พระมหา​อัครสาวก​ ​เบื้อง​ขวา​-เบื้องซ้าย

วันที่ 25 พย. พ.ศ.2563

25-11-63--2-b.jpg

พระมหา​อัครสาวก​ ​เบื้อง​ขวา​-เบื้องซ้าย
"โลก​ต้อง​มี​กัลยาณมิตร" 


พระสารี​บุตร​เถระ
https://84000.org/one/1/03.html

พระมหาโมคคัลลานะเถระ​
https://84000.org/one/1/04.html


                พระสารีบุตร เดิมชื่อ อุปติสสะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี บิดาเป็นประธานของหมู่บ้านอุปติสสคาม ใกล้เมืองราชคฤห์ บิดามารดามีฐานะร่ำรวย เหตุที่ท่านได้ชื่อว่า สารีบุตร เนื่องจากเมื่อท่านบวชแล้วเพื่อนพระภิกษุด้วยกันมักเรียกท่านว่า สารีบุตร แปลว่า บุตรนางสารีตามชื่อมารดาของท่านอุปติสสะ​ ทานมีสหายคนหนึ่งชื่อว่า โกลิตะ เป็นบุตรของนายบ้านโกลิตคามซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน เที่ยวด้วยกันและศึกษาศิลปวิทยาร่วมกัน

                วันหนึ่งทั้งสองได้ไปเที่ยวชมมหรสพในเมืองเห็นความไร้สาระของมหารสพเกิดความเบื่อหน่ายในการเสพสุขสำราญจึงปรึกษากันแล้วชวนกันพร้อมกับบริวารบวชเป็นปริพพาชกอยู่ในสำนักสัญชัย เวลัฏฐบุตร เพื่อศึกษาธรรมแต่ยังมิได้บรรลุธรรมพิเศษเป็นที่สุดที่พอใจ จึงนัดหมายกันว่าผู้ใดได้บรรลุธรรมพิเศษก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่ผู้อื่น

                ขณะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พระอัสสชิซึ่งเป็นองค์หนึ่งในจำนวนปัญจวัคคีย์ได้เดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกำลังบิณฑบาตอยู่ อุปติสสะได้พบท่านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงติดตามไปเมื่อพระอัสสชิฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงได้เข้าไปถามถึงข้อปฏิบัติ พระอัสสชิได้แสดงธรรมให้ฟังสั้น ๆ ว่า

"สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ จะดับไปก็เพราะเหตุดับ”

                อุปติสสะได้ฟังเกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เข้าใจแจ่มแจ้งสิ้นความสงสัยบรรลุโสดาบัน เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่พระเวฬุวันจึงนำธรรมที่ตนได้ฟังไปเล่าถ่ายทอดให้โกลิตะผู้เป็นสหายฟัง โกลิตะเมื่อฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน จึงไปลาอาจารย์สัญชัย พร้อมทั้งบริวารพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ขอบวชเป็นพระสาวกพร้อมทั้งบริวาร พระพุทธเจ้าประทานบวชให้ทั้งหมด เมื่อบวชแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอบรม บริวารทั้งหมดได้สำเร็จอรหันต์ก่อน

                ส่วนอุปติสสะ ได้บำเพ็ญธรรมต่อมาอีก 15 วันจึงได้สำเร็จอรหันต์​  พระสารีบุตรได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางปัญญา เป็นผู้มีคุณธรรมดีเด่นด้านปัญญา เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนาพระสารีบุตรนิพพานวันเพ็ญกลางเดือน 12 นิพพานก่อนพระโมคคัลลานะ 15 วัน และก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ 7 เดือน ก่อนนิพพานท่านได้เทศนากล่อมเกลาจิตใจของบิดามารดาจของท่านให้กลับใจมานับถือพระพุทธศาสนาจนเป็นผลสำเร็จ

คุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มีปัญญาเลิศ สามารถเข้าใจพระธรรมคำสอนของพรพุทธเจ้าได้อย่างลึกซึ้งและอธิบายให้คนอื่นฟังได้อย่างดียิ่ง แม้เรื่องยากเพียงไรก็ตาม ก็สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย เมื่อมีพระสงฆ์สาวกจะทูลลาไปต่างเมือง พระพุทธเจ้ามักตรัสให้ไปลาและรับฟังโอวาทจากพระสารีบุตรด้วย

2. เป็นผู้มีขันติเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยมไม่คิดร้ายใคร ไม่โกรธหรือคิดตอบโต้ใคร ๆ เช่น ท่านถูกพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งทราบว่า ท่านไม่โกรธและมีความอดทน ย่องไปทุบข้างหลังจนท่านเซไปข้างหน้า ท่านก็ไม่เหลียวมอง ทำให้พราหมณ์เกิดความสำนึกผิดและขอขมาท่าน

3. เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ พระสารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นพระอาจารย์องค์แรกของท่าน เมื่อรู้ว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เวลาจะนอนท่านจะหันศีรษะไปทางทิศนั้น นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ยอดกตัญญูรู้คุณแม้เพียงเพราะพรามหณ์แก่ชื่อว่าราธะซึ่งเคยตักข้าวใส่บาตรท่านทัพพีท่านก็จำได้และเมื่อราธพราหมณ์ประสงค์จะบวชแต่ไม่มีใครรับรองให้บวช
ท่านก็กราบทูลพระพุทธเจ้าขอรับหน้าที่บวชให้

4.เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พระสารีบุตร เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนมาก ถึงแม้จะได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่ามีปัญญาเทียบเท่าพระองค์ ท่านก็ไม่เคยลืมตนท่านอ่อนโยนต่อทุกคน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวท่านจึงเป็นที่รักของเพื่อนพระสาวกด้วยกันเป็นอย่างมาก



                   พระมหาโมคคัลลานะ มีนามเดิมว่า โกลิตะ เป็นบุตรพราหมณ์หัวหน้าหมู่บ้านโกลิดคาม ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านอุปติสสคาม ท่านมีเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวด้วยกัน ชื่ออุปติสสะ ชีวิตในวัยหนุ่มของท่าน ก็เช่นเดียวกับชีวิตพระสารีบุตร คือได้เป็นศิษย์ของอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร

                  เมื่อเบื่อหน่ายลัทธิคำสอนของอาจารย์สัญชัย ก็พากันแสวงหาแนวทางใหม่ อุปติสสะได้พบพระอัสสชิและฟังธรรมจากท่าน จนบรรลุโสดาปัตติผลจึงนำมาบอกแก่โกลิตะ โกลิตะได้ฟังก็บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ทั้งสองจึงพากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ดังรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้ว

                   หลังจากบวชแล้ว โกลิตะได้นามเรียกขานในหมู่บรรพชิตว่า โมคคัลลานะ ท่านได้บำเพ็ญเพียรทางจิต ณ หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แต่ไม่สามารถบังคับจิตให้เป็นสมาธิได้ เพราะถูกความง่วงครอบงำ พระพุทธองค์ได้เสด็จไปประทานโอวาทบอกวิธีแก้ง่วง 7 ประการให้ท่าน ดังนี้

 1.ถ้ามีสัญญาอย่างไรอยู่เกิดความง่วง ให้นึกถึงสัญญานั้นให้มาก หมายความว่า ถ้านึกคิดเรื่องใดอยู่แล้วเกิดความง่วงก็ให้กำหนดสิ่งนั้นให้มากกว่าเดิม แล้วความง่วงจะหาย

2.ถ้ายังไม่หายให้พินิจพิจารณาถึงเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมา หรือที่เล่าเรียนมา ความง่วงก็จะหาย

3.ถ้ายังไม่หาย ให้ท่องข้อความที่กำลังอ่านอยู่ หรือนึกถึงอยู่ดังๆ ความง่วงก็จะหาย

4.ถ้ายังไม่หาย ให้ยอนหูทั้งสองข้าง คือเอาอะไรแยงหู แล้วความง่วงก็จะหาย

5.ถ้า​ยังไม่หาย ให้ลุกขึ้นเอาน้ำล้างหน้า แหงนดูทิศทั้งหลาย ความง่วงก็จะหาย

6.ถ้ายังไม่หาย ให้คำนึงถึง “อาโลกสัญญา” คือ วาดภาพถึงแสงสว่าง ความง่วงก็จะหาย

7.ถ้ายังไม่หาย ให้เดินจงกรม คือ เดินกลับไปกลับมา ความง่วงก็จะหาย
   
                  พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้ปฏิบัติตามวิธีทั้ง 7 นี้ ความง่วงจะหายไปแน่นอน แต่ถ้าไม่หายจริงๆ ก็ให้นอนเสียในท่าสีหไสยาสน์ จากนั้นพระพุทธองค์ประทานโอวาทให้ท่านพิจารณาถึงเวทนาว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านปฏิบัติตามพระโอวาทแล้วได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์ ในวันที่ 7 หลังจากอุปสมบท

                  ผลจากการได้บรรลุพระอรหัตผล ก็คือ ท่านได้อภิญญา (ความสามารถพิเศษ) คือ มีอิทธิฤทธิ์ด้วย จึงได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์มาก และได้รับแต่งตั้งเป็น “อัครสาวก” เบื้องซ้ายคู่กับพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา

                  ความที่ท่านมีฤทธิ์มาก ท่านจึงได้อิทธิปาฏิหาริย์เป็น “สื่อ” หรือเป็น “เครื่องมือ” ชักจูงคนมิจฉาทิฐิที่มีฤทธิ์ให้คลายจากความเห็นผิด แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนามากมาย บางครั้งก็ได้รับพุทธบัญชาให้ไป “ปราบ” ผู้มีฤทธิ์ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ทำให้เกียรติคุณของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว มีผู้เข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์มากขึ้นตามลำดับ

