญิง ๒ คนชื่อ น้องเอ้ และน้องแพรว และ
เด็กผู้ชายคนหนึ่งชื่อน้องโต
ข้าพเจ้ามีนิสัยรักเด็กๆ อยู่แล้ว จึงชอบทักทายทารกเหล่านั้น เวลาพี่เลี้ยงหรือมารดาของเด็กอุ้มผ่านหน้าบ้านข้าพเจ้า คำพูดที่ข้าพเจ้าชอบใช้ทักทายทารกน้อยทั้ง ๓ คน มีอยู่ไม่กี่ประโยค
"ว่า ง..า..ย คะ น้องเอ้.. หิวนมรึยังคะ.."
"น้องโต หันทางนี้ ท..า..ง นี้คะ นี่..นี่ยายอยู่ทางนี้"
"น้องแพรวตาปรือแล้วหนู..ง่วง..หรือคะ"
เด็กทั้งสามเมื่อมีอายุอยู่ในระยะเดือนต้นๆ ไม่ว่าข้าพเจ้าจะทักด้วยถ้อยคำอย่างไรทำอาการยิ้มแย้ม ตบมือเรียกความสนใจจากพวกเขาเท่าไร เขาก็มองเฉยๆ มีอาการไม่ยินดียินร้าย ไม่รู้เรื่องรู้ความหมายมองข้าพเจ้า พร้อมกับทำตาปริบๆ เหมือนข้าพเจ้าเป็นสิ่งของอะไรชิ้นหนึ่ง
ข้าพเจ้ายังคงทักทายฝ่ายเดียวอยู่เรื่อยมาหลายเดือน ประกายตาของพวกเขาจึงเริ่มเปลี่ยนไป ไม่มองข้าพเจ้าเฉยเมยอย่างเก่า แต่จะมองด้วยความสนใจเพิ่มขึ้นๆ กระทั่งในที่สุดจะแสดงอาการยิ้มแย้มอย่างบริสุทธิ์ คือยิ้มเต็มที่จนตาทั้งสองข้างปิด เวลานั้นอายุพวกเขาราว ๔-๕ เดือน
ครั้นอายุใกล้ๆ ครบขวบ เด็กแต่ละคนเริ่มรู้จักว่าตนเองชื่ออะไร น้องเอ้ ดูเหมือนจะฉลาดกว่าเพื่อน ถ้าได้ยินเสียงใครเรียกชื่อจะหันหน้ามองทันที พยายามมองดูอาการของคนที่พูดด้วย ฟังคำพูด ในที่สุดก็แสดงกิริยาตอบรับ
เนื่องจากทั้ง ๓ ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดีมาก เด็กๆ จึงมีของเล่นของใช้อย่างดีเหมือนๆ กัน มีรถหัดเดิน รถเข็น กระทั้งรถที่ใช้เท้าถีบ ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าเมื่อเขาได้ของเหล่านี้มาใหม่ๆ ต่างคนต่างยังเล็ก
ไม่รู้ในความเป็นเจ้าของ พี่เลี้ยงจะจับเด็กๆสับเปลี่ยนรถนั่ง เด็กทั้ง ๓ ก็แสดงท่าทางเฉยๆ แต่เมื่อถึงเวลานี้พวกเขามีอายุกันคนละขวบเศษๆ แม้จะพูดกันได้เพียงคนละไม่กี่คำ แต่เขากลับรู้จักความสำคัญของตนเอง
รู้จักหวงสิ่งของเครื่องใช้ มีอัธยาศัยเปลี่ยนไป มีการแสดงความดีใจเมื่อได้รับสิ่งที่ถูกใจ และแสดงความโกรธ ไม่พอใจเมื่อพบสิ่งที่ไม่ถูกใจ
