สุขที่บริสุทธิ์

วันที่ 10 กพ. พ.ศ.2567

พระธรรมเทศนา, หลวงพ่อธัมมชโย, คุณครูไม่ใหญ่, สมาธิ, บูชาข้าวพระ, สวดมนต์, พุทธบูชา, อายตนนิพพาน, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, กายธรรม, พระ อรหันต์, อธิษฐาน,


พระธรรมเทศนา พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
๑ สิงหาคม ๒๕๒๕

สุขที่บริสุทธิ์


          สำหรับท่านชายให้นั่งขัดสมาธิ ขัดสมาธิก็เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ตั้งกายของเราให้ตรง สำหรับท่านหญิงถ้านั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ ถ้านั่งขัดสมาธิถนัดก็ให้นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ตั้งกายของเราให้ตรงทุก ๆ คนนะ ที่นั่งพับเพียบก็เหมือนกัน ก็เอามือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ตั้งกายของเราให้ตรงทุก ๆ คน ท่านที่อยู่ข้างล่างตามโคนไม้ ใต้เต็นท์ ใต้กรด ก็ขอได้โปรดได้ทำตามคำแนะนำอย่างนี้กันนะ เอาล่ะต่อจากนี้ขอให้ทุกคนหลับตาสบาย ๆ เหมือนเรานอนหลับอย่างนั้น ให้แค่ผนังตาปิดเบา ๆ อย่าเม้มตาแน่น อย่าบีบหัวตา แล้วก็อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาของเราเฉย ๆ ทุก ๆ คน ตอนนี้ไม่พูดไม่คุยกันแล้วนะจ๊ะตั้งใจกันให้ดี หลับตาสบาย ๆ ยังไม่ต้องนึกยังไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้นน่ะ ให้รู้จักทำใจให้สบาย ๆ ซะก่อน ปล่อยหมด ปล่อยสบาย นั่งให้สบาย ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเราให้สบาย ไม่เครียด แล้วก็ทำใจให้เย็น ๆ สบาย ๆ อย่างนั้นนะ
 

          วันนี้เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน อาทิตย์แรกของเดือน เราก็ได้มาประชุมพร้อม ๆ กันเพื่อที่จะบูชาข้าวพระอันเป็นกรณียกิจที่เราได้บำเพ็ญติดต่อกันมานาน เป็นเวลา ๒๐ กว่าปีแล้ว ทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อยู่ที่วัดปากน้ำเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ เป็นประจำทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ที่พวกเราตั้งแต่เช้า ตั้งอกตั้งใจกันเตรียมอาหารหวานคาว ดอกไม้ธูปเทียนมาอย่างละเล็กอย่างละน้อย แล้วก็มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ มาระชุมสวดมนต์ไหว้พระทำจิตทำใจให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย เอาบทสวดมนต์เป็นเครื่องกล่อมเกลาความคิดของเราให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ให้ใจของเราละเอียดอ่อน จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ ที่ท่านจะได้เข้าสิงสถิตอยู่ในกายวาจาใจ เมื่อกายวาจาใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว เราก็จะได้น้อมนำดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาว ที่เราได้นำมากันคนละเล็กละน้อย ถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว ยังมีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน

          ผู้ที่เข้าถึงธรรมกาย รู้เห็นธรรมกายว่ามีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ได้เข้าถึงแล้วรู้จักพระพุทธเจ้าในตัวของเราแล้ว ก็อาจที่จะสามารถที่จะเข้าถึงพระพุทธเจ้าที่ท่านดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน เมื่อเข้าถึงได้ ดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาวที่เรานำมาวันนี้ ของหยาบก็ปรากฏอยู่ในมนุษยโลก ส่วนของละเอียดก็ไปปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน เพราะเรานอบน้อมด้วยกาย วาจา ใจ ที่สะอาดที่บริสุทธิ์ที่ผ่องใสของธรรมกาย เข้าถึงกายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ความบริสุทธิ์ความผ่องใส กายนั่นแหละเป็นผู้ที่น้อมนำเครื่องไทยทานเหล่านี้ ไปถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนี่ยเป็นเรื่องจริงที่มีอยู่ภายในตัวของพวกเราทุก ๆ คน ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกกายของเราหรือนอกตัว เป็นเรื่องของในตัวของเราทั้งนั้น แต่เพราะเหตุว่าเราไม่เคยศึกษาเรื่องของตัวของเรา เราจึงไม่ทราบขบวนการซับซ้อนที่มีอยู่ภายในร่างกายของเรา ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความเจริญ ความสำเร็จในชีวิต นี่เราไม่ทราบ เพราะว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งใจของเราวนเวียนอยู่กับสิ่งภายนอก สนใจเรื่องของคนอื่น สนใจดูการกระทำของคนอื่น สนใจในสิ่งที่นอกตัวของเราออกไป เพราะฉะนั้นเรื่องที่อยู่ภายในตัวของเราน่ะ เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

          สำหรับชีวิตการเกิดมาเป็นมนุษย์ เราจึงไม่รู้จัก ไม่รู้จักหนทางที่จะพัฒนาใจของเราให้ละเอียดให้ปราณีตให้สูงขึ้น นี่เพราะเราสนใจไปเรื่องนอกกาย เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นเรื่อง เรื่องของภายในตัวของเราแท้ ๆ ไม่ใช่เรื่องนอกกายเลย ก่อนที่เราจะทำภาวนากัน เราจะมาศึกษาเรื่องของกายภายในตัวของเราซะก่อน ให้รู้จักเรื่องของในตัว ถ้าเรารู้จักเรื่องของในตัวของเราแล้ว เราจะสำรวมระวังจิตของเราไม่ให้ท่องเที่ยวไปในที่ไกล ถ้าเราสำรวมระวังได้ เราก็จะพ้นจากบ่วงของมารได้ นี่เรื่องภายในตัวนะ วันนี้เราจะศึกษาเรื่องภายในตัวของเราเราจะต้องรู้จักว่าภายในตัวของเราเนี่ยมีกายต่าง ๆ นี่ซ้อนกันอยู่ ซ้อนกันอยู่ภายในตัวของเราน่ะ ซ้อนกันไปเป็นตามลำดับ ตามลำดับของความละเอียดอ่อน ความบริสุทธิ์ของใจ ความละเอียดอ่อนของใจ ซ้อนกันไปตามลำดับ ใจของคนเราปกตินั้นยุ่ง

          กายมนุษย์หยาบเนี่ย ของคนเรานี้ยุ่ง เพราะวนอยู่ในบ่วงของมาร วนอยู่ในความยินดีในรูป ในเสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันวนอยู่ ไอ้ที่วนเพราะว่ามารเค้าเข้าไปบังคับเอาไว้นะ กระชากใจเราหลุดออกมาจากธรรมะ จากความถูกความดี จากเหตุจากผล จากสัจธรรม แล้วก็เอาไปแช่หมักดองไว้ในอาสวะ ในกามาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ในกามในความเห็นผิดอะไรต่าง ๆ เหล่านั้นทั้งหมด ในกิเลสต่าง ๆ ในสิ่งที่ไม่ดี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกำหนัด ความยินดี ความตึงเครียด ความทะยานอยากนี่เค้าเอาเราไปแช่อยู่อย่างนั้น เอาไปแช่ในที่สุดเราก็เคยชิน

