มงคลที่ ๙   มีวินัย

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2565

มงคลที่ ๙   มีวินัย

เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน
คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิด
แห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ
ความถึงพร้อมแห่งศีล ฉันนั้นเหมือนกัน

๑. ความสำคัญของศีล

mongkol-life9.1.jpg

๑.๑ เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่
เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งศีล ฉันนั้นเหมือนกัน.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๗๕

๑.๒ พีชคาม และภูตคามชนิดใดชนิดหนึ่ง ย่อมถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต พีชคาม และ ภูตคามทั้งหมดนั้นอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต
      แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๑๔๔

๑.๓ พวกนาคอาศัยขุนเขาชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโต มีกำลัง ครั้นมีกายเติบโตมีกำลังที่ขุน
เขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย ครั้นลงสู่บึงน้อยแล้วย่อมลงสู่บึงใหญ่ ครั้นลงสู่บึงใหญ่แล้วย่อมลงสู่แม่นํ้าน้อย ครั้นลงสู่แม่นํ้าน้อยแล้วย่อมลงสู่แม่นํ้าใหญ่ ครั้นลงสู่แม่นํ้าใหญ่แล้วย่อมลงสู่มหาสมุทรสาคร นาคพวกนั้นย่อมถึงความโตใหญ่ทางกายในมหาสมุทรสาครนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๑๔๖

๑.๔ นาที่ประกอบด้วยโทษ ๔ อย่างคือ พืชเสีย การหว่านไม่ดี น้ำไม่ดี ที่ดินไม่ดี จัดว่าเป็นนาเสีย... นาที่จัดว่าเป็นนาบริบูรณ์ เพราะปราศจากโทษ ๔ อย่างเหล่านี้ และนาเช่นนั้น จัดเป็นนาที่มีผลิตผลมาก ฉันใด ศีลซึ่งประกอบด้วยโทษ ๔ อย่าง คือ ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย จะจัดเป็นศีลที่บริบูรณ์ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ศีลเช่นนั้น เป็นศีลหามีผลานิสงส์มากไม่ แต่ศีลที่บริบูรณ์ได้ ก็เพราะปราศจากโทษ ๔ อย่างเหล่านี้ ศีลเช่นนั้น จัดว่าเป็นศีลที่มีผลานิสงส์มาก.
มู.มู. (อรรถ) มก. ๑๗/๔๐๙

๑.๕ ศีลเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้ เป็นอาวุธอย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะ
อันน่าอัศจรรย์ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องกั้น เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นประมุข เป็นประธานแห่งความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย.
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๒/๔๒๕

๑.๖ จันทน์ก็ดี กฤษณาก็ดี อุบลก็ดี มะลิก็ดี กลิ่นคือศีล ยอดเยี่ยมกว่าบรรดาคันธชาต
เหล่านั้น กลิ่นกฤษณา และจันทน์นี้ มีประมาณน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลเป็นกลิ่นสูงสุด ฟุ้งไปในทวยเทพทั้งหลาย.
ที.สี. (พุทธ) มก. ๑๑/๑๖๖

๑.๗ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า ศีลมีลักษณะอย่างไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ศีลมีการเป็นที่ตั้ง เป็นลักษณะเหมือนพืชทั้งหลายมีแผ่นดินเป็นที่ตั้ง.
มิลิน. ๔๗

๒. การรักษาศีล

mongkol-life9.2.jpg

๒.๑ จามรีหางคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ปลดขนหางออกไม่ได้ ก็ยอมตายในที่นั้น แม้ฉันใด  ท่านจงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ในภูมิทั้ง ๔ จงรักษาศีลไว้ทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหาง ฉันนั้นเถิด.
ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๕๐

๒.๒ นกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ ฉันใด จามรีรักษาขนหาง ฉันใด คนมีบุตรคนเดียวรักษา
บุตรผู้เป็นที่รัก ฉันใด คนมีนัยน์ตาข้างเดียว รักษานัยน์ตาที่ยังเหลืออีกข้าง ฉันใด ท่านทั้งหลายจงตามรักษาศีล เหมือนฉันนั้น.
ที.สี. (พุทธ) มก. ๑๑/๑๖๖

๒.๓ ปาฏิโมกขสังวรศีลนี้ของผู้ใด ไม่ด่างพร้อย ผู้นั้นย่อมสามารถที่จะรักษาศีลที่เหลือให้ดำรงอยู่ตามปกติได้ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีศีรษะไม่ขาดก็อาจรักษาชีวิตไว้ได้ ฉะนั้น.
มู.มู. (อรรถ) มก. ๑๗/๔๑๐

๒.๔ อริยสาวกนั้นรีบแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ซึ่งอาบัตินั้นในสำนักพระบรมศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดงเปิดเผย ทำให้ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป เปรียบเหมือนกุมารที่อ่อนนอนหงาย ถูกถ่านไฟ ด้วยมือ หรือด้วยเท้าเข้าแล้ว ก็ชักหนีเร็วพลัน ฉะนั้น.
มู.มู. (พุทธ) มก. ๑๙/๔๑๕

๒.๕ ธรรมดามหาสมุทร ย่อมเป็นแหล่งรวมของน้ำซึ่งไหลมาจากแม่นํ้าสายต่างๆ หลาย
ร้อยสาย อันได้แก่แม่นํ้าคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู นที เป็นต้น แม้นํ้าฝนจะตกลงมาจากอากาศแต่น้ำเหล่านั้นก็หาไหลล้นฝั่งไปได้ไม่ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรแกล้งล่วงสิกขาบท เพราะเห็นแก่ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ ความนับถือ การไหว้ การบูชา ตลอดถึงเหตุที่จะทำให้สิ้นชีวิต
        ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า มหาสมุทรมีนํ้าเต็มฝั่งไม่ล้นฝั่งไปได้ ฉันใด สาวกทั้งหลายของเราก็ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๔

๒.๖ ธรรมดาดอกบัวถูกลมกระทบเพียงเล็กน้อยก็สั่นไหว ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรระวังกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย และเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยว่าเป็นของน่ากลัว ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๒๙

๒.๗ ธรรมดาอากาศย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควร
เป็นผู้มีสีลาจารวัตรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๔๐

๒.๘ ธรรมดาแผ่นดิน ย่อมปราศจากเครื่องประดับตกแต่ง มีอยู่เพียงกลิ่นของตนเอง
ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรปราศจากเครื่องประดับตกแต่ง ควรหมั่นวางตนไว้ด้วยกลิ่นศีลแห่งตน ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๕

๒.๙ ธรรมดาแผ่นดินย่อมไม่มีที่ว่าง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรงเป็นของหนาแน่นอันกว้างขวาง
ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรเป็นผู้มีศีลอยู่เป็นนิตย์ อย่าให้ศีลขาดวิ่น เป็นช่อง เป็นรู ให้ศีล นั้นหนาแน่นกว้างขวางอยู่เสมอ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๕

๒.๑๐ ธรรมดาดวงจันทร์ย่อมมีวิมานเป็นธง ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรมีศีลเป็น
ธง ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๔๐

๒.๑๑ บุคคลทำกรรมอันหยาบช้าจนถูกตัดศีรษะ... แม้ฉันใด
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญา คือ ความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาราชิกทั้งหลาย.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๖๐๓

๒.๑๒ บุคคลกระทำกรรมอันเป็นบาป น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก... แม้ฉันใด
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญา คือ ความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ สังฆาทิเสสทั้งหลาย.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๖๐๔

๒.๑๓ บุคคลกระทำกรรมอันลามก ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้า... แม้ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญา คือ ความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาจิตตีย์ทั้งหลาย.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๖๐๕

๒.๑๔ บุคคลกระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน นุ่งผ้าดำสยายผม... แม้ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญา คือ ความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาฏิเทสนียะทั้งหลาย.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๖๐๕

๓. อานิสงส์ของการรักษาศีล

mongkol-life9.3.jpg

๓.๑ ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะเป็นผู้สำรวมด้วยศีล
เหมือนพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกกำจัดศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแม้แต่ไหนๆ เพราะศัตรูนั้น.
ที.สี. (พุทธ) มก. ๑๒/๒๐๗

๓.๒ บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟส่องแสงบนยอดเขาใน
กลางคืน.
ที.ปา. (อรรถ) มก. ๑๖/๑๑๐

๓.๓ กลิ่นดอกไม้ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นจันทน์หรือกลิ่นกฤษณา และกลัมพักก็ฟุ้งไปไม่ได้แต่กลิ่นของสัตบุรุษฟุ้งไปทวนลมได้ กลิ่นจันทน์ก็ดี กลิ่นกฤษณาก็ดี กลิ่นอุบลก็ดี กลิ่นมะลิก็ดี กลิ่นศีลเป็นเยี่ยมกว่าคันธชาตนั่น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๓
 
