ศีลกับวิรัติ
วิรัติเป็นคำพระ เป็นคำที่ไม่ค่อยได้ยินกัน ชาววัดที่ชอบอ่านหนังสือพระหรือชอบฟังธรรมคงเคยได้ฟังกันมาบ้าง เพราะคำนี้มักเป็นคำอะิบายเรื่องศีลให้ชัดเจนขึ้น
คำว่า วิรัติ แปลว่า การงดการเว้น คือความปราศจากความยินดีพอใจความมีเจตนาที่จะละเว้นในการทำทุจริต ในการทำความชั่วความผิดด้วยความตั้งใจ ในภาษาไทยมักใช้รวมกับคำอื่น เช่น มังสวิรัติ งดเว้นกินเนื้อสัตว์มัชชวิรัติ งดเว้นดื่มน้ำเมา เมถุนวิรัติ งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์
วิรัติ มีคำที่ใช้แทนอยู่คำหนึ่งซึ่งได้ยินกันบ่อย คือคำว่า เวรมณี ซึ่งแปลว่า เจตนางดเว้นจากเวรภัย ดังนั้นท่านจึงกล่าวอธิบายไว้อีกแบบหนึ่งว่าวิรัติคือเจตนาที่งดเว้นจากเวร (เวรมณี) เช่นในคำว่า ปาณาติปาตา เวรมณี
เมื่อว่าโดยเจตนา ศีลกับวิรัติมีความหมายเหมือนกัน ต่างก็เป็นเจตนางดเว้นจากการทำบาปทุจริต จากการทำความชั่วความผิดเหมือนกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวว่า เมื่อรับศีลหรือตั้งใจถือศีลแล้วก็เท่ากับว่ามีวิรัติอยู่ในตัว
วิรัตินั้นท่านแบ่งไว้เป็น ๓ ประการ ตามเจตนาหรือความตั้งใจของผู้ปฏิบัติ คือ
๑. สัมปัตตวิรัติ คือ การงดเว้นเฉพาะหน้า หมายถึง การไม่ทําความผิดในเหตุการณ์ที่ประสบเฉพาะหน้า โดยไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะงดเว้น เช่น เดินไปตามถนนพบกระเป๋าเงินของใครก็ไม่รู้ตกอยู่ก็หยิบขึ้นมาเปิดหาชื่อเจ้าของ โดยไม่ได้สนใจว่ามีเงินเท่าไร ไม่ปรารถนาจะยึดเป็นสมบัติของตนแม้ว่าจะทำได้และไม่มีใครรู้ใครเห็น เมื่อพบชื่อก็เก็บไว้ให้หรือส่งคืนให้ เมื่อไม่พบชื่อก็นำไปมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ อย่างนี้ชื่อว่างดเว้นเฉพาะหน้า
หรือแม้จะมิได้สมาทานศีล ไม่ได้ถือศีลอะไร แต่มาระลึกถึงชาติตระกูลระลึกถึงฐานะ หรือระลึกถึงประเทศชาติของตนอย่างเดียวว่า เราเกิดมาในตระกูลอย่างนี้ เราอยู่ในฐานะอย่างนี้ หรือเราอยู่ในประเทศที่นับถือศาสนาอย่างนี้เราไม่ควรจะทำสิ่งนี้ เราไม่ควรจะพูดอย่างนี้ จะทำให้เสียหายแก่ชาติตระกูล เสียหายแก่ฐานะ เสียหายแก่ชาติบ้านเมือง ดังนี้เป็นต้นแล้วก็งดเว้นไม่ทำบาปไม่ทำชั่วอะไร แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นสัมปัตตวิรัติ
ตามปกติคนเรามิได้รับศีลหรือตั้งใจรักษาศีลกันตลอดเวลา แต่จําต้องมีหน้าที่การงานทำในบ้านนอกบ้านประจำ ในบางเวลาบางโอกาส อาจมีเหตุการณ์ที่จูงใจให้ทำความผิดให้ทำสิ่งที่เป็นการล่วงละเมิดศีลบ้างแต่ด้วยจิตใจที่งดงาม ด้วยอุปนิสัยที่บ่มเพาะมาในทางดี แม้จะทำผิดได้ แม้จะไม่ได้ถือศีลอะไรมา แต่ก็ไม่ทำ ละเว้นได้ รักษาความบริสุทธิ์ของตัวเองเข้าไว้ได้ด้วยความตั้งใจอันงาม ด้วยคิดว่าไม่สมควรไม่เหมาะสมแก่ตน แก่ตระกูลวงศ์ของตนหรือด้วยคิดว่าเมื่อตนทำผิดแล้วก็จะเป็นบาปติดตัว หรือก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ซึ่งเขาก็คงไม่ชอบ อะไรทำนองนี้