          ใจเราก็จะวนเวียนอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสธรรมารมณ์ วนอยู่อย่างนี้แหละ และก็ไม่มีเหตุไม่มีผล ในที่สุดเราก็จะสูญเสียคุณงามความดีที่มีอยู่ในใจของเราออกไป ความชั่วก็จะเข้ามาแทนที่ ในที่สุดกายเลือดเนื้อเชื้อไขของเราก็เป็นของพญามาร คำพูดก็เป็นเรื่องของมาร ใจก็เป็นเรื่องของมาร ความคิดก็ดี คำพูดก็ดี การกระทำก็ดี เลือดเนื้อเชื้อไขก็ดี เป็นของมารไปหมด นี่เค้าถึงได้เรียกว่าคน คือวนอยู่ในบ่วงของมาร

          ถ้าหากเราฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ทำใจหยุดใจนิ่งให้ถูกส่วน พอใจหยุดใจนิ่งถูกส่วนแล้ว ก็จะพ้นจากภาวะของความเป็นคน จิตจะหลุดพ้นเข้าถึงความเป็นมนุษย์ มนุษย์ก็แปลว่าผู้ที่มีใจสูง คือเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดที่อยู่ภายในตัวของเราน่ะ มีใจสูงกว่าเดิม ใจสูงเพราะว่ามีศีล ๕ ประจำใจของเรา มีคุณธรรมประจำใจ และจะมีปัญญากว้างขวางขึ้น รู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักคุณโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ รู้จักประโยชน์ ๓ อย่างเมื่อเราเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายในตัวของเราน่ะ จะรู้จักการทำชีวิตให้มีประโยชน์ในปัจจุบัน ว่าทำยังไงเราถึงจะมีความสุขที่บริสุทธิ์ จะรู้จักประโยชน์ในอนาคตเมื่อละโลกไปแล้วตลอดจนกระทั่งจะรู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพานนะ จะรู้จักทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในกายของเรา มันซ้อนอยู่ กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝันนี่เป็นสิ่งที่เรารู้จัก เราเห็นนานบ่อย ๆ ตั้งแต่เราเกิดมา เราจำความได้ นอนหลับเห็นตัวของเราเองปรากฏอยู่ในความฝัน หน้าตาเหมือนตัวของเรานี่แหละ นั่นแหละกายมนุษย์ละเอียด

          ถ้าเราเข้าถึงได้ในขณะอื่น ๆ ใจเราจะสูงขึ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมนุษย์อันนั้น มนุษยธรรมก็จะเกิดขึ้น ว่าศีล ๕ ครบถ้วนบริบูรณ์ มีธรรมสำหรับมนุษย์เกิดขึ้นมา นี่เรื่องของมนุษย์นะ เพราะใจของเราเข้าไปถึงกายภายในชั้นที่ ๒ แล้วน่ะ จะสูงขึ้น จะดีขึ้น จะปราณีตขึ้น ถ้าเข้าถึงกายที่ละเอียดกว่านั้นลงไปน่ะ ที่อยู่ภายในกายของกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์ที่อยู่ภายในกายของมนุษย์ละเอียด คือกะเทาะร่อนจากกายมนุษย์น่ะ พัฒนาจิตให้สูงขึ้นให้บริสุทธิ์ขึ้น ให้ผ่องใสขึ้น พอเข้าถึงกายทิพย์ เทวธรรมก็ปรากฏขึ้นมาในใจของเรา

          ความมีหิริ มีโอตตัปปะ มีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวผลของบาป จะไม่ทำบาปทั้งที่ลับและที่แจ้ง ถ้าถึงเข้าถึงเทวธรรมนะ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่ามนุสเทโว เข้าถึงความเป็นเทวดาตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์ คือเข้าไปถึงกายทิพย์นั่นเอง ที่อยู่ภายในตัวของเรา ไม่ใช่เทวดาที่ไปบวงสรวงกันตามต้นไม้ ตามป่าตามเขา ตามสี่แยกเนี่ย ไม่ใช่เทวดาพวกนั้น หรือตามศาลพระภูมิอะไรต่าง ๆ มนุสเทโว เข้าถึงความเป็นเทวดาในขณะที่เป็นมนุษย์ มีความเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมศิริกับโอตตัปปะ ความละอายต่อบาปและความเกรงกลัวต่อบาป ไม่ทำบาปทั้งที่ลับที่แจ้ง ต่อหน้าลับหลังที่ไหนก็ไม่ทำทั้งนั้น เพราะละอายแก่ใจตัวเองน่ะ และก็เกรงกลัวบาปแม้แต่นิดนึง ก็จะส่งผลให้มีความทุกข์ทรมานไปในภพเบื้องหน้า เดี๋ยวในขณะที่ทำบาปแล้วใจก็มีความทุกข์ทรมาน มีความหวาดระแวง ใจเสียคุณภาพ ขุ่นมัวเศร้าหมองในทันทีที่ทำ ก็เกรงกลัวผลบาปนี้จะทำให้ใจเป็นทุกข์ และก็จะทุกข์ตลอดไปชั่วยาวนาน เหมือนยาพิษแม้เพียงเล็กน้อยนะ มันก็เป็นภัยต่อชีวิตได้ หรือพิษของงูแม้เพียงเล็กน้อย เป็นภัยต่อชีวิตมนุษย์สัตว์ทั้งหลายได้ หรือไฟแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจที่จะเผาบ้านเผาเมืองได้

          เข้าถึงความเป็นมนุสเทโว ถึงกายทิพย์เป็นเทวดาตั้งแต่เป็นมนุษย์อย่างนี้ปิดประตูอบายภูมิ เพราะหิริกับโอตตัปปะเป็นธรรมคุ้มครองไม่ใช้เราตกไปในทางต่ำ ไม่ให้ทำชั่วเพราะฉะนั้นผลชั่วก็ไม่เกิดขึ้น นี่กายทิพย์นี้อยู่ภายในตัวของเรา ให้รู้จักเอาไว้น่ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ ให้รู้จักว่าอยู่ภายในตัวของเรา รู้จักเป็นทางไปก่อน เป็นเลาๆ ไปก่อนเมื่อไหร่เราเข้าถึงได้เราจะถึงรู้จักว่าอ้อกายทิพย์หน้าตาเป็นอย่างนี้เอง คนที่มีใจมีหิริโอตตัปปะสวยงามนะ กายน่ะสวยอย่างนี้ ละเอียดปราณีตอย่างนี้ นี่รู้จักมนุสเทโวเลย กายทิพย์รู้จักเมื่อเข้าไปถึงอย่างนี้ ภายในกายทิพย์ยังมีกายที่ละเอียดปราณีตเข้าไปอีก ที่ละเอียดอ่อนเป็นชั้น ๆ อยู่ภายในกายทิพย์ที่อยู่ในตัวของเรานี่แหละ เข้าถึงกายพรหม กายพรหมก็คือกายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรม จิตใจสมบูรณ์ไปด้วยสมาบัติ สมาบัติ ๔ เข้าถึงรูปฌาน ๔ เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของพรหมวิหารธรรม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความเต็มเปี่ยมพร้อมบริบูรณ์หมด เมื่อเข้าถึงกายพรหมที่อยู่ภายในตัว พรหมอันนี้กับพรหมสี่แยกไม่เหมือนกัน พรหมสี่แยกให้ความงมงาย ให้ความโง่เขลา แล้วพาไปอบายภูมิด้วย เพราะว่าใจงมงายวนเวียนอยู่ในสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดสติและปัญญาโอกาสที่จะพลาดพลั้งทำความชั่วได้

