สุราสุรสงคราม (ตอนที่ 4)

วันที่ 01 พค. พ.ศ.2563

สุราสุรสงคราม  (ตอนที่ 4)

            เมื่ออสูรทั้งปวงได้สถิตอยู่ในอสูรพิภพนั้นก็มีความผาสุก เช่นกับเมื่อเสวยสุขอยู่ในทิพยพิมานเช่นกัน เพราะด้วยอำนาจบุญฤทธิ์ของจอมอสูรและอสูรบริวารทั้งปวง ทำให้เกิดอสูรพิภพอันกว้างใหญ่ ณ ภายใต้เขาสิเนรุนั้นเหมือนอย่างดาวดึงสพิภพ แต่ต่างกันที่ว่าบนดาวดึงสพิภพนั้นมีไม้ใหญ่ชื่อปาริฉัตตกะ (หรือปาริชาติ) แต่ในภพอสูรมีไม้จิตตปาลิ หรือไม้แคฝอย

              ดังนั้น เมื่อใดที่ถึงฤดูแคฝอยออกดอก เหล่าอสูรก็รำลึกถึงไม้ปาริชาติขึ้นมาได้ ก็ให้จัดแจงอสูรโยธาขึ้นไปชิงชัยกับทวยเทพบนสวรรค์ ท้าวสักกะจึงจัดให้ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ รักษาเชิงเขาพระสุเมรุอยู่ คอยสู้รบป้องกันมิให้พวกอสูรรุกล้ำเข้ามาถึงเขตดาวดึงส์สวรรค์ได้ บางคราวพวกอสูรก็มีชัยแก่ท้าวจาตุมหาราชบุกรุกเข้าไปจนถึวทวารเทพนคร ท้าวสักกะก็ต้องทรงเป็นจอมทัพออกรับศึกเอง ได้กระทำสงครามต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะตลอดมา

              คราวหนึ่ง ไพจิตราสูร1 จอมทัพอสูร ได้ยกทัพขึ้นไปรุกรานเทพนครอีกเช่นกัน เมื่อได้ชัยชนะแก่ท้าวจาตุมหาราช จึงได้ล่วงล้ำรุกไล่เหล่าเทพขึ้นไปจนถึงทวารดาวดึงส์ ท้าวสหัสนัยน์เทวราชจึงให้จัดเทพนิกรออกต่อสู้ป้องกันเทวพิภพไว้ ครั้งนั้น พวกอสูรทั้งหลายซึ่งมีกำลังมาก รุกไล่เทพบริวารขึ้นมาอย่างคึกคะนองลำพองใจ เทพบุตรทั้งปวงเห็นเช่นนั้น ก็เกิดความหวาดหวั่น ท้าวอัมรินทราธิราชจึงได้ปลุกปลอบใจว่า

              “ดูก่อน ลูกเราทั้งหลาย จงอย่าได้มีความหวาดวิตกด้วยกำลังแห่งพวกอสูรเหล่านี้ ถ้าเกิดมีความหวาดวิตกขึ้นมา จงแลดูชายธงของเรา หรือของท้าวปชาบดีเทวราช หรือของท้าววรุณเทวราช หรือของท้าว
อีสานเทวราช แล้วความหวาดวิตกของพวกท่านจักหายไปพลัน”

                เทพทั้งหลายเมื่อได้รับการปลุกปลอบใจดังนั้น ก็พากันมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น ถือเทพอาวุธต่าง ๆ ตามเสด็จท้าวสักกะออกสู้รบกับเหล่าอสูร ขณะนั้นท้าวไพจิตราสูรนำหน้าอสูรนิกรเข้ามา เมื่อแลเห็นท้าวสักกเทวราชก็เกิดโทสะพลุ่งพล่านขึ้น ตรัสว่า

                “แน่ะ ท้าวสักกะ ท่านได้มายึดครองสวรรค์พิภพนี้มาช้านานแล้ว ขับเราผู้เป็นเจ้าของลงไปอยู่เสียข้างใต้ มิได้มีความเคารพในสิทธิ์แห่งความเป็นเจ้าของของเราเลย บัดนี้ ถึงเวลาที่ท่านควรจะได้คืนเทวพิภพแห่งนี้ให้แก่เราเสียที เอาของของเราคืนมา!”