"อ้าว.. น้องเอ้.. คะ ทำไมทำหน้าบึ้งยังง้..า..น เมื่อกี้ยายชมว่าหนูสวย ใส่ชุดสีชมพูสวยจริงๆ น้องเอ้ยังยิ้มจนตาปิดเลยนี่คะ แล้วทำไมตอนนี้ทำหน้าไม่ดีเลย.." ข้าพเจ้าทักพร้อมทั้งมองหน้าพี่เลี้ยงของน้องเอ้ เพื่อขอทราบเหตุผลแทน เพราะน้องเอ้ยังพูดไม่ได้
"อ๋อ.. ไม่พอใจค่ะป้า.. หนูอุ้มเดินไปทางโน้น ไปเจอน้องแพรวเข้า น้องแพรวก็แต่งตัวสวย หนูก็ชมน้องแพรวเค้า รายนี้ไม่พอใจ ดูซิคะ ทำหน้าบึ้งเชียว" ข้าพเจ้ามองหน้าน้อยๆ ของน้องเอ้ ยิ่งขณะที่พี่เลี้ยงเล่าสาเหตุ
ให้ข้าพเจ้าฟัง น้องเอ้ก็ยิ่งแสดงสีหน้าไม่พอใจยิ่งขึ้น ยังเอานิ้วมือเล็กๆ ทั้ง ๕ นิ้ว ขยุ้มผมพี่เลี้ยงดึงแล้วดึงอีกแสดงความโกรธอย่างหนัก
"ใครว่าน้องแพรว สวย.. วันนี้น้องเอ้ สวยที่สุดค่ะ สวยกว่าน้องแพรว ดูซิชุดสีชมพูชุดนี้ ปักรูปลูกสตรอเบอรี่สีแดงรอบชายกระโปรงเลย เห็น..มั้ย.. สวยที่สุด น้องเอ้.. สวยที่สุด สวยที่สุดในซอย.."
ข้าพเจ้าพูดปลอบน้องเอ้ เปรียบเทียบว่า สวยกว่าน้องแพรว เพราะขณะนั้นน้องแพรวมิได้อยู่ตรงนั้น ถ้าน้องแพรวอยู่ ก็จะพูดปลอบแบบนี้ไม่ได้ ต้องพูดไปอีกแบบ น้องเอ้ฟังข้าพเจ้าพูดรู้เรื่องทั้งที่แกยังพูด
ได้เพียง ๒-๓ คำ คือเรียกชื่อคนที่สนิทๆ ได้ ๓-๔ คน มีเรียกพ่อว่าป้อ..แม่ เรียกข้าพเจ้าว่า ย..า..ย เรียกคนข้างบ้านที่เล่นด้วยเสมอว่านี..และ ชื่น..ได้
น้องเอ้หน้าตาหายบูดบึ้ง หยุดทึ้งผมพี่เลี้ยง มองกระโปรงตนเอง เอียงคอไปมา เอามือจับชายกระโปรงตรงที่มีลายลูกสตรอเบอรี่แล้วก็เงยหน้ามองข้าพเจ้าพร้อมกับยิ้มตามแบบของแก คือยิ้มเต็มที่จนตาปิด ปลอบน้องเอ้ยังไม่ทันเสร็จ ได้ยินเสียงดังลั่นจากทางถนนต้นซอย น้องโตแผดเสียงอ๊า.. อ๊า.. เอ๊.. เอ๊.. มองดูเห็นน้องโตกำลังเงื้อมือร่า ยกกำปั้นขึ้นเตรียมจะทุบน้องแพรว เสียงแม่ของน้องโตพูดว่า
"แหม..อย่าหวงนักเลย น้องแพรวขอเข็นรถเล่นหน่อยเดียว หวงจังเลย ดูซิ..ทำท่าดุจะตีน้องได้ยังไง น้องไม่ได้เอาไปไหนหรอกน่า.. เดี๋ยวก็คืนให้ ขอยืมหน่อยนะคะ.."
