ศีล ๕ รักษาโลก
โลก คือ ดาวดวงหนึ่งในจักรวาล ได้ถือกำเนิดมายาวนานจนไม่อาจกำหนดได้ว่าเมื่อใด แต่ก็มีพัฒนาการในตัวเองเรื่อยมาโดยเย็นลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมีน้ำตามที่ลุ่มต่ำและให้กำเนิดพืชและสัตว์ประเภทต่างๆ พืชและสัตว์ทั้งหลายได้พัฒนาการมาเรื่อยๆ เป็นล้านปี เร็วบ้างช้าบ้างตามชนิดแต่ละประเภท จนกระทั่งประเภทหนึ่งเจริญเติบโตพัฒนาการได้ดีกว่า มีมันสมองที่ฉลาดกว่า เรียกกันโดยทั่วไปว่ามนุษย์ หรือเรียกอย่างอื่นตามภาษาของแต่ละถิ่น ซึ่งมนุษย์นี้แหละที่กุมอำนาจในโลกไว้ได้ตลอดมาแต่อดีต เพราะมีสมองมีความคิดที่พิเศษกว่าพืชและสัตวโลกชนิดอื่น
ความเป็นมาของโลกเช่นนี้ทราบกันดีโดยทั่วไปแล้ว ไม่ขอกล่าวให้มากไปกว่านี้
มนุษย์พัฒนาตัวเองมาโดยลำดับ ในตอนแรกก็อยู่กันเป็นกลุ่มเฉพาะของตน ดูแลรักษา ปกป้องพวกพ้องของตนเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็เป็นศัตรูกับกลุ่มมนุษย์อื่นๆ เบียดเบียน แก่งแย่ง และสู้รบกับกลุ่มอื่นๆ มาโดยตลอดในภายหลังเกิดมีผู้มีปัญญาและมีพลังขึ้น สามารถรวบรวมกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกันให้มาเป็นพวกพ้องได้ ตั้งเป็นกลุ่มมนุษย์กลุ่มใหญ่ขึ้น ต่อมาใหญ่ขึ้นจนสามารถตั้งเป็นอาณาเขต เป็นรัฐ เป็นประเทศได้ตามลำดับ
อาณาเขตที่สามารถรวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่จนเป็นรัฐเป็นประเทศได้ ก็ใช้ปัญญาหาวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ เกิดมีผู้ปกครองระดับต่างๆ ขึ้นมีการออกระเบียบในการปกครองของกลุ่มของประเทศซึ่งเรียกในสมัยต่อมาว่ากฎหมายขึ้นเกิดมีเจ้าลัทธิมีศาสดากำหนดระเบียบปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติขึ้น ซึ่งคำสอนของเจ้าลัทธิและศาสดาเหล่านี้ได้รับการยอมรับนำมาปฏิบัติในหมู่คณะกว้างขวางขึ้น ทำให้อยู่กันอย่างสงบ มีความสุข เป็นอิสระโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ มีผู้ที่เห็นด้วยและนำมาบอกกล่าว แนะนำ สั่งสอนกันสืบมาจนกลายเป็นศาสนาในที่สุด
ศาสนาจึงเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์เรื่องหนึ่ง แม้จะดูลี้ลับ ลึกซึ้ง เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ถึงกับบางยุคบางสมัยและบางประเทศปฏิเสธเรื่องศาสนาว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ถึงกระนั้นผู้ที่รู้จักศาสนา เข้าใจศาสนา และเข้าถึงศาสนาอย่างแท้จริง ก็ยังรัก หวงแหนสืบสาน แนะนำ สั่งสอน และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งปฏิบัติตาม
หลักของศาสนาอยู่อย่างมั่นคง ทำให้ศาสนาต่างๆ ในโลกยังคงอยู่ และยังคงพัฒนาการไปเรื่อยๆ ด้วยอาศัยบุคคลประเภทนี้
ศีล จัดเป็นข้อปฏิบัติในศาสนาอย่างหนึ่งที่สังคมมนุษย์โบราณได้กำหนดขึ้นและถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป ศีลมิใช่เป็นของมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ มิใช่เจ้าลัทธิหรือศาสดาใดบัญญัติขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะในลัทธิหรือในศาสนาของตน แต่เป็นกติกาสังคมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาโดยถือว่าเป็นกฎเป็นระเบียบที่ให้คุณมหาศาลแก่มนุษย์ ทำให้อยู่กันอย่างสงบ ทำให้มีอิสระทำให้ครอบครัวอบอุ่น มีความจริงใจต่อกัน ไว้วางใจกันได้ ไม่ต้องห่วงกังวลอะไรมากนัก จึงถือกันว่าศีลเป็นหลักสากลที่ถือปฏิบัติกัน ผู้ที่ถือปฏิบัติตามได้เคร่งครัดก็ยกย่องว่าเป็นคนดี เป็นศรีสง่าของสังคม เป็นผู้ที่ผู้คนให้การยอมรับยกย่อง ยอมให้เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ
ศีลได้รับการยอมรับโดยทั่วไปแม้ว่าจะอยู่ในถิ่นที่ห่างกันคนละประเทศคนละทวีป ก็ยอมรับและถือปฏิบัติกันเป็นสากล แม้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ต่างก็ผ่านการถือศีลมาอย่างเด่นชัด
ต่อมามีผู้รวบรวมศีลอันเป็นหลักปฏิบัติประจำไว้เป็นข้อๆ ได้ ๕ ข้อเรียกว่า “ศีล ๕” หรือ “เบญจศีล” มีหลักปฏิบัติที่สำคัญในแต่ละข้อ คือ
