โคตรภูญาณ

วันที่ 14 กพ. พ.ศ.2567

14-2-67-1-b.png

๑๓. โคตรภูญาณ


              โคตรภูญาณ คือปัญญาทำลายโคตรของปุถุชน เข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้า เป็นญาณที่พระนิพพาน อนุโลมญาณเป็นญาณทำลายกิเลส แต่ไม่สามารถเห็นนิพพาน แต่โคตรภูญาณเป็นญาณเห็นพระนิพพาน


               ปุถุ แปลว่า หนา ปุถุชน จึงแปลว่า ชนผู้หนา มีความหมายถึงคน ๙ ชนิด


๑. เป็นผู้มีกิเลสประการต่าง ๆ หนาแน่น เช่น สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ฯลฯ
๒. หนาด้วยคติ ๕ คือไม่ยอมออกให้พ้นจาก นิรยคติ ติรัจฉานคติ ปิตติวิสัยคติ มนุสสคติ เทวคติ
๓. หนาด้วยสังขาร คือ ปุญญภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร
๔. หนาด้วยโอฆะ ทั้ง ๔ มีทิฏโฐฆะ กาโมฆะ ภโวฆะ อวิชโชฆะ
๕. หนาด้วยความเร่าร้อน จากราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
๖. หนาแน่นด้วยความพอใจ กำหนัดยินดี ติดใจ ของอยู่ จมอยู่ หลงอยู่ในกามคุณ
๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
๗. หนาด้วยการครอบงำของนิวรณ์ ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
๘. หนาด้วยการลงสู่ธรรมฝ่ายต่ำ หันหลังให้อารยธรรม คือ ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่คุณทาน มีความบริสุทธิ์ เป็นสัมมาทิฏฐิ และมีปัญญา
๙. หนาด้วยการปราศจากสารธรรม ทั้ง ๕ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา


               ปุถุชนแบ่งออกเป็น ๒ พวก


อันธปุถุชน อันธะ แปลว่า บอด พวกนี้เรียกว่า ทั้งหนา ทั้งบอด ไม่ได้เล่าเรียน ไม่ได้ปฏิบัติในคุณงามความดีอันใด


กัลยาณปุถุชน เป็นผู้ยังมีกิเลสอยู่หนาแน่นก็จริง แต่ก็เป็นคนดี เพราะได้เล่าเรียน ได้ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม


                 โคตรภูญาณ เป็นญาณที่ทำลายโคตรของปุถุชนทั้ง ๒ ประเภท แล้วหมุนผู้ปฏิบัติให้หลุดพ้นไปจากสังขารนิมิต1 ภายนอก หมายถึงเมื่อบรรลุโคตรภูญาณแล้ว อกุศลเกิดขึ้นไม่ได้เลยในขณะนั้น เป็นญาณที่สามารถรู้ไปในพระนิพพาน แต่ยังไม่สามารถทำลายกิเลสทั้งหลายให้หมดลงไปได้โดยเด็ดขาด แต่ทำหน้าที่โดนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร


                  เมื่อใดโคตรภูญาณเกิดขึ้นแล้ว ในทันทีนั้นมัคคญาณ ผลญาณ อันเป็นญาณในโลกุตตระจะเกิดตามมาทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น วิถีจิต2 คือ
๑. มโนทวาร   รู้รูปนามเป็นอารมณ์
๒. อนุโลม ขณะที่ ๑   รู้รูปนาม โดยไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ ทำลายกิเลส
๓. อนุโลม ขณะที่ ๒   รู้รูปนาม โดยไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ ทำลายกิเลส
๔. อนุโลม ขณะที่ ๓    รู้รูปนาม โดยไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ ทำลายกิเลส
๕. โคตรภู   เป็นขณะน้อมไปรู้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่ได้ทําลายกิเลส ทิ้งรูปนามแล้ว
๖. มัคค   เป็นขณะเห็นพระนิพพาน ดับรูปนามเด็ดขาด
๗. ผล   เป็นขณะเห็นและถือเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
๘. ผล   เป็นขณะเห็นและถือเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
๙. ปัจจเวกขณะ   ขณะพิจารณา มรรค ผล นิพพาน และกิเลสที่เหลือ หรือทีละแล้วต่อไป ซึ่งเป็นขณะญาณออกจากโลกีย์ มาสู่โลกุตตระ ทิ้งอารมณ์ของโลกีย์ มารับอารมณ์ของโลกุตตระสืบไป

 

                      การทำงานของจิตในญาณขั้นนี้ อุปมาเหมือนคนต้องการข้ามลำธาร วิ่งมาด้วยกำลังแรงพอถึงริมธารก็จับเถาวัลย์ที่ห้อยอยู่ทั้งที่กำลังวิ่งเต็มที่ โยนตัวข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งเมื่อข้ามพ้นและทรงตัวได้อย่างสบายดีแล้วก็ปล่อยเถาวัลย์


                      การวิ่งตั้งแต่เริ่มต้น และค่อยเร็วเร่งทวีขึ้นตามลำดับ เหมือนการปฏิบัติตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณเรื่อย ๆ ถึงสังขารุเปกขาญาณ มาตามลำดับญาณจน อันมีกำลังกล้ารอต่อไปไม่ได้
 

                       อาการจับเชือกได้มั่นคงแน่ใจ เป็นอาวัชชนจิต อันเป็นจิตที่เกิดก่อนอนุโลมญาณ
                       ขณะโยนตัว เปรียบได้กับ ปฐมอนุโลมชวนจิตเกิด (ขั้นบริกรรม)
                        การคล้อยตัวไปตามแรงโยน เท่ากับเป็น อนุโลมชวนจิต (ขั้นอุปจาร)
                       เมื่อโยนตัวมาอีกฟากหนึ่งแต่ยังไม่ได้ปล่อยเชือก เท่ากับเป็น ตติยอนุโลมชวนจิตเกิด (อนุโลม)
                        การปล่อยเชือกออกจากมือเหมือนการปล่อยรูปนาม ดับสิ้นแห่งโลกีย์ เท่ากับมัคคชวนจิตเกิด


                         การปล่อยเชือกจึงเหมือนการตัดโคตรปุถุชน การทรงตัวอยู่บนดินอีกฟากหนึ่ง
เรียบร้อย เท่ากับได้ปฐมผลชวนจิตเกิด

                        หรือจะอุปมาเหมือนคนแบกของหนักมากเดินไป ยิ่งไปก็ยิ่งหนักขึ้นทุกทีๆ จนถึงที่สุดทนไม่ไหว ต้องปลดของลงจากบ่า จึงได้ความสบาย ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
                         โคตรภูญาณเป็นยอดของวิปัสสนาญาณ ไม่จัดเป็นวิสุทธิที่ ๖ คือ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะไม่ได้พิจารณารูปนาม และไม่จัดเป็นวิสุทธิที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะไม่ได้ทำกิเลสสิ้นไป วิสุทธิที่ ๖ เป็นโลกียะ วิสุทธิ ๗ เป็นโลกุตตระ โคตรภูญาณอยู่ระหว่าง
วิสุทธิ ๖ ต่อกับวิสุทธิที่ ๗

                          หน้าที่ของโคตรภูญาณนอกจากโอนจากโคตรปุถุชนเป็นอริยะแล้ว หน้าที่อย่างอื่นไม่มีหน้าที่กำจัดความมืดคือกิเลสอนุโลมญาณก็จัดกระทำไปเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของโลกุตตระอื่น ๆ ก็ยังมาไม่ถึง โคตรภูญาณในขณะนี้จึงมีเพียงนิพพานเป็นอารมณ์ ปราศจากรูปนามเป็นอารมณ์ ใจจดจ่อฝักใฝ่อยู่ในนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น เพื่อให้ สำเร็จเป็นปัจจัยของการเกิดมรรค


                          ความหมายของโคตรภู ตามคำศัพท์นั้น มีอยู่หลายนัย เช่น
นัยที่หนึ่ง หมายถึง ปัญญาที่
- ทำให้รูปนามดับไป
- ดับความเป็นไปไม่ขาดสายของรูปนาม
- ดับความเข้าใจผิดว่ารูปนามเป็นของเที่ยง ยั่งยืน เป็นสุข เป็นตัวตน
- ดับการถือปฏิสนธิ เหลือเพียงอย่างมาก ๗ ชาติ
- ดับคติชั่ว
- ดับเหตุของการปฏิสนธิ
- ดับขันธ์ทั้งหลาย เกิดอย่างมากอีก ๗ ชาติ
- ดับวิบากกรรมให้น้อยลง
- ดับชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะ
- ดับสังขารนิมิตภายนอก
นัยที่สอง หมายถึงปัญญาที่แล่นไปสู่ความเป็นไปในความเป็นไปของนัยที่หนึ่ง
นัยที่สาม หมายถึงปัญญาที่รวมความหมายของนัยที่หนึ่ง และนัยที่สองเข้าด้วยกัน
นัยที่สี่ หมายถึงปัญญาที่ออกจากความเป็นไปอย่างนัยที่หนึ่ง
นัยที่ห้า หมายถึงปัญญาที่ออกจากนัยที่สี่แล้วแล่นไปสู่สิ่งตรงกันข้าม
นัยที่หก หมายถึงปัญญาที่แล่นไปสู่ที่ตรงข้ามกับนัยที่สี่
นัยที่เจ็ด ปัญญาที่หมุนออกไปจากความเป็นไปอย่างนัยที่หนึ่ง


              โคตรภูธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ มี ๘ คือ เกิดได้ตั้งแต่ปฐมฌาน และเกิดทุกครั้งที่เปลี่ยนลำดับขั้นฌาน ส่วนที่เกิดด้วยอำนาจวิปัสสนามี ๑๐ เกิดตามลำดับขั้นอริยมรรคอริยผล ๘ ก่อนเข้าอนิมิตตวิหารสมาบัติและก่อนเข้าสุญญตวิหารสมาบัติ



          ให้อิทธิบาทแก่กล้า           กายสิทธิ์
ใจเปล่งปลั่งบุญญฤทธิ์          ร่วงรุ้ง
พุทธธรรมแจ่มดวงจิต            ใสสว่าง
วางจักรวาลใต้อุ้ง                       ฝ่าเท้าสุญญตา


                                            
อังคาร กัลยาณพงศ์



 

 

1สังขารนิมิต แปลว่าเครื่องหมายของรูปนาม ภายนอก คือนอกจากอกุศล


2การทํางาน หรือการเดินทางของจิตจะต่อเนื่องกัน ตามลำดับขณะของจิตดังนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.051220182577769 Mins