                 การกระทำของท่านในประเด็นนี้ได้สร้างผลกระทบต่อลัทธิเดียรถีย์อื่นๆ อย่างมาก จนถึงกับว่าจ้างพวกโจรมาฆ่าพระโมคคัลลานะ เพื่อ “ตัดมือตัดเท้า” ของพระพุทธเจ้า พวกโจรมาล้อมกุฏิของพระโมคคัลลานะ ถึง 3 ครั้ง แต่ท่านก็เข้าฌานเหาะหนีไปได้ถึง 3  ครั้ง ครั้งที่ 4 ท่านเห็นว่าเป็นการชดใช้กรรมเก่าจึงไม่ยอมหนี จึงถูกพวกโจรทุบจนกระดูกแหลกละเอียด พวกโจรนึกว่าท่านตายแล้วจึงหนีไป พระเถระดำริว่า ยังไม่กราบทูลพระพุทธเจ้าจะนิพพานไม่ได้ จึงประสานร่างให้คงคืนตามเดิมด้วยอำนาจฌานสมาบัติ แล้วเหาะไปกราบทูลลาพระพุทธองค์ จากนั้นก็นิพพาน

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1.เป็นผู้มีความอดทนยิ่ง เมื่อบวชแล้ว พระโมคคัลลานะไปปฏิบัติธรรมอยู่ ณ กัลลวาลมุตตคาม พยายามเพื่อบรรลุผลที่ต้องการแม้ถูกความง่วงครอบงำ ท่านก็พยายามนั่งสมาธิเดินจงกรมไม่ยอมเลิก แสดงให้เห็นถึงการมีความอดทน พากเพียรพยายามสูงยิ่ง แต่ความเพียรเท่านั้นยังไม่พอ ต้องประกอบด้วยความรู้ คือ เพียรอย่างฉลาด พระพุทธเจ้าจึงประทานวิธีการแก้ง่วงให้ท่าน เมื่อปฏิบัติตามแล้ว ท่านก็เอาชนะความง่วงได้ แล้วบำเพ็ญเพียรต่อไปจนได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

2.เป็นผู้ถ่อมตนยิ่ง พระโมคคัลลานะเป็นพระเถระมีอิทธิฤทธิ์ บางครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระบัญชาให้พระโมคคัลลานะใช้อิทธิฤทธิ์ปราบผู้ควรปราบ เพื่อให้เขาหายพยศแล้วนำเข้าหาพระธรรม แม้จะมีฤทธิ์มาถึงอย่างนี้ ท่านกลับเป็นผู้ถ่อมตนยิ่ง ดังวันหนึ่งพระสารีบุตรเห็นท่านมีใบหน้าผ่องใสจึงซักถาม พระโมคคัลลานะตอบว่าท่านได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ครั้นถามว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ไกลมาก ท่านโมคคัลลานะเหาะไปฟังธรรมหรือ พระโมคคัลลานะตอบว่ามิได้เหาะไปฟัง แต่ฟังด้วยทิพยโสต เมื่อพระสารีบุตรชมเชยว่า พระโมคคัลลานะนี้ช่างมีความสามารถเหลือเกิน พระโมคคัลลานะกลับไม่หลงในคำชมนั้น แต่พูดว่า “ความสามารถของข้าพเจ้า เมื่อเปรียบเทียบกับท่านพระสารีบุตรแล้วเพียงเล็กน้อย ดุจก้อนเกลือเล็กๆ วางไว้ใกล้หม้อน้ำใบใหญ่ฉะนั้น” ความอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้ เป็นคุณธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่บุคคลควรดำเนินตามเป็นอย่างยิ่ง

3.มีความใฝ่รู้อย่างยิ่ง คุณธรรมข้อนี้ปรากฏตั้งแต่สมัยยังเป็นฆราวาส เมื่อไปดูมหรสพบนภูเขากับอุปติสสะ (พระสารีบุตร) เกิดความเบื่อหน่าย ใคร่จะแสวงหาแนวทางที่ดีกว่า จึงชวนอุปติสสะไปศึกษาอยู่กับอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร ไมนานท่านก็เรียนจนจบหมดภูมิของอาจารย์ เพราะความใฝ่รู้ของท่าน จึงอยากศึกษาหาความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป และเที่ยวแสวงหาครูอาจารย์อื่นต่อไปจนกระทั่งอุปติสสะได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ มาเล่าให้ฟัง ท่านก็ตั้งใจฟัง จนได้ดวงตาเห็นธรรม ทั้งหมดนี้แสดงถึงความใฝ่รู้ของท่าน จึงทำให้ท่านได้รับความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนสำเร็จพระอรหัตผลในที่สุด

             ศิษยานุ​ศิษย์​วัด​พระ​ธรรมกาย​โจฮันเนส​เบิร์ก​สาธารณรัฐแอฟริกาใต้​รวบรวม​และ​เรียบเรียง​จากพระไตรปิฎก​ ฉบับมหามกุฏ​ราชวิทยาลัย​ เล่มที่​ 32 และข้อความจาก​  "dhamma follower"

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025199365615845 Mins