สั่งสมบุญ สร้างบารมี

วันที่ 13 กพ. พ.ศ.2567

130267b01.jpg

พระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๕

สั่งสมบุญ สร้างบารมี

 

    เป็นประเพณีของพวกเราทั้งหลายที่ว่าเดือนหนึ่ง เราจะมาพบกันครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะมาประพฤติธรรมร่วมกัน มาบำเพ็ญภาวนาร่วมกัน สร้างบารมีร่วมกัน แต่ละคนก็นำดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาว นำกันมาอย่างคนละเล็กคนละน้อย แล้วมาประชุมพร้อม ๆ กัน เพื่อเราจะได้น้อมนำดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาวไป บูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธานุสสติ บูชาทั้งในอดีต ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อเป็นบุญเป็นกุศลแก่ตัวของเราเอง เราได้ทำอย่างนี้มาต่อเนื่องกันมานาน นานหลายสิบปีแล้ว อย่างน้อยก็ ๒๐ กว่าปี ก่อนที่เราจะบูชาข้าวพระ หรือบูชาดอกไม้ธูปเทียนแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะพร้อมใจกันชำระกายวาจาใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ซะก่อน เพื่อจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลของเราต่อไป เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนจึงตั้งอกตั้งใจกันให้ดีนะ ให้ตั้งอกตั้งใจ ใครที่จะไอจะจามนี่ ถ้าหากพยายามอดกลั้นอดทนได้ พยายาม พยายามอดทนไว้ อดกลั้นไว้ ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น เดี๋ยวก็หมดเวลาแล้ว

 

    ก่อนที่เราจะเจริญภาวนา ขอให้ทุกคนใช้เวลาสัก ๕ นาทีในการพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายของเราก็ดี สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราก็ดี จะเป็นวัตถุเป็นสิ่งของ เป็นบุคคล เป็นสัตว์ จะเป็นอะไรก็ตาม ในที่สุดเราก็จะต้องทอดทิ้งไปซักวันหนึ่ง จะต้องละทิ้งกันไป พิจารณาสัก ๕ นาที ผมของเราก็ดี ฟันของเราก็ดี เล็บก็ดี หนังก็ดี ร่างกายของเราก็ดี สักวันหนึ่งเราก็จะต้องทอดทิ้งเอาไว้ในโลกนี้ เหมือนไม้ที่เค้าทิ้งเอาไว้ในป่าอย่างนั้นน่ะ เป็นสิ่งที่ไม่มีสาระไม่มีแก่นสารอะไร จะต้องละทิ้งกันไป และก็ไปด้วยตัวของเราเอง ไปคนเดียว มาคนเดียวไปคนเดียว ไม่มีใครที่จะติดตามไปด้วย นี่เราใช้เวลาสัก ๕ นาที ในการที่เราจะตรึกนึกคิดไปถึงความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ของร่างกาย ของเรา ของสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ เราจะต้องละทิ้งซักวัน จะเป็นใครก็ตาม จะต้องเป็นอย่างนี้หมด

 

    ก็ดูแต่สังขารของพระพุทธเจ้าที่ท่านมีบุญมีบารมีมาก มีความสวยงาม ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษสวยงาม ไม่มีใครเทียบ เมื่อถึงคราว ถึงคราวหมดอายุไขของท่านก็ต้องดับขันธปรินิพพาน ทอดทิ้งร่างกายพระวรกายของพระองค์ท่านอยู่ในโลกนี้ นั่นพระพุทธเจ้าท่านยังเป็นอย่างนั้น 

 

    พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ท่านตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีครูสอน แล้วก็ไม่ได้สอนใคร ในที่สุดก็จะต้องทอดทิ้งร่างกายของท่านไว้ในโลกนี้เช่นเดียวกัน 

 

    พระอัครสาวก พระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ เป็นผู้เลิศทางปัญญาก็ดีทางฤทธิ์ก็ดี ถึงคราวหมดอายุไขก็ต้องทอดทิ้งร่างที่เปื่อยเน่านี้เอาไว้อยู่ในโลก พระอรหันตสาวกที่เป็นอสติ เป็นผู้เลิศ เป็นผู้เลิศในทางต่าง ๆ ๘๐ พระองค์ ในที่สุดก็จะต้องทอดทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่าเอาไว้อยู่ในโลกนี้ ทุกพระองค์เหมือนกันไปหมด

 

    พระอรหันตสาวกที่มีนับประมาณไม่ได้ เป็นพระอรหันต์ ขจัดอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไป ในที่สุดก็จะต้องทอดทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่าเอาไว้ในโลกเหมือนกัน เอาไปไม่ได้ พระอริยบุคคลตั้งแต่พระอนาคามีผู้ชำระสังโยชน์เบื้องต่ำได้หมดสิ้น ตัดราคะกับโทสะ กิเลสในตระกูลราคะกับโทสะหมดสิ้นไป ในที่สุดก็จะต้องทอดทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่าเอาไว้ในโลกนี้เหมือนกัน 

 

    พระสกิทาคามีบุคคลที่ชำระโทสะ โมหะ ราคะให้เบาบางลงไปน่ะ เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ในที่สุดก็จะต้องทอดทิ้งร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้เอาไว้ในโลก พระโสดาบันซึ่งไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ หายสงสัยในพระรัตนตรัย มีศีล ๕ บริสุทธิ์ เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น เมื่อถึงคราวหมดอายุไข ก็ต้องทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่านี้ไว้ในโลกเหมือนกัน

