พระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
๖ กันยายน ๒๕๒๕
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือน เราก็ได้มาประชุมพร้อม ๆ กันเพื่อที่จะบูชาข้าวพระ อันเป็นกรณียกิจที่เราได้น้อมนำไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว ยังมีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน เราจะน้อมนำเครื่องไทยทานเหล่านี้ ทั้งหมดขึ้นไปถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเราได้ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกต้นเดือน เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ยี่สิบกว่าปีมาแล้วที่เราทำต่อเนื่องกันมา
การที่จะบูชาข้าวพระเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ถ้าหากว่าจะน้อมไปให้ถวายถึงพระพุทธเจ้าที่ท่านดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว ที่มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน ที่ว่ายากก็เพราะว่า เราจะต้องเข้าถึงธรรมกายภายในตัว หรือผู้ที่เค้าได้เข้าถึงธรรมกาย มีความข้องตัวในการที่จะน้อมนำเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ ด้วยธรรมกายไปถวายเป็นพุทธบูชา การได้เข้าถึงพระธรรมกายภายในตัวได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าภายใน เห็นพระพุทธเจ้าภายในตัวของเรา เห็นธรรมกายเมื่อไหร่ก็มีโอกาสที่จะเห็นพระพุทธเจ้าที่ท่านดับขันธปรินิพพานไปแล้วได้ เพราะว่าธรรมกายไปมาหาสู่กันได้ เนื่องจากเป็นกายที่ละเอียดที่สุด ที่อยู่ภายในตัวของเรา เป็นแก่นกายของเรา เป็นกายที่มีอายตนะใกล้เคียงกับอายตนะของนิพพาน เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่ยังเข้าไม่ถึง แต่ว่าอยู่ในวิสัยที่ผู้ที่เข้าถึงแล้วที่จะน้อมนำขึ้นไปอย่างนี้
การที่จะถวายได้อย่างนี้ จะต้องฝึกฝนใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้บริสุทธิ์สะอาดผ่องใส และก็เห็นไปตามลำดับ ตั้งแต่ปฐมมรรคเรื่อยไปเลย จนกระทั่งเห็นกายในกาย กายมนุษย์ กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม กระทั่งถึงกายธรรม ที่ละเอียดที่สุดไปตามลำดับอย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้จะได้อานิสงส์มาก เป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะคิดได้ว่าทำไมถึงได้อานิสงส์ได้บุญมากมายก่ายกองขนาดนี้ เพราะว่าการที่เราน้อมขึ้นไปอย่างนั้น จิตของเราสะอาดไปตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ใจปลอดจากกังวล จากความนึกคิดในเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกนี้ จนกระทั่งหยุดนิ่ง มีความบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นมา ใจเราบริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน วัตถุทานก็บริสุทธิ์ ผู้รับก็บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ ๓ อย่างตรงกัน จึงเป็นมหากุศล ถ้าเราบริสุทธิ์มาก วัตถุทานของเราก็บริสุทธิ์มาก ผู้รับบริสุทธิ์มากอยู่แล้ว บุญก็ยิ่งได้มากขึ้นไปตามลำดับ
