อนาถบิณฑิกเศรษฐี ตอนที่ ๑๑ ยกโทษให้เทวดา
จึงเข้าไปหาเทพบุตรผู้รักษาเมือง แล้วเล่าเรื่องราวที่ตนทำผิดไว้ให้เทพบุตรได้รับทราบ เทวดาผู้ใหญ่ก็หงุดหงิดเหมือนกัน เรื่องอะไรไปว่าอย่างนั้น แต่ก็เห็นใจ เทวดามิจฉาทิฐิจึงชวนเทพบุตรผู้รักษาเมืองไปหาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพื่อให้ช่วยพูดให้ท่านเศรษฐียกโทษให้ เทพบุตรผู้รักษาเมืองกล่าวว่า “ท่านได้กล่าวคำอันไม่สมควร เราไม่อาจจะไปพบท่านเศรษฐีกับท่านได้หรอก”
เมื่อเทวดาผู้ใหญ่ในระดับรักษาพระนคร ไม่มีอานุภาพพอที่จะไปพูดกับท่านเศรษฐีได้ จึงไปหาท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้ปกครองนาค ยักษ์ คนธรรพ์ และครุฑ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ กล่าวว่า “เราไม่อาจช่วยท่านได้ เพราะท่านได้กล่าวคำอันไม่สมควร” เทวดามิจฉาทิฐิจึงเดินทาง
ต่อไป เข้าเฝ้าระดับสูงขึ้นไปอีก ท้าวสักกเทวราช และกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้พระองค์ทรงทราบ พร้อมทั้งทูลวิงวอนอย่างน่าสงสารว่า “ข้าพระองค์และครอบครัวไม่มีที่อยู่แล้ว ต้องพาลูกเมียเที่ยวระหกระเหินหาที่พึ่งไม่ได้ ขอพระองค์ได้โปรดช่วยข้าพระองค์ด้วยเถิด”
ท้าวสักกเทวราชก็ตรัสว่า “เราช่วยท่านไม่ได้หรอก เพราะท่านกล่าวคำที่ไม่สมควร แต่เราพอจะมีวิธีการ คือ ตอนนี้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีถูกพ่อค้ายืมเงินไปแล้วยังไม่คืนจำนวน ๑๘ โกฏิ ท่านต้องแปลงร่างเป็นเสมียนของท่านเศรษฐี ไปเอาสัญญากู้เงินจากท่านเศรษฐีมา แล้วก็ไปทวงหนี้คืนมาให้หมด แล้วนำทรัพย์ทั้งหมดมาเก็บไว้ในคลังของท่านเศรษฐี ด้วยอานุภาพท่าน จากนั้นจงไปขนทรัพย์อีก ๑๘ โกฏิของท่านเศรษฐีซึ่งถูกน้ำเซาะหายไป เอากลับคืนมาด้วย ยังไม่พอ ไปเอามาเพิ่มอีก คือ ทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ๑๘ โกฏิ เหมือนเป็นดอกเบี้ยที่สูญไปชั่วคราว แล้วรวบรวมทรัพย์ทั้งหมดมาไว้ที่คลังท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีด้วยฤทธิ์ของท่าน จงทำคลังเปล่าของท่านเศรษฐีให้เต็มไปด้วยทรัพย์ ๕๔โกฏิ
เมื่อทำเช่นนี้แล้วถึงค่อยเข้าไปหาท่านเศรษฐีไปสารภาพผิดว่า ขอให้ท่านเศรษฐียกโทษให้ เทวดามิจฉาทิฐิดีใจมากที่ท้าวสักกเทวราชทรงแนะนำเช่นนั้น จากนั้นก็ถวายอภิวาทแล้วก็ทูลลากลับ ไปทำตามที่ท้าวสักกเทวราชแนะนำครบทุกอย่าง ไปตามทวงทรัพย์มาไป
ตามทรัพย์ที่หายไปในน้ำ และทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของเอามาใส่ไว้ในคลังของท่านเศรษฐีจนเต็ม
แล้วก็ลอยไปในกลางอากาศอย่างสงบเสงี่ยม ไปหาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีในห้องนอนเหมือนเดิม ท่านเศรษฐีเห็นก็ถามอีก “นั่นใคร"
สารภาพออกมาเลย “ข้าพเจ้าเป็นเทวดามิจฉาทิฐิซึ่งเคยสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ในเรือนของท่าน ท่านเศรษฐีฟังก่อน อย่าเพิ่งพูด อย่าเพิ่งพูดอย่างนั้น ข้าพเจ้ามาขอสารภาพผิด ที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในวันนั้น ด้วยความเป็นคนพาล ขอท่านจงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าได้ไถ่โทษ โดยการรวบรวมทรัพย์จำนวน ๕๔ โกฏิ มาบรรจุไว้เต็มคลังของท่านตามคำแนะนำของท้าวสักกเทวราชแล้ว ขอให้ท่านได้โปรดยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดเพราะตอนนี้ข้าพเจ้าและครอบครัวไม่มีที่อยู่เลยได้รับความลำบากมาก”
เรื่องของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ว่าเทวดาเอาสมบัติคืนมาให้นั้น ประกอบไปด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ บุญเก่าของท่านเศรษฐีตามมาทันนี้เป็นหลักและเทวานุภาพเป็นเรื่องเสริม เทวดาอาศัยบุญของท่านเศรษฐีกอปรกับเทวานุภาพ จึงบันดาลสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้ นี่คือสิ่งที่จะต้องศึกษาเอาไว้ให้ดี เรื่องบุญในอดีตที่ท่านสมบัติสลาย หรือสมบัติกลับคืนมาเป็นเรื่องของวิบากกรรมเก่าในอดีต เพราะสมบัติเป็นของกลางของโลก มันผลัดกันชม ถ้ามีบุญก็ได้ครอบครอง ถ้าหมดบุญมันก็หายไป พอบุญหมดจริง ๆ กายมนุษย์ก็หมดสิทธิ์ใช้สมบัติเหมือนกัน พอหมดบุญ แม้แต่เสื้อผ้าก็ดี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ ตู้ โต๊ะ เตียง ตั้ง บ้าน รถ พวกนี้หมดสิทธิ์ใช้ทั้งนั้น
