ใกล้เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพาน

วันที่ 16 เมย. พ.ศ.2566

nirvana-b.jpg

บทที่ ๑๔
ใกล้เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพาน

 

            ในเวลานั้นข่าวการปลงอายุสังขารของพระบรมศาสดาแพร่สะพัดไป เหล่าภิกษุสงฆ์ต่างพากันมาเฝ้าแวดล้อมอยู่เป็นจำนวนมากพระองค์เสด็จจากโภคนคร ไปถึงเมืองปาวานคร ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ บุตรช่างทอง
 

             นายจุนทะทราบข่าวแล้วดีใจมาก รีบไปเข้าเฝ้า พระองค์ตรัสสอนให้นายจุนทะ เชื่อเรื่องกรรมและวิบาก (ผลของกรรม) ให้ถือมั่นปฏิบัติตนอยู่ในกุศล มีความกล้าหาญ รื่นเริงในการประพฤติที่ถูกทำนองคลองธรรม ปฏิบัติสิ่งที่ถูกที่ควร
 

             นายจุนทะกราบทูลนิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์ทั้งหมดรับภัตตาหารเช้าวันรุ่งขึ้นที่บ้านของตน
 

            รุ่งขึ้นเป็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ และเหล่าพุทธบริษัทเป็นจำนวนมาก เสด็จจากสวนมะม่วงไปยังบ้านนายจุนทะ
 

             นายจุนทะถวายภัตตาหารอันประณีตต่างๆ รวมทั้งอาหารชื่อ สุกรมัททวะ (อาจปรุงด้วยเนื้อสุกรอ่อนจริง หรือปรุงด้วยเห็ดที่มีรสอร่อย เหมือนเนื้อสุกรอ่อนก็ได้) พระองค์ทรงรับอาหารชนิดนี้ไว้ ให้นายจุนทะถวายอาหารอื่นๆ แก่ภิกษุสงฆ์ ให้นำอาหารที่มีชื่อสุกรมัททวะที่เหลือจากพระองค์ไปเทฝังดินเสียทั้งหมด ห้ามผู้ใดบริโภค เพราะเป็นอาหารย่อยยาก เสร็จแล้วทรงแสดงธรรมให้นายจุนทะดีใจในบุญของตน
 

             เมื่อพระบรมศาสดาทรงบริโภคอาหารของนายจุนทะไม่นาน ก็เกิดอาพาธแรงกล้า ทรงพระประชวรลงพระโลหิต ถ่ายเป็นเลือด) มีทุกขเวทนามาก ทรงอดกลั้นด้วยอธิวาสนขันติ ตรัสชวนหมู่ภิกษุเดินทางไปเมืองกุสินารา
 

              ระหว่างทางทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายมาก ตรัสสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิรองประทับนั่ง ตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำบาตรไปตักน้ำในแม่น้ำมาถวาย พระอานนท์กราบทูลคัดค้านว่า แม่น้ำนั้นมีน้ำน้อย เกวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่งข้าม น้ำจึงขึ้นเป็นโคลนทั่วไปหมด ควรไปฉันน้ำที่แม่นํ้ากกุธานทีซึ่งอยู่ถัดไป
 

              พระบรมศาสดาตรัสสั่งถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์จึงได้คิดว่า ธรรมดาผู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นจะตรัสพระวาจาสิ่งใด ต้องมีสาเหตุทุกครั้งไป จึงรีบไปตักน้ำ ด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธองค์ เป็นที่น่าพิศวง เมื่อพระอานนท์ถือบาตรเข้าไปใกล้แม่น้ำ น้ำที่ขุ่นอยู่ด้วยล้อเกวียนก็พลันใสสะอาดเป็นอัศจรรย์
 

              แรงกรรมนั้นเป็นสิ่งมีอำนาจมาก ทำกรรมใดไว้ถ้าถึงคราวให้ผล แม้ทรงบังเกิดเป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่ออกุศลวิบากครั้งทรงเกิดเป็นพ่อค้า นำเกวียนไปค้าขาย โคเทียมเกวียนกระหายน้ำ พ่อค้าเห็นน้ำขุ่น ไม่ยอมให้โคดื่ม ให้ทรมานลากเกวียนไปอีกไกล เพื่อดื่มน้ำที่ใสกว่า ผลของกรรมตามมาทันในขณะนี้ กรรมบันดาลให้พระอานนท์ชักช้าทำให้พระบรมศาสดาทรงกระหายน้ำมากยิ่งขึ้น
 

              มีหลายเรื่องในพระประวัติที่มีอกุศลวิบาก ผลของกรรมชั่ว)ตามทัน ทำให้พระบรมศาสดาทรงพบเหตุการณ์ไม่สมควรต่างๆ เช่น ถูกสะเก็ดหินทำพระบาทห้อพระโลหิต (เพราะเคยผลักน้องชายต่างมารดาตกเหวตาย) ถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ความว่าทรงทำนางตั้งครรภ์ (เพราะเคยกล่าวใส่ความพระปัจเจกพุทธเจ้า) ประชวรลงพระโลหิต ฯลฯ ล้วนแต่เป็นการยืนยันให้เห็นอำนาจของแรงกรรมทั้งสิ้น
 

                ขณะที่พระบรมศาสดาเสวยน้ำดับความกระหาย และประทับอยู่ใต้ร่มไม้เวลานั้น มีบุตรแห่งมัลลกษัตริย์ผู้หนึ่ง ชื่อ ปุกกุสะ เป็นสาวกของอาฬารดาบส กาลามโคตร ออกจากเมืองกุสินารา มาปาวานคร ผ่านมาทางที่พระบรมศาสดาประทับนั่งอยู่ จึงเข้าไปถวายความเคารพพระองค์ทรงแสดงสันติวิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างสงบ) ให้ฟัง
 

                ปุกกุสะฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส ถวายผ้าเนื้อดี สีเหลืองดังทองคำ ทออย่างประณีต ชื่อ ผ้าสิงคิวรรณ ๒ ผืน พระบรมศาสดาให้แบ่งถวายพระอานนท์ผืนหนึ่ง เมื่อปุกกุสะจากไปแล้ว พระอานนท์ได้นำผ้านั้นถวายพระบรมศาสดา พระองค์ทรงนุ่งผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง
 

                เมื่อครองผ้าเสร็จแล้ว พระวรกายพลันปรากฏพระรัศมีผุดผ่องเปล่งปลั่งผิดปกติทันที พระอานนท์กราบทูลสรรเสริญ พระบรมศาสดาชี้แจงว่า ผิวพรรณของพระองค์จะผุดผ่องเป็นพิเศษอยู่ ๒ ครั้ง ครั้งหนึ่งในคืนที่จะตรัสรู้ และครั้งที่สองในคืนที่จะปรินิพพานพระองค์จะปรินิพพานในคืนนี้ ที่ระหว่างต้นสาละสองต้น ณ สาลวัน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา
 

                ครั้นแล้วตรัสชวนเสด็จไปยังแม่น้ำกกุธานที่ เพื่อลงสรงและเสวยสำราญพระอิริยาบถ ตามพระพุทธอัธยาศัย แล้วเสด็จไปประทับที่สวนอัมพวัน ตรัสป้องกันนายจุนทะ ผู้ถวายภัตตาหารมื้อสุดท้ายว่า
 

                ถ้ามีใครตำหนิให้นายจุนทะเดือดร้อนใจว่า พระพุทธเจ้าทรงบริโภคอาหารของเขา ทำให้เสด็จปรินิพพาน ให้ชี้แจงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจากพระโอษฐ์เองว่า อาหาร ๒ มื้อ ที่มีผลบุญยิ่งใหญ่มากเท่าๆ กัน เหนือการถวายภัตตาหารในมื้ออื่นๆ ทั้งสิ้น คือ มื้อที่บริโภคแล้ว ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และมื้อที่บริโภคแล้วปรินิพพานชนิดสิ้นทั้งกิเลสและชีวิต อานิสงส์การถวายอาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุนทะกระทำแล้วนี้ จะเป็นกรรมดีส่งผลให้ได้รับอายุ วรรณะ สุข ยศ และสวรรค์ พร้อมทั้งความเป็นใหญ่

 

                พระบรมศาสดาทรงให้พระอานนท์เป็นผู้กล่าวรับรองผลบุญดังกล่าวแล้วนั้น ให้ผู้อื่นฟัง
 

ทรงทอดพระวรกายครั้งสุดท้าย


               ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงเมืองกุสินารา ประทับที่อุทยานใหญ่นอกเมือง ชื่อ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าต้นสาละ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีใบใหญ่ ดอกเป็นช่อยาวสีขาวห้อยลง
 

              พระบรมศาสดาตรัสให้พระอานนท์เตรียมพระที่บรรทมระหว่างต้นสาละ ๒ ต้น วางพระเศียรทางทิศเหนือ ทรงนอนตะแคงในท่านอนของราชสีห์ (สีหไสยา) คือตะแคงข้างขวา พระบาททั้งคู่ซ้อนเหลื่อมกัน ดำรงพระสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยบรรทมเป็นครั้งสุดท้ายไม่ทรงลุกขึ้นอีกแล้ว เรียกว่า อนุฏฐานไสยา
 

                ในเวลานั้นเองแม้มิใช่ฤดูกาล ต้นสาละทั้งคู่ก็พลันผลิดอกออกช่อบานสะพรั่ง สีขาวงามอร่ามเต็มต้น ดอกที่บานเต็มที่ก็ร่วงพรูลงพื้นดินเป็นพุทธบูชา ดอกไม้ทิพย์บนสวรรค์ชื่อ มณฑารพ ตลอดจนจุณจันทน์สุคนธชาติ (น้ำหอมอันเป็นของทิพย์) ก็โปรยปรายลงมาจากอากาศ ตกยังพระสรีระแห่งพระตถาคตเจ้า ทั้งสังคีตดนตรีทิพย์จากสวรรค์ก็บันลือประโคมไปในอากาศเป็นมหานฤนาทโกลาหล เพื่อบูชาพระบรมศาสดาเป็นครั้งสุดท้าย
 

ทรงแสดงถึงการสักการบูชาที่มีอานิสงส์ยิ่ง
 

                พระบรมศาสดาตรัสเล่าถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเป็นทิพยบูชาสักการะ ที่เหล่าเทพยดากระทำถวายเป็นพุทธบูชา แต่สำหรับการสักการบูชาที่พุทธบริษัท ๔ ควรทำต่อพระองค์นั้น ทรงกล่าวว่า แม้เหล่าพุทธบริษัท ๔ มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะนำเอาอามิสสิ่งของมากมายเท่าใดมาทำการบูชา ก็ไม่ได้ผลมากเท่าบูชาด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (คือธรรมข้อใดควรปฏิบัติอย่างใดก็ปฏิบัติตามนั้น) ปฏิบัติชอบยิ่งประพฤติธรรมโดยสมควร
 

ตรัสเรื่องเทวดาที่มาเฝ้าในขณะนั้น
 

                พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ อุปวาณเถระยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องพระพักตร์ พระบรมศาสดาตรัสสั่งให้หลีกไปอยู่ที่อื่น ไม่ให้บังพระองค์
พระอานนท์สงสัยสาเหตุที่ทรงไล่อุปวาณะ พระตถาคตเจ้าทรงชี้แจงว่า เทพยดาทั้งหลายทั่วหมื่นโลกธาตุมาเฝ้าพระองค์เต็มพื้นที่ ในสวนสาละที่มีบริเวณถึง ๑๒ โยชน์นั้น ที่ว่างแม้เท่าปลายขนของเนื้อทรายก็ไม่มี มีเทพยดาอยู่เต็มไปหมดทั้ง ๑๒ โยชน์ โดยรอบ

 

                เหล่าเทวดาพากันโทษพระอุปวาณะว่า พวกเขาพากันมาจากแดนไกล หวังจะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงอุบัติขึ้นบ่อยๆ นานๆ จึงจะบังเกิดขึ้นสักพระองค์หนึ่ง แต่มาแล้วก็ไม่ได้เห็น เพราะภิกษุรูปนี้ยืนบังเสีย พระองค์จึงทรงให้พระอุปวาณะหลีกออกไป พระอานนท์ทูลถามถึงสภาพของเทพยดาที่มาประชุมกัน
 

                 พระบรมศาสดาตรัสเล่าว่า เทวดาอยู่กันเต็มทั้งบนพื้นดินและในอากาศ ต่างพากันสยายผมยกแขนทั้งสองกลิ้งเกลือกไปมาเหมือนมีเท้าขาด (ทรงกายยืนไม่ได้) คร่ำครวญถึงพระตถาคตว่า ทำไมจึงปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาของโลกมาหายเสียเร็วนัก
 

                 เหล่าเทพยดาเหล่าใดที่เป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ ย่อมมีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นความเสียใจได้เพราะปราศจากราคะแล้ว มีแต่ธรรมสังเวชว่า สังขารธรรม ทั้งหลายเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน สัตว์ทั้งหลายจะหวังเอาความเที่ยงแท้จากสังขาร ได้อย่างไรกัน
 

ทรงแสดงสถานที่ให้เกิดความสลดใจ (สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง)


                 พระอานนท์กราบทูลว่า แต่เดิมในเวลาเข้าพรรษา ภิกษุทั้งหลายจําพรรษากันตามที่ต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้วจะพากันมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้มาอยู่พร้อมหน้ากัน ได้เข้าใกล้กัน ก็มีความชื่นชมยินดี ต่อจากนี้เมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว พวกเราก็จะไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันอีก เหมือนอย่างเวลาที่พระองค์ดำรงพระชนม์อยู่
 

                พระโลกนาถตรัสแสดงสถานที่ ๔ แห่งที่ควรได้ดูได้เห็น ได้พบกัน อันเป็นที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาเห็นแล้วจะเกิดความสลดใจ คือ
๑. สถานที่ที่พระองค์ประสูติจากพระครรภ์
๒. สถานที่ที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓. สถานที่ที่แสดงปฐมเทศนา เผยแผ่พระศาสนา
๔. สถานที่ที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

 

                พุทธบริษัททั้ง ๔ ควรได้เห็น ได้ดู ได้เกิดความสลดใจ ในสถานที่ทั้ง ๔ แห่งนี้ เมื่อเห็นแล้วย่อมได้ความเชื่อความเลื่อมใสว่า พระตถาคตเจ้าทรงบังเกิดตรงสถานที่นี้ พระองค์ตรัสรู้ตรงนี้ เริ่มเผยแผ่พระธรรมตรงนี้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานตรงนี้ ผู้ที่ไปยังสถานที่ทั้ง ๔ จะเป็นผู้มีศรัทธาในพระศาสนา ตายแล้วไปสุคติโลกสวรรค์
 

ข้อปฏิบัติของภิกษุต่อสตรี
 

                ต่อจากนั้นพระอานนท์ทูลถามข้อปฏิบัติที่ควรทำต่อบรรดาเหล่าสตรี


                 พระบรมศาสดาตรัสว่า ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องดูเลยเป็นดีที่สุด


                 พระอานนท์ทูลว่า ถ้ามีความจำเป็นต้องเห็นต้องดู จะทำประการใด


                 พระองค์ตรัสว่า ถ้าจำเป็นต้องเห็นต้องดู ก็ไม่ควรพูดด้วย


                 พระอานนท์ทูลว่า ถ้าจําเป็นต้องพูด จะทําอย่างไร


                 พระองค์ตรัสว่า ต้องพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นการแสดงธรรม โดยตั้งสติไว้ให้มั่น ไม่ให้แปรปรวนด้วยราคะตัณหา ไม่มีอาการละเมิดทางกาย ทางวาจา วางตนให้เหมาะสมกับการเป็นสมณะ
 

วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ
 

                    ครั้นแล้วพระอานนท์ทูลถามถึงการปฏิบัติต่อพระสรีระของพระบรมศาสดาหลังจากที่ทรงตับขันธปรินิพพานแล้ว พระองค์ตรัสตอบว่า สาวกของพระองค์ที่เป็นบรรพชิต ไม่ต้องจัดการเรื่องพระบรมศพ ให้พยายามปฏิบัติตามคำสั่งสอนเพื่อสำเร็จประโยชน์ของตนเองให้ได้ จงอย่าประมาทในประโยชน์ของตน ให้เพียรเผากิเลสและบาปกรรมให้สิ้น เป็นผู้มุ่งในการประพฤติพรหมจรรย์ให้ถึงที่สุดทุกอิริยาบถ
 

                   เรื่องการบูชาพระสรีระนั้นเป็นเรื่องของกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี ที่เป็นบัณฑิต เลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะกระทำกัน
 

                   แต่พระอานนท์ก็ทูลถามวิธีปฏิบัติไว้ เมื่อบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้
 

                   พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า ปฏิบัติเหมือนกระทำต่อพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิราชคือ ใช้ผ้าขาวใหม่พันพระสรีระจนรอบ แล้วใช้สำลีพันซับอีกครั้งหนึ่ง ทําดังนี้เรื่อยไป ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญพระสรีระตั้งไว้ในรางเหล็กที่มีน้ำมันเต็ม ปิดครอบด้วยฝารางเหล็กวางบนเชิงตะกอน ที่ทำด้วยไม้หอมเผาด้วยไม้หอม ถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว เชิญพระอัฐิธาตุบรรจุไว้ในสถูป สร้างไว้ที่ถนนใหญ่ ๔ สายมาพบกัน (ทางสี่แยก)
 

                  เมื่อผู้คนมาจากทิศทั้ง ๔ เห็นเข้า มีจิตใจเลื่อมใส สั่งสมบุญกุศลด้วยการนำดอกไม้ที่จัดอย่างมีระเบียบหรือของหอมอื่นๆ เช่น น้ำหอม (สุคนธชาติ) จุณ (ผงหอม) มาทำการบูชากราบไหว้พระสถูป ทำจิตใจให้เลื่อมใสในพระพุทธคุณ จะเป็นประโยชน์สุขแก่มหาชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน
 

นอกจากนั้นพระบรมศาสดาตรัสถึงถูปารหบุคคล ๔ คือ บุคคลที่ควรนำกระดูกมาใส่สถูปไว้ให้มหาชนบูชา มี ๔ คือ
๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอรหันตสาวก
๔. พระเจ้าจักรพรรดิราช

 

                  บุคคล ๔ ประเภทนี้ เป็นบุคคลที่ควรทำสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ให้ผู้คนทั้งหลาย  สักการบูชาด้วยความเลื่อมใส กุศลจิตที่เกิดขึ้นจะสามารถพาผู้คนเหล่านั้น เมื่อตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
 

ประทานพระโอวาทเฉพาะพระอานนท์
 

                พระอานนท์นั้น เป็นเจ้าชายในวงศ์ศากยะ โอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ พระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ ออกบวชพร้อมเจ้าชายอื่นๆ ในพระราชวงศ์ เช่น เจ้าชายอนุรุทธะ และช่างตัดผมชื่อ อุบาลี เป็นต้น แต่ครั้งพระบรมศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ (เลิศ) หลายด้าน คือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ มีคติ มีฐิติ (ปัญญา)
 

                 เมื่อบวชแล้วได้ติดตามพระบรมศาสดาไปทั่วทุกหนทุกแห่ง คอยปรนนิบัติ ทำหน้าที่เป็นอย่างดียิ่งมิได้บกพร่อง จึงไม่ค่อยมีเวลาบำเพ็ญธรรมเป็นส่วนตัว ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องต้นเป็นพระโสดาบันเท่านั้น
 

                 ครั้นเวลานั้นฟังพระตถาคตเจ้าตรัสสั่งลาด้วยเรื่องต่างๆ เพื่อปรินิพพาน พระอานนท์ปลงใจยังไม่ได้มีความเศร้าเสียใจ พอมีโอกาสว่างจึงหลบไปยังวิหารหลังหนึ่ง ปิดประตูเอามือเหนี่ยวเกาะสลักกลอนประตู (ทำเป็นรูปหัวลิงจึงเรียกว่ากปิสีสะ) ซบหน้าลงกับบานประตูร้องไห้คร่ำครวญด้วยเสียงอันดัง รำพันว่าตนเองยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระตถาคตเจ้าผู้เป็นพระเชษฐาและเป็นพระศาสดาด้วย เคยอนุเคราะห์อยู่เสมอนั้น บัดนี้จะปรินิพพานจากไปแล้ว จะไม่ได้เห็นพระพักตร์อีก

 

                   พระพุทธเจ้าเห็นพระอานนท์หายไป ตรัสถามถึง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระอานนท์แอบไปยืนร้องไห้อยู่ พระองค์รับสั่งให้มาเฝ้า ตรัสปลอบเดือนสติว่า
 

                 “ดูก่อนอานนท์ อย่าเลย เธออย่าเศร้าโศก อย่าร้องไห้คร่ำครวญ เราบอกเธอมาตั้งแต่เดิมแล้วว่าความเป็นอยู่ประจำของเราทุกคนนั้น ไม่มีว่างเว้นจากความแปรปรวนของสัตว์ของสังขารที่รักที่เจริญใจทั้งปวงนั้นแหละ (ในชีวิตของเราต้องพบความพลัดพรากจากสิ่งที่รักอยู่เสมอ)
 

                 ดูก่อนอานนท์ สิ่งคงที่เที่ยงแท้ถาวรที่สัตว์ทั้งหลายอยากได้นั้น จะหาจากสังขารที่ไหนได้ ของสิ่งใด มีปัจจัย (ส่วนประกอบ) ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเอง ของสิ่งนั้นก็จะต้องฉิบหายสิ้นสูญไปเป็นธรรมดา ใครๆ จะปรารถนาว่า ขออย่าเสื่อมสูญไปเลย เป็นไปไม่ได้
 

                 ดูก่อนอานนท์ เธอได้อุปัฏฐากเราตถาคต ด้วยกายกรรม ด้วยวจีกรรม ด้วยมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ไม่เป็นที่สองรองใคร ไม่มีประมาณ มาสิ้นเวลาช้านาน เธอทำบุญไว้มาก จึงเพียรพยายามปฏิบัติ เธอจะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ จะเป็นพระอรหันต์ในเร็วๆ นี้" พระบรมศาสดาตรัสพยากรณ์
 

                ต่อจากนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสชมเชยพระอานนท์ให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากที่หาได้ยากยิ่ง
 

                “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตมีมาแล้วจะกี่พระองค์ก็ตาม ภิกษุผู้มีหน้าที่อุปัฏฐากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ที่ว่าทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมก็ทำได้เท่าอานนท์นี้เท่านั้น และแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ต่อไปในอนาคตภายภาคหน้าจะอีกกี่พระองค์ก็ตาม ภิกษุผู้มีหน้าที่อุปัฏฐากซึ่งทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ก็ไม่มีผู้ใดเกินอานนท์ ในเวลานี้
 

                ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ทำอะไรด้วยปัญญา รู้ว่านี่เป็นเวลาที่ควรให้พุทธบริษัทเข้าเฝ้าตถาคต เวลาใดภิกษุควรเฝ้า เวลาใดภิกษุณีควรเฝ้า เวลาใดอุบาสก อุบาสิกา พระราชามหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร หรือแม้เดียรถีย์ หรือสาวกของเดียรถีย์เข้าเฝ้า อานนท์รู้เวลาเหล่านี้ดี โดยถี่ถ้วนทุกประการ
 

                 เมื่อใดที่เหล่าพุทธบริษัท ๔ ขอพบอานนท์ เมื่อพบแล้วจะดีใจ ยิ่งถ้าได้ฟังธรรม ก็ยิ่งมีจิตชื่นชมยินดี ไม่อิ่ม ไม่เบื่อฟังธรรมนั้นเลย พออานนท์หยุดแสดงธรรม ผู้ฟังก็ยังมีใจยินดี ไม่อิ่มไม่เบื่อมีอุปมาเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิราช จะตรัสสิ่งใดแก่กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณบริษัท ผู้ฟังเหล่านั้น ย่อมชื่นชมไม่รู้อิ่มเช่นเดียวกัน”
 

ทรงแสดงเรื่องเมืองกุสินารา
 

              เมื่อพระบรมศาสดาตรัสสรรเสริญพระอานนท์จบลงแล้ว พระอานนท์กราบทูลขออาราธนา จะเชิญพระองค์ไปปรินิพพานที่มหานครอื่นที่ใหญ่กว่า เช่น เมืองจำปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี อันเป็นเมืองที่กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีล้วนแต่ยิ่งใหญ่ จะได้ประกอบสักการบูชาได้สมพระเกียรติผู้เป็นอัจฉริยรัตนบุรุษอันเลิศเลื่อมใสพระองค์ของโลก กุสินาราเป็นเมืองเล็กมาก ด้อยเกินไป
 

                แต่พระบรมศาสดาตรัสปฏิเสธ ทรงกล่าวว่า อย่าเห็นว่ากุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เป็นแค่กิ่งนคร ในปางก่อนที่นี่มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัศน์ มี มหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นที่สุดเขตแดน พระองค์ชนะข้าศึกทั้งปวงด้วยอำนาจธรรมะ ไม่ต้องใช้ศาสตราวุธและการลงโทษ อาณาเขตของพระองค์ไม่มีข้าศึกศัตรู ไม่มีใครคิดขบถกำเริบ พระองค์ทรงมีรัตนะ ๗ ประการ มีพระนครใหญ่จากทิศตะวันออกไปตะวันตก ๑๒ โยชน์ ทิศเหนือไปทิศใต้ ๗ โยชน์ โดยประมาณ มีเมืองกุสาวดีเป็นราชธานีอันสมบูรณ์มั่งคั่ง ผู้คนพลเมืองมีมากเกลื่อนกล่นคับคั่ง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เป็นที่รื่นรมย์เหมือนทิพย์นครของเทพเจ้า
 

                ในกุสาวดีราชธานีนั้น มีเสียงกึกก้องนฤนาททั้งวันทั้งคืนด้วยเสียง ๑๐ อย่าง คือ เสียงช้าง ม้า รถ กลองเภรี ตะโพน พิณ ขับร้อง กังสดาล (ระฆัง) และสังข์ รวมทั้งเสียงผู้คนร้องเรียกกันบริโภคอาหาร เมืองนี้ไม่เคยมีเวลาเงียบเสียงเลยทั้งกลางวันกลางคืน
 

               พระบรมศาสดาตรัสยืนยันการปรินิพพาน ณ สถานที่นี้ แล้วตรัสสั่งให้พระอานนท์ เข้าไปแจ้งข่าวแก่มัลลกษัตริย์ว่า พระองค์จะปรินิพพานในยามสุดท้ายคืนวันนี้ อย่าให้มัลลกษัตริย์เสียใจภายหลังว่า พระตถาคตเจ้าปรินิพพานในแว่นแคว้นของตน แต่พวกตนไม่ได้พบพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย
 

               พระอานนท์รับพระบัญชาแล้ว เดินทางไปยังสัณฐาคารศาลา ซึ่งเหล่ามัลลกษัตริย์กำลังประชุมด้วยธุระกันอยู่แจ้งข่าวให้ทราบและบอกว่าใครปรารถนาเข้าเฝ้าก่อนปรินิพพานก็จงรีบพากันไป อย่าต้องเสียใจภายหลังว่าไม่ได้เห็นพระบรมศาสดาเป็นครั้งสุดท้าย
 

               เมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์ ชายา โอรส และสุณิสา (สะใภ้) ทราบข่าวจากพระอานนท์ ก็พากันเศร้าโศกเสียใจ ทรงพระกำสรดเสวยทุกข์โทมนัส หนักหนาสาหัส สยายผม ยกแขน ทั้งสองคร่ำครวญ ประหนึ่งมีเท้าขาดล้มกลิ้งเกลือกไปมา ร่ำไรรำพันว่า สมเด็จพระผู้พระภาคเจ้าจะปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาของโลกจะอันตรธานเสียแล้ว ต่างพากันร้องไห้เดินทางไปเข้าเฝ้า
 

               เหล่ามัลลกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์มีจํานวนมากด้วยกัน ถ้าเข้าเฝ้าทีละองค์จะเสียเวลามาก พระอานนท์จึงให้เข้าเฝ้าเป็นหมู่คณะตามวงศ์สกุล จึงถวายอภิวาทเสร็จในปฐมยาม
 

สาวกผู้ได้บวชเป็นคนสุดท้ายชื่อสุภัททะ
 

               ในคืนนั้นปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา ทราบข่าวว่าพระบรมศาสดาจะปรินิพพานในคืนนี้ ก็นึกถึงเรื่องราวที่เคยได้ยินมาว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ได้บังเกิดขึ้นบ่อยๆ ในโลก นานเหลือเกินเป็นบางครั้งบางคราวจึงจะอุบัติเกิดขึ้น เวลานี้พระองค์ใกล้จะปรินิพพาน ตนเองมีความสงสัยบางอย่างค้างอยู่ ควรรีบไปเฝ้าเพื่อจะได้กราบทูลถาม
 

               สุภัททะจึงรีบเดินทางไป ขออนุญาตพระอานนท์เข้าเฝ้า พระอานนท์กล่าวห้ามปรามว่า เวลานี้ไม่ควรรบกวนพระบรมศาสดา สุภัททะก็กล่าววิงวอนอยู่อย่างนั้น ๒-๓ ครั้ง
 

                พระบรมศาสดาทรงได้ยิน จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า อย่าห้าม ให้สุภัททะเข้าเฝ้าได้
 

               สุภัททะทูลถามว่า คณาจารย์เจ้าลัทธิทั้ง ๖ คน คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และ นิครนถนาฏบุตร ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเวลานั้น มีสาวกมาก ผู้คนยกย่องว่าเป็นคนดีประเสริฐ คนเหล่านั้นตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเหมือนที่พวกเขาอวดอ้างหมดทุกคน หรือเป็นเพียงบางคน
 

                พระตถาคตเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนสุภัททะ เธออย่าสนใจเรื่องที่ถามนั่นเลย จงฟังธรรมที่เราจะแสดงให้ฟัง แล้วทำตามให้สำเร็จประโยชน์เถิด เธอจงฟังให้ดี มรรคคือข้อปฏิบัติมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง ปฏิบัติแล้วจะเป็นผู้ประเสริฐ พ้นจากข้าศึกคือกิเลส การปฏิบัติตามหนทางนี้เท่านั้นเป็นทางปฏิบัติประเสริฐ ถ้าในธรรมวินัยใด ในคำสั่งสอนของใครๆ ก็ตาม ไม่มีการสอนในเรื่องนี้ ในคำสอนหรือลัทธิเหล่านั้น ย่อมไม่มีสมณะที่๑,๒,๓,๔ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
 

                ดูก่อนสุภัททะ ถ้ามรรคมีองค์ ๘ อยู่ในธรรมวินัยคำสั่งสอนของใครแล้ว สมณะที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ย่อมเกิดในธรรมวินัยนั้น ในธรรมวินัยที่เราสั่งสอนไว้นี้เป็นธรรมวินัยเดียวที่มีมรรคมีองค์ ๘ ดังนั้น สมณะที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้แห่งเดียว
 

               ดูก่อนสุภัททะถ้าหากภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จะพึงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่เสมอสืบกันไป โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
 

               ดูก่อนสุภัททะ เรามีอายุ ๒๙ ปี ได้ออกบวชแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ตั้งแต่บวชแล้วจนกระทั่งถึงขณะนี้ เป็นเวลานับได้ ๕๑ ปี สมณะที่เป็นผู้พ้นจากกิเลสได้ ไม่มีในลัทธิคำสอนอื่น สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีแต่ในธรรมวินัยนี้เพียงแห่งเดียว ลัทธิคำสอนอื่นๆ ว่างเปล่าจากสมณะผู้รู้แจ้ง
 

               ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุในธรรมวินัยนี้ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตลอดไป โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
 

                สุภัททะฟังพระธรรมเทศนาแล้วมีความเลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกทูลขอบรรพชาอุปสมบท โดยปกติแล้วตามพระวินัยนั้นพระพุทธองค์ทรงบัญญัติการบวชให้เดียรถีย์ไว้ว่า ต้องให้ผู้ขอบวชอยู่ปริวาส คือ ทดลองประพฤติวัตรตามที่กำหนดให้ได้ก่อน เป็นเวลา ๔ เดือน หลังจากนั้นถ้ายังเลื่อมใสยินดีบวชอยู่อีก จึงให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ
 

                แต่ในรายสุภัททะนี้พระบรมศาสดาทรงทราบอัธยาศัยอยู่ว่าบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว แม้สุภัททะจะขออยู่ปริวาสให้นานถึง ๔ เดือน พระบรมศาสดาก็ประทานอนุญาตให้พระอานนท์จัดการบวชสุภัททะในเวลานั้น
 

               เมื่อสุภัททะบวชแล้ว ไม่รอช้ารีบปลีกตนออกจากหมู่คณะ สงัดอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาทเร่งทำความเพียรเผากิเลส ปฏิบัติกัมมัฏฐานตามที่พระผู้มีพระภาคประทานคำสอน ให้นั่งบำเพ็ญเพียรและอธิษฐานจงกรม ที่ด้านหนึ่งของสวนต้นสาละนั้น ชำระวิปัสสนา ปัญญาให้บริสุทธิ์จากอุปกิเลส พลันบรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เสร็จแล้วจึงเดินกลับมาถวายบังคมพระบรมศาสดานั่งอยู่ในหมู่ภิกษุสงฆ์
 

ตรัสสั่งลาด้วยเรื่องต่างๆ
 

เรื่อง สิ่งที่เป็นตัวแทนของพระองค์
 

                 พระบรมศาสดาตรัสสั่งไว้ว่า เมื่อพระองค์ทรงจากไปแล้ว อย่าคิดว่าต่อจากนี้ไม่มีผู้ใดเป็นศาสดา ให้ถือว่า ธรรมและวินัยที่ได้แสดงและบัญญัติไว้ดีแล้วนั้น เป็นศาสดาแทนพระองค์
 

เรื่อง การเรียกกันในหมู่สงฆ์
 

                ทรงให้เรียกกันโดยเคารพตามลำดับ ใครบวชก่อนบวชหลัง ผู้ที่แก่พรรษากว่า (บวชก่อน) เรียกภิกษุที่อ่อนพรรษากว่า เรียกตามชื่อ ตามสกุล หรือจะใช้คำว่า อาวุโสก็ได้
 

               ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าเรียกภิกษุผู้แก่พรรษาว่า “ภันเต” (ท่านผู้เจริญ) หรืออายัสมา
 

เรื่อง การลงพรหมทัณฑ์
 

                ตรัสบอกอนุญาตไว้ว่า “ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้าง ก็จงถอนเถิด"
 

                สำหรับเรื่องภิกษุฉันนะ ซึ่งดื้อดึงว่านอนสอนยาก ไม่ฟังใครตักเตือน เพราะถือว่าเคยเป็นทหารมหาดเล็กคนสนิทรับใช้เจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน พระบรมศาสดาตรัสสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ คือพระฉันนะอยากพูดอะไรก็ปล่อยให้พูด ไม่ต้องให้ภิกษุรูปใดว่ากล่าว การไม่ว่า ไม่สอนอะไร เรียกว่าพรหมทัณฑ์
 

                 ต่อจากนั้นทรงมีพุทธานุญาตว่า ใครมีความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรคหรือในปฏิปทาข้อใดให้ถามได้เดี๋ยวนี้ อย่าได้เดือดร้อนเสียใจภายหลังว่า เมื่อพระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าแล้ว ไม่ถามเอาไว้
 

                  พระตถาคตเจ้าตรัสอนุญาตให้ถามถึง ๓ ครั้ง ภิกษุทุกรูปต่างพากันนิ่งอยู่
 

                 พระอานนท์เห็นดังนั้น จึงกราบทูลว่า “เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ น่าเลื่อมใส แปลกประหลาดมาก ภิกษุแม้แต่รูปเดียวในสงฆ์หมู่นี้ ไม่มีผู้ใดสงสัย เคลือบแคลงอะไรในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค ในปฏิปทาเลย”
 

                  พระบรมศาสดาตรัสว่า พระอานนท์กล่าวเพราะเลื่อมใส แต่พระองค์ทรงทราบด้วยพระญาณอยู่แล้วว่า ไม่มีภิกษุรูปใดสงสัยในพระรัตนตรัย ในมรรค หรือในปฏิปทาเลยในบรรดาภิกษุทั้ง ๕๐๐ นี้ อย่างต่ำสุดก็ได้คุณพิเศษเป็นพระโสดาบัน ไม่ฉิบหาย (ไม่ตกอบายภูมิอีกแล้ว) เป็นธรรมดา มีแต่จะตรัสรู้ต่อไปในภายหน้า
 

คำตรัสสอนครั้งสุดท้าย (ปัจฉิมโอวาท)
 

ครั้นแล้วพระตถาคตเจ้า ประทานปัจฉิมโอวาทว่า
 

                “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้เราผู้เป็นพระตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อม มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำกิจทั้งปวงที่จะเป็นประโยชน์ของตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่น ให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
 

                ข้อความนี้เป็นพระวาจาครั้งสุดท้าย ขณะสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมอยู่บนพระแท่นที่ปรินิพพาน พระโอวาททั้งปวงที่ทรงสั่งสอนไว้ทั้ง ๔๕ พรรษานั้น รวมแล้วอยู่ในเรื่อง "ความไม่ประมาท" นี้เท่านั้น
 

                เป็นพระวาจาในอวสานกาล นับแต่นั้นไม่ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ (สมาบัติในธรรมที่ประณีตสูงต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับมี ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนาได้)
 

                 เวลานั้นพระอนุรุทธเถระผู้เป็นเลิศทางทิพยจักษุส่งจิตตามดูพระผู้มีพระภาค เห็นว่าเมื่อพระองค์ทรงเข้าสมาบัติดับสัญญา (ความจำอะไรๆ ได้) ดับเวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ต่างๆ) ระยะเวลาหนึ่ง แล้วถอยกลับมาตั้งตนใหม่ที่ปฐมฌาน แล้วเลื่อนสมาธิจิตสูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ ตามลำดับ พอถึงฌานที่ ๔ จตุตถฌาน ออกจากฌานที่ ๔ ก็ปรินิพพาน ในยามสุดท้ายของคืนวันเพ็ญ วิสาขบูรณมีเดือน ๖
 

               ทันใดนั้นก็บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหวใหญ่สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่น ขนลุกขนพองสยองเกล้า กลองทิพย์บรรลือสั่นไปในนภากาศ เป็นมหาโกลาหลในปัจฉิมกาล
 

                ท้าวมหาพรหมกล่าวคาถาแสดงความสังเวชและเลื่อมใสที่มีต่อพระผู้มีพระภาคว่า “บรรดาสัตว์ทั้งปวงในโลกนี้ไม่เลือกหน้าล้วนต้องทอดทิ้งร่างไว้ถมพื้นปฐพี แม้แต่องค์พระตถาคตเจ้าผู้เป็นพระศาสดา ทรงพระคุณอันใหญ่หลวง ไม่มีผู้ใดเปรียบได้ ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เองโดยลำพัง ไม่มีผู้ใดสอน มีทศพลญาณเป็นกำลัง พระองค์ก็ยังตรงคงอยู่ให้ถาวรไม่ได้ ยังต้องดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว ควรสังเวชสลดใจนัก"
 

               พระอินทร์กล่าวคาถาว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นและดับไป ไม่ยั่งยืนถาวรมั่นคงอยู่ได้ การที่สังขารคือนามรูปหรือเบญจขันธ์เหล่านั้นระงับเสียได้ ย่อมนำมาซึ่งความสุข เพราะสังขารทุกข์ เช่น ชาติ ชรา มรณะ จะมาครอบงำอีกไม่ได้”
 

                พระอนุรุทธเถรเจ้ากล่าวคาถาว่า


                “พระพุทธเจ้าทรงมีจิตคงที่ในโลกธรรมทั้ง ๘ ทรงไม่หวั่นไหว สิ้นแล้วทั้งลมหายใจเข้าและหายใจออก พระองค์ไม่หวั่นไหวสะทกสะท้านด้วยมรณธรรมแต่ประการใด ทรงปรารภแต่สันติ ความสงบระงับ คือ นิพพานเป็นอารมณ์ ทรงทำกาละชนิดพ้นวิสัยของสามัญญสัตว์ พระองค์ทรงไม่มีพระหฤทัยสะทกสะท้านหดหู่พรั่นพรึงต่อมรณธรรมเลย ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยพระสติสัมปชัญญะเป็นอย่างดีเยี่ยมพระองค์เสด็จปรินิพพานไม่เหลือทั้งกายและใจ เปรียบเหมือนประทีปที่ลุกโพลงดับวูบไปฉะนั้น
 

                พระอานนท์กล่าวว่า “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวงดับขันธปรินิพพานแล้ว เกิดเหตุมหัศจรรย์อันน่าขนลุกขนพองในเวลานั้น ให้มนุษย์และเทวดาได้เห็น”
 

                คำกล่าวนี้เป็นการสอนเตือนใจว่าร่างกายที่มีใจครองอยู่นี้ ตกอยู่ในอำนาจของความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่มีผู้ใดหนีพ้น แม้แต่องค์พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระศาสดาเอกในโลก เป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้ใดเปรียบ ยังหนีไม่พ้น ต้องเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ดำรงถาวรอยู่ได้
 

                 สาธุชนทั้งหลายควรสลดใจ ไม่ประมาท ทำกุศลสัมมาปฏิบัติเป็นที่พึ่งแก่ตน เพื่อให้สำเร็จ เป็นหนทางไปสุคติโลกสวรรค์และนิพพาน ด้วยอำนาจแห่งความไม่ประมาทเป็นหลักสําคัญ

จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030169681708018 Mins