แต่น้องโตฟังไม่รู้เรื่อง ขอยืมหมายความว่าอย่างไร เห็นน้องแพรวคว้ารถไปเข็นเล่นต่อหน้าต่อตา เกิดหวงขึ้นมาเต็มที่ วิ่งไล่ทุบ ไล่แย่งคืนวุ่นวาย พวกคนเลี้ยงต้องรีบอุ้มแยกออกจากกัน ทั้งสองคน เลยพากันส่งเสียงร้องดังลั่นซอย
ข้าพเจ้ามองภาพนั้น แล้วหันมามองน้องเอ้ พร้อมกับนึกในใจ ย้อนไปเมื่อหลายเดือนก่อน เมื่อทั้งสองยังเป็นทารกไร้เดียงสา เพิ่งเกิด
"ในตอนนั้น เด็กทั้งสามคนไม่ยึดถือแม้แต่ชื่อที่ถูกตั้งให้ตนเอง ใครเรียกก็ไม่รับรู้ไม่สนใจ ไม่เคยมีความรู้สึกในตัวตน ไม่ยึดถือว่าสิ่งโน้น สิ่งนี้เป็นของตน รอยยิ้มของพวกเขาจึงบริสุทธิ์ไร้เดียงสา อาการพอใจ ไม่พอใจ ไม่รุนแรงเหมือนเวลานี้เลย อ้อ.. ที่เรามักจะพูดกันว่า เด็กทารก นั้นบริสุทธิ์ บริสุทธิ์.. น่าจะหมายเอาความบริสุทธิ์จากความยึดถือนี่เอง เมื่อไม่ยึดถือว่ามีตนเอง มีผู้คนสัตว์สิ่งของที่เป็นของตน กิเลส คือ ความโลภ ความยึดเอาเป็นของตน กิเลส คือความโกรธเมื่อของที่รัก ถูกแย่ง ก็ไม่เกิดขึ้น"
เมื่อคิดมาถึงตรงจุดนี้ ข้าพเจ้าก็นึกเลยไปถึงว่า แท้ที่จริงผู้คน ที่แวดล้อมนี่เอง ใส่ความรู้สึกเป็นตัวตน ใส่ความรู้สึกในความเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ให้แก่จิตใจอันบริสุทธิ์ของเด็ก ตั้งชื่อด้วยถ้อยคำต่างๆ เป็นต้นว่า สมพงษ์ สมศรี นารีสุชาดา ประไพพร ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไป ทำให้ผู้ถูกตั้งชื่อ ยึดถ้อยคำ สมมติอันนั้น เป็นจริงเป็นจังว่าชื่อนั้นเป็นชื่อตน ใครติชมคนที่ชื่ออย่างนั้น คือติชมตน แล้วก็ให้ยึดถือผู้คนสัตว์สิ่งของที่แวดล้อมตนว่าเป็นของของตน พ่อของตน แม่ของตน ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้องสุนัข แมว ของเล่น ของกิน ของใช้ อะไรต่อมิอะไรเป็นของตน เท่านั้นยังไม่พอผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ปกครองยังเพิ่มระเบียบแบบแผนต่างๆ ในชีวิตให้เด็กๆ ยึดถือเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ
"เอ้า อย่าไปเล่นกับลูกของบ้านนั้นนะ พ่อแม่เค้าไม่ถูกกับบ้านเรา.."