ศีลข้อที่ ๑ ไม่ฆ่าสัตว์
ศีลข้อที่ ๒ ไม่ลักทรัพย์
ศีลข้อที่ ๓ ไม่ประพฤติผิดในกาม
ศีลข้อที่ ๔ ไม่พูดเท็จ
ศีลข้อที่ ๕ ไม่ดื่มสุราและเมรัย
ศีล ๕ ข้อนี้รักษากันเป็นแบบถนัดของแต่ละกลุ่มแต่ละถิ่น กระจายกันไป ครบบ้างไม่ครบบ้าง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภาษาของแต่ละถิ่นแต่ก็มีลักษณะและวิธีการปฏิบัติใกล้เคียงกันในแต่ละข้อ
ศีล ๕ จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครอง การประกอบอาชีพสุจริต การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการไว้วางใจกันทำให้เกิดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ในหมู่คณะ ในสังคมทั่วไป
ถิ่นใดศีล ๕ จางหาย ผู้คนไม่สนใจไม่นำพา ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาแห่งศีล ๕ ความวุ่นวาย ความเดือดร้อน ความอยู่ร้อนนอนทุกข์ ไปจนถึงการแก่งแย่ง เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ ข่มเหงรังแก ตลอดถึงการสู้รบกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อมก็เกิดขึ้น สันติก็จางหาย สุขก็สิ้นสลาย โลกก็วุ่นวายเดือดร้อนตาม
ไม่เพียงศีลทั้งห้าข้อเท่านั้นที่มีผลเช่นนี้ แม้เสียไปเพียงข้อเดียวก็เดือดร้อนสาหัสสากรรจ์แล้ว เช่น ในถิ่นหรือในบ้านเมืองที่ผู้คนไม่เคารพสิทธิในสามีภรรยาของตนไปล่วงละเมิดสามีหรือภรรยาผู้อื่น โดยไม่นำพาศีลและธรรมที่ควรเป็นล่วงละเมิดศีลข้อ ๓ กันเป็นว่าเล่น หาความจริงใจต่อคู่ครองของตัวเองก็ไม่ได้ไว้วางใจกันก็ไม่ได้ แล้วอย่างนี้ ความอบอุ่น ความไว้วางใจในครอบครัวจะมีได้อย่างไร จะมีความวุ่นวาย มีความว้าวุ่น และความหวาดระแวงกันแค่ไหน
ศีล ๕ ในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยอมรับว่าเป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ ทรงแสดงว่าเป็นนิจศีลคือศีลที่พึงปฏิบัติเป็นประจำ และทรงแสดงว่ามีประโยชน์มีอานิสงส์มาก สามารถนำพาให้เข้าถึงสุคติภูมิคือสวรรค์ได้
เหล่าชนในอดีตจำนวนไม่น้อยที่ได้รับอานิสงส์จากการปฏิบัติตามศีล ๕ โดยรักษาศีล ๕ เคร่งครัด ทำให้ได้สวรรค์สมบัติและส่งผลให้ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมแล้วได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลได้เป็นพระอรหันต์ในที่สุด
มิใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์เช่นนี้ แม้สัตว์ดิรัจฉานก็ย่อมได้รับเช่นกัน
ดังมีเรื่องที่ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกเรื่องหนึ่งว่า พระพุทธองค์ตรัสตำหนิพวกลูกศิษย์ของพระฉัพพัคคีย์ที่ล่วงหน้าไปจองที่นั่งที่นอนให้อาจารย์ของตนก่อนที่พระพุทธองค์และคณะมีพระสารีบุตรเป็นต้นจะไปถึงว่าพระเหล่านั้นไม่มีความเคารพยำเกรง พร้อมทั้งตรัสเล่าชาดกเรื่องหนึ่ง
ความย่อว่า
มีสัตว์ ๓ ประเภท คือ นกกระทา ลิง และช้าง ได้คบหากันเป็นเพื่อนสนิทแต่ไม่รู้ว่าผู้ใดมีอาวุโสกว่า ต่อมาได้พิสูจน์ให้กันรู้ได้ว่านกกระทามีอาวุโสกว่าลิงและช้างจึงให้ความเคารพนับถือนกกระทาอย่างสนิทใจ โดยไม่คำนึงว่าร่างกายจะเล็กกว่าตน จากนั้นได้ตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นกกระทาได้ให้ลิงกับช้างสมาทานศีล ๕ และตนเองก็ประพฤติสมาทานในศีล ๕ สัตว์ทั้งสามมีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไปได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วัตรจริยานี้แลได้ชื่อว่าติตติริยพรหมจรรย์”
โลกทั้งปวง ทั้งที่เป็นแผ่นดินแผ่นน้ำ ทั้งมนุษย์สัตว์ ทั้งต้นไม้พืชพันธุ์ย่อมดำรงคงอยู่ มีความงดงาม เป็นประโยชน์ นำความสุข ความบันเทิง ความดำรงชีพยืนนานมาให้แก่มนุษย์และสัตว์โลกอื่นๆ มนุษย์และสัตวโลกทั้งหลายตลอดถึงพืชพันธุ์ทั้งที่อยู่บนแผ่นดินและในน้ำ ย่อมดำรงชีพอย่างสุขสงบตามปกติ มีอายุยืนตามปกติสายพันธุ์ของตน ก็ด้วยมนุษย์ประเภทเดียวมีศีล ๕ รักษาศีล ๕ กันมั่นคง เมื่อเป็นได้อย่างนี้ศีล ๕ ก็จะรักษาโลกทั้งสองประเภทเข้าไว้ได้ คือรักษาความสุขสงบ ความสวยงาม และความมั่นคงของโลกไว้ได้อย่างแน่นอน