 

    ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายโคตรภู เป็นโคตรภูบุคคล ครอบงำทำลายความเป็นปุถุชนหมด หมดสิ้น แต่ยังไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคล อยู่กึ่งหนึ่งของปุถุชนและพระอริยเจ้า มีความสุขเย็นกายเย็นใจอยู่ในโคตรภู เมื่อถึงคราวหมดอายุไขก็ต้องทอดทิ้งร่างกาย เปื่อยเน่านี้เอาไว้ในโลก ฌานลามีบุคคล ผู้เข้าถึงฌานสมาบัติ มีฌานเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ใจหยุดใจนิ่งดีแล้ว เข้าถึงกายอรูปพรหม ถึงขีดถึงคราวหมดอายุไข ก็ต้องทอดทิ้งร่างกายเปลือกนอกที่เน่าเปื่อยนี้เอาไว้ในโลก

 

    พวกเราก็เช่นเดียวกันที่นั่งอยู่ใน ณ ที่นี้ เมื่อถึงคราวหมดอายุไข ก็จะต้องทอดทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่านี่เอาไว้ในโลกเหมือนกัน เวลา สถานที่ เราไม่อาจจะบอกได้ เวลาไหน อายุเท่าไร สถานที่ตรงไหน ที่เราจะทอดทิ้งร่างกายของเราเอาไว้ในโลก ชีวิตของพวกเราเหมือนกับเส้นด้ายซึ่งมันจะขาดออกไปเมื่อไรเราก็ไม่ทราบ เรามาเกิดอยู่ในโลกนี้ มีวัตถุประสงค์อยู่อย่างเดียวว่าเราจะทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้หมดสิ้นไป

 

    เหตุที่ทำให้เรามีความทุกข์เนี่ยะ เราจะขจัดให้หมดสิ้นไป ขจัดเหตุที่มาของความทุกข์ ทำลายความทุกข์ให้หมด ให้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ อันนี้คือเป้าหมายของชีวิตของพวกเราทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ คนที่เกิดมาในโลกนี้ ส่วนงานอย่างอื่นนั้นเป็นเป้าหมายรองลงมาน่ะ การยังชีพก็ดี การทำมาหากิน การเกี่ยวข้องกันในวงสังคมเนี่ย อันนี้เป็นผลที่รองลงมา มีความสำคัญที่รองลงมา

 

    แต่เป้าหมายจริง ๆ แล้ว ต้องการที่จะขจัดความทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไป นี่คือเป้าหมายของเรา ตราบใดเรายังไม่พบสาเหตุแห่งความทุกข์ ที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ แล้วก็ยังขจัดกวาดล้างไปไม่หมด เราก็จะต้องเกิดอยู่ร่ำไป เกิดมาในมนุษย์โลกอย่างนี้แหละ เกิดมาเมื่อไร ก็พบกับความทุกข์เมื่อนั้น ทุกข์ตั้งแต่เล็ก ๆ เรื่อยมา ทุกข์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา คลอดออกจากครรภ์มารดา วนเวียนอยู่ในโลก จนกระทั่งตาย มีความทุกข์อยู่ 

 

    เราลองไปพิจารณาดูเถอะ มีช่วงไหนของชีวิตที่เรามีความสุขอย่างแท้จริงบ้าง ก็มีอยู่แค่ประเดี๋ยวประด๋าววน่ะ สุขนิดหนึ่ง แต่ความทุกข์มันตั้งเยอะแยะ บางทีความทุกข์ก็ซ้อนอยู่ในความสุข มันก็ซ้อนกันอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าเรามีปัญญา บางครั้งเราก็มองเห็น บางครั้งเราก็มองไม่เห็น ชีวิตของทุก ๆ คนเป็นอย่างนี้ ร่างกายที่เราอาศัยนั่งเข้าที่นี้ จะเป็นเด็ก จะเป็นหนุ่มเป็นสาว จะอยู่ในวัยกลางคน หรือในวัยชราจะต้องทอดทิ้งกันไปหมดทุก ๆ คน ไม่มีเว้นเลยแม้แต่คนเดียว แม้แต่ผู้พูดเองนี้ก็ต้องละโลกนี้สักวันหนึ่ง พวกเราก็เช่นเดียวกัน

 

    นี่เราจะใช้เวลามาพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ ซึ่งบางทีบางท่านตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยนึกถึงความจริงนี้เลย ไม่กล้านึก คือกลัวมัน หวาดหวั่นในการนึกคิด แต่การนึกคิดอย่างนี้แหละ จะสร้างประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเราดูเบากันไป ถ้าเรามาพิจารณาอย่างนี้ทุกวัน วันละเล็กวันละน้อย จะทำให้เราไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทแล้วก็จะพยายามละความชั่ว สร้างความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส นี่ถ้าหากใคร ไม่คิดอย่างนี้แล้ว ความประมาทก็จะครอบงำ พอกพูนแต่ความชั่ว ขจัดกวาดล้างความดี ทำใจให้ขุ่นมัว มันตรงกันข้ามกันไปหมด

 