"นั่น นั่น ยุงบินมา เดี๋ยวมันจะกัดเราเข้า ตบเลย ตบเลยลูกเอาให้แบนแต๊ดแต๋ไปเลย"
"ไม่ได้ ไม่ได้ ทำแหยยังงั้นได้ยังไง มันด่ามาเราก็ต้องด่าไปมันท้ามาเราก็ต่อยมันเลย"
"วันนี้จะมีคนมาทวงหนี้พ่อนะ พ่อจะแอบอยู่ทางหลังบ้านถ้าเค้าถามถึง บอกว่าพ่อไม่อยู่"
"เดี๋ยวว่างรึเปล่าไอ้หนู ไปซื้อเหล้าร้านเจ๊กดำมาให้ปู่ซักแบนนึงนะ นี่เงินอยู่นี่"
ฯ ล ฯ
ความเป็นไปจากผู้คนที่แวดล้อมเหล่านี้เองหล่อหลอมให้เด็กทารกผู้บริสุทธิ์ เติบโตขึ้นมาพร้อมด้วยใจที่เปิดประตูรับกิเลสทุกชนิด รับหมดทุกรูปแบบ
ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อปี ๒๔๘๓ มีอายุ ๗ ขวบเศษ มารดาของข้าพเจ้าแพ้ท้องตั้งครรภ์น้องคนแรก ข้าพเจ้าเฝ้าดีอกดีใจ เคยเล่นแต่ตุ๊กตาไม่มีชีวิตมานานเต็มที ตอนนี้จะได้เล่นตุ๊กตามีชีวิต มีน้องตัวเล็กๆ เหมือนเพื่อนๆ แล้ว ความเห่อน้องทำให้ข้าพเจ้าดูแลแม่เป็นพิเศษ แม่อยากกินอะไร พอออกปากใช้ ข้าพเจ้าจะรีบวิ่งไปร้านเจ๊กหงซื้อมาให้ท่านทันที
ถ้าเป็นของไม่มีขาย ต้องหาในสวนหลังบ้านของตนเองหรือของคนอื่น ข้าพเจ้าจะรีบไปหาหรือไปขอมาให้
แต่แล้ววันหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่เข้าใจคำพูดของเพื่อนแม่ที่ชื่อ น้าเจียมเป็นอย่างยิ่ง ทำไมจึงพูดกับข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำประหลาดว่า
"หนูหวิน ทีนี้แย่แล้ว ครูเขามีน้องออกมาใหม่ น้องก็จะแย่งขนมของหนู แย่งพ่อแย่งแม่แย่งบ้านมีอะไรๆ น้องก็แย่งเอาไปหมด ไม่มีใครรักหนูหวินอีกแล้ว"
สิ้นคำพูดของน้าเจียม ความคิดที่พรั่งพรูเกิดขึ้นมาในใจข้าพเจ้า เวลานั้นคือความรู้สึกเกลียดชังคนพูด "..เป็นคนใหญ่ยังไงกันเนี่ย มาสอนให้พี่เกลียดน้อง แล้วน้องของเรายังอยู่ในท้องแม่ หน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่รู้ ทำไมจึงมาว่าน้องของเรานิสัยไม่ดี เกิดมาจะแย่งเอาโน่นเอานี่ เรารักน้องของเราตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้า ตั้งใจว่าน้องเกิดมาแล้วอยากได้อะไร เราก็จะหาให้ เราไม่เกลียดน้องสักหน่อย ทำไมยายคนนี้มาพูดเหมือนน้องเป็นศัตรูของเรา"
วัยเพียง ๗ ขวบกว่า ข้าพเจ้าสามารถแยกคนนิสัยดีนิสัยเลวออก คนที่พูดให้ข้าพเจ้าเกลียดน้อง ข้าพเจ้าถือว่าเป็นคนนิสัยและจิตใจไม่ดี ไม่ควรไปใกล้ ไม่ควรคบหาด้วย เขาต้องเป็นคนขี้อิจฉา เห็นแก่ตัว
งก คือโลภมากอยากได้สิ่งต่างๆ เป็นของตนเอง ไม่ยอมให้ใคร และเมื่อพิจารณาดู ก็เห็นว่าในครอบครัวของพวกเขาไม่มีความสุข เขาทะเลาะ วิวาทแก่งแย่งและไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันเลยในระหว่างหมู่ญาติ
แต่สำหรับพวกผู้ใหญ่ที่พูดให้ข้าพเจ้าชื่นชมว่าน้องจะเกิดมาเป็นเพื่อนเล่นไม่เหงาต่อไปอีกแล้ว ท่านเหล่านั้นมักเป็นคนตรงกันข้ามกับพวกแรก คือเป็นคนใจดีมีเมตตา เอื้อเฟื้อ ชีวิตในครอบครัวสงบสุข
อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นข้าพเจ้าก็สามารถเอาตัวรอดในการโต้ตอบพูดจา
เมื่อเวลามีใครพูดกับข้าพเจ้าเรื่องน้องในเวลาต่อมา ข้าพเจ้าจะสังเกตเสียก่อน ถ้าเป็นคนใจดีนิสัยดี ข้าพเจ้าจะบอกว่า ข้าพเจ้าดีใจจะได้น้องมาเป็นเพื่อนเล่น แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่นิสัยไม่ดีดังกล่าว ข้าพเจ้าจะพูดให้ถูกใจพวกเขาว่า "ไม่ชอบน้อง ไม่อยากได้ เดี๋ยวมาแย่งขนมหนูกินหมด" คนฟังก็ชอบอกชอบใจ
