การอ่านตามอักษรนำ

วันที่ 24 สค. พ.ศ.2567

การอ่านตามอักษรนำ

670824_b173.jpg


                    อักษรนำ คืออักษรที่อยู่หน้าอักษรอื่นเพื่อให้อักษรที่ตามนั้นออกเสียงผันตาม และไม่ประวิสรรชนีย์ (ไม่มีสระ อะ อาศัย) แต่ออกเสียง อะ เช่น ขยาย ฉงน สนุก แต่ถ้ามีสระอาศัยอยู่ด้วย ไม่จัดเป็นอักษรนำเช่น กะปิ ทะนาน สะดวก การอ่านตามอักษรนำคือการอ่านตามอักษรที่อยู่หน้าคำ ที่เป็นความยากในเรื่องนี้คืออักษรนำและอักษรตามนั้นมีเสียงต่างกันเพราะเป็นอักษรต่างกัน กล่าวคือเป็นอักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ อักษรนำมีเสียงอย่างหนึ่ง อักษรตามก็จำต้องออกเสียงตามอักษรนำนั้น แต่จะออกเสียงอย่างไรนั้นนั่นแหละคือความยุ่งยากและเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพื่อออกเสียงได้ถูกต้องอันดับแรกจึงทำความรู้จักอักษร ๓ กลุ่ม คืออักษรสูง อักษรกลาง และ อักษรต่ำกันก่อน เพื่อสะดวกในการทำความเข้าใจในการอ่านตามอักษรนำต่อไป


อักษรสูง คือ พยัญชนะที่มีเสียงสูง มี ๑๑ ตัว คือ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
 

อักษรกลาง คือ พยัญชนะที่มีเสียงกลางๆ ไม่สูงไม่ต่ำ มี ๙ ตัว ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ

 

อักษรต่ำ คือ พยัญชนะที่มีเสียงสามัญต่ำคล้ายอักษรกลาง ได้แก่อักษรที่เหลือจาก ๒ กลุ่มข้างต้น มี ๒๔ ตัว คือ ค ฅ ฆ ง, ช ซ ฌ
ญ, ฑ ฒ ณ, ท ธ น, พ ฟ ภ ม, ย ร ล ว ฬ ฮ

 

                 อักษรเหล่านี้จัดเป็นกลุ่มตามเสียง เมื่อนำไปฝันด้วยวรรณยุกต์แล้วจะมีเสียงต่างกัน และบางกลุ่มฝันด้วยวรรณยุกต์ไม่ได้ครบทั้งหมดซึ่งจักไม่แสดงรายละเอียดในที่นี้การอ่านตามอักษรนำมีหลักเกณฑ์การอ่านดังนี้ถ้าอักษรสูงนำอักษรกลาง อักษรตามจะมีเสียงกลางตามเสียงเดิมของตน เช่น ขจร ผจญ ศจี สกล สตางค์ถ้าอักษรสูงนำอักษรต่ำที่เป็นอักษรคู่(คฆ, ชฌ,ฑฒ,ทธ, พภ)
 

                อักษรตามจะมีเสียงกลาง เช่น เผชิญ ไผท สภาถ้าอักษรสูงนำอักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว อักษรตามจะมีเสียงสูงเช่น ฉนวน ถนน สยอง สวิงถ้าอักษรกลางนำ อักษรตามจะมีเสียงกลาง เช่น กวี กบิล จรวย เจริญ

 

               ถ้าอักษรต่ำนำ อักษรตามจะมีเสียงกลาง เช่น คชา ชบา คดี คณา มีข้อยกเว้นคือ ถ้า ห หรือ อ นำ ร หรือ ย ไม่ต้องออกเสียง ห และ อ เช่น ไหม ไหว แหลม อย่า อยู่ อย่าง อยากแสดงไว้พอเป็นนิทัศนนัย ผู้สนใจจึงค้นคว้าเพิ่มเติมเถิด

 

การอ่านคําบาลีสันสกฤต

                 เนื่องจากในภาษาไทยมีคำที่มาจากบาลีและสันสกฤตอยู่มาก แต่ในการอ่านคำเหล่านั้น เราอ่านตามต้นแบบบ้าง ดัดแปลงบ้าง เปลี่ยนรูปศัพท์แล้วอ่านตามแบบไทยบ้าง เช่น มธุร มนสิการ สกล นคร ธรณีอัศจรรย์ อาภัพ เดช อัประมาณ ซึ่งท่านกำหนดวิธีอ่านกว้างๆ ดังนี้ (๑) อ่านตามวิธีของภาษาเดิม คือโดยปกติคำบาลีสันสกฤตนั้นจะอ่านเรียงพยางค์ ถ้าไม่มีสระอื่นกำกับอยู่ ก็ให้อ่านเป็นเสียง อะ เสมอ
เช่น


กรณ   อ่านว่า   กะ-ระ-นะ
กกุธ    อ่านว่า   กะ-กุ-ทะ
มธุร    อ่านว่า   มะ-ทุ-ระ
สวน    อ่านว่า   สะ-วะ-นะ


(๒) อ่านตามวิธีของภาษาไทย คือออกเสียงอักษรตัวหน้าคำบาลีสันสกฤตตามแบบไทย ไม่ได้ออกเสียงตามวิธีของภาษาเดิมดังกล่าว
ในข้อต้น ตัวอย่างเช่น

 

ก. อักษรตัวหน้าค่า เดิมออกเสียงเป็นสระ อะ แต่ออกเสียงเป็นสระ ออ เช่น
กรณี  อ่านว่า กอ-ระ-นี
ธรณี  อ่านว่า ทอ-ระ-นี
มรณะ อ่านว่า มอ-ระ-นะ

คำที่อ่านลักษณะเดียวกันนี้ยังมีอีกมาก เช่น กรกฏ จรดล ฉกษัตริย์ นรสิงห์ มรณภาพ วรวิหาร สรศักดิ์ หรคุณ หรดาล หรดี

ข. อักษรเดิมเป็น ป ใช้ตามรูปแบบเดิม แต่ออกเสียงเป็นสระ อะตามแบบเดิมก็ได้ เป็นสระ ออ ตามแบบไทยก็ได้ เช่น ปรนัย (ปะระนัย,ปอระนัย) ปรมัตถ์ (ปะระมัด, ปอระมัด)คำที่ออกเสียงได้ ๒ อย่างเช่นนี้ยังมีอีก คือ ปรโลก ปรมาจารย์ปรมาณู ปรมาภิไธย ปรมาภิเษก ปรมินทร์ ปรเมนทร์ สรภัญญะแต่คำเช่นนี้ท่านให้อ่านอย่างเดียวก็มีคือ ปรปักษ์ อ่านว่า ปอระปัก,ปรวาที อ่านว่า ปะระวาที, ปรเมษฐ์ อ่านว่า ปะระเมด
 

ค. คำที่ขึ้นต้นด้วย ปริ อ่านว่า ปะริ ทุกคำ เช่น ปริเฉท ปริมาณ ปริมาตร ปริชน ปริทัศน์ ปริมณฑล ปริวิตก ปริหาร มิได้อ่านว่า ปอริเฉด ปอริมาน ปอริมาก เป็นต้น
 

ฆ. คำที่ขึ้นต้น ปริ แต่แผลง ป เป็น บ อ่านออกเสียงเป็น บอเช่น บริเฉท บริกัป บริการ บริขาร บริจาค บริบาล บริบูรณ์ บริมาตร
บริเวณ บริสุทธิ์ บริหาร

 

ง. พยัญชนะสุดท้ายคำประกอบด้วยสระ อิ ออกเสียงพยัญชนะนั้นเป็นตัวสะกด ไม่ออกเสียง อิ เช่น จักรวรรดิ พยาธิ สมโพธิ สมบัติประวัติ วิรัติ วิบัติ แต่ถ้าเป็นคำสั้นๆ ให้อ่านออกเสียง อิ ด้วย เช่น วุฒิ (อ่านว่า วุดทิ) ยุติ (อ่านว่า ยุดติ) โพธิ (อ่านว่า โพทิ)
 

จ. พยัญชนะสุดท้ายคำประกอบด้วยสระ อุ ออกเสียงพยัญชนะนั้นเป็นตัวสะกด ไม่ออกเสียง อุ เช่น เมรุ (อ่านว่า เมน) ธาตุ (อ่านว่าทาค) เกตุ (อ่านว่า เกด) แต่ถ้านำไปสมาสกับคำอื่นต้องอ่านออกเสียง อุ ด้วย เช่น เมรุมาศ (อ่านว่า เม-รุมาด) ธาตุครรภ (อ่านว่า ทาตุคับพะ)เกตุมาลา (อ่านว่า เก-ตุมาลา)
 

ฉ. คำพิเศษบางคำมีวิธีอ่านพิเศษ เช่นคำว่า
 

มนุษยศาสตร์         อ่านว่า       มะนุดสาด, มะนุดสะยะสาด
มนุษยสัมพันธ์       อ่านว่า        มะนุดสัมพัน, มนุดสะยะสัมพัน
สรรพสามิต           อ่านว่า        สับพสามิด, สันพะสามิด
สรรพากร             อ่านว่า         สันพากอน
สรรพางค์             อ่านว่า         สันระพาง
ศุภนิมิต                อ่านว่า         สุบพะนิมิด
ศุภมัสดุ                อ่านว่า         สุบพะมัดสะดุ


(๓) อ่านคำสมาส คือคำบาลีสันสกฤตที่ประสมกันตั้งแต่สองคำขึ้นไป เช่น กรรมการ กฐินทาน ราชการ บุตรทาน กิจวัตร เรียกว่า
คำสมาส มีวิธีการอ่านเบื้องต้นคือให้ออกเสียงสระระหว่างคำด้วย ดัง

 

ตัวอย่างว่า
กรรมการ  อ่านว่า  กำ-มะ-กาน
กฐินทาน  อ่านว่า   กะ-ถิน-นะ-ทาน
ราชการ    อ่านว่า   ราด-ชะ-กาน
บุตรทาน   อ่านว่า   บุด-ตระ-ทาน
กิจวัตร      อ่านว่า   กิด-จะ-วัด
มนุษยโลก อ่านว่า   มะ-นุด-สะ-โลก, มะ-นุด-สะ-ยะ-

แม้ในคำประสมแบบไทยบางคำก็อ่านออกเสียงเช่นนี้เหมือนกัน จะเป็นเพราะเลียนแบบกัน เป็นความสะดวกลิ้น หรือเป็นความเคยชิน
อย่างไรยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เช่นคำว่า

จักจั่น          อ่านว่า        จักกะนั่น
เทพเจ้า        อ่านว่า        เทบพะเจ้า 
ประทุษร้าย   อ่านว่า       ประทุดสะร้าย
ลักจั่น           อ่านว่า       ลักกะจั่น
ลักเพศ          อ่านว่า       ลักกะเพด
พลเมือง        อ่านว่า       พนละเมือง

 

                   การอ่านคำสมาสมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก ต้องมีความเข้าใจเรื่องคำสมาสถ่องแท้ก่อนจึงจะสามารถออกเสียงได้ถูกต้อง เพราะคำที่มีลักษณะเหมือนคำสมาสแต่ไม่ออกเสียงตามเกณฑ์ข้างต้นก็มี ด้วยมิใช่เป็นคำสมาสตามวิธีการของบาลีสันสกฤต แต่เป็นการนำคำบาลีสันสกฤตมาประสมกันแบบคำประสมของไทยเท่านั้น เช่นคำว่า กายมนุษย์ จิตวิญญาณ รูปภาพ โลกมนุษย์ เวทมนตร์ คำเหล่านี้ไม่อ่านมี
เสียงสระระหว่างคำเหมือนแบบข้างต้น แต่อ่านคำต่อคำตามปกติ เช่นกายมนุษย์ อ่านว่า กาย-มะ-นุด ไม่อ่านว่า กาย-ยะ-มะ-นุด เป็นต้น
ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตกว้างๆ คือในคำคู่ใด คำหน้าเป็นคำขยายคำหลัง คือแปลทีหลังและให้ความหมายคำหน้าชัดเจนขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นคำสมาส และให้อ่านตามวิธีอ่านข้างต้น อย่างคำว่ากฐินทาน (กะถินนะทาน) แปลว่า การถวายผ้ากฐิน, ทานคือกฐิน

 

ราชการ (ราดชะกาน)                 แปลว่า      งานของราชการหรืองานของพระราชา

บุตรทาน (บุดตระทาน)               แปลว่า      การให้บุตรธิดา

มนุษยโลก (มะนุดสะยะโลก)        แปลว่า      โลกของมนุษย์

มงคลหัตถี (มงคนละหัดถี)          แปลว่า       ช้างที่เป็นมงคล


                  ส่วนในคำคู่ใด คำหลังเป็นคำขยายคำหน้า แปลจากข้างหน้าไปหาข้างหลัง ให้สันนิษฐานว่าอาจมิใช่คำสมาสในบาลีสันสกฤต แต่เป็นคำประสมธรรมดา หรือเป็นคำสมาสที่แปลเป็นอิสระทั้งสองคำ มิได้เป็นคำขยายของกัน เช่นในคำไทยว่า พ่อแม่ เป็ดไก่ คำลักษณะนี้ไม่ต้องอ่านไปตามลักษณะคำาสมาส เช่น
 

รูปภาพ           ไม่อ่านว่า       รูป-ปะ-พาบ
กายมนุษย์      ไม่อ่านว่า       กาย-ยะ-มะ-นุด
จิตวิญญาณ    ไม่อ่านว่า       จิด-ตะ-วิน-ยาน
โลกมนุษย์       ไม่อ่านว่า       โลก-กะ-มะ-นุด
นามบัตร          ไม่อ่านว่า       นาม-มะ-บัด

 

                    ศัพท์ทำนองนี้ยังมีอีกมาก เช่น เวทมนตร์ โรคจิต กรรมเวร เวรกรรม เวรภัย รถจักร พิษสุนัข กาลเวลา ฯลฯ คำต่อไปนี้เป็นค่าเทียบเคียงตามข้อสังเกต ๒ ประการข้างต้น คือ กรรมบถ-กรรมเวร, มิตรภาพ-มิตรสหาย, จิตกร-จิตสามัญ, โลกธรรม-โลกพิสดาร, ธรรมจักร-ธรรมวินัย, นามกร-นามบัตร, วิหารธรรม-วิหารทิศ เหล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกต เพื่อจะได้เป็นแนวในการพิจารณาทั้งในเรื่องคำสมาสและการอ่านคำที่มีลักษณะเช่นนี้ในภาษาไทย


(๔) อ่านพยัญชนะสังโยค คืออ่านพยัญชนะที่มีตัวสะกดตัวตามโดยมีเกณฑ์กว้างๆดังนี้
- ถ้าตัวสะกดและตัวตามเป็นพยัญชนะวรรคด้วยกัน ไม่ต้องออกเสียงตัวสะกด เช่น วิตถาร อ่านว่า วิด-ถาน ไม่ใช่ วิด-ตะ-ถาน,อุตสาหกรรม อ่านว่า อุด-สา-หะ-กำ ไม่ใช่ อุด-ตะ-สา-หะ-กำ


-ถ้าตัวตามตัวสะกดเป็นอัฒสระ คือ ย ร ล ว ให้อ่านออกเสียงกล้ำได้ เช่น วิทยุ อ่านว่า วิด-ทะ-ยุ, สัตวโลก อ่านว่า สัด-ตะ-วะ-โลก,
วัตรปฏิบัติ อ่านว่า วัด-ตระ-ปะ-ติ-บัด


-ถ้าตัวหน้าเป็นพยัญชนะอวรรค (พยัญชนะเศษวรรค) คือ ย ร ล ว ศ ส ษ ห ฬ ตัวตามจะเป็นพยัญชนะใดก็ตาม ให้ออกเสียงเสียง
อะ ที่ตัวหน้าได้ เช่น ศิลป อ่านว่า สิน-ละ-ปะ, บุษยา อ่านว่า บุด-สะ-ยา, วากยะ อ่านว่า วาก-กะ-ยะ แสดงให้ดูพอเป็นตัวอย่างและพอเป็นแนวสืบค้นและสังเกตเองต่อไปเท่านั้น


(๕) อ่านคำที่นำหน้าพยางค์ด้วยอักษร ฑ คือคำที่มี ฑ นำหน้าจะอ่านออกเสียง ด ตามหลักภาษาต้นแบบก็ได้ เช่น บัณฑิต อ่านว่า
บัน-ดิด, บัณเฑาะก์ อ่านว่า บัน-เดาะ, มณฑป อ่านว่า มน-ดบ หรือจะอ่านออกเสียงตามแบบไทยก็ได้ เช่น มนโฑ อ่านว่า มน-โท, มณฑล
อ่านว่า มน-ทน, มณฑก อ่านว่า มน-ทก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029625233014425 Mins