ความบริสุทธิ์สังเกตจากใจของเราที่หยุดนิ่ง ถ้าหยุดนิ่งได้มาก ใจปลอดจากกังวล ปลอดจากความนึกคิดในอกุศลธรรมต่าง ๆ ความนึกคิดในความโลภ ความโกรธ ความหลง หงุดหงิดงุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจอิจฉาริษยา มายาสาไถยอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น อุปกิเลส ๑๖ ประการน่ะมันล่อนหมด ใจใส กระทั่งความบริสุทธิ์ปรากฏขึ้นมาในกลางหยุดนิ่ง เป็นดวงใสสว่าง นั่นแหละเป็นความบริสุทธิ์พื้นฐาน จะปรากฏเป็นความสว่างขึ้นมา ขึ้นมาภายในใจของเรา สว่างคล้าย ๆ กับดวงอาทิตย์ที่ผุดขึ้นมาจากขอบฟ้า ขจัดความมืดทำให้อากาศสว่างอย่างนั้น และก็ค่อย ๆ สว่างเรื่อยไปจนกระทั่งถึงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ใจบริสุทธิ์ก็จะมีอาการใกล้เคียงกันอย่างนั้นแหละ แต่ว่าดีกว่าอย่างนั้นมากมายหลายร้อย หลายพันเท่า มีความสว่างไสว มีความสุขภายใน จิตใจตั้งมั่น จิตใจผ่อนคลายสงบระงับ หยุดนิ่ง มั่นคง จิตใจขยายไม่มีขอบเขต มีความเบิกบาน มีความรู้ตัว ที่มากกว่าปกติ
มีความเต็มเปี่ยมอยู่ภายในตัวของเรา นั่นเป็นลักษณะจิตที่ดี ที่บริสุทธิ์ที่ผ่องใส ที่ปลอดจากกังวลแล้ว ปลอดจากการนึกคิดในทางโลกแล้ว จะเป็นอย่างนั้น ถ้าได้อย่างนี้นี่แหละเป็นพื้นฐานที่จะรองรับบุญ อันยิ่งใหญ่ที่เป็นมหากุศล ดังที่กล่าวเอาไว้แล้วน่ะถ้าบริสุทธิ์ยิ่งกว่านี้ไป ความสว่างก็จะยิ่งมากขึ้น มากขึ้นเหมือนดวงอาทิตย์ซัก ๒ ดวง ๓ ดวง เรื่อยกระทั่งเป็นสิบ เป็นยี่สิบ เป็นร้อยดวงขึ้นไป กระทั่งไม่มีขอบเขต ยิ่งสว่างมากยิ่งบริสุทธิ์มากก็มีการผ่อนคลายมาก มีการขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น ภาชนะที่จะรองรับบุญก็ยิ่งขยายส่วนไปตามไปตามลำดับยิ่งเห็นกายในกายน่ะ ที่มีอยู่ภายในตัวของเรา กายของเราเองน่ะ ที่ซ้อน ๆ กันอยู่ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม เข้าถึงกายธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมได้ นั่นเป็นยอดของมหากุศล เข้าไปถึงตัวจริงของตัวของเรา
นี่แหละถึงได้กล่าวเอาไว้ทุก ๆ ต้นเดือนที่ผ่านมา ว่าทำบุญที่นี่อย่างนี้ บูชาข้าวพระอย่างนี้ครั้งเดียว ยิ่ง กว่าเราจะทำบุญที่เราทำอย่างธรรมดาน่ะ ตั้งแต่เราเกิดจนกระทั่งเราละโลก ไม่ได้ขาดในการสร้างทานกุศลเลยในการใส่บาตรหรือในการบูชาอะไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งหมดอายุไข ไม่ขาดเลยแม้แต่วันเดียว เป็นร้อยเป็นพันชาติอย่างนั้น ไม่เท่ากับอย่างนี้ครั้งหนึ่ง เหตุผลก็คือว่าที่เราทำบุญทั่ว ๆ ไปนั้น ใจยังไม่ปลอดจากกังวล ยังไม่ปลอดจากอกุศลธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีความนึกคิดอื่นเข้ามาแทรก มีความกังวล มีความคลางแคลงเข้ามาแทรก ยังไม่เต็มเปี่ยมไปด้วยสติด้วยปัญญา ยังไม่เห็นช่องทางไปสู่พระนิพพาน ความสว่างไสวในตัวยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นทำบุญอย่างมากมายก่ายกองเท่าไหร่ก็ได้นิดนึง แต่ทำอย่างนี้ทำน้อยได้ผลมาก เพราะว่าถูกต้นทางของพระนิพพาน ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน นี่มันได้แตกต่างกันอย่างนี้นะ