สิ่งที่เราเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้คนสัตว์สิ่งของ และแม้เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ แท้ที่จริงเป็นเพียงของสมมติ สมมติในความเกี่ยวข้อง คนเกิดก่อนมัก มมติให้คนเกิดทีหลัง สมมติแล้วก็ชวนกันยึดถือ
ความยึดถือ นั้นเมื่อมีมากเหนียวแน่นเข้า ก็เป็นเหตุแห่งความทุกข์
เริ่มตั้งแต่ตัวเราเอง ความจริงแล้วก็มีเพียงธาตุใหญ่ๆ ๔ อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมรวมกันในรูปร่างอย่างหนึ่ง แล้วก็มีธาตุที่เป็นวิญญาณเกิดอยู่ร่วมด้วย ทำให้มีตัวรู้เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้แท้ที่จริง ก็ไม่มีแก่นสารสาระอะไร บังเอิญประจวบเหมาะเกิดขึ้น ตั้งอยู่เวลาหนึ่ง ท้ายที่สุดก็เสื่อมสลายหายไปกลายเป็น "ความไม่มีอะไร" ไปตามเดิม
แต่ขณะที่สิ่งเหล่านี้มาประจวบกันเข้าเกิดขึ้น เราพากันสมมติ สิ่งนั้นสิ่งนี้สิ่งโน้น ว่าเป็นเรา ว่าเป็นเขาขึ้นมา พบเห็นสิ่งใดก็ตั้งสมมติใหม่เพิ่มขึ้นๆ เพิ่มจำนวนสิ่งที่เป็นตัวเรา ของเรา ตัวเขา ของเขามาก ขึ้นทุกที ดังนั้นถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า ในวัยทารก ในวัยเด็ก เมื่อการสมมติยังไม่มาก ครั้นยิ่งโตขึ้นมีสิ่งสมมติต่างๆ เพิ่มความยึดถือก็ยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว
สมมติว่าสิ่งนี้เป็นตัวเราขึ้นมา อวัยวะน้อยใหญ่จึงเป็นของเราตามมา ใบหน้าของเรา ผมของเรา รูปร่างของเรา ผิวพรรณของเรา เสียงของเรา ฯลฯ ยึดสิ่งในตัวเป็นของตัวเท่านี้ยังไม่พอ ยังยึดสิ่งนอกตัวเป็น
ของตัวอีกเพิ่มขึ้นๆ พ่อของเรา แม่ของเรา ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอา เพื่อนสนิท มิตรสหาย ผู้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง อะไรต่อมิอะไรเป็นของเรา ยังมีของเราที่เป็นสัตว์สิ่งของอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ไหว
ความยึดถือในสิ่งสมมติเหล่านี้เมื่อมีเหนียวแน่นมั่นคงมากขึ้น เราเรียกว่า อุปาทาน ในชีวิตของคนเรา จึงมักตกอยู่ในสภาพ ยิ่งแก่ ยิ่งโง่ ยิ่งโต ยิ่งเซ่อ คือยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งสมมติสิ่งต่างๆ ใส่ตนเองมาก
ทำให้ต้องยึดถืออะไรๆ มากตามไปด้วย ความยึดถือนั่นเองเป็นต้นเหตุให้ความทุกข์เกิด นี่คือยิ่งแก่ยิ่งโง่ ยิ่งโตยิ่งเซ่อ ก็หมายถึงเมื่อร่างกายเจริญเติบโตขึ้นจิตใจกลับไม่เจริญพัฒนาตาม แต่กลับไร้สติ ไร้ปัญญา โง่เง่าหลงใหลในร่างกายนั้นๆ จะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็พยายามปรุงแต่งไปตามความโง่หลงนั้นๆ
จำได้ว่าในวัยเด็ก ข้าพเจ้าไม่เคยสนใจตนเองเลยว่า จะอ้วนผอม ขาวดำสวยหรือไม่สวย ก็เห็นว่าตนเองและคนอื่นๆ ก็เหมือนๆ กันทุกคน คือต้องกินอาหาร กินแล้วก็ต้องไปถ่ายของเสียออกจากตัวซึ่งก็ไม่มีอะไรดี ยังต้องคอยอาบน้ำขัดขี้ไคลลำบากลำบนกับเรื่องของตนเอง น่าเบื่อหน่ายด้วยซ้ำ ขัดเองขี้ไคลออกไม่หมด แม่ก็ต้องเรียกไปขัดซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อถูกขัดตรงบริเวณใบหู จะร้องดังจนเสียงหลง
"โอ๊ย แม่จ๋า หนูเจ็บ พอแล้ว พอแล้ว ไม่ต้องขัด ขี้ไคลไม่เห็น มันทำให้เราเป็นไข้อะไรซักหน่อย ทิ้งมันไว้ก็ได้จ้ะ.."
