วิสาขามหาอุบาสิกา
ตอนที่ ๒ บรรลุธรรม
ยามนี้ พระอาทิตย์ยอแสงสาดพื้นพิภพมาไม่นานนัก ลมอ่อนในยามเช้าพัดเฉื่อยฉิว หอบเอากลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกไม้นานาพันธ์ติดมาด้วย นกเล็กๆ กระโดดโลดเต้นด้วยความสำราญจากกิ่งนี้สู่กิ่งนั้น จากกิ่งนั้นสู่กิ่งโน้น พลางขับขานเสียงสดใส ต้อนรับความสุขสดชื่นยามรุ่งอรุณ
บัณฑิตผู้เป็นพหูสต ยกมือขึ้นลูบศรีษะหลานสาวคนเดียวด้วยความเอ็นดู กล่าวความยินดีว่า “ หลานเอ๋ย ความเป็นสิริมงคลย่อมมีแก่หลานและแก่ตาด้วย หลานกับเด็กหญิงบริวารทั้ง ๕๐๐ คนของหลาน จงขึ้นรถ ๕๐๐ คัน แวดล้อมด้วยทาสีอีก ๕๐๐ คน จงไปรับเสด็จพระทศพลเถิด ”
ทันทีที่ได้ฟัง วิสาขาทาริการู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง ประกายแห่งความปราโมทย์ฉายชัดในแววตา นางรับคำว่า “ ได้ เจ้าค่ะ ” แล้วปฏิบัติตามโอวาททุกประการ
ด้วยความที่วิสาขาเป็นเด็กฉลาด แม้จะมีอายุเพียง ๗ ขวบ แต่เข้าใจในเหตุอันควรและไม่ควรในกาลทั้งสิ้น ได้จัดแจงสั่งงานกับเหล่าบริวารให้เตรียมรับเสด็จพระบรมศาสดาเป็นอย่างดี มิให้มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง บ่าวไพร่ทุกคนล้วนพร้อมใจปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด เพราะปรารถนาบุญใหญ่ในครั้งนี้
ทุกอาณาบริเวณถูกปัดกวาดให้สะอาด สวนหย่อมและสวนดอกไม้ถูกตกแต่งไว้ดูงาม เมื่อถึงเวลาอันควร วิสาขาทาริกาและบริวารจึงจัดริ้วขบวนออกเดินทางไปรับเสด็จพระพุทธองค์
เมื่อขบวนรถทั้ง ๕๐๐ คัน พร้อมทั้งเหล่าบริวารและทาสีเป็นอันมาก เดินทางมาถึงบุญเขตใกล้กับที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิสาขาทาริกาเห็นควรเข้าไปรับเสด็จด้วยความเคารพสักการะ ดังนั้น เมื่อนั่งไปด้วยยานเท่าที่พอจะไปได้ จึงสั่งให้หยุดรถ แล้วลงจากยานเดินเท้าเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาด้วยความนอบน้อม ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้งนั้น พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาตามความเหมาะสมกับบุพจริยา คือ บุญบารมีที่สั่งสมมาในอดีต ในเวลาจบพระธรรมเทศนา วิสาขาทาริกาพร้อมด้วยเด็กหญิง ๕๐๐ คน น้อมใจตามกระแสพระพุทธดำรัส มีดวงใจสงบหยุดนิ่ง ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในครั้งนั้นเอง
ยามสาย พระอาทิตย์โคจรขึ้นเกือบจะถึงกึ่งฟ้าทางด้านบูรพาทิศ ฝ่ายเมณฑกเศรษฐีทราบข่าวการบรรลุธรรมของวิสาขาและบริวารแล้ว ให้รู้สึกปีติยินดีเป็นที่ยิ่ง มุ่งหน้าสู่ที่ประทับเพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระบรมศาสดาทรงเทศนาพระธรรมโปรด ในเวลาที่จบพระธรรมเทศนา เมณฑกเศรษฐีได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล ( เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่ ๑ ซึ่งมีทั้งหมด ๔ ชั้น เรียกผู้บรรลุธรรมชั้นนี้ว่า โสดาบัน)
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ใครหนอจะสามารถบรรยายความสุขอันเกิดจากการบรรลุธรรมได้ดี เทียบเท่ากับบุคคลผู้มีบุญมาก ได้ประสบด้วยตนเอง เหตุเพราะธรรมะนั้น เป็นของรู้ได้เฉพาะตน ลุ่มลึกไปตามลำดับ เป็นสันติสุขแท้จริงที่เกิดขึ้นภายในกลางใจ ยากแก่การทำให้กระจ่างแจ้งเพียงคำบอกเล่าได้
