ความสุขจากสมาธิ

วันที่ 25 มีค. พ.ศ.2567

250367b01.jpg
 

ความสุขจากสมาธิ
๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย 
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)


                ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากัน ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้ายให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ แค่ผนังตาปิดเบา ๆ อย่าไปบีบหัวตาแบบคนทำตาหยี อย่าไปกดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย เพราะว่าเราจะต้องใช้เวลาต่อจากนี้ไป ๑ ชั่วโมงเต็ม สำหรับการเจริญภาวนา เพราะฉะนั้นท่านที่มาใหม่ ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการนั่งนาน ๆ อาจจะปวดเมื่อยบ้าง แต่ก็แก้ไขได้ ด้วยการขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เมื่อเราปรับท่านั่งของเราให้เหมาะสมถูกส่วนแล้ว 

 


                ต่อจากนี้ก็หันมาปรับใจของเราใจที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงสมาธิ ถึงพระธรรมกายภายในนั้น จะต้องเป็นใจที่ใส สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีความโลภความโกรธ ความหลง หงุดหงิดงุ่นง่าน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความสงสัยลังเล ความเคลิ้ม ความท้อใจเป็นต้นใจจะต้องอยู่ในสภาพที่สบาย ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ให้มีเครื่องกังวลใจอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจการงานการศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องครอบครัว เรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ก็ตาม จะต้องสลัดให้หลุดหมดสิ้นจากใจ ให้สภาพใจของเราเป็นประดุจภาชนะว่างเปล่า ๆ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ทำตัวประหนึ่งว่า เราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีภารกิจเครื่องกังวลใจ ไม่เคยมีธุรกิจการงานมาก่อนเป็นต้น แล้วก็ทำใจของเราให้ปลอดโปร่ง ให้แช่มชื่น ให้ใสบริสุทธิ์ ให้เยือกเย็น สภาพใจอย่างนี้แหละ เป็นใจที่เหมาะสมที่จะหยุดที่จะนิ่ง ที่จะเข้าถึงสมาธิ เข้าถึงกายในกายหรือเข้าถึงพระธรรมกายนี้

 


                เพราะฉะนั้นในตอนแรก ๆ นี้ เราอาจจะมีความรู้สึกว่า เราเสียเวลากันนิดหน่อยในการที่พยายามปรับให้กายและใจ สัมพันธ์กัน ให้มีสภาพเหมาะสมที่จะเข้าถึงสมาธิ แต่การเสียเวลาในเบื้องต้นนี้ เพียงเล็กน้อยนี้ เราจะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อมาในภายหลัง เพราะฉะนั้นทุกครั้ง เราจะต้องพยายามปรับปรุงทั้งกายทั้งใจนั้นให้เหมาะสม ดังกล่าวแล้ว จนกว่าใจของเราจะเกิดความคุ้นเคย พอคุ้นหนักเข้าเราก็จะไม่เสียเวลา พอคิดว่าจะทำสมาธิ จะฝึกใจให้หยุดนิ่ง ใจของเราก็จะเข้าสู่สภาพที่สบาย ๆ เพราะฉะนั้นนี่มีความจำเป็นสำหรับผู้ที่มาใหม่ ที่ยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องของการทำสมาธิ จะต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจ และส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการทำสมาธินี้เป็นสิ่งที่เหลือวิสัย เป็นสิ่งที่สุดเอื้อม เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับนักบวชเท่านั้น แต่ที่จริงไม่ใช่เลย

 


                สมาธินี่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือจะเป็นฆราวาสก็ตาม ที่ว่ามีความจำเป็นเพราะว่าชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่ตื่นนอนเรื่อยมาจนกระทั่งเข้านอน ใจของเรานั้นเกี่ยวพันกับการทำสมาธิตลอด แต่ว่าเป็นสมาธิในระดับพื้นผิว สมาธิอ่อน ๆ อย่างเช่น เราจะสังเกตได้ว่า ในช่วงไหนที่ใจของเราปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่มีความคิดอื่นเข้ามาแทรก เราจะรู้สึกว่าใจเรามีพลัง สติกับปัญญาจะเกิดขึ้นในตอนช่วงนั้น ให้เราสามารถเอาชนะอุปสรรคหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะใช้ในการดูหนังสือเล่าเรียนก็ตาม การครองเรือนหรือการประกอบธุรกิจการงานก็ตาม ใจของเรานี่จะพัวพันกับสมาธิตลอดเวลา แต่ว่าเราไม่รู้ตัว นี่คือสมาธิในระดับชีวิตประจำวัน ขั้นพื้นผิวที่เราได้พบปะเจอะเจอมาทุก ๆ วัน แต่เราไม่สังเกต 

