การเขียนกับการเทศน์

วันที่ 31 สค. พ.ศ.2567

การเขียนกับการเทศน์

670831_b182.jpg

 

                  ในการเทศน์ ๒ แบบคือเทศน์ปากเปล่ากับเทศน์อ่านคัมภีร์นั้นเทศน์ปากเปล่าต้องอาศัยการออกเสียงเป็นหลัก เมื่อออกเสียงถูกต้องก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนเทศน์อ่านคัมภีร์นั้นหากอ่านไปตามบทเทศน์ที่ท่านเขียนไว้ถูกต้องก็เป็นอันใช้ได้เช่นกัน แต่หากเป็นแบบแต่งเองเทศน์เองคือเขียนบทเทศน์แล้วนำไปอ่านตอนเทศน์ ในกรณีนี้การเขียนย่อมเข้ามามีบทบาทสำคัญ กล่าวคือบทเทศน์นั้นต้องอาศัยการเขียนที่ถูกต้องตามหลักภาษาด้วยจึงจะถูกต้องสมบูรณ์ ถ้าเขียนผิดหรือใช้คำผิดก็อ่านผิดและย่อมทำให้คนฟังเข้าใจผิดไปด้วย ดังนั้นการใช้คำถูกต้องจึงมีความจำเป็นในเรื่องนี้


                ในภาษาไทยมีคำที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องการเขียน เพราะมีวิธีเขียนเฉพาะตัว บางคำเมื่อเขียนผิดไป นอกจากจะทำให้อ่านผิดแล้วยังทำให้ความหมายผิดไปด้วย เช่นคำว่า เผอเรอ กับเผลอเรอ สองคำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือ เผอเรอหมายถึงการขาดความเอาใจใส่ในสิ่งที่ต้องทำ, เลินเล่อ, ไม่รอบคอบส่วน เผลอเรอ หมายถึงลืมตัวเรอออกมา คำที่มีลักษณะเช่นนี้ในภาษาไทยมีมาก และมักจะเขียนผิดใช้ผิดกันอยู่ประจำ ในข้อนี้ความพิถีพิถันรอบคอบเป็นหลักสำคัญที่สุด เขียนให้ถูกใช้ให้ถูกเป็นดีที่สุด
การเขียนนั้นไม่มีหลักตายตัวว่าต้องเขียนอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะแต่ละคำต่างก็มีวิธีเขียนที่ท่านกำหนดไว้โดยเฉพาะ แต่หากจะกำหนด
กว้างๆก็พอจับประเด็นหรือพอกำหนดได้ว่าวิธีการเขียนที่ท่านกำหนดไว้มีอย่างไรบ้าง คือ

 

                          (๑) เขียนคำไทยแท้ คือคำศัพท์ในภาษาไทยที่ใช้กันอยู่เป็นประจำดั้งเดิม ส่วนใหญ่ท่านเก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เว้นคำภาษาถิ่นที่ไม่แพร่หลาย ท่านก็ไม่ได้เก็บไว้ นอกจากบางคำที่ท่านเห็นว่าสำคัญจึงเก็บไว้ ซึ่งเป็นการบอกให้รู้ว่าคำนั้นศัพท์นั้นเขียนอย่างนี้เขียนตามแบบนั้นย่อมเป็นอันถูกต้อง

 

                          (๒) เขียนคำบาลีสันสกฤต คือคำศัพท์ที่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต ไทยเรานำมาใช้ในรูปเดิมบ้าง เปลี่ยนแปลงรูปไปบ้าง แล้วกำหนดวิธีเขียนและวิธีอ่านแบบไทย เช่น กฐิน กาล กกุธภัณฑ์ ขันตินิสัย เกษียณ เกษียน เกษียร มรณภาพ คำเช่นนี้ส่วนใหญ่ท่านเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับดังกล่าวแล้ว
 

                          (๓) เขียนคำต่างประเทศ คือคำศัพท์ที่นำมาจากภาษาอื่น เช่น เขมร จีน มลายู ชวา อาหรับ รวมถึงประเทศทางทิศตะวันตกแถบทวีปยุโรป เป็นต้น ก็มีวิธีเขียนกำหนดไว้ในพจนานุกรมนั้นเช่นกัน เช่น กฤช ธำมรงค์ บุหงา เกี้ยะ เกี้ยมไฉ่ ไซโคลน เมตร เปอร์เซ็นต์
 

                          (๔) เขียนคำในศาสนา คือคำศัพท์ที่นำมาจากศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นชื่อธรรม ชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ รวมถึงศัพท์เฉพาะ คำเหล่านี้ส่วนใหญ่มิได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ เพราะมีมากด้วยกัน เว้นบางคำในศาสนานั้นๆที่รู้กันแพร่หลายแล้ว เช่น พระ พุทธ เยซู ละหมาด ศีลธรรม ศีลอด ศีลจุ่ม ส่วนที่เหลือนั้นจำต้องศึกษาค้นหาจากแหล่งที่มาของศาสนานั้นๆ จึงจะเขียนได้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน
 

                          (๕) เขียนคำวิชาการ คือคำศัพท์ที่ใช้กันในแวดวงวิชาการแขนงต่างๆ ในแต่ละแขนงวิชานั้นส่วนใหญ่จะมีการบัญญัติศัพท์เฉพาะวิชาแล้วรวบรวมเก็บไว้เป็นพจนานุกรมเฉพาะ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ที่มีพจนานุกรมศัพท์วิทยาศาสตร์ วิชาแพทยศาสตร์ที่มีพจนานุกรมศัพท์แพทย์ เป็นต้น ซึ่งคำศัพท์วิชาการเช่นนี้มีมากที่สุด เพราะวิชาการในโลกนี้มีมากแขนงด้วยกัน เมื่อจำเป็นต้องเขียนก็ต้องศึกษาค้นคว้าจากแหล่งนั้นๆ จึงจะสามารถเขียนได้ถูกต้อง


                           (๖) เขียนคำสมัยใหม่ คือคำศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อสิ่งของเครื่องใช้บ้าง เป็นศัพท์วิชาการบ้าง ทั้งนี้เพื่อสะดวกต่อการเขียนและการเรียกสิ่งนั้นศัพท์นั้น คำเช่นนี้เกิดมากขึ้นทุกวัน เช่นคำว่า บูรณาการ ธรรมาภิบาล นวัตกรรม บริบท โลกาภิวัตร คำลักษณะนี้บางคำยังไม่มีในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพราะเป็นคำเกิดใหม่ จึงยังไม่ทันได้เก็บไว้ แต่หากเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ที่เกี่ยวกับวิชาการก็สามารถหาได้ในพจนานุกรมวิชานั้นๆนอกจากการเขียนคำไทยตามวิธีหลักๆ ดังแสดงมาแล้ว ยังมีการเขียนคำที่ย่อยลงไปอีก เช่น การเขียนคำพ้อง การเขียนคำแผลงการเขียนคำประพันธ์ เป็นต้นอีก แต่จักไม่แสดงไว้ ณ ที่นี้ เพราะจะทําให้เฝือ


                      กล่าวสรุปได้ว่า การเขียนกับการเทศน์นั้นเป็นของคู่กัน เพราะการเขียนก็เป็นการสื่อสารให้เข้าใจความหมายได้ถูกต้องเหมือนการพูดไม่ว่าจะเขียนผิดหรือพูดผิดซึ่งเป็นการใช้ภาษาที่ผิดก็ทำให้เข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนได้เช่นเดียวกัน และเมื่อเขียนบทเทศน์ผิดโดยใช้ภาษาไม่ถูกต้อง ผู้นำไปอ่านตามที่อ่านผิดและสร้างความเข้าใจผิดต่อกันไปด้วยเพราะเมื่อผิดแต่ต้นทางแล้วก็ผิดตลอดสาย เหมือนตั้งใจจะขึ้นเหนือแต่ขึ้นรถที่ไปใต้ เมื่อรถออกและไม่รู้ตัวว่าขึ้นรถผิด ก็ห่างเหนือออกไปทุกที่ ฉะนั้นเพื่อเป็นอุปการะแก่การใช้ภาษาด้วยการเขียน จักได้แสดงคำบางคำที่มักเขียนผิดใช้ผิดไว้ในภาคผนวกท้ายเล่ม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039463047186534 Mins