บุคคลผู้ยังประมาทอยู่ ไม่หมั่นสำรวมระวังจิต มักปล่อยใจให้ท่องเที่ยวเวียนวนไม่หยุดนิ่ง เขาเหล่านั้นรู้จักแต่ความเพลินเพียงชั่วขณะ หาพบเจอ ความสุขจริงแท้ไม่ เหมือนร่มเงาที่เกิดขึ้นจากละอองเมฆลอยผ่านมาบดบังดวงอาทิตย์ เวลาไม่นานย่อมเลยผ่านไป ให้ดวงตะวันฉายแสงแห่งความร้อนแรงคืนดังเดิม ฉันใด บุคคลผู้ไม่สำรวมจิตตั้งมั่น ย่อมห่างไกลจากความสุขสงบที่แท้จริง ฉันนั้น
เมื่อปล่อยใจไปตามกระแสพระพุทธดำรัส อันมีน้ำเสียงไพเราะก้องกังวาลดุจเสียงท้าวมหาพรหมนั้นแล้ว ย่อมยังความเย็นกายเย็นใจ ความชุ่มชื่นกายชุ่มชื่นใจ ให้เกิดขึ้นแก่โสตสำเนียงของผู้ได้สดับ ยังใจให้สงบระงับจากความเร่าร้อนทั้งหลายเสียได้ เมื่อใจสงบเป็นสมาธิ ถึงความสงบถึงจุดหนึ่ง ย่อม หยุด เป็นจุดเดียวกัน เมื่อนั้นเหมือนไขกุญแจประตูไปสู่อีกโลกหนึ่ง โลกที่ความทุกข์ใดๆ ไม่อาจกล้ำกรายไปถึง
เฉกเช่นดวงใจของวิสาขาทาริกา รวมถึงผู้บรรลุธรรมในกาลนี้ทั้งสิ้น ล้วนมีใจบริสุทธิ์ผ่องแผ้วภายในกลางกาย อิ่มเอิบเบิกบานในบุญที่ได้ตั้งใจกระทำไว้ดีแล้ว
บัดนี้ ท่านเมณฑกเศรษฐี ได้ยกตนขึ้นเป็นพุทธอุบาสกผู้มีจิตตั้งมั่นในพระรัตนตรัยไม่เสื่อมคลาย จึงกราบบังคมทูลนิมนต์พระบรมศาสดาเพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นที่บ้านของตน
การได้ถวายทานแด่ทักขิไณยบุคคลผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ นับว่ามีอานิสงส์มากอย่างจะนับจะประมาณมิได้ บุคคลผู้มีใจสว่างย่อมมองเห็นคุณค่าของบุญ จึงปรารถนาสร้างทานกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ในดวงใจของท่านเมณฑกเศรษฐีครั้งนี้ก็เช่นกันอุปมาว่าต่อให้มีสมบัติของพระมหาจักรพรรดินับร้อยพระองค์มากองตรงหน้า ยังปรารถนาน้อยกว่าการได้ถวายทานแด่เหล่าพระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข เพราะบุคคลผู้สั่งสมมาเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้นจึงจะมีโอกาสสร้างมหาทานเช่นนี้
ท่านเมณฑกเศรษฐีและบุตรหลาน ได้อังคาสพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์ประธาน ด้วยของควรเคี้ยวและควรบริโภคอันประณีตในเรือนของตน และได้ถวายทานทำนองเดียวกันนี้ตลอด ๑๕ วัน
พระบรมศาสดาครั้นประทับอยู่ในภัททิยนครตามความพอพระทัยแล้วจึงเสด็จหลีกไป
อีกฟากหนึ่งห่างไกลจากภัททิยนคร ตลอดแนวริมฝั่งน้ำจะเห็นกำแพงปราการบ้านเรือนสลับสล้างเป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันลงมา พระอาทิตย์อัสดงไปไม่นานนัก ดวงจันทร์แจ่มจรัสค่อยโผล่พ้นทิวไม้ด้านทิศตะวันออก จากยอดปราสาทสูงตระหง่าน มองลงมายังเบื้องล่างจะเห็นการสัญจรทางเรือคับคั่ง มีเรือน้อยใหญ่ประดับธงทิวสีต่างๆ ดูงดงาม จวบจนล่วงเวลาวิกาลจึงสงัดเสียง ผู้คนร้างไร้กลับคืนสู่เรือนของตน
หากบุรุษหนึ่งผู้สูงศักดิ์บนยอดปราสาทนั้น มิอาจข่มตาให้หลับลงได้แม้เพียงน้อย เฝ้าครุ่นคิดถึงปัญหาบางประการที่มิอาจปลงใจได้ พลิกพระองค์อยู่ไปมาบนพระแท่นบรรทม ได้ยินเสียงถอนหายใจยาวเป็นบางครั้ง ดังจะระบายความอึดอัดในใจให้ผ่อนปรนลงได้บ้าง
“ โอ! หรือแคว้นโกศลของเราจักถึงกาลเสื่อมถอยในครานี้ เมื่อไม่มีคหบดีผู้มั่งคั่งยังเมืองให้เจริญได้”
ในห้วงคิดคำนึงของพระเจ้าปเสนทิโกศลยามนี้ ให้กระวนกระวายพระทัยสุดจะประมาณ ด้วยไม่มีคหบดีมหาศาล ผู้เป็นดังนักเศรษฐกิจในบ้านเมืองยังการค้าให้รุ่งเรืองดังแคว้นอื่น
ทรงดำริถึงความแตกต่างในพระนครของพระองค์ เปรียบเทียบกับแคว้นมคธ..