วัตถุประสงค์หลักของการเทศน์

วันที่ 22 มิย. พ.ศ.2567

670621_b37.jpg

 

วัตถุประสงค์หลักของการเทศน์


          ตามปกติการทำกิจกรรมทุกอย่างย่อมมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย เช่นการเดินทางย่อมมีเป้าหมายว่าจะไปยังที่ใด ไปทำอะไรเป็นต้น การเทศน์ก็เช่นเดียวกันย่อมต้องมีวัตถุประสงค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากที่ตรัสรู้แล้ว แม้ในตอนแรกจะไม่ทรงคิดแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ หากภายหลังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเตือนพระทัยจึงได้ตกลงแสดงธรรมแล้วเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี โดยมีพระพุทธประสงค์จะแสดงธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ผู้ตามเสด็จออกบรรพชามาด้วยกันและติดสอยห้อยตามคอยปรนนิบัติพระองค์มาตลอดระยะเกือบ ๖ ปี แต่มาแยกตัวออกไปด้วยความเข้าใจผิดว่าทรงล้มเลิกบำเพ็ญเพียรเมื่อพระพุทธองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาหันมาเสวยพระกระยาหารเหมือนเดิม

          การเทศน์หรือการแสดงธรรมในสมัยพุทธกาลนั้นมีวัตถุประสงค์สำคัญประการเดียวคือ “เพื่อยังญาณทัสสนะให้เกิดขึ้นแก่ผู้ฟัง” ซึ่ง
อาจขยายความข้อนี้ได้ว่า “เพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น”คำว่า ญาณทัสสนะ นั้นโดยปริยายอย่างต่ำหมายถึงการรู้การเห็นธรรมทั้งปวงตามสภาวะความเป็นจริงอย่างชัดเจนด้วยปัญญาโดยปริยายอย่างสูงหมายถึงการรู้การเห็นอริยมรรคทั้งสี่ คือ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค อันยังกิจคือการละกิเลสให้สำเร็จตามลำดับ

          ดังนั้นเมื่อกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการเทศน์อยู่ที่เพื่อยังญาณทัสสนะให้เกิดขึ้นแก่ผู้ฟังนั้นจึงหมายความว่า การเทศน์แต่ละครั้งแต่ละกัณฑ์นั้นมุ่งให้ผู้ฟังได้เกิดปัญญาความรู้เห็นความจริงต่างๆของธรรมทั้งปวงซึ่งเรียกโดยรวมว่าอริยสัจธรรมจนกระทั่งเกิดดวงตาเห็นธรรม สามารถกำจัดกิเลสได้ตามลำดับจนถึงตัดกิเลสได้เด็ดขาดบรรลุถึงภาวะที่เรียกว่าพระนิพพาน

          โดยอธิบายนี้ชี้ให้เห็นว่าการแสดงธรรมของพระพุทธองค์ก็ดีของพระอริยสาวกก็ดีมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่ต้องการให้ผู้ฟังบรรลุธรรมสูงสุดคือตัดกิเลสให้ได้ แต่ผู้ฟังจะได้บรรลุธรรมหรือตัดกิเลสได้ในระดับใดนั้นก็อยู่ที่วาสนาบารมีที่อบรมสั่งสมมาของผู้ฟังเป็นสำคัญจึงปรากฏว่าบางท่านแม้จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแต่ก็มิได้บรรลุธรรมอะไรเลย บางท่านบรรลุธรรมระดับต้นคือโสดาปัตติผลแต่บางท่านได้บรรลุธรรมสูงสุดคือพระอรหัตผล ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวาสนาบารมีของแต่ละท่านได้บำเพ็ญมามากน้อยต่างกันหากจะถามว่า “ธรรมอะไรเล่าที่ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริง”ตอบได้ว่า “ธรรมที่ควรรู้ควรเห็น”มีอธิบายว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสาวกก็ดี แม้จะได้ตรัสรู้และรู้ธรรมทุกอย่างอย่างแจ่มแจ้งจนเป็นสัมมาสัมพุทธะและเป็นอนุพุทธะ แต่เมื่อทรงแสดงธรรมแก่พหูชนก็หาได้แสดงธรรมทั้งปวงที่ทรงรู้ทรงเห็นนั้นไม่ แต่ทรงเลือกทั้งธรรมที่จะแสดง ทรงเลือกทั้งผู้ฟังว่าผู้นี้มีอุปนิสัยเช่นนี้สามารถรับฟังธรรมข้อนี้ได้ ทรงเลือกแสดงเฉพาะธรรมที่ผู้ฟังควรรู้ควรเห็นเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่าธรรมที่ทรงแสดงนั้นบางอย่างเป็นธรรมที่ควรรู้ บางอย่างเป็นธรรมที่ควรเห็น บางอย่างเป็นธรรมทั้งควรรู้ทั้งควรเห็น และธรรมที่ควรรู้ควรเห็นที่ทรงแสดงนั้น หากกล่าวอย่างกว้างๆ ก็คือ “ธรรมที่เป็นไปเพื่ออัตถะ หิตะ สุขะ” หรือ “ธรรมที่เป็นไปเพื่อบรรเทาทุกข์ ให้
เกิดสุขเกษมศานติ์ ให้บรรลุถึงพระนิพพาน”

 

 

          ธรรมที่เป็นไปเพื่ออัตถะ คือธรรมที่เป็นประโยชน์อำนวยประโยชน์ให้ ได้แก่ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในภพหน้า และประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพานธรรมที่เป็นไปเพื่อหิตะ คือธรรมที่เกื้อกูลสนับสนุนให้บรรลุถึงอัตถประโยชน์นั้น เช่นสติ ขันติ วิริยะธรรมที่เป็นไปเพื่อสุขะ คือผลสมาบัติ หรือสมาธิอันให้ความสุขในปัจจุบันและส่งผลให้มีความสุขต่อๆ ไป โดยปริยายอย่างต่ำคือการประกอบสัมมาอาชีพ ความสุจริต ความมัธยัสถ์อดออม อันเป็นเหตุให้เกิดความสุขแบบโลกๆ

           อนึ่ง ธรรมใดที่เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ บรรเทาโศก ความคับแค้น ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น เป็นเครื่องบันดาลความสุขกายสบายใจให้ได้ และมีผลให้กำจัดกิเลสจนถึงบรรลุพระนิพพานได้ธรรมนั้นจัดเป็นธรรมที่ควรรู้ควรเห็นทั้งสิ้นเมื่อถือเอาใจความนี้ก็แสดงว่าการเทศน์นั้นมุ่งให้ผู้ฟังได้เกิดความรู้ความเห็นเป็นสำคัญ และความรู้ความเห็นนั้นเป็นไปเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ เพื่อให้มีความสุข เพื่อให้เกิดปัญญา และเพื่อให้กำจัดกิเลสได้เป็นหลัก เพราะฉะนั้น การเทศน์ที่มีเนื้อหาสาระแห่งธรรมอันสามารถให้ผู้ฟังบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นได้จึงจะนับว่าเทศน์ดีและดำเนินตามหลักครรลองแห่งการแสดงธรรมที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกได้ทรงปฏิบัติมา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017927900950114 Mins