มงคลที่ ๑๐  มีวาจาสุภาษิต

วันที่ 17 มีค. พ.ศ.2565

mongkol-life10.jpg

มงคลที่ ๑๐  มีวาจาสุภาษิต
ดอกไม้งามมีสีแต่ไม่มีกลิ่น ฉันใด
วาจาสุภาษิตย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำอยู่ ฉันนั้น
ดอกไม้งามมีสีมีกลิ่น ฉันใด
วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ทำอยู่ ฉันนั้น

๑. วาจาสุภาษิต

mongkol-life10.1.jpg

๑.๑ ดอกไม้งามมีสีแต่ไม่มีกลิ่น ฉันใด วาจาสุภาษิตย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำอยู่ ฉันนั้นดอกไม้งามมีสีมีกลิ่น ฉันใด วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ทำอยู่ ฉันนั้น.
ขุ.เถร. (อรรถ) มก. ๕๒/๗๘

๑.๒ หมู่มฤคย่อมอดทนการบันลือของสีหะไม่ได้ การบันลือของสีหะนั่นแหละจะข่มขู่คุกคามหมู่มฤคเหล่านั้น ฉันใด วาทะของอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะทนวาทะของพระเถระทั้งหลายไม่ได้ ที่แท้วาทะของพระเถระนั่นแหละ จะครอบงำวาทะของเดียรถีย์เหล่านั้น.
ขุ.เถร. (อรรถ) มก. ๕๐/๒๕

๑.๓ ถ้อยคำของบิดาอันประกอบด้วยกรุณา ย่อมเป็นประโยชน์แก่บุตรทั้งหลาย น้ำมูตรโคที่ดองยาถึงจะมีกลิ่นเหม็น แต่เมื่อบุคคลดื่มแล้วก็แก้โรคทั้งปวงได้ ปุยนุ่นถึงจะใหญ่เวลาตกถูกร่างกายของผู้อื่นก็ไม่ทำให้เจ็บปวด ฉันใด พระวาจาของพระตถาคตถึงจะเป็นผรุสวาจา ก็ไม่ทำให้
เกิดทุกข์แก่ใคร ย่อมทำลายกิเลสของสัตว์ทั้งปวงได้ ฉันนั้น.
มิลิน. ๒๓๙


๒. พูดจริง

mongkol-life10.2.jpg

๒.๑ คนมีถ้อยคำเป็นหลักฐาน เหมือนรอยจารึกบนแผ่นหิน และเหมือนเสาเขื่อน.
ที.สี. (อรรถ) มก. ๑๑/๑๙๓

๒.๒ แม้ถึงลมจะพึงพัดภูเขามาได้ ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์จะพึงตกในแผ่นดินได้ แม่น้ำทั้งหมดจะพึงไหลทวนกระแสได้ ถึงอย่างนั้นข้าพเจ้าจะพึงพูดเท็จไม่ได้.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๖๗๓

๒.๓ ฟ้าจะพึงแตกได้ ทะเลจะพึงแห้งได้ แผ่นดินอันทรงไว้ซึ่งภูตจะพึงพลิกได้ ภูเขาสิเนรุจะพึงเพิกถอนได้ตลอดราก ถึงอย่างนั้นข้าพเจ้าก็พูดเท็จไม่ได้.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๖๗๔

๒.๔ บุรุษรู้อยู่จะพึงกินยาพิษ หรือจับอสรพิษที่มีฤทธิ์รุ่งโรจน์มีเดชกล้าได้ หรือบุคคลใดพึงกินคนที่กล่าวคำสัตย์เช่นกับพระองค์ ศีรษะของบุคคลนั้นจะต้องแตกออกเป็น ๗ เสี่ยงแน่.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๒/๖๙๓


๓. พูดไพเราะ ไม่หยาบคาย

mongkol-life10.3.jpg

๓.๑ จิตละเอียดอ่อนย่อมไม่เป็นผรุสวาจา ฉันใด คำพูดละเอียดอ่อนไม่เป็นผรุสวาจา ฉันนั้น.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๖/๖๔๙

๓.๒ ท่านอย่ากล่าวคำหยาบกะใครๆ ผู้ที่ท่านกล่าวแล้วก็จะโต้ตอบท่านด้วยถ้อยคำที่แข่งดีกันนำทุกข์มาให้ ผู้ทำตอบก็พึงประสบทุกข์ ท่านไม่ยังตนให้หวั่นไหว ดุจกังสดาลถูกเลาะขอบออกแล้ว.
อัง.เอกก. (พุทธ) มก. ๓๒/๔๑๐

๓.๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระวาจาได้เร็ว ไพเราะ คือ ทรงเปล่งไม่ช้า เปล่งพระวาจาได้ไพเราะจับใจ เหมือนหงส์ทองเมื่อหาเหยื่อ ได้เห็นป่าใกล้สระ จึงชูคอกระพือปีก ร่าเริงดีใจ ค่อยๆ ไม่รีบด่วน ส่งเสียงไพเราะ.
ขุ.เถร. (อรรถ) มก. ๕๓/๕๔๙


๔. พูดถูกกาล

mongkol-life10.4.jpg

๔.๑ ลูกนกดุเหว่านี้เจริญเติบโตได้เพราะนางกา ปีกยังไม่ทันแข็งก็ร้องเป็นเสียงดุเหว่า ในเวลาไม่ควรร้อง นางการู้ว่าลูกนกดุเหว่านี้ไม่ใช่ลูก จึงตีด้วยจงอยปากให้ตกลงมา จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม พูดมากในกาลไม่ควรพูด ย่อมได้ทุกข์เห็นปานนี้... เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด ผู้ใดพูดเกินเวลาไป ผู้นั้นย่อมถูกทำร้ายดุจลูกนกดุเหว่า ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๘/๕๙๐


