รูปาวจรภูมิ ๑๖
พรหมที่เกิดจากการบำเพ็ญรูปฌาน
รูปาวจรภูมิทั้ง ๑๖ ชั้น เป็นที่อยู่ของพวกพรหมทั้งหลาย
คำว่า พรหม หมายความว่า ผู้ที่มีความเจริญอยู่ด้วยคุณพิเศษมีฌาน เป็นต้น ได้แก่เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในชั้นพรหมโลก
ความเจริญมีอยู่ ๒ อย่าง คือความเจริญทางโลก และความเจริญทางธรรม
ความเจริญทางโลก ได้แก่การบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ยศ บริวาร ที่อยู่ที่อาศัยเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ การมีความรู้ความเข้าใจในวิชาทางโลก การมีอายุยืน มีผิวพรรณงดงาม มีความสุขกาย สุขใจ มีกำลังแข็งแรง ดังนี้เป็นต้น
ความเจริญทางธรรม ได้แก่ การเจริญด้วยกุศลกรรมต่าง ๆ มีศีล สมาธิ ปัญญา หรือฌาน อภิญญา มรรค ผล นิพพาน หรือการเจริญด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เหล่านี้ เป็นต้น
สำหรับผู้ได้ชื่อว่าพรหม ย่อมมีความเจริญทั้งสองทาง ทางโลกของพวกพรหม คือ การมีอายุยืนนาน ผิวพรรณผ่องใสงดงาม มีความสุขอันประณีต กำลังร่างกายแข็งแรง มีพรหมสมบัติวิจิตร เช่น วิมาน รูปร่าง อุทยานสวนดอกไม้ บริวาร และอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ประเสริฐพิเศษกว่าเทวดาชั้นกามาวจรดังกล่าวแล้ว
ความเจริญในทางธรรมของพรหม คือการมีศีล สมาธิ ปัญญา หรือฌานสมาบัติ อภิญญาและพรหมวิหารธรรม
ในชั้นรูปาวจรภูมิ ๑๖ แบ่งย่อยออกเป็นภูมิชั้นต่าง ๆ ดังนี้
ปฐมฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย พรหมปารีสัชชาภูมิ พรหมปุโรหิตตาภูมิ และมหาพรหมาภูมิ
ทุติยฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิ และอาภัสสราภูมิ
ตติยฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ และสุภกิณหาภูมิ
จตุตถฌานภูมิ ๗ ประกอบด้วย เวหัปผลาภูมิ อสัญญสัตตาภูมิและสุทธาวาสภูมิ ๕
ปฐมฌานภูมิ ๓
๑. พรหมปาริสัชชาภูมิ
พรหมปารีสัชชา เป็นพรหมธรรมดาสามัญ ไม่มีอำนาจพิเศษอันใด เป็นบริวารของท้าวมหาพรหมในรูปภูมิทั้ง ๔ ชั้น คือ ปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ ตติยฌานภูมิ และจตุตถฌานภูมิ (เว้นอสัญญสัตตาภูมิ) แต่ละชั้นแบ่งพรหมออกเป็น ๓ พวก คือ
๑. พรหมที่เป็นบริวารคอยรับใช้พรหมที่เป็นหัวหน้าเรียกว่า ปารีสัชชะพรหม
๒. พรหมที่เป็นที่ปรึกษาของพรหมที่เป็นหัวหน้า เรียกว่า ปุโรหิตะพรหม
๓. พรหมที่เป็นใหญ่เป็นหัวหน้า เรียกว่า มหาพรหม
ในพรหมโลกนี้ มีทิพยสมบัติเช่นเดียวกับในเทวโลก แต่มีความแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม เช่นไม่มีต้นกัลปพฤกษ์ที่ให้เกิดสุทธาโภชน์ เพราะพรหมไม่จำเป็นต้องเสวยอาหาร มีปีติเป็นอาหารแทนอยู่แล้ว แต่วิมาน สวนดอกไม้ สระโบกขรณีและเครื่องทรงเครื่องประดับของใช้ของรูปพรหมทั้งหลายนั้น มีความสวยงามประณีตกว่าในชั้นเทวโลก ซึ่งพรหมทั้งหลายย่อมพอใจในสมบัติของตน รูปร่างของรูปพรหมทุกชั้นไม่ปรากฏว่าเป็นหญิงหรือชาย เพราะพรหมไม่มีกามฉันทนิวรณ์อย่างหยาบ แม้ตั้งแต่ในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็ข่มได้อยู่แล้ว ขณะกระทำฌานให้เกิด อย่างไรก็ดียังมีรูปร่างคล้ายชายมากกว่า ความเป็นอยู่ของพรหมแต่ละองค์ อยู่ด้วยการเจริญพรหมวิหาร ๔ บางองค์เข้าฌานสมาบัติ สําหรับรูปพรหมที่เป็นพระอริยะนั้นเข้าผลสมาบัติ
๒. พรหมปุโรหิตาภูมิ
พรหมปุโรหิตา เป็นพรหมปุโรหิตของมหาพรหม มีตำแหน่งสูง ในฐานะเป็นผู้นำในกิจการทั้งหลาย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา และอยู่ในตำแหน่งผู้นำในกิจการทั้งหลายของมหาพรหม
๓. มหาพรหมภูมิ
มหาพรหม คือพรหมที่เป็นใหญ่ ยิ่งกว่าพรหมปารีสัชชาและพรหมปุโรหิตา มหาพรหมมี ๓ จําพวก
๑. มหาพรหมที่มีรัศมีแผ่ไปไกล ๑,๐๐๐ จักรวาล เรียกว่า สหัสสพรหม
๒. มหาพรหมที่มีรัศมีแผ่ไปไกล ๒,๐๐๐ จักรวาล เรียกว่า ทวิสหัสสพรหม
๓. มหาพรหมที่มีรัศมีแผ่ไปไกล ๓,๐๐๐ จักรวาล เรียกว่า สหัสสพรหม
ปฐมฌานภูมิ ๓ ชื่อของภูมิเรียกตามชื่อของผู้ที่เกิดอยู่ ณ ที่นั้น ส่วนสถานที่ตั้งมิได้ตั้งอยู่สูงต่อ ๆ ไปตามลำดับชั้นเหมือนสวรรค์ แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกันเหมือนพื้นที่ในมนุษย์ อยู่ท่ามกลางอากาศห่างจากกามาวจรเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ พรั่งพร้อมไปด้วยวิมาน สวนดอกไม้ สระโบกขรณี ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งล้วนไปด้วยแก้วรัตนะ ๗ อย่าง มีรัศมีสวยงามยิ่งนัก แม้จะเป็นพื้นที่เดียวกันแต่แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของมหาพรหม ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของปุโรหิตะพรหม และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของปารีสัชชะพรหม
มหาพรหมที่เป็นใหญ่อยู่ในชั้นปฐมฌานภูมิ ๓ นั้น มีอยู่องค์เดียว เมื่อเวลาโลกถูกทำลายด้วย ไฟ น้ำ หรือลมก็ดี ปฐมฌานภูมินี้จะถูกทำลายลงด้วยทุกครั้ง เมื่อเวลาโลกเกิดขึ้นใหม่ ชั้นปฐมฌานภูมิก็มีมหาพรหมองค์เดียวเกิดขึ้นก่อน ส่วนพรหมปุโรหิตะและปารีสัชชะ เกิดตามมาในภายหลัง
ทุติยฌานภูมิ ๓
๑. ปริตตาภาภูมิ
ปริตตาภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน (ปริตตะ แปลว่า น้อย อาภา แปลว่า รัศมี ความสว่าง)
๒. อัปปมาณาภาภูมิ
อัปปมานาภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีหาประมาณมิได้ (อัปปมาณ แปลว่า หาประมาณมิได้)
๓. อาภัสสราภูมิ
อาภัสสราพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกาย พรหมจำพวกนี้มีความยินดีในฌานของตนอย่างเต็มที่ เป็นไปด้วยอำนาจของปีติอยู่เสมอ จิตใจจึงมีความผ่องใสมากอยู่เสมอ รูปที่อาศัยเกิดจากจิต (จิตตชรูป) จึงมีความผ่องใสตามไปด้วย ด้วยอำนาจจิตตชรูปที่ผ่องใส ทำให้อุตุชรูป (รูปที่เกิดจากอุตุ) คือ รูปที่ปรากฏให้เห็นผ่องใสตามไปจนปรากฏเป็นรัศมีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย
ชื่อของภูมิเรียกตามชื่อของพรหมที่เกิดขึ้นในที่นั้น ๆ สำหรับที่ตั้งของทุติยภูมิทั้ง ๓ อยู่กลางอากาศห่างจากปฐมฌานภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ เช่นเดียวกับที่ปฐมฌานภูมิห่างจากเทวภูมิปรนิมมิตวสวัตตี ทุติยภูมิ ๓ คงตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่แบ่งออกเป็นเขต ทิพยสมบัติย่อมประณีตยิ่งขึ้นทุก ๆ ประการ
ปริตตาภะพรหม มีตำแหน่งเท่ากับ ปารีสัชชะพรหม
อัปปมานากะพรหม เท่ากับ ปุโรหิตะพรหม
อาภัสสระพรหม เท่ากับ มหาพรหม
ตติยฌานภูมิ ๓
๑. ปริตตสุภาภูมิ
ปริตตสุภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงาม แต่ยังน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน
คำว่า “สุภา” หมายถึงความสวยงามของรัศมี คือมีลักษณะเช่นเดียวกับรัศมีของดวงจันทร์ เป็นความสว่างที่ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน รัศมีรวมกันอยู่เป็นวงกลม
๒. อัปปมาณสุภาภูมิ
อัปปมาณสุภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงามหาประมาณมิได้
๓. สุภกิณหาภูมิ
สุภกิณหาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงามตลอดทั่วร่างกาย
ตติยฌานภูมิ อยู่ห่างจากทุติยฌานภูมิ ๕,๕๐๐,๐๐๐ โยชน์ ลอยอยู่กลางอากาศในพื้นที่เดียวกัน แบ่งเป็นเขตเหมือนทุติยฌานภูมิ พื้นที่ตั้งสำเร็จไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ พรั่งพร้อมด้วยทิพยสมบัติมี วิมาน สวน สระโบกขรณี และต้นกัลปพฤกษ์ เป็นต้น
ปริตตสุภะพรหม มีตำแหน่งเท่ากับ ปารีสัชชะพรหม
อัปปมาณสุภะพรหม เท่ากับ ปุโรหิตะพรหม
สุภกิณหะพรหม เท่ากับ มหาพรหม
จตุตถฌานภูมิ ๗
๑. เวหัปผลาภูมิ
เวหัปผละพรหม เป็นพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไพบูลย์ไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ ตามอำนาจของฌาน
ผลของกุศลในขั้นของปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ ตติยฌานภูมิ ไม่เรียกว่าเป็นเวหัปผลา เพราะเมื่อยามโลกถูกทำลาย ภูมิทั้ง ๓ ระดับรวม ๙ ภูมิ ถูกทำลายไปด้วยดังนี้
เมื่อโลกถูกทำลายด้วยไฟ ปฐมฌานภูมิ ๓ จะถูกทำลายไปด้วย
เมื่อโลกถูกทําลายด้วยน้ำ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ จะถูกทำลายลง
เมื่อโลกถูกทำลายด้วยลม ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ ถูกทำลายหมด พรหมทั้งหลายพร้อมทั้งทิพยสมบัติจะถูกทำลายจนหมด ในบรรดาพรหมทั้ง ๔ ภูมิน พรหมที่เกิดอยู่ในชั้นสุภกิณหามีอายุยืนมากกว่าพรหมอื่น ๆ ที่เกิดอยู่ในภูมิต่ำกว่า คือมีอายุขัยถึง ๖๔ มหากัป โดยพรหมองค์ที่มีอายุเต็ม ๖๔ มหากัปต้องเป็นองค์ที่อุบัติขึ้นพร้อมการสร้างโลกใหม่ ๆ ส่วนองค์ที่เกิดตามมาภายหลังย่อมมีอายุลดลงตามลำดับ เมื่อครบกำหนด ๖๔ มหากัป ตติยฌานภูมิ ๓ นี้จะถูกทำลายด้วยลมทุกครั้งไป
สำหรับเวหัปผลาภูมิ พ้นจากการถูกทำลายทั้งด้วย ไฟ น้ำ และลม พรหมทุกองค์ที่บังเกิด ณ ที่นี้จึงมีอายุขัยได้เต็มที่ คือ ๕๐๐ มหากัปเสมอไป ภูมินี้จึงได้ชื่อว่าเวหัปผลาเกิดจากอำนาจของปัญจมฌานกุศล ที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ใช่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาเหมือนฌานกุศลขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน
ฌานกุศลที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนานั้น เป็นกุศลที่ประเสริฐมั่นคง ไม่หวั่นไหว จึงให้ผลไพบูลย์ ดียิ่ง ฌานกุศลที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนานั้น หวั่นไหวได้ ไม่ประเสริฐมั่นคงแท้จริง
๒. อสัญญสัตตาภูมิ
อสัญญสัตตาพรหม คือพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)มีแต่รูปขันธ์ ถ้าพูดถึงกามโลก สิ่งที่ไม่มีนามธรรมคือจิตใจแล้ว ถือกันว่าเป็นสิ่งไม่ใช่สัตว์ อาจจะเป็นพืช หรือกำหนดบัญญัติเรียกเป็นอย่างอื่น แต่สำหรับในพรหมโลก อสัญญสัตตาพรหมถือว่าเป็นสัตว์ เพราะเกิดขึ้นจากกุศลกรรมขั้นปัญจมฌาน มีสัญญาวีราคภาวนาเป็นหลัก แม้จะไม่มีนามขันธ์ มีแต่รูปขันธ์ ที่มีชีวิตรูปปกครองอยู่ พรหมในภูมิมีรูปร่างผิวพรรณงดงาม คล้ายพระพุทธรูปทองคำ มีอิริยาบถ ๓ อย่าง นั่ง นอน หรือยืนแล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนึ่ง ๆ ดังนั้น จนครบอายุขัยคือ ๕๐๐ มหากัป คนโดยมากเรียกพรหมชนิดนี้ว่า พรหมลูกฟัก
จตุตถฌานภูมิทั้ง ๒ นี้ตั้งอยู่กลางอากาศ ห่างจากตติยฌานภูมิ ๕,๕๐๐,๐๐๐ โยชน์ พื้นที่อยู่ระดับเดียวกับทั้ง ๒ ภูมิ สำเร็จไปด้วยทิพยสมบัติอันประณีตกว่าภูมิเบื้องต้น
พรหมในชั้นเวหัปผล แบ่งออกเป็น ๓ จำพวกเช่นเดียวกัน ปัญจมฌานกุศลอย่างต่ำ (นะ) ก็บังเกิดเป็นพรหมในตำแหน่งเทียบเท่าปารีสัชชะ ถ้ากุศลเป็นอย่างกลาง (มัชฌิมะ) ก็บังเกิดในตำแหน่งเทียบเท่าปุโรหิตะพรหม ถ้าเป็นกุศลชั้นสูง (ปณีตะ) ก็บังเกิดเทียบเท่ามหาพรหม พรหมในชั้นเวหัปผลานี้สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน เห็นอสัญญาสัตตพรหม และพรหมชั้นที่อยู่ต่ำ ๆ กว่า ส่วนพรหมชั้นต่ำไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้
รูปพรหมที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๑๑ ชั้นเหล่านี้ แม้จะเสวยความสุขอันประณีตและมีอายุยืนยาวมากก็ตาม อย่างมากที่สุดไม่เกิน ๘๔,000 มหากัป ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิทั้ง ๔ ก็เป็นได้ ทิพยสมบัติ อิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืน ต่าง ๆเหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย จตุตถฌานที่เหลืออีก 4 ชั้น เรียกว่าสุทธาวาสภูมิ 4
สุทธาวาสภูมิ ๕
บุคคลที่จะไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสภูมิได้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหมอย่างใดก็ตามจะต้องเป็น พระอนาคามีปัญจมฌานลาภิบุคคล บุคคลอื่นนอกจากนี้แม้จะได้ปัญจมฌานก็ตามบังเกิดที่ไม่ได้ สุทธาวาสภูมิแบ่งออกเป็น ๕ ชั้น ตามอำนาจของอินทรีย์ ๕
ถ้า สัทธินทรีย์ มีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จะเกิดในชั้นที่ ๑ ชื่อ อวิหาภูมิ
วีริยินทรีย์ มีกำลังมากกว่า เกิดในชั้นที่ ๒ ชื่อ อรัปปาภูมิ
สตินทรีย์ มีกำลังมาก เกิดในชั้นที่ ๓ ชื่อ สุทัสสาภูมิ
สมาธินทรีย์ มีกำลังมาก เกิดในชั้นที่ 4 สุทัสสีภูมิ
ปัญญินทรีย์ มีกำลังมาก เกิดในชั้นที่ 4 ชื่อ อกนิฏฐาภูมิ
สุทธาวาสภูมิทั้ง ๕ ตั้งอยู่กลางอากาศ และตั้งสูงขึ้นไปเป็นลำดับชั้น มิใช่อยู่พื้นเดียวกันเหมือนภูมิอื่นที่แล้วมา ชั้นอวิหาภูมิ อยู่ห่างจากเวหัปผลาภูมิและอสัญญสัตตาภูมิขึ้นไป ๕,๕๐๐,๐๐๐ โยชน์ แต่ละชั้นอยู่สูงกว่ากันขึ้นไปโดยระยะห่างดังนี้ทุกชั้นไป
๑. อวิหาภูมิ
อวิหาพรหม เป็นพรหมที่ไม่ละทิ้งสถานที่ของตน (คือต้องอยู่จนครบอายุขัยจึงจุติ)และไม่เสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใด
สําหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก ๔ ชั้น ไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน
๒. อตัปปาภูมิ
อตัปปะพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น จิตใจของพรหมชนิดนี้จึงมีแต่ความสงบเยือกเย็น
๓. สุทัสสาภูมิ
สุทัสสะพรหม เป็นพรหมที่เห็นสิ่งต่าง ๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบรูณ์ด้วยปสาทจักขุ ทิพพจักขุ ธัมมจักขุ ปัญญาจักขุ ที่บริสุทธิ์
พรหมในชั้นนี้ร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็นด้วยความเป็นสุข
ปสาทจักขุ คือ ตาธรรมดา ถ้าสำหรับมนุษย์คือตาเนื้อที่เราใช้มองสิ่งต่าง ๆ
ทิพพจักขุ คือตาอภิญญา มีอำนาจมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ในระยะไกล หรือสิ่งเล็กน้อยก็เห็นได้
ธัมมจักขุ คือ มัคคญาณเบื้องต่ำ ๓ มีโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรคและอนาคามิมรรค
ปัญญาจักขุ คือ วิปัสสนาญาน ปัจจเวกขณญาณ และอภิญญาต่าง ๆ
๔. สุทัสสีภูมิ
สุทัสสีพรหม เป็นพรหมที่แลเห็นสิ่งต่าง ๆ โดยสะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยยิ่งกว่าสุทัสสะพรหม ว่าโดยจักขุ ๔ ประการแล้ว ปสาทจักขุทิพจักขุ ปัญญาจักขุ ทั้งสามอย่างนี้มีกำลังมากยิ่งกว่าสุทัสสะพรหม มีแต่ธัมมจักขุเท่านั้นที่มีกำลังเสมอกัน
๕. อกนิฏฐาภูมิ
อกนิฏฐะพรหม เป็นพรหมที่มีทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่าพรหมที่มีรูปทุกชั้นทั้งหมด พรหมชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๔ ในสุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตน ๆ จะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดภูมิ หรือไม่เกิดในภูมิที่ต่ำกว่า แต่สำหรับอกนิฏฐะพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้องปรินิพพานอยู่ในอกนิฏฐาภูมินั้นเอง แสดงว่าพรหมชั้นนี้ มีศีลคุณ สมาธิคุณและปัญญาคุณ ยิ่งกว่าพรหมที่มีรูปทั้งหมด
ในสุทธาวาสทั้ง ๕ ภูมิ ไม่ได้จำแนกพรหมออกเป็นพวก ๆ เหมือนภูมิต้น ๆ เพราะถ้ากล่าวโดยอายุขัยแล้ว ในภูมิหนึ่ง ๆ มีอายุขัยเท่ากันหมดไม่แตกต่างกัน และในภูมิเดียวกันสามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้ในอกนิฏฐาภูมิ มีปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง คือทุสสะเจดีย์เป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังทรงเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารทรงสวมใส่
ในขณะเสด็จออกจากพระนครเพื่อสู่มหาภิเนษกรมณ์ ขณะทรงเปลื้องฉลองพระองค์ออก ท้าวฆฏิการะพรหมเสด็จลงมาจากชั้นอกนิฏฐาภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง ๔ ถวายแก่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ทั้งหมด ไปบรรจุไว้ในเจดีย์ชื่อทุสสะเจดีย์ มีความสูง ๑๒ โยชน์
ส่วนที่ชั้นดาวตึงสา ในเทวภูมิ มีเจดีย์ชื่อ พระจุฬามณีเจดีย์ บรรจุพระเขี้ยวแก้วข้างขวา กับพระเกศาที่พระพุทธองค์ทรงตัดออกทิ้ง
สำหรับท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งเรารู้จักกันดีว่าเป็นผู้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์นั้น อยู่ในชั้นที่ ๓ ของปฐมฌานภูมิ (ในสมัยศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นสหายกับพระสมณโคดม พอใจในวิปัสสนาธุระบรรลุปฐมฌานจึงบังเกิด ณที่นั้น)
ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ในชาตินั้นพอใจในการศึกษาเล่าเรียนคันถธุระเมื่อสิ้นชีวิตได้บังเกิดในเทวโลก และได้บำเพ็ญเพียรสร้างบารมีเพิ่มต่อ ๆ มา จนชาติสุดท้ายตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกมนุษย์ของเรานี้ แต่สหัมบดีพรหมเกิดอยู่ในพรหมโลกมีอายุยืนมากเสวยทิพยสมบัติอยู่ ณ ที่นั้นตลอดมา
สุทธาวาสภูมิ จะมีขึ้นในระยะที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น เนื่องจากเป็นที่อยู่ของอนาคามีปัญจมฌานลาภิบุคคล ถ้าพระพุทธศาสนายังไม่บังเกิด พระอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้นับเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะกาลโดยธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามอายุของสุทธาวาสภูมิจะไม่เกินอายุรวมของทั้ง ๕ ชั้นในภูมินรวมกัน (ประมาณ ๓๑,๐๐๐ มหากัป เพราะไม่ว่าพระอริยบุคคลจะเกิดอยู่ในภูมิใด ในมนุษย์ เทวดา รูปพรหม ก็จะพากันปรินิพพานจนหมด ดังนั้นสุทธาวาสภูมิจะหายไปและจะบังเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง เมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ หมุนเวียนอยู่ดังนี้แต่บางแห่งกล่าวว่า แม้จะไม่มีพรหมในสุทธาวาสภูมิเหลืออยู่เพราะปรินิพพานหมดไปแล้วก็ตาม สุทธาวาสภูมิยังคงมีอยู่ แต่เป็นภูมิที่มีสภาพร้าง
ประมาณอายุของรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น
เนื่องจากพรหมเป็นผู้ที่มีอายุยืนนานมาก ไม่สามารถคำนวณเวลาให้แน่นอนได้และไม่สามารถนับด้วยปีมนุษย์หรือทิพย์ เพราะเป็นหน่วยวัดเวลาที่เล็กน้อยเกินไป จึงใช้หน่วยเรียกระยะเวลาอายุของพรหมอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กัป และมหากัป
กัป มี ๔ อย่าง คือ
๑. อายุกัป
๒. อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป
๔. มหากัป
๑. อายุกัป หมายถึงอายุขัยของสัตว์ที่เกิดในภูมินั้น ๆ เช่นในโลกมนุษย์เราเมื่อสมัยพุทธกาลคนส่วนใหญ่อายุ ๑๐๐ ปี ก็นับเอา ๑๐๐ ปีเป็นอายุกัป ปัจจุบันอายุขัยของมนุษย์มีประมาณ ๗๕ ปี ก็ถือเอา ๗๕ ปีเป็นอายุกัป ส่วนในเทวภูมิ เช่นจาตุมหาราชิกามีอายุขัย ๕๐๐ ปีทิพย์ ก็ถือเอาจำนวนดังกล่าวเป็นอายุกัป แม้ในภูมิอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน
๒. อันตรกัป มีวิธีนับดังนี้คือ เมื่อสมัยต้นกัป มนุษย์มีอายุยืนถึงอสงไขยปี ต่อมาค่อยลดลงเรื่อย ๆ จนถึงอายุ ๑๐ ปีแล้วอายุค่อยเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนถึงอสงไขยปีอีก ครบเวลาไขอายุลงและไขอายุขึ้นคู่หนึ่งดังนี้ เรียกระยะเวลาดังนั้นว่า ๑ อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป จำนวนเวลาของอันตรกัปที่กล่าวแล้ว ๖๔ อันตรกัป เรียกว่า ๑ อสงไขยกัป บางแห่งก็นับเอา ๘๐ อันตรกัป บางแห่งก็ถือเอา ๑๔ อันตรกัป
อสงไขยกัปมี ๔ อย่าง
๓.๑ สังวัฏฏอสงไขยกัป ขณะที่จักรวาลจำนวนแสนโกฏจักรวาล กำลังทำลายอยู่เรียกเวลานั้นว่า สังวัฏฏอสงไขยกัป (กัปที่กำลังพินาศ
๓.๒ สังวัฏฏฐายอสงไขยกัป ระยะเวลาที่จักรวาลถูกทำลายหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยมีแต่ความว่างเปล่า เรียกว่าสังวัฏฏฐายอสงไขยกัป (จักรวาลที่ได้พินาศไปแล้ว มีแต่ความพินาศนั้นตั้งอยู่ คือความว่างเปล่า)
๓.๓ วิวัฏฏอสงไขยกัป เมื่อจักรวาลถูกทำลายจนหมดไปแล้ว นับเวลาที่เริ่มตั้งขึ้นใหม่อีก คือ กัปที่กำลังเจริญขึ้นไปตามลำดับ เรียกว่าวิวัฏฏอสงไขยกัป
๓.๔ วิวัฏฏฐายอสงไขยกัป ระยะเวลาที่จักรวาลเริ่มต้นขึ้นใหม่ จนตั้งขึ้นเรียบร้อยเป็นปกติตามเดิมทั่วแสนโกฏจักรวาล มีพื้นแผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ มหาสมุทร พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาวต่าง ๆ คน สัตว์ ปรากฏพร้อมขึ้นทุกอย่าง เรียก วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
๔. มหากัป นับเอา ๔ อสงไขยกัปเป็น ๑ มหากัป ระยะเวลาในมหากับหนึ่ง ๆ นั้นนานมาก ไม่สามารถกำหนดประมาณได้ อุปมากันเอาไว้ว่า มีพื้นดินกว้างยาวอย่างละ ๑๐๐ โยชน์ เอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดไปกองไว้ให้เต็ม ครบกำหนด ๑๐๐ ปี หยิบเอาไปทิ้งเสีย ๑ เมล็ด เวลานานกระทั่งเมล็ดผักกาดหมด กระนั้นก็ยังไม่ครบเวลาของ ๑ มหากัป (บางแห่งอุปมาระยะเวลาของ “กัป” โดยใช้เมล็ดพันธุ์ผักกาดใส่บ่อกว้างยาวลึกอย่างละ ๑ โยชน์ แทน นอกจากนี้ในทางพระพุทธศาสนายังมี
สุญญกัปและอสุญญกัป
สุญญกัป หมายถึงกัปที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระเจ้าจักรพรรดิ อุบัติขึ้น
อสุญญกัป หมายถึงกัปที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิอุบัติขึ้น
สุญญกัปมี ๔ อย่างคือ
๑. สุญญมหากัป ได้แก่มหากัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น
๒. สุญญอสงไขยกัป ได้แก่อสงไขยกัป ๓ อย่างข้างต้น (สังวัฏฏอสงไขยกัปสังวัฏฏฐายอสงไขยกัป และวิวัฏฏอสงไขยกัป) ที่ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น
๓. สุญญอันตรกัป ได้แก่อันตรกัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น
๔. สุญญอายุกัป ได้แก่ ในระหว่างที่มนุษย์มีอายุยืนยาวมากกว่าแสนปีขึ้นไปและในระหว่างที่มนุษย์มีอายุน้อยกว่า ๑๐๐ ปีลงมา
อสุญญกัปมี ๕ อย่าง นับตามจำนวนพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นในกัปนั้น ๆ
๑. สารกัป ได้แก่ มหากัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๑ พระองค์
๒. มัณฑกัป อุบัติขึ้น ๒ พระองค์
๓. วรกัป อุบัติขึ้น ๓ พระองค์
๔. สารมัณฑกัป อุบัติขึ้น ๔ พระองค์
๕. ภัททกัป อุบัติขึ้น ๕ พระองค์
มหากัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเกินกว่า ๕ พระองค์ ไม่มี ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่จะอุบัติขึ้นในโลกในมหากับหนึ่ง ๆ นั้น อย่างน้อยที่สุดอุบัติขึ้น ๑ พระองค์อย่างมากที่สุด ๕ พระองค์
ในอสงไขยกัป ประเภทแรก คือ สังวัฏฏอสงไขยกัป แยกออกได้ ๓ ประเภทคือ
๑. เตโชสังวัฏฏอสงไขยกัป คือกัปที่โลกนี้ถูกทำลายด้วยไฟ (เพราะสัตว์ทั้งหลายมีสันดานหนาแน่นด้วยราคะ)
๒. อาโปส่งวัฏฏอสงไขย โลกถูกทำลายด้วย น้ำ (สัตว์ทั้งหลายมีสันดานหนาแน่นด้วยโทสะ)
๓. วาโยสังวัฏฏอสงไขยกับ โลกถูกทำลายด้วย ลม (สัตว์ทั้งหลายมีสันดานหนาแน่นด้วย โมหะ)
อายุโดยประมาณของรูปพรหม ๑๖ ชั้น
๑. พรหมปารีสัชชา | มีอายุประมาณ ๑ ใน ๓ ของ วิวัฏฏฐายอสงไขยกัป (คือนับแต่จักรวาลตั้งขึ้นจนเรียบร้อย |
๒. พรหมปุโรหิตา | มีอายุประมาณ ๑ ใน 5 ของวิวัฏฏฐายอสงไขยกัป |
๓. ปริตตาภะพรหม | มีอายุประมาณ ๑ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป |
๔. ปริตตาภะพรหม | มีอายุประมาณ ๒ มหากัป |
๕. อัปปมานาภะพรหม | มีอายุประมาณ ๔ มหากัป |
๖. อาภัสสระพรหม | มีอายุประมาณ ๘ มหากัป |
๗. ปริตตสุภะพรหม | มีอายุประมาณ ๑๖ มหากัป |
๘. อัปปมาณสุภะพรหม | มีอายุประมาณ ๓๒ มหากัป |
๙. สุภกิณหะพรหม | มีอายุประมาณ ๖๔ มหากัป |
๑๐. เวหัปผละพรหม | มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป |
๑๑. อสัญญสัตตะพรหม | มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป |
๑๒. อวิหะพรหม | มีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ มหากัป |
๑๓. อตัปปะพรหม | มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ มหากัป |
๑๔. สุทัสสะพรหม | มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ มหากัป |
๑๕. สุทัสสีพรหม | มีอายุประมาณ ๘,๐๐๐ มหากัป |
๑๖. อกนิฏฐะพรหม | มีอายุประมาณ ๑๖,๐๐๐ มหากัป |