การใช้ภาษาในการเทศน์

วันที่ 16 สค. พ.ศ.2567

การใช้ภาษาในการเทศน์

670816_b153.jpg


                 เนื่องจากการเทศน์เป็นการเผยแผ่ศาสนาที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์เป็นไปเพื่อความดำรงมั่นคงอยู่แห่งพระศาสนา จึงจำต้องพิถีพิถันเลือกใช้ภาษาเพื่อสื่อสารให้เหมาะสม ไม่สุกเอาเผากินแบบพอให้เป็นไปหรือพอให้ผ่านไปแบบขอไปที ซึ่งมีโทษมากกว่าคุณ และเป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้สืบสานพระศาสนาในอนาคตด้วยดังนั้น การใช้ภาษาในการเทศน์ซึ่งหมายรวมถึงการเขียนหนังสือธรรมะด้วย ที่จะทำให้ได้รับยกย่องว่าเป็นเทศน์ที่ดีเป็นหนังสือที่ดีนั้นควรเป็นดังนี้ คือ


                   (๑) ใช้ภาษาที่ดี เว้นภาษาที่ไม่ดี คือใช้ภาษาที่เป็นวาจาสุภาษิต เป็นภาษาที่ไม่มีโทษ เป็นภาษาที่ฟังแล้วสบายหู อ่านแล้วสบายตา เกิดความสบายใจ ได้อารมณ์สร้างสรรค์ ไม่ทำให้เกิดความหงุดหงิดสะดุดความรู้สึก เว้นใช้ภาษาที่เป็นถ้อยคำชั้นต่ำ คำหยาบคาย คำด่า คำรุนแรง เป็นคำตลาด หยาบโลน ไม่ใช่คำของผู้ดี และหลีกเลี่ยงคำที่เป็นวจีทุจริต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ซึ่งมีลักษณะดังได้แสดงมาแล้วข้างต้นภาษาที่ดีนำให้เกิดคุณค่าแก่บทเทศน์ และนำให้ผู้เทศน์มีคุณค่าควรแก่การยกย่องชมเชย ตรงกันกันข้าม การใช้ภาษาที่ไม่ดี แม้จะถูกใจผู้ฟังบางคนบางกลุ่ม แต่ก็ไม่คงทน ไม่นำมงคลมาให้แก่ผู้ฟัง ทั้งไม่ทำให้ผู้เทศน์ยืนอยู่ในระดับแนวหน้าในวงการถ่ายถอดธรรมด้วยการเทศน์ได้เลย


                    (๒) ใช้ภาษาเขียน ไม่ใช้ภาษาพูด คือใช้คำที่สุภาพ เป็นคำที่นิยมใช้เขียนหนังสือที่เป็นหลักเป็นฐานเช่นหนังสือราชการ หลีกเลี่ยงคำที่เป็นภาษาพูด แม้ว่าจะสามารถสื่อได้ดีกว่าภาษาเขียนและคนชอบฟังมากกว่า แต่เมื่อเป็นคำที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ไม่อาจใช้ในการแสดงธรรมได้ ก็จำต้องเว้นเสีย ใช้คำสุภาพที่ใช้แทนกันได้ย่อมเหมาะย่อมควรกว่า ยิ่งในการเขียนหนังสือธรรมะด้วยแล้วย่อมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเว้นภาษาพูดแบบจะโดยสิ้นเชิง ยกเว้นคำที่อนุโลมใช้ได้ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน เช่นคําว่า พ่อแม่ วัวควาย เป็นต้นทั้งนี้มิใช่หมายความว่าจะใช้ภาษาพูดในการเทศน์หรือเขียนหนังสือธรรมะไม่ได้เลย ย่อมนำมาใช้ได้ แต่ต้องเหมาะสมและตรงกับเรื่อง เช่นเมื่อกล่าวถึง “หัวเขา” ก็ใช้ตรงๆว่า “หัวเขา” ไม่ต้องตัดใช้เป็น “ศีรษะเขา” หรือเมื่อกำหนดว่า “เท้า” ใช้แทนคำว่า “ตีน” แต่เมื่อกล่าวถึง“ตีนเขา” จึงใช้ว่า “เท้าเขา” อย่างนี้ก็เถรตรงเกินไป เกินดีจนเสียไปเสียอีก

                       คำนี้ในภาษาเขียนท่านใช้ว่า “เชิงเขา” เป็นพื้นตัวอย่างการใช้ภาษาพูดในการเทศน์ เช่นคำในประโยคเหล่านี้ คือคนที่ทำบุญไว้เยอะแยะอย่างนี้ สามารถฟันธงได้เลยว่าต้องไปสู่สวรรค์แน่นอนคนพาลเกกมะเหรกย่อมทำแต่ความชั่วหายินดีมิได้คนโง่ย่อมขยายขี้เท่อของตนออกมาทางปาก จนรู้กันได้ว่าเขาเป็นคนอย่างไรการสำรวมปากเป็นความดี ถ้าพูดมากไป ก็จะทำให้คนอื่นรู้แกวได้ว่าตัวเองกำลังคิดอะไรอยู่สุรานั้นทำให้คนเสียคนก็ได้ ทำให้ลืมตัวทะเลาะกันส่งเสียงล้งเล้งเอ็ดตะโรให้ชาวบ้านเดือดร้อนก็ได้ ประกอบไปbleคำว่า เยอะแยะ ฟันธง เกกมะเหรก ขี้เท่อ แกว ล้งเล้ง เอ็ดตะโร ตามตัวอย่างข้างต้นล้วนเป็นภาษาพูด ไม่นิยมนำมาใช้เป็นยิ่งนำมาเป็นสำนวนเทศน์ด้วยแล้วยิ่งไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งภาษาเขียนจะฉุดให้บทเทศน์นั้นอ่อนด้อยลงไปไม่น้อยทีเดียว

                       หากต้องการอธิบายความทำนองนั้น สมควรใช้คำอื่นแทน เช่น ใช้คำว่า “มาก” แทนคำว่า “เยอะแยะ” ใช้คำว่า “กำหนดแน่นอน” แทนคำว่า “ฟันธง” ใช้คำว่า “เกเร” แทนคำว่า “เกกมะเหรก” เป็นต้นสำหรับในการบรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งความเข้าใจเรื่องเป็นหลัก ไม่ค่อพิถีพิถันในการใช้คำอยู่แล้ว และเป็นการพูดสดๆ จึงเป็นกรณียกเว้น กล่าวคือสามารถใช้ภาษาพูดปะปนไปกับภาษาเขียนก็ได้ เช่นอาจบรรยายเป็นภาษาถิ่นก็ได้ ใช้คำเฉพาะที่ผู้ฟังรู้และเข้าใจได้ดีก็ได้ แต่หากหลีกเลี่ยงได้หรือใช้คำอื่นแทนได้ก็แสดงถึงภูมิความรู้ของผู้ใช้ทางหนึ่ง
 

                    (๓) ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษาที่เข้าใจยาก คือคำที่ใช้ในการเทศน์อธิบายธรรมนั้นต้องง่ายต่อการเข้าใจ ต้องให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่อได้ฟัง ไม่ต้องมาเสียเวลาคิดจับความว่าหมายถึงอะไรอีก อันจะทำให้เกิดความสะดุดในการฟังเพราะมัวแต่คิดทำความเข้าใจและทำให้ฟังเรื่องที่ผู้เทศน์แสดงเป็นลำดับๆไม่ทัน ทำไปทำมาเลยฟังไม่ทันทั้งหมดถ้าเป็นหนังสือ หากต้องมาเสียเวลาคิดไตร่ตรองก็ทำให้อ่านได้ช้าพาลไม่อยากอ่านต่อไป เพราะเมื่อไม่เข้าใจตอนใดตอนหนึ่งเสียแล้วก็อาจเกิดความหงุดหงิดเสียอารมณ์ในการอ่าน หรือคิดว่าข้างหน้าก็คงจะยากและไม่เข้าใจเช่นกัน เลยวางหนังสือเล่มนั้นเสีย

                   เหมือนคนที่เดินกินลมชมวิวเพลินๆอยู่ เกิดไปสะดุดก้อนหินหรือหกล้มเข้าเลยหมดอารมณ์ที่จะเดินต่อ จึงหันหลังกลับบ้านเสียฉะนั้นเทศน์ก็ดี หนังสือธรรมะก็ดี ปกติก็เป็นยาขมและเป็นของยากในความคิดของผู้คนทั่วไปอยู่แล้ว ถ้ามาประสบกับความขมหรือความยากจากถ้อยคำภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่องหนสองหนหรือบ่อยๆเข้า ก็หมดอารมณ์ที่จะฟังหรืออ่านต่อไปได้เหมือนกัน และดูเหมือนว่าคนประเภทนี้จะมีมากเสียด้วย ทำให้เสียโอกาสทั้งของผู้เทศน์ผู้เขียนและของผู้ฟังผู้อ่านไปเพราะฉะนั้น ภาษาที่ใช้ในการเทศน์ในการเขียนจึงต้องให้เข้าใจง่าย เข้าใจได้ทันที ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีก โดยเว้นคำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการ เป็นภาษาเฉพาะเป็นต้น ยกเว้นคำที่เป็นสุภาษิตคำพังเพย หรือคำคม ที่ได้ยินได้อ่านกันอยู่บ่อยๆ จนเป็นที่รู้กันส่วนใหญ่แล้วว่าหมายถึงอะไร คำเหล่านี้ย่อมนำมาประกอบในการเทศน์ได้


                  (๔) ใช้สำนวนภาษาและประโยคที่กระชับ คือในการอธิบายขยายความข้อธรรมต้องใช้สำนวนถ้อยคำและข้อความประโยคที่กระชับไม่ยาวเกินไป ไม่วกวนสับสนจนจับความไม่ทันหรือจับประเด็นไม่ได้ทันทีตัดถ้อยคำที่ไม่จำเป็นหรือทำให้เยิ่นเย้อออกเสีย เหลือไว้เฉพาะที่พอสื่อให้รู้ได้ชัดเจนก็พอ หรือหาถ้อยคำที่ชัดเจนสั้นๆมาแทนถ้อยคำนั้นย่อมกระชับกว่า เช่นประโยคว่า“การทำกุศลผลบุญนั้นในพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในวันเพ็ญกลางเดือน ๖ ทรงอาศัยน้ำพระหฤทัยประกอบพร้อมด้วยความกรุณาในหมู่สัตวโลกทั้งหลายทรงแสดงไว้โดยย่อ ๓ ประการ โดยพิสดาร ๑๐ ประการ...” ก็พอจะเข้าใจได้ว่าหมายถึงอะไร จากตัวอย่างนี้ ข้อความดูจะยืดยาวโดยไม่จำเป็น ถ้าเป็นการอ่านแต่หากเป็นการฟังย่อมต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจได้สำนวนเช่นนี้อาจปรับเปลี่ยนใหม่ให้กระชับขึ้นได้ว่า“พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสัตว์โลกทรงแสดงวิธีการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาไว้ โดยย่อ ๓ ประการ โดยพิสดาร ๑๐ ประการ...”

 

                  (๕) เลือกใช้คำร่วมสมัยให้เหมาะสม คือในปัจจุบันมีคำหรือศัพท์เกิดขึ้นเรื่อยๆในภาษาไทย เป็นคำที่บัญญัติใช้กันใหม่บ้าง เป็นคำที่ใช้พูดใช้เขียนกันจนติดปากบ้าง ถือว่าเป็นภาษาสมัยใหม่ เป็นที่นิยมใช้กันในแวดวงวิชาการ วงการสื่อ แต่ยังเป็นคำที่อยู่ในวงจำกัด ยังไม่แพร่หลายนัก คนทั่วไปยังเข้าไม่ถึง หรือยังเป็นที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไปตัวอย่างเช่นคำในประโยคเหล่านี้ คือความสามัคคีเป็นพลังขับเคลื่อนให้ผู้คนร่วมมือกันพัฒนาคนพาลย่อมมีโลกทัศน์ที่แคบ ขาดวิสัยทัศน์ที่จะพิจารณาถึงความดีไม่ดีบริบทของเรื่องที่จะแสดงต่อไปนี้เป็นสิ่งสำคัญการพัฒนาที่ดีมิใช้พัฒนาเฉพาะด้านกายภาพเท่านั้น แม้ด้านจิตวิญญาณก็ควรต้องได้รับการพัฒนาไปด้วยข้อมูลที่เป็นองค์ประกอบของนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการพัฒนาบุคคลเพื่อบูรณาการเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายนับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องพิจารณาเป็นปฐมบท
 

                 การฟังธรรมนั้นหากตั้งใจฟังและพิจารณาให้ดีแล้วจะได้องค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้พัฒนาจิตวิญญาณได้คำในประโยคต่างๆข้างต้น คือคำว่า ขับเคลื่อน โลกทัศน์ วิสัยทัศน์ บริบท กายภาพ จิตวิญญาณ ข้อมูล นวัตกรรม บูรณาการปฐมบท องค์ความรู้ เป็นคำที่นิยมพูดนิยมเขียนกันจนดูเหมือนว่าเป็นคำที่รู้กันดีแล้ว แต่โดยข้อเท็จจริง ยังมีคนจำนวนมากโดยเฉพาะชาวบ้านที่มิใช่นักวิชาการและไม่ชอบอ่านหนังสือยังเข้าไม่ถึงความหมายแท้จริงของคำเหล่านี้กัน ดังนั้นในการเทศน์ทั่วไปจึงยังไม่นิยมใช้คำเหล่านี้ในบทเทศน์แต่ถ้าต้องการใช้ด้วยเห็นว่าจะทำให้บทเทศน์เด่นขึ้น ตรงประเด็นขึ้น ก็พึ่งเลือกใช้ให้เหมาะสมทั้งแก่บุคคล หัวข้อเรื่อง และสถานการณ์ทั้งนี้เพื่อสื่อความให้ผู้ฟังรู้และเข้าใจตรงตามที่ต้องการ หากแต่แสดงธรรมแก่ผู้คงแก่เรียน เป็นนักวิชาการ ย่อมใช้ได้เลยทีเดียว เพราะผู้ฟังเหล่านั้นส่วนใหญ่เข้าใจคำเหล่านี้ดี และไม่ต้องเสียเวลาคิดถึงความหมายด้วย เหมือนผู้ศึกษาภาษาธรรมะมาดีแล้ว เมื่อได้ฟังคำว่าอิทธิบาทโพธิปักขิยธรรม โพชฌงค์ เป็นต้น ก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงอะไร ตรงกันข้ามถ้าคนทั่วไปที่ไม่เคยชินกับคำเหล่านี้ ไม่เคยรู้มาก่อนเมื่อได้ฟังเข้าก็ทําให้อึดอัดได้เหมือนกัน


                 (๖) หลีกเลี่ยงคำเฉพาะ คือพยายามไม่ใช้คำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการ ที่เป็นภาษาเฉพาะ โดยเฉพาะที่เป็นภาษาบาลี ยกเว้นคำที่เป็นชื่อธรรมะหรือเป็นหัวข้อธรรมะ เพราะคำเช่นนั้นไม่คุ้นหูหรือไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับผู้คนทั่วไป บางคำไม่เคยได้ยินมาก่อนหรือเคยได้ยินมาแต่ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรเสียด้วยซ้ำ ในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เทศน์ที่ชำนาญช่ำชองจะหลีกเลี่ยงคำเหล่านี้เสีย แต่เมื่อต้องการสื่อให้เข้าใจเนื้อหาสาระทำนองนั้น ก็จะใช้คำแปลหรือคำขยายความมาแสดงเลยทีเดียว ทำให้เข้าใจง่าย ฟังไม่เบื่อและเกิดความรู้สึกว่าธรรมะไม่ใช่ยาขมไม่ใช่ของยากจนไม่อาจกลืนลงได้เมื่อฟังเมื่ออ่านต่อไปเรื่อยๆไม่สะดุดก็รู้และเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ฟังหรืออ่านเพลินไปจนจบโดยไม่รู้ตัว ผลที่ตามมาคือเกิดความประทับใจและปรารถนาจะฟังหรืออ่านธรรมะเรื่องอื่นอีกแต่หากแสดงธรรมแก่ผู้คงแก่เรียนหรือเป็นนักวิชาการย่อมนำคำเฉพาะเช่นนั้นมาใช้ได้เลยทีเดียว เพราะผู้ฟังเหล่านั้นส่วนใหญ่เข้าใจคำและประโยคเหล่านี้ดี

 

                 (๗) ขยายความคำเฉพาะให้แจ่มแจ้ง คือในกรณีที่จำเป็นต้องใช้คำเฉพาะ เช่น ศัพท์ธรรมะ ศัพท์วิชาการ คำสุภาษิต คำพังเพย คำสมัยใหม่เช่นคำที่กล่าวถึงข้างต้น ต้องแปลหรืออธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งชัดเจนต่อเนื่องกันไปทันทีด้วยภาษาที่ง่ายๆ จะอธิบายสั้นหรือยาวก็แล้วแต่คำเฉพาะนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ฟังผู้อ่านต้องมาเสียเวลาตีความมาคิดหาคำอธิบายเอง จะเป็นเหตุให้สะดุดและไม่ให้ความสนใจต่อไปดังกล่าวแล้วข้างต้นแต่การอธิบายขยายความคำเฉพาะนั้นควรให้กระชับแต่ชัดเจน ไม่ควรให้เยิ่นเย้อมากความจนน่าเบื่อทั้งที่ความหมายมีไม่มาก จะกลายเป็นน้ำท่วมทุ่งไป


                 (๘) รักษาถ้อยคำสำนวนภาษาการเทศน์ไว้ คือบทเทศนานั้นประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วนคือ อุเทศ ได้แก่ส่วนเริ่มต้น นิเทศได้แก่ส่วนอธิบายขยายความ และ ปฏินิเทศ ได้แก่ส่วนสรุปความ ในส่วนอุเทศหรือส่วนเริ่มต้นนั้นจะเป็นเรื่องของอารัมภบท บอกงาน บอกเหตุผลของการมีเทศน์ เป็นต้น และส่วนปฏินิเทศจะเป็นข้อสรุปเนื้อหาและบทส่งท้าย ในสองส่วนนี้จะมีถ้อยคำสำนวนที่ใช้โดยเฉพาะเป็นต้นแบบอยู่ เช่นงานมงคลมีสำนวนความอย่างนี้ งานอวมงคลมีสำนวนความอย่างนี้ จึงนิยมรักษาถ้อยคำสำนวนนั้นไว้ แม้จะพลิกแพลงยักเยื้องไปบ้างตามความเหมาะสม แต่ก็ยังคงรักษาถ้อยคำสำนวนที่เป็นหลักเป็นแกนเข้าไว้ แม้ว่าถ้อยคำภาษาที่ใช้จะเป็นคำเฉพาะ เป็นคำที่ผู้ฟังอาจไม่เข้าใจชัดเจนนัก แต่ก็อนุโลมให้ใช้ได้เพื่อรักษาธรรมเนียมเก่าไว้เช่น จำนวนว่า “บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนาในมงคลวิเสสกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระบารมี เป็นปสาทนียกถามังคลานุโมทนา ในพระมหามงคลสมยาภิลักขิตกาลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ...” (พระมงคลวิเสสกถา๕ ธันวาคม ๒๕๓๐)


              “บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนาในนรกถา พรรณนาถึงสิ่งที่ไม่เสื่อมสิ้นไป เพื่อฉลองศรัทธาประดับปัญญาบารมี อนุโมทนาในกุศลปุพพเปตพลีทักขิณานุปทานสมบัติที่คณะสงฆ์วัดสุทัศนเทพวรารามและสัปปุริสชนคนวัดผู้มีจิตศรัทธามั่นคงอยู่ในกตัญญูกตเวทิตาธรรม ... ได้มีกุศลฉันท์พร้อมใจกันบำเพ็ญให้เป็นไป เพื่ออุทิศกัลปนากุศลถวายให้เป็นธรรมพลีปัจโจปการ แต่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ) ... ด้วยน้ำใจอันประเสริฐเปี่ยมล้นด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรมและอปจายนธรรมนงดงาม...”

              “อิมินา กตปุญเญน ด้วยอำนาจกุศลจริยาทักขิณานุปทานกิจที่คณะสงฆ์วัดเบญจมบพิตรและคณะศิษยานุศิษย์.... ได้มีกุศลจิตสมานฉันท์ร่วมใจกันบำเพ็ญให้เป็นไปเนื่องในกาลสมัยคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นในวันนี้ ขอจงเป็นบุญราศีสำเร็จสัมฤทธิ์ผลิตวิบากสมบัติอันเป็นทิพย์แต่เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นในสัมปรายภพตามคตินิยมสมดังมโนปณิธานอุทิสสนเจตนาของท่านทั้งหลายตลอดจิรัฐติกาล...”ในตัวอย่างทั้งสามนั้นจะมีถ้อยคำที่เป็นคำเฉพาะบ้าง เป็นคำที่มิได้ขยายความหมายไว้บ้าง จึงผู้ไม่สันทัดหรือไม่เคยชินต่อคำเช่นนี้ย่อมไม่ทราบความหมาย แต่ถึงกระนั้นก็นิยมนำมาใช้ในบทเทศน์ทั่วไป อาจถือว่าเป็นอลังการของบทเทศน์ คือทำให้บทเทศน์นั้นมีความขลังศักดิ์สิทธิ์หรือมีความสละสลวยด้วยถ้อยภาษาพิเศษก็คงได้ ดังนั้น จึงควรอนุรักษ์ต้นแบบเช่นนี้ไว้เหมือนกัน


                (๙) ใช้ภาษาให้ถูกต้อง คือการใช้ภาษาในการเทศน์นั้น นอกจากจะใช้ภาษาที่ดี ใช้ภาษาเขียน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่สำคัญที่สุดยิ่งไปกว่านั้นคือต้องใช้ให้ถูกด้วย มิใช่ว่าเป็นภาษาที่ดีแต่ไม่ถูกต้อง หรือเป็นภาษาเขียนและเข้าใจง่ายแต่ไม่ถูกต้อง เช่นนี้ก็ถือว่าใช้ภาษาไม่ถูก และเมื่อใช้ไม่ถูกแล้วอาจทำให้เข้าใจความหมายผิดไปก็ได้อาจถูกตำหนิว่าไม่รู้จักใช้ภาษาก็ได้ ทำให้เสียหายเสียภูมิได้เหมือนกันการใช้ภาษาที่ถูกต้องนั้นคือ การใช้คำหรือศัพท์ที่ถูกหลักเกณฑ์ของภาษา ถูกกับความหมาย ถูกกับเรื่อง ถูกกับบุคคล เป็นต้น เพราะมีคำหรือศัพท์จำนวนไม่น้อยในภาษาไทยที่มีกฎเกณฑ์การใช้และมีความหมายเฉพาะ ไม่ใช้ทั่วไปในทุกเรื่อง เช่นศัพท์เฉพาะ ศัพท์ธรรมะราชาศัพท์ ศัพท์ที่ใช้สำหรับพระสงฆ์ เป็นต้น ศัพท์เหล่านี้สำหรับใช้เฉพาะเรื่องก็มี ใช้เฉพาะบุคคลที่มี จำต้องพิจารณาให้รอบคอบและเลือกเป็นใช้ให้ถูก มิเช่นนั้นจะทำให้บทเทศน์นั้นด้อยค่าไปอย่างไม่ควรเป็นตัวอย่างเช่น
 

“บัดนี้ อาตมาภาพจักได้แสดงพระธรรมเทศนาในขันติกถา”
 

“บุคคลผู้ทำกรรมชั่วไว้ เมื่อสิ้นชีพไปแล้วย่อมตกไปสู่อบายมีนรกเป็นต้น ได้รับวิปฏิสารเดือดร้อนอยู่ในนรกนั้น”
 

“คนที่ชอบผลัดวันประกันพรุ่งย่อมทำให้การงานเสียหาย”
 

                 ตัวอย่างข้างต้นนี้มีคำที่ใช้ไม่ถูกต้องอยู่ทุกตัวอย่าง คือคำว่า อาตมาภาพ ที่ถูกต้องเป็น อาตมภาพ ถ้าจะใช้ให้สิ้นโดยไม่มีคำว่า ภาพ อยู่ท้าย ให้ใช้ว่า อาตมา มิใช่ อาตมะคำว่า วิปฏิสาร ปกติใช้ในความหมายว่าความเดือดร้อนทางใจมิใช่ความเดือดร้อนทางกาย ในกรณีของสัตว์นรกควรใช้ว่า ได้รับความทุกข์เดือดร้อนคำว่า ผลัด มีความหมายว่าเปลี่ยนสถานที่ เช่นผลัดเสื้อผ้า ผลัดเวร ผลัดใบ วิ่งผลัด ดังนั้นในข้อความข้างต้นที่ถูกต้องใช้ว่า ผัด ซึ่งหมายถึงเลื่อนเวลาออกไป เช่นขอผัดหนี้ ผัดเวลาการใช้ภาษาตามตัวอย่างข้างต้นหรือที่ใช้ในทำนองนี้กันอยู่ หากไม่รู้หรือไม่ได้คิดอะไรก็มักเข้าใจว่าไม่ผิด ใช้ได้เพราะใช้กันอยู่ แต่ผู้รู้จริงย่อมตำหนิว่าไม่พิถีพิถัน ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง หรือไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นความเคยชินเป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต่อๆกันไป ดังเช่นที่ใช้ว่า ทรงตรัสรู้ทรงเสด็จไป ทรงเสวย ทรงประทับ ลาสิกขาบท กรรมบท เป็นต้น
 

                 (๑๐) ใช้คำเต็ม ไม่ใช้คำย่อ คือคำบางคำนิยมใช้คำย่อที่เรียกว่าภาษาปากในการพูดสนทนา แต่เมื่อนำมาใช้ในการเทศน์ต้องใช้คำเต็มมิใช่คำย่อแบบใช้ในการพูด เช่น โบสถ์ เณร ลงโบสถ์ บรรลุโสดา เป็นพระอนาคา ฯลฯ คำเต็มต้องใช้ว่า อุโบสถ สามเณร ลงอุโบสถ บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอนาคามีคำประเภทนี้มีจำนวนมาก หากใช้คำย่อที่อยู่ในเกณฑ์ใช้ภาษาไม่ถูกเช่นกัน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0091380993525187 Mins