"ดูซิลูกนี่.. จะเอาขี้ไคลไว้ได้ยังไง มันสกปรก ใครเห็นก็จะว่า แม่ไม่ดูแล เลี้ยงลูกยังไง ปล่อยให้มีขี้ไคลเต็มกกหู นี่..นี่.. อย่าหนีนะ อย่าหนีนะ.."
ว่าแล้วแม่ก็จะลากข้อมือข้าพเจ้าให้นั่งลง เอาน้ำราด สบู่ถูใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กๆ ขัดข้าพเจ้าจนทั่วตัวข้าพเจ้าไม่รู้จักคำว่า " สกปรก" ในเวลายังเล็กขณะนั้น แต่เข้าใจว่า
"อ้อ นี่แม่ดูเหมือนไม่ใช่ขัดขี้ไคลเพราะรักเราซักหน่อย แต่ขัดเพราะกลัวคนอื่นจะว่าตัวแม่เองไม่ดูแลเราให้ดี"
ต่อมาเมื่อโตขึ้น เห็นเพื่อนเล่นมีขี้ไคลตามเนื้อตามตัวเป็นคราบๆ ได้รับคำตำหนิติเตียนจากคนโน้นคนนี้ว่า " สกปรก สกปรก"
ก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรให้ตนเองเป็น แล้วก็ยอมลำบากด้วยการขัดถูทำความสะอาด ต้องซื้อหาสบู่ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ซื้อน้ำหอมดับกลิ่นตัว หรือปรุงแต่งให้กลิ่นตัวเป็นที่ถูกใจของตนเองและของคนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ในราวอายุ ๑๘ ปี เป็นน้องใหม่ชั้นปีที่หนึ่งของมหาวิทยาลัย วันหนึ่งเดินผ่านกลุ่มนิสิตหญิงรุ่นพี่ ๓-๔ คน เสียงพี่คนหนึ่งเรียกชื่อใคร คนหนึ่งว่า เกศินี เกศินี เกศินี ข้าพเจ้าหันไปมองดูว่า ใครนะชื่อเกศินี
ก็ไม่เห็นมีใคร เห็นแต่พี่ๆ กลุ่มนั้นทุกคนมองมาที่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงตีสีหน้า ฉงน สนเท่ห์ เสียงพี่คนหนึ่งพูดขึ้นว่า
"พวกเราเรียกหนูนั่นแหละหนูถวิล พี่ว่าชื่อถวิลไม่เพราะสักนิด เลยตั้งชื่อให้หนูใหม่ว่าเกศินี เพราะผมของหนู สวยเหลือเกิน"
ว่าแล้วพี่คนนั้นก็จูงมือข้าพเจ้าไปใกล้ๆ พวกเขา จับเส้นผมของข้าพเจ้าลูบไล้ไปมา ถามว่า
"หนูไปดัดผมที่ไหนเนี่ย ร้านเขาทำได้เป็นคลื่นเป็นลอนสวยแท้ๆ แล้วเส้นผมของหนูใช้น้ำยาอะไรย้อมละ ดำเป็นเงาอ่อนนุ่ม สลวยยังกะเส้นไหมแน่ะ"
"เปล่าค่ะพี่ หนูไม่ได้ดัดไม่ได้ย้อมเลยค่ะ หนูใช้คีมอ่อนม้วนๆ ตอนก่อนนอนเท่านั้น น้ำยาย้อมหรือแม้น้ำมันใส่ผมอะไรๆ ก็ไม่ได้ใช้ ใช้แต่แชมพูธรรมดา ถ้ากลับบ้านต่างจังหวัด ที่บ้านไม่มีแชมพูหนูก็ใช้น้ำมะกรูด เพราะที่บ้านมีมะกรูดต้นใหญ่" ข้าพเจ้าตอบไปตามซื่อ
