ประสบการณ์ ๑ นาที ที่ใจหยุดนิ่ง
หยุดนิ่งจึ่งมากล้น |
บุญญา |
หยุดแค่กะพริบตา |
เท่านั้น |
สร้างโบสถ์กว่าล้านนา |
เทียบได้ |
หยุดนี่แหละเกินขั้น |
ล่วงพ้นกามาวจร |
ตะวันธรรม
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะหลับบ้าง ตื่นบ้าง ฟุ้งบ้างก็ช่างมัน ให้สมํ่าเสมอ ฝึกไปเรื่อย ๆ ประกอบความเพียรไป โดยไม่ให้มีอะไรมาเป็นข้อแม้ข้ออ้าง หรือเงื่อนไข เดี๋ยวใจก็จะคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ คุ้นเคยกับกลางท้อง คุ้นเคยกับการหยุดนิ่ง
หยุดนิ่งแม้เพียงนาทีเดียวนี่ก็คุ้มแล้ว สำหรับการเริ่มต้นนะ สักนาทีหนึ่ง แวบหนึ่ง ให้เราได้รู้จักกับประสบการณ์ภายในว่า ใจหยุดนิ่งเป็นอย่างไร แล้วเราก็จะเริ่มรู้สึกชอบ เกิดความพึงพอใจ เพราะหยุด
นิ่งแค่นาทีเดียวเท่านั้น ความรู้สึกมันจะแตกต่างจากใจไม่หยุดราวฟ้ากับดินเลย เพราะกายมันจะเบา ใจจะ เบาสบาย ตัวขยาย แล้วมันจะเบิกบาน แค่นาทีเดียวและเป็นครั้งแรก เราจะลืมไม่ลงเลย
แล้วถ้านาทีนั้นหยุดนิ่งได้สมบูรณ์แล้วมันสว่าง แสงสว่างแห่งความบริสุทธิ์ของดวงจิตที่สงัดจากกาม จากบาปอกุศลธรรมจากนิวรณ์ทั้ง ๕ สว่างแค่แวบเดียว นาทีเดียว บุญที่เกิดขึ้นจากความสว่างนั้นมันมากกว่าบุญที่เราเอาทรัพย์ไปสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ สร้างวัดวาอาราม ซึ่งจะต้องใช้ทรัพย์มากแต่มันเป็นบุญคนละประเภทกันนะ แต่ได้มากกว่า เพราะว่าเป็นต้นทางไปสู่พระนิพพาน
ประสบการณ์ ๑ นาทีนี้ หลวงพ่ออยากให้ลูกทุกคนได้รู้จักได้พบ และจะเข้าใจกับคำว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
เพราะความสุขอย่างอื่นสู้กันไม่ได้เลยกับใจที่หยุดนิ่ง เพราะเป็นความสุขแบบพูดไม่ออกบอกไม่ถูก หรือพูดง่าย ๆ ว่า จะหาความสุขชนิดนี้ไม่ได้จากการที่มีความสมบูรณ์พร้อมทางด้านวัตถุสมบูรณ์ด้วยลาภยศสรรเสริญ มันเป็นความสุขที่ไม่ทราบว่าจะใช้คำใดมาพูดพรรณนาให้เข้าใจได้ เพราะภาษาของมนุษย์มันมีจำกัดดังนั้นจะเข้าใจตรงนี้ได้ ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ภายใน แค่เพียง๑ นาทีนั้นน่ะ
ทีนี้จาก ๑ นาทีนั้น มันก็จะเป็นแรงจูงใจให้เราอยากจะนั่งต่อไป ซึ่งแต่เดิมเราพยายามที่จะนั่ง ต้องฝืน ต้องพยายาม ต้องอดทน เพราะเรารู้ว่ามันดี อย่างน้อยก็ได้บุญ ทำให้จิตใจสงบ หรือเป็นอุปนิสัยของมรรคผลนิพพาน แต่ว่าพอใจหยุดได้จริง ๆ แล้ว มันอยากนั่งเอง มันอยากได้อารมณ์นั้นอีก แล้วก็อยากให้อารมณ์นั้นยาวนาน ซึ่งก็จะทำให้เราขยันหรือสมัครใจนั่ง นั่งอย่างมีความสุขสนุกสนานแบบบุญบันเทิงทีเดียว
เพราะฉะนั้นการทำถูกหลักวิชชาและต่อเนื่องด้วยความเพียรมีความสำคัญ ดังนั้นเราก็ต้องหมั่นทบทวนนะลูกนะ ที่เราฝึกอยู่ทุกวันว่า มันถูกต้องไหม ถูกหลักวิชชาไหม ตั้งแต่การวางใจว่ามีความ
สมัครใจอยากเห็นไหม มีสติ มีความสบายไหม และสมํ่าเสมอต่อเนื่องที่เรียกว่า สัมปชัญญะ หรือเปล่า ก็ให้หมั่นสังเกตดู แล้วก็ปรับไปเรื่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ ฝึกไปปรับไป
ทำทุกที่ทุกเวลา
ใจนี่มันต้องปรับกันทุกรอบที่เรานั่ง และยิ่งถ้าเราเพิ่มชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางในอิริยาบถอื่นที่นอกเหนือจากช่วงเวลาที่เรานั่ง ไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน การนอน การวิ่งเอ็กเซอร์ไซส์หรือทำภารกิจอะไรก็ตาม เราเพิ่มการฝึกหยุดนิ่งไปด้วยก็จะทำให้เราคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายมากขึ้น
หัดหมั่นตรึก “ตรึก” ก็คือการแตะใจไว้กลางกายอย่างเบา ๆ สบาย ไม่ได้แปลว่ากดใจหรือเน้น คือแค่ทำนิ่ง ๆ ที่กลางกายแต่ไม่ใช่ว่าเน้นหนัก แต่ว่านิ่งแน่น นิ่งเฉย ๆ ตรึกไปเรื่อย ๆ
แต่เวลาลืมตานี่อยากแนะนำว่า ให้นึกเป็นภาพเอาไว้ จะเป็นวงใส องค์พระใส ๆ หรือพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ของเราอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะว่าเราลืมตาดูวัตถุภายนอก มันก็ต้องมีภาพภายในที่จะให้เรานึกถึง ไว้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจ แล้ว ก็ควรทำทุกสถานที่ ไม่ว่าในห้องนํ้า ห้องส้วม กำลังจะขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระก็ทำได้ ไม่บาป แถมได้บุญด้วย เพราะว่าเป็นทางมาแห่งกุศล
เท่ากับเราไม่ปล่อยเวลาให้ว่างเปล่า เพราะเวลาในเมืองมนุษย์มีคุณค่ามาก เรามีเวลาอย่างจำกัดในโลกมนุษย์ และยิ่งช่วงระยะเวลาแห่งความแข็งแรงสดชื่นของร่างกายก็ยิ่งมีจำกัดใหญ่ เราจึงควรทำตลอดเวลาทุกหนทุกแห่งทุกสถานที่นะ
ฝึกกันไปเรื่อย ๆ ควบคู่กับภารกิจประจำวัน ให้ภารกิจกับจิตใจไปด้วยกัน เหมือนเราหายใจเข้าออกควบคู่กันไปกับภารกิจในชีวิตประจำวันอย่างนั้น
เมื่อเราไม่อาจขาดลมหายใจได้ เราก็ไม่ควรขาดการฝึกอย่างนี้คู่กันไป ฝึกไปบ่อย ๆ สิ่งที่ยากมันก็จะค่อย ๆ ง่ายขึ้นในภายหลังที่เคยมืดมันก็จะค่อย ๆ มีแสงสว่างเรืองรองขึ้นไปเรื่อย ๆ
อาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
โดยคุณครูไม่ใหญ่