               “ดูก่อนพระยาอสูร” องค์อมรินทราธิราชมีเทวดำรัสตอบ

               “แม้ท่านจะเป็นผู้ครอบครองเทพยสถานมาแต่เดิมก็จริงอยู่ แต่ทว่าท่านได้มาทำให้พิภพนี้ เกิดมลทินมัวหมองด้วยความประมาท มัวเมาของท่าน เราผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาด้วยดี อุบัติมาเพื่อเป็นเทวาธิราชในที่นี้ เห็นความเสื่อมแห่งสมบัติทิพยโภคะและทิพยกายของท่านแล้ว รู้ว่าท่านเสื่อมบุญ ไม่อาจคงครองพิภพนี้อยู่ได้ แลเราจำต้องขจัดความมัวหมองในเทพนครของเราด้วย จึงได้ให้ท่านลงไปเสวยสุขในที่ที่ควรแก่ท่าน"

                “ชะ ชะ เจ้ามฆะ! ของของเรา เราเป็นเจ้าของมาก่อน อยู่ๆลุกขึ้นมาบอกว่าเป็นของของเจ้า มันจะใช้ได้ที่ไหน จงเอาของเราคืนมา!”

                  “ดูก่อน พระยาอสูร ท่านเสื่อมฤทธิ์แล้วด้วยอำนาจโมหะ ไยจะก่อโทสะจริตให้เป็นเวรแก่ตัวไปอีกเล่า จงระวังจิตใจ ตั้งหน้ารักษาศีล เจริญภาวนา ทำให้จิตบริสุทธิ์ เพื่อก้าวเข้าสู่ภพสูงยิ่งๆขึ้นไป หาควรมาคิดแก่งแย่งด้วยเราไม่”

                  “ทีเจ้าแย่งเราก่อนละไม่พูด ทีเราจะมาเอาของเราคืนสิ กลับมาว่าเราแย่ง พูดมากนักตายเสียเถอะ!”

                  ท้าวไพจิตราสูรบันดาลโทสะขึ้นอย่างเต็มที่ เงือดเงื้อศัตราวุธขึ้นสุดแรง ฟาดฟันลงที่พระศอขององค์อมรินทร์ ท้าวเธอก็รับไว้ได้ทันท่วงทีด้วยวชิราวุธ ปัดศัตราวุธของจอมอสูรให้เบนเบี่ยงไป แล้วพยายาม
ตรัสเตือนสติจอมอสูรอีก แต่ก็หาบังเกิดผลไม่ ไพจิตราสูรตรัสสั่งให้บริวารรุกรบเหล่าเทพนิกรทันที ท้าวเธอเองก็กวัดแกว่งอสูรศัตรารวดเร็วราวกับจักรผัน ฟาดฟันท้าวสักกะอยู่ฉาดฉะ สักกเทวราชพยายามรับรองป้องกัน ไม่อาจรุกเอาอสูรนั้นได้ด้วยทรงเกิดพระทัยเวทนา จนเมื่อพระยาอสูรอ่อนกำลังลงด้วยแรงโทสะ และแรงที่หักโหมฟาดฟันจะประหารพระเทพบดี ท้าวสักกเทวบดีจึงรวบรวมพละกำลัง ฟาดพระแสงวัชราวุธลงอย่างเต็มที่ ทำให้อาวุธของพระยาอสูรที่ยกขึ้นรับหลุดไปจากพระหัตถ์ ท้าวเธอจึงโจนเข้าจับพระยาอสูรไว้ได้