๓.๔ กลิ่นกลัมพัก และกลิ่นจันทน์เป็นกลิ่นเพียงเล็กน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลาย
เป็นกลิ่นชั้นสูง ย่อมหอมฟุ้งไปในเทพเจ้าและเหล่ามนุษย์.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๑๒๘


๓.๕ ป่าใหญ่ มีดอกไม้บาน อบอวลด้วยกลิ่นหอมนานา ฉันใด ปาพจน์(ธรรมและวินัย)
ของพระโสภิตพุทธเจ้า ก็อบอวลด้วยกลิ่น คือ ศีล ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๗๓/๓๗๙


๓.๖ การที่พระขีณาสพผู้ฟุ้งตลบไปทั้ง ๑๐ ทิศ ด้วยกลิ่นหอมทั้งหลายมีกลิ่นศีล เป็นต้น
ท่องเที่ยวจาริกไปตามใจปรารถนา เปรียบเหมือนการที่คนมีกลิ่นตัวหอม นุ่งห่มผ้าที่อบด้วยกลิ่น
หอมแล้วท่องเที่ยวไปตามท้องถนนในวันมีมหรสพ.
สัง.ข. (อรรถ) มก. ๒๗/๒๙๘


๓.๗ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น
ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญาว่า
เป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้า ฉะนั้น.
ที.สี. (พุทธ) มก. ๑๒/๑๔


๔. โทษของการทุศีล

mongkol-life9.4.jpg


๔.๑ ภิกษุใดมีศีลขาด กรรมฐานของภิกษุนั้นย่อมไม่สืบต่อ จิตย่อมปั่นป่วน คือ ถูกไฟ คือ
ความเดือดร้อนแผดเผาอยู่ ดุจถูกทิ่มแทงด้วยปฏัก ฉะนั้น ภิกษุนั้น ย่อมลุกขึ้นในขณะนั้นทีเดียว
เหมือนนั่งอยู่บนก้อนหินที่ร้อน ฉะนั้น.
วิ.มหา. (อรรถ) มก. ๑/๗๖๓


๔.๒ ใบไม้เหลืองเป็นของมีอันไม่งอกงาม โดยความเป็นของเขียวสดอีก ฉันใด แม้บุคคลผู้
พ่ายทั้งหลาย ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่งอกงามโดยความเป็นผู้มีศีลตามปกติอีก.
วิ.ป. (อรรถ) มก. ๑๐/๖๑๗

๔.๓ บุคคลผู้ทุศีลกระทำเพศของผู้มีวัตรอันงามให้เป็นเครื่องปกปิด เพื่อปกปิดความที่ตน
เป็นผู้ทุศีล เหมือนการปกปิดด้วยวัตถุมีหญ้า และใบไม้เพื่อปกปิดคูถ ฉะนั้น.
ขุ.ส. (อรรถ) มก. ๔๖/๓๐๕

๔.๔ บุคคลผู้มีส่วนชั่ว เสื่อมแล้วจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ ย่อมขจัดผลแห่งความเป็นสมณะให้
กระจัดกระจายไป เหมือนดุ้นฟืนในที่เผาผีฉิบหายไปอยู่ ฉะนั้น ก้อนเหล็กร้อนเปรียบด้วยเปลวไฟ อัน
บุคคลบริโภคแล้วยังจะดีกว่าบุคคลผู้ทุศีลผู้ไม่สำรวม พึงบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นจะดีอะไร.
ขุ.อิติ. (พุทธ) มก. ๔๕/๕๗๓

๔.๕ บุคคลผู้ทุศีลตรัสเปรียบด้วยดุ้นฟืนเผาศพ แต่บุคคลผู้มีสุตะน้อยผู้ละเลยการงาน
เปรียบด้วยฝูงโค.
อัง.จตุกก. (อรรถ) มก. ๓๕/๒๗๑

๔.๖ ภิกษุผู้มีปาฏิโมกขสังวรแตก ไม่ควรจะกล่าวว่า จักรักษาข้อที่เหลือไว้ได้ เหมือนคน
ศีรษะขาด ก็ไม่ควรกล่าวว่าจักรักษามือเท้าไว้ได้ ฉะนั้น
      ส่วนภิกษุผู้มีปาฏิโมกขสังวรไม่ด่างพร้อย ย่อมสามารถรักษาข้อที่เหลือให้เป็นปกติได้อีก
เหมือนคนศีรษะยังไม่ขาด ย่อมรักษาชีวิตไว้ได้ ฉะนั้น.
อัง.ทุก. (อรรถ) มก. ๓๓/๓๗๙