๕. วาจาทุภาษิต

mongkol-life10.5.jpg

๕.๑ คนผู้มีถ้อยคำไม่เป็นหลักฐานเหมือนย้อมผ้าด้วยขมิ้น เหมือนหลักไม้ที่ปักไว้ในกองแกลบ และเหมือนฟักเขียวที่วางไว้บนหลังม้า.
อัง.สัตตก. (อรรถ) มก. ๓๔/๔๐๑

๕.๒ คำพูดเหลาะแหละมาก มีคำพูดจริงน้อยเหมือนเช่นการต้มแกงถั่ว ถั่วเขียวส่วนมากสุก ส่วนน้อยไม่สุก ฉะนั้น.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๖/๔๑๐

๕.๓ ผู้ใดปากบอนจัดเป็นพวกอสัตบุรุษ ชอบกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมชน นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้มีปากชั่วร้ายคล้ายอสรพิษ ควรระมัดระวังคนเช่นนั้นเสียให้ห่างไกล.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๑/๔๖๒

๕.๔ ฉันเองเป็นคนโง่เขลา กล่าวคำชั่วช้า เหมือนกบในป่า ร้องเรียกงูมาให้กินตน ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๐/๓๐๓


๖. พูดโกหก

mongkol-life10.6.jpg

๖.๑ ชีวิตอันช้างต้นยอมสละแล้ว ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้ ฉันใด ดูก่อนราหุล เรากล่าวว่าบุคคล ผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน.
ม.ม. (พุทธ) มก. ๒๐/๒๖๕

๖.๒ ผู้ใดแลพูดว่าจักให้ แล้วมากลับใจว่าไม่ให้ ผู้นั้นเหมือนกับสวมบ่วงที่ตกลงยังพื้นดินไว้ที่คอ
      ผู้ใดแลพูดว่าจักให้ แล้วมากลับใจว่าไม่ให้ ผู้นั้นเป็นคนลามกยิ่งกว่าผู้ที่ลามก ทั้งจะต้องเข้าถึงสถานที่ลงอาญาของพญายม.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๑/๕๗

๖.๓ การพูดเท็จเปรียบเหมือนเถ้า เพราะไม่รุ่งเรือง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เหมือนไฟถูกเถ้าปกปิดย่อมไม่รุ่งเรือง ฉันใด ญาณของท่านถูกปกปิดด้วยการพูดเท็จ ก็ฉันนั้น.
ขุ.จู. (พุทธ) มก. ๖๗/๙๘

๖.๔ การกล่าวเท็จเป็นอาบัติหนักเบาตามวัตถุ เป็นปาราชิกก็ได้ เป็นปาจิตตีย์ก็ได้ เหมือนบุรุษตีบุรุษ อาจได้รับโทษด้วยการปรับ แต่ถ้าบุรุษตีพระราชาต้องถูกตัดมือ หรือประหารชีวิต โทษจึงหนักตามวัตถุ.
มิลิน. ๒๗๑


๗. พูดหยาบคาย

mongkol-life10.7.jpg

๗.๑ การกล่าวติพระรัตนตรัย ซึ่งควรสรรเสริญเท่านั้น จักถึงความพินาศย่อยยับเหมือนคนกลืนไฟ เหมือนคนเอามือลูบคมดาบ เหมือนคนเอากำปั้นทำลายภูเขาสิเนรุ เหมือนคนเล่นอยู่แถวซี่ฟันเลื่อย และเหมือนคนเอามือจับช้างซับมันที่ดุร้าย.
ที.สี. (อรรถ) มก. ๑๑/๑๓๓

๗.๒ ผู้ใดบริภาษฤาษี ผู้นั้นชื่อว่า ขุดภูเขาด้วยเล็บ ชื่อว่า เคี้ยวกินก้อนเหล็กด้วยฟัน ชื่อว่าพยายามกลืนกินไฟ.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๑/๑๙

๗.๓ คำว่า “หยาบ” คือ เสีย เป็นวาจาที่หยาบคาย เหมือนต้นไม้ที่เสียเป็นต้นไม้ที่ขรุขระมีขุยไหลออกฉะนั้น วาจานั้น ย่อมเหมือนกับไม้ที่ขรุขระครูดหูเข้าไป ฉะนั้น.
ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๙/๒๖๓

๗.๔ บุคคลแม้กล่าวถ้อยคำที่อิงประโยชน์ ก็ไม่ควรกล่าวกระทบเสียดแทงผู้อื่น ท่านกล่าวคำหยาบคายมากเหมือนโกนผมด้วยมีดโกนไม่คม.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๕๙/๓๒๘

๗.๕ คำว่า “ทิ่มแทงผู้อื่น” คือ วาจาที่แทงไปในของรัก เหมือนกิ่งไม้คดมีหนามกระทบกระแทกคนเหล่าอื่น.
ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๙/๒๖๓


๘. การรักษาความลับ

mongkol-life10.8.jpg

๘.๑ บัณฑิตย่อมอดทนคำด่า คำบริภาษ และการประหารของคนผู้รู้ความลับ ซึ่งคนอื่นไม่รู้ เพราะกลัวจะขยายความลับที่คิดไว้ เหมือนคนที่เป็นทาส อดทนต่อคำด่าว่าของนาย ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๑/๒๓๗

๘.๒ ไม่ควรเปิดเผยความลับ ควรรักษาความลับไว้เหมือนรักษาขุมทรัพย์ ฉะนั้น ความลับอันบุคคลผู้รู้แจ่มแจ้ง ไม่เปิดเผยนั่นแหละเป็นความดี.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๑/๒๓๗

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027981901168823 Mins