 


                วันนี้ที่จะสอนนั้น เป็นสมาธิในระดับที่ลึกลงไปกว่านั้นอีก เป็นสมาธิที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอันบริสุทธิ์ คือการรู้แจ้งเห็นแจ้งเกี่ยวกับชีวิตของเรา เกี่ยวกับเป้าหมายของชีวิต ว่าจะทำอย่างไรจะทำให้ชีวิตของเรานั้นมีสุขเพิ่มขึ้นจนกระทั่งเข้าถึงความสุขอันแท้จริง ความสุขอันบริบูรณ์ ที่ไม่มีความทุกข์เจือปนเลย เพราะชีวิต มนุษย์ทุก ๆ คน มีความปรารถนาที่จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงกันทั้งนั้น แต่ว่า เราไม่รู้จักว่า ความสุขที่แท้จริงน่ะ ลักษณะมันเป็นอย่างไร ตั้งอยู่ที่ตรงไหน แล้วจะเข้าถึงด้วยวิธีการอย่างไรเป็นต้น เราจึงไม่แสวงหา ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นนี่มีความจำเป็นทีเดียว ความสุขที่แท้จริงนั้นจะต้องอาศัยสมาธิ เป็นจุดเชื่อมโยงใจของเรากับความสุขที่แท้จริง ถ้าขาดสมาธิซะแล้ว เราจะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงไม่ได้

 


                พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านตรัสว่า "นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ" ความสุขที่แท้จริงน่ะ หรือสุขอื่นนอกจากใจหยุดใจนิ่งนั้นเป็นไม่มี เพราะฉะนั้นก็สรุปง่าย ๆ ว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นก็คือ ความสุขที่ทำใจให้หยุด ทำใจให้นิ่ง ทำใจให้สงบระงับ ทำใจให้ถึงสมาธินั่นเอง เป็นสุขอย่างยิ่งเป็นสุขที่ไม่มีขอบเขต เป็นสุขที่เป็นอิสระ เป็นสุขที่เยือกเย็น ละเอียดอ่อน นุ่มนวล เป็นสุขที่ไม่ซ้ำกับความสุขที่เคยเจอมาก่อน ความสุขชนิดนี้เข้าถึงได้ด้วยสมาธิ เมื่อใจหยุดใจนิ่ง แล้วความสุขชนิดนี้ก็ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่สุดเอื้อม เป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าถึงได้และต้องเข้าถึงทุกคน เพราะว่าที่ตั้งแห่งความสุขนั้นเรามีอยู่ที่เดียวกัน เหมือนกันหมดทุกคน คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ในกลางตัวของเรา สมมติเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุหลังเส้นหนึ่ง ขวาทะลุซ้าย ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาทเหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นั่นเรียกว่า ฐานที่ ๗ เป็นที่ตั้งแห่งความสุขที่แท้จริง ฐานที่ ๗ นี้มีอยู่ในกายมนุษย์ทุก ๆ คน 

 


                เมื่อเอาใจของเรามาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ จะถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใจที่แวบไปแวบมา นึกถึงเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคย ถ้าเราประคองให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะถูกกลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ถ้าถูกส่วนจะเห็นดวงธรรมนั้นน่ะ ใสบริสุทธิ์ เท่ากับฟองไข่แดงของไก่ อยู่ที่ตรงนี้แหละ เพราะฉะนั้นทุกคนมีศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ คือปฐมกำเนิดของกายมนุษย์ ถ้าไม่มีดวงธรรมดวงนี้มนุษย์เกิดขึ้นไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ทรงรักษาไว้ซึ่งกายมนุษย์ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ทรงรักษาความเป็นมนุษย์เอาไว้ มีอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ 

 


               เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนตั้งใจจริง ทำตามวิธีที่จะแนะนำต่อไป เราจะต้องเข้าถึงความสุขที่แท้จริงจนได้ และก็ต้องได้ทุก ๆ คน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีความเพียร และความอดทนแค่ไหน ถ้ามีความเพียรทำอย่างสม่ำเสมอ ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน เพียรทำเรื่อยไป ไม่ช้าเราก็จะต้องเข้าถึงกันทุก ๆ คน เพราะฉะนั้นสมาธินี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้เหลือวิสัยสำหรับพวกเราทุก ๆ คน เพราะฉะนั้นท่านที่มาใหม่ ที่เคยได้ยินได้ฟังว่า การได้เข้าถึงสมาธิ ถึงธรรมภายในนั้น เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยสุดเอื้อมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่จริง สิ่งที่จริง ๆ คือเราสามารถเข้าถึงได้ ถ้าเรามีความเพียรและความอดทน ทำให้ถูกตามวิธีการที่จะได้แนะนำต่อไปแล้วจะต้องเข้าถึงกันทุก ๆ คนนะจ๊ะ

 


                เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปจะได้แนะนำวิธีทำสมาธิ ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง สำหรับท่านที่มาใหม่ เพื่อจะได้จำวิธีการนี้ไปปฏิบัติต่อที่บ้าน และสำหรับวันนี้ก็เพื่อจะชำระกาย วาจา ใจของเราให้สะอาดให้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์จนกระทั่งเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศล ฐานที่ตั้งของใจนั้นมีทั้งหมด ๗ ฐาน ท่านที่มาใหม่นึกตามไปนะจ๊ะ ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตา ตรงตำแหน่งที่น้ำตาไหล ท่านหญิงนี่อยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ที่กลางกั๊ก กึ่งกลางกายของเรา ในระดับเดียวกับสะดือของเรา

 


                สมมติเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ หรือกลางกั๊ก ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตำแหน่งตรงนี้นะจ๊ะ ที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เจ็ดฐานทั้งหมดนี้เป็นทางเดินของใจ เวลาจะมาเกิดก็เริ่มต้นจากปากช่องจมูก คือกายทิพย์เข้ามาทางปากช่องจมูก เรื่อยมาเลยไปตามฐานต่าง ๆ แล้วก็มาหยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ เวลาจะไปเกิดก็เดินสวนทางกัน คือจากฐานที่ ๗ ถอยหลังเรื่อยไปเลย แล้วก็ออกที่ปากช่องจมูก ถ้าจะไปนิพพานก็เข้ากลางฐานที่ ๗ นั้นเรื่อยไป กลางของกลางตรงฐานที่ ๗ นั้นเรื่อยไปเลย 

 

 

                      เราจะเห็นหนทางของพระอริยเจ้าที่เรียกว่า อริยมรรค หนทางพระอริยเจ้าน่ะ เข้ากลางฐานที่ ๗ นั้น เข้ากลางของกลางไปเรื่อย ๆ จะพบดวงธรรมที่ซ้อน ๆ กันอยู่ภายใน แล้วก็จะพบกายต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ภายใน เช่น กายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม กายธรรมโคตรภูซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหม กายธรรมพระโสดาซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระสกิทาคามีซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระโสดา กายธรรมพระอนาคามีซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอรหัตซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระอนาคามี กายต่าง ๆ เหล่านี้จะซ้อนกันอยู่ กายที่ละเอียดกว่าก็ซ้อนอยู่ในกายที่หยาบกว่า ซ้อนกันเข้าไปเป็นชั้น ๆ 

 


                  เพราะฉะนั้นหนทางนี้แหละเรียกว่า หนทางของพระอริยเจ้า เพราะการที่จะเป็นพระอริยเจ้านั้น จะต้องปล่อยใจเข้าไปในกลางเส้นทางสายกลางอันนี้เข้าไปเรื่อย ๆ กลางกายเข้าไปตามลำดับ ถ้าเข้าถึงกายธรรมโคตรภู ลักษณะที่สวยงามมาก เป็นลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ งามไม่มีที่ติ ใสบริสุทธิ์ เกตุดอกบัวตูมหน้าตักหย่อนกว่า ๕ วา นิดหน่อย ถ้าเข้าถึงกายธรรมโคตรภูนี้ ก็เป็นโคตรภูบุคคล ถ้าเข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ก็เป็นพระโสดาบัน ถ้าเข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามี ก็เป็นพระสกิทาคามีบุคคล ถ้าเข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี ก็เป็นพระอนาคามีบุคคล ถ้าเข้าถึงกายธรรมอรหัตก็เป็นพระอรหันต์ 

 


                  ความเป็นพระอริยเจ้านี่ อยู่ที่การเข้าถึงกายในกายดังกล่าวแล้ว นี่เป็นแผนผังของชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ คน และกายเหล่านี้ก็มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน ในกายของมนุษย์มีหมดซ้อนกันอยู่ไปตามลำดับ ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายที่หยาบกว่า เราเข้าไปถึงไหนก็เป็นอันนั้นแหละ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กายที่สุดคือกายธรรมอรหัตนั้น นั่นคือเป้าหมายของชีวิตเรา เพราะกายธรรมอรหัตนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้แล้ว ตัดกิเลสได้ขจัดกิเลสอาสวะหมดสิ้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกายธรรมอรหัต ที่เรียกว่าพระอรหันต์ เพราะว่าเข้าถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต เป็นตลอดเวลาเลย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กิเลสอาสวะเข้าไปครอบงำไม่ได้ เมื่อเข้าถึงกายธรรมอรหัตนั้น ความสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้น ที่เรียกว่าเอกันตบรมสุข สุขอย่างเดียว ไม่มีทุกข์เจือปนเลย 

 


                  นี่คือเป้าหมายของชีวิต เป้าหมายของพวกเราทุก ๆ คน จะต้องเข้าไปถึงกายภายในที่ละเอียดที่สุด คือกายธรรมอรหัตนี้ให้ได้ แล้วก็เข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทีเดียว เพราะฉะนั้นแผนผังเหล่านี้มีอยู่ในกายของพวกเราทุก ๆ คน เหลืออย่างเดียวว่าเราจะมีความเพียรความอดทน เอาจริงเอาจังกันแค่ไหน ถ้าเอาจริงเอาจังก็จะต้องเข้าถึงกันอย่างแน่นอน เข้าถึงเมื่อไหร่ เราก็จะรู้จักว่ากายเหล่านั้นเป็นอย่างไร เราจะมีความรู้เกิดขึ้นในตอนนั้นเลย ถึงกายธรรมเมื่อไหร่เนี้ยะ การเห็นนั้นก็จะแตกต่างจากการเห็นด้วยตาของมนุษย์เป็นการเห็นอันวิเศษ ที่แจ่มแจ้ง แล้วก็แตกต่างจากการเห็นด้วยตามนุษย์ 

 


                      เพราะตามนุษย์นั้นเห็นได้ด้านเดียว แต่ว่าตาของกายธรรมนั้นเห็นได้รอบด้าน เห็นได้รอบตัวทีเดียว ความรู้ที่เกิดจากการเห็นได้รอบตัวนั้น เรียกว่า รู้แจ้ง ความรู้แจ้งก็เกิดขึ้น เห็นได้กว้างไกลกว่า กว่าตามนุษย์หยาบ เห็นได้ทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต ทะลุหมดทีเดียว การเห็นอย่างนี้ ภาษาบาลีท่านใช้คำว่า "วิปัสสนา" คือการเห็นอันวิเศษ เห็นได้แจ่มแจ้ง เห็นได้รอบตัว แตกต่างจากการเห็นด้วยตามนุษย์ ธรรมกายนี่จึงเป็นกายที่สำคัญทีเดียวนะจ๊ะ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจปฏิบัติกันให้ดีนะจ๊ะ

 


                      ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจปฏิบัติกันให้ดีนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่เมื่อรู้จักฐานที่ ๗ ดีแล้วว่าอยู่ที่ตำแหน่งซึ่งเหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ มา ๒ นิ้วมือ ในกลางกายของเรา ให้กำหนดเครื่องหมายให้ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้กําหนดเครื่องหมายให้ไสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเราให้กลมรอบตัวคล้ายดวงแก้วมณีโชติรส ดวงแก้วกายสิทธิ์ที่แจกไปนั้นน่ะ กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้ใจของเรา ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ ให้ใจของเรา ตรึกนึกถึงดวงใส 

 


                         หยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ โดยให้เครื่องหมายที่ใสสะอาดนั้น เป็นแหล่งกำเนิดของเสียงภาวนาที่ละเอียดอ่อน โดยให้เครื่องหมายที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ เป็นแหล่งกำเนิดของเสียงภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ ทุกครั้งที่ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ใจของเราจะต้องตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางความใสบริสุทธิ์ ทุกครั้งที่เราตรึกนึกถึงดวงใสบริสุทธิ์ เราจะต้องภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ให้ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะสิบครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ก็ตาม ให้ภาวนาไปเรื่อย ๆ  วัตถุประสงค์ของการภาวนา สัมมาอะระหัง นั้นก็เพื่อไม่ให้ใจของเราไปนึกคิดเรื่องอื่น ให้นึกถึงแต่ดวงใสบริสุทธิ์ ที่กลางกายของเราอย่างเดียว นี่คือวัตถุประสงค์ของการภาวนาสัมมาอะระหัง เราจะภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจจะหยุดจะนิ่ง 

 


                       ใจหยุดนิ่งนี่ให้สังเกตดูว่า เราจะมีความรู้สึกว่า เราไม่อยากภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ไม่อยากจะนึกคิดเรื่องอะไรเลย อยากวางใจเฉย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใส นี่คือลักษณะของใจหยุด เวลาใจหยุดความคิดอื่นจะไม่แทรก เราจะไม่อยากภาวนาสัมมาอะระหังต่อไป อยากวางใจเฉย ๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงเครื่องหมายที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้ ก็อย่าไปฝืนความรู้สึกชนิดนี้ ความรู้สึกที่ไม่อยากภาวนานะอย่าไปฝืนมัน เมื่อไม่อยากภาวนาต่อไปเราก็ไม่ภาวนา ให้ตรึกนึกถึงแต่ดวงใส เอาใจหยุดอยู่ที่กลางดวงใส ให้ทำอย่างนี้นะจ๊ะ ไม่ใช่ว่าพอความรู้สึกไม่อยากภาวนาเกิดขึ้น เรายังฝืนภาวนาต่อไปโดยคิดว่าเราคงลืมไป คงเผลอไปมั้ง แต่ที่จริงไม่ใช่ เราภาวนามาจนกระทั่งใจมันหยุดใจมันนิ่งดีแล้ว คำภาวนาสัมมาอะระหังก็หมดความจำเป็น ไม่ต้องภาวนาต่อไป สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือวางใจให้นิ่งเฉย ๆ ให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่จุดกึ่งกลางความใสบริสุทธิ์ ให้นิ่งให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

 


                       หยุดตรงนี้นี่แหละเป็นตัวสำเร็จทีเดียว พอถูกส่วนไม่ช้าเราจะพบหนทางของพระอริยเจ้า โดยจะพบเบื้องต้นก่อนที่เรียกว่า ปฐมมรรค เราจะพบเห็นปฐมมรรค คือจุดเบื้องต้นที่จะเข้าถึงกายภายใน จุดเบื้องต้นที่จะเข้าถึงพระธรรมกาย จุดเบื้องต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน พอหยุดถูกส่วน เราจะพบอย่างนี้นะจ๊ะ ลักษณะของปฐมมรรค จะมีลักษณะเป็นดวงใสบริสุทธิ์ กลมรอบตัว อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน จะบังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อใจของเราหยุดสนิท พอหยุดสนิทนิ่งจะเข้าถึง ก่อนที่จะเข้าถึงนั้นใจมันจะวูบลงไปนะ เราจะมีอาการรู้สึกคล้าย ๆ กับตกจากที่สูง มันจะวูบหล่นลงไปน่ะ เหมือนเรานั่งหมิ่น ๆ ขอบเตียงขอบเหวอย่างนั้นนะ หรือของปากบ่อน้ำ มันจะวูบลงไป อย่าตกใจนะจ๊ะ อย่ากลัว อย่าไปฝืนมันให้ปล่อยมันไปตามธรรมชาติ เดี๋ยวมันจะวูบลงไป 

 


                       พอถูกส่วนก็เป็นดวงลอยขึ้นมาเลย ลอยขึ้นมาหยุดนิ่งอยู่กลางฐานที่ ๗ นะ ใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน นั่นเราเข้าถึงปฐมมรรคแล้ว  ให้รักษาปฐมมรรคนี้เอาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ฝึกให้ชำนาญทีเดียว ทั้งนั่ง ทั้งนอน ทั้งยืน ทั้งเดิน ทั้งหลับตา ทั้งลืมตา ให้เห็นชัดเจนเท่ากัน บางท่านลืมตาเห็นชัดกว่าหลับตา บางท่านหลับตาเห็นชัดกว่าลืมตา ก็ให้พยายามฝึกทั้งหลับตา ลืมตา ให้เห็นชัดเจนเท่ากัน อันที่จริงลูกนัยน์ตาเราไม่ได้เอามาใช้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ แต่เราอดติดสัญญาเก่า ๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องฝึกให้เห็นทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง ทั้งนอนทั้งยืน ทั้งเดิน หรือจะทำภารกิจอะไรก็ตามให้เห็นให้ตลอด ทั้งหลับตา ลืมตาให้ชัดเจนทีเดียว ใสบริสุทธิ์ เห็นแต่ดวงปฐมมรรคนี้ แค่นี้แว่บเดียวเท่านั้น ได้อานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาลนัก ยิ่งกว่าการสร้างวัดหลาย ๆ วัดอีกทีเดียวเพราะว่าปฐมมรรคนี้เป็นหนทางไปสู่อายตนนิพพาน เราได้จับต้นทางนั้นได้ถูกต้องแล้ว

 


                  เมื่อถูกทางไม่ช้าก็จะถึงที่หมาย ๆ คืออายตนนิพพาน เราจะเข้าถึงได้ ฉะนั้นอันนี้เป็นกุศลใหญ่เป็นบุญอันใหญ่ยิ่งที่เราจะพึงได้เมื่อเราเข้าถึงปฐมมรรคเพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กทีเดียว เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และก็เป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับพวกเราทุก ๆ ท่านจะต้องทำให้ได้ เพราะฉะนั้นให้หมั่นฝึกใจให้หยุดให้นิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้นะจ๊ะ เมื่อเข้าใจดีแล้ว ต่อจากนี้ไปให้ทุกคนตั้งใจเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ โดยให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงใสบริสุทธิ์ ในกลางกายของเรา ให้ทำกันอย่างนี้นะจ๊ะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ เราก็เอาใจของเราให้หยุดในหยุด ๆ ไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ วางใจของเราเบา ๆ ทำใจให้สบาย ๆ เอาใจตรึกไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน ให้วางใจของเราเบา ๆ ให้ถูกส่วน

 


                    ท่านที่เข้าถึงดวงปฐมมรรค เข้าถึงปฐมมรรคแล้วก็ให้เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของปฐมมรรค ท่านที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดก็ให้เอาใจของเราหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด ท่านที่เข้าถึงกายทิพย์ ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายทิพย์ ท่านที่เข้าถึงกายรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายรูปพรหม ท่านที่เข้าถึงกายอรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม ท่านที่เข้าถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายธรรม หยุดให้สนิททีเดียวนะ วางใจของเราเบา ๆ ให้สบาย ๆ ให้ใจใสบริสุทธิ์ ทีเดียวนะจ๊ะ แล้วก็เอาใจหยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง ลงไปตรงกลางกายฐานที่ ๗ ให้ใสในใส ๆ ให้ใสละเอียดทีเดียว ให้ชัดในชัด ๆ ๆ ชัดเหมือนลืมตาเห็นหรือชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็นขึ้นไป ให้ชัดใสบริสุทธิ์ 

 


                 แล้วก็กราบขอบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิ ให้ถึงแก่พวกเราทั้งหลาย ให้ได้ผลบุญในปัจจุบันทันตาเห็น  ให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข ร่างกายแข็งแรง อย่าได้เจ็บ อย่าได้ป่วย อย่าได้ไข้ให้อายุยืนยาว ให้ผิวพรรณวรรณะผ่องใส มีความสุขกาย สุขใจ มีกำลังกาย กำลังใจ ปฏิภาณ ความเฉลียวฉลาด ความรู้ความสามารถ ให้คล่องตัวทีเดียว ให้มีโภคทรัพย์สมบัติได้บังเกิดขึ้น ได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น ให้มีจิตใจที่แข็งแกร่ง ที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายทั้งมวล ที่จะมาขัดขวางในหนทางแห่งการสร้างบารมีให้ได้ ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ให้ขัดแย้งกันเลย ให้บุญหล่อเลี้ยงรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข ท่านที่รับราชการก็ให้ไปให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ เป็นที่ถูกอกถูกใจของเพื่อนร่วมงานหมด ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งหมดเลย ที่ประกอบธุรกิจการงานก็ให้ซื้อง่าย ให้ขายคล่อง ให้กำไรงาม

 


                ที่เป็นนักศึกษาก็ให้เล่าเรียนให้สมความปรารถนา มีดวงปัญญาที่เฉลียวฉลาด แตกฉานแทงตลอด ในความรู้ของครูบาอาจารย์ แล้วก็ให้มีดวงตาเห็นธรรมกันทุก ๆ คน ให้ได้เข้าถึงพระธรรมกาย ให้เข้าถึงไตรสรณคมน์ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งหลาย ให้ประสบพบแต่สิ่งที่ดีงาม แล้วให้ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรให้สมบูรณ์ ให้ได้ตลอดรอดฝั่ง จนกระทั่งหมดอายุขัย อย่าได้เป็นกัลยาณมิตรแค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เลย ให้ได้ไปให้ตลอดให้หมด ให้ผลบุญนี้ติดไปทุก ภพทุกชาติ กระทั่งเข้าสู่นิพพาน เมื่อมาบังเกิดขึ้นให้สมบูรณ์ด้วย รูปสมบัติ ที่งดงาม ที่แข็งแรง ที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของมหาชนทั้งหลาย ให้เกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฐิ ให้แวดวงบุญอยู่ในเส้นทางธรรมกาย ให้มีทรัพย์สมบัติบังเกิดขึ้น ได้สร้างบุญบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น ให้มีคุณสมบัติที่เฉลียวฉลาดแตกฉานแทงตลอดให้หมด ใช้งานได้คล่องให้หมด ให้สมบูรณ์ด้วยลาภ ด้วยยศ ด้วยสรรเสริญและด้วยความสุข

 


                ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ให้มีความเป็นอยู่ที่เป็นสุข สุขกาย สุขใจทุกอย่าง ให้ทับทวีมาเรื่อย ๆ ให้มีความขยันขันแข็งในการสร้างบารมี ในการให้ทาน รักษาศีล และก็เจริญภาวนา ให้มีความขยันขันแข็ง ให้แทงตลอดทั้งทางโลก ทางธรรม กราบทูลพระพุทธเจ้าขอศีล ขอพร ขอบุญท่าน และงานมาฆบูชาที่จะถึงนี้ ก็ให้ทุกคนทำหน้าที่นักสร้างบารมีให้สมบูรณ์ หน้าที่ของกัลยาณมิตรที่ดีเยี่ยม ขอบุญของท่านหล่อเลี้ยงรักษาให้ทั่วถึงให้หมดใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้ร่างกายแข็งแรง หายเจ็บ หายป่วย หายไข้ ทีนี้พวกเราทุกคนก็จะต้องอธิษฐานจิต โดยยึดบุญเป็นที่ตั้ง เอาใจวางตรงศูนย์กลางกาย แล้วก็อธิษฐานจิต ตามใจชอบของเรา ใครจะปรารถนาอะไร ก็อธิษฐานนึกที่ศูนย์กลางกายทุกคนนะจ๊ะ แก้ไขในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้หมดไป และเติมแต่สิ่งที่ดี ๆ เข้ามาความสุขความสำเร็จจะได้เกิดขึ้น ให้ตั้งความปรารถนากันทุก ๆ คนตามใจชอบนะจ๊ะ  

 

 

 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026541169484456 Mins