          แต่พรหมภายในเมื่อเข้าถึงแล้ว จะมีภพอันวิเศษเป็นที่ไป ภพของพรหมโลก เพราะว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรม หมวดหมู่แห่งธรรมสี่ประการเต็มเปี่ยมหมด ในดวงใจที่เข้าถึงกายพรหมที่อยู่ภายในตัวของเราเนี่ย พรหมกายหรือกายพรหมอันนี้แหละ คือกายของผู้มีความบริสุทธิ์ มีความผ่องใส ที่อยู่ภายในตัวของเรา ใครเข้าถึงเมื่อไหร่ก็เป็นพรหมได้ในชีวิตปัจจุบัน เข้าถึงพรหมกายเป็นพรหมกายตัวเราก็เป็นพรหมได้ตั้งแต่เป็นมนุษย์ ถ้าใจเกาะอยู่ในพรหมกายนี้ตลอด ติดแน่น ไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนเหมือนเสาเขื่อนที่ปักไว้ริมน้ำน่ะ แม้โดนคลื่นโดนลมพัด ซัดสาดแค่ไหนก็ตาม ไม่หวั่นไหวฉันใด

          เข้าถึงกายพรหมไม่หวั่นไหว ละโลกแล้วไปสู่พรหมโลก เราจะเป็นพรหมด้วยตัวของเราเองได้ เป็นพรหมเนื้อเป็นหนังของพรหม มีคุณธรรม ๔ ประการเต็มเปี่ยมหมด มีความเมตตาต่อหมู่สัตว์ กรุณาต่อหมู่สัตว์ มุทิตาต่อหมู่สัตว์ มีความเป็นอุเบกขาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย สี่ประการนี้ จะติดในศูนย์กลางกายของพรหมอยู่ตลอดเวลานี่จะเข้าถึงแล้วจะต้องเป็นอย่างนี้นะ พรหมสิ่ง พรหมทรงพรหมตามสี่แยก ไม่มีอย่างนี้ คุณธรรมอย่างนี้ไม่มี ใจยังโยกโคลง กายก็โยกโคลง ใจยังโลเล ยังง่อนแง่น เป็นหลักเป็นฐานไม่ได้ ในกลางกายของพรหมยังมีอีกกายหนึ่ง ที่ละเอียดกว่า ปราณีตกว่า เรียกว่ากายอรูปพรหม กายอรูปพรหม สมบูรณ์ไปด้วย สมาบัติ ๘ รูปฌาน ๔ กับอรูปฌาน ๔ สมบูรณ์หมด

          สมาบัติ ๘ เป็นทิฏฐิธรรมวิสุขวิหารี ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขของผู้ที่เข้าถึงปราศจากจากนิวรณ์ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา เข้าถึงความเป็นหนึ่ง ในสัญญาก็ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ใช่ คือมีความละเอียดอ่อน จนไม่ทราบว่าจะเอามาเปรียบกับอะไรในโลก จึงใช้คำว่าเนสัญญา นาสัญญายตนะ มีความละเอียดอ่อนของดวงจิตอันนั้น ที่ยิ่งใหญ่ไพศาล ใจของอรูปพรหมกับจักรวาลเหมือนจะกลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ลมหายใจของพรหมของอรูปพรหม กับลมหายใจของจักรวาลคือสิ่ง ๆ เดียวกัน ความสุขของจักรวาลทั้งหลายกับความสุขของอรูปพรหมคืออันเดียวกัน มีความเป็นหนึ่ง มีความเป็นตัวตนที่เป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา และมีความสุขอันยาวนาน สมาบัติ ๘ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติของอรูปพรหม อรูปพรหมเมื่อเข้าถึงอย่างนี้ ใจติดแน่นอย่างนี้

          สมาบัติ ๘ ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนอย่างนี้ ละโลกไปแล้ว สู่อรูปภพ มีอรูปภพเป็นอารมณ์ เป็นภพอันวิเศษ เป็นที่อยู่ที่อาศัย เป็นที่เสวยความสุข ได้ดีที่สุดในภพทั้ง ๓ นี้ ความสุขอะไรในภพทั้ง ๓ นี้ จะเกินไปกว่าความสุขของอรูปภพนั้นไม่มี ของอรูปฌานสมาบัติไม่มี สุขของการบริโภคกามก็ดี มีการมีทรัพย์ก็ดี ได้ใช้จ่ายทรัพย์ก็ดี การไม่มีหนี้ หรือการประกอบการงานไม่มีโทษ สุขนี้เป็นสุขเล็กน้อย สุขนิดหนึ่งมีทุกข์เจือ แต่ความสุขในฌาน หรือฌานสุขนี้ละเอียดปราณีตกว่านั้น เพราะว่าว่างปราศจากจากกาม ไม่ติดข้องกับอะไรทั้งสิ้น มีความปลอดโปร่งเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องอาศัยวัตถุอื่นเป็นเครื่องทำใจให้มีความสุข มีความสุขด้วยตัวของตัวเองและสุขได้กว้างขวางกว่า ความสุขของกามสุขเหมือนความสุขของคนไปอยู่ในก้นบ่อ ก้นบ่อก้นเหว เป็นความสุขอยู่ในวงจำกัด อยู่ในที่แคบ

          แต่ความสุขของผู้ได้อรูปฌาน ได้สมาบัติ ๘ เข้าถึงกายอรูปพรหม เป็นความสุขที่กว้างขวางไม่มีขอบเขต เหมือนผู้ที่พ้นจากก้นบ่อ ขึ้นมาสู่โลกภายนอก จะไปที่ไหนก็ได้ในภพทั้งสามนี้ สุขยิ่งกว่าการเป็นกษัตริย์ สุขยิ่งกว่าการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ปกครองทวีปทั้ง ๔ สุขยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าไม่มีเครื่องค่อม ไม่มีปัญหา ไม่มีความวิตกกังวลต่าง ๆ เลย อรูปฌานสมาบัตินี้ อรูปพรหมนี้ อยู่ในตัวของเรานี่แหละ ถ้าหากเราฝึกฝนใจของเรา จะด้วยธรรมของสัตตบุรุษ ด้วยวิธีการของพระพุทธเจ้าทำใจหยุดใจนิ่งจะเข้าถึงได้ในภพนี้ในปัจจุบันนี้ จะเข้าถึงกันได้ถ้าหากมีความเพียรอย่างกลั่นกล้า ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ฝึกทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เข้าถึงได้ทันที กายอรูปพรหมที่อยู่ภายในตัวของเรา แต่อรูปพรหมทั้งหมดนี้นะ