แต่พอมีบุญ เรามาตัวเปล่า ๆ เดี๋ยวเสื้อผ้ามา เดี๋ยวอาหารมา เดี๋ยวคนดูแลมา เดี๋ยวบ้านมา เดี๋ยวรถมา เดี๋ยวทรัพย์ที่พ่อแม่หามาให้มา เดี๋ยวมีเหตุการณ์ดี ๆ ทำให้เราประสบความสำเร็จมา โน่นก็มา นั่นก็มา เป็นเรื่องบุญกับบาปในตัวทั้งนั้น บุญก็ดึงสิ่งดี ๆ เข้ามา และก็ผลักสิ่งไม่ดีออกไป บาปดึงสิ่งไม่ดีเข้ามาแล้วผลักสิ่งดี ๆ ออกไปเป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจเรื่องความเป็นจริงของชีวิต มันเป็นเรื่องของเหตุของผลทั้งสิ้น
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคิดว่า เทวดาตนนี้รู้สำนึกแล้ว เราจะยกโทษให้ก็ต่อเมื่อพาไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วให้ขอขมาพระพุทธองค์ก่อน ท่านเศรษฐีจึงพาเทวดาไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องแปลกที่มนุษย์พาเทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบ
ทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ ไม่คิดไม่แปลก ยิ่งคิดยิ่งแปลก เทวดานั้นหมอบกราบด้วยเศียรเกล้าแทบพระยุคลบาทพระบรมศาสดา พร้อมทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่รู้จักคุณของพระรัตนตรัยเลย ได้กล่าวคำอันชั่วช้า เพราะความเป็นคนพาล เพราะความเขลา ขอพระองค์ได้ทรงโปรดยกโทษให้เถิด” พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ จากนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยกโทษให้
แล้วพระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทแก่ท่านเศรษฐีและเทวดา โดยได้ตรัสพระคาถาว่า “คนทำบาปย่อมเห็นว่าบาปนั้นดี ขณะที่บาปยังไม่ให้ผล” คือกินเหล้าเมาแอ๋ ยังไม่เห็นผลบาปในอบาย ก็ยังกินกันต่อไป เพราะว่าผลแห่งบาปในปรโลกยังไม่ให้ผล เนื่องจากตัวเป็นกายมนุษย์อยู่ “แต่เมื่อใดบาปส่งผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นว่า บาปนั้น สิ่งที่ทำนั้นไม่ดี”
“ส่วนคนทำกรรมดีอาจจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่ส่งผล” คือ บางคนบอกทำดีไม่ได้ดี เพราะกรรมดีนั้นยังไม่ได้ส่งผล เพราะอาจจะทำช้า คิดช้า คิดดูก่อน บาปเลยได้ช่องก่อน “แต่เมื่อใดกรรมดีส่งผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นว่า กรรมดีนั้นดี” บางคนเป็นอย่าง
นั้นจริง ๆ พอมาทำบุญปั๊บอยากให้ถูกหวย อยากรวย อยากขายที่ได้ ขายบ้านได้ พอยังขายไม่ได้ก็นึกว่า บุญไม่ช่วย อย่าไปพูดอย่างนั้น หลังจากจบพระคาถา เทวดานั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล ก็ต้องถือว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีพระคุณต่อเทวดาท่านนี้มาก
ลำดับนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้กล่าวคุณต่อหน้าพระพักตร์ พระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาตนนี้ห้ามข้าพระองค์ไม่ให้ทำทาน แต่ข้าพระองค์ก็ยังทำอยู่ คือ คุณของข้าพระองค์ใช่หรือไม่พระเจ้าข้า”
“ท่านเศรษฐี ท่านเป็นอริยสาวกมีศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวมีทัศนะบริสุทธิ์ การที่ท่านถูกเทวดาผู้มีศักดิ์น้อย ห้ามอยู่ แต่ห้ามไม่ได้นั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย ในปางก่อน สมัยที่เรายังสร้างบารมีอยู่ ได้ถูกพญามารเนรมิตหลุมถ่านเพลิงลึกถึง ๘๐ ศอก อย่างเทวดาศักดิ์น้อย ยังไม่ได้เนรมิตถึงหลุมถ่านเพลิงแค่มาพูดเท่านั้น แต่ตอนที่เรายังเป็นบรมโพธิสัตว์ พญามารเนรมิตหลุมอ่านเพลิง ๘๐ ศอก ขวางหน้าอยู่ เพื่อห้ามมิให้เราให้ทาน แต่ก็ห้ามเราไม่ได้” อะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ เมื่อตั้งใจจะทำแล้วต้องทำให้ได้ สมัยที่พระพุทธองค์เป็นบรมโพธิสัตว์ ท่านทำมาแล้ว เราเป็นลูกของพระองค์ท่าน ต้องเดินตามรอย จะให้อะไรมาเป็นอุปสรรคในการสร้างความดีไม่ได้ ท่านเศรษฐีจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องให้ฟัง