    ดังนั้นขอให้ทุกคนเนี่ยได้หมั่นพิจารณา วันละเล็กวันละน้อย เราจะได้เป็นผู้ไม่ประมาท และอันที่จริงความคิดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้คิดทุก ๆ วัน คิดตลอดเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกว่าเราต้องตายซักวันหนึ่ง ความตายจะต้องมาเยือนเราสักวันหนึ่ง เวลาไหน ไม่ทราบ สถานที่ไหนไม่ทราบ เกิดในบ้านจะว่าตายในบ้านก็ไม่แน่เหมือนกัน บางทีมันไปตายนอกบ้าน เกิดในโรงพยาบาล ว่าจะตายในโรงพยาบาล ไม่แน่ อาจจะตายนอกโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นสถานที่ไม่แน่ กำหนดกะเกณฑ์ไม่ได้ พิจารณากันให้ดีนะ

 

    เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้แล้ว ใจของเราจะได้ปลอดโปร่ง เบาสบาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งสิ้นในโลกร่างกายของเราเป็นอย่างนี้ ร่างกายของคนอื่นก็เป็นอย่างนี้ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ มันก็เป็นอย่างนี้ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างน่ะมันก็ต้องเสื่อมสลายหายไปหมด ไปสู่จุดเสื่อมสลายหมด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็สลาย เสื่อมกันไปหมด คิดกันอย่างนี้นะ เมื่อคิดอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไปเราจะได้นั่งเจริญภาวนา ชำระใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส เพื่อที่ว่าใจของเราจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลของเราต่อไป ขอให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงอาตมาไปนะ

 

    สมมติว่าเราหยิบเส้นเชือกเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้เราเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ อยู่ระดับเดียวกับสะดือของเราเลย ให้เราสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดดของเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เราเรียกว่าฐานที่ ๗ จำไว้ให้ดีนะสำหรับท่านที่มาใหม่ ถ้าว่าพูดถึงฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้นะ ตรงจุดที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เราเรียกว่าฐานที่ ๗ อยู่ตรงกลางท้องของพวกเราพอดี นี่ฐานที่ ๗ 

 

    ฐานที่ ๗ นี่สำคัญ เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย จะไปพระนิพพานจะไปทางนี้ จะเปลี่ยนแปลงจากปุถุชนให้เป็นพระอริยเจ้าเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าก็ตรงนี้แหละ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว เพราะฉะนั้นที่ตั้งของใจเรามีที่เดียว ตั้งตรงนี้ไปได้ที่เดียวคือพระนิพพาน ถ้าตั้งตรงอื่นยังไม่แน่ เพราะฉะนั้นฐานที่ ๗ นี้ ทำความเข้าใจให้ดีนะ 

 

    นี่เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นที่เกิด เป็นที่ดับ ที่เกิดที่ตายของเราก็ตรงนี้ เป็นที่หลับก็หลับตรงนี้เป็นที่ตื่น ตื่นก็ตื่นตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ เป็นที่สร้างมหากุศลก็อีตรงนี้ เราอยากจะได้บุญได้กุศลที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไรเลยละก้อ เอาใจมาจรดที่ตรงนี้ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ละก็บุญเกิดขึ้น เป็นเครื่องชำระใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ต่อเนื่องไม่ขาดตอนเลย ถ้าใจเราหยุดอยู่ตรงนี้มาก บุญก็ได้มาก หยุดตรงนี้น้อยบุญก็ได้น้อย 

 

    หยุดได้ถูกส่วน ความบริสุทธิ์ของใจก็จะเกิดขึ้นเป็นดวงใส ๆ ใสยิ่งกว่าเพชรซะอีกนั่นแหละจุดเบื้องต้นเขาเรียกว่า ปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นไปสู่พระนิพพาน ถ้าเห็นจุดนี้ได้เป็นดวงใส ๆ ใสอย่างเล็กเท่ากับปลายเข็มอย่างนั้น อย่างโตขึ้นมาเท่ากับดวงจันทร์หรือว่าดวงอาทิตย์นั่นแหละได้หลักของชีวิตแล้ว ได้หนทางที่เราจะดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่ผิดพลาด หนทางที่เราจะเข้าถึงความสุขอย่างเป็นอมตะ เป็นความสุขที่เที่ยงแท้ถาวร นี่ตรงนี้ 

 

    ถ้าใครปฏิบัติได้อย่างนี้ เป็นมหากุศล ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไรเลย คนจนก็ทำได้ คนฐานะปานกลางก็ทำได้ คนร่ำรวยก็ทำได้ ทำอยู่ตรงนี้แหละ เป็นมหากุศล นี่จำไว้ให้ดีทีเดียวนะ ถ้าได้หลักตรงนี้ละก็เกิดมาชาตินี้ชาติเดียวแล้วตายเดี๋ยวนี้ ก็ยังถือว่ามีกำไร เพราะว่าพบหนทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าใครเกิดมาในโลกนี้ อายุยืนสักพันปี แต่ว่าไม่พบหนทางสายกลางที่อยู่ภายในตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ ไม่พบหนทางจะไปสู่พระนิพพาน ไม่พบทางไปของพระพุทธเจ้าและพรอรหันต์ เกิดมาแล้วก็ตายฟรี บุคคลคนนั้นเกิดมาตายฟรี ไม่มีกำไร

 

