เรียนรู้ศาสตร์..ที่จะทำให้รู้ทุกศาสตร์

วันที่ 07 กพ. พ.ศ.2565

650207_0B.jpg

เรียนรู้ศาสตร์..ที่จะทำให้รู้ทุกศาสตร์

           สมมติเรามีเวลาในโลกนี้อย่างจำกัด และเรากำหนดรู้ไม่ได้ว่าจะตายวันไหน ถ้าหากเรามีโอกาสเลือกที่จะเรียนรู้ เราควรจะเรียนรู้วิชาอะไร มีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง คือ หนึ่ง ความรู้ที่เรียนจนกระทั่งทำให้เราไปถึงเป้าหมายของชีวิต กับ สอง ความรู้ที่เรียนแล้ววนอยู่ในโลก

           วิชชาที่เราจะเรียนเป็นรากแก้วของชีวิต ถ้าเราเข้าถึงพระธรรมกายและได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย เมื่อเรียนรู้มาถึงจุดหนึ่ง..เราจะเข้าใจทุกอย่างหมดเลย ส่วนวิชาทางโลกที่เรียนจนจบด็อกเตอร์สายใดก็แล้วแต่ เป็นเสมือนกึ่งหนึ่งแขนงหนึ่งของต้นไม้เท่านั้น เรียนจบแล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเลย ต้องทุ่มชีวิตศึกษาแขนงนั้นแขนงเดียวไปชาติหนึ่งเลย

          อาจารย์ท่านหนึ่งเรียนจบด็อกเตอร์ทางไก่ แล้วท่านก็เอาความรู้เรื่องไก่มาสอนนิสิตนักศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องไก่ จนกระทั่งใบหน้าท่านเหมือนไก่เลย ขออภัยนะ! หลวงพ่อไม่ได้ล้อเลียนท่าน เพราะท่านต้องเรียนอิริยาบถของไก่เพื่อเอามาสอนนักศึกษา เวลาท่านพูดท่านทำท่าขัน..ทำเหมือนไก่เลย นี่ก็จบไปชาติหนึ่ง

           ด็อกเตอร์เรื่องข้าว..เชี่ยวชาญเรื่องข้าวเรื่องเดียว ไปพูดเรื่องถั่วก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยเรื่องข้าวจบไปซาติหนึ่ง เศรษฐศาสตร์ก็ว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยเรื่อง Demand- Supply ไปชาติหนึ่ง เรียนจบแล้วยังไม่รู้เลยว่าชีวิตเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต

           หลวงพ่อเคยพบข้อเขียนในสารคดีเล่มหนึ่ง เป็นถ้อยคำของไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกที่ได้กล่าวไว้ตอนใกล้จะละโลกว่า “ถ้าหากให้เขาสามารถย้อนชีวิตกลับไปเริ่มต้นใหม่ได้ สิ่งที่เขาอยากจะศึกษา คือ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใจ” ไม่ใช่ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งชาติหนึ่งที่เขาทุ่มไป..ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำระเบิดปรมาณูขึ้นมาแค่นั้น แล้วก็ไม่ได้อะไรอีกเลย

           อัลเฟรด โนเบล เจ้าของรางวัลโนเบลไพรส์ ใช้เวลาชาติหนึ่งคิดค้นการทำระเบิด พอตอนสุดท้ายใกล้จะละโลกคิดได้ ได้รู้ว่าเป้าหมายของชีวิตไม่ใช่อย่างนี้ แต่ว่ามันหมดเวลาของชีวิตแล้ว ดังนั้น..จึงอุทิศเงินที่หามาได้ตลอดหนึ่งชีวิตเพื่อสร้างสรรค์โลกนี้

           ในชีวิตหนึ่ง เรามีโอกาสเลือกที่จะเรียนรู้ได้เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น..ต้องคิดให้ดี ถ้าจะเรียนรู้ควรจะเรียนรู้ศาสตร์ที่จะทำให้เรารู้ทุกๆ ศาสตร์ แต่ต้องเริ่มต้นจากการที่เราได้ธรรมกายถึงจุดของธรรมกาย จึงจะเอาธรรมกายไปศึกษาความรู้ชนิดนี้ได้ เราจะรู้ทั่วถึงทั้งหมดเลย

          ถ้าหากเราเรียนไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงจุดหนึ่ง จะอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับเรื่องวิชชาธรรมกายว่า ทำไมเราเข้าใจ เรารู้เรื่องในหลายๆ เรื่องทั้งหมด ถึงตอนนี้เราจะตกใจเลยว่า เวลาที่ผ่านมานับ.ภพนับชาติไม่ถ้วนจนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ เราไม่น่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เลย สิ่งที่เรายังไม่รู้รอคอยเราอยู่ข้างหน้าอีกมากมาย นี่พอไปถึงจุดตรงนี้จะคิดอย่างนี้ จะเป็นอย่างนี้กันทุกคน

 

จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่ม ๕

คุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0033365686734517 Mins