ถวายต่อพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งว่ามีอานิสงส์มากแล้ว ถวายต่อพระพุทธเจ้านับพระองค์ไม่ถ้วนในอายตนนิพาน บุญนั้นจึงต้องใช้คำว่าอสงไขยอัปมาณัง จะนับจะประมาณมิได้ เพราะฉะนั้นอาทิตย์ต้นเดือนไม่จำเป็นจริง ๆ เราก็ไม่ควรขาด ควรจะมาทำด้วยตัวเอง ควรจะชักชวนหมู่ญาติที่เรามีความปรารถนาดี อยากจะทำ กรุยหนทางไปสู่สวรรค์สู่นิพพานให้แก่เค้า ก็ชวนเค้ามากัน เรารักใครเราชอบใคร มีความปรารถนาดีกับใคร ก็ชวนกันมา เดือนหนึ่งเรามีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่เราจะมาประชุมพร้อม ๆ กันสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ เป็นทั้งทาน ทั้งศีลทั้งภาวนา บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการครบถ้วนบริบูรณ์
เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไป ขอให้ทุกคน พึงตั้งใจชำระใจให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพื่อจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลกันต่อไป เราปล่อยวางหมด ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เอาใจของเราจรดเข้าไปที่ศูนย์กลางกายนะ ให้หยุดให้นิ่ง ไม่ห่วงใยอาลัยอาวรณ์อะไรทั้งนั้น ความคลางแคลง ลังเลสงสัยทิ้งไปให้หมด เอาใจหยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ให้หยุดนิ่งเฉย ตรงศูนย์กลางของกลางกายของเราน่ะ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นทางไปสู่พระนิพพาน ทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น เว้นจากเข้าศูนย์กลางกายแล้วจะเข้าทางอื่นไปสู่พระนิพพานนะ ไปไม่ได้ เข้าศูนย์กลางกายที่อยู่ภายในตัวของพวกเราทุก ๆ คน ของทุก ๆ คนในโลก มีศูนย์กลาง ศูนย์กลางกายเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วนั่นแหละทางหลุดทางพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย หลุดพ้นหมด เข้าสู่อายตนนิพพาน ทางหลุดทางพ้น เป็นทางเจริญอริยมรรค หลุดพ้นหมด
เมื่อใจเห็นทุกข์ เราเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประสบในสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก หรือปรารถนาอะไร ไม่ได้สิ่งนั้น เรามองเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้น่ะเป็นทุกข์ทั้งนั้น โดยรูปย่อคือการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ว่าเป็นตัวเป็นตนคงที่ ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ การยึดในอุปทานน่ะ ยึดมั่นถือมั่นโดยการเข้าใจผิด เป็นเหตุให้ ให้เรามีความทุกข์ทั้งหลาย น่ะมองเห็น ความยึดก็เกิดมาจากความทะยานอยาก ความทะยานอยากมันก็มาจากความไม่รู้ เพราะใจของเราขาดสติและปัญญา ไม่รู้ไปตามความเป็นจริง ไม่รู้ว่าอย่างไร ไม่รู้ว่าไอ้สิ่งที่เรายึดน่ะมันไม่จริง และก็ไม่รู้ต่อไปอีกและไอ้จริงน่ะมันอยู่ที่ไหนไม่รู้ ไอ้จริง ๆ มันอยู่ที่ไหน ไม่รู้ ที่เค้าเรียกว่าวิชชานะ ไม่รู้
จนกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านมาฝึกใจของท่านให้หยุดให้นิ่ง ถูกส่วน พอถูกส่วนเข้าเห็นไปตามความเป็นจริง คือเห็นปฐมมรรคเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ นั่นเห็นแล้ว เห็นธรรมเบื้องต้นแล้ว เห็นหนทางไปสู่พระนิพพานแล้ว ความรู้เริ่มปรากฏเกิดขึ้นกับท่าน ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เพราะฉะนั้นความสงสัยในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ย่อมหายไป เพราะไปรู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นเหตุเป็นผลกัน ทำเหตุอย่างนี้ผลมันจะต้องไปอย่างนั้น ผลอย่างนั้นมาจากเหตุอย่างนั้น เข้าใจหมด ทั้งรู้ทั้งเห็น ฌานตา ปัสสตา อรหัตตา รู้ด้วยเห็นด้วย เห็นแล้วจึงรู้ แล้วจึงห่างไกลจากกิเลสทั้งหลาย เป็นพระอรหันต์ ทีนี้พวกเราไม่อย่างนั้น ไม่รู้ ด้วยความไม่รู้และใจก็ต้องการแสวงหาความพ้นทุกข์ อยากจะได้ความสุข เจอะเจออะไรก็ยึดอย่างนั้น
ความทะยานอยากมันเกิดขึ้น ความไม่รู้ปรุงแต่งให้เกิดความทะยานอยาก อยากจะให้ตัวมีความสุข ก็คือพ้นจากทุกข์ทั้งหลายนั่นแหละ ก็เกิดการยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เกิดการสร้างกรรม ทางกายมั่ง วาจาใจมั่ง เมื่อสร้างกรรมที่มีผลของกรรม ส่งผลให้วนกันอยู่ในวัฏฏะน่ะ วนกันอยู่ หาทางออกทางหลุดทางพ้น ไม่พ้น ไม่พบ แต่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบว่าอยู่ในกลางตัวน่ะ ศูนย์กลางกายทุก ๆ คน เพราะฉะนั้นความไม่รู้จริงอันใดก็หมดสิ้นไป เมื่อใจหยุดนิ่ง เห็นดวงปฐมมรรคใสแจ่มสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หรือเหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ สว่างไสวปรากฏขึ้นมาในกลางตัว ท่านก็ดำเนินจิตของท่านเข้าไปเรื่อย ๆ คือใจหยุดนิ่งเรื่อยไป ใจหยุดใจนิ่ง ปล่อยหลุดปล่อยพ้น ไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งเรื่อยไปเลย พอถูกส่วนเข้าจากปฐมมรรค จิตก็ก้าวล่วงไปถึงดวงศีล ถึงอธิศีล คือมีความบริสุทธิ์ของจิตมากยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
จิตเมื่อมีความบริสุทธิ์มากเข้าสันติสุขที่เกิดขึ้นมาก ความรู้แจ้งเห็นจริงก็เกิดขึ้นมาก จิตก็ขยายขอบเขต ไม่คับแคบไม่อึดอัด มีความโปร่งเบาสบาย มีความนุ่มนวลควรแก่การงาน งานในที่นี้ก็คืองานไปสู่พระนิพพาน นำจิตให้หลุดให้พ้นจากกิเลสไปสู่พระนิพพาน ท่านก็เห็นไปตามลำดับนะ เห็นดวงศีล เห็นสมาธิ จิตเข้าถึงปัญญานะ ความสว่างไสว เข้าไปเรื่อย ๆ เลย ไปถึงแหล่งของความรู้ที่อยู่ภายใน ถึงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ถึงกายในกายเรื่อยไปตามลำดับ ก็อาศัยเส้นทางสายเดียว ตรงกลางตรงนี้ตรงเดียว เพราะฉะนั้นทุกพระองค์ยืนยันเหมือนกันหมด ว่าจะไปสู่พระนิพพาน ทางหลุดทางพ้นจากสรรพกิเลส จากสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพเคราะห์อะไรต่าง ๆ ทั้งหมด หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางตรงนี้ตรงเดียวเท่านั้น เรียกเอกายนมรรค หนทางเอกสายเดียว ถ้าหยุดนิ่งอย่างนี้แล้วไม่ไปไหน ไปพระนิพพานอย่างเดียว จะหลุดจะพ้นอย่างเดียว เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ
เพราะฉะนั้นที่ศูนย์กลางกายนี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก สำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น เกิดมาถ้าเรารู้ว่าศูนย์กลางกายมีความสำคัญอย่างนี้ เกิดมาในชาตินั้นมีกำไร ศูนย์กลางกายเมื่อเอาใจหยุดไปถูกส่วนเข้าแล้ว จะเปิดความรู้ตัวให้กว้างขวางเข้าไปสู่ภายใน เราจะเข้าไปถึงแหล่งของความรู้ แหล่งของสติแหล่งของปัญญา แหล่งของสิ่งที่ดีงาม แหล่งของความสุข ทุก ๆ แหล่งมันมีที่มาอยู่ภายในที่ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ นี่ศูนย์กลางกายเป็นอย่างนี้นะ ดังนั้นขอให้ทุกคนน่ะพยายามฝึกใจของเราน่ะให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางตรงนี้ นี่เป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่แท้จริงของเราที่เกิดมา มามีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่ ส่วนงานเรื่องอื่นเป็นงานเหมือนเด็ก ๆ เป็นงานที่เราเป็นเครื่องอาศัย เรายังอาศัยโลกอยู่ เพื่อประกอบธุรกิจการงานในทางโลก พอให้ร่างกายของเราได้เป็นไป อยู่เป็นสุขสบาย จะได้เอากำลังนั้น มาใช้ในการสร้างความดี มาฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ถูกส่วน ดำเนินจิตเข้าไปถึงพระนิพพาน อยู่ในกลางของกลางตัว อย่างนี้
เพราะฉะนั้นงานภายนอกเป็นงานเครื่องอาศัย งานจริงคืองานภายใน นี่จับหลักอันนี้ให้ดีนะทุกท่านทั้งหญิงทั้งชายที่มานั่งอยู่ในที่นี้น่ะ ทีนี้เมื่อเราทราบหลักการอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าท่านดำเนินจิตของท่านไปหยุดนิ่งอย่างนี้ในกลางของกลาง กระทั่งเข้าถึงธรรมกายที่อยู่ภายในตัวของท่าน ท่านก็รู้เห็นอะไรทั้งหมดไปตามความจริง ว่าขันธ์ ๕ ทั้งปวงน่ะ เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คำว่าขันธ์ ๕ ก็คือสิ่งที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์นะ กายมนุษย์ก็ดี กายทิพย์ก็ดี กายพรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดี ที่อยู่ในภพทั้ง ๓ คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ดีน่ะ เป็นสิ่งที่ไม่คงที่เลย เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จิตท่านก็ปล่อย เพราะรู้เห็นไปตามความเป็นจริง รู้เห็นในขณะจิตที่ขยายส่วนแล้ว มีความมั่นคงของสติปัญญาแล้ว ทั้งรู้ทั้งเห็นและก็หลุดพ้นได้ กระทั่งจิตเข้าถึงธรรมกาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ธรรมกายอรหัต ธรรมกายที่หลุดที่พ้น ไม่มีเครื่องผูกให้ติดอยู่ในภพ ศูนย์กลางกายของท่านจึงล่อน ใจท่านจรดอยู่ในอายตนนิพพาน อยู่ตลอดเวลา
ความรู้ของอายตนนิพพานก็หลั่งไหลเข้าสู่กายมนุษย์ ความสุขของอายตนนิพพานก็หลั่งไหลเข้ามาสู่กายมนุษย์ ความสุขของธรรมกายมีอย่างไรกายมนุษย์มีอย่างนั้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเครื่องผูก ไม่มีเครื่องเหนี่ยวรั้ง ไม่มีอะไรมากีดมาขวางมากั้นความรู้เหล่านั้นหรือความสุขเหล่านั้น ก็หลั่งไหลหนาแน่นหนุนเนื่อง กันมาถึงกายมนุษย์ หนุนเนื่องมาจรดอยู่ในตัว ทั้งหลับตาลืมตา นั่งนอนยืนเดิน สว่างอยู่ตลอด ใจล่อนติดอยู่ในธรรมกายอรหัต องค์ที่สุด ติดอยู่อย่างนั้นเลย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปหมด เมื่อถึงอย่างนี้แล้วถึงได้ยืนยันว่าหนทางนี้ทางเดียว เพราะทางอื่นท่านผ่านมาแล้ว ทางอื่นทั้งหมด มีที่ทางก็แล้วแต่ ผ่านมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นมาสรุปได้ว่าทางนี้ทางเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นเนี่ย ศูนย์กลางกายเนี่ยจึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรจะให้ความสำคัญและก็เอาใจใส่เอาไว้ เอาใจมาหยุดมานิ่งไว้ตรงนี้ให้ดี ๆ หยุดนิ่งตรงนี้ได้ เมื่อไหร่เด็กก็เป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่ยิ่งขึ้น เป็นผู้ใหญ่ด้วยคุณธรรมน่ะ ถ้าหยุดนิ่งอย่างนี้น่ะ นี่ให้เข้าใจกันอย่างนี้นะ
เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว เอาล่ะต่อจากนี้ ทุกคนทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ผ่องใส นึกน้อมจิต รวบรวมดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาวที่พวกเราได้นำมาในวันนี้ทั้งหมด น้อมไปทีเดียวที่ศูนย์กลางน่ะ ให้ใจหยุดใจนิ่ง ให้ใจผ่องใส น้อมไปเลยนะ เราก็น้อมขึ้นไปถวายพระพุทธเจ้า น้อมขึ้นไปในกลางของกลางตัวน่ะ น้อมไปถวายพระพุทธเจ้า เรานึกในใจ กระดิกจิตในใจน่ะ นึกว่าเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ ที่เรานำมา เราจะน้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะ เราก็นึกน้อมไปเลย น้อมเข้าไปกลาง กลางของกลางตัวเรานะ ปล่อยเข้าไปเรื่อย กลางของกลาง ๆ ๆ ไป ปล่อยไป ทำตัวประหนึ่ง ทำใจประหนึ่งว่าเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมขึ้นไปอย่างนั้นนะ
คุณยายท่านไม่ได้ออกมา ท่านคุมผู้ที่เค้าได้ธรรมกาย เค้าก็คุม คุมกายละเอียด คุมเครื่องไทยธรรม ให้ขึ้นไปสว่างโล่งอยู่ในอายตนนิพพานนะ ใสเป็นแก้วไปหมด ในอายตนนิพพานทั้งหมด พวกเราก็น้อมขึ้นไปน่ะ ให้หยุดให้นิ่ง น้อมขึ้นไปนะ หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง ให้ใสและก็นึกน้อมถวายพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เลย นึกน้อมกระดิกจิตในใจน่ะ ใจหยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง ให้หยุดนิ่งเอาไว้ คุณยายท่านจะได้คุมไปถวายให้หมด ให้ทั่วถึงให้หมด ดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาวน่ะ ซึ่งเป็นของละเอียด ละเอียดทันกันไปกับกายละเอียดของกายธรรมนะ กายธรรมเราละเอียดแค่ไหน เครื่องไทยธรรมละเอียดตามกันไปเท่านั้น มีความใสมีความสว่างทันกันไป เท่ากันไปหมด และก็เท่าในอายตนนิพพานนะ เท่ากันไปหมดเลย
พอเราถวายทานขาดจากใจนะ ปุญญาภิสันธา กุศลก็เกิดขึ้น บุญก็เกิดขึ้นหลั่งไหลเข้าสู่ศูนย์กลาง กำเนิดของเรา เข้ามาในศูนย์กลางกายของเรา ติดอยู่ศูนย์กลางเป็นดวงใส เป็นดวงสว่าง ติดหมดเลย ติดที่ศูนย์กลางหมด มีกายก็ติดไปหมดทุก ๆ กาย ติดอยู่ในกลางของกลาง เพราะฉะนั้นเราก็อธิษฐานจิตที่ในกลางหยุดกลางนิ่ง ในขณะที่บุญกำลังเกิดขึ้นมานะ
อธิษฐานให้เราเป็นผู้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ให้สะอาดทั้งธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ อธิษฐานไปอย่างนั้นนะ ให้บริสุทธิ์กายวาจาใจ ให้ได้สำเร็จมรรคผล ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม อธิษฐานให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ให้สิ้นกิเลสสิ้นอาสวะ ถ้าหากว่ายังเวียนว่ายตายเกิด ยังไปพระนิพพานชาตินี้ไม่ได้ ก็ให้สิ่งเหล่านี้เป็นเสบียงติดตัวไปในภพเบื้องหน้า ทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน เราอธิษฐานจิตอยู่ในกลางหยุดในกลางนิ่งกันทุก ๆ คน อธิษฐานจิตให้หยุดให้นิ่งให้ดีนะ