ห้องเรียนภายใน

วันที่ 29 มีค. พ.ศ.2567

 

290367bb.01.jpg

ห้องเรียนภายใน
๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)


                ขอให้ทุกคนตั้งใจเจริญภาวนากันนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ให้ลงมือปฏิบัติได้เลยส่วนท่านที่มาใหม่ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆ คนเลยนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเรา ๆ เบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวกเราจะได้ไม่ปวดไม่มื่อย 

 

                ต่อจากนั้นก็ให้ลืมทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดสิ้นจากใจ ไม่ว่าจะเป็นภารกิจการงานอันใดก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้ใจว่างเปล่าจากภารกิจทั้งหลายทั้งมวลเหล่านั้น ทำประหนึ่งว่า เราไม่เคยพบปะเจอะเจอภารกิจเหล่านั้นมาก่อน คล้าย ๆ กับเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่เคยมีภารกิจเครื่องกังวลใจ แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส อย่าให้หงุดหงิดงุ่นง่าน ฟุ้งซ่านรำคาญใจ โงก ง่วง ซึมเซาง่วงเหงาหาวนอนอย่าให้มีนิวรณ์ทั้งห้า ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสนี้ จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

 

 

                จะสอนวิธีให้เข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็นกายที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นกายที่จะทำให้เรารู้แจ้ง เห็นแจ้งแทงตลอดในชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย เราจะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในชีวิตของเรา ตลอดระยะเวลาที่เราเวียนว่ายตายเกิด ในอดีตก็ดี ปัจจุบันนี้ก็ดี และที่จะมีต่อไปในอนาคตก็ดี จะรู้จะเห็นได้ด้วยธรรมกายนี้เท่านั้น กายอื่นนั้นรู้ไม่ได้เพราะว่าความเห็นนั้นยังไม่รอบตัว เห็นได้ด้านเดียวเท่านั้น แต่ความเห็นของธรรมกายนั้นเห็นได้รอบด้าน เห็นได้รอบตัวทีเดียว เพราะฉะนั้นกายนี้จึงเป็นกายที่สำคัญของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นกายที่จะทำให้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด เป็นกายที่พ้นจากไตรลักษณ์ พ้นจากความไม่เที่ยง พ้นจากความทุกข์ เป็นกายที่เที่ยง เป็นตัวตนที่แท้จริง ในชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย 

 


                เรารู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในชีวิตของเรา ตลอดระยะเวลาที่เราเวียนว่ายตายเกิด ในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี และที่จะมีต่อไปในอนาคตก็ดี จะรู้จะเห็นได้ด้วยธรรมกายนี้เท่านั้น กายอื่นนั้นรู้ไม่ได้ เพราะว่าความเห็นนั้นยังไม่รอบตัว เห็นได้ด้านเดียวเท่านั้น แต่ความเห็นของธรรมกายนั้นเห็นได้รอบด้านเห็นได้รอบตัวทีเดียว เพราะฉะนั้นกายนี้ จึงเป็นกายที่สำคัญ เป็นกายที่จะทำให้เรารู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด เป็นกายที่พ้นจากไตรลักษณ์ พ้นจากความไม่เที่ยง พ้นจากความทุกข์ พ้นจากความไม่ใช่ตัวตน เป็นกายที่เที่ยงที่มีแต่สุขล้วน ๆ เป็นตัวตนที่แท้จริง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กายนี้จึงเป็นกายที่สำคัญ เป็นเป้าหมายชีวิตของทุก ๆ คน

 

 

                ฉะนั้นหลวงพ่อถึงได้ให้คำขวัญเอาไว้ว่า ธรรมกายคือเป้าหมายของชีวิต ก็เพราะเหตุนี้แหละ ดังนั้นธรรมกายที่สำคัญ เราเกิดมาภพหนึ่งชาติหนึ่ง ถ้าไม่พบธรรมกายแล้ว เกิดมาชาตินั้นเสียเวลา เสียชาติเกิด ถ้าหากได้พบธรรมกาย แม้ตายไปก็มีความสุข สุขตั้งแต่เริ่มได้พบธรรมกาย สุขจนกระทั่งเข้าสู่เส้นทางของอายตนนิพพาน สุขตลอดเส้นทางนี้ เพราะฉะนั้นธรรมกายนี้ ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึงให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาน่ะ ต้องพยายามให้เข้าถึงให้ได้ ถ้าเข้าถึงไม่ได้เป็นไม่ยอมปล่อยชีวิตทีเดียว เหมือนอย่างหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านปล่อยชีวิตทีเดียว ชีวิตถ้าไม่มีธรรมกายนั้นเป็นชีวิตที่ไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะอายุยืนไปกี่ร้อยปีก็ตาม ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นท่านได้ปล่อยชีวิตในที่ สุดก็เข้าถึงธรรมกาย 

 

 

                เราท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน จะต้องพยายามฝึกฝนให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้นะจ๊ะทุก ๆ คนการที่เราได้เข้าถึงธรรมกายนั้นเราจะต้องทราบว่าธรรมกายนั้นอยู่ที่ไหนและจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีใดธรรมกายนี้เป็นกายที่ละเอียดงามมาก สวยงามไม่มีที่ติประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการเป็นกายมาตรฐานที่งามไม่มีที่ติทีเดียว อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นกายละเอียดที่ซ้อนกันอยู่ภายในกายต่าง ๆ ซ้อนอยู่ภายในกายต่าง ๆ อยู่ตรงฐานที่ ๗ ธรรมกายสิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของพวกเราทั้งหลาย ฐานที่ ๗ นั้นอยู่ในกึ่งกลางกายของเรา ฐานที่ ๗ นั้นอยู่ที่กึ่งกลางกายของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๗ 

 

 

                สมมติเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เหนือจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละเป็นที่สิงสถิตของพระธรรมกาย เมื่อเราอยากจะพบพระธรรมกายเราจะต้องเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ต้องเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ต้องประคับประคองใจของเราที่แวบไปแวบมาน่ะ ไปคิดในเรื่องราวอะไรต่าง ๆ นั้น ให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้หยุดให้สนิทให้ถูกส่วนทีเดียว 

 

 

                พอหยุดได้ถูกส่วนไม่ช้าเราจะพบหนทางเข้าถึงธรรมกาย หนทางเบื้องต้น ที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้น เราจะเห็นชัดทีเดียวเพราะว่าเป็นเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ กลมรอบตัว อย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างกลางเท่ากับพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน เราจะเห็นหนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์น่ะ ใสบริสุทธิ์เหมือนเพชร อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน นั่นคือหนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย ถ้าเห็นดวงใสอย่างนี้แล้ว ให้พยายามทำให้ชำนาญ 

 

 

                หมั่นตรึก หมั่นนึก หมั่นคิด ทั้งนั่ง ทั้งนอน ทั้งยืน ทั้งเดิน ทั้งหลับ ทั้งตื่นตลอดเวลา ให้หยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงใส ๆ ซึ่งเราเรียกว่าดวงปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกายน่ะ ตรึกอย่างนี้ตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเวลา ในทุกอิริยาบถให้ชำนาญทีเดียว พอถูกส่วนเข้า ดวงปฐมมรรคนั้นจะก็ขยายกว้างออกไป คล้ายกับเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ กระแสวงแห่งน้ำก็ขยายกว้างออกไป ดวงปฐมมรรคนี้ก็เช่นเดียวกัน จะขยายกว้างออก พอกว้างออกไปเราก็จะพบดวงธรรมต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ภายใน มีลักษณะกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าเพชร สว่างคล้ายกับดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน แต่เป็นแสงที่เย็นตาเย็นใจ 

 


    
                แสงสว่างที่ใสเป็นแก้วนี้ ให้ความสุขสงบร่มเย็นแก่จิตใจของเรา ให้ความเบิกบานแก่ใจของเรา อย่างไม่มีที่เปรียบปาน ดวงธรรมเหล่านี้จะบังเกิดขึ้นซ้อน ๆ กันอยู่ พอสุดดวงธรรมนั้นก็จะเข้าถึงกายต่าง ๆ ที่ซ้อนกันอยู่ภายใน เราจะพบชีวิตที่อยู่ภายใน ในกลางกายของเรา เป็นชีวิตที่ซ้อนชีวิต ชีวิตอีกระดับหนึ่งที่ละเอียด ที่ปราณีตกว่าชีวิตในระดับหยาบ คือกายมนุษย์หยาบของเรา เราจะพบชีวิตเหล่านั้นหรือกายเหล่านั้นภายในซ้อน ๆ กันอยู่ กายแรกก่อนที่เราจะพบธรรมกายนั้น

 

 

                กายแรกที่เราพบก็คือกายมนุษย์ละเอียด กายมนุษย์ละเอียดลักษณะก็คล้าย ๆ ตัวของเรา ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย นั่งขัดสมาธิอยู่ภายในนั้น อยู่ในกลางกายนั้น เรียกว่ากายมนุษย์ละเอียด เพราะว่าลักษณะคล้าย ๆ กับกายมนุษย์หยาบ แต่ว่าละเอียดกว่า เราพบกายนี้ได้ เมื่อเรานอนหลับถูกส่วนแล้วฝันไป นั่นกายมนุษย์ละเอียดเป็นกายแรกที่เราจะพบ ในกลางกายมนุษย์ละเอียดเมื่อเราดำเนินจิตต่อไปอีก เราจะพบกายทิพย์ที่ซ้อนกันอยู่ภายใน กายทิพย์เป็นกายที่สวยงามมาก งามกว่ากายมนุษย์หยาบ งามกว่ากายมนุษย์ละเอียด งามอย่างไรต้องเข้าถึงให้ได้จึงจะทราบว่างามขนาดนี้มันงามแค่ไหนน่ะ

 


                สวยงามมาก เป็นกายที่มีเครื่องประดับประดา ที่แตกต่างจากกายหยาบ เราจะพบความอัสจรรย์ว่ากายเหล่านี้ กายทิพย์เหล่านี้ ที่ซ้อนกันอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียดนั้นน่ะ เครื่องประดับประดาเหล่านี้ทำไมมันถึงมี และมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมมันสวยมันงามอย่างนี้ เมื่อเราได้เข้าถึงเราก็จะเข้าใจได้ ในกลางกายทิพย์นั้นเราจะพบอีกกายหนึ่งที่ซ้อนกันอยู่ ที่งามปราณีตยิ่งขึ้นไป เรียกว่ากายรูปพรหม งามปราณีตหนักยิ่งขึ้น ในกลางกายรูปพรหมนั้นเราจะพบอีกกายหนึ่งที่ซ้อนกันอยู่ เรียกว่ากายอรูปพรหม สวยงามหนักยิ่งขึ้น ในกลางกายอรูปพรหม เราจะพบกายธรรมซ้อนอยู่

 

 

                กายธรรมนี่แหละคือเป้าหมายของชีวิตที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น เป็นกายที่ตรัสรู้ธรรม รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย กายธรรมนี่แหละคือเป้าหมายของเรา ลักษณะสวยงามมาก คล้าย ๆ กับพุทธปฏิมากร คล้าย ๆ กับพระพุทธรูปอย่างนี้แหละ แต่งามปราณีต เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ อยู่ในกลางกายของกายอรูปพรหม นี่แหละคือธรรมกาย ธรรมกายยังมีอยู่อีกหลายระดับชั้นเข้าไป จำเอาไว้คร่าว ๆ นะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ 

 

 

                ธรรมกายเบื้องต้นที่เราพบคือธรรมกายโคตรภู ธรรมกายที่อยู่กลางกายธรรมโคตรภูเรียกว่ากายธรรมธรรมกายพระโสดาบัน ที่เรียกว่าพระโสดาบันก็เข้าถึงกายนี้ เป็นกายนี้แหละ ธรรมกายที่อยู่ในกลางกายพระโสดาบัน ที่เราเข้าถึงอีกกายหนึ่งเรียกว่าธรรมกายพระสกิทาคามี ธรรมกายที่อยู่ในกลางกายพระสกิทาคามี เรียกว่าธรรมกายอนาคามี ธรรมกายที่อยู่ในกลางกายพระอนาคามี เรียกว่าธรรมกายพระอรหัต กายธรรมอรหัต เป็นกายสุดท้าย กายที่หมดจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทั้งหลายหมดสิ้นไปเลยธรรมกายสุดท้ายนี้เป็นกายที่ไม่มีกิเลส เป็นกายที่สุดที่เราจะต้องเข้าถึงให้ได้ ถ้าเข้าถึงได้ก็เป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสหมดอาสวะเข้าสู่อายตนนิพพาน มีความสุขล้วน ๆ ไม่มีทุกข์เจือเลย กายต่าง ๆ ที่อยู่ภายในนี้เปรียบประดุจกับห้องเรียนที่เราเรียนอยู่ในทางโลก

 

 

                เราอยากจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องว่ากายมนุษย์ละเอียดว่าเป็นอย่างไร ก็เข้าห้องเรียนกายมนุษย์ละเอียดอยากจะรู้เรื่องราวของกายทิพย์ก็เข้าห้องเรียนของกายทิพย์ อยากจะรู้เกี่ยวกับเรื่องกายรูปพรหมว่าพรหมมันมีจริงไหม อยู่ที่ไหนอยู่กันอย่างไร มีอะไรเป็นอาหาร อายุยืนแค่ไหน และจะไปสิ้นสุดของการเป็นพรหมเมื่อไหร่พรหมที่เห็นอยู่ในกาย กับพรหมอยู่ตามสี่แยกมันเหมือนกันไหม หรือพรหมที่เขาจินตนาการน่ะมันแตกต่างกันอย่างไร เราจะรู้จักได้ก็เมื่อเราเข้าห้องของกายรูปพรหม อยากจะรู้เรื่องราวของกายอรูปพรหม ก็เข้าห้องของกายอรูปพรหม อยากรู้เรื่องราวของกายธรรมโคตรภู ก็เข้าห้องกายธรรมโคตรภู อยากจะรู้เรื่องกายธรรมพระโสดาบันว่าเป็นอย่างไรก็เข้าห้องกายพระโสดาบัน เป็นชั้น ๆ เข้าไปอย่างนี้แหละ นี่เป็นความรู้ภายใน จะศึกษาได้ด้วยธรรมกาย ศึกษาด้วยธรรมกายนี้ก็เรียกว่าวิชชาธรรมกาย คือความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้งแทงตลอด นี่เปรียบประดุจห้องเรียนที่อยู่ภายใน

 

 

                ดังนั้นท่านทั้งหลายที่มีความรู้อยู่เพียงภายนอก จะจบปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก กี่สาขาก็ตามอย่าเพิ่งดีใจ อย่าเพิ่งกระหยิ่มใจว่ามีความรู้แตกฉานมากมายก่ายกองนัก ใครสู้ไม่ได้ในโลก ยังมีความรู้อีกชนิดหนึ่งที่เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย เป็นความรู้ที่จะต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ส่วนความรู้ในทางโลกบางแขนงบางวิชานั้นไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ความรู้เรื่องราวของธรรมกายนั้น ไม่รู้ไม่ได้ ไม่รู้ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ต้องเสวยทุกข์อยู่ทุกภพทุกชาติ เดี๋ยวเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสูรกายเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเทวดาบ้างวนเวียนกันอยู่อย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นความรู้เรื่องธรรมกายไม่รู้ไม่ได้ ไม่รู้แล้วพลาด แต่ความรู้เรื่องทางโลกบางอย่างไม่รู้ไม่เป็นไร 

 

 


                เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งกระหยิ่มยิ้มย่องว่ามีความรู้ทางโลก จบด็อกเตอร์ได้ หลายสาขา แต่ความรู้ ภายในนั้นน่ะสำคัญนัก เป็นความรู้ที่คู่กับความสุข เป็นความรู้ที่คู่กับความสว่าง เป็นความรู้ที่คู่กับความบริสุทธิ์ ส่วนความรู้ทางโลกนั้น ยิ่งรู้ยิ่งมืด ยิ่งรู้ยิ่งวน ยิ่งรู้ยิ่งโลภ ยิ่งโกรธ ยิ่งหลง วนเวียนกันอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นความรู้ทางโลกแค่เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราได้ศึกษาความรู้ที่ยิ่งกว่านั้นท่านใช้คำภาษาบาลีว่า อภิญญา คือความรู้ ที่ยิ่งกว่าความรู้ทางโลก คือความรู้ภายในนี่เอง 

 

 

                ดังนั้นทุกท่านอย่าลืมนะจ๊ะ จัดสรรเวลาในชีวิต ของเรานี้ ศึกษาความรู้ภายในให้ได้ แล้วจะรู้จักว่าความรู้คู่กับความสุขเป็นอย่างไร ความรู้คู่กับความสว่าง คู่กับความบริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราทราบอย่างนี้ ต่อจากนี้ไปจะได้สอนวิธีการปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกาย สำหรับท่านที่มาใหม่นะจ๊ะ ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ คือสร้างมโนภาพขึ้นมาทางใจ ว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถ้าจำได้เมื่อสักครู่นี้ว่าอยู่ที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง ซึ่งเราจึงจากสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้ายขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้สร้างมโนภาพ คือกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ มีดวงที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา 

 

 

                สร้างมโนภาพคือสมมติเอาว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมวน่ะ ไม่มีขีดไม่มีส่วนคล้ายขนแมวน่ะ โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้สมมติขึ้นมานะจ๊ะ นึกขึ้นมาอย่างสบาย ๆ นึกง่าย ๆ นึกถึงภาพดวงใส ๆ หรือความใสของเพชรลูก ความใส ของเพชรลูก โตเท่ากับแก้วตาน่ะ กลมรอบตัว นึกอย่างเบา ๆ คือค่อย ๆ นึก นึกอย่างละเอียดอ่อน อย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับการนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือหยาดน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า ให้นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ อย่าฟังผ่านนะจ๊ะให้นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือหยาดน้ำค้างอยู่ที่ปลายยอดหญ้า นึกถึงความใสบริสุทธิ์นั้น อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นึกอย่างสบาย ๆ หลวงพ่อย้ำคำว่าสบาย ๆ นะจ๊ะ 

 

 

                นึกอย่างสบาย ๆ นึกขนาดไหนที่เรามีความรู้สึกว่าเรายังสบายใจอยู่ อย่างนั้นเรียกว่านึกอย่างสบาย ๆ นึกให้ต่อเนื่องกันไป อย่าให้ใจแวบไปนึกเรื่องอื่น อย่าให้ใจแวบไปนึกเรื่องอื่น ให้นึกถึงดวงใสบริสุทธิ์อย่างสบาย ๆ นึกให้ต่อเนื่องกันไป นึกเบา ๆ พร้อมกับภาวนาในใจ พร้อมกับภาวนาในใจ โดยให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงใส ๆ ที่เรานึก ของดวงแก้วใส ๆ ที่เรานึก ให้ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ ให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเรานึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ อย่าเผลอจากบริกรรมทั้งสองอย่าเผลอจากบริกรรมทั้งสอง คือเมื่อนึกถึงดวงใสบริสุทธิ์ที่กลางกาย จะต้องไม่ลืมภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ให้ทำกันอย่างนี้นะจ๊ะ เข้าใจอย่างนี้แล้วต่อจากนี้ไป ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ

 

 

                เอาใจของเราหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ วางใจเบา ๆ นะจ๊ะทุก ๆ คน นึกเบา ๆ นึกสบายๆ ให้ใจของเราหยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ลงไปตรงกลางฐานที่ ๗ ให้หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ให้ใจของเราใสสะอาดบริสุทธิ์ทีเดียว ให้ใจใสสะอาดบริสุทธิ์ ใครเข้าถึงปฐมมรรคเห็นดวงใสบริสุทธิ์ ขนาดเล็กเหมือนดวงดาวในอากาศ ขนาดกลางเหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ขนาดใหญ่ก็เหมือนพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันน่ะ ก็เอาใจเข้าไปที่กึ่งกลางของปฐมมรรค ให้หยุดนิ่ง ใครเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด ใครเข้าถึงกายทิพย์ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายทิพย์ ใครเข้าถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายรูปพรหม ใครที่เข้าถึงกายอรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม ใครที่เข้าถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายธรรม

 

 

                วางใจของเราเบา ๆ หยุดนิ่งเบาๆ ให้หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่งลงไป ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และก็ให้ชัดในชัด ๆ ให้ใสบริสุทธิ์ที่เดียว ให้ใสเหมือนเพชร ให้ใสยิ่งกว่าเพชร ให้ใสบริสุทธิ์ นึกเบา ๆ นะ ตั้งใจให้ดี พอใสสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว ก็นึกน้อมเอาเครื่องไทยธรรม อันมีดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาวที่เรานำออกมาจากบ้านกันคนละเล็กคนละน้อย น้อมมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ น้อมนึกเบา ๆ พอเรานึกเบาๆ เครื่องไทยธรรมเหล่านั้นน่ะก็จะมาหยุดนิ่งอยู่ในกลางกายเรา ถ้าใจหยุดสนิทเราก็จะเห็นชัดทีเดียว ให้ชัดใสบริสุทธิ์ เหมือนกับเราลืมตาเห็นอย่างนั้น ใสบริสุทธิ์อยู่ในกลางกาย แล้วก็ให้ชัดในชัด ใสในใส ๆ อยู่ตรงกลางนะ 

 

 

                นึกอยู่ตรงกลางของกลางให้ดี ให้หยุดให้สนิททีเดียว ใครยังไม่หยุด ก็ให้หยุดในหยุด ประคับประคองใจให้หยุดนะ หยุดในหยุดนิ่งในนิ่ง เรื่องอื่นอย่าไปนึกอย่าไปคิดมัน จะเป็นเรื่องราวอะไรก็ตามไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสารทั้งนั้น ไม่ใช่ของจริงของจัง ของแค่อาศัยกันอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ละโลกนี้ไปแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย แม้แต่ร่างกายของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่นอกกายเราน่ะจะเอาอะไรไปได้น่ะ ดังนั้นสิ่งเหล่านั้นน่ะ ไม่ใช่สาระแก่นสาร เพราะมันเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ไม่คงที่เลย สู้กลางของกลางไม่ได้ สู้ธรรมกายไม่ได้ นึกคิดอย่างนี้ได้แล้วใจของเราก็จะได้มาหยุดอยู่ที่ในกลางธรรมกาย หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ให้ชัดให้ใสหยุดนิ่งอยู่ในกลางธรรมกายนี่เรียกว่าเคารพพระบรมศาสดา เรียกว่าเคารพ ได้ชื่อว่าสักการะ ได้ชื่อว่าบูชาพระบรมศาสดา 

 

 

                บูชาพระพุทธเจ้า บูชาก็คือใจนี่มันไปแนบแน่นติดกับสิ่งนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียว เทิดทูนเลื่อมใส ถือเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง อยากเอาเยี่ยงอยากเอาอย่างอยากทำตาม อยากใกล้ชิดน่ะ เป็นสนิทเป็นอันเดียวกันเลย เรียกว่าเคารพ เรียกว่าสักการะ เรียกว่าบูชา ติดกับธรรมกายอย่างนั้น ถ้าหากว่ายังไม่ติดอย่างนี้ ยังไม่เรียกว่าเคารพสักการะหรือบูชาอย่างแท้จริง แค่ครึ่งๆ กลางๆ ไม่ถึง ๑๐๐ % ถ้า ๑๐๐ % ต้องติดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย ทั้งนั่งนอนยืนเดิน ทั้งหลับทั้งตื่น ทุกอิริยาบถติดอยู่กับธรรมกาย ได้ชื่อว่าเคารพ ได้ชื่อว่าสักการะ ได้ชื่อว่าบูชา 

 

 

                จะอยู่ในห้อง ห้องทำติดหมดเหมือนมีญาติโยมคนหนึ่งได้มาเล่าให้หลวงพ่อฟัง ว่ากลัวบาปจังเลยแม้แต่เข้าห้องน้ำ ยังเห็นแต่พระธรรมกายเป็นอันเดียวกัน กลัวว่าสถานที่นั้นไม่เหมาะสม กลัวจะเป็นบาป ก็เลยเรียนให้ทราบว่า โอ้คุณโยมนะมีบุญอย่างมหาศาลเหมือนกับพระภิกษุองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้กราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่า ข้าพระองค์ไม่เคยห่างจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย แม้ว่ากำลังจะนั่งส้วมก็ตาม พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสสรรเสริญว่าดีแล้ว สาธุดีแล้ว ได้ชื่อว่าเคารพ ได้ชื่อว่าสักการะ ได้ชื่อว่าบูชาพระองค์ท่านด้วยกาย วาจา ด้วยใจทีเดียว เป็นมหากุศลอย่างยิ่ง นี่ก็เลยเรียนให้ญาติโยมคนนั้นทราบ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า ใจเรายังไม่ติดอย่างนี้ ยังไม่ได้ชื่อว่าเคารพสักการะหรือบูชา อย่างแท้จริง แต่ครึ่งๆ กลาง ๆ กันไปก่อน

 

 

                เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องเอาใจหยุดให้นิ่งที่ศูนย์กลางกายเลยนะจ๊ะ หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งให้ใจใส ให้สนิทนะ อย่าให้มีความคิดอื่นเข้ามาแทรกนะจ๊ะ ให้ใจนิ่ง ให้ใจโล่ง ๆ ว่าง ๆ สบาย ๆ เมื่อใจเราโล่ง เราว่าง เราสบาย ใจใสบริสุทธิ์ดีแล้ว เราก็นึกน้อมเครื่องไทยธรรมในกลางกายน่ะ นึกน้อมไปนะ ใครเข้าไม่ถึงก็ขอถึงไปก่อน ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของคุณยายของเรา ท่านจะคุมเครื่องไทยธรรมทั้งหลายน่ะ ทับทวีไปถวายเป็นพุทธบูชาแต่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน นับร้อย นับพัน นับหมื่น นับแสน นับล้าน นับพระองค์ไม่ถ้วนทีเดียว มากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้งสี่ คือมากมายก่ายกองทีเดียว 

 

 

                คุณยายก็ทับทวีไปถวายเป็นพุทธบูชา พระพุทธเจ้ามีพระองค์ สุดสุดญาณเรา เท่าที่จะไปถึงได้เนี่ยะก็ทับทวีไปถวาย มันน่าปิติ น่าเลื่อมใส น่าบูชา เห็นแล้วจะเกิดธรรมปีติ เพราะเครื่องไทยธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นของหยาบนี้ มาทับทวีถวายด้วยธรรมกายพระพุทธเจ้านั้นน่ะ จะใสละเอียดบริสุทธิ์พรึบเต็มไปหมดเลย ไปถึงพระธรรมกายพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่สุดรู้สุดญาณ คือไปได้แค่ไหนไปถึงได้แค่ไหน รู้ญาณไปได้แค่ไหน เห็นแค่ไหนความรู้ไปถึงแต่นั้นเครื่องไทยธรรมก็ไปถึงสุดนั้นน่ะ เหมือนเรามองเห็นสุดขอบฟ้ายังไงก็อย่างนั้นน่ะ แล้วคุณยายก็ทับทวีไปถวายพระพุทธเจ้าให้ทั่วถึง 

 

 

                แล้วก็กราบขอบุญบารมี รัศมีกำลังฤทธิ์ อำนาจ สิทธิ ขอพรอันศักดิ์สิทธิ์บุญอันศักดิ์สิทธิ์ให้บังเกิดขึ้นแก่ลูก ๆ ชายหญิงทุก ๆ คน ที่ได้นำเครื่องไทยธรรมทั้งหลายมาถวายเป็นพุทธบูชานี้ ให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข อยู่เย็นเป็นสุข ให้ทำมาค้าขึ้น ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม ให้ประสบความสำเร็จในชีวิต คิดอะไรในสิ่งที่ดีก็ให้สมปรารถนา ที่ศึกษาเล่าเรียนก็ให้มีปัญญาอันเลิศ แทงตลอดในความรู้นั้น ให้เรียนให้จบการศึกษาเป็นบัณฑิตเป็นนักปราชญ์ ที่ทำมาค้าขายก็ให้เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ที่รับราชการก็ให้ไปให้สูงที่สุดในสายนั้น ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านสนับสนุน เมตตาปราณี สงสาร รักใคร่เอ็นดู ช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน ให้สุขภาพร่างกายทุกคนแข็งแรง อย่าได้เจ็บอย่าได้ป่วย อย่าได้ไข้ ใครที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้ละลายหายสูญ ให้ได้ร่างกายใหม่ที่สดชื่นกว่าเดิม แข็งแรงกว่าเดิม ให้อายุยืน ๆ จะได้สร้างบารมีไปนาน ๆ 

 

 


                ให้วรรณะคือผิวพรรณให้ผ่องใสเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของมหาชน ให้มีความสุขกายสุขใจ มีกำลังกายที่แข็งแรง กำลังใจที่แข็งแกร่ง มีปฏิภาณ ความเฉลียวฉลาดแตกฉานแทงตลอดทั้งทางโลกทางธรรม ให้มีธนสารสมบัติ มีพวกพ้องบริวารที่ซื่อสัตย์สุจริต บริสุทธิ์กายวาจาใจให้เข้ามาใกล้ คนภัยคนพาลก็ให้ห่างไกลออกไป จะเดินทางไกลก็ให้ปลอดภัย จะไปทางบก ทางน้ำ ทางอากาศหรือทางไหน ๆ ก็ตามให้ปลอดภัย จะอยู่ที่ไหนก็ให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย โจรภัยราชภัยและก็ภัยทุก ๆ ชนิด ศาตราวุธเขี้ยวงาต่าง ๆ กระทั่งพวกหมอเสน่ห์ ไสยศาสตร์น่ะ หมอเสน่ห์ เล่ห์กลมนต์คาถา หรือจ้าวทรงผีสิง อะไรพวกนั้นน่ะ ให้ใจทุกคนติดเสื่อมใสอยู่ในพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะในพระรัตนตรัยนี้ ให้เข้าถึงวิชชาธรรมกาย ให้รู้แจ้งเห็นแจ้งให้แทงตลอด 

 

 


                ให้มีสายสมบัติที่บังเกิดขึ้นได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น ให้ได้ผลบุญในปัจจุบันทันตาเห็น อุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ ในธุรกิจการงานในสายสมบัติก็ให้ละลายหายสูญ ให้เงินทองไหลมาเทมาได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น บริจาคทรัพย์เป็นทานแล้วก็ให้ปิติเลื่อมใส อย่าได้เสียดายบางคนทำบุญแล้วเสียดาย พอทำบุญ ใหม่ ๆ ก็มีความเลื่อมใสดี ทำบุญแล้วก็ปิติเบิกบาน แต่ต่อมาเกิดหงุดหงิดขัดอกขัดใจกัน ก็เสียดาย เสียดายทรัพย์ที่ทำบุญไปแล้ว ใจก็ติดอยู่กับเรื่องเสียดาย ๆ อย่างนั้นแหละ บุญที่ได้ก็เป็นบุญไม่บริสุทธิ์ไม่เต็มอิ่ม เวลาไปเกิดในภพชาติต่อไปเนี่ยะ สมบัตินั้นมีเกิดขึ้นแต่ว่าเวลาจะใช้สมบัติเวลาจะบริโภคสมบัตินั้น เสียดาย เสียดายทรัพย์มีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่สมบัติก็มีเยอะแยะ นี่เป็นเพราะประกอบเหตุคือทำบุญแล้วเสียดาย

 

 


                ดังนั้นขอให้อานุภาพแห่งบุญที่เราทำวันนี้ เมื่อบริจาคทำทานไปแล้วให้ขาดจากใจ อย่าได้เสียดาย ให้มีปีติมีความเลื่อมใสมีความเบิกบาน จะทำบุญสร้างกุศลไม่ให้มีเงื่อนไขไม่ให้มีข้อแม้ จะทำความดีก็ไม่ให้มีข้อแม้ไม่ให้มีเงื่อนไข อย่างเช่นจะนั่งธรรมะก็มีเงื่อนไข ว่าต้องให้พร้อมซะก่อน ทุกอย่างต้องพร้อมซะก่อนถึงจะนั่งธรรมะ ต้องไม่เหนื่อย ต้องไม่ง่วง ต้องไม่กังวล ต้องไม่เพลียถึงจะนั่งกัน นี่มีข้อแม้ หรือบางคนจะทำบุญก็มีข้อแม้ว่าขอให้รวยซะก่อนถึงจะทำบุญ ความพร้อมอย่างนี้หาไปเถอะชาตินี้ไม่เจอ ชาติต่อ ๆ ไปก็ไม่เจออีก เวลาสมบัติเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีข้อแม้ สมบัติที่จะเกิดขึ้นนั้นก็มีข้อแม้ด้วย มีเงื่อนไขด้วย แต่หากทำบุญหรือสร้างความดีโดยไม่มีข้อแม้โดยไม่มีเงื่อนไข 

 

 

               เมื่อสมบัติเกิดขึ้น จะเป็นโลกียทรัพย์ ทรัพย์ทางโลกก็ดี อริยทรัพย์หรือทรัพย์ภายใน ทรัพย์ของพระอริยเจ้าก็ดี เมื่อบังเกิดขึ้นก็ไม่มีเงื่อนไข จะได้มาอย่างสะดวกสบาย อย่างง่ายอย่างดายอย่างไม่มีอุปสรรค จะปฏิบัติธรรมะก็เป็นประเภทที่ปฏิบัติสะดวก และก็รู้ได้อย่างรวดเร็ว เหมือนอย่างพระสิวลีน่ะ แค่มีดโกนจรดปอยผมเท่านั้น หนึ่งในสี่ส่วนก็เป็นพระโสดาบัน ครึ่งศีรษะก็เป็นพระสกิทาคามี ค่อนศีรษะก็เป็นพระอนาคามี พอหมดศีรษะก็เป็นพระอรหันต์เลย  หรืออย่างสาธุชนทั้งหลายที่ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า พอท่านแสดงธรรมจบบทใดบทหนึ่ง ก็บรรลุธรรมาภิสมัย สะดวกสบาย ไม่ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็ง 

 

 

               เพราะเวลาทำความดีนั้นไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ เมื่อจะทำความดีแล้วพร้อมเสมอ เพราะฉะนั้นคุณยายขอบุญบารมีพระพุทธเจ้าเนี่ยะ ให้ลูกหญิงลูกชายทุกคนมีจิตใจอย่างนี้ จิตใจเหมือนพระบรมโพธิสัตว์ จะทำความดีต้องไม่มีข้อแม้ไม่มีเงื่อนไข นี่คุมบุญให้ติดที่ศูนย์กลางกายทุก ๆ คน ให้มีความสุข มีความเจริญ มีความสำเร็จในชีวิตในธุรกิจการงานทุกอย่างเลย พวกเราทุกคน ก็อธิษฐานจิตตามใจชอบนะจ๊ะ เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็อธิษฐานจิตกันไปทุก ๆ คน

 

 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02639928261439 Mins