อรูปาวจรภูมิ ๔
อรูปพรหม เป็นพรหมที่อุบัติขึ้น เพราะเหตุแห่งการบำเพ็ญอรูปฌานกุศล
การเจริญสมาธิภาวนา มีการบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยการใช้สิ่งต่างๆ เป็นเครื่องช่วยในการเพ่งอารมณ์ ให้จิตรวมเป็นหนึ่งลงสู่อารมณ์เดียว สิ่งที่ช่วยทำให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวในระยะต้นๆ นั้น เราใช้อุบายต่าง ๆ เช่น กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหารปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน (ธาตุ ๔) เหล่านี้ล้วนเป็นรูป เมื่อ บำเพ็ญจนได้ฌาน เรียกว่า รูปฌาน เมื่อตายลงขณะรูปฌานยังไม่เสื่อม ย่อมบังเกิดในรูปพรหมภูมิ
แต่ถ้าเจริญสมาธิภาวนา โดยใช้สิ่งที่เป็น อรูป คือ ไม่มีรูปเป็นเครื่องเพ่งอารมณ์ แล้วฌานที่บังเกิดขึ้นเรียกว่าอรูปฌาน เมื่อตายลงในขณะฌานไม่เสื่อมย่อมบังเกิดในอรูปพรหม
แต่ที่เข้าใจกันอยู่โดยทั่วไป ถือว่าอรูปพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่นามขันธ์ ๔ (ซึ่งเป็นเรื่องของจิต มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) และโดยเหตุที่อรูปพรหมเกิด ขึ้นด้วยอำนาจของการภาวนาที่ปราศจากการยินดีในรูป (รูปวิราคะภาวนา) สถานที่อยู่ของพรหมชนิดนี้จึงไม่มีสิ่งที่มีรูปร่างใด ๆ ปรากฏเลย คงเป็นอากาศอันว่างเปล่า
ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติได้ถึงฌานอภิญญาลาภบุคคล มีอภิญญาจิตเกิดตาทิพย์ หูทิพย์ สามารถเห็นกายของอรูปพรหมว่าสวยงามประณีตละเอียดสว่างไสวกว่ารูปพรหม ทั้งสถานที่อยู่ที่เรียกว่าภูมิ ก็ไม่ใช่ที่ว่างเปล่า คงมีทิพยสมบัติอันประเสริฐต่าง ๆ
อรูปภูมิมี ๔ ชั้น ตามลำดับความสูงต่ำของอำนาจฌานดังนี้
๑. อากาสานัญจายตนภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน
๒. วิญญาณัญจายตนภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน
๓. อากิญจัญญายตนภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
(วิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุการเกิดเป็นพรหมทั้ง ๔ ชั้น จะกล่าวในเบื้องหน้า)
อรูปภูมิชั้นที่ ๑ มีอายุประมาณ ๒๐,๐๐๐ มหากัป
ชั้นที่ ๒ ประมาณ ๔๐,000 มหากัป
ชั้นที ๓ ประมาณ 50,000 มหากัป
ชั้นที่ ๔ ประมาณ ๘๔,๐๐๐ มหากัป
ที่ตั้งของเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ห่างจากมนุสสภูมิ ๗๑,๕๕๖,๐๐๐ โยชน์