๔.๗ มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก
ฉันใด บุคคลผู้ทุศีล มีบาปกรรม มีสมาจารไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่
ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่ม
ด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น.
อัง.สัตตก. (พุทธ) มก. ๓๗/๔๐๓

๔.๘ ศีลของภิกษุนั้น ชื่อว่า ขาดด้วน เปรียบเหมือนผ้าขาดที่ชายโดยรอบ ฉะนั้น.
วิ.ป. (อรรถ) มก. ๑๐/๓๙๐

๔.๙ ศีลของภิกษุนั้น ชื่อว่า เป็นช่องทะลุ เปรียบเหมือนผ้าที่เป็นช่องทะลุตรงกลาง ฉะนั้น.
วิ.ป. (อรรถ) มก. ๑๐/๓๙๐

๔.๑๐ ศีลของภิกษุนั้น ชื่อว่า ด่าง เปรียบเหมือนแม่โคซึ่งมีสีตัวดำ และแดงอย่างใดอย่าง
หนึ่ง สลับกับสีซึ่งไม่เหมือนกันที่ผุดขึ้นที่หลังหรือที่ท้อง ฉะนั้น.
วิ.ป. (อรรถ) มก. ๑๐/๓๙๐

๔.๑๑ ศีลของภิกษุนั้น ชื่อว่า พร้อย เปรียบเหมือนแม่โคที่พราวเป็นดวงด้วยสีไม่เหมือนกัน
ในระหว่าง ฉะนั้น.
วิ.ป. (อรรถ) มก. ๑๐/๓๙๐

๔.๑๒ ต้นไม้ที่มีกิ่ง และใบวิบัติแล้ว แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้เปลือกก็
ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้กะพี้ก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้แก่นก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน
แล ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสัมมาสมาธิของภิกษุผู้ทุศีลมีศีลวิบัติแล้ว ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว.
อัง.ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๓๖

๔.๑๓ บุรุษถูกตัดศีรษะแล้วไม่อาจมีสรีระคุ้มกัน แม้ฉันใด ภิกษุณีก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีความ
กำหนัดยินดีการลูบก็ดี คลำก็ดี จับก็ดี ต้องก็ดี บีบเคล้นก็ดี ของบุรุษบุคคลผู้กำหนัด ใต้รากขวัญ
ลงไป เหนือเข่าขึ้นมา ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นธิดาของพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า
เป็นปาราชิก.
วิ.ภิกขุณี. (อรรถ) มก. ๕/๗

๔.๑๔ ใบไม้เหลืองหลุดจากขั้วแล้วไม่ควรเพื่อจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุณีก็
ฉันนั้นแหละ รู้อยู่ว่า ภิกษุณีล่วงปาราชิกธรรมแล้ว เมื่อเธอทอดธุระว่าจักไม่โจทด้วยตน จักไม่บอก
แก่คณะดังนี้เท่านั้น ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นธิดาของพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า
เป็นปาราชิก.
วิ.ภิกขุณี. (อรรถ) มก. ๕/๑๙

๔.๑๕ ศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้วเป็นของกลับต่อให้ติดสนิทอีกไม่ได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร
เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก.
วิ.มหา. (อรรถ) มก. ๒/๒๖๗

๔.๑๖ ต้นตาลมียอดด้วนแล้ว ไม่อาจจะงอกอีก แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ มีความอยาก
อันลามก อันความอยากครอบงำแล้ว พูดอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็น
สมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก.
วิ.มหา. (อรรถ) มก. ๒/๔๕๙

๔.๑๗ อนึ่ง ภิกษุใดมีสิกขาบททำลายท่ามกลาง ชื่อว่า มีศีลทะลุ หากทำลายสองสามสิกขา
บทตามลำดับ ภิกษุนั้นชื่อว่า มีศีลด่าง ดุจแม่โคที่มีสีจางกว่าสีเดิมเป็นแห่งๆ
        ภิกษุใดมีสิกขาบททำลายระหว่างๆ ภิกษุนั้น ชื่อว่า ศีลพร้อย ดุจแม่โคที่มีจุดลายไปทั้งตัว.
ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๙/๔๓๓


๕. พระวินัย

mongkol-life9.5.jpg

๕.๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จำนงจะถอนสิกขาบทเล็ก
น้อยก็จงถอนเถิด
     พระนาคเสนวินิจฉัยว่า พระพุทธเจ้าทรงจะทดลองภิกษุทั้งหมดว่า สาวกทั้งหลายจะเพิก
ถอนหรือจะยึดมั่นในสิกขาบท อุปมาพระเจ้าจักรพรรดิตรัสแก่พระราชโอรสว่า บ้านเมืองอันใหญ่มี
มหาสมุทรเป็นที่สุด ปกครองได้ยาก ถ้าบิดาล่วงลับไปแล้ว จงสละปัจจันตประเทศตามประสงค์เถิด
     พระราชกุมารย่อมไม่สละ มีแต่จะหาเพิ่ม เหมือนพุทธบุตรที่ปราถนาความหลุดพ้นมีแต่จะ
เพิ่มสิกขาบท ให้ยิ่งขึ้นไปอีก.
มิลิน. ๒๐๕

๕.๒ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ทุกสิ่ง เห็นทุกสิ่ง แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ยังไม่บัญญัติสิกขา
บท เหมือนแพทย์จะให้ยาคนไข้เมื่อเจ็บป่วย เมื่อยังไม่ป่วยไข้ก็ไม่ให้ยา.
มิลิน. ๑๑๖

๕.๓ มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉัน
นั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่
ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง.
อัง.สัตตก. (พุทธ) มก. ๓๗/๔๐๒

๕.๔ เราจำจักต้องสังคายนาธรรมวินัย เมื่อเป็นดังนี้ ธรรมวินัยก็จักมั่นคง เหมือนดอกไม้ที่
คุมไว้ด้วยด้ายเหนียว.
ที.ม. (เถระ) มก. ๑๓/๔๕๒

๕.๕ พระวินัยธรเมื่อกำหนดไม่ได้ ทำลงไป ย่อมถึงความลำบาก และไม่สามารถจะแก้ไขซึ่ง
บุคคลเช่นนั้นได้ ดุจหมอผู้ไม่รู้ต้นเหตุแห่งโรคแล้วปรุงยา ฉะนั้น.
วิ.มหา. (อรรถ) มก. ๓/๑๑๓

๕.๖ มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ
วิมุตติรส.
อัง.สัตตก. (พุทธ) มก. ๓๗/๔๐๔

๕.๗ ความน่าอัศจรรย์ในธรรมวินัย ๘ ประการ เทียบกับมหาสมุทรได้แก่
๑. ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปเป็นลำดับ เทียบกับมหาสมุทรต่ำ ลาดลึกลงไปตามลำดับ
๒. นิพพานย่อมไม่พร่อง เทียบกับน้ำในมหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง
๓. ผู้ประพฤติชั่วย่อมไกลจากสงฆ์ เทียบกับมหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ
๔. แม้ภิกษุจำนวนมาก ปรินิพานก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ เทียบกับมหาสมุทรมี

แม่น้ำที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้าก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้
๕. ภิกษุเมื่อมาบวชย่อมละชื่อโคตรหมด เทียบกับแม่น้ำที่ไหลลงมหาสมุทรแล้วรวมเรียกว่า
มหาสมุทร
๖. ธรรมวินัยมีรสเดียว คือ วิมุตติรส เทียบกับมหาสมุทรมีรสเดียว
๗. ธรรมวินัยมีรัตนะมาก คือ สติปัฏิฐาน ๔ เป็นต้น เทียบกับมหาสมุทรมีรัตนะมาก
๘. เป็นที่อาศัยของผู้ใหญ่ คือ พระอริยเจ้า เทียบกับมหาสมุทรเป็นที่อยู่ของสัตว์ขนาดใหญ่.
วิ.ปุ. (พุทธ) มก. ๙/๓๙๘

๕.๘ พระบรมศาสดาเปรียบสิกขาบทเหมือนเชือกร้อยมาลัยไว้ ลมไม่อาจจะพัดดอกไม้ต่าง
พรรณนั้นให้กระจายไปได้ สิกขาบทจะพึงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ได้นาน แต่พระบรม
ศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทจนกว่าพระสงฆ์มีจำนวนมาก ลาภสักการะเกิดขึ้นมาก และธรรม
เป็นที่ตั้งแห่งอาสวะปรากฏในสงฆ์.
วิ.มหา. (พุทธ) มก. ๑/๑๕

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028358864784241 Mins