          กายมนุษย์ กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ๔ กายนี้ทั้งหมด มนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม แม้จะมีความสุขละเอียดอ่อนปราณีตขึ้นไปอย่างไรก็ตาม ตามธรรมวินัยนี้ ยังถือว่ายังอยู่ในที่แคบ ยังอยู่ในวงจำกัด เพราะว่ายังถูกครอบงำ ยังถูกครอบงำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง แม้ความสุขจะขยายกว้างแค่ไหนก็ตามนะ แต่ถ้าเทียบกับความสุขที่เข้าถึงธรรมกายโคตรภูแล้วละก็ ความสุขของอรูปภพเปรียบเหมือนกับที่แคบ เหมือนกันบ่อ ส่วนความสุขที่เข้าถึงธรรมกายโคตรภู เป็นความสุขที่กว้างขวางกว่า เหมือนพ้นจากบ่อ พ้นจากที่แคบไปสู่ที่กว้างขวาง

          ธรรมกายโคตรภูนี้อยู่ในกลางกายของกายอรูปพรหม ลักษณะเป็นพุทธพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว ที่ได้ชื่อว่าโคตรภูเพราะว่าใจหยุด ใจนิ่ง ใจหยุดใจนิ่งจนกระทั่งครอบงำทำลาย ครองทำลายในสภาวะของผู้ที่ตกอยู่ในภพทั้งสาม ที่ยังตกอยู่ในบ่วงของมารน่ะ ถูกครอบงำหมด ครอบงำทำลายสิ่งเหล่านี้จนกระทั่งหลุดพ้นไปได้ ถึงได้เรียกว่าธรรมกายโคตรภูน่ะ เป็นกายที่สวยงาม จิตที่ละเอียดที่บริสุทธิ์ที่ผ่องใส ดีขึ้นไปตามลำดับ ในกลางของกายธรรมโคตรภู จะเข้าถึงอริยบุคคล พระอริยบุคคลนี่คือผู้ที่เข้าถึงความเจริญ พ้นจากความเสื่อม พ้นจากไตรลักษณ์พ้นจากเครื่องผูกทั้งหลาย เข้าถึงความเจริญ มีชีวิตอันประเสริฐ เข้าถึงกายธรรมพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา น่ะเข้าถึงไปอย่างนั้น สังโยชน์ต่าง ๆ บรรเทาเบาบางลงไปตามลำดับเครื่องผูกบรรเทาเบาบางลงไป จิตก็กว้างขวางใหญ่โต พ้นจากที่แคบออกไปอีก มีความสุขมากขึ้น ถึงได้เรียกว่าพระอริยบุคคล ผู้ที่ฝึกใจให้หยุดให้นิ่งดีแล้ว จนกระทั่งกามก็ทำอะไรไม่ได้

          สมาบัติ ๘ ที่ว่ากว้างขวางแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ยังกลายเป็นที่แคบของผู้ที่เข้าถึงกายธรรม ถ้าเข้าถึงกายธรรม หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนเลย ไม่ติดอะไรทั้งสิ้นในภพทั้งสาม ติดแต่อายตนนิพพานเป็นที่ไป เรียกว่าพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์ ผู้ห่างไกลแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย กายต่าง ๆ เหล่านี้มีอยู่ในตัวของพวกเราทุก ๆ คน นี่ให้รู้จักกันเอาไว้นะ เกิดกันมาภพหนึ่งชาติหนึ่งก็เพื่อจะฝึกฝนอบรมใจของเราให้เข้าถึงอย่างนี้ เข้าถึงกายมนุษย์ มีมนุษยธรรมเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงจากคนเป็นมนุษย์ เปลี่ยนแปลงมนุษย์เป็นมนุสเทโว คือเข้าถึงกายทิพย์ เปลี่ยนแปลงจากกายทิพย์เข้าถึงพรหมกายถึงกายพรหม เปลี่ยนแปลงจากกายพรหมเข้าถึงกายอรูปพรหม เปลี่ยนแปลงจากกายอรูปพรหมเข้าถึงโคตรภูบุคคล ถึงธรรมกายโคตรภู เปลี่ยนแปลงจากธรรมกายโคตรภูเข้าถึงอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคา พระอนาคา เปลี่ยนแปลงจากพระอนาคามีบุคคลเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าเป็นพระอรหันต์ เสร็จกิจในการเวียนว่ายตายเกิด

          เสร็จกิจในทางพระพุทธศาสนา คือความรู้ของพระพุทธศาสนาส่งผลให้มีความสุขที่สุด เสวยวิมุตติสุข ไม่มีสุขอะไรยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว วิมุตติสุข อีกแล้วน่ะ หมดสิ้นแล้ว สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษจากความทุกข์ทั้งหลาย เสวยสุขด้วยตัวของตัวเอง เข้าถึงความเป็นหนึ่งของความเป็นสุข ไม่มีความทุกข์เจือเลย นี่ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา สอน สอนให้เราได้เข้าถึงกันไปอย่างนี้ ก็เหลือแต่พวกเราว่าเราจะทำอย่างไร จะฝึกฝนอบรมใจของเราให้ได้เข้าถึงอย่างนี้ได้ ความเพียร สติ ความสม่ำเสมออย่างจริงจัง ฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง หยุดนิ่งได้เมื่อไหร่ก็จะเข้าถึงอย่างที่ได้กล่าวเอาไว้อย่างนี้

          ถึงกายธรรมเมื่อไหร่แล้วละก็ การที่จะเข้าถึงอายตนนิพพาน ไปรู้ไปเห็นพระพุทธเจ้า ที่มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน ก็อยู่ในวิสัยที่พวกเราทุกท่านจะเข้าทำได้ ที่จะไปรู้ไปเห็นได้ เมื่อเราไปรู้ไปเห็นได้ ดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาวที่เราจะได้นำมาในวันนี้ ที่เราได้นำมาในวันนี้ ก็จะไปถึงได้ เข้าถึงได้เมื่อไหร่ก็มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล อย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีความยิ่งใหญ่ไพศาลขนาดนี้ ทำบุญธรรมดาน่ะ ผลยังส่งผลให้มีความสุขไปหลายภพหลายชาติ แต่ทำบุญเข้าถึงพระอริยเจ้าถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่น จนกระทั่งนับไม่ไหวนี่ อานิสงส์จึงใช้คำว่าอสงไขย์อัปมาณัง จะนับจะประมาณมิได้ เป็นบุญที่ไม่ทราบว่าจะใช้อะไรมาเปรียบเทียบได้ จนกว่าเมื่อเราเข้าถึงแล้ว เราถึงจะทราบได้ นี่เป็นอย่างนี้นะ เอาล่ะต่อจากนี้ไป เมื่อเราได้ทราบหนทางของชีวิตว่าเราจะต้องดำเนินจิตของเราไปอย่างนี้ และการจะเข้าถึงอย่างนี้ได้ จะต้องอาศัยการฝึกใจของเราให้หยุด ฝึกใจของเราให้นิ่ง ถ้าหยุดนิ่งได้แล้วล่ะก็จะเข้าถึงไปตามลำดับ


          ต่อจากนี้ไปเราจะได้เรียน ศึกษาวิธีการที่จะฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ขอให้ทุกคนตั้งใจกันให้ดีนะเราจะชำระกายวาจา ใจ ของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส เมื่อกาย วาจา ใจของเราบริสุทธิ์ผ่องใสดีแล้วเราจะได้น้อมนำาเครื่องไทยธรรมไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันต่อไป ขอให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงอาตมาไปนะ เราก็สมมติว่าเราหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น เส้นเชือกเส้นหนึ่งซึ่งจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งซึ่งจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้เราเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้ทุกคนนึกสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าฐานที่ ๗ เป็นที่ตั้งใจของเราเป็นที่เอาใจของเรามาหยุดมานิ่ง ที่จะเข้าถึงธรรมกายภายในตัวของเรา ที่ตรงฐานที่ ๗ ให้เรากำหนดบริกรรมนิมิต คิดขึ้นมาในใจของเรา อย่างแผ่วเบา อย่างง่าย ๆ อย่างละเอียดอ่อน อย่างสบาย ๆ คล้ายเราคิดถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง เราคิดว่าที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ มีดวงแก้วใส ๆ ดวงแก้วที่ใสเหมือนกับเพชร ที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีด ไม่มีข่วน ไม่มีรอยตำหนิ โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา บังเกิดขึ้นอยู่ตรงนั้นแหละ

          กำหนดดวงแก้วให้ใสเหมือนกับเพชรทีเดียวนะ ให้ไสละเอียดลงไปเลยน่ะ เหมือนเราเพชร ไปตั้งไว้กลางแดด เมื่อกระทบแสงแดด มีประกายเจิดจ้าอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นนะ กำหนดให้ใส ให้ชัดเจน ให้หยุดให้นิ่ง อย่างสบาย ๆ อย่าให้เครียด อย่าไปเพ่งนะ อย่าไปเพ่ง อย่าไปตั้งใจมากไป สบาย ๆ ง่าย ๆ เหมือนเรานึกถึงเรื่องอะไรซักเรื่องหนึ่ง กำหนดให้นิ่ง เบา ๆ พร้อมกับเอาความนึกคิดไปหยุดอยู่ที่จุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้หยุดนิ่งตรงนั้นนะให้ใจเราเล็กเท่ากับปลายเข็ม เล็กนิดนึง หยุดอยู่ตรงจุดกึ่งกลางของดวงแก้วใส ๆ หยุดนิ่งอยู่ตรงนั้นนะ พร้อมกับภาวนาในใจ ให้เสียงของคำภาวนาดังก้องมาจากจุดกึ่งกลางที่เล็ก ๆ ในจุดกึ่งกลางของดวงแก้วนะ ให้เสียงเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากศูนย์กลางตรงนั้น ภาวนาในใจว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ให้เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังอย่างแผ่วเบา ออกมาจากศูนย์กลางของดวงแก้ว ที่ใสเหมือนกับเพชรนะ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเราน่ะ ให้ใสอยู่ตรงนี้นะ ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ น่ะ อย่าให้เผลอ อย่าให้เผลอจากบริกรรมทั้งสองนะ

          แต่คำว่าไม่เผลอ ก็หมายความว่าเราจะต้องประคองอย่างง่าย ๆ อย่างแผ่วเบา อย่าให้เครียด อย่าไปถึงกับบังคับใจ บังคับจิต หรือไปใช้ความพยายามมาก จนกระทั่งมันเครียด อย่างนั้นไม่เอาภาวนาอย่างสบาย ๆ นึกคิดอย่างง่าย ๆ เบา ๆ ค่อย ๆ ไปอย่างนั้นนะ ถ้านึกคิดอย่างนี้น่ะ ไม่ช้าใจของเราก็จะหยุดจะนิ่ง จะผ่องใส พอผ่องใสความสุขทั้งหลายก็จะหลั่งไหลเข้ามาสู่ใจของเรา อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อนหรือสำหรับบางท่านเคยหนดเป็นพระแก้วใส ๆ เราจะอาราธนาพระแก้วเข้าสิงสถิตอยู่ในกายของเราก็ได้ แล้วก็ทำนองเดียวกันเอาใจของเรานึกไปที่ศูนย์กลางขององค์พระ แล้วก็ให้เสียงของคำภาวนาดังก้องออกมาจากที่ศูนย์กลางขององค์พระ อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน จะเป็นดวงแก้วก็ตาม องค์พระก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้ได้ทั้งนั้น เพราะนี่เป็นกิจเบื้องต้นที่เราจะฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส จำไว้ให้ดีนะ ทีนี้บางท่านที่นึกไม่ออก นึกดวงแก้วก็นึกไม่ได้ นึกพระแก้วก็นึกไม่ออก เพราะว่าอดที่จะใช้ความพยายามมากเกินไปไม่ได้ ก็ให้วางใจสบาย ๆ ใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางท้องฐานที่ ๗ พร้อมกับภาวนาไปเรื่อย ๆ อย่างแผ่วเบา อย่างละเอียดอ่อน แล้วก็ปล่อยใจของเราให้สบาย ๆ ให้ใจของเราดื่มเข้าไปในตัวของเรา เหมือนเราหย่อนตัวของเราไปที่ก้นสระอย่างนั้นแหละ เหมือนเราหย่อนตัวลงไปในน้ำ แล้วก็ทิ้งลงไปจนกระทั่งถึงก้นแม่น้ำ แล้วก็ปล่อยใจของเราให้กลับเข้าไปสู่ภายใน ให้ไปหยุดไปนิ่ง นี่ทำกันอย่างนี้ เอาล่ะ ต่างคนต่างทำกันเงียบ ๆ ซักพักนึ่ง