                 อสูรทั้งหลายเมื่อเห็นจอมทัพถูกจับได้ ก็เกิดความหวาดกลัวเตลิดหนีไปอย่างรวดเร็ว พระเทวบดีจึงให้นำพระยาอสูรเข้าไปในเทพนคร เข้าไปในไพชยนตปราสาท จัดที่ประทับรับรองพระยาอสูรอย่างดีพยายามเล้าโลมพระทัยให้จอมอสูรคลายจิตพยาบาทจองเวร

                 “ดูก่อน เวปจิตติ ท่านจงละทิฏฐิ มานะ และ พยาบาท เสียเถิด ต่างคนต่างอยู่อย่างสันติสุข”

                 “เฮอะ! สักกะ ท่านพูดง่าย แต่ฟังไม่ได้เลย ของของเรา เราย่อมมีความหวง มีความปรารถนาที่จะได้คืนมา จะมาให้เราตัดอาลัย ก็ถ้าท่านแน่จริงก็คืนของของเรามาสิ นั่นแหละ ไมตรีจึงจะเกิดขึ้น”

                 “เวปจิตติ ท่านจงดู  เหล่านี้น่ะหรือสมบัติของท่าน ทิพยสถาน ทิพยโภคะเหล่านี้หรือเป็นของท่าน ท่านเคยมีเช่นนี้หรือ ของของใครกันแน่?”

                องค์อมรินทร์ทรงชี้ไปยังสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยบุญฤทธิ์ของพระองค์ พระยาอสูรก้มพักตร์ด้วยความละอายพระทัย แต่ก็ยังไม่ละทิฏฐิ แม้ท้าวสหัสนัยน์จะเพียรปลอบเช่นไรก็ไม่นำพา คงแสดงกิริยา หยาบคาย ไม่เกรงกลัวเลย อมรินทราธิราชทรงสิ้นพระปัญญาที่จะโน้มน้าวจิตใจจอมอสูรได้โดยที่พระทัยปราศจากความพยาบาท เมื่อไม่อาจปลดเปลื้องพระยาอสูรจากทิฏฐิมานะได้ จึงให้ปล่อยไปเสีย

                 พระยาอสูรรีบเสด็จกลับไปอสูรพิภพด้วยความโกรธและละอาย แต่ก็ไม่กล้ายกมารุกรานเทพนครอีก สงครามระหว่างเทวดากับอสูรจึงสิ้นสุดลง

 

เชิงอรรถ
1เวปจิตติ เรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า “ไพจิตราสูร” เป็นใหญ่ในสวรรค์อยู่ก่อน เมื่อถูกเหวี่ยงลงจากสวรรค์ก็ได้เป็นใหญ่ในอสูรพิภพ เมื่อถึงฤดูดอกแคฝอยบานคราวไร ก็เป็นจอมทัพยกไปรบกับเทวดาเพื่อหวังชิงพิภพคืนมา สงครามระหว่างเทพกับอสูรเป็นที่เลื่องลือมาก มีความกล้าหาญ งดงาม ในวรรณคดีต่างๆ มักจะนำไปใช้เปรียบเทียบเสมอ เมื่อตัวเอกรบกับใครก็ว่างดงามราวกับพระอินทร์รบกับไพจิตราสูร ดังในโคลงบทที่ ๓๓๑ ใน ลิลิตตะเลงพ่าย ได้เปรียบการรบของพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาว่า งามเหมือนพระอินทร์รบกับไพจิตราสูร ความว่า..
“งามส่องสุริยราชล้ำ  เลอพิศ
พ่างพัชรินทร์ไพจิตร   ศึกสร้าง”

 

จากหนังสือ กำเนิดพระอินทร์  โดย ศิริกุล ศุภวัฒนะ

จัดพิมพ์: ฝ่ายวิชาการ วัดพระธรรมกาย  (มกราคม ๒๕๓๒)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.004835299650828 Mins