การงดเว้นเฉพาะหน้าได้อย่างนี้เรียกว่าสัมปัตตวิรัติ
๒. สมาทานวิรัติ คือ การงดเว้นด้วยอำนาจการสมาทาน หมายถึง การไม่ทำความผิดด้วยถือเป็นกิจที่พึงทำประจำ สมาทานนั้นก็คือการตั้งใจถือตั้งใจรักษา เช่น สมาทานศีล ก็หมายความว่าตั้งใจรักษาศีล จัดเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นโดยมีหลักประกันคือผู้อื่นรู้เห็นหรือตนเองรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
อย่างเช่นที่เรารับศีล ๕ จากพระ ถือว่าได้สมาทานศีลแล้ว เท่ากับรับปากแล้วว่าจะรักษาศีลด้วยความตั้งใจ เมื่อรับปากแล้วก็ตั้งใจรักษาศีล ไม่ล่วงละเมิดศีลของตน งดเว้นจากบาปทุจริตอันจะทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย เมื่องดเว้นได้ตามที่ตั้งใจรับปากไว้ก็เท่ากับว่ามีสมาทานวิรัติ
อันที่จริง การรับศีลนั้นแม้จะเป็นการสมาทานและเรียกกันว่าสมาทานศีล แต่ความรู้สึกของผู้รับส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้สึกหรือให้ความสนใจนักมักนึกว่าเป็นเพียงพิธีการหรือเป็ธรรมเนียมว่าต้องรับศีลกันเท่านั้น มิได้นึกว่าเป็นการสมาทาน เป็นการรับปากหรือรับรองแน่นหนาว่าจะรักษาศีลตามที่รับยกเว้นบางคนหรือกลุ่มคนที่ตั้งใจรับตั้งใจสมาทานกันจริงจัง อย่างเช่นผู้สมาทานอุโบสถศีลหรือศีล ๘ หรือผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมสร้างบารมีในวันสำคัญต่างๆบุคคลเหล่านี้จะตั้งใจรักษาศีลตามที่ได้สมาทานไว้ ถือว่าได้งดเว้นตามแบบสมาทานวิรัติแท้ เมื่อปฏิบัติได้ ก็ย่อมได้บุญอานิสงส์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
๓. สมุจเฉทวิรัติ คือ งดเว้นโดยเด็ดขาด หมายถึงตั้งใจตัดขาดจากการทำชั่วทำผิดตลอดไป ความตั้งใจงดเว้นเช่นนี้เป็นของพระอริยบุคคล คนธรรมดาทั่วไปไม่อาจเป็นไปได้ เพราะโอกาสที่จะผิดพลาดในเรื่องเช่นนี้มีอยู่มากจึงกล่าวได้ว่าเป็นความตั้งใจของพระอริยบุคคลโดยเฉพาะ
แต่หากจะมีบางคนที่ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่ล่วงละเมิดศีลโดยเด็ดขาดแล้วรักษาโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อย่างนี้ก็ย่อมได้ ถือว่าอนุโลมตามพระอริยบุคคล
ที่แสดงเรื่องวิรัติมานี้ค่อนข้างจะนอกเรื่องไป เพราะถึงจะไม่รู้เรื่องวิรัติแต่รู้เรื่องศีลดี ก็สามารถรักษาศีลได้และได้รับอานิสงส์แน่นอนอยู่แล้ว ที่นำเสนอนี้ก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพระพุทธศาสนาในแง่มุมหรือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะเรื่องศีลกับเรื่องวิรัติ เพราะเกี่ยวพันกันอยู่โดยหากว่าไม่ได้รับศีลไม่ได้สมาทานศีลอะไร แต่ก็งดเว้นจากการทำบาปทุจริตอยู่เป็นนิจ แม้ว่าจะไม่ได้รับศีล ก็ชื่อว่ามีวิรัติรักษาวิรัติ ซึ่งก็เท่ากับว่ารักษาศีลเหมือนกัน เพราะเมื่องดเว้นจากบาปทุจริต ประกอบกิจและดำรงชีวิตไปตามปกติ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใด ก็ชื่อว่ารักษาปกติคือรักษาศีลนั่นเอง