          เมื่อใจเราสงบผ่องใสดีแล้วเราจะบูชาข้าวพระกันต่อไป ตั้งใจให้ดีนะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ เมื่อคำภาวนาสัมมาอะระหังเปลี่ยนแปลงไป มันอาจจะช้าลง อาจจะเร็วขึ้น อาจจะบิดเบือน คือเสียงมันเพี้ยนไป หรือว่าเลือนหายออก ไป คล้าย ๆ เราลืมภาวนา ก็ให้ปล่อยมันไป อย่าไปฝืนนะ อย่าไปฝืนรักษาจังหวะของคำภาวนาให้สม่ำเสมอ เพราะคำภาวนานี่แค่เป็นสื่อ เป็นพาหนะที่จะนำใจของเราให้หลุดพ้นจากความสับสนวุ่นวาย การที่คำภาวนาของเราจังหวะสม่ำเสมอ แล้วก็ค่อย ๆ เพี้ยนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหยุดหายไป ก็เป็นเครื่องวัดว่าใจของเรากำลังจะละเอียดลงไปเป็นลำดับ จากภาวะที่ชัดเจน ไปสู่ในภาวะที่ไม่ชัดเจน ที่ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ ก็ขอให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ อย่าไปฝืนรักษาจังหวะของคำภาวนา ทำกันเงียบ ๆ นะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ อย่าลืมตากันนะจ๊ะ หลับตามองไปภายในตัวของเรา


          เราก็รวมใจ หลับตาของเรา รวมใจ รวมใจให้หยุดนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางของกลางกายของเรา ให้หยุดให้นึ่งทีเดียวนะ ศูนย์กลางกายของเรา เหนือสะดือ ๒ นิ้ว กึ่งกลางกายฐานที่ ๗ สำหรับท่านที่มาใหม่ จำคำนี้ไว้เลยฐานที่ ๗ ที่เรียกว่าฐานที่ ๗ เพราะว่ามันมีทั้งหมด ๗ ฐานภายในร่างกายของเรา เป็นทางเดินของใจ ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา ฐานที่ ๒ ที่เพลาตา ที่หัวตาตรงน้ำตาไหล ฐานที่ ๓ กลางถูกศีรษะ ระดับเดียวกับหัวตา ฐานที่ ๔ เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลักตรงนั้น ฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ ศูนย์กลางกายระดับเดียวกับสะดือ ฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ


          ฐานที่ ๗ ตรงนี้สำคัญ เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางไปของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นที่รวมของความบริสุทธิ์ ของสติของปัญญา เป็นที่รวมของความดีของกุศลธรรมทั้งหมด เป็นที่เปลี่ยนแปลงจิตใจจากสัตว์ทั้งหลายน่ะ จากคนทั้งหลายให้เป็นมนุษย์ จากเป็นมนุษย์เป็นเทวดา เป็นพรหม อรูปพรหม เป็นธรรมกายโคตรภู ครอบงำทำลายสิ่งที่ชั่วทั้งหลายน่ะ กระทั่งเข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคล ตลอดจนเป็นพระอริยเจ้า แล้วก็ไปสู่พระนิพพาน ตรงกลางที่เดียว ที่ตรงนี้เท่านั้น ถ้าใครมาสำรวมระวังจิต ไม่ให้เที่ยวไปในที่ไกล ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ บุคคลนั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนะ

 

          เยจิตตัง ปรเมธสันติ โมกขันติ มารพันธนา ผู้ใดมาสำรวมระวังจิตที่ตรงนี้ จะพ้นจากบ่วงแห่งมารได้ บ่วง บ่วงมารนี่คือความยินดีในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมมารมย์ ซึ่งเป็นเหตุให้ใจเศร้าหมอง ให้กระทำความชั่วทั้งหลายได้ แล้วส่งผลก็คือความทุกข์ทรมาน ถ้ามาสำรวมระวังอย่างนี้ จะพ้นจากบ่วงแห่งมาร มารก็คือผู้ที่ล้างผลาญความดี เราจะทำความดีมันก็ล้างผลาญซะ ทำลายซะ กระแทกใจเราเนี่ยให้หลุดจากความดี แล้วเอาไปแช่ในความชั่ว จนกระทั่งเสียผู้เสียคน ล้างผลาญหมด แต่มีที่เดียวที่มารทำอะไรไม่ได้ คือที่ศูนย์กลางตรงนี้แหละ เป็นที่ประหารมาร การประหารมาร ไม่ต้องใช้ศาสตราอาวุธ ประหารด้ายทำใจนิ่งกับหยุด ใจหยุดใจนิ่งตรงนี้แหละ จะหลุดรอดพ้นจากบ่วงแห่งมารทั้งหลายได้


          มีเรื่องเล่ากัน เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นเรื่องที่เล่ากันต่อ ๆ มาเป็นบุคลาธิษฐาน ว่ามียักษ์ตนหนึ่ง ได้ไปถือศีลภาวนาบูชาพระผู้เป็นเจ้า หวังจะได้พรสี่ประการ คือใครฆ่าไม่ตาย ฆ่าไม่ตายน่ะ ไม่ตายทั้งในบ้าน ไม่ตายนอกบ้าน คนก็ฆ่าไม่ตาย สัตว์ก็ฆ่าไม่ตาย ศาสตราของไม่มีคมฆ่าก็ไม่ตาย อาวุธของมีคมฆ่าก็ไม่ตาย ฆ่ากลางวันก็ไม่ตาย ฆ่ากลางคืนก็ไม่ตาย อย่างอย่างนี้ ต้องการพรอย่างนี้ อย่าง ไปทำความเพียรอยู่ จนกระทั่งทำอยู่หลายหมื่นปี ในที่สุดก็ได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าว่าใครฆ่าไม่ตาย พอลืมนึกถึงความตาย คิดว่ายังไงใครก็ฆ่าตัวไม่ตาย คิดว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความตายน่ะ ก็เกิดความฮึกเหิม ไปทำความชั่ว เบียดเบียนสมณะชีพราหมณ์ เทวดาพรหม เบียดเบียนเค้าไปหมดเลย จนกระทั่งในที่สุด เทวดาพรหม อรูปพรหม ก็ประชุมพร้อมกัน ส่งผู้มีฤทธิ์ มีบารมีแก่ ๆ ลงมาในมนุษย์โลกเพื่อที่จะปราบพญามารตนนี้ ปราบยักษ์ตนนี้ พอถึงได้จังหวะเวลาเข้า ท่านก็เนรมิตตัวเป็นนรสิงห์ คือตัวเป็นคน ศีรษะเป็นสิงโต เป็นนรสิงห์ ด้วยบารมีของท่านแก่กล้า ฤทธิ์มาก จับยักษ์นั้นมายืนไว้ที่ประตู ประตูระหว่างทางเข้าออก แล้วก็ถามยักษ์นั้นว่าเราเป็นคนหรือสัตว์ ยักษ์บอกคนก็ไม่ใช่สัตว์ก็ไม่ใช่ เพราะตัวเป็นคน ศีรษะเป็นสิงโต เป็นสัตว์ ท่านก็ชูเล็บให้ดูว่านี่เป็นศาสตราหรืออาวุธ บอกไม่ใช่ไม่ใช่ทั้งศาสตราไม่ใช่ทั้งอาวุธ แล้วถามว่าไอ้ที่ยืนอยู่ตรงนี้น่ะนอกบ้านหรือในบ้าน บอกนอกก็ไม่ใช่ ในก็ไม่ใช่เพราะอยู่ระหว่างประตู แล้วถามเวลานี้กลางวันหรือกลางคืน ยักษ์ก็บอก เวลานี้จะกลางวันก็ไม่ใช่ กลางคืนก็ไม่ใช่ เพราะพระอาทิตย์กำลังจะตกดินอยู่แล้ว ผู้มีฤทธิ์ท่านนั้นก็เลยจัดการปราบยักษ์ปราบพญามารนั้นหมดไป ในระหว่างกลางตรงนั้น นี่ก็เป็นบุคลาธิษฐาน ว่าจะประหารสิ่งที่ชั่วทั้งหลาย ปราบพญามาร มีที่เดียวเท่านั้นคือที่กลาง

