ศีลข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวรมณี

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2567

2567.07.17%20b.jpg

 

ศีลข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวรมณี

 

      คำว่า ปาณาติปาตา เวรมณี เราแปลกันโดยทั่วไปว่า การเว้นจากการฆ่าสัตว์ ซึ่งก็เข้าใจกันได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อจะกล่าวให้ลึกซึ้งเข้าไปเพื่อเป็นแนวปฏิบัติได้ถูกต้องก็จำเป็นต้องแสดงไว้ ทำให้เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนขึ้นไปด้วย

 

      เวลาเราสมาทานศีล พระท่านจะให้ศีลข้อที่ ๑ ว่า ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทคือเจตนาเป็นเครื่องกําจัดเวร จากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกไป อันนี้เป็นการแปลโดยภาพรวม


      คำว่า  ปาณ  ในพระบาลีนี้คือ ผู้มีปราณ หมายถึง ผู้มีลมหายใจ ซึ่งได้แก่มนุษย์และสัตว์ เพราะมีลมหายใจเหมือนกัน สิ่งใดไม่มีปราณไม่มีลมหายใจเป็นอันไม่เข้าเกณฑ์นี้ ดังนั้นโบราณจึงแปลคำว่า ปาณาติบาต ว่า ฆ่าสัตว์ ซึ่งต้องเข้าใจว่ารวมถึงฆ่ามนุษย์ด้วย มิใช่มุ่งเฉพาะฆ่าสัตว์ดิรัจฉานเท่านั้น


      คำว่า เวรมณี แสดงว่าสิกขาบทนี้เป็น เจตนาคือความตั้งใจอันเป็นเครื่องกำจัดเวร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การฆ่าสัตว์หรือการทำผิดศีลข้ออื่นๆ นั้นเป็นเวร เป็นการก่อเวร คือสร้างเวรสร้างกรรมให้แก่ตนเอง ทำให้ตัวผู้ก่อนั้นได้รับผลจากเวรที่ตนก่อแน่นอน เท่ากับบอกให้เรารู้ว่าการฆ่าเป็นต้นนั้นมิใช่เพียงกระทำเฉยๆ ทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่ก่อแล้วยังเป็นเวรติดตัว ยังส่งผลแห่งการกระทำนั้นแก่ผู้ทำตลอดไป


       ดังนั้น  ศีลแต่ละข้อจึงจัดเป็น สิกขาบท คือเป็นข้อที่ต้องศึกษา ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันเวรที่จะเกิดมีแก่ตน


      ในศีล  ๕  นั้น ปาณาติบาตจัดเป็นสิกขาบทข้อที่ ๑ เป็นข้อต้องศึกษาต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นเบื้องต้น คือ รับต้องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต ซึ่งประสงค์ทั้งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์นั้นไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เพศใด ที่สุดแม้ยังอยู่ในครรภ์ ก็ห้ามฆ่าทั้งสิ้น สำหสัตว์ดิรัจฉานก็รวมถึงสัตว์มีชีวิตทุกประเภทไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ หรือนก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดก็ห้ามฆ่าทั้งหมด นี่เป็นความหมายของคําว่าสัตว์มีชีวิต

 

     การฆ่านั้น  มิได้มุ่งเพียงทำให้ตายคือทำให้ลมปราณหรือชีวิตตกล่วงไปยังหมายรวมไปถึงกิริยาอย่างอื่นที่ทำให้สัตว์เดือดร้อนด้วย


        ในตำราว่าด้วยเรื่องการฆ่า ท่านแสดงข้อห้ามไว้  ๓  ประการ คือ การฆ่า ๑ การทําร้ายร่างกาย ๑ การทำทรกรรม ๑ ทั้ง ๓ ประการนี้พึงทำความเข้าใจเพื่อป้องกันตัวเองมิให้ไปทำเข้า


ว่าด้วยเรื่องการฆ่า


         การฆ่า  นั้นรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าหมายถึงการทำให้เสียชีวิต จะไม่อธิบายเพิ่มเติมอีก แต่การฆ่านั้นเมื่อว่าโดยโทษ ว่าโดยเจตนา ว่าโดยประโยคมีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่งน่ารู้ไว้ประดับสติปัญญาบ้าง คือ


        ว่าโดยโทษ ฆ่ามนุษย์มีโทษหนักกว่าฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน  เช่น ถ้าเป็นภิกษุหากไปฆ่ามนุษย์ ย่อมมีโทษถึงขาดจากความเป็นภิกษุ พ้นสภาวะความเป็นพระพ้นสภาวะแล้วย่อมถูกลงโทษในทางโลกอีก ถ้าเป็นคฤหัสถ์ หากไปฆ่ามนุษย์ก็มีโทษหนัก อาจถึงถูกประหารชีวิตหรือถูกจำคุกตลอดชีวิต แต่หากเป็นการฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน โทษก็เบากว่านั้นมาก ไม่ถึงกับติดคุก แต่เป็นเวรเป็นกรรมติดตัวไป


        ว่าโดยเจตนา การฆ่านั้นเกิดจากเจตนา ๒ ประการ คือจงใจกับไม่จงใจ


        ฆ่าโดยจงใจ   คือมีเจตนาจะฆ่ามาแต่แรก  และพยายามฆ่าจนได้  หรือฆ่าเพราะถูกความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้างมาปิดบังใจ เช่น เข้าปล้นทรัพย์แล้วฆ่าเจ้าของทรัพย์บ้าง เกิดโทสะเกิดพยาบาทฆ่าคนที่เป็นศัตรูกันบ้างแม้จะไม่จงใจโดยตรง แต่ก็นับว่าเกิดจากความจงใจ ด้วยเกิดแรงจูงใจให้ทำเช่นนั้น หรือฆ่าโดยใช้เครื่องมือหรืออุบายวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้ตายไปอย่างนี้ก็จัดว่าฆ่าโดยจงใจ

2567%2007%2017%20b%20.jpg

       ฆ่าโดยไม่จงใจ  คือไม่ได้คิดฆ่าไว้ล่วงหน้า แต่บังเอิญเป็น ทำให้เกิดการฆ่าขึ้น เช่น ทะเลาะวิวาทกัน เกิดบันดาลโทสะคว้ามีดคว้าไม้ไล่ฟันไล่ตีจนเขาตายหรือประสงค์จะป้องกันตัวในกรณีต่อสู้กับผู้เข้ามาทำร้ายตัวแต่ทำรุนแรงจนเขาตายไป หรือฆ่าโดยไม่ได้แกล้งไม่ได้เจตนา เช่น ขับรถชนคนตาย ต้องการตีเพื่อให้หลาบจำแต่คนถูกตีตายไป อย่างนี้จัดว่าฆ่าโดยไม่จงใจทั้งสิ้น


         การฆ่าที่เกิดจากความจงใจนั้นย่อมมีโทษหนักกว่าฆ่าโดยไม่จงใจ   แม้ในทางพระ หากภิกษุฆ่าคนตายโดยจงใจ มีโทษหนักถึงขาดจากความเป็นพระแต่ถ้าไม่จงใจ เช่น กำลังก่อสร้างอยู่บนที่สูง ทำของหล่นลงมาถูกคนข้างล่างเสียชีวิต ถือว่าไม่มีเจตนา ก็มีโทษไม่ถึงขาดจากความเป็นพระ แม้ในทางโลกก็ปรับโทษไม่เท่ากันแม้ว่าจะเป็นการฆ่าเหมือนกัน คือดูที่เจตนาว่าจงใจหรือไม่จงใจเป็นสำคัญ

 

          ว่าโดยประโยค คือ ความพยายามฆ่า แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ ฆ่าเอง ๑ ให้คนอื่นฆ่า ๑ การฆ่าอย่างนี้ จะทำเองหรือใช้ให้คนอื่นทำ จะใช้เครื่องมืออะไรหรือใช้อุบายอย่างไร มีโทษผิดทั้งสิ้น ทั้งผู้ทำ ทั้งผู้ใช้ ทั้งผู้รับใช้ เพราะการฆ่าสำเร็จด้วยความจงใจ มีโทษหนักทั้งทางโลกและทางธรรม


        เรื่องการฆ่านี้ยังมีรายละเอียดอีกมาก  เช่น ฆ่ามนุษย์ หากเป็นมนุษย์ที่มีคุณมาก เช่น ฆ่าบิดามารดา ฆ่าครูอาจารย์ ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าพระพุทธเจ้าฆ่าพระเจ้าแผ่นดิน เช่นนี้ย่อมมีโทษหนักกว่าฆ่ามนุษย์ธรรมดา แม้ในทางโลกก็ถือคติเช่นนี้เหมือนกัน หรือฆ่ามนุษย์ด้วยเจตนาที่รุนแรง เช่น มีความพยาบาทอย่างร้ายแรง ต้องการล้างผลาญให้ถึงความพินาศย่อยยับไป อย่างนี้มีโทษหนักหรือฆ่าด้วยความพยายามสูง ทำให้ลำบาก เช่น ทุบตีหรือทรมานให้บอบช้ำกว่าจะตาย การทำให้เกิดทุกขเวทนาแสนสาหัส อย่างนี้มีโทษหนัก


          อนึ่ง  พึงทราบว่าศีลข้อนี้จะห้ามมิให้ฆ่าคนอื่นและสัตว์ดิรัจฉานเท่านั้นก็หาไม่  แม้ฆ่าตัวตายก็ไม่สมควร เป็นอันห้ามเหมือนกัน เพราะการฆ่าตัวตายจะด้วยเหตุใดก็ตาม เท่ากับว่าสิ้นคิดแล้ว ย่อมเป็นที่ดูหมิ่นของคนทั้งปวง วงศ์ญาติก็เกิดความอับอายขายหน้า แม้ดูภายนอกจะไม่เท่าไรแต่ภายในใจนั้นทุกข์ทรมานแน่นอน


         อันที่จริงคนเรานั้นได้ความเป็นมนุษย์มาอย่างนี้ถือว่าประเสริฐที่สุดแล้วได้สิ่งที่ได้ยากที่สุดแล้ว ควรถนอมตัวเอง ดูแลตัวเองให้ดี อย่าให้เสียเปล่า แม้จะคับแค้นอย่างไรก็ค่อยหาทางแก้ไข แก้ด้วยตัวเองไม่ได้ คนอื่นก็อาจช่วยได้เมื่อไปปรึกษาหรือขอร้องให้ช่วย ใช่ว่าจะไร้คนขาดเมตตาธรรมไปทุกแห่งเมื่อไร


        ส่วนการฆ่าสัตว์ดิรัจฉานนั้น  แม้จะมีโทษไม่หนักเท่าฆ่ามนุษย์แต่ก็ไม่ควรทํา  หากละเว้นได้ควรละเว้น ในทางโลก ท่านมิได้ห้ามฆ่าสัตว์ไว้ทั้งหมดห้ามเฉพาะสัตว์บางประเภทที่เป็นสัตว์หวงห้ามหรือสัตว์ที่ต้องรักษาพันธุ์ไว้นอกนั้นมิได้ห้าม ถึงกระนั้น การฆ่าสัตว์ที่มิได้ห้ามก็เป็นกรรม เป็นการสร้างเวรไว้เหมือนกัน แต่จะมีโทษหนักโทษเบาอย่างไรก็อยู่ที่สัตว์ที่ถูกฆ่า เจตนา และประโยคเช่นกัน คือ


        ถ้าฆ่าสัตว์ที่มีเจ้าของ มีโทษมาก  เพราะนอกจากฆ่าสัตว์แล้วยังประทุษร้ายเจ้าของสัตว์ด้วย คือทำให้เขาเสียทรัพย์ เสียของรัก เสียสมบัติไปถ้าฆ่าสัตว์ที่มีคุณมาก คือฆ่าสัตว์ที่ช่วยประกอบอาชีพ สัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะเช่น โค กระบือ ช้าง ม้า เป็นต้น อย่างนี้มีโทษมาก เพราะตัดความสุขหรือความสะดวกสบายของผู้อื่น ถ้าฆ่าสัตว์ใหญ่ก็มีโทษมาก เพราะมีประโยชน์มากช่วยเหลืออุปการะแก่ผู้คนได้มาก


         ว่าโดยเจตนา  ฆ่าสัตว์โดยมิได้มีเจตนาสำคัญอะไร ฆ่าโดยสนุก ฆ่าโดยคะนอง ฆ่าโดยเห็นเป็นของเล่น เป็นต้น ถือว่ามีโทษมาก หรือฆ่าโดยลุอำนาจแก่โทสะ หมายจะเข่นฆ่าสัตว์นั้นหรือทำให้เจ้าของสัตว์นั้นหายนะ อย่างนี้มีโทษมาก หรือฆ่าด้วยโลภเจตนา เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว ต้องการหากินหรือต้องการทรัพย์จากการฆ่านั้น อย่างนี้ก็มีโทษมากเหมือนกัน หากแต่ฆ่าด้วยความจำเป็นไม่จงใจ เช่น เพื่อป้องกันตัว เพื่อบำบัดโรค เพื่อจะลองวิชา เพื่อค้นหาความรู้มาบำรุงรักษามนุษย์และสัตว์ เพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นอาหาร เพื่อปลดเปลื้องความทรมานของสัตว์ การฆ่าเช่นนี้มีโทษไม่มาก เพราะเจตนาไม่รุนแรง ประโยคไม่รุนแรง


         ว่าโดยประโยคคือความพยายาม  หากใช้ความพยายามมาก  ใช้ความรุนแรงสูง   เช่น ทำให้ลำบากก่อนฆ่า วางยาเบื่อ วางยาพิษ เช่นนี้ถือว่ามีโทษมาก

 

           เท่าที่แสดงมานี้เป็นรายละเอียดในเรื่องการฆ่าทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าการฆ่านั้นมีโทษมากหรือมีโทษน้อย มีโทษหนักหรือมีโทษเบา ก็อยู่ที่สัตว์ที่ถูกฆ่าอยู่ที่เจตนา และอยู่ที่ประโยคคือความพยายามในการประกอบการฆ่าเป็นสำคัญ


ว่าด้วยการทำร้ายร่างกาย


          การทำร้ายร่างกาย   ในที่นี้หมายถึงร่างกายมนุษย์เป็นหลัก   การทำร้ายร่างกายนั้นแม้มิได้เป็นการฆ่า แต่มีความรุนแรง สร้างความทุกข์ให้เกิดแก่ผู้ถูกทำร้ายพอๆ กับการฆ่าก็มี จึงนับเข้าเป็นปาณาติบาตโดยอนุโลม หมายความว่าห้ามทําเช่นกัน


             การทําร้ายร่างกายนั้น    เช่น    ทำให้พิการ   ทำให้เสียโฉม    ทำให้เกิดความลำบากในการดารงชีพปกติ


             ทําให้พิการ เช่น ทำให้เสียนัยน์ตา ทำให้เสียแขน ทำให้เสียขา จนเป็นเหตุให้อวัยวะที่เคยใช้งานได้เป็นปกติเสียไปใช้งานต่อไปไม่ได้หรือใช้ไม่สะดวก


           ทำให้เสียโฉม  คือทำให้อวัยวะเสียรูปเสียความงามไป  ไม่ถึงกับพิการแต่ก็ใช้การไม่สะดวกหรือทำให้เจ้าของเกิดความละอาย เกิดความกลัว เช่น ใช้นํ้ากรดราดใบหน้า กรีดหน้าให้มีรอยแผล เป็นต้น


           ทำให้เกิดความลำบาก   คือทำให้เกิดความไม่สบายในการทำกิจต่างๆด้วยเข้าไปขัดขวางบ้าง ทำให้วุ่นวายสับสนบ้าง ทำให้ไม่มีสมาธิบ้าง


            การกระทำทั้งปวงเหล่านี้เป็นการทำร้ายร่างกาย   ถือว่ามีโทษ   เพราะทำให้เขาเดือดร้อน อยู่ไม่เป็นสุข เสียประโยชน์โดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง เข้าหมู่เข้าสังคมไม่ได้บ้าง การทำร้ายร่างกายจึงเป็นกิจต้องห้าม เมื่อทำเข้าย่อมมีโทษหนักเบาตามสมควรแก่การกระทำ

 

2567%20%2007%2017%20b.jpg

 

ว่าด้วย การทำทรกรรม


          ทรกรรม   คือ   การทําให้ลำบาก   การทรมานสัตว์โดยไร้ความปรานี แบ่งวิธีการทําทรกรรมแบบต่างๆ ได้หลายแบบ คือ


            ใช้การ  หมายถึง  การใช้งานหนัก  แบบไม่มีเวลาพัก  ไม่ให้กิน ไม่ให้นอนไม่ให้พักผ่อนตามกาล ได้แต่ใช้ แต่ไม่ดูแลเอาใจใส่ ปล่อยให้ซูบผอมอดอยากอย่างนี้ถือว่าไม่ถูก ผู้มีปรานี ใช้งานสัตว์อย่างถูกหลัก ให้ทำงานแล้วมีเวลาหยุดพักตามกาล ดูแลเอาใจใส่ เลี้ยงดูให้อิ่มหนำมีกำลัง ให้นอนพักผ่อนเมื่อหยุดงาน ย่อมทำความสำราญให้แก่สัตว์ใช้งาน อย่างนี้มิได้เป็นทรกรรม

            กักขัง   หมายถึง   การกักขังไว้ในกรงหรือในที่จำกัดหรือผูกไว้โดยไม่ดูแลเอาใจใส่ ปล่อยให้อดอยากอิดโรย หรือกักขังไว้ในที่คับแคบจนไม่สามารถผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้สะดวก เช่นนี้เข้าข่ายว่ากักขัง เพราะทรมานสัตว์ แต่ถ้าดูแลเอาใจใส่อย่างดี มิให้เกิดความเดือดร้อนทุรนทุราย อดอยากหิวโซอย่างไรมิได้ถือว่ากักขัง


         นำไป  หมายถึง  การทรมานสัตว์ในขณะนำไปยังที่อื่น  โดยหิ้วเอาหัวลงดินเอาเท้าขึ้นชี้ฟ้า ทำให้สัตว์ทรมาน หรือนำสัตว์ใส่กล่องใส่เข่งบรรทุกทับซ้อนไปบนรถ ปกปิดมิดชิด อากาศผ่านไม่สะดวก อย่างนี้ก็เข้าข่ายทรกรรมสัตว์เช่นกัน


             เล่นสนุก หมายถึง การใช้วัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งไปผูกติดไว้กับสัตว์ เช่น ผูกกระป๋องหลายใบไว้กับขาสุนัข แล้วให้สุนัขวิ่งไป กระป๋องก็จะส่งเสียงดังเห็นเป็นเรื่องสนุกสนานชอบใจ หรือจับแมลงปอมาเด็ดหางเล็กน้อยแล้วสอดเส้นหญ้ายาวๆ ต่อเข้าไปที่หางแล้วปล่อยไป ทำให้แมลงปอมีหางยาว เป็นที่ชอบใจ เล่นอย่างนี้เรียกว่าเล่นสนุก ส่วนใหญ่เป็นพวกเด็กๆ ที่ไม่ได้คิดหรือไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการทรกรรม ไม่ควรทำ

 

              ผจญสัตว์  คือ การเล่นที่ทำเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อผลประโยชน์เช่น ชนไก่ ชนวัว กัดปลา เป็นต้น อย่างนี้ผู้ทำผู้ชมย่อมได้ความเพลิดเพลินแต่สัตว์ได้รับความทรมาน ได้รับความทุกข์ แต่พูดไม่ได้ ต้องทำตามที่มนุษย์ให้ทำจึงจัดเป็นทรกรรมเหมือนกัน


           การทรกรรมต่อสัตว์ที่มนุษย์ซึ่งถือว่าเจริญแล้วชอบกระทำยังมีอีกมากอย่าง ที่กล่าวมาพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น


             การทรกรรมที่ทำต่อมนุษย์ด้วยกันก็มี  เช่น  การประหารชีวิตด้วยการทรมาน  ด้วยการเฆี่ยนตีจนตาย ด้วยการให้อดอาหารจนตาย ด้วยการตัดอวัยวะให้ขาดไปทีละส่วนจนทนเจ็บปวดไม่ไหวสิ้นใจตาย เหล่านี้ล้วนเป็นการฆ่าด้วยการทําทรกรรมทั้งสิ้น


          การฆ่าก็ดี  การทําร้ายร่างกายก็ดี  การทรกรรมก็ดี   ตามที่แสดงมานี้จัดเป็นเรื่องปาณาติบาตทั้งสิ้น มีโทษหนักเบาตามอาการ แต่เป็นสิ่งก่อเวรภัยทั้งสิ้น ซึ่งเวรภัยนี้ผู้ทำย่อมได้รับผลแห่งการกระทำของตนตามอาการแน่นอนเพราะฉะนั้นท่านจึงถือว่าปาณาติบาตเหล่านี้เป็นบาปอกุศล ไม่ควรทำ ควรงดเว้นเสียด้วยประการทั้งปวง

 

เอาใจเขามาใส่ใจเรา

 

          ในโลกนี้  ทั้งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานต่างก็มีหัวอกเดียวกันคือรักสุขเกลียดทุกข์  ไม่ต้องการให้ใครมาทำให้ตัวเองเดือดร้อนล้มตาย มนุษย์และสัตว์จึงพยายามหนีเมื่อมีผู้อื่นสัตว์อื่นจะมาทำร้าย จนกลายเป็นสัญชาตญาณปกติไป


            อีกประการหนึ่ง  เรารักชีวิต  คนอื่นสัตว์อื่นก็รักชีวิตเช่นเรา เราไม่อยากตาย คนอื่นสัตว์อื่นก็ไม่อยากตายเช่นเรา เราอยากอยู่สบาย ไม่อยากอยู่ร้อนนอนทุกข์ คนอื่นสัตว์อื่นก็เป็นเช่นเรา เราลองนึกดูว่า ถ้ามีใครจะมาฆ่าเรามาทำร้ายร่างกายเราให้พิการหรือเสียโฉม หรือมาทำทรกรรมเรา ทำให้เราได้รับทุกข์ทรมาน ได้รับความลำบากต่างๆ เราชอบไหม เรารู้สึกอย่างไร หรือต้องทำอย่างไร ในข้อนี้เราก็ต้องตอบว่าไม่ชอบ รู้สึกไม่ดีไม่พอใจถ้าใครจะมาทำกับเราและเราก็ต้องป้องกันตัวเต็มที่ ป้องกันไม่ได้ก็ต้องดิ้นรนหนีเพื่อเอาตัวรอดเช่นเดียวกัน หากเราคิดจะไปฆ่าคนอื่นสัตว์อื่น คิดทำร้ายร่างกายเขา คิดทำให้เขาเดือดร้อน พิการ เสียโฉม หรือได้รับทุกข์ทรมาน เขาก็คงไม่ชอบ มีความรู้สึกไม่ต้องการ และคิดหาทางป้องกันเช่นเดียวกัน

 

            อกเราอกเขาเหมือนกัน  ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา  หรือเอาใจเราไปใส่ใจเขาดู จะได้รู้สึกเหมือนกัน จะได้ไม่กล้าไปฆ่าใคร ไปทำร้ายใคร หรือไปทรกรรมใคร

2567%20%2007%20%2017%20b.jpg

            ถ้าเราไม่คิดถึงเรื่องนี้ ไม่คิดถึงอกเขาอกเรา คิดแต่สนุก คิดแต่จะได้คิดแต่จะให้ตัวเองอยู่รอด หรือคิดแต่ตัวเองจะได้อยู่สุขสบายฝ่ายเดียว เราก็จะเตลิด ควบคุมตัวเองไม่อยู่ ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ถึงความทุกข์ทรมานของคนอื่นสัตว์อื่นไปทำบาปทำกรรม สร้างเวรภัยให้แก่ตัวเองต่างๆ นานา ทำผิดศีลผิดธรรมร่ำไปด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เชื่อ ด้วยความไม่ใส่ใจเรื่องดีชั่ว หรือด้วยเหตุผลอื่นอีกมาก ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าสลดใจน่าเสียดายไม่น้อยเลยทีเดียว


เมื่อจำต้องฆ่า ก็จำต้องเข้าใจ


          เรื่องศีลข้อปาณาติบาตกับการฆ่าสัตว์นับเป็นปัญหาที่โต้แย้งกันมากเพราะผู้คนทั่วไปมีความรู้สึกว่าปฏิบัติตามข้อศีลได้ยาก เนื่องด้วยวิถีชีวิตประจำวันต้องอาศัยเนื้อสัตว์ ต้องบริโภคเนื้อสัตว์เป็นหลัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฆ่าสัตว์เพื่อการดำรงชีพ


          มีคนไม่น้อยที่มีอาชีพในการจับปลาขาย ในการค้าขายปลา เช่น ชาวประมง พ่อค้าสัตว์ทะเล บุคคลเหล่านี้มีความรู้สึกไม่สบายใจกันไม่น้อย ไม่อยากฆ่าสัตว์ แต่จำต้องทำเพราะเป็นอาชีพ ดำรงชีพกันมาด้วยการจับปลาและสัตว์ทะเล บ้านอยู่ติดทะเล จะไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้จะไปทำอะไรกินด้วยไม่เคยทำ ไม่เคยมีประสบการณ์นอกเหนือจากการประมง จำต้องทำ จำต้องฆ่าทำกันมาแต่ปู่ย่าตายาย


              น่าเห็นใจไม่น้อยสําหรับคนประเภทจำต้องทำอย่างนี้


          อันที่จริง   การฆ่าที่ถือว่าเป็นปาณาติบาตและมีโทษจากการฆ่าเต็มรูปนั้น   จำต้องรู้และทำความเข้าใจบ้าง เพื่อทำให้เกิดความสบายใจ ไม่วิตกกังวลอะไรมาก

 

       ในศีลข้อที่ ๑ นี้ ที่จะเป็นปาณาติบาตและมีโทษถึงขึ้นศีลขาดนั้นมีองค์ประกอบหลักอยู่ ๕ ประการ คือ


                 ๑. สัตว์ที่ฆ่าเป็นสัตว์มีปราณ คือมีลมหายใจ
                 ๒. ผู้ฆ่าก็รู้ว่าสัตว์นั้นมีปราณ                                                                                               ๓. มีความตั้งใจจะฆ่าให้ตาย
                 ๔. พยายามฆ่าสัตว์นั้นแม้ด้วยเหตุเพียงเอื้อมไปฆ่าเท่านั้น
                 ๕. สัตว์นั้นสิ้นลมหายใจไปด้วยความพยายามนั้น


      องค์ศีล  ๕  ประการนี้เมื่อมีครบจึงเป็นปาณาติบาตและมีโทษฐานทำปาณาติบาต นั่นหมายความว่าเมื่อมีไม่ครบองค์ แม้เป็นปาณาติบาตก็เพราะสัตว์ตายไป แต่โทษจากปาณาติบาตก็ย่อมลดน้อยลง เช่น ฆ่าสัตว์ตายโดยไม่ตั้งใจจะฆ่า ไม่มีเจตนาจะฆ่า ไม่มีความพยายาม เช่น ขับรถชนคนตาย หรือทำงานอยู่ในที่สูงทำของหล่นลงมาทับคนตาย อย่างนี้เป็นอันไม่ครบองค์ แม้จะทำให้ตายก็ตาม แต่ก็ทำด้วยความประมาท โทษก็เบา แม้ในทางโลกก็มีกฎหมายรับรองเรื่องเหล่านี้ไว้สำหรับตัดