ความพร้อมของนักเทศน์

วันที่ 24 มิย. พ.ศ.2567

670621_b39.jpg

 

ความพร้อมของนักเทศน์


           อันผู้เทศน์หรือผู้แสดงธรรมนั้น เมื่อแบ่งตามคุณภาพและประสิทธิภาพแล้วมี ๒ ประเภทคือ ประเภทเทศน์ได้ กับ ประเภทเทศน์ดี
ประเภทเทศน์ได้ คือสามารถที่จะเทศน์ให้ชาวบ้านฟังได้ตามธรรมเนียม เทศน์พอให้ครบหลักการทำบุญ ๓ ประการคือทาน ศีล ภาวนา พอให้พิธีผ่านไปโดยไม่ผิดธรรมเนียม ไม่หวังผลตาม วัตถุประสงค์ เรียกว่าเทศน์พอเป็นพิธี เจ้าภาพในงานและผู้ฟังก็จัดให้มีเทศน์และฟังเทศน์กันพอเป็นพิธีเช่นกัน ไม่ได้ติดใจที่จะฟังเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นหรือเกิดสติปัญญาอะไร ผู้เทศน์จะเทศน์เรื่องอะไรก็ได้ ไม่ติดใจไม่สนใจทั้งสิ้น ผู้เทศน์เองก็เตรียมการเทศน์มาบ้างไม่ได้เตรียมบ้าง อ่านไปตามคัมภีร์ที่ท่านแต่งกันไว้บ้าง อ่านติดๆขัด ๆ ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ก็พอให้ผ่านๆ ไป หรือหากมีประสบการณ์ในการเทศน์บ่อยหน่อย ก็พออธิบายข้อธรรมต่างๆ ได้พอสมควร แต่ไม่สามารถดึงดูดศรัทธา ความสนใจ ตลอดถึงความรู้สึกที่จะจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในชีวิต ก็เรียกว่าเทศน์ไปตามธรรมเนียมเหมือนกัน ผู้เทศน์ประเภทอย่างนี้เรียกว่าประเภทเทศน์ได้

             ประเภทเทศน์ดี คือสามารถที่จะเทศน์ให้ได้เนื้อหาสาระแห่งธรรม ได้เนื้อถ้อยกระทงความ เทศน์ไปตามวัตถุประสงค์แห่งการเทศน์
เป็นผู้ที่มีหลักในการเทศน์ มีความพร้อมในการเทศน์ เตรียมการเทศน์มาอย่างดี รักษาองค์แห่งพระธรรมกถูกในเวลาเทศน์ไว้ได้ครบถ้วนแม้จะไม่อาจให้ผู้ฟังบรรลุธรรมหรือกำจัดกิเลสได้เหมือนพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกในอดีต แต่ก็สร้างบรรยากาศแห่งการเทศน์ให้มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ สามารถทำให้ผู้ฟังได้รับอานิสงส์จากการฟังธรรมครบถ้วน ให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในธรรมในศาสนาเกิดความเลื่อมใสได้ ทำให้ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น ทั้งสามารถสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้ฟังได้ ตลอดถึงจูงใจให้ผู้ฟังจดจำข้อเทศน์ข้อธรรมบางอย่างบางตอนแล้วเกิดความรู้สึกที่จะนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้

การที่ผู้เทศน์จะอยู่ในระดับประเภทเทศน์ที่ได้จำต้องมีการฝึกฝน มีประสบการณ์ และปฏิภาณไหวพริบ ตลอดถึงวิชาความรู้ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติพอสมควรทีเดียวและผู้เทศน์ประเภทเทศน์นี้แหละที่สมควรได้รับยกย่องว่าเป็น“นักเทศน์คุณภาพ”ผู้เทศน์ประเภทเทศน์ได้จะสามารถรักษาธรรมเนียมไว้ได้ แต่ผู้เทศน์ประเภทเทศน์ดีจะสามารถรักษาทั้งธรรมเนียมและพระศาสนาไว้ได้การที่จะได้รับยกย่องว่าเป็นนักเทศน์คุณภาพด้วยเป็นผู้เทศน์นั้นจำต้องสร้างคุณสมบัติให้เกิดมีในตน อันคุณสมบัติของนักเทศน์ที่สำคัญคือ “ความพร้อม” และความพร้อมนั้นอาจแยกแยะรายละเอียดได้เป็น 4 ประการคือ
๑. กายพร้อม
๒. วาจาพร้อม
๓. ใจพร้อม
4. ความรู้พร้อม

 

๑. กายพร้อม
               กายพร้อม หมายถึงมีความพร้อมทางร่างกาย ร่างกายพร้อมที่จะแสดงธรรม ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เรื่องกิริยาท่าทาง ตลอดถึงเรื่องความกระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว ไม่อืดอาดยืดยาด สิ่งที่บ่งบอกว่าผู้เทศน์มีกายพร้อม คือ มีสุขภาพดี คือสังขารร่างกายอยู่ในสภาพปกติแข็งแรง คล่องแคล่ว สามารถแสดงธรรมได้อย่างปกติจนตลอดกัณฑ์ไม่อาพาธเจ็บป่วยหรือผิดปกติจนออกอาการให้ปรากฏ เช่นกำลังเป็นไข้ เป็นหวัดอย่างแรง ปวดศีรษะ หมดแรงเพราะท้องเสีย หรืออดนอนจนดูเหมือนไม่สบาย ผู้เทศน์หากขึ้นธรรมาสน์ด้วยอาการปกติเพราะมีสุขภาพปกติย่อมคล่องตัว ปฏิบัติหน้าที่เทศน์ได้ต่อเนื่องไม่ติดขัด ไม่ทำให้เสียจังหวะในการแสดงธรรม และผู้ฟังย่อมไม่ผิดสังเกต แต่หากในขณะนั้นผู้เทศน์มีสุขภาพไม่พร้อม แสดงถึงว่าสังขารไม่อำนวย ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเทศน์ เช่นเทศน์ไปไอไป เทศน์ไปเช็ดน้ำมูกไป เทศน์แบบเสียไม่ได้ ทำให้การเทศน์สะดุดไม่ราบรื่นบ้างไม่ได้รสชาติบ้าง เนื้อหาจับต้นชนปลายไม่ถูกบ้าง

              อนึ่ง ผู้มีสุขภาพไม่พร้อมที่จะเทศน์หากฝืนใจไปเทศน์ย่อมมีผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้เสียบุคลิกภาพโดยไม่รู้ตัว ทำให้มองได้ว่าผู้เทศน์นั้นฝืนสังขารมาเทศน์เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ หรือหากจะเทศน์เพื่อฉลองศรัทธาของเจ้าภาพด้วยมีความเคารพนับถือกันอยู่หรือด้วยเกรงใจเจ้าภาพ ก็ชื่อว่าไม่กตัญญูต่อสังขารตัวเอง ไม่นำความศรัทธาเลื่อมใสมาให้แก่ผู้ฟังที่มิได้รู้ความเป็นจริงด้วย มีบุคลิกภาพดี คือปฏิบัติตัววางตนเหมาะสมกับสมณภาวะของตน สำรวมระวังกิริยาอาการไม่ว่าจะยืน เดิน หรือนั่งก็เป็นสมณสารูป ไม่หลุกหลิก ไม่เร็วจนกลายเป็นพรวดพราดไม่ช้าจนกลายเป็นอืดอาดเนิบนาบน่ารำคาญ แต่นิ่มนวลชวนมองตลอดถึงวางหน้าเสงี่ยมงาม แย้มยิ้มในตัว ไม่ถึงกับยิ้มหัวจนเสียกิริยากิริยาท่าทางที่เรียบร้อยสวยงาม องอาจพึ่งผาย หน้าตาแจ่มใส สำรวมระวังทุกอิริยาบถเช่นนี้เป็นเครื่องส่อให้เห็นว่าผู้เทศน์มีบุคลิกภาพดีมีความสง่า น่ามอง น่าเลื่อมใส อันเป็นเครื่องดูดใจและศรัทธาได้ตั้งแต่ยังไม่ได้เทศน์ และจะส่งผลให้ผู้เห็นสนใจใคร่จะฟังธรรมจากผู้เทศน์นั้นมากยิ่งขึ้น

             นัยตรงกันข้าม หากผู้เทศน์ไม่พิถีพิถันในเรื่องนี้ นุ่งห่มแบบขอไปทีเดินไปยังสถานที่ทำพิธีหรือเดินขึ้นธรรมาสน์เหมือนคนหมดแรงนั่งหลังงอห่อเหี่ยว หน้าตาเฉยเมยแบบไร้ความรู้สึก ดวงตาเหม่อลอยเหมือนคนครึ่งหลับครึ่งตื่น อาการเช่นนี้ล้วนทำให้เสียบุคลิกภาพทั้งสิ้น ชาวบ้านเห็นอาการเช่นนี้แล้วย่อมใจเสีย เกิดความรู้สึกว่าผู้เทศน์มิได้เต็มใจที่จะมาเทศน์ มาเทศน์แบบเสียไม่ได้เท่านั้นเอง ทำให้ลดความน่าเชื่อถือทั้งในตัวผู้เทศน์และธรรมที่ผู้เทศน์แสดงให้ฟังไปมาก

              มีสมณสารูปดี คือพิถีพิถันในการนุ่งการห่ม นุ่งห่มเรียบร้อยถูกหลักสมณสารูป ไม่นุ่งห่มแบบพอให้ปกปิดร่างกายจะรุ่มร่ามหรือเลื้อยหน้าเลื้อยหลังอย่างไรไม่สนใจ รักษาระเบียบวินัยในการนุ่งห่ม เลือกสีผ้าทั้งสามผืนให้เป็นสีเดียวกัน ตลอดถึงนุ่งห่มตามแบบของวัดที่ตนอาศัยอยู่ จัดระเบียบผ้าให้ดูเรียบร้อย ไม่รุ่มร่ามเป็นต้น ผู้ปฏิบัติได้ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ตระหนักในระเบียบวินัย เป็นผู้รักในระเบียบวินัย ไม่มักง่ายแม้ในเรื่องเล็กน้อย นอกจากนั้นการปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอยังเป็นการเสริมบุคลิกภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติด้วยทั้งจะได้รับคำยกย่องชมเชยจากผู้พบเห็น ยิ่งหากเป็นผู้แสดงธรรมด้วยแล้วย่อมจะเสริมศรัทธาเสริมความสนใจใคร่จะฟังธรรมให้แก่เจ้าภาพและบุคคลทั่วไปด้วย

๒. วาจาพร้อม
               การเทศน์เป็นการเผยแผ่ธรรมด้วยวาจาหรือคำพูดเป็นหลักและวาจานั้นเปล่งออกมาเป็นเสียงเป็นสำเนียงไปสัมผัสกับประสาทหูของผู้ฟัง ทำให้สื่อความหมายระหว่างผู้เทศน์กับผู้ฟังได้ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ผู้เทศน์แสดงออกไปได้ แต่วาจานั้นก็มีหลายแบบ คือน่าฟังก็มี ไม่น่าฟังก็มี การเทศน์ด้วยวาจาที่น่าฟังเท่านั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์ทั้งแก่ผู้เทศน์และผู้ฟัง การพิถีพิถันในการใช้วาจาที่เป็นคำเทศน์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผู้เทศน์จำต้องมีความพร้อม คือพร้อมที่จะใช้วาจาคำพูดเช่นนั้นในการแสดงธรรมของตนอันวาจาที่ผู้เทศน์จำต้องสำเหนียกพิจารณาและสร้างเสริมให้มีพร้อมอยู่ในตนเพื่อความเป็นนักเทศน์ที่มีศักยภาพและคุณภาพที่สำคัญมีอยู่ ๒ ประการคือ สำเนียงวาจา กับ สำนวนวาจา

                -สำเนียงวาจา หมายถึงมีเสียงดี มีเสียงใส มีความชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ ฟังไพเราะ จับหู จับใจ นุ่มนวลชวนฟัง ไม่ดังเกินไป ไม่ค่อยเกินไป ฟังแล้วสบายหู มีจังหวะจะโคน ไม่ติดอยู่แค่ริมฝีปาก ไม่อื้ออ้าอยู่ในลำคอ ไม่เปล่งเสียงดังตะโกนเหมือนโฆษกงานวัด ผู้เทศน์ที่มีสำเนียงวาจาดีย่อมดึงดูดใจได้มาก โดยเฉพาะผู้ที่เรียกว่าโฆสัปปมาณิกาคือผู้ถือเสียงเป็นประมาณหรือผู้ที่ติดเสียงซึ่งนิยมชมชอบฟังเสียงฟังสำเนียงมากกว่าฟังเนื้อหาย่อมจะให้ความศรัทธาผู้เทศน์ที่มีสำเนียงวาจาดีเป็นพิเศษ ผู้สามารถออกเสียงออกสำเนียงวาจาได้ไพเราะเวลาเทศน์ย่อมได้เปรียบผู้เทศน์ที่มีเสียงแหบแห้ง ฟังไม่ชัดเจน หรือมีสำเนียงแข็งกระด้างไม่เพราะหู ไม่จับใจ ไม่ชวนฟัง แม้เนื้อหาธรรมจะดีและไปได้ แต่ก็ไม่กินใจและจับใจเท่าที่ควรแต่หากว่าผู้เทศน์มีสำเนียงวาจาดีด้วย เนื้อหาที่เทศน์ก็ดีด้วย ย่อมเป็นนักเทศน์คุณภาพโดยไม่ยากนักเลย

                  -สำนวนวาจา หมายถึงวาจาหรือคำที่ใช้ในการเทศนาซึ่งมีลักษณะเป็นคำสุภาพ เป็นภาษาหนังสือ เป็นคำผู้ดี ไม่ใช่คำตลาดหรือภาษาพูด ไม่หยาบคายหรือหยาบโลน ไม่ใช่คำคาบลูกคาบดอกหรือคำสองง่ามสองแง่ คำที่จัดว่าเป็นสำนวนวาจาผู้ดี เป็นภาษาหนังสือนั้นจำต้องกลั่นกรอง เลือกเฟ้น และหยิบยกมาใช้ให้ตรงกับเรื่องหรือข้อธรรมที่กำลังแสดง ผู้เทศน์ที่สามารถใช้สำนวนวาจาหรือคำที่ดี ได้เนื้อหาสาระครบถ้วนชัดเจน และมีความสุภาพอยู่ในตัวมาอธิบายข้อธรรมให้ชาวบ้านฟังได้ทุกระดับชั้น ย่อมเป็นนักเทศน์ที่ควรยกย่องว่าเป็นนักเทศน์คุณภาพได้เช่นกัน

              อนึ่ง คำคม คำสุภาษิต คำโคลง คำฉันท์ คำกาพย์ คำกลอนตลอดถึงคำที่มีความกินใจ มีความหมายที่สะกิดใจเป็นต้น คำประเภทนี้จัดอยู่ในสำนวนวาจาทั้งสิ้น ผู้เทศน์ที่จดจำคำเหล่านี้สำนวนเช่นนี้ได้มาก หรือสามารถคิดคำคิดสำนวน สามารถแต่งคำเช่นนี้ได้ด้วยตนเอง ย่อมสามารถแสดงธรรมได้เพราะพริ้ง อธิบายธรรมได้ชัดเจน และสามารถดึงดูดใจผู้ฟังให้สนใจและตั้งใจฟังได้ตลอดเวลา เพราะไม่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หากแต่ยิ่งฟังยิ่งได้คำแปลกใหม่ น่าขำ น่าติดตามฟังต่อไป

               นักเทศน์ผู้พร้อมด้วยสำเนียงวาจาและสำนวนวาจาเช่นนี้ย่อมเป็นนักเทศน์คุณภาพ แต่ความพร้อมเช่นนี้จำต้องอาศัยการฝึกฝน การกำหนดจดจำ การสังเกต และประสบการณ์เป็นสำคัญ ยิ่งถ้าสามารถคิดและฝึกหัดแต่งคำแต่งสำนวนได้เองก็จะยิ่งได้เปรียบเพราะจะสามารถแต่งยักเยื้องคำและสำนวนให้ตรงประเด็นอย่างที่ต้องการได้ทุกอย่าง แต่ถ้าผู้เทศน์ไม่สนใจไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็ยากที่จะเป็นนักเทศน์คุณภาพได้ และยากที่จะทำให้ผู้คนสนใจอยากจะฟังเทศน์กัน เห็นมีแต่จะทำให้ผู้คนเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากฟังเทศน์ ไม่อยากเสียเวลากับกิจกรรมนี้ ดังที่ปรากฏมากขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน


๓. ใจพร้อม
                การทุกอย่างมักจะเริ่มต้นที่ใจ ถ้าใจพร้อมการกระทำอื่นๆ ก็จะตามมาและจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ถ้าใจยังไม่พร้อม แม้จำต้องฝืนใจทำไปก็เอาดีไม่ได้ จะทำไปแบบแกนๆ หากประสบปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เข้าก็มักจะถอดใจยอมแพ้ยอมหยุดเอาง่ายๆ แม้การเทศน์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าใจพร้อมที่จะเป็นนักเทศน์ พร้อมที่จะเทศน์อย่างอื่นถึงจะเป็นปัญหาและอุปสรรคก็จะฟันฝ่าไปได้ เช่นกายไม่พร้อม มีปัญหาเรื่องสุขภาพบุคลิกไม่ค่อยดี แต่ใจรักอยากจะเป็นนักเทศน์นักเผยแผ่ก็จะค่อยๆ บำรุงรักษาตัว ฝึกฝนปรับปรุงบุคลิกของตัวสม่ำเสมอ หรือวาจาไม่พร้อม สุ้มเสียงไม่ค่อยดี ก็จะฝึกฝนอบรมในการเทศน์ ลองผิดลองถูก กำหนดจดจำ หาประสบการณ์ร่ำไป ไม่ช้าก็ถึงฝั่งแห่งความสำเร็จจนได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อใจยังสู้ยังพร้อมอยู่เสมอ ทุกอย่างก็เป็นเรื่องย่อยไปหมด

                 ความมีใจพร้อมจะเป็นเหตุให้เทศน์ได้ดีและได้คุณภาพ แม้ผู้ฟังเทศน์ก็ย่อมสัมผัสได้ว่าผู้เทศน์นั้นมีใจที่จะเทศน์มากน้อยแค่ไหนเพราะผู้มีใจพร้อมจะเทศน์ด้วยความตั้งอกตั้งใจ หวังประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นที่ตั้ง จะเตรียมตัวมาดี เทศน์ได้เนื้อหาสาระ หากใจไม่พร้อมก็จะเทศน์แบบขไปที พอให้ผ่านๆ ไป หรือเทศน์ด้วยความรู้สึกและอารมณ์ที่ไม่อยากจะเทศน์หรือเทศน์ด้วยความจำใจ เทศน์แบบสุกเอาเผากิน แบบขอไปที หน้าตาจะเฉยเปื่อย ท่าทางดูเหนื่อยหน่าย บ่งบอกชัดเจนว่าไม่มีกะใจจะเทศน์เลย เมื่อเป็นดังนี้เจ้าภาพและผู้ฟังเทศน์ก็จะเกิดความรู้สึกที่ไม่สู้ดีกับผู้เทศน์หรือเกิดความน้อยใจเสียใจว่าผู้เทศน์ไม่ให้ความสำคัญแก่ตนและงานของตน ซึ่งมีผลกระทบต่อศรัทธาโดยตรงทีเดียว

                นักเทศน์ผู้มีคุณภาพย่อมประคองใจให้พร้อมอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าบางขณะโอกาสจะเกิดความเหนื่อยหน่ายหรือไม่สบอารมณ์ในบางเรื่องอยู่บ้างก็ปิดไว้มิดชิด ไม่แสดงออกให้ปรากฏ และรักษามารยาทและอารมณ์ให้เป็นปกติ เพื่อให้การเทศน์ครั้งนั้นผ่านไปด้วยดี แม้จะไม่ถึงกับใช้ได้ แต่ก็ไม่ทำลายศรัทธาของเจ้าภาพให้เสียไปการแสดงออกที่บ่งบอกว่าผู้เทศน์มีใจพร้อมนั้นได้แก่อาการต่างๆ เหล่านี้คือมีความตั้งใจแน่วแน่ คือก่อนเทศน์และในขณะเทศน์มีความตั้งใจที่จะเผยแผ่ศาสนา ตั้งใจทำหน้าที่เป็นศาสนทายาทที่ดีมุ่งที่จะรักษาธรรมเนียมประเพณีที่พระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกตลอดถึงบุรพาจารย์ได้ปฏิบัติกันมาไม่ขาดสาย แม้ว่าการเทศน์ในบางสถานที่จะมีผู้ฟังน้อย จะมีผู้สนใจฟังจริงๆ ไม่มาก และมีสิ่งมีเสียงรบกวนสมาธิมาก แต่ก็ไม่หวั่นไหว รักษาใจรักษาอารมณ์ให้นิ่งได้ ไม่คิดที่จะเทศน์แบบพอให้ผ่านไป ความตั้งใจที่แน่วแน่นี้จะเป็นเครื่องตัดความรู้สึกไม่อยากเทศน์เมื่อมีคนฟังน้อยหรือคนฟังไม่สนใจฟังหรือเอาแต่คุยกัน เมื่อตัดความรู้สึกไม่อยากเทศน์ออกได้แล้วก็จะเทศน์ได้อย่างปลอดโปร่งใจ สบายใจ มีคนฟังเท่าไรก็เทศน์ให้ฟังเท่านั้น ดังนี้เป็นต้นการมีความตั้งใจที่แน่วแน่ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์หรือความไม่สะดวกต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนเทศน์และขณะเทศน์ แสดงว่ามีจิตใจมั่นคง ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นได้ เมื่อควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ กิริยาอาการที่แสดงออกมาทางกายก็ดีทางวาจาก็ดีก็จะเป็นปกติ ไม่บูดบึ้ง ไม่ปึงปัง ไม่พูดจาด่าทอหรือกระทบกระเทียบ เป็นต้น ทำให้ดูดีทีเดียว

 

                มีจิตประกอบด้วยเมตตา คือเทศน์โดยหวังประโยชน์ทางธรรมแก่ผู้ฟัง มีความหวังที่ปรารถนาดีต่อผู้ฟัง ปรารถนาจะให้เขาได้รับประโยชน์ได้รับอานิสงส์แห่งการฟังธรรมเต็มที่ เช่นต้องการให้เขาได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟังต้องการบันเทาความสงสัยให้เขาต้องการให้เขาเกิดความรู้ความฉลาด เป็นต้น เมื่อจิตของผู้เทศน์ประกอบด้วยเมตตา มีเมตตาเป็นพื้นฐานแล้ว จะสามารถมองข้ามปัญหาข้อขัดข้องหรือความไม่พร้อมของสถานที่ที่เทศน์ ของบุคคลผู้ฟังเทศน์และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยอำนวยความสะดวกแก่การเทศน์ได้อย่างง่ายดาย โดยไม่เก็บมาใส่ใจ ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ มุ่งจะเทศน์ให้ได้เนื้อหาแก่ผู้ฟังเป็นประการสำคัญ

                ผู้เทศน์ผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตาเช่นนี้จะไม่หยุมหยิมในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในข้อบกพร่องของสถานที่ ของเจ้าภาพ ของผู้ฟังเทศน์ ของเครื่องเสียง เป็นต้น แต่จะเน้นที่ตัวเอง เน้นที่เนื้อหาสาระที่จะเทศน์ให้ได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของงาน ของผู้สนใจในธรรมซึ่งย่อมมีอยู่ในหมู่ผู้ฟังนั้นผู้เทศก์ประเภทนักเทศน์คุณภาพนั้นย่อมจะมีใจพร้อมด้วยการประคับประคองจิตให้ประกอบด้วยเมตตา เทศน์ด้วยเมตตาธรรมเช่นนี้

                 -มุ่งธรรมเป็นใหญ่ ไม่มุ่งลาภเป็นใหญ่ คือมีใจมุ่งแสดงธรรมเพื่อเผยแผ่ธรรม เพื่อให้ธรรมเป็นทานเป็นสำคัญ มีใจจดจ่ออยู่กับการทำหน้าที่ของนักเทศน์ที่ดี มิได้มุ่งเพื่อให้ได้ลาภสักการะหรือกัณฑ์เทศน์เป็นสำคัญนักเทศน์ผู้มุ่งธรรมเป็นใหญ่จะไม่คำนึงถึงจำนวนคนฟังจำนวนเครื่องกัณฑ์ หรือความสะดวกสบาย การเดินทาง ตลอดถึงการต้อนรับขับสู้ของเจ้าภาพ ขอให้มีโอกาสได้เทศน์เป็นพอใจด้วยคิดว่าจะได้ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้าด้วยการแสดงธรรมโปรดชาวบ้าน และตนเองจะได้บุญกุศลจากการแสดงธรรมนั้น เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่าการแสดงธรรมจัดเป็นบ่อเกิดบุญอย่างหนึ่งในจำนวน ๑๐ อย่าง เรียกว่าธัมมเทสนามัยบุญ จะมีคนฟังมากน้อยอย่างไร จะมีเครื่องบูชาธรรมมากน้อยอย่างไร จะได้รับความไม่สะดวกสบายอย่างไรก็ไม่ติดใจแสดงธรรมไปโดยครบถ้วนตามหลักการเทศน์ ไม่ตัดลัดใจความ ไม่แสดงอาการขึ้นลงให้ปรากฏ แสดงว่าเป็นผู้มีใจพร้อมที่จะแสดงธรรมตรงกันข้ามผู้เทศน์ที่มุ่งหาลาภเป็นใหญ่ มักแสดงอาการขึ้นลงให้ปรากฏ เมื่อเห็นว่าจะได้ลาภสักการะไม่มากนัก ไม่พอกับที่ลงทุนลงแรงเตรียมตัวมาเทศน์ ใจก็เริ่มจะกวัดแกว่งไขว้เขว ออกอาการไม่ค่อยพอใจให้ปรากฏ บางครั้งถึงกับพูดออกมาเพื่อระบายความอึดอัดใจ ทำให้ใจไม่พร้อมที่จะเทศน์ในขณะนั้น เมื่อเทศน์ก็จะเทศน์แบบสุกเอาเผากิน พอให้จบกันไป ลาภสักการะหรือกัณฑ์

                 เทศน์นั้นหากใจไม่หนักแน่นพอก็จะทำให้ใจแกว่งไม่เป็นปกติได้ ถ้ามีมากก็ทำให้ลิงโลดดีใจ ถ้ามีน้อยก็ทำให้หงุดหงิดใจ แต่ถ้าใจหนักแน่นพอก็จะทำอะไรใจไม่ได้ เครื่องกัณฑ์จะมีมากหรือน้อยหรือไม่มีเลยก็ไม่เป็นประมาณผู้เทศน์ที่มีใจหนักแน่นแสดงธรรม โดยมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ไม่มุ่งลาภเป็นใหญ่เช่นนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีใจพร้อม อันเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่าเป็นนักเทศน์คุณภาพอีกประการหนึ่ง

๔. ความรู้พร้อม
                 การทำงานทุกอย่างย่อมปรารถนาเครื่องมือหรือสิ่งช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความสำเร็จ เพราะปกติลำพังพลังแขนพลังขาของแต่ละคนไม่อาจทำอะไรให้สำเร็จได้ทุกอย่าง หากมีเครื่องมือมาช่วยเหลือก็จะทำให้การทำงานนั้นๆ เกิดความคล่องตัว ดำเนินไปได้ราบรื่นไม่ติดขัด เพราเท่ากับมีมือมีเท้าเพิ่มมากขึ้น ยิ่งมีเครื่องมือมากก็ยิ่งสำเร็จได้เร็วและสำเร็จได้โดยง่าย เครื่องมือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการทำงานทุกอย่างดังนี้ผู้เทศน์ก็เช่นเดียวกันจำต้องมีเครื่องมือในการเทศน์ของตนเพื่อให้การเทศน์เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่ติดขัด เทศน์ได้ดีและคล่องตัวนำให้เกิดความรู้ความประทับใจแก่ผู้ฟัง เครื่องมือในการเทศน์นั้นที่สำคัญก็คือความรู้ของผู้เทศน์ ความรู้จัดเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การเทศน์สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของการมีเทศน์ จัดว่าเป็นองค์ประกอบหลักของการเทศน์ก็ย่อมได้ ความพร้อมทางกายทางวาจา และทางใจดังกล่าวมาข้างต้นแม้ว่าจะเป็นองค์ประกอบใหญ่แต่ก็มิใช่เป็นองค์ประกอบหลัก เพราะถึงกายจะพร้อม วาจาจะพร้อม ใจจะพร้อม

                  แต่ความรู้ไม่พร้อมก็แสดงธรรมไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะแสดงธรรมอะไร แสดงอย่างไร จะอธิบายอย่างไรจึงจะตรงประเด็นและได้ประสิทธิผลนัยตรงกันข้ามแม้กายจะไม่ค่อยพร้อมเช่นเป็นไข้หวัดอยู่วาจาจะไม่พร้อมเช่นเสียงแหบแห้ง สำเนียงไม่เพราะ หรือใจจะไม่พร้อมเช่นไม่ค่อยเต็มใจจะเทศน์ หากแต่ผู้เทศน์มีความรู้ความสามารถ ฉลาดในโวหารการเทศน์ สามารถอธิบายข้ออรรถข้อธรรมได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง และถูกต้องข้อเท็จจริง ผู้ฟังก็สามารถมองผ่านความที่กายไม่พร้อมวาจาไม่พร้อมใจไม่พร้อมของผู้เทศน์ได้เหมือนกัน เพราะได้อรรถรสของธรรมแม้จะไม่มากและไม่ประทับใจกับความไม่พร้อมด้านอื่นของผู้เทศน์อยู่บ้างก็ตาม ดังนั้นความรู้จึงเป็นเครื่องมือเป็นองค์ประกอบหลักของการเทศน์ ซึ่งผู้เทศน์จำต้องมีให้พร้อมอยู่เสมออันสิ่งที่ผู้เทศน์จําต้องรู้นั้นมีมากและจำต้องรู้ให้มากเข้าไว้เพราะยิ่งรู้มากเท่าไรก็จะมีผลทำให้เทศน์ได้ดี คล่องแคล่ว ประทับใจผู้ฟัง และได้ประสิทธิภาพมากเท่านั้น ความรู้ที่เป็นหลักๆ สำหรับนักเทศน์นั้นคือ

- รู้วิชา
- รู้วิเคราะห์
- รู้วิจารณ์
- รู้วิธี

 

รู้วิชา
                วิชา คือความรู้ที่จะนำเสนอถ่ายทอดไปสู่ผู้ฟัง อันประกอบด้วยเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟัง คือได้รับอานิสงส์แห่งการฟังอย่างสมบูรณ์อันวิชาความรู้นั้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานแห่งการเทศน์เพราะเป็นสิ่งที่ต้องนำเสนอและถ่ายทอดด้วยการแสดงชี้แจงออกไปหากวิชาความรู้ไม่มี ก็ไม่มีอะไรที่จะเทศน์และไม่อาจที่จะเทศน์ได้เหมือนต้องการจะทำบุญด้วยการเลี้ยงพระก็ต้องมีสิ่งของสำหรับทำบุญมีอาหารเป็นต้น ถ้าไม่มีสิ่งของเหล่านั้นก็ไม่มีอะไรที่จะเลี้ยงพระและไม่อาจทำบุญเลี้ยงพระได้

                  วิชาที่จำเป็นต้องรู้เพื่อประโยชน์แก่การเทศน์นั้นมีมาก เรียนไม่รู้จบ จำต้องเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้ากันตลอดไป แล้วกลั่นกรองเก็บมาใช้เฉพาะที่จะเป็นประโยชน์ เอื้อต่อการเทศน์ของตน วิชาที่จำเป็นดังกล่าวนั้นอาจแยกได้เป็น ๒ ประเภทคือ วิชาหลัก กับ วิชารองวิชาหลัก ได้แก่วิชาธรรมซึ่งเป็นวิชาแกนที่ขาดไม่ได้ เป็นวิชาที่ต้องรู้ อันวิชาธรรมนี้ถือว่าเป็นหัวใจของการเทศน์ เพราะการมีเทศน์ก็เพื่อต้องการฟังธรรมเป็นสำคัญ เนื้อหาแห่งการเทศน์นั้นจะต้องประกอบด้วยธรรม มุ่งอธิบายขยายความธรรม ธรรมจึงไม่อาจขาดหายไปจากการเทศน์ได้ อย่าว่าแต่จะขาดหายไปเลย แม้เพียงในการเทศน์แต่ละกัณฑ์หากมีเนื้อหาธรรมน้อยกว่าเนื้อหาอื่นๆทำนองน้ำท่วมทุ่ง เทศน์กัณฑ์นั้นก็ขาดความสมบูรณ์ไปไม่น้อยแล้ว

                  ธรรมอันเป็นวิชาหลักที่ผู้เทศน์จำต้องรู้นั้นก็เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าได้แก่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกกันทั่วไปว่าธรรมวินัย ซึ่งพระผู้เทศก์ส่วนใหญ่ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนกันเป็นพื้นฐานมาพอสมควรในระดับนักธรรมแล้ว และที่ศึกษากันมานั้นก็มากพอที่จะเทศน์ได้ในระดับหนึ่ง เป็นแต่ว่าจะต้องนำมาทบทวนและทำความเข้าใจในรายละเอียดเนื้อหาสาระให้มากขึ้น เพราะการเรียนรู้ธรรมแต่ละข้อเพื่อนำไปตอบในเวลาสอบไล่กับเพื่อนำไปเทศน์ไปชี้แจงนั้นต่างกันมาก อย่างหลังนี้จำต้องรู้อย่างละเอียดลึกซึ้ง และมีความถูกต้องแม่นยำ ตลอดถึงมีความชัดเจนจนสามารถแสดงให้ผู้ฟังรู้ตามเห็นตามได้ ส่วนธรรมที่นอกเหนือไปจากหลักสูตรนักธรรมนั้นสามารถศึกษาค้นคว้าได้จากตำราและบทเทศน์ที่บุรพาจารย์ท่านเทศน์และบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือหากจะศึกษาจากต้นตอสำคัญคือพระไตรปิฎกและจากอรรถกถาฎีกาที่เป็นหนังสืออธิบายความในพระไตรปิฎกได้ก็จะเป็นเรื่องวิเศษ ซึ่งจะได้ความรู้ที่ถูกต้องถ่องแท้ ละเอียด กว้างขวางมากกว่าจากตำราหลักสูตรนักธรรมที่ศึกษาเล่าเรียนกันตามปกติ

                 วิชารอง ได้แก่วิชาประกอบอันเป็นความรู้เสริม เป็นความรู้สำหรับอธิบายสนับสนุนบทธรรมให้ชัดเจนบ้าง เป็นเครื่องมือสำหรับอธิบายธรรมได้ถูกต้อง สละสลวย น่าฟังขึ้นบ้าง ทำให้บทเทศน์มีหลักฐานน่าเชื่อถือเพราะสามารถอ้างอิงได้บ้าง วิชารองอันเป็นความรู้ที่นักเทศน์ควรรู้ควรศึกษาควบคู่กันไปกับวิชาธรรมได้แก่

-ความรู้ทั่วไป ได้แก่ความรู้รอบตัวต่างๆ ความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ของบ้านเมือง ของสังคมผู้คน ความรู้เรื่องธรรมชาติ เรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ตลอดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศและในโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งมีบันทึกไว้บ้าง ปรากฏตามสื่อต่างๆ บ้าง

-วิชาประวัติศาสตร์ เช่นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ของวัด ของท้องถิ่น ของคนสำคัญในท้องถิ่น เป็นต้น

-วิชาภาษาไทย เช่นหลักการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องการใช้คำที่ถูกต้อง การรู้ความหมายของคำแต่ละคำ ตลอดถึงวิธีการเขียนบทเทศนาได้อย่างสละสลวย ชัดเจน น่าอ่านน่าฟัง การร้อยกรองถ้อยคำให้เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน

- วิชาวรรณศิลป์ ได้แก่วิชาที่ว่าด้วยศิลปะในการแต่งหนังสือ ศิลปะในทางวรรณกรรม และหนังสือที่บันทึกเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์จริงและที่เกิดจากจินตนาการไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างดี จนได้รับยกย่องว่าเป็นวรรณคดี คือหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีสาระประโยชน์ให้แนวคิด สติปัญญา คติสอนใจและความบันเทิงใจซึ่งสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการแต่งบทเทศนา บทปาฐกถา บทความธรรม ตลอดถึงแต่งหนังสือเรื่องต่างๆได้นอกจากวิชาเหล่านี้แล้วยังมีวิชาความรู้อีกมากมายที่นักเทศน์พึ่งรู้จึงศึกษา เช่นวิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาสังคมศาสตร์ วิชาจิตวิทยา ชุมชน วิชาการปกครอง เป็นต้น

                 วิชาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นสามารถนำมาประกอบการอธิบายธรรมได้เป็นอย่างดี ทำให้หัวข้อธรรมที่กำลังแสดงอยู่มีความกว้างขวางชัดเจน เห็นภาพเป็นรูปธรรมได้แจ่มชัดขึ้น เพราะย่อมต้องมีบางตอนแห่งการอธิบายขยายความธรรมที่ต้องอาศัยวิชาเหล่านี้ตอนใดตอนหนึ่งมาเสริมมาสนับสนุนให้เห็นจริง ด้วยว่าผู้ฟังส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในวิชาความรู้เหล่านั้นเป็นพื้นมาแล้วเช่นถ้าผู้ฟังเป็นครูอาจารย์เป็นนักการศึกษา หากผู้เทศน์สามารถใช้ภาษาที่มีความหมายชัดเจน ถูกต้องตามหลักภาษา แม้จะลุ่มลึกและยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ แต่คนกลุ่มนี้จะสามารถเข้าใจได้ทันที หรือถ้าผู้ฟังเป็นผู้มีความรู้รอบตัวที่ติดตามข่าวสารทางสังคมทางบ้านเมืองมาโดยตลอด หากผู้เทศน์ยกเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวอย่างหรือมาอ้างอิงเพื่อเสริมความให้ธรรมที่กำลังอธิบายชัดเจนขึ้นคนกลุ่มนี้ก็จะตามทันและเข้าใจธรรมข้อนั้นๆ โดยไม่ยากเลย

                  นอกจากนั้น การรู้วิชาทั้งวิชาหลักและวิชารองยังเป็นเครื่องส่อให้เห็นว่าผู้เทศน์เป็นผู้มีภูมิรู้ทางธรรมและภูมิรู้ทางโลกเป็นอย่างดีคือรู้ทั้งทางคดีธรรมและคดีโลก เป็นเหตุเรียกศรัทธาและความสนใจใครจะฟังได้มากทีเดียว ดังนั้นวิชาทั้งสองประเภทนี้จึงต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป เป็นแต่ว่าให้น้ำหนักไปที่วิชาหลักคือธรรมมากกว่าวิชารองเท่านั้น เพราะวิชาหลักต้องเป็นแกนยืนพื้น วิชารองเป็นองค์ประกอบซึ่งอาจมีหรือไม่มีก็ได้ เป็นแต่ว่าเมื่อมีก็จะเสริมให้ข้อธรรมชัดเจนขึ้นและเสริมให้ผู้เทศน์เด่นขึ้นได้

 

รู้วิเคราะห์

                วิเคราะห์ หมายถึงการแยกแยะออกเป็นส่วนๆ ในที่นี้หมายถึงการตีความข้อธรรมที่เป็นวิชาหลักโดยแยกเป็นประเด็นออกมาเจาะลึกให้เห็นรายละเอียดเกี่ยวกับข้อธรรมนั้นๆ ทั้งด้านความหมายข้อปลีกย่อย เหตุผล วัตถุประสงค์ ตลอดถึงข้อเปรียบเทียบและตัวอย่างประกอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน รวมไปถึงการแยกแยะวิชาต่างๆ ที่เป็นวิชารองอันเป็นองค์ประกอบของวิชาหลักคือข้อธรรม โดยเลือกเฟ้นนำมาเสนอถ่ายทอดเฉพาะส่วนที่สอดคล้องสนับสนุนและทำให้ข้อธรรมเด่นชัดขึ้น ความเป็นผู้ฉลาดในการวิเคราะห์ สามารถแยกแยะข้อธรรมและวิชานั้นๆ ได้ชัดเจน ทำให้เข้าใจข้อธรรมนั้นๆได้แจ่มแจ้ง จนสามารถนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ถ่ายทอดได้อย่างชัดเจน เรียกว่ารู้วิเคราะห์ในที่นี้

              การวิเคราะห์หรือความสามารถในการตีความแยกแยะข้อธรรมจะเป็นอุปการะต่อการแสดงธรรมอย่างมาก เพราะผู้แสดงธรรมจะสามารถอธิบายขยายความข้อธรรมได้อย่างถูกต้อง ละเอียด ชัดเจนมีเหตุมีผล เนื้อหามีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตลอดสาย ไม่ติดขัดไม่มีบกพร่องช่องโหว่ หรือขาดๆ เกินๆ ที่สำคัญคือทำให้การเทศน์นั้นมีความหมาย เรียกความสนใจจากผู้ฟัง สะกิดใจสะกิดสมองผู้ฟังได้ตลอดเวลา เพราะได้ฟังเนื้อหาที่แปลกใหม่ มีเหตุมีผล และสามารถตรองตามเห็นจริงได้

                การวิเคราะห์ธรรมเป็นศาสตร์ระดับสูงเป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อนแต่ก็จำเป็นมากสำหรับการถ่ายทอดธรรม คัมภีร์เก่าๆ ทั้งหลายซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระโบราณาจารย์ผู้ฉลาดทั้งหลายได้แต่งไว้เช่นอรรถกถาฎีกา ล้วนเป็นเรื่องการวิเคราะห์ธรรมที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น โดยท่านนำข้อธรรมในพระไตรปิฎกนั้นมาแยกแยะ มาอธิบายขยายความ ตลอดถึงแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดวิจารณญาณ การวิเคราะห์ธรรมในยุคสมัยปัจจุบันก็ได้อาศัยหลักการของพระโบราณาจารย์เหล่านั้นมาเป็นแนวทาง หรือไม่อย่างนั้นก็ยึดข้อวิเคราะห์ของท่านมาอธิบายข้อธรรมต่างๆ


                ด้วยเหตุผลและความสำคัญจำเป็นดังนี้ วิเคราะห์จึงจำเป็นต้องรู้ ผู้เทศน์จำต้องสามารถวิเคราะห์ธรรมได้และวิเคราะห์เป็น เพื่อรักษาความถูกต้องแห่งธรรมและเพื่อรักษาศรัทธาของผู้ฟังธรรมไว้มิให้เกิดความเบื่อหน่ายในการฟังธรรมอันจะส่งผลเสียทั้งแก่ผู้ฟังเองและแก่พระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง

รู้วิจารณ์
                วิจารณ์ คือความสามารถเจาะลึกถึงวัตถุประสงค์เป้าหมายสำคัญของข้อธรรมแต่ละข้อด้วยการคิด พินิจพิจารณา ไตร่ตรองอย่างรอบด้านอย่างมีระบบ กล่าวคือนอกจากจะสามารถวิเคราะห์เจาะลึกและตีความข้อธรรมนั้นๆ ด้านความหมายเป็นต้นได้อย่างละเอียดแล้วยังสามารถบ่งชี้ได้ว่าข้อธรรมนี้ท่านแสดงไว้เพื่ออะไร ท่านมุ่งอะไรจึงแสดง มีขอบเขตความหมายแค่ไหน เป็นต้น และสามารถรู้ตลอดถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์แห่งข้อธรรมนั้นด้วย การรู้วิจารณ์ยังหมายรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นประกอบเพิ่มเติมหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าแสดงทัศนคติด้วย แต่การรู้วิจารณ์นั้นต้องเป็นไปอย่างมีระบบ มีพื้นฐาน มีหลักฐาน และมีเหตุผล โดยอาศัยความรู้วิชาอื่นๆ ประสบการณ์ และการศึกษาค้นคว้าที่มีระบบดี มิเช่นนั้นจะไม่อาจวิจารณ์ได้ตรงประเด็นและถูกต้องตามความเป็นจริงรู้วิจารณ์เป็นเรื่องของการรู้รายละเอียดแห่งข้อธรรมตลอดสายให้รายละเอียดในการปฏิบัติจนสามารถทำตามได้ และมีความถูกต้องชัดเจนจนเมื่อปฏิบัติตามแล้วได้ผลแห่งการปฏิบัติตามที่ได้รับฟังมา

รู้วิธี
                 วิธี ในที่นี้หมายถึงวิธีเทศน์ รู้วิธีก็คือรู้วิธีนำเสนอและวิธีถ่ายทอดธรรมไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งได้แก่รู้หลักการเทศน์ ขั้นตอนของการเทศน์ระเบียบปฏิบัติก่อนเทศน์ ในขณะเทศน์ และหลังจากเทศน์จบแล้วเป็นต้น และรวมไปถึงรู้วิธีวิเคราะห์ธรรมได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ววิธีต่างๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบของการเทศน์ที่ผู้เทศน์จำต้องรู้และฝึกฝนปฏิบัติให้ถูกต้อง ทำได้คล่องแคล่ว ไม่เคอะเขิน จนกลายเป็นความเคยชิน ปฏิบัติได้อย่างคล่องตัวอย่างไม่อึดอัด เหมือนกับการห่มจีวร ตอนบวชใหม่ย่อมห่มไม่เป็นเพราะไม่เคยห่ม ห่มแล้วอึดอัดต้องคอยจับคอยดึงให้วุ่นไปเพื่อมิให้หลุดลุ่ย แต่พอห่มเป็นแล้วและเคยชินเข้า ความยากในการห่มจีวรก็หมดไป ความอึดอัดก็หมดไปทำได้คล่องและฉับไว เรียบร้อยเป็นสมณสารูปจะห่มเมื่อไรก็ทำได้ทันทีเช่นเดียวกันวิธีเทศน์ก็อยู่ในลักษณะนั้น เมื่อฝึกฝนใหม่ๆ ย่อมอึดอัดติดขัด ไม่คล่องว่องไว เกินโน่นขาดนี้ ดูไม่ค่อยเรียบร้อย แต่พอเกิดความเคยชินเข้าก็ปฏิบัติได้อย่างแคล่วคล่อง ไม่ต้องนึกคิดว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เดินหน้าไปได้เรื่อยไม่ติดขัดอะไร

                 

                 ข้อสำคัญคือวิธีเทศน์หรือหลักการเทศน์นี้จะต้องศึกษา ต้องฝึกหัด ต้องฝึกฝน “ใช้ตาเป็นครู ใช้หูเป็นอาจารย์” คือต้องเป็นนักฟังเทศน์ก่อน ต้องฟังเทศน์บ่อยๆ จากผู้เทศน์หลายๆ รูป เพราะการได้ฟังเทศน์ประจำนั้นเป็นเหตุให้ได้ดูได้ฟังตัวอย่างหลายรูปแบบแล้วจะเกิดความรู้และความรู้สึกได้เองว่ารูปใดมีแบบหรือไม่มีแบบรูปใดเทศน์ผิดแบบ รูปใดเทศน์แบบไม่มีแบบหรือแบบไม่มีครู ยิ่งถ้าได้ศึกษาจากแบบของพระที่เป็นแบบได้อย่างดีแล้วนำมาเป็นแบบของตนโดยฝึกฝนปฏิบัติให้เหมือนแบบนั้น ก็จะทำให้เป็นนักเทศน์ประเภทมีครูมีอาจารย์ เกิดความกล้าหาญมั่นใจในการที่จะเทศน์แต่ละครั้งและการที่ได้เรียนรู้ได้ฝึกฝนอบรมเรื่องระเบียบปฏิบัติในการเทศน์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เป็นนักเทศน์ที่มีความรู้พร้อมได้เป็นอย่างดี เพราะถือได้ว่าเป็นศิษย์มีครู เป็นไก่ที่โตในสำนัก มิใช่ไก่นอกสำนักที่ขันเลื่อยแล้วโดยไม่รู้เวลาอันเหมาะอันควรที่ท่านเล่าไว้ในตำราวิธีเทศน์หรือหลักการเทศน์นั้นเป็นวิชาการสำคัญ ซึ่งจำต้องอธิบายขยายความกันมาก จะขอยกไว้ก่อน

 

                  ผู้สนใจจึงแสวงหาในโอกาสต่อไปวิธีอีกอย่างหนึ่งที่ควรรู้ก็คือวิธีการถ่ายทอดวิชาความรู้ที่เป็นวิชารอง ซึ่งนับเป็นศาสตร์และศิลป์อันสำคัญยิ่ง มีวิชามีความรู้ดีแต่ไม่เข้าใจวิธีการถ่ายทอด ถ่ายทอดไม่เป็น ก็เหมือนกับมีอาวุธดีแต่ใช้อาวุธไม่เป็น หรือเหมือนมีสมบัติแต่ใช้สมบัติไม่เป็นหรือใช้ไม่ถูกหลักถูกเกณฑ์ อาวุธและสมบัติที่มีอยู่ก็ไม่ก่อประโยชน์ให้เท่าที่ควร วิชาความรู้ที่มีอยู่จำต้องฉลาดรู้และเข้าใจในการถ่ายทอดด้วยจึงจะชอบด้วยประการทั้งปวงสำหรับธรรมนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของการเทศน์เพราะธรรมเป็นเหตุให้เกิดการเทศน์ ถ้าไม่มีธรรมก็ไม่มีการเทศน์หรือไม่เรียกว่าเทศน์การเทศน์จึงเป็นเรื่องของการนำเสนอและอธิบายชี้แจงข้อธรรมให้แจ่มแจ้งชัดเจนจนสามารถนำไปปฏิบัติตามให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ความรู้ในการนำเสนอและถ่ายทอดธรรมด้วยการเทศน์เป็นเครื่องมือช่วยให้การเทศน์บรรลุเป้าหมายสมประสงค์ เพราะฉะนั้นในการเทศน์จึงจำเป็นต้องรู้วิธีการถ่ายทอดธรรมที่ถูกหลักถูกแบบแผน ซึ่งความรู้เหล่านี้อาจหาได้อาจทำให้เกิดขึ้นแก่ตนได้โดยไม่ยากนัก เพราะมีการแนะนำ มีทำให้ดูเป็นแบบอย่าง และมีการฝึกฝนอบรมกันอยู่เป็นประจำ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028096735477448 Mins