วิสาขามหาอุบาสิกา
ตอนที่ ๑ มงคลกาลแห่งภัททิยนคร
..... ย่างเข้า วสันตฤดู เมฆฝนสีเทาสลับซับซ้อนมาพร้อมกับสายลมโบกพัด บอกเยือนเวลาเปลี่ยนผันสู่ฤดูกาลเขียวชอุ่ม ดอกอินทินิลสีม่วงอ่อน ดอกกัลปพฤกต์สีชมพูขาว ดอกหางนกยูงสีแดงสดแลดูงาม อีกทั้งดอกประดู่สีเหลืองที่เคยส่งกลิ่นหอมหวานครั้งคิมหันต์ กำลังทิ้งดอกทิ้งใบต้อนรับฤดูกาลใหม่ คือ วงจรแห่งความงามตามธรรมชาติที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
..... ดังได้สดับมา ขุนเขาหิมพานต์อันตั้งอยู่ทางทิศเหนือแห่งแคว้นโกศล มีอากาศเย็นปกคลุมอยู่ตลอดปี คำว่า หิมะ มาจากรากศัพท์เดิมคือ เหมมะ แปลว่า ทองคำ ป่าหิมพานต์ จึงมีความหมายถึงผืนดินเบื้องล่าง พันธุ์ไม้เบื้องกลาง แลผืนฟ้าเบื้องบนมีสีทองสุกสว่างดุจทองคำ ตามเรื่องเล่าขานครั้งบุราณมา
..... และโดยเหตุที่มีเทือกเขาสลับซับซ้อนยาวเหยียดสุดสายตา จึงเท่ากับเป็นแหล่งต้นน้ำอันไพศาล จนมีคำกล่าวว่า ขุนเขาหิมพานต์นี้ เป็นแหล่งกำเนิดแห่งลำน้ำทั้งหลาย มีลำน้ำ ๕ สาย เป็นดังสายเลือดใหญ่ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และ มหิ เมื่อคนทั้งหลายพูดถึงแม่น้ำสำคัญดังกล่าว จึงมักเรียกรวมกันว่า ปัญจมหานที
..... เมื่อห่างจากตัวเมืองออกไปมากเข้า หมู่บ้านเบื้องหน้าได้ใกล้เข้ามา เสียงนกร้องแข่งกับเสียงกระดึงคอโคและเสียงล้อเกวียนเป็นระยะๆ นานๆ จะมีเรือล่องลงมาตามลำน้ำสักหมู่หนึ่ง กองเกวียนเคลื่อนเข้าสู่แคว้นอังคะ ซึ่งมีเมืองหลวง คือ ภัททิยนคร ราชธานีที่ไม่เคยหลับใหล แม้ประตูเมืองด้านหน้ายังไม่เปิด แต่แสงคบเพลิงที่ส่องสว่างทำให้มองเห็นหมู่เกวียนและคนเดินทางรอคอยอยู่คับคั่ง พอแสงเงินแสงทองรำไร ณ ขอบฟ้าด้านบูรพาทิศ นายทหารยามบนเชิงเทินก็ร้องบอกเป็นอาณัติสัญญาณด้วยเสียงอันดัง
..... “.. ประตูเปิดแล้ว ๆ ..” เสียงไชโยโห่ร้องของคลื่นมหาชนภายนอกดังกึกก้อง ผู้คนต่างเร่งฝีเท้ากรูกันเข้ามาดังสายน้ำ พ่อค้าเกวียนทั้งหลายพากันเคลื่อนขบวนสินค้าไปอย่างรวดเร็ว เหมือนจะรีบไปให้ไกลที่สุด ก่อนที่ความร้อนแรงของดวงอาทิตย์จะกราดลงมาเต็มที่ ความยินดีของผู้คนภายนอก ช่างไม่ต่างจากเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของผู้คนที่นี่ ยังความแปลกใจให้กับอาคันตุกะผู้มาเยือนเป็นอย่างยิ่ง
..... เกวียนคันหน้า ซึ่งบรรทุกสินค้าผ้าและเครื่องหอมเป็นอันมาก เช่น จุณ จันทน์ และน้ำอบ มีชายสูงอายุนั่งเคียงกับบุตรหนุ่มของเขา คอยมองดูความเป็นไปภายในเมืองใหญ่อย่างสนใจใคร่รู้ ระหว่างที่ขบวนเกวียนเคลื่อนไปเรื่อยๆ ก็มองหาผู้คนที่พอจะถามความได้บ้าง
.... “ ข้าแต่นาย ! ภายในเมืองกำลังมีงานเฉลิมฉลองอันใด ผู้คนจึงครึกครื้นนัก ” พ่อค้าถามชายคนหนึ่ง ผู้ทูนกระจาดดอกไม้ของหอมไว้บนศรีษะ
.... “ นี่ท่านคงเป็นคนต่างเมืองกระมัง จึงไม่รู้ว่าวันนี้ เป็นวันมหามงคลของเมืองเรา ”
.... “ วันมหามงคล ! อะไรหรือท่าน ” พ่อค้าถามด้วยความฉงน ชายชราหัวเราะร่วน เดินพลางพูดพลางโดยไม่เหลียวหลัง
.... …” ก็ พระพุทธเจ้า กำลังจะเสด็จมานะสิท่าน ” ี
...... “ สหาย ! ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหรือ โอ ! พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้วหรือนี่ ”
......เพราะ ปมเหล่านั้น เราเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง แท้จริงแล้วไม่มีแก่นสารอันใด......
...... ดูก่อนท่านผู้เจริญ คำว่า พระพุทธเจ้า นั้น เป็นคำที่ก่อความตื่นเต้นให้แก่นายกองเกวียนสองพ่อลูกอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่พวกเขาเท่านั้น แม้ชนชาวภัททิยนครทั้งสิ้นล้วนมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน อุปมาเหมือนคนเป็นโรคซึ่งทรมานมานานปี เมื่อทราบว่ามีหมอดีสามารถบำบัดรักษาโรคนั้นได้ จะดีใจสักเพียงใด
...... พระโคตมะพุทธะออกบวชจากศากยะตระกูล มีข่าวแพร่สะพัดไปทุกหนแห่งว่าพระองค์เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ ทรงมีปุพเพกตปุญญตาอย่างล้นเหลือ กุศลกรรมทั้งมวลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาตลอดท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารอันยาวไกล รวมกันให้ผลในปัจฉิมภพของพระองค์นี้ ประดุจสายธารซึ่งยังเอ่ออยู่ในทำนบจนเต็ม ปริ่มอุธกธาราให้ไหลหลากท่วมท้น
...... ดังนั้น ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไป ณ ที่ใด พระราชา เสนาบดี พ่อค้า ประชาชน ล้วนบังเกิดมหาปีติ
...... เหตุเพราะจักมีโอกาสเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ ซึ่งมีคุณค่ายิ่ง กว่าการได้สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิเสียอีก
...... ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ยังเทียบค่าไม่ได้กับพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ อันจะบังเกิดขึ้นเป็นทางพ้นทุกข์แห่งตนไปสิ้นกาลนาน …
...... ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยของ เวไนยสัตว์ คือผู้ที่พึงแนะนำสั่งสอนให้พ้นทุกข์ได้ จึงทรงนำพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จจาริกไปยังภัททิยนคร ในแคว้นอังคะ
...... ขึ้นชื่อว่า แคว้นอังคะ ใครๆ ต่างรู้จักกันในนามเมืองมั่งคั่งเทียบเคียงกับแคว้นมคธ ซึ่งอยู่ในปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร จอมราชันย์ผู้เกรียงไกร เพราะทั้งสองแคว้นที่พระองค์ทรงปกครองนั้น เป็นเมืองเลื่องชื่อทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การดูแลของเศรษฐีผู้มีทรัพย์นับประมาณมิได้ถึง ๕ คน คือ โชติกเศรษฐี ชฎิลเศรษฐี ปุณณกเศรษฐี กากวัลลิยเศรษฐี และ เมณฑกเศรษฐี
...... ในบรรดาบุคคลผู้มีทรัพย์นับอนันต์ทั้ง ๕ เมณฑกเศรษฐี เป็นผู้นำแห่งภัททิยนคร แคว้นอังคะ เมื่อทราบข่าวว่าพระทศพลจะเสด็จมา จึงเรียกประชุมเหล่าคนสนิทและบริวาร เพื่อเตรียมการต้อนรับพระพุทธองค์อย่างดีที่สุด ได้แก่ นางจันทปทุมมา ภรรยาของท่านเมณฑกเศรษฐี บุตรชายโทนคือ ธนัญชัย ลูกสะใภ้คือ สุมนาเทวี และบริวารใกล้ชิด คือ ปุณณะ
...... ทั้งนี้ ไม่ลืมที่จะเรียกหลานสาวคนเดียว ซึ่งมีแววเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เล็ก แม้อายุเพียง ๗ ขวบ ให้มารับหน้าที่สำคัญในการณ์นี้ด้วย นางเป็นบุตรของธนัญชัยเศรษฐีและนางสุมนาเทวี ผู้เกิดมาท่ามกลางความรักของหมู่ญาติ ได้ตั้งชื่อแก่นางว่า “ วิสาขา ”