 

          พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนมัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลาง เป็นทางหลุดทางพ้นไปสู่อายตนนิพพานใครสำรวมระวังจิตไว้ในกลางตัว จะพ้นจากบ่วงแห่งมาร จะชนะพญามารได้ อาศัยหยุดนิ่งไม่ต้องใช้ศาสตราอาวุธ หยุด ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุด ตรงนี้ที่เดียว พอหยุดตรงนี้ถูกส่วนเข้าเท่านั้น ปฐมมรรคก็จะเกิดเป็นดวงสว่าง แล้วจะเห็นกายในกายไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า แล้วเข้าถึงอายตนนิพพานประหัตประหารกันอยู่ตรงกลางตรงนี้ที่เดียว จับหลักเอาไว้ให้ดีนะ เมื่อเราเข้าใจหลักนี้ เอาล่ะทีนี้เราก็เอาใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลาง นึกน้อมใจของเราน่ะ เอาดอกไม้ ธูปเทียนอาหารหวานคาว มารวมเอาไว้ตรงนี้ ที่ศูนย์กลางตรงเนี้ยรวมให้หยุดให้นิ่ง ให้ใส หยุดนิ่งให้ดีทีเดียวนะ


          จรดให้ถูกส่วนตรงกลางน่ะ ให้นิ่ง แล้วก็น้อมขึ้นไปทีเดียว น้อมไปถวายพระพุทธเจ้า นึกกระดิกจิตในใจของเราทีเดียวนะ ว่าเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย ดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาว พวกข้าพระองค์ได้มาด้วยความเหนื่อยยาก ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ เอาชีวิตเข้าแลก จึงจะได้สิ่งเหล่านี้มา เมื่อได้มาแล้วมีจิตศรัทธาเลื่อมใสปสาทะความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย หวังจะทำหนทางพระนิพพานให้แจ้ง และก็มองเห็นทางเดียวว่าจะต้องฆ่าความตระหนี่ ความโลภในตัวของเรา ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะล้างผลาญความดี จะฆ่าให้หมดไป เพราะว่าเมื่อความตระหนี่ ความโลภเกิดขึ้นแล้วน่ะ การที่จะคิดทำความชั่วก็มีได้ ฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ ประพฤติผิดในกามก็ได้ พูดปดก็ได้ ดื่มสุราก็ได้ และก็ยินดีเมื่อคนอื่น ๆ เค้าทำแล้วก็ได้ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเห็นทุกข์เห็นโทษที่จะเกิดจากสิ่งเหล่านี้เนี่ย จึงได้ทำลายความตระหนี่ ความโลภ ซึ่งเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายให้หมดไป ด้วยการนำออกไปในทางที่ดี นำสิ่งเหล่านี้มาถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนของหยาบที่จะได้ถวายสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ ของหยาบก็ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ของละเอียดจะเอาบุญละเอียดอีกชั้นหนึ่ง ถวายแด่พระนิพพานพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นขอได้ทรงรับเครื่องบรรณาการของคนยาก ของคนยากคือพวกเราทั้งหลายที่ยังมีความทุกข์ยากอยู่ เพื่อประโยชน์และความสุขของพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ไปทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน


          เรากระดิกจิตนึกน้อมกันไปอย่างนี้นะ แล้วก็ทำใจของเราให้ผ่องใส ประหนึ่งว่าอยู่เฉพาะหน้า เฉพาะพระพักตร์ของพระทศพล ของพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์เลย นับพระองค์ไม่ถ้วน ที่เข้าอายตนนิพพานไปเก่า ๆ แก่ ๆ โน้น เก่าก่อน ๆ โน้น มีธรรมกายปรากฏหน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสเป็นแก้ว สวยงามมาก สว่างไสวไปหมดเลยนะ นับไม่ถ้วนทีเดียว พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานท่านเข้านิโรธสมาบัติ เข้านิโรธสมาบัติสงบนิ่งไม่ไหวติง ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน ใจติดแน่นอยู่ตรงกลาง เพราะการเข้านิโรธเป็นความสุขอย่างยิ่งติดอยู่หมดเลย นับพระองค์ไม่ถ้วนน่ะ ติดอยู่ตรงนั้นในกลางของกลางตัว ใจของท่านเข้ากลางน่ะ เข้ากลางตัวน่ะหวังจะไปให้ที่สุด สุด ที่สุดของกายของท่าน เข้าถึงกาย กายธรรมที่ตอนเป็นพระพุทธเจ้า ว่ามีความสุขแล้วนะ ท่านยังแสวงหาสุขต่อไปอีก สุขในสุข ๆ เรื่อยไปไม่ซ้ำที่เลยน่ะ เข้ากายในกายน่ะได้อาศัยกายของพระพุทธเจ้าที่หลุดพ้นแล้ว ไม่มีอะไรเหนี่ยวไม่มีอะไรรั้ง เข้ากลางตัวได้ ไปไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งสุดกำลัง ญาณของท่าน เหมือนเราปล่อยตัวลงไปในบ่อที่ไม่มีก้น ปล่อยลงไปเรื่อย ๆ ใจของท่านก็เข้ากลางของกลาง ยิ่งเข้าเท่าไหร่ยิ่งเบิกบานยิ่งชุ่มชื่น สุขแล้วก็สุขอีกลงไปเรื่อย ๆ ใจของพระพุทธเจ้าท่านเป็นอย่างนี้นะ ใจของพวกเราในโลก ไม่อย่างนั้น ไม่รู้จักว่าที่ไหนเป็นที่ให้เกิดความสุข ก็เข้าใจผิด ๆ กันอย่างที่ได้รู้เห็นกันน่ะ