    เพราะฉะนั้นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราเนี่ยะให้ไปสู่ชีวิตที่มีคุณค่า มีสาระมีแก่นสาร จำกันเอาไว้ให้ดีนะ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน เอาใจมาตรึกไว้ตรงนี่แหละตรึกหยุดนิ่งให้ถูกส่วนทีเดียว นี่ฐานที่ ๗ ให้จำเอาไว้ให้ดี ทีนี้ฐานที่ ๗ ถ้าหากว่าใจมันยังหยุดไม่สนิท นี่เรามองเห็นไม่ชัดหรอกดวงปฐมมรรค หรือหนทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน เราจะต้องมีเครื่องจูงใจของเราให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ เพราะปกติใจเรามันชอบคิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด เราก็หาให้ที่ติดของใจน่ะ ให้มาติดอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ 


    
    กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจของเราเบา ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกคิดถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง โดยไม่ได้ใช้ความพยายาม กำหนดว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีดวงแก้วใส ๆ ใสเหมือนกับเพชร เพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว ไม่มีขีด ไม่มีข่วน ไม่มีรอยตำหนิ โตเท่ากับแก้วตาของเรา หรือโตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา กำหนดความใสของบริกรรมนิมิต เป็นดวงแก้วกลม ๆ ให้ใสเหมือนกับเพชร โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยนะ กำหนดเอาไปตั้งไว้ตรงที่ฐานที่ ๗ ตรงเนี้ย นึกคิดอย่างเบา ๆ คิดอย่างสบาย ๆ ลองนึกคิดดูซิ ลองนึกคิดกันทุก ๆ คน คิดสบาย ๆ น่ะ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ นึก ค่อย ๆ คิดไป กำหนดเป็นดวงใสตรงนี้นะ นึกเบา ๆ สบาย ๆอย่าให้มันเครียด นึกง่าย ๆ 

 

    พร้อมกับภาวนาในใจ ภาวนาให้เสียงคำภาวนาดังก้องมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จากกลางบริกรรมนิมิตดวงแก้วใส ๆ เราภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นะ ภาวนาให้สม่ำเสมอ ไม่ให้ช้า ไม่ให้เร็วนัก สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาไปจนกว่า คำภาวนามันจะหายจากใจไปเองน่ะ แล้วเหลือใจที่สงบหยุดนิ่ง ผ่องใสอยู่ในดวงแก้ว นี่เราภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันจะหยุดของมันไปเองนะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้เสียงนี้เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังก้องมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลางบริกรรมนิมิตของดวงแก้วใส ๆ ที่โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา ให้ดังมาจากที่ตรงเนี้ย ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะกี่ครั้งก็ตาม ภาวนาไปอย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ 

 

    จนกระทั่งใจหยุดนิ่ง ผ่องใส มีความปลอดโปร่งภายใน มีความสงบ เย็นกาย เย็นใจ และคำภาวนามันหายไปเอง เราก็หยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงใส ๆ หรือกลางความปลอดโปร่งภายใน รักษาความสงบนั้นให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ หรือเราจะกำหนดเป็นพระแก้วใส ๆ ก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านที่ชอบพระแก้วก็กำหนดพระแก้วองค์ใหญ่องค์เล็กก็แล้วแต่ที่ใจเราชอบ จะกำหนดแทนดวงแก้วก็ได้ กำหนดตั้งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ในทำนองเดียวกัน และภาวนาก็ภาวนาเหมือนกันว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ควบคู่กับการตรึกนึกคิดถึงองค์พระ นี่อย่างใดอย่างหนึ่งนะ 

 

    ใจชอบดวงแก้วเราก็เอาดวงแก้วเป็นบริกรรมนิมิต ใจชอบพระแก้วเราก็เอาพระแก้วเป็นบริกรรมนิมิต ดวงแก้วก็ดีพระแก้วก็ดี อันนี้เป็นสิ่งที่เราสมมติจะเป็นเครื่องจูงใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงปฐมมรรคภายในตัวของเรา เพราะฉะนั้นเราจะกำหนดอันไหนก็ได้ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ต่างคนต่างทำกันเงียบ ๆ สักพักหนึ่งนะ เมื่อกายวาจาใจเราสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว เราจะได้บูชาข้าวพระกันต่อไป

 

     เราได้กล่าวคำบูชาดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาว แด่บรมพุทธเจ้า ทั้งในอดีต ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตทั้งหลาย เสร็จไปเมื่อสักครู่นี้ ต่อจากนี้เราจะได้น้อมนำเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ไปถวาย แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่ท่านดับขันธ์ปรินิพพานนานมาแล้ว มีมากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้ง ๔ ดับขันธ์คือถอดกายมนุษย์ ดับขันธ์ปรินิพพาน ถอดขันธ์ ๕ หมด กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหม กายต่าง ๆ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กายที่ไม่มีสาระไม่มีแก่นสาร ที่มีความทุกข์เจืออยู่นั่นน่ะ ถอดออกหมดเลย เราเรียกว่าดับขันธ์หรือดับขันธ์ ๕ 

 

    ดับขันธ์ คือถอดออกเป็นชั้น ๆ ใจไม่ติดเลยเนี่ย ใจของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ท่านไม่ติดในขันธ์ ๕ อาศัยขันธ์ ๕ เป็นทางผ่าน สร้างบารมี พอเต็มเปี่ยมแล้วมองเห็นขันธ์ ๕ ของกายมนุษย์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่เป็นสาระแก่นสาร ท่านก็ปล่อยวาง ปล่อยจริง ๆ วางจริง ๆ ปล่อยขันธ์ ๕ ของตัวเองและของคนอื่นด้วย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ติด ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่ใยดี ไม่พัวพัน ไม่เกี่ยวข้องเลยเนี่ย ปล่อยหมด ปล่อยออกไปหมดเลยเนี่ย ไม่อาลัยอาวรณ์ ขออภัยเหมือนเราบ้วนน้ำลายทิ้งไปอย่างนั้นน่ะ

