ทำลายสุสานแห่งความกลัว
กระรอกวิ่งไม่วิ่งเหมือนชะมด |
วิ่งแล้วหยุดร้อง “อด อด” กระดกหาง |
นั่งธรรมะเดี๋ยวทำเดี๋ยวทิ้งขว้าง |
ก็เหมือนอย่างกระรอกน้อย “อด” เหมือนกัน |
อย่าได้ทำเลียนแบบกระรอกน้อย |
ต้องเอ็นจอยหมั่นทำหมั่นขยัน |
ฝึกให้มั่นทำให้จริงนิ่งทั้งวัน |
ไม่ช้าพลันลูกจะชาญเชิงวิชชา |
ตะวันธรรม
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ คราวนี้เรามาทำความเข้าใจกันสักนิด มีสิ่งหนึ่งที่มันขวางหัวใจเราอยู่ทุกวันเลย ทำให้เกิดความวิตกกังวล คือ มันมีความรู้สึกลึก ๆว่า กลัวจะไม่เห็น กลัวจะทำไม่ได้ กลัวจะทำไม่เป็น ไม่เห็นดวง ไม่
เห็นกาย ไม่เห็นองค์พระ
ชาตินี้เราคงจะไม่ได้เห็นกับเขามั้ง ยิ่งเรามีภารกิจมาก เรื่องราวก็เยอะ อายุก็ใกล้จะเป็นไม้ใกล้ฝั่ง ไม้อยู่ริมนํ้า ในนํ้าไปแล้ว ความกลัวเหล่านี้มันฝังใจเรา เป็นสุสานแห่งความกลัวถูกฝังอยู่ในจิตใจเราจนขึ้นสมอง
วันนี้เรามาขุดรากเหง้าของความกลัวออกไปเสียให้หมด ทำลายความรู้สึกชนิดนี้ให้หมดไป ทลายกำแพงแห่งความกลัวว่า จะไม่ได้ไม่เห็น ไม่เป็น ให้มันล่มสลายไปเลยนะลูกนะ
ความกลัวจะไม่เห็น ไม่ได้ ไม่เป็น มันเหมือนภูเขาหิมาลัยขวางหนทางการเข้าถึงธรรมของเรา มาทำลายมันไปซะ ขุดรากเหง้าแห่งความกลัวที่ฝังอยู่ในสุสานของหัวใจเราออกไปทิ้งเสียให้หมด แล้วให้เชื่อมั่นในตัวเองเชื่อมั่นอย่างมีหลักวิชชาว่า เราต้องได้ ต้องเห็น ต้องเป็น เชื่อนะลูกนะ
ต้องเชื่ออย่างมีเหตุมีผล เพราะว่าการที่เรามีกายมนุษย์หยาบทรงอยู่ได้เป็นรูปเป็นร่างนี้ เพราะว่ามีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่อยู่ตรงฐานที่ ๖ กลางท้องของ
เรา ในระดับเดียวกับสะดือ
สมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึงเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลาย
เข็ม ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่อยู่ตรงนี้ มีทุกคนเลย แม้ตัวเราก็มี ลูกเราก็มี หลานเราก็มี ชาวโลกทุกคนก็มีหมด
ถ้าไม่มีธรรมดวงนี้กายหยาบอยู่ไม่ได้ ถ้าธรรมดวงนี้ดับ กายหยาบก็ต้องล่มสลายดับไปเหมือนกัน คือต้องตาย ที่เรายังมีชีวิตอยู่เพราะธรรมดวงนี้เขาหล่อเลี้ยงทรงรักษาเอาไว้ และธรรมดวงนี้จะเห็นได้เมื่อเราเอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่เหนือจากฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เมื่อเราเอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่ตรงนี้ พอถูกส่วนเข้าดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบใสบริสุทธิ์โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ก็จะลอยขึ้นมา กลายมาเป็นดวงปฐมมรรค เอาไว้ให้เราเข้ากลางไป
พบพระรัตนตรัยในตัวไปสู่อายตนนิพพานได้
ใจเรามีอยู่ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็อยู่ในตัวของเราดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ ใสบริสุทธิ์โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ก็มีอยู่ ความรู้หรือวิธีการที่จะเข้าถึงก็มีอยู่ แถมยังมีครูบาอาจารย์คอยเป็นกัลยาณมิตรให้ คอยนั่งเป็นเพื่อน คอยแนะนำคอยประคับประคองให้เราได้เข้าถึง ก็มีทุกอย่างอย่างนี้แล้ว เราจะต้องไปกลัวทำไมว่า เราคงจะไม่มีโอกาสได้เห็นธรรมะกับเขาในชาตินี้ กลัวไม่เข้าเรื่อง ความกลัวอย่างนี้จะทำให้เราขี้เกียจนั่ง เบื่อหน่ายนั่งแบบซังกะตาย
หรืออยากได้อยากเห็นมากเกินส่วนไป มันล้ำเกินไป เปลี่ยนจากฉันทะมาเป็นความอยาก พอความอยากมาอยู่ตรงนี้เข้า มันเกินไปมันก็เครียด เพราะฉะนั้นเลิกกลัวนะลูกนะว่าเราจะไม่เห็นธรรมะ
ถ้าเราได้ทำ เราก็ทำได้ ถ้าเราได้ทำทุกวัน เราก็เห็นได้เร็วเข้า ถ้ายิ่งถูกวิธี ก็ยิ่งเห็นได้เร็วใหญ่
เพราะฉะนั้นทำลายกำแพงแห่งความกลัวออกไปเสียให้หมดทุบทิ้งไปเลย ให้มันล่มสลายไป ขุดรากเหง้าแห่งความกลัวที่ฝังในสุสานของหัวใจ กลัวไม่ได้ ไม่เห็น ไม่เป็น ขุดแล้วก็เอาไปทำลายเสีย
ให้หมด แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ท่องคาถาสำเร็จว่า แม้มืดตื้อมืดมิด เราก็มีสิทธิ์เข้าถึงธรรม ให้เบิกบานทีเดียว
มีหลายท่านมาเล่าให้ฟัง บอกหลวงพ่อครับ ชาตินี้ผมคงไม่มีโอกาสเห็นกับเขาหรอก นั่งมาตั้งนาน งานก็เยอะ ภารกิจก็มากอายุขัยก็เพิ่มพูน ร่างกายก็เสื่อมไปทุกวัน ก็ได้แนะนำว่า เอาเถอะนั่งไปตามที่หลวงพ่อแนะ ทำง่าย ๆ สบาย ๆ เราลืมกฎเกณฑ์ชั่วคราวไว้ก่อน นั่งแบบสบาย สบาย ถ้าเรานึกถึงศูนย์กลางกายในตัวไม่ได้นึกแล้วเครียด เราก็เอาตัวเราอยู่ในศูนย์กลางกาย ก็ทำไป
ปรากฏว่า มีอยู่วันหนึ่งได้ผล ใจสบ๊าย สบาย ใจรวมพรึบสว่างโพลงภายใน เห็นตัวเองสุกใสทีเดียว มีความสุขมาก เลยพลอยทำให้ทั้งบ้านเกิดการตื่นตัวอยากปฏิบัติธรรม เพราะคนที่มองดูแล้วว่าคงทำไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ยากมากที่สุดยังทำได้ ก็เกิดการตื่นตัวปฏิวัติความคิดกันใหม่ ทำจิตให้สงบ แล้วก็พบแสงสว่าง พบตัวเอง พบองค์พระภายใน เห็นไหมจ๊ะว่า เขาก็ทำได้
บางคนก็บอกว่า วิธีที่หลวงพ่อบอกว่า ให้ลืมกฎเกณฑ์ไว้ชั่วคราวคือ เราลืมแต่เราก็ยังอยู่ในลู่ ที่บอกว่า ง่วงก็หลับ เมื่อยก็ขยับ ฟุ้งก็ลืมตา ผมก็ไปทำตามที่หลวงพ่อแนะ
แต่เดิมมีความรู้สึกว่า นั่งสมาธิเราคงหลับไม่ได้ หลวงพ่อคิดดูสิครับว่า ผมเหนื่อยมาจากงาน สังขารมันไมไหว แต่ใจผมมันสู้ พอ
บอกว่าหลับไม่ได้ มันก็ฝืน ง่วงก็ง่วง จิตก็ไม่รวม นั่งแล้วก็เมื่อย มืดไม่ม่วนเลย มึนซึมไปเสียอีก พอหลวงพ่อบอกว่าหลับได้ แต่ต้องหลับอย่างผู้รู้ หลับแล้วต้องได้บุญ จิตต้องบริสุทธิ์ด้วย คือ หลับในกลาง
ผมรู้สึกสบายใจ ผมก็เลยปล่อยให้หลับ
มันก็แปลก พอเราอยากให้หลับ ดันไม่หลับ มันอยู่ในระดับที่คล้าย ๆ กับตอนผมใกล้จะหลับ แล้วมันโล่งไปเลย ผมก็ไม่ได้เห็นอะไรหรอก แต่มันโล่ง มันโปร่ง ระบบประสาทเหมือนตื่นตัวภายในมันสดชื่น เหมือนเรานอนหลับไปสักตื่น แล้วตื่นขึ้นมา แต่มันยังไม่สดชื่นเท่ากับที่รู้สึกโล่ง โปร่ง เบา สบ๊าย สบาย ผมไม่เห็นอะไรนะแต่ผมชอบจังเลย แล้วมันก็ไม่หลับ แล้วมันก็หายง่วง หายเพลียใจเบิกบาน เริ่มมีความรู้สึกรักการนั่ง อยากจะนั่ง
เมื่อก่อนผมต้องฝืนนั่ง พยายามนั่ง เพราะผมอยากได้บุญ แล้วก็คิดว่ายังไงมันก็ไม่เห็นธรรมะ นั่งเอาบุญเอาขันติบารมีดีกว่า ก็นั่งไปอย่างนั้น
แต่พอได้อารมณ์อย่างนี้เข้า ผมรู้สึกมีความหวังลึก ๆ นะแต่ผมก็ไม่คาดหวังว่า มันจะได้วันไหน ผมพึงพอใจกับความรู้สึกที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ เคว้งคว้างเหมือนอยู่กลางอวกาศ มันสบาย เบิกบานใจเป็นอิสระ ซึ่งผมไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนี้มาก่อน แต่ก่อนจะนั่งหรือไม่ได้นั่ง รู้สึกมันคับแคบ มันทึบ ๆ อึดอัด มันไม่โปร่งเลย
แล้วก็จำได้ว่าหลวงพ่อเคยบอกว่า เรานั่งเอาธรรมะไม่ใช่นั่งเอาท่า แต่เรานั่งเอาธรรม นั่นมันท่านั่งทำสมาธิ นั่งสมาธิมันต้องสบาย ๆ ถ้านั่งท่าสมาธิก็ดูสวยดี ท่าสวยแต่ว่าเมื่อยฟรี เมื่อหลวงพ่อ
อนุญาตให้ขยับ ผมก็ขยับ บางครั้งผมก็ลุกไปเดิน ตอนนี้ผมสบายที่ว่าสบายคือ พอมันหายเมื่อย ผมก็นั่ง นั่งแล้วไม่ได้คิดอะไรแต่วันนี้สบาย
คนที่เล่าถ่ายทอดออกมาให้ฟังอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เขาสว่างแล้วจ้ะจากว่าง ๆ มาสว่างแล้ว นั่งยิ้มสดชื่นเบิกบานทีเดียว
บางคนก็บอก หลวงพ่ออนุญาตให้ขยับได้ ให้ลุกไปเดินได้ค่อยยังชั่ว ผมก็ทำตาม ขยับไม่ให้มีเสียงดังไปกระทบกระเทือนคนข้าง ๆ แต่ก่อนผมนั่งมันเมื่อย ผมก็นั่งเฉย ๆ เพราะไม่รู้จะคิดอะไรคิดก็คิดไม่ออก ก็เลยออกจากความคิด ทำจิตให้สงบ นิ่ง ๆ เฉย ๆแล้วก็ไม่คิดอะไรไม่ได้คิดว่า จะเห็นหรือไม่เห็น ก็นั่งเฉย ๆ โอ้ พอถึงจุดหนึ่งใจมันรวมวูบลงไปเหมือนตกจากที่สูง หล่นลงไป ผมตกใจแต่ผมก็ชอบ พอมันหล่นไปแล้วมันสบาย แต่มันเสียว ๆ ก็รั้ง ๆ เอาไว้ แต่ก็รู้สึกสบาย แล้วก็ลึก ๆ ไกล ๆ เหมือนมีแสงอะไรอยู่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันแต่ทำให้มีความหวัง อีกคนก็เป็นอย่างนี้
อีกคนหนึ่งบอกว่า ความฟุ้งเป็นอุปสรรคต่อหนูเหลือเกินหนูพยายามปัด ๆ ความฟุ้งไม่ให้เกิดขึ้นในใจ เพราะเวลานั่งหนูมีน้อย หนูต้องทำงาน กว่าจะปลีกตัวมานั่งกับหลวงพ่อได้ก็ลำบาก แล้วเวลานั่งกับหลวงพ่อก็น้อยเหลือเกิน มันฟุ้ง หนูก็เลยปัด ๆ มัน ยิ่งปัดมันก็ยิ่งอึดอัด ยิ่งกระสับกระส่าย ทุรนทุราย ไม่มีความสุขเลย
พอหลวงพ่อบอกให้ลืมตาได้ หนูก็ทำตาม เออ ความฟุ้งมันอยู่ที่หลับตาจริง ๆ พอเราลืมตามาดูลูกนัยน์ตาคุณยายอาจารย์ฯ
นี่ภาษาเขานะ พบดวงตาท่านใสแป๋ว หนูมีความสุข อบอุ่นใจที่เห็นดวงตาของยาย หนูเลยหลับตาไปใหม่ ดวงตาคู่นั้นติดเข้าไปอยู่ในใจหนู หนูมองเห็นชัดทีเดียว เดี๋ยวนี้มีความสุขมาก
ก็เป็นตัวอย่างที่เล่าให้ลูก ๆ ทุกคนได้รับทราบเอาไว้ว่าถ้าเราทำถูกวิธีแล้วมันต้องเห็น เพราะฉะนั้นสลัดความกลัวว่าจะไม่เห็นออกไปจากใจเสียให้หมดในวันนี้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไป
เอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ ที่จุดที่เรามีความรู้สึกพึงพอใจ นุ่ม ละมุนละไมให้ใจเบิกบาน สบ๊าย สบาย ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ
ศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
โดยคุณครูไม่ใหญ่