ทําไมต้องตีความ

วันที่ 04 กค. พ.ศ.2567

670704_b66.jpg

 

ทําไมต้องตีความ


                แม้ว่าการตีความจะเสี่ยงต่อความผิดพลาด เสี่ยงต่อความเข้าใจผิด หรือเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนคำสอนอยู่ไม่น้อยการตีความก็ยังมีความจำเป็นไม่น้อยเช่นกัน เพราะได้กล่าวมาแล้วว่าคำสอนในทางศาสนานั้นผ่านกาลเวลามานานแล้ว ภาษาที่ท่านใช้เป็นภาษาเก่าไปแล้ว เดิมที่ผู้คนสามารถเข้าใจได้ทันที แม้จะไม่มีการอธิบายความอะไร เพราะเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป มิได้ใช้คำหรือประโยคเช่นนั้นประจำหากมีคำใหม่ขึ้นมาแทน ส่วนคำเก่าก็ยังมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ จึงต้องมีการอธิบายความคำเก่านั้นด้วยภาษาร่วมสมัย เป็นภาษาชาวบ้านสำหรับคำสอนในทางศาสนาโดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกบางส่วนมีการอธิบายขยายความไว้ชัดเจนและเข้าใจได้ดีอยู่แล้วแต่บางส่วนท่านแสดงไว้ในรูปของฉันทลักษณ์หรือในรูปคาถาซึ่งสั้นและกระชับ ใช้ศัพท์ที่อมความไว้มาก ยากที่จะเข้าใจได้หากไม่มีการตีความหรืออธิบายขยายความออกมา

 

                การตีความจึงเกิดขึ้นและยังมีความจำเป็นอยู่ ยิ่งการตีความในเชิงปฏิบัติด้วยแล้วยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะต้องนำคำสอนนั้นๆ ไปใช้ให้ได้ผล มิเช่นนั้นคำสอนที่แสดงไว้และปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ ก็จะให้ผลแต่เพียงความรู้ ความเข้าใจ หรือความภาคภูมิใจว่าได้เรียนได้รู้อันเป็นแค่เปลือกกระพี้เท่านั้น จะไม่อาจให้รสสำคัญคือความสุขอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมและการบรรลุธรรมในระดับต่างๆ ได้เลย
ในทางโลก การตีความย่อมเกิดขึ้นเมื่อต้องการหาข้อยุติเมื่อมีปัญหาคือเกิดความขัดแย้งกันหรือมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเดียวกัน

 

                เช่นปัญหาข้อกฎหมายที่ตราไว้ แม้จะดูเหมือนว่าชัดแจ้งแล้วแต่ในทางปฏิบัติจริง ในบางกรณีเกิดมีข้อกังขา เกิดเห็นไม่ตรงกัน
จึงต้องมีคนกลางที่มีความรู้ความเข้าใจในแง่มุมของกฎหมายนั้นอย่างดี เช่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เข้ามาตีความเพื่อหาข้อยุติ แต่ในทางธรรม การตีความมิได้เกิดขึ้นจากเกิดปัญหาขัดแย้ง หากแต่เกิดขึ้นเพราะต้องการทราบรายละเอียด วัตถุประสงค์ แนวทางปฏิบัติตาม เป็นต้น ซึ่งผู้มีความต้องการขยายความจากข้อธรรมที่แสดงไว้สั้นๆ หรือที่เป็นภาษาเก่า เพื่อให้คนร่วมสมัยได้เข้าใจในข้อธรรมนั้นๆ ได้ตรงตามเจตนาแห่งผู้ตรัสหรือผู้แสดงธรรมนั้นเมื่อกล่าวถึงเหตุผลในการตีความโดยทั่วไปย่อมได้ประเด็นหลักๆ หลายประเด็นด้วยกัน คือ

 

(๑) ตีความเพื่อให้เข้าถึงประเด็นสำคัญที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นสาระของเรื่องหรือข้อธรรม ซึ่งจัดเป็นเหตุผลหลักของการตีความทั่วไป เรื่องหรือข้อธรรมที่กล่าวไว้โดยย่อหรือด้วยภาษาเก่าเมื่อได้รับการขยายความออกไปตามหลักแห่งการตีความที่ถูกต้องย่อมชัดเจนแจ่มแจ้ง ทำให้รู้และเข้าถึงสาระแห่งเรื่องหรือข้อธรรมนั้นโดยไม่ยาก
 

(๒) ตีความเพื่อเข้าใจตรงกันและป้องกันความขัดแย้งหรือวิวาทะอันอาจเกิดขึ้น กล่าวคือในบางกรณีเรื่องหรือข้อธรรมเดียวกัน อาจก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้นได้ จึงมีการตีความหรืออธิบายขยายความไว้เป็นบรรทัดฐานเพื่อความเข้าใจไปในแนวเดียวกันในเรื่องหรือข้อธรรมนั้นๆ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาตีความด้วยตัวเองซึ่งอาจตีความผิดพลาดไปก็ได้ และเมื่อมีการอธิบายความเป็นบรรทัดฐานไว้ล่วงหน้าแล้ว ก็เท่ากับมีกำแพงป้องกันความขัดแย้งหรือวิวาทะอันอาจเกิดขึ้นได้จากการตีความที่เป็นแบบอัตโนมัติคัมภีร์อรรถกถา คัมภีร์ฎีกาเป็นต้นล้วนมีความอันเป็นบรรทัดฐานเพื่อความเข้าใจตรงกันทั้งสิ้น
 

(๓) มีความเพื่อขจัดความขัดแย้งหรือวิวาทะที่เกิดขึ้น กล่าวคือในการอธิบายขยายความเรื่องหรือข้อธรรมบางประการของผู้รู้ทั้งหลายอาจตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ต่างแนวกันบ้างตามแต่ภูมิปัญญาและภูมิธรรมแห่งตน ทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือลุกลามถึงวิวาทะโต้ตอบกันไปมา โดยต่างก็ยืนยันว่าของตนถูกต้องกระบวนการตีความย่อมมีบทบาทสำคัญที่จะหาข้อยุติในเรื่องนี้เหมือนในทางโลก ผลแห่งการตีความที่ประจักษ์ชัดเจน เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ผู้คงแก่เรียนหรือในหมู่นักปฏิบัติทั้งหลายย่อมเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาด ช่วยขจัดข้อขัดแย้งและวิวาทะทั้งหลายในกรณีนั้นให้ยุติหมดสิ้นไปได้ ทำให้ไม่ลุกลามใหญ่โตถึงกับมองหน้ากันไม่ติดหรือแบ่งถูกแบ่งพวกกันอันแสดงถึงความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขั้นต่อกันไม่ติด
 

(4) มีความเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม กล่าวคือการตีความนั้นมิใช่มุ่งเพื่อให้เข้าถึงประเด็นสำคัญของเรื่องหรือข้อธรรมในเชิงวิชาการหรือในเชิงปริยัติเท่านั้น หากในบางเรื่องในบางข้อธรรมจำเป็นต้องมีการอธิบายขยายความอย่างละเอียดแสดงวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแนวตามขั้นตอนได้จริงและเห็นผลจริงในชีวิตประจำวัน ในกรณีเช่นนี้ คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นตัวอย่างได้ดีที่สุด เพราะให้รายละเอียดไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด โดยตีความหรือขยายความจากพระบาลีเพียง
๑ คาถาที่ว่า


สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ      จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ
อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ                 โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ ฯ

 

นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นในศีลแล้วอบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตนรอดภิกษุนั้นจึงถางชัฏนี้ได้ ฯ

                 ด้วยพระคาถาพระพุทธพจน์เพียง ๑ พระคาถานี้ พระพุทธโฆษาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคสามารถขยายความทั้งแนวปริยัติและแนวปฏิบัติ ครอบคลุมไตรสิกขาคือ อธิศีล อธิจิต และอธิปัญญาตลอดถึงอริยสัจ ๔ ไว้ได้ทั้งหมดอย่างชัดแจ้งน่าอัศจรรย์ เป็นแบบอย่างทั้งเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติการได้เป็นอย่างดีมาตราบเท่าทุกวันนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021244064966838 Mins