พวกพี่ๆ ดูจะชอบใจผมของข้าพเจ้ามาก จับตัวข้าพเจ้าไว้ครู่ใหญ่ ให้หันไปหันมาเพื่อให้เส้นผมปลิวกระจายออกแล้วก็รวมตัวกันเข้าเป็นรูปเดิมใหม่ ดูพวกเขาชื่นชมกันอย่างที่ข้าพเจ้านึกไม่ถึง กลับถึงที่พักวันนั้น ข้าพเจ้าไม่ทันเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว รีบปราดไปที่โต๊ะเครื่องแป้งส่องกระจกดูผมของตนเอง มองก็ไม่ถนัด
เพราะผมอยู่ด้านหลัง ต้องเอียงตัวไปทางโน้นทางนี้ ก็ไม่เห็นชัด ลงทุนไปยืมกระจกบานเล็กของเพื่อนข้างห้องมาส่องด้านหลัง ก็ไม่เห็นทั้งหมด ดังที่ใจอยากเห็น
ถูกชมว่าเส้นผมสวยยังไม่พอ วันหลังพวกเพื่อนๆ ยังชมว่าขนตาสวยอีก
"ขนตาของเธอเนี่ย ทั้งดกทั้งยาวงอนเช้งเทียว ดูของชั้นซิ สั้นกุดแทบจะแทงเข้าไปในหนังตา ชั้นต้องเดือดร้อนไปซื้อขนตาปลอม มาไว้ใช้เวลาไปเที่ยวกับแฟน นี่ไงส่วนของเธอ ขนตาสวยยังงี้ สบายจัง ไม่ต้องแต่ง"
เมื่อไม่มีปัญญาสั่งสอนตนเองว่า เรื่องสวยหรือไม่สวยเป็นเพียงของสมมติ ไม่เป็นสาระแก่นสาร ไม่ยั่งยืนถาวรอะไร ข้าพเจ้าก็หลงยึดเอาเป็นจริงเป็นจัง เคยนานๆ เอาคีมอ่อน (ทำด้วยแผ่นสังกะสีกว้างขนาดครึ่งเซนติเมตร ยาวราว ๑๐ เซนติเมตร พับงอเป็นสองทบ) มาม้วนหนีบผมไว้ ก็ต้องม้วนกันทุกคืน เวลานอนก้อนผมที่ถูกม้วนก็เกะกะ ทำให้นอนเจ็บศีรษะไปทั่ว ต้องถึงกับนอนคว่ำทุลักทุเล ตื่นขึ้นก็เมื่อยขบไปทั้งตัว
เพราะท่านอนไม่สบาย นอนหลับไม่สนิทบ้าง อดนอนดูหนังสือบ้าง
ทำให้ดวงตามีทุกข์เพราะยึดถือ อาการเคืองแฉะ บางครั้งรู้สึกคัน ใช้มือขยี้ไปมา มีขนตาร่วงติดออกมากับมือครั้งละเส้น สองเส้น แต่เดิมเมื่อยังไม่มีใครชมว่ามีผมสวย ขนตาสวย ก็ไม่เคยสนใจทั้งผมและขนตา พอถูกชมเข้าเวลาหวีผมเห็นผมร่วง เวลาขยี้ตาเห็นขนตาร่วง ก็รู้สึกเป็นทุกข์ใจหนักหนา ถึงกับต้องเสียเวลา เสียเงินทองไปหาแพทย์ แพทย์ก็บอกว่าไม่เห็นเป็นโรคอะไร ไม่เป็นโรคก็จริง แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่หายทุกข์ ผมยังคงร่วง ขนตายังคงหลุดอยู่ไม่หาย ข้าพเจ้าต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนด้วยการแสวงหาน้ำยาบำรุงชนิดต่างๆ มาใช้ เสียทั้งเงินและเวลาในการดูแลรักษา นี่ถ้าไม่มีใครมาชม ข้าพเจ้าคงไม่ต้องทุกข์อย่างนี้ กว่าจะตัดสินใจเลิก ยึดถือได้เป็นเดือนๆ (โดยธรรมชาติของเหล่านี้ก็ต้องหลุดร่วงตามเวลาอยู่แล้ว)
คำชมเชยและคำติเตียนนี่เอง ที่ทำให้ผู้รับเกิดความยึดถือและต้องการจัดการแก้ไขไปตามสติปัญญาของตน ยึดมากก็ต้องทุกข์มาก ท่านก็ลองคิดดูเถิด ขนาดเวลาเมื่อ ๔๐ กว่าปีมาแล้ว เด็กสาวอย่างข้าพเจ้าซึ่งมีรูปร่างหน้าตาธรรมดาๆ ได้รับคำชมแค่เรื่องผมเรื่องขนตา ยังต้องวุ่นวาย ยึดถือให้เป็นทุกข์ แต่วิธีแก้ทุกข์ในสมัยนั้นมีไม่มาก เพราะความเจริญทางวิทยาศาสตร์ยังมีน้อย เทียบกันดูกับเด็กหนุ่มสาว สมัยนี้ได้รับคำยกย่องแต่งตั้งกันมากมาย เป็นเทพี เป็นนางงาม นายงาม นางแบบ นายแบบ จะต้องหลงใหลรูปร่างของตนเองยิ่งขึ้นเพียงไหน ทั้งวิทยาการ สมัยใหม่เรื่องศัลยกรรมก็รุดหน้าเฟื่องฟู
คนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายนี้เป็นของตนก็ต้องทุกข์ยากลำบากตกแต่งแก้ไข ตัดที่โน่นต่อที่นี่ เสริมที่นั่น ให้วุ่นวาย ทรัพย์สมบัติที่อุตส่าห์หามาได้โดยยาก ต้องมาใช้จ่ายตกแต่งรูปร่างกาย ผิวพรรณ ให้เป็นไปดังใจชอบ เรื่องเอาทรัพย์ไปใช้สร้างคุณงามความดี เช่น ตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ การสร้างสาธารณกุศล การสงเคราะห์ ผู้ที่สมควรอื่นๆ ก็พลอยถูกลืม แท้ที่จริงแล้ว รูปร่างกายนั้น มันก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมอยู่ตลอดเวลา คำว่า กายะ ก็แปลว่า ของเน่า เป็นคำที่เป็นจริงตามความหมายของคำอยู่แล้ว ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะไปห้ามปราม ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะส่วนไหน มันเกิดขึ้นก็จะตั้งอยู่ชั่วคราว ในที่สุดก็เสื่อมสลาย สิ้นสภาพลงด้วยกันทั้งสิ้น
คำว่า รูป แปลว่าสิ่งที่จะต้องเสื่อม ลาย คือถูกทำลายไป เพราะสิ่งต่างๆ ที่เป็นของขัดแย้งกัน เช่น ความเย็น ความร้อน ของเป็นพิษ ฯลฯ ไม่มีรูปชนิดไหนที่ไม่เสื่อมสลาย เพียงแต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้น
การหลงยึดถือในรูปร่างกาย ไม่ว่าร่างของเราหรือร่างคนอื่น จึงเป็นอุปาทานในรูป อันเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ตามมาเป็นอย่างดีทีเดียว
ชื่อเรื่องเดิม ตัวของเรา - ของของเรา
Cr.อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม๔