          ใจไปติดลูกมั่ง ติดหลานมั่ง ติดกระโหลกกะลามั่ง ติดในรูป ในเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ติดงานติดการ ติดสารพัดหมด แล้วก็มานั่งกลุ้มใจ กลุ้มกันไปอยู่อย่างนั้นน่ะ ติด เอาใจไปติดข้างนอก วนกันอยู่ วนกันอยู่อย่างนั้น ในอ่างนั้นน่ะ พายเรือในอ่าง วนกันไป ถึงได้ชื่อว่าคนน่ะ คือวนอยู่ในบ่วงของมาร วนกันอยู่อย่างนั้นแหละ เอาใจออกข้างนอก จึงไม่พบความสุขที่แท้จริง เกิดอีกกี่ล้านชาติ ใจตัวนี้ก็ไม่พบความสุขที่แท้จริง แต่ถ้าหากใจหยุดที่ศูนย์กลางเช่นเดียวกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าหรือพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านหยุดนิ่ง ไม่ง่อนแง่น ไม่หวั่นไหวดีแล้วในกลางตัวได้ ก็จะพบสุขในปัจจุบันชาตินี้ หยุดเมื่อไหร่ก็พบสุขเมื่อนั้น สุขอยู่ในตัวอยู่ในกลางของกลางตัวน่ะ ทีนี้พวกเราน่ะโกงตัวเอง หลอกตัวเอง อยากให้ตัวเองมีความสุข แต่ว่าประพฤติไปในทางตรงกันข้าม การกระทำของเรามันสวนทางกับความสุข อยากให้มีความสุขแต่ทำให้เกิดสิ่งที่เป็นทุกข์แล้วก็บ่นร้องโวยวายว่าไม่มีความสุขมีแต่ความทุกข์ทรมาน บุญไม่ช่วยบ้าง ไปโทษเรื่องบุญมั่ง พระไม่ช่วยมั่งเทวดาไม่ช่วยแทนที่จะช่วยตัวของเราเอง ให้ตักตวงความสุขที่อยู่ภายใน แต่เอาใจไปใช้ทางอื่น

          แล้วเดี๋ยวก็วันเดี๋ยวก็คืน ไม่ช้าก็หมดเวลา ความชราก็ค่อย ๆ มาปรากฏ ผมหงอก ฟันหัก หูตึงมั่ง ตาฝ้าตาฟาง หนังเหี่ยวย่นเป็นเกลียว สติปัญญาที่เสื่อม ความคิดอ่านเสื่อมไปหมดเลย แล้วก็จะไปเรียกว่าบุญ หาความสุขในตอนนั้น ไม่ไหวแล้ว ไม่ช้าก็จะอยู่ในเงื้อมมือของพญามาร ของมัจจุราช มัจจุมารจะกระชากชีวิตเราหลุดออกไปแล้ว หลุดจากกายมนุษย์ ถ้าพญามารกระชากไปแล้วไปตกอยู่ในอบายภูมิ ได้กายใหม่น่ะเป็นมนุสเปโต มนุสติรัจฉาโน มนุสนียโก ไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก ไปเกิดได้กายใหม่ฟอร์มใหม่แล้ว ไปติดอยู่ในกายที่คับแคบใจที่คับแคบ มีความทุกข์ทรมาน นี่เป็นอย่างนี้นะ


          เราเข้าใจหลักอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไป ตั้งปณิธานเอาไว้ ว่าเราจะไม่ประมาท จะเดินตามรอยบาทของพระพุทธเจ้า ท่านทำอย่างไร เราทำอย่างนั้น ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านฝึกใจของเราให้หยุดนิ่ง ของท่านให้หยุดนิ่งอยู่ภายในตัว ท่านชี้ทางแนะนำพร่ำสอน ว่าให้ใจหยุดอยู่ตรงนี้ ตรงกลางนี้จะพ้นบ่วงจากแห่งมาร ถ้าเราจะเป็นลูกศิษย์ท่าน เราก็ฝึกใจของเราอย่างนี้เหมือนกัน วันนี้ไม่หยุด พรุ่งนี้เอาใหม่ ฝึกมันไปทุกวัน ฝึกอย่างสม่ำเสมอ ฝึกมันไปตลอดเวลาแหละ ทุกลมหายใจเข้าออก อย่าหายใจไปเปล่า ๆ นะ หายใจเข้าก็ภาวนาไป หายใจออกก็ภาวนาไป ฝึกให้หยุดให้นิ่งอย่างนี้แหละ ถึงจะเรียกว่าเป็นสาวกของพระบรมศาสดาสาวกของผู้ที่มีใจหยุดใจนิ่งดีแล้ว สาวกของผู้ที่เข้าถึงความเป็นบรมสุข สุขอย่างยิ่ง เข้าถึงวิมุตติสุข เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต เป็นผู้ที่มีชีวิตอย่างผู้ที่ประเสริฐ นี่ต้องฝึกใจอย่างนี้ ตัวเราฝึกอย่างนี้

          สอนแม่บ้าน พ่อบ้าน ลูกหลาน ครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายให้ฝึกอย่างนี้เหมือนกัน เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ฝึกไปอย่างนี้ใครแนะนำอย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็นมารดาของโลก เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลก เป็นผู้ให้กำเนิดบุตรในทางธรรม เป็นผู้เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ของสัตว์โลกให้เกิดใหม่ในธรรมวินัย เป็นผู้ที่กระชากให้เค้าหลุดจากบ่วงแห่งมาร มาเป็นลูกศิษย์พระ ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน มีแต่ความสุขความเบิกบานความรื่นรมย์ใจ บุญอันนี้แหละจะยิ่งใหญ่กว่าการสร้างทานกุศลอย่างมากมายมหาศาล แนะนำให้ใครเค้ามาฝึกฝนอบรมใจให้เข้าถึงธรรมกาย ให้หยุดนิ่งภายในตัวได้ จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง ได้ชื่อว่าให้ธรรมทาน นี่แหละชีวิตของมารดาแห่งโลก ใครก็เป็นได้ ที่นั่งในที่นี้นะ เป็นได้ทั้งนั้น เราไม่มีโอกาสที่จะสร้างทานกุศลอะไรก็ตาม ก็ขอให้ฝึกตัวของเราให้เข้าถึงอย่างนี้ แล้วก็แนะนำผู้ที่อยู่ข้างเคียงให้เค้าทำอย่างนี้ แล้วก็ทำอย่างสม่ำเสมอ ทำทุก ๆ วัน ยิ่งแนะนำเท่าไหร่ ชักจูงเท่าไหร่ บุญก็เติมเข้ามาอยู่ในตัวของเรามากเท่านั้น

          ใจของเราก็จะวนเวียนอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า อยู่ในแวดวงบุญบารมีของท่าน แล้วเราจะไปสู่อบายภูมิได้อย่างไร จะมีแต่สุคติเป็นที่ไป นี่จำเอาไว้กันนะ เอาล่ะต่อจากนี้ เราก็น้อมใจให้หยุดให้นิ่งที่ศูนย์กลางของกลางตัวของเรา อธิษฐานจิตในกลางของกลาง อธิษฐานจิตประหนึ่งว่าเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็อธิษฐานจิตเอา บุญที่พวกข้าพระองค์ทำในคราวนี้ ขอให้เป็นเครื่องชำระกายวาจาใจให้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากกิเลสจากอาสวะ จากบ่วงแห่งมารให้เป็นผลทานได้ตามติดตามตัวไปทุกภพชาติ ตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน อย่าได้รู้จักคำว่าไม่มีเลย ให้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ทั้งภายในและทรัพย์ภายนอก จะได้เป็นเครื่องประกอบในการสร้างบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอธิษฐานกันไปอย่างนี้นะ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.092021683851878 Mins