 

    ไม่อาลัยอาวรณ์เลย ทิ้งไปหมดขันธ์ ๕ เหมือนกัน เป็นอย่างงั้นแหละ ปล่อย หรือสามีภรรยาที่หย่าขาดจากกัน ความผูกพันที่คิดว่านั่นภรรยาของเรา นี่สามีของเราก็หมดไป ภรรยาหรือสามีในอดีตก็ไปทำอะไรก็ตาม จะมีความทุกข์แค่ไหน อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งตัดอุปาทาน ความผูกพันความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของ ๆ เราก็ไม่ทุกข์ตามไปด้วย แต่ถ้ายังผูกพันอยู่ว่าภรรยาเรานี่สามีเรา นี่ของของเรา อีกฝ่ายหนึ่งจะไปทำอะไร ความทุกข์มันก็แล่นมาถึงซะอีก มาถึงอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพราะความยึดถือมั่นมันยังมีอยู่ ของพระพุทธเจ้าท่านตัดขาด ไม่มีงอกขึ้นมาอีกเหมือนตาลยอดด้วน เวลาต้นตาลถูกฟ้าผ่ายอดมันด้วน มันไม่งอกอีก สามีภรรยานั่นบางทีมันยังกลับมาได้อีก แต่ของท่านไม่มีเลยน่ะ

 

     เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ ที่กายมนุษย์ท่านพิจารณามองเห็นทั้งรู้ทั้งเห็น ด้วยตาธรรมกายของท่าน เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย เป็นความรู้ความเห็นที่ละเอียดอ่อน พ้นปุถุชนที่จะรู้เห็นได้ อย่างเราลืมตามองเห็นมนุษย์ทั่วไปก็เห็นเขาแก่ เขาเจ็บ เขาตาย เห็นแล้วก็ชินเฉย ๆ อย่างนั้น ไม่ได้คิดที่จะปลดจะปล่อย จะวาง เพราะว่าอุปาทานมันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ผูกพันแน่นหนาลึกซึ้งอยู่ภายใน การเห็นของเรา เห็นแค่ระดับผิวเผิน มันยังไม่ซึมไปติดอยู่ในรากเหง้าของความผูกพันธ์ได้ 

 

    พระพุทธเจ้าท่าน เห็นด้วยตาที่ละเอียดไปกว่านั้น ด้วยปัญญาที่ลึกซึ้งที่ตาธรรมกาย รู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย เป็นการเห็นอันยิ่งใหญ่ไปตามความเป็นจริง ความรู้ก็เป็นไปตามความเป็นจริง รู้ได้รอบตัว เห็นรอบตัว รู้กว้างขวาง รู้ลึกซึ้ง รู้แหลมคม รู้รอบ รู้ถ้วน รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรู้ทั้งเห็นได้รอบตัว คือเห็นทั้งคุณทั้งโทษของขันธ์ ๕ เห็นว่ามีโทษมากกว่าคุณ แล้วท่านก็ปล่อย อย่างนี้เค้าเรียกว่าดับขันธ์ 

 

    ดับขันธ์ ขันธ์ ๕ น่ะ คือปล่อย พอปล่อยมันไปติดอยู่ในขันธ์ของกายทิพย์ คือไปติดไอ้สิ่งที่ดีกว่า เหมือนเราทิ้งก้อนกรวด ไปคว้าพลอยอย่างงั้น นี่ท่านไปติดขันธ์ ๕ ของกายทิพย์อีก กายทิพย์ กายที่มีความละเอียดอ่อน มีความสวยงาม กายของสุคติภูมิ กายของชาวสวรรค์ มีความงามกว่ามนุษย์มากมาย มีความสุขมากกว่า ไม่ปวด ไม่เมื่อย ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ สวยงาม กลิ่นกายก็หอมฟุ้ง ร่างกายก็ได้ส่วนไม่อ้วน ไม่ผอม ไม่ดำ ไม่ขาว แถมมีรัศมีสว่างด้วย มองเห็นของชาวสวรรค์ มองเห็นในกายทิพย์ของตัวท่าน

 

    แต่ท่านมองด้วยตาธรรมกาย ยังมองเห็นความทุกข์ ถึงแม้จะไปเป็นเทวดาก็ตาม มีกายทิพย์สวยงามอย่างไรก็ตามนะ มันยังไม่คงที่ จะมีความสุขเลิศเลอแค่ไหนมันก็มีความทุกข์เจือ ความทุกข์ของเทวดามันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ตรงว่ามันจะต้องจุติ แล้วเทวดาก็ยังมีความโกรธ เป็นความโกรธที่ละเอียดอ่อน ไม่เหมือนมนุษย์ แต่ก็คล้าย ๆ กัน แล้วแต่ว่าชั้นไหน

 

    ชั้นจาตุมหาราชก็ใกล้เคียงกับมนุษย์ ชั้นดาวดึงส์ก็ละเอียดไปกว่าหน่อย ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี ก็ละเอียดเป็นชั้น ๆ มองเห็นทะลุหมด สุคติภูมิ ๖ ชั้น ขันธ์ ๕ เหล่านี้จะสวยจะงามแค่ไหน มันก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เกิดขึ้นตั้งอยู่ไม่ช้าก็สลายเสื่อมมา เสื่อมจากเทวดามาเกิดเป็นมนุษย์อีก มองเห็นเลย รู้ได้รอบตัวเห็นรอบตัวทะลุปรุโปร่งไปหมด ด้วยตาธรรมกายของท่าน ด้วยญาณของธรรมกาย ด้วยใจที่ผ่องใสบริสุทธิ์ ไม่มีอคติ รู้เห็นไปตามความเป็นจริง ก็ถอดทอนความยึดมั่นถือมั่น ความผูกพัน ความชอบ ความติดอกติดใจในกายทิพย์ของสวรรค์ทั้งหลาย แม้แต่สมบัติที่เป็นทิพย์ของสวรรค์ก็ไม่ติด มองเห็นว่าเป็นสิ่งไร้สาระ สิ่งอะไรที่ยังมีความทุกข์เจืออยู่ มันยังไม่สุขล้วน ๆ 

 

    พระพุทธเจ้าท่านเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระ พอเห็นอย่างนั้น ท่านก็ถอดขันธ์ของกายทิพย์ออก คือปล่อยวางตัดขาดออกเหมือนกัน ปลดปล่อยวางหมด ไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่เขาก็เรียกว่าดับขันธ์ปรินิพพาน ไปติดอยู่ในกายพรหมอีก พรหมน่ะมีความสุข ปราณีตกว่ากายทิพย์นี้ นับไม่ถ้วนทีเดียว อายุก็ยืนกว่า ความสุขก็มากกว่า สุขทั้งกายสุขทั้งใจ สิ่งแวดล้อมอะไรมันดีไปหมด ร่างกายก็ดี ไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ไข้ เหลืออยู่อย่างเดียว ต้องตาย ต้องจุตินะ ก็มองเห็นมองทะลุ ก็เห็นว่าโอ้... ยังจุติอีก อย่างนี้ก็เป็นความทุกข์ เป็นความทุกข์ที่ละเอียดลึกซึ้ง

 

    พระพุทธเจ้าท่าน มองเห็นด้วยธรรมกาย ตาธรรมกายมองดูตรวจตาดูทั่วถึงหมดทั้งภพ ไม่มีพรหมไหนที่ไม่จุติเลย หมดกำลังบุญแล้วน่ะ หมด ถอดออกมาหมดเลย ต้องจุติหมด ยกเว้นพรหมที่พระอริยเจ้าจากในอดีต ที่ได้พระอนาคามี นอกนั้นจุติหมด มองเห็นแล้วท่านก็เบื่อหน่าย เห็นทุกข์เห็นโทษก็เบื่อหน่ายคลายความกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่น จิตก็ หลุดพ้น แล้วเห็นว่าจิตของท่านน่ะหลุดพ้นจากการยึดอันนี้ ปล่อยวางอีกแล้วทิ้งไปเลยไม่อาลัยอาวรณ์

 

    พรหมใครว่าดี จะกราบจะไหว้บูชากันแค่ไหน ไม่เอาล่ะ ถ้าหากมันยังไม่คงที่ ทั้งหมดเลย พรหมในพรหมโลกปราณีตกว่าพรหมในเมืองมนุษย์ พรหมตามสี่แยก นี่ไม่ได้เรื่อง มนุษย์ยังไปติดกันอยู่นั่น จะเห็นพรหมในพรหมในอรูปภพปราณีตยิ่งกว่านั้นละก็ ทิ้งไอ้นั่นเลย ทั้งไอ้พรหมตามสี่แยกนี้ ไม่ต้องไปกราบไปไหว้ แต่พรหมบนพรหมโลกในรูปภพ

 

    พระพุทธเจ้าเห็นแล้วยังวาง เห็นด้วยตาธรรมกายว่าดีกว่ากายทิพย์ กว่าชาวสวรรค์มันก็ยังต้องจุติอีก จุติมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เจอความทุกข์อีก เข้าสู่ครรภ์มารดาก็ทุกข์แล้ว ออกมาก็ทุกข์อีก เกิดมาอยู่ในโลก ทุกข์มีความแก่ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ประสบในสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งอะไรไม่ได้อย่างนั้น เจออีกแล้ว เจออย่างนี้ท่านก็ปล่อยวาง บอกไม่เอาล่ะ ตัดขาด พอตัดขาดไปเนี่ยเหมือนตาลยอดด้วน เหมือนกัน ไปเจอะอีกอันหนึ่งแล้วที่ปราณีตกว่าพวกพรหม ท่านสมมติชื่อว่าอรูปพรหม สวยงามกว่า ปราณีตกว่า มีความสุขมากกว่า สิ่งแวดล้อมดีกว่า รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์ ความเป็นใหญ่ บริวารพวกพ้อง ความสุขอยู่ในอรูปฌานสมาบัติ ที่ละเอียดอ่อน มีอารมณ์คล้าย ๆ กับพระนิพพาน สุขจริง ๆ

 

    กระทั่งอรูปพรหมน่ะลืมตัวไป ว่าเราไม่ต้องจุติอีกแล้ว ลืมไปเลย กิเลสในตระกูลโมหะมันเข้าไปครอบงำไว้ ทำให้ปัญญานั้นน่ะ ถึงแม้จะกว้างกว่าคนอื่นในภพ แต่ก็ยังแคบอยู่ ยังอยู่ในขอบเขต เป็นความกว้างที่ยังมีขอบเขตอยู่แต่เป็นขอบเขตที่ขยายกว้างออกไป พอหมดกำลังของอรูปฌานสมาบัติ ต้องจุติเข้าสู่ครรภ์มารดาอีกแล้ว พระพุทธเจ้าเห็น แต่อรูปพรหมไม่เห็น มันไปเพลินอยู่ เหมือนเราชาวมนุษย์นี่แหละ 

 

    มนุษย์ทั้งหลายที่นั่งอยู่ตรงนี้แหล่ะ เพลินลูกเพลินหลาน เพลินสมบัติ เพลินลาภยศตำแหน่ง เพลินคนสรรเสริญเยินยอ เพลินเลยลืมตายเลยคิดว่าตัวไม่ตายอย่างนั้น จะแก่แค่ไหนอายุแค่ไหนเนี่ยก็ยังเพลินอยู่ ยังคิดว่าเราไม่ตาย เราไม่ตายอย่างนั้น ยังเพลิดยังเพลิน อรูปพรหมยิ่งกว่านั้นอีก เพราะความเพลินอยู่มนุษย์นี้ไม่กี่ปีหรอก ๗๐, ๘๐, ๑๐๐ ปี ตายแล้ว แต่เพลินในอรูปภพนี้ ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้นี่เป็นแสนพระองค์ อรูปพรหมยังไม่ลงมาเกิดเลยยังเพลินสนุก

 

    แล้วที่จริงนี่สมาบัติ ๘ นั่นเป็นสุขจริง ๆ เวลาที่ใจหยุดนิ่งจิตมันขยายตัว มันปลอดโปร่งเบาสบาย ความทุกข์มันเข้าไปไม่ถึง สบายจริง ๆ แต่พระพุทธเจ้าท่านเห็นว่านี่มันยังไม่เที่ยง ยังไม่คงที่ ไม่คงที่เรื่องอะไรล่ะ คนมีปัญญาอย่างเราหรือจะไปยึดเอาไว้ มันยังไม่จริง มันยังไม่ใช่ของจริงน่ะ แต่ว่ามันใกล้เคียงความจริงไปเท่านั้น แล้วท่านก็เลยปล่อย อย่างนี้เขาเรียกว่า ดับขันธ์ 

 

    ดับขันธปรินิพพาน เห็นไหมท่านดับมาตลอดเลย ไม่ติดใจในกายมนุษย์ ไม่ติดใจในกายทิพย์ ไม่ติดใจในกายพรหม ไม่ติดใจในกายอรูปพรหม ไม่ติดอะไรเลยในภพทั้งสาม ใครจะให้ไปเป็นใหญ่เป็นโต เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จักรพรรดิ ปกครองอะไรก็ตาม ท่านไม่เอาทั้งนั้น ลาภยศสรรเสริญสุขมากมายก็เฉย ๆ เห็นแล้วมันยังไม่จริง เอ้าจะให้เป็นใหญ่ในสวรรค์ เอานรกสวรรค์มาเทียบ เอ้าให้ปกครองสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ให้หมดเลย อยู่ในอำนาจหมด สมบัติให้หมดเลย ท่านก็ตรวจตราดูแล้ว มันก็ยังไม่จริงพระอินทร์ยังจุติ ท้าวสักกะเทวราชจุติ ของชั่วครั้งชั่วคราวมองเห็นตลอด ให้สมบัติของพรหมอีก เอามาให้ทั้งหมดเลยในพรหมโลก เห็นแล้วมันก็ไอ้อย่างนั้น พอหมดกำลังบุญแล้วล่ะก็ ก็ต้องจุติ สมบัติผลัดกันชมอย่างนั้น อรูปพรหมก็มองตรวจตราด้วยญาณของธรรมกาย เห็นได้ด้วยตาธรรมกาย

 

      ธรรมกายนี่เป็นกายที่นอกภพ เป็นกายของผู้รู้ผู้เห็นไปตามความเป็นจริง รู้เห็นไปตามความเป็นจริงคำนี้สำคัญนะ คือสิ่งอะไร ไม่เที่ยงก็เห็นว่าไม่เที่ยง อะไรเป็นทุกข์ก็เห็นว่าเป็นทุกข์ อะไรที่ไม่ใช่ตัวตนก็เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน แล้วสิ่งอะไรที่เที่ยงคงที่ก็เห็นว่าเที่ยงจริง ๆ น่ะ เป็นอมตธรรมจริง ๆ ก็เห็น สิ่งอะไรที่เป็นสุขจริงๆ เลย เป็นสุขล้วน ๆ เค้าเรียกเอกันตบรมสุขหรือสุขของพระนิพพานก็เห็นชัด เป็นสุขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่จะดียิ่งขึ้น แล้วสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารเป็นตัวตนจริง ๆ มองเห็นชัด อย่างนี้เขาเรียกว่าเห็นไปตามความเป็นจริงด้วยตาธรรมกายเนี่ย

 


    ธรรมกายจะเห็นอย่างนั้น แต่มนุษย์ไม่เห็นอย่างนั้นหรอก สิ่งอะไรไม่เที่ยงไม่คงที่ ยังเห็นว่าเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์ยังเห็นเป็นสุข อย่างกายมนุษย์นี้ มันไม่มีความคงทนหรอก จะเป็นหนุ่มเป็นสาวสวยงามอย่างนี้ตลอดไปมันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังไปฝันมัน ยังค้านอยู่ในใจอย่างนั้น จะแก่เฒ่าแค่ไหนก็หาเครื่องประดับประดามาตกแต่งกลบเกลื่อน ไอ้ความเป็นจริงหมดไป ก็ไม่ยอมรับอันนี้ ไม่เห็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านว่าไอ้นี่มันเป็นทุกข์นะ เพราะท่านเห็นด้วยธรรมกาย ตามนุษย์เห็นตรงกันข้ามว่าไอ้นี่สุข ได้อย่างนี้มันสุข ดื่มเหล้าสุข เล่นไพ่สุข อะไรก็เห็นเป็นสุขทั้งนั้น เที่ยวเตร่สนุกสนาน เพลิดเพลิน สุขทั้งนั้น นี่มนุษย์เห็นอย่างนี้

 

    พระพุทธเจ้าท่านเห็นว่าไอ้ทุกข์มันซ้อนอยู่ในสุข มันก็สุขไม่จริง เห็นไปตามความเป็นจริง นี่ธรรมกายจะเห็นอย่างนั้นนะ มนุษย์เห็นอย่าง ธรรมกายเห็นอีกอย่าง เห็นอย่างนี้เค้าเรียกว่าเจริญวิปัสสนา ทั้งรู้ทั้งเห็นได้รอบตัวกว้างขวาง แล้วเห็นในนิพพานเลย เห็นในภพสามด้วยธรรมกายของท่าน มันก็มีเครื่องเทียบ ไอ้ของในภพสามเป็นอย่างไร ของในนิพพานเป็นอย่างไร 

 

    ธรรมกายไปตรวจตราตลอดหมด ภพสามก็ตรวจตลอด นิพพานก็ไปตรวจตลอด พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ ไปพูดไปคุยจับมือถือแขนนั่นเห็นหมด ไปตามกำลังญาณของตัว เห็นด้วยธรรมกายอย่างนี้แหล่ะ พอเห็นก็หน่าย สิ่งไอ้ที่ไม่จริงในภพทั้งสาม แล้วก็ผูกพันกับพระนิพพานเลย เอานิพพานเป็นอารมณ์เลยไอ้ตอนนี้น่ะ แต่ก่อนเอากามเป็นอารมณ์ เอาเรื่องของกามรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเป็นอารมณ์เลย ตรึกนั่งนอนยืนเดินก็คิดแต่ไอ้เรื่องอย่างนี้ กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นไฟ นึกเรื่องนี้นะรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสธรรมารมณ์

 

 
    แต่ธรรมกายพอเห็นของดีเข้าแล้วเอานิพพานเป็นอารมณ์ ใจเป็นสุขเย็นสบาย สบายอกสบายใจ เบิกบาน จะนั่งนอนยืนเดินที่ไหนมีสุขทั้งนั้นสบาย เหมือนคนหายป่วยแล้ว สบายอกสบายใจ แต่ชาวโลกเอากามเป็นอารมณ์ก็มีสุขมั่งทุกข์มั่ง วนเวียนกันอยู่เดี๋ยวกลุ้มใจ เสียใจ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ ก็วนเวียนกันอยู่อย่างนั้น นี่พระพุทธเจ้าเห็นอย่างนี้ท่านก็ดับขันธปรินิพพาน ปล่อยวางหมด เข้าสู่พระนิพพานด้วยธรรมกายนับพระองค์ไม่ถ้วน มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพานเต็มไปหมดเลย

 

    วันนี้นี่แหล่ะที่เราจะเอาดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาว ไปบูชา แด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เห็นก็ให้ทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งเป็นปากประตูพระนิพพาน เป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน เอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ ที่รู้เห็นได้แค่ไหน ก็เอาใจหยุดอยู่ตรงนั้น หยุดไปตามลำดับ ส่วนคุณยายท่านหรือผู้ที่ได้ธรรมกายก็รู้เห็นได้กว้างขวางกว่า เขาจะได้นำเอาธูปเทียน อาหารหวานคาวของทุก ๆ ท่านที่มาในวันนี้ ถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปผูกพันอย่างนั้น ไปถวายหมด 

 

    เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไป เราก็น้อมใจของพวกเรา อาหารหวานคาว ดอกไม้ ธูปเทียน น้อมขึ้นไปถวาย ถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธบูชานะ น้อมเข้าไป น้อมเข้าไปถวายทุก ๆ พระองค์ นับพระองค์ไม่ถ้วน มากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้ง ๔ เราก็น้อมขึ้นไปถวายให้หมดทุก ๆ พระองค์ กระดิกจิตนึกในใจของเรา และกราบท่านขอบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์ อำนาจวาสนา ให้พวกเราทุกคนนี้ ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ วาจา บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์ใจ ให้ได้สำเร็จมรรคผล ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ถ้าหากยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ให้สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ภายนอกแล้วก็ทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายนอกพอยังชีพ เป็นเครื่องสนับสนุนให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงทรัพย์ภายในได้ทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน อธิษฐานจิตกันไปอย่างนี้ ทุก ๆ คนนะ
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.054989683628082 Mins