ภาพทางใจเห็นแค่ไหนเอาแค่นั้น...แค่ให้ใจหยุด
การเห็นภาพทางใจนั้น จะแตกต่างจากการเห็นภาพด้วยมังสจักขุ หรือตาเนื้อ คือไม่ใช่เห็นได้ทันทีเลย เป็นมโนภาพที่เรานึกถึง เหมือนเรานึกถึงขันล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดอกบัว ดอกกุหลาบ สิ่งของที่เรารักอย่างนั้นสิ่งไหนเราคุ้นเคยมาก เราก็นึกได้ชัด สิ่งไหนเราไม่คุ้นก็นึกไม่ค่อยชัด เพราะเป็นมโนภาพทางใจ ที่เรียกว่า “บริกรรมนิมิต” ซึ่งการนึกถึงดวงใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆ ก็ใช้ทำนองนี้ คือนึกธรรมดา ๆ
เช่นเรานึกถึงพระมหาธรรมกายเจดีย์ เราก็นึกธรรมดา ซึ่งก็เป็นภาพทางใจ แต่ก็ไม่ชัดเจน บางคนชัดเจนมาก บางคนชัดเจนน้อย ถ้าหากเราทำความเข้าใจได้ เดี๋ยวก็ทำเป็นใจก็จะหยุดนิ่งขึ้นมา เพราะมีอารมณ์เดียว ดังนั้นการนึกถึงดวงใส หรือพระแก้วใส ๆ ก็ในทำนองเดียวกัน คือ เราต้องใจเย็น ๆ ค่อย ๆ นึก นึกเท่าที่เรานึกได้ นึกแล้วเรายังรู้สึกสบาย แล้วก็ผ่อนคลาย ระบบประสาทกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ไม่เกร็ง ไม่ตึง อย่างนั้นถูกวิธี
ให้ทำใจเย็น ๆ อย่าไปรำคาญ ถ้าเรานึกไม่ชัด เห็นไม่ชัดก็อย่าไปรำคาญ แล้วก็อย่าไปยึดชัดว่า ทำไมเรานึกอะไรก็นึกได้ชัด แต่ทำไมมานึกอย่างนี้กลับไม่ชัด ให้นึกเท่าที่นึกได้นะ นึกได้แค่ไหนเราก็เอาแค่นั้น สมมติเรานึกถึงดวงกลม ๆ บางทีอาจจะบูดเบี้ยวบ้างก็ไม่เป็นไร ให้มีภาพอยู่ในท้องก็แล้วกัน องค์พระก็เหมือนกัน บางทีก็เห็นตั้งแต่เศียร แขน ขา มือ มีอะไรให้ดูก็ดูไป เพื่อต้องการให้ใจอยู่กับตัว
เราต้องจับหลักให้ได้ว่า วัตถุประสงค์ของการทำอย่างนี้ เพื่อต้องการให้ใจมาอยู่กับตัว อยู่ในกลางท้อง ตรงบริเวณฐานที่เพื่อให้หยุด ให้นิ่งอยู่นาน ๆ จนกระทั่งใจหยุดใจนิ่งๆ นี่คือวัตถุประสงค์ของเรา จับหลักตรงนี้ให้ได้
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๖