ปัจจเวกขณญาณ

วันที่ 17 กพ. พ.ศ.2567

17-2-67-1-b.png

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ


ปัจจเวกขณญาณ คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการพิจารณา
- มรรค ผล นิพพาน และ
- กิเลสที่เหลืออยู่ และกิเลสที่ละแล้ว


                ปัจจเวกขณญาณ ๕ เกิดขึ้นได้แก่ พระอริยบุคคลเบื้องต้น ๓ จำพวก ไม่เกิดแก่พระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ไม่มีกิเลสเหลืออยู่ให้พิจารณาอีกแล้ว ญาณของพระอริยบุคคลที่เกิดจาก
 

                 การพิจารณามัคคญาณที่ได้มาตามลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณ เรียกว่า มัคคปัจจเวกขณญาณ พิจารณามัคคเป็นอารมณ์


ถ้าพิจารณาในผลญาณ ก็เรียกว่า ผลปัจจเวกขณญาณ
ถ้าพิจารณาในกิเลสที่ประหาณได้สิ้นแล้ว เรียก ปหีนกิเลสปัจจเวกขณญาณ
ถ้าพิจารณาในกิเลสที่ยังเหลืออยู่ เรียก อวสิฏฐกิเลสปัจจเวกขณญาณ
ถ้าพิจารณาในพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรียก นิพพานปัจจเวกขณญาณ


                  ปัจจเวกขณญาณของพระอริยบุคคล ๓ ประเภทแรก มีอย่างละ ๕ ขณะ สำหรับพระอรหันต์มีเพียง ๔ ขณะ เพราะท่านไม่มีการสำรวจทบทวนดูกิเลสที่เหลือ


                   ญาณนี้เป็นญาณที่พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูกิเลสที่เหลือ


                   รวมวิปัสสนาญาณทั้งสิ้น ๑๖ หากผู้ใดปฏิบัติเป็นผลสำเร็จ ถือได้ว่าดำเนินถึงจุดหมายปลายทางอันยิ่งใหญ่ในชีวิต


ปฐพฺยา เอกรชฺเชน          สคฺคสฺส คมเนน วา
สพฺพโลกาธิปฺปจฺเจน       โสตาปตฺติผลํ วรํฯ


โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่า ความเป็นเจ้าจักรพรรดิ กว่าท้าว
สักกเทวราช หรือ กว่าท้าวมหาพรหมผู้มีมหิทธานุภาพยิ่งใหญ่


                   เมื่อผู้ปฏิบัติสำเร็จการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ เช่นการบรรลุฌาน บรรลุผล บรรลุนิโรธ ต้องการเสพอยู่ในอารมณ์ที่ตนได้นั้นเป็นเวลานาน ๆ เรียกว่า การเข้าสมาบัติ


อยู่ในฌาน เรียกว่า ฌานสมาบัติ
อยู่ในผล เรียกว่า ผลสมาบัติ
อยู่ในนิโรธ เรียกว่า นิโรธสมาบัติ


                   ฌานสมาบัติ ผู้จะเข้าได้ ต้องเป็นผู้ที่ทำสมถกรรมฐานมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌาน ถึงปัญจมฌาน


(กรรมฐาน ๔๐ ในสมถภาวนาที่สามารถเป็นฌานได้มี

อานาปานสติ กสิณ ๑๐       ปฏิบัติได้ถึง ปัญจมฌาน
อุเบกขาอัปปมัญญา           ปฏิบัติได้เฉพาะปัญจมฌาน
อรูป ๔                              ได้ถึงอรูปฌาน (ปัญจมฌาน) แต่ก่อนจะปฏิบัติอรูปกรรมฐานต้องผ่านรูปฌานก่อน
อัปปมัญญา ๓                    (เมตตา กรุณา มุทิตา) ได้เพียงจตุตถฌาน
อสุภะ ๑๐                           ได้เพียง ปฐมฌาน
กายคตาสติ                         ได้เพียงปฐมฌาน

                 รวมทำฌานได้ ๓๐ ที่เหลืออีก ๑๐ คือ อนุสสติ ๘ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุ ววัตถาน ฌานไม่เกิด ได้อย่างมากเพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น)


                ผู้ประสงค์เข้าอยู่ในฌานสมาบัติ เมื่อทำการเพ่งอารมณ์จนอยู่ในฌานแน่วแน่แล้ว ก็ไม่ทำการยกอารมณ์ขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ตามหลักวิปัสสนาแต่ประการใด กลับเพ่งนิ่งอยู่เช่นนั้นจนจิตดับไม่ยอมรับอารมณ์ทั้งปวง ไม่ได้ยินเสียงใด ๆ ไม่เห็นรูปใด ไม่ได้กลิ่นใด กายไม่รับรู้สัมผัส ไม่มีง่วง ลืมอารมณ์ทั้งปวงทั้งสิ้น มีแต่อิ่มใจ สุขใจ นิ่งแน่วแน่ อยู่ในอารมณ์ของฌานเพียงอย่างเดียว การเพ่งโดยไม่ยอมปล่อยเลยตลอดเวลา เรียกว่า ฌานสมาบัติ


                  ผลสมาบัติ พระอริยบุคคลสำเร็จอริยผลญาณลำดับใดลำดับหนึ่งแล้วเท่านั้น จึงจะเข้าผลสมาบัติได้ แต่ก็ได้เฉพาะอริยผลที่ตนสําเร็จแล้วเท่านั้น ที่ตนยังไม่สําเร็จ จะเข้าผลสมาบัติไม่ได้ ขณะเข้าผลสมาบัติ พระอริยเจ้านั้น ๆ ย่อมมีอารมณ์เป็นพระนิพพานอย่างเดียว มีความสุขคล้ายอยู่ในนิพพานชั่วคราวในชีวิตนี้ แต่มีกำหนดเท่ากำลังของตนบางคนเข้าอยู่ได้นานมากน้อยต่างกัน


                  ถ้าพระอริยเจ้าท่านนั้น เมื่อแรกบรรลุอริยมัคคในฌานใด เวลาเข้าผลสมาบัติก็เข้าในฌานนั้น


สภาวะการตั้งอยู่ในผลสมาบัติมีหลัก ๓ ประการคือ
- ไม่เอารูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์
- ตั้งจิตกำหนดเวลาเข้า และกำหนดเวลาออกจากผลสมาบัตินั้น
- ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ยังอยู่ในสมาบัติต่อ ในเวลาอยู่ในผลสมาบัตินั้น ไม่เอาใจใส่นิมิตทั้งปวง มีแต่นิพพานเป็นอารมณ์ประการเดียว


                   นิโรธสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในความดับของจิตและเจตสิก วิธีการคือเข้าฌานตามลำดับตั้งแต่ปฐมฌานไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วเข้านิโรธสมาบัติต่อไปเลย


                   วิธีเข้าสมาบัติประเภทนี้ เริ่มต้นด้วยการเข้ามหัคคตสมาบัติตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ จึงให้ทำบุพกิจ ๔ ประการก่อนคือ


๑. อธิษฐานว่า วัตถุสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว หรือไกลตัว เช่น จีวร บาตร บริขารต่าง ๆ อย่ามีสิ่งใดมาทำอันตรายให้เสียหายไป
๒. เมื่อเข้าสมาบัติอยู่ หากคณะสงฆ์ที่กำลังประชุมสันนิบาตกันอยู่ต้องการตัว ก็ให้ออกจากสมาบัติเองทันที
๓. ถ้าพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธประสงค์จะพบ รับสั่งหา ให้ออกจากสมาบัติเองทันที
๔. ต้องพิจารณาอายุขัยของตัวเอง ถ้าเห็นว่าจะหมดอายุในระหว่าง ๗ วัน ไม่ควรเข้าสมาบัติ เพราะยังเป็นพระอนาคามีอยู่ย่อมเสียประโยชน์ ควรปฏิบัติต่อให้เป็นพระอรหันต์ หรือถ้าเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ยังไม่ได้โปรดเวไนยสัตว์ ก็ควรให้คำสั่งสอนต่อผู้อื่นก่อน


                    เมื่อกระทำบุพกิจเรียบร้อยแล้ว จึงเข้านิโรธสมาบัติโดยเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เมื่อเนวสัญญานาสัญญายตนชวนะดับลง ย่อมเข้าถึงนิโรธสมาบัติทันที


                    ผู้ที่เป็นมนุษย์สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ไม่เกิน ๗ วัน เพราะโอชาของอาหารมีความสามารถคุ้มครองร่างกายได้เพียงเท่านั้น แต่ในรูปพรหมไม่มีการจำกัดเวลา นานเท่าใดก็ได้ เพราะพรหมไม่ต้องบริโภคอาหาร มีปีติเป็นอาหารอยู่ในตนเองแล้ว


                   ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติได้ จึงเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา และวสี ชำนาญในสัมปทา ๔ มี
๑. มีกําลังในวิปัสสนา และมีกำลังในสมถะ
๒. ระงับจากไตรพิธสังขาร คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร โดยเฉพาะกายสังขารถึงกับหยุดการหายใจเข้าออก
๓. ประพฤติเป็นไปตามโสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖.
๔. ประพฤติเป็นไปในนวานุปุพพวิหารสมาบัติ คือชำนาญในการเข้าอยู่ในสมาบัติทั้ง ๙ มาก่อน


อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนา


                  ไม่มีประโยชน์ใดจะยิ่งกว่าการเจริญวิปัสสนา กล่าวโดยย่อที่สุด คือ ทำให้ปัญญาสามารถทำลายกิเลส ทำลายวัฏฏะ อันเป็นประโยชน์สูงสุด หากบารมียังไม่แก่กล้าพอจะเข้าพระนิพพานก็ยัง


๑. มีสติไม่ตายด้วยความหลง เฉพาะชาตินั้นปิดอบายภูมิได้
๒ มีสุคติภพ คือมนุษย์และเทวดาเป็นที่ไป ตามหลักฐานในคัมภีร์โบราณ
๓. มีอุปนิสัยติดสันดานไปในภพหน้า


                   บุคคลที่จะเข้าสมาบัติชนิดนี้ได้ ต้องเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ชนิดที่ได้สมาบัติ ๘ เท่านั้น เพราะเป็นปริปุรณการีบุคคล บริบูรณ์ด้วยสมาธิ บุคคลอย่างอื่น แม้เป็นอริยบุคคลแล้ว ก็ไม่อาจเข้านิโรธสมาบัติได้


• น ปณฺฑิตา อตฺตสุขสฺส                   เหตุ ปาปานี กมฺมานิ สมาจรนฺติ
บัณฑิตไม่ประกอบกรรมชั่ว                เพราะเห็นแก่ความสุขส่วนตัว •

พุทธพจน์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.097880101203918 Mins