อจินไตย

วันที่ 07 มิย. พ.ศ.2567

070667b.01.jpg

อจินไตย
๖ เมษายน ๒๕๔๐
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ให้ทุกท่าน ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพานกันทุกคนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาสเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ พอเปลือกตาปิดเบา ๆ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายคล้ายกับเรานอนหลับนะจ๊ะ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยขยับให้ดีนะจ๊ะทุก ๆ คน ทำใจของเราให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ให้ปลอดกังวลจากภารกิจทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จะเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว ธุรกิจการงาน หรือเรื่องที่นอกเหนือจากนี้น่ะ 

 


                ทำใจของเราให้ปลอดกังวลเหมือนไม่เคยมีเครื่องกังวลมาก่อนเลย ประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ผ่องใส ให้ใจของเราว่างเปล่า มีแต่สิ่งที่ดีงามอยู่ในใจของเราเท่านั้นนะจ๊ะ เมื่อทำใจของเราให้บริสุทธิ์ผุดผ่องดีแล้ว ต่อจากนี้ก็ให้ศึกษาให้รู้จักฐานที่ตั้งของใจ ให้รู้จักทางเดินของใจ ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ฐาน ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่ตรงเพลาตา ตรงหัวตาตำแหน่งที่น้ำตาไหล ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้องของเรา ระดับเดียวกับสะดือ สมมติเรานำเส้นด้ายมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปข้างหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสอง ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                เพราะฉะนั้นถ้าหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้นะจ๊ะ ตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เป็นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เจ็ดฐานนี้เป็นทางเดินของใจ เป็นทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย เวลามาเกิดกายละเอียดกายทิพย์ก็เข้าจากปากช่องจมูก แล้วก็มาตามฐานต่าง ๆ มาหยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ เวลาไปเกิด คือไปแสวงหาที่เกิดใหม่เมื่อกายหยาบแตกกายทำลายขันธ์อยู่ไม่ได้ ก็เดินย้อนถอยหลัง จากฐานที่ ๗ ไปฐานที่ ๖ มาฐานที่ ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ แล้วก็ออกจากกายหยาบไป ไปเกิดมาเกิดก็มาตามฐานอย่างนี้แหละ แต่ว่าสวนทางกัน มาเกิดมาจากฐานที่ ๑ ถึง ๗ ไปเกิดจากฐานที่ ๗ ไปฐานที่ ๑ นี่เป็นปกติของการไปเกิดมาเกิดนะจ๊ะ ให้รู้จักเอาไว้น่ะ สำหรับท่านที่มาใหม่น่ะ ว่ามันเป็นอย่างนี้ 

 


                แต่ในแง่ของการปฏิบัติ ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เดินตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นน่ะ มันมีเส้นทางอีกเส้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางภายใน เป็นทางสายกลาง ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เป็นทางที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ผู้รู้ทั้งหลาย เสด็จไปสู่อายตนนิพพานก็อาศัยเส้นทางสายนี้ ทางสายกลางภายใน โดยเริ่มต้นจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ท่านจะเอาใจของท่านน่ะมาหยุดอยู่ที่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มาหยุดนิ่งใจที่แวบไปแวบมา แวบไปในเรื่องราวต่าง ๆ เอามารวมอยู่เป็นจุดเดียวกันตรงฐานที่ ๗ หยุดให้นิ่ง ให้ถูกส่วน พอถูกส่วนดี ท่านก็จะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วภายใน 

 


                จะเห็นหนทางสายกลาง ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ตรงนี้สำคัญนะ พอใจท่านหยุดถูกส่วนท่านก็เข้าถึงต้นทางสายกลาง เป็นทางหลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ กิเลสอาสวะความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เข้ามาบังคับบัญชานะ ให้เราได้สร้างกรรม พอสร้างกรรมก็มีวิบาก มีผลของกรรม ส่งไปเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ทุกข์ทรมาน จากมนุษย์ไปสู่อบาย จากอบายก็มาสู่มนุษย์ สร้างบารมีไปสวรรค์ไปนิพพานกัน กิเลสที่บังคับอยู่ที่ตรงนี้ตรงฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นถ้าเอาใจมาหยุดตรงนี้จะหลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้น คำว่าหลุดพ้นนี่แสดงว่ามีสิ่งหนึ่งบังคับนะ กิเลสอาสวะเค้าบังคับตรงนี้ หลุดก็หลุดด้วยหยุดกับนิ่ง ใจของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านว่าหยุดอยู่ตรงนี้แหละ ตรงฐานที่ ๗ เหนือจากจุดตัดเส้นด้ายทั้งสอง ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้น่ะ กลางท้องพอดีเป๊ะเลย 

 


                พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน คือมันพอดี ๆ มันถูกส่วน ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ใจก็วูบตกศูนย์ลงไป ลอยขึ้นมาเกิดเป็นดวงใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศอย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านี้นะ เข้าถึงปฐมมรรค ดวงนี้เรียกว่าปฐมมรรค หรือดวงธรรมเบื้องต้น หรือความบริสุทธิ์เบื้องต้น กุศลธรรมเบื้องต้น สัมมาทิฏฐิเบื้องต้น หรือมรรคเบื้องต้น ปฐมมรรค หนทางเบื้องต้น หนทางของพระอริยเจ้าน่ะเบื้องต้นเห็นอย่างนี้นะ 

 


                เบื้องต้นจุดเริ่มต้นที่จะเดินถูกทางแล้วน่ะ เป็นดวงใสบริสุทธิ์ทีเดียว ใส บริสุทธิ์ อย่างเล็กเหมือนดวงดาวในอากาศเหมือนปลายเข็ม เล็กนิดนึง แต่ว่าสุกใสเจิดจ้าทีเดียว เหมือนดาวพระศุกร์ หรือเหมือนยิ่งกว่านั้น ดาวประจำเมืองหรือเหมือนกับเพชร ใส ๆ แต่มีประกาย ไม่มีเหลี่ยมเจียระไนเหมือนเพชร กลม กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์นะ ใสบริสุทธิ์ แล้วท่านก็เอาใจท่านหยุดต่อไปน่ะ มันหยุดมาตั้งแต่เข้าถึงปฐมมรรคแล้ว พอเข้าถึงต้นทางได้ก็เดินทางต่อไป ด้วยวิธีการหยุดนิ่งอย่างเดิม ไม่ได้ทำอะไรเลย  

 


                ถูกส่วนเข้า ก็พบดวงธรรมต่าง ๆ ตลอดเส้นทางนั้นน่ะ มีดวงธรรมกับกายภายใน เป็นชั้น ๆ เข้าไปทีเดียว ดวงธรรมเป็นเครื่องกลั่นใจให้บริสุทธิ์เข้าไปใจที่ไม่บริสุทธิ์จะถูกกลั่นด้วยดวงธรรม ตรงนี้แปลกทีเดียว กลั่นด้วยดวงธรรม ดวงธรรมจะกลั่น พอใจหยุดนิ่งถูกส่วนเข้า จะกลั่นให้ใส กิเลสที่หุ้มตรงนี้ก็หลุดหมดเลย ขั้นหยาบก็หลุดขั้นหยาบ ละเอียดก็หลุดขั้นหยาบ มันมีเป็นชั้น ๆ เข้าไปทีเดียว ซ้อน ๆ กันอยู่ เป็นชั้นมีดวงธรรมต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่าดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ หกดวง ตั้งแต่ปฐมมรรคเรื่อยมาเลย เป็นดวงที่มีอยู่แล้ว 

 


                ดวงธรรม ไม่ใช่ไปทำให้มันมี แต่ว่าเราไม่รู้ว่ามี จึงไม่ได้ทำ พอเราหยุดนิ่งถูกส่วนเข้าก็เข้าถึง คำว่าเข้าถึง แสดงว่าสิ่งนี้มีอยู่ เข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีหยุดกับนิ่ง ใจก็ถูกกลั่นไปตามลำดับ จากดวงธรรมหนึ่งไปสู่อีกดวงธรรมหนึ่ง จากดวงธรรมปฐมมรรคไปถึงเข้าถึงดวงศีล จากดวงศีลกลั่นส่งต่อถึงดวงสมาธิ จากดวงสมาธิกลั่นส่งต่อถึงดวงปัญญา จากดวงปัญญากลั่นส่งถึงดวงวิมุตติ จากดวงวิมุตติกลั่นส่งถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ นี่กลั่นเป็นชั้น ๆ ทีเดียวนะ กลั่นต่อ กลั่นซ้ำแล้วซ้ำอีกทีเดียว ดวงวิมุตติญาณทัสสนะกลั่นส่งต่อโดยวิธีหยุดนิ่งนั่นน่ะ 

 


                เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เห็นกายตัวเองใสบริสุทธิ์ เหมือนกับตัวเรานี่แหละ เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง หน้าตาเหมือนตัวเอง ปกติเห็นแต่ในฝัน บังคับบัญชาก็ไม่ได้ แต่นี่เห็นทั้งตื่น ๆ เมื่อใจนิ่งกลั่นด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ส่งเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายนี้ปกติก็นั่งขัดสมาสทำสมาธิ นิ่ง นิ่งอยู่ภายใน นี่จะได้รู้จักกายนี้ ท่านก็เข้าถึงกายนี้ก็รู้จักกายนี้ แล้วก็ทำอย่างเนี้ยะในทำนองเดียวกัน คือหยุดต่อไปในกายมนุษย์ละเอียด จนกระทั่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมนุษย์ละเอียด มีความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ต่าง ๆ เป็นอันเดียวกับกายมนุษย์ละเอียด เป็นชีวิตเดียวกัน เมื่อรู้ทั่วถึงกายมนุษย์ละเอียดก็ส่งต่อไปอีกในกลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด ก็เข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ อีก ๖ ดวง ในทำนองเดียวกัน 

 


                แต่โตใหญ่ขึ้นนี่เป็นเรื่องแปลกทีเดียวนะจ๊ะ ของเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเราเนี่ย โดยเราไม่รู้มาก่อนเลยเนี่ยสำหรับท่านที่มาใหม่มนุษย์ทั่วโลกไม่รู้จักสิ่งนี้ หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญท่านไปค้นพบมา แบบเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกัน จากกายมนุษย์ละเอียดก็เข้าถึงดวงธรรมอีก ๖ ดวง ที่กลั่นส่งกันต่อไปเรื่อย กลั่นเห็น กลั่นจำ กลั่นคิด กลั่นรู้ ที่รวมเรียกว่าใจน่ะ พูดย่อ ๆ ก็คือกลั่นกาย วาจา ใจ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ อากาศธาตุ ใสบริสุทธิ์ ส่งเข้าถึงกายทิพย์ 

 


                กายทิพย์ที่สวยงามหนักเข้าไป นี่ก็มีอยู่แล้ว อยู่ในตัวของเรา ไม่ใช่ไปทำให้มี หรือจินตนาการให้มี จินตนาการไม่ได้เค้าเรียกว่า อจินไตย คือมันเหนือกว่าการนึกคิด ไม่รู้จะเดาอย่างไง ไม่เคยเห็น ก็เขียนฟุ้งซ่านกันไป นึกว่ากายทิพย์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่เป็นจริงมันอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเหลือวิสัยของการที่จะมาคิดมาหาเหตุหาผล มาสมมติฐานด้นเดาเอา ต้องเข้าถึงจึงรู้ว่ากายทิพย์เป็นอย่างเนี้ย หยุดต่อไปอีกในกลางนั้นน่ะ กลั่นไปเรื่อย 

 


                พอหยุดต่อไปอีก ก็เข้าถึงธรรมอีก ๖ ดวง กลั่นต่อไปอีก ที่โตขึ้นไปเรื่อย โตกว่าเดิม ใสขึ้น ละเอียดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ในที่สุดก็เข้าถึงกายรูปพรหม เป็นชั้นๆ เข้าไป เห็นไม๊จ๊ะ กายเป็นชั้นเข้าไปเลย กายรูปพรหมสวยงามหนักยิ่งขึ้น ลักษณะคล้ายกายทิพย์ แต่งามกว่า เครื่องประดับติดตัวพร้อมหมด สวยงาม กายรูปพรหมก็ส่งต่อไปอีก คือหยุดในกลางกายรูปพรหม ก็เข้าถึงดวงธรรม ๖ ดวง ที่กลั่นต่อกันต่อไป ซ้อน ๆ กันอยู่นะ มันซ้อนกัน ของละเอียดซ้อนอยู่ในของหยาบ ซ้อนเข้าไปเรื่อย กระทั่งเข้าถึงกายอรูปพรหม 

 


                เมื่อบริสุทธิ์ดีจนกระทั่งอายตนะเท่ากับกายอรูปพรหม ก็เข้าถึงกายอรูปพรหม สวมเป็นอันเดียวกับกายอรูปพรหม เมื่อความบริสุทธิ์เท่าเทียมกัน เป็นอันเดียวเลย จะได้รู้จักอรูปพรหมเป็นยังไงใจหยุดต่อไปอีกก็เข้าถึงธรรมอีก ๖ ดวง ที่ผุดซ้อน ๆ กันมา กลั่นใจให้บริสุทธิ์ กายวาจาใจสะอาดบริสุทธิ์ไปเรื่อย ก็เข้าถึงกายธรรมโคตรภู กายธรรมโคตรภูเกือบจะเป็นพระอริยเจ้าแล้ว เข้าถึงกายธรรม ถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึกเบื้องต้น ลักษณะสวยงามกว่ากายอรูปพรหม ใสยิ่งกว่าเพชร ใสแจ่ม นั่งขัดสมาสทำสมาธิ ใจนิ่ง 

 


                เกตุดอกบัวตูม คล้ายพระพุทธรูป แต่ไม่เหมือน เพราะพระพุทธรูปทำไม่เหมือนท่าน สวยงาม ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนบริบูรณ์ สุกใส มีเกตุดอกบัวตูมใสเล็ก ๆ อยู่บนพระเศียรท่าน สุกใส สวยงามมากทีเดียว นี่เป็นสรณะเบื้องต้น ใจหยุดต่อไปอีก ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธรรมอีก ๖ ดวง กลั่นต่อไปเรื่อยเลย จนกระทั่งสังโยชน์เบื้องต่ำหมด เข้าถึงกายธรรมพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา ใสบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น มีรัศมีสว่างจ้า หยุดต่อไปอีก ในกลางกายธรรมพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา ก็เข้าถึงดวงธรรมอีก ๖ ดวง 

 


                ชื่อเหมือนกันไปหมด กลั่นกระทั่งใสบริสุทธิ์ ก็เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา สังโยชน์ก็เจือจางลงไปเรื่อย ๆ คือกิเลสก็จางลงไปเรื่อย อันไหนหมดได้ก็หมดไปเลย อันไหนไม่หมดก็จางลงไป ใจหยุดต่อไปอีกในกลางกายธรรมพระสกทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ พอบริสุทธิ์ถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา ใสบริสุทธิ์ ใสแจ่มทีเดียว กิเลสอันไหนหมดได้ก็หมดไป ไอ้ที่เหลือก็กลั่นกันต่อไป ในกลางกายธรรมพระอนาคามีน่ะ ใจหยุดต่อไปอีก ถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงดวงธรรมอีก ๖ ดวง ผุดทีละดวง ๆ ซ้อนขึ้นมา 

 


                กลั่นธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้เราสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ก็เข้าถึงกายธรรมอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา พระพุทธเจ้าท่านเข้าอย่างนี้แหละ พระอรหันต์ เดินทางนี้ เดินทางสายกลาง เริ่มจากฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ เข้าไปเรื่อย กิเลสก็เบาบางลงไป ใจก็บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่ ความสุขก็เพิ่มพูนขึ้น คล้าย ๆ สิ่งที่ทำให้ใจเนี่ยเป็นมลทิน หรือเป็นอุปสรรคต่อความบริสุทธิ์นั่นมันค่อย ๆ หมดไปทีละน้อย ทำให้ใจเนี่ยมีคุณภาพขึ้น

 


                ธาตุธรรมในตัวค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป จากธาตุที่ไม่บริสุทธิ์ ไปสู่ธาตุที่บริสุทธิ์ จากสังขตธาตุ เป็นอสังขตธาตุ เรื่อยไปเลย ธาตุที่ไม่บริสุทธิ์ไปสู่ธาตุที่บริสุทธิ์ จนกระทั่งสุดท้ายเป็นวิราคธาตุ วิราคธรรม ธาตุธรรมล้วน ๆ ธาตุล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีมลทินเลย ก็เสวยสุขได้เต็มที่ นอกจากเสวยสุข ได้เต็มที่แล้วเนี่ย ยังมีอานุภาพทรงอภิญญาทีเดียว พอใจบริสุทธิ์ ธาตุธรรมบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรมาบดบัง มากำบังได้ ทั้งอดีต เรื่องในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ในอนาคตก็ดี สุกใส สะอาด เห็นแจ่มกระจ่างทีเดียว 

 


                มีอานุภาพ ทรงอภิญญา ตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ มีฤทธิ์ ทางใจ มีอิทธิฤทธิ์อะไรต่าง ๆ บังเกิดขึ้นทีเดียว ใสบริสุทธิ์ มีความสุข มีอานุภาพ แล้วก็มีความรู้แจ้ง แทงตลอดในสรรพสิ่งทั้งปวง และสมบูรณ์ด้วยทั้งวิชชาและจรณะ ความประพฤติก็พอดี พอเหมาะพอดีทีเดียว ทั้งกายทั้งวาจา ทั้งใจ พอเหมาะพอดี รู้แจ้งในสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย รู้ทั่วถึงตลอดนิพพาน ภพ ๓ โลกันตร์ แทงตลอดหมดเลย ในโลกันตร์เป็นยังไง เป็นอีกภพหนึ่งอยู่ห่างจากขอบภพ ๓ อย่างไร เท่าไหร่ เป็นที่ขังสัตว์โลกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิล้วน ๆ ยังไง 

 


                ก็เห็นชัดทีเดียว เห็นตลอดหมดเลย ในโลกันตร์ โลกันตร์นรก เห็นชัด ภพ ๓ ก็เห็นตลอดหมด อรูปพรหมมีเท่าไหร่ พรหมมีกี่ชั้น สวรรค์ทั้งหมด โลกมนุษย์ ทวีปทั้ง ๔ กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน เปรตอสุรกาย สัตว์นรก ภพภูมิต่าง ๆ ทั้งหมด ๓๑ ภูมิ สามสิบหนึ่งภูมิ รู้เห็นแทงตลอดไปหมดเลย ไม่มีอะไรกำลังเห็นตลอดหมด เห็นจนกระทั่งว่า สัตว์โลกที่อยู่ในภพภูมินั้นน่ะ มีลักษณะอย่างไร เป็นอยู่ได้อย่างไร มีสุขหรือมีทุกข์ จะอยู่ยาวนานแค่ไหน ที่มีสุขมีทุกข์เพราะว่าสร้างผลกรรมอันใดไว้ และก็มีระยะเวลายืนยาวไปได้แค่ไหน เสวยสุขเสวยทุกข์ได้แค่ไหน 

 


                ตลอดจนกระทั่งเห็นการเปลี่ยนแปลง เวียนว่ายตายเกิด จากตรงนี้ไปสู่ตรงโน้น จากนรกมาเป็นอสุรกาย มาเป็นเปรต มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน มาเป็นมนุษย์ มาเป็นทิพย์ เทวดาพรหม อรูปพรหม มองเห็นทะลุปรุโปร่งไปหมด ทั่วภพทั้ง ๓ กระทั่งเห็นถึงตลอดในอายตนนิพพาน เห็นพระธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย เต็มไปหมดในอายตนนิพพาน ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติอย่างไรน่ะจึงมาอยู่ตรงนี้ มีกายอย่างไร อยู่อย่างไร แล้วทำอะไรบ้างวันหนึ่งคืนหนึ่ง ก็ทะลุไปหมดเลย เมื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องบังเกิดขึ้น เป็นธาตุล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ ก็ไม่มีอะไรกำบังได้ 

 


                จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์ไปหมดเลย นี่เป็นแผนผังของชีวิตมนุษย์ทุก ๆ คนในโลก ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งหมดเลย เป็นผังชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีมาแต่ดั้งเดิมโน้น ยาวนานทีเดียว ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน้น ซึ่งกำลังสาวไปหาหาเหตุอยู่ ให้ไปถึงแหล่งกำเนิดของทุกสิ่งอยู่ มีมาตั้งนาน พระพุทธเจ้าท่านพบก่อน แต่ละพระองค์พบด้วยตัวเอง ไม่มีใครสอน เข้าถึงก่อน หลุดพ้นก่อน ก็สั่งสอนกันต่อไป ทำหน้าที่เป็นพระบรมครู มีมหากรุณาบังเกิดขึ้น ก็สั่งสอนถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่มาภายหลัง ได้ประพฤติปฏิบัติทำตามกันต่อไป จะได้เป็นอย่างพระองค์ ไปอยู่อายตนนิพพานด้วยกัน 

 


                แทนที่จะอยู่ในภพ ๓ เป็นอรูปพรหม เป็นทิพย์ เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก หรือโลกันตร์ เป็นอะไรเหล่านี้น่ะ แทนที่จะเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันไม่แน่ไม่นอนเพราะเค้ายังบังคับบัญชาได้อยู่ บังคับให้เกิดความรู้สึกในใจน่ะ ให้มีความโลก มีความโกรธ มีความหลง ความเบียดเบียนกันไป เมื่อสร้างกรรมก็มีวิบาก มีผลของกรรม ให้วนเวียนกันอยู่อย่างนั้นแหละ เกิดมาเป็นอย่างนี้ ตายจากนี้ไปเป็นอย่างโน้น หมุนเวียนกันไป เค้าบังคับกันไปตลอด หมุนตลอดไปหมดเลย วนเวียนกันอยู่

 


             กว่าจะหาทางออกต้องมาเจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพบหนทางสายกลางภายใน คือท่านรู้จักทั้งทางไปเกิดและก็ทางมาเกิด รวมทั้งทางหลุดทางพ้น และก็รู้แจ้งแทงตลอดเห็นหมดเลยนิพพาน ภพ ๓ โลกันตร์ เห็นทะลุปรุโปร่งไปหมดเลย ก็นำมาสอน ว่าทางอื่นอย่าไปเลย มีทางเดียวที่จะไปนิพพานได้ คือทางสายกลางซึ่งอยู่ภายใน ไม่ใช่ทางอื่นเลย ถ้าทางอื่นก็ไปเกิดมาเกิดต่อไปอีก แต่ถ้าไม่เกิดก็เดินเข้าไปข้างใน นี่ท่านสอนกันอย่างนี้ วันนี้พวกเราก็เช่นเดียว 

 


                จะต้องให้รู้จักว่ามีเส้นทางสายกลางอยู่ภายใน เป็นเส้นทางที่สำคัญสำหรับตัวเรานะ ตัวคนอื่นช่างเค้าเถิด สำหรับตัวเราน่ะ จะหลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ จะต้องเดินทางสายกลางภายในนี้แหละ จึงจะหลุดจะพ้นได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปมัวเพลิดเพลินกับการทำมาหากินอย่างเดียว หรือสนุกสนานเพลิดเพลินเที่ยวเตร่ ไร้สาระกันไปอย่างนั้น เดี๋ยวก็หมดวันเดี๋ยวก็จะหมดคืนกันไป โดยยังไม่รู้จักทางสายกลางเลย หรือได้ยินแต่ทางสายกลางอย่างนี้น่ะ เข้าวัดมากันตั้งนาน แต่ว่าไม่เคยเห็นซะทีว่า มันมีอยู่ตรงไหน จริงแค่ไหน ก็เพราะว่ายังไม่เอาใจใส่กันอย่างแท้จริง 

 


                ยังไม่ให้ความสนใจกันอย่างแท้จริง มัวประมาท เลินเล่อ เผลอตัว ไปเพลิดเพลินกับสิ่งที่ทำให้ไปเกิดมาเกิด แต่สิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดนั่นน่ะ ยังไม่ได้สนใจกันอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นแม้ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ยังเข้าไม่ถึง ดังนั้นนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปน่ะ ให้ตั้งใจซะใหม่ ว่าเวลาที่เหลืออยู่ในโลกนี้เนี่ย ซึ่งมันมีจำกัด มีจำกัดเท่า ๆ กัน จะเด็กเล็กผู้หลักผู้ใหญ่ก็เท่ากัน เพราะความตายไม่มีนิมิตหมาย อาจตายตอนเด็ก อาจตายตอนวัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยสาว วัยกลางคนหรือวัยชรา ไม่แน่ทั้งนั้น จะตายตอนไหนก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน 

 


                เพราะฉะนั้นต้องไม่ประมาท ให้ตั้งใจแสวงหาหนทางสายกลาง ให้เข้าถึงให้ได้ของที่มีอยู่แล้วในตัว รู้วิธีการ มันน่าเสียดาย ถ้าเราไม่เอาใจใส่เข้าถึงให้ได้ มัวไปแสวงหาอะไรก็ไม่ทราบ ควรจะเชื่อผู้รู้ผู้ฝึกตนอย่างดีแล้ว กระทั่งบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไปสู่อายตนนิพพาน อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ควรไปเชื่อผู้ที่เค้าไม่รู้ ไอ้คนไม่รู้เนี่ยมันก็ทำแบบคนไม่รู้ ผลที่ได้มันก็เป็นแบบนั้นน่ะ มีความทุกข์ทรมานกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนผู้ที่รู้แล้วเนี่ยะ ท่านก็ทำอีกอย่างหนึ่ง เวลาสั่งสอนท่านก็จะสั่งสอนให้ทำตามท่าน 

 


                ผู้มีบุญมีปัญญานะ ก็ควรจะแสวงหาหนทางพระนิพพานเช่นเดียวกับท่าน เชื่อตามผู้รู้ทั้งหลาย ที่ท่านไปสู่อายตนนิพพานกันหมดแล้วน่ะ ถ้าทำตามท่านถึงจะได้ชื่อว่าเดินตามท่าน เมื่อเดินตามท่าน ก็จะได้เป็นอย่างท่านรู้จักความทุกข์ทรมานต่าง ๆ มีสุขอย่างเดียว มีความสุขเต็มเปี่ยมทีเดียว เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกครอบด้วยกิเลสอาสวะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ทำให้เรา ใจเราปรวนแปรอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง ให้ใจเราเร่าร้อนอยู่ตลอดวันตลอดคืนนั่นแหละ

 


                เพราะฉะนั้นทางสายกลางนี้นะจ๊ะ เป็นทางที่สำคัญที่สุด อยู่ในตัวของเราห่างจากปากช่องจมูกถึงศูนย์กลางกายแค่ศอกเดียวเท่านั้น ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญ จะวัดใครว่ามีบุญมากหรือมีบุญน้อย เค้าดูตรงที่ รู้จักหนทางสายกลางหรือยัง เข้าถึงทางสายกลางหรือยัง ตรงทางสายกลางเนี่ยพระพุทธเจ้าท่านแสวงหามาตลอด ตั้งแต่สมัยยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ยังเป็นอย่างพวกเราอย่างนี้อยู่นะ ไม่ว่าท่านจะเกิดมาเป็นมนุษย์ชั้นล่างก็ดี เป็นมนุษย์ชั้นกลางก็ดี เป็นมนุษย์ชั้นสูงก็ดี 

 


                เป็นพระราชามหากษัตริย์ แม้กระทั่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดของปุถุชน ที่สมบูรณ์ไปด้วยกามสุข ในใจลึก ๆ ของท่านนั่นน่ะ ท่านแสวงหาวิถีทางที่จะหลุดพ้นจากภาวะอันนี้ เพราะตอนที่ยังไม่ได้มีสมบัติน่ะ ก็คิดว่าการได้มีสมบัติได้นั้นน่ะ จะทำให้ชีวิตนั้นสมบูรณ์อิ่มใจมีความสุข ไอ้ตอนไม่ได้ก็อยากได้ แต่พอได้แล้วก็ไม่เห็นมีอะไร ตอนที่ยังไม่ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็อยากได้ มีความรู้สึกว่าขาดแคลน ก็แสวงหาด้วยทุกวิถีทางทีเดียว เบียดเบียนใครเค้าก็เอา เบียดให้เค้าตก เบียนให้เค้าตายน่ะ 

 


                ทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้ได้มาซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ ด้วยคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต ความสุขที่สมบูรณ์ ที่พอถึง ณ จุดตรงนั้นแล้วไม่ต้องการอะไรอีก แต่พอเข้าไปถึงจริง ๆ แล้ว ก็เห็นว่ามันไม่มีอะไร ที่จะทำให้เข้าถึงความสุข นอกจากจะไม่ทำให้เข้าถึงความสุขแล้ว ยังสร้างเครื่องกังวลใจให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหา ก็เลยเป็นการสร้างปัญหา แก้ปัญหาว่าเราขาดแคลน ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่จะทำให้ใจนั้นน่ะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ไม่พร่อง ก็แสวงหา 

 


                แต่พอได้มาแล้วก็กลายเป็นการสร้างปัญหา ต้องหวงแหนสิ่งที่ตัวมีอยู่ ไม่อยากพลัดพรากจากสิ่งที่มีอยู่นี้ไปน่ะ คอยปกป้องอยู่ตลอดเวลาเลย แล้วก็ปกป้องไม่ได้ ในที่สุดก็จะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้นไป เพราะฉะนั้นพระบรมโพธิสัตว์ เกิดมาทุกชาติเป็นมนุษย์ชั้นล่าง ยาจก วณิพก เศรษฐี มหาเศรษฐีพราหมณ์มหาศาล ขัตติยะ พระราชา พระเจ้าจักรพรรดิ แสวงหาวิถีทางชีวิตวิถีหนึ่ง คือการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ท่านจะปลีกตัวออกจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นเครื่องกังวลใจ เข้าป่าเข้าเขาไปแสวงหาวิเวก อยากอยู่กับตัวเอง 

 


                อยากหยุดอยู่ภายใน อยู่กับความบริสุทธิ์ ที่ไม่มีการเบียดเบียน เว้นจากการตรึกในกาม ในพยาบาท ในวิหิงสา คิดที่จะเบียดเบียนคนก็ดี ผูกพยาบาทก็ดี หรือตรึกในความกำหนัดยินดีในกาม โภคทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นต้น เพื่อที่จะไปทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงสิ่งที่ท่านอยากเข้าถึง คือสิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก เข้าถึงแล้วให้มีความสุขกันอย่างเดี๋ยวนั้นเลย ทันตาเห็นทันใจเห็น แล้วก็ให้สุขยาวนานกระทั่งละโลก เรื่อยไปเลย 

 


                นั่นคือสิ่งที่ท่านแสวงหา ในแต่ละชาติท่านก็หามาทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งภพสุดท้ายเข้าถึงทางสายกลาง เข้าถึงทางสายกลางที่ท่านเรียกว่าอริยมรรค ทางของพระอริยเจ้า ที่ไม่ต้องไปเกิดอีกน่ะ เรียกว่าทางของพระอริยเจ้า ในเส้นทางนี้มีแต่ความบริสุทธิ์ มีแต่พระอริยเจ้าคือพระธรรมกาย ผุดซ้อน ๆ ขึ้นมา ตลอดเส้นทางเลย มีองค์พระ ในกลางองค์พระก็มีดวงธรรมรัตนะ มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม และในกลางดวงธรรมก็มีกายธรรมในกายธรรมต่อ ๆ กันขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างนี้เลย สุขยิ่งขึ้นไปไม่มีประมาณ ไม่มีอะไรมาเปรียบเทียบได้ 

 


                เพราะฉะนั้นชีวิตท่านจึงมีความสุขสมบูรณ์ด้วยการทำใจหยุดนิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงสิ่งที่มีในตน โดยเฉพาะพระธรรมกายที่มีอยู่ในตัวของท่านดังนั้นทุกท่านที่มาในวันนี้ สำหรับท่านที่มาสม่ำเสมอน่ะเข้าใจวิธีการอยู่แล้ว ส่วนท่านที่มาใหม่ยังไม่ทราบอะไรเลย ก็ได้โปรดเข้าใจตามนี้นะจ๊ะ ก็ให้ทุกท่านนำใจให้มาหยุดนิ่ง อยู่ภายในตรงฐานที่ ๗ ตรงฐานที่ ๗ นี่สำหรับท่านที่มาใหม่อาจจะลำบากใจนิดนึง กังวลใจน่ะว่ามันอยู่ตรงไหน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเหนือจากจุดตัดขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านให้กำหนดเครื่องหมายขึ้นมา เป็นที่ยึดใจห้อยู่ในกลางท้อง แล้วให้ทึกทักเอาว่าตรงนี้แหละคือฐานที่ ๗ อยู่ในกลางท้อง

 


                 เพราะฐานที่ ๗ ที่จะเห็นจริงๆ ก็ต่อเมื่อใจมันหยุดนิ่งได้เข้าถึงแล้ว ถึงจะเห็นว่าตรงนี้ฐานที่ ๗ แต่ในระหว่างที่กำลังประคับประคองใจน่ะ ให้หยุดนิ่ง ให้ใจพรากจากสิ่งที่เราคุ้นเคยน่ะ จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์อะไรต่าง ๆ เหล่านั้นน่ะ ก็ต้องมีเทคนิควิธีเหมือนกัน ท่านให้กำหนดเครื่องหมาย หรือบริกรรมนิมิต คือกำหนดให้ใจเรานึกถึงเพชรลูกเม็ดหนึ่ง เพชร ใส ๆ เพชรลูกที่เจียระไนแล้วน่ะ กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดเหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้วนะ 

 


                เพชรใสบริสุทธิ์ สะอาด ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ขนาดแก้วตา แต่ขนาดนี้แล้วแต่ใจเราชอบนะจ๊ะ แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านให้กำหนดให้โตเท่ากับแก้วตา แต่เราอาจจะเอาใหญ่กว่านี้ก็ได้ ถ้าชอบเพชรใหญ่ ๆ ก็เอาใหญ่ ๆ เลย ชอบขนาดลูกมะพร้าวก็เอาขนาดลูกมะพร้าว หรือชอบขนาดส้มเขียวหวานก็เอาขนาดนั้น หรือขนาดมะนาว หรือเล็กลงมาหน่อย แล้วแต่ใจชอบนะจ๊ะ แต่ท่านให้กำหนดเครื่องหมายให้ใส บริสุทธิ์ ใส ละเอียดทีเดียวนะ 

 


                ใสเหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดคือนึกสร้างมโนภาพให้ใจ ภาพทางใจมีแต่เครื่องหมายนี้นะ ดวงใสหรือดวงแก้วใส ๆ บริสุทธิ์ ประดุจเพชร โตเท่าแก้วตา ให้นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ อย่าไปตั้งใจนึกมากเกินไปนะ นึกสบาย ๆ ไหนลองทำซิจ๊ะ นึกสบาย ๆ น่ะ คล้ายกับนึกถึงสิ่งที่เรารักน่ะ สิ่งไหนที่เรารักนี่เราจะนึกได้ง่าย สบาย ไม่มีความรู้สึกว่าต้องฝืน ต้องพยายาม ต้องไปเค้นภาพให้เกิดขึ้นไม่นึกแบบปวดหัวน่ะ 

 


                นึกอย่างสบาย คล้ายกับนึกสิ่งที่เรารัก หรือสิ่งที่เราคุ้น เช่นดอกบัว ดอกกุหลาบ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว น้ำกลิ้งบนใบบัว น้ำค้างปลายยอดหญ้า หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราคุ้น เรานึกอย่างไรน่ะ ให้ใช้วิธีการนึกอย่างนั้นนะจ๊ะ มานึกดวงใส ๆ บริสุทธิ์ ให้ใสนิ่ง นึกอย่างสบาย ๆ แล้วก็ต้องให้ต่อเนื่อง อย่าให้ความคิดอื่นได้ช่องจนกระทั่งเราเสียจังหวะ เช่นนึกถึงดวงแก้ว แล้วเดี๋ยวก็ไปนึกเรื่องงาน นึกถึงดวงแก้วเอ้าเดี๋ยวนึกถึงเรื่องบ้าน นึกถึงดวงแก้วเอ้านึกถึงเรื่องเรียน นึกถึงดวงแก้วเอ้าเดี๋ยวนึกถึงเรื่องเที่ยว เรื่องสารพัดอย่างนั้น 

 


                ให้นึกถึงดวงแก้วเอ้านึกถึงเจ้าหนี้อีกแล้ว อย่างนั้นไม่เอานะจ๊ะ คนละเรื่องกัน ให้คิดคนละเรื่อง ตอนนี้กำลังแสวงหาหนทางพระนิพพาน นึกดวงแก้ว อย่างสบาย ๆ นึกสบาย ๆ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ ทำเป็นไม๊จ๊ะ ใจเย็น ๆ ใจเย็น ๆ อย่าให้มันร้อนน่ะ ใจเย็น ๆ น่ะ นึกเบา ๆ ค่อย ๆ นึก ค่อย ๆ นึก อย่าไปนึกหนัก ๆ ถ้าเค้นภาพ ปวดหัว ปวดลูกนัยน์ตา นั่นหนักไป ไม่เบา ถ้าอยากเห็นเร็ว ๆ นั่นใจไม่เย็น อยากได้เร็ว ๆ เลยเค้นภาพมา อย่างนี้เรียกว่าใจไม่เย็น ถ้าใจเย็นก็เรานึกเบาๆ สบายสบายน่ะ มีให้ดูแค่ไหนก็ดูไปแค่นั้น นึกได้แค่ไหนก็นึก นึกไปแค่นั้นก่อนนะจ๊ะ

 


                เริ่มต้นอย่างนั้นไปก่อน นั่นคือความสำเร็จในเบื้องต้น ของการนึกถึงบริกรรมนิมิต แทนการนึกเรื่องอื่น พอนึกเรื่องที่ทำให้ไม่บริสุทธิ์เนี่ยใจมันก็ไม่บริสุทธิ์ ถ้านึกเรื่องที่ทำให้ใจบริสุทธิ์มันก็จะบริสุทธิ์ ความใสของเพชรคล้ายกับความใสของดวงธรรมภายในทีเดียว ความใสของดวงธรรมภายในคือแหล่งกำเนิดแห่งความบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นความใสแบบเดียวกันจะเนื่องถึงความบริสุทธิ์ที่อยู่ภายใน เราจะได้นึกถึงสิ่งเหล่านี้อย่างสบาย ๆ แล้วก็ให้ต่อเนื่องกันไป 

 


                ถ้าหากว่านึกแล้วมันอดที่จะไปคิดเรื่องไม่ได้ ก็ให้ภาวนาสัมมาอะระหัง ควบไปด้วยนะจ๊ะ สัมมาอะระหัง ๆ ให้เสียงดังออกมาจากในกลางท้องนะ ดังมาจากกลางนิมิตเลยนะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ นึกไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ นึกอย่างเนี้ยะ ทำอย่างเนี้ยะไปเรื่อย ๆ อย่าเพิ่งอย่าไปคาดหวังว่าจะเข้าไปเห็นดวงธรรม เห็นกายภายใน หรือองค์พระ อย่าเพิ่งไปถึงขั้นนั้นนะ เอาแต่ว่าฝึกให้รู้จักนึกเป็นซะก่อน ฝึกใจให้หยุดอยู่ภายในอย่างนี้ ซะก่อน แทนที่ใจจะฟุ้งไปเรื่องอื่นน่ะ เอาตรงนี้ให้ได้ซะก่อนนะจ๊ะ 

 


                หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านใช้คำว่า หยุด ตกลงตรงนี้ให้ได้ซะก่อน คือทำตรงนี้ให้มันได้ซะก่อน ให้ตกลงให้ได้ซะก่อน หยุดตรงนี้เนี่ย อย่าเพิ่งไปเอาตรงโน้น ตรงโน้นยังไงเราก็ได้อยู่แล้ว เพราะมันอยู่ในตัวของเรา ดวงธรรมที่มีอยู่ กายก็มีอยู่ องค์พระก็มีอยู่ ไอ้นั่นไม่ยากนะจ๊ะ แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นของละเอียด หน้าที่ของเราต้องทำใจให้ละเอียดเท่ากับสิ่งที่มีอยู่ เดี๋ยวก็เข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นตรงนี้นะ สัมมาอะระหัง เรื่อยไปเลยนะ 

 


                สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาไปจนกว่าใจไม่อยากภาวนา คือใช้เท่าที่จำเป็นนะ ภาวนาไปเท่าที่จำเป็น พอหมดความจำเป็น ใจมันก็จะนิ่งเฉย พอนิ่งเฉย ร่างกายของเราก็จะค่อย ๆ โปร่ง โล่ง เบาโล่ง เบา สบาย จะโล่ง โปร่ง เบา สบาย ใจก็ค่อย ๆ ขยาย ความรู้สึกที่ร่างกายก็คล้าย ๆ กับขยายตามที่ใจขยาย โตขึ้น พองขึ้น โตขึ้น ๆ ไปเรื่อย จนกระทั่งกลืนเป็นอันเดียวกับบรรยากาศ โตไปเลย ใหญ่สุดขอบฟ้าไปเลยนะ ขยายใหญ่อย่าไปตกใจนะจ๊ะ ปล่อยมันไปเลย อย่าไปฝืน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อใจหยุดแล้วน่ะ มันจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย ขยายไปเรื่อย ๆ เลย 

 


                ใจตอนนี้น่ะเบิกบาน แช่มชื่น นี่เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่มีความเพียร มีความตั้งใจ ที่เอาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา มาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม หลังจากปล่อยให้มันไปฟุ้งซ่าน เลอะเทอะเรื่อยเปื่อย ในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากศูนย์กลางกาย เมื่อกลับมาได้ นิ่งถูกส่วนเข้า ก็ได้รับรางวัล คือความปีติเกิดขึ้น กายก็เบา ใจเบา บางคนน้ำหูน้ำตาไหลเลย โอ้ชื่นใจอะไรอย่างนี้ เกิดมาไม่เคยเป็นเลย ก็อย่าไปสงสัย ทำไมนั่งอยู่ดี ๆ น้ำตาไหล น้ำตาไหลนะจ๊ะ ไม่ใช่ร้องไห้ มันคนละเรื่องกันนะ น้ำตาไหลคล้าย ๆ กับว่าใจยังยินดีเลยว่า หยุดได้ ไม่เคยหยุดได้เลย

 


                ความปีติยินดีน่ะ มันก็แผ่ซ่านทั่วสรรพางค์กาย ต่อมน้ำตาก็หลั่งน้ำตาเย็นออกมา ให้ชุ่มชื่นให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้เราชนะแล้ว ชนะในเบื้องต้นแล้ว หยุดนิ่งได้แล้ว ตกลงกันได้แล้ว ใจตกลงนิ่ง หยุดนิ่ง เฉย ก็ให้รักษาสภาพอย่างนั้นต่อไปนะจ๊ะ อย่าเพิ่งฟุ้งซ่าน อยากเห็นกาย เห็นองค์พระ อยากไปนรก อยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพาน ไอ้นั่นฟุ้งซ่านแล้ว ไม่เอานะจ๊ะ รักษาใจที่นิ่งอย่างนี้ต่อไป นิ่งเฉย ให้ใจเรานี่ดูดดื่มด่ำกับความสุขครั้งแรกที่ละเอียดอ่อน ที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ให้นาน ๆ ที่สุดทีเดียว ดื่มด่ำ ณ จุดตรงนี้ให้นาน ๆ นานเท่าที่ใจจะปรารถนา

 


                เพราะใจพอมันเต็มเปี่ยม มันดื่มด่ำเต็มที่แล้ว มันก็จะเคลื่อนย้ายต่อไปอีก ไปสู่ภายในเอง เพราะฉะนั้นเราอย่าไปเร่ง ของดีเนี่ย ต้องอยู่กับสิ่งนี้นาน ๆ ให้ดื่มด่ำกับความสุขครั้งแรก ความโล่ง ความโปร่ง เบา จนกระทั่งรู้ทั่วถึงว่ามันดีอย่างนี้น่ะ พอมันดีอย่างนี้ ก็น้ำตาเย็นก็พรั่งพรูมาเป็นรางวัล รู้อย่างนี้ทำมาซะตั้งนานแล้วน่ะ น้ำตาเย็นมันก็ไหลลงมา หูตาจะได้สว่างขึ้น หลังจากที่มันมืด มืดมัวมานานน่ะ ดวงตามืดมัวมานาน ก็ให้น้ำตามันไหลมาซะมั่ง แต่เป็นน้ำตาเย็นนะจ๊ะ ทำอย่างนี้แหละ เอ้าทำกันไปซะพักหนึ่งนะจ๊ะ

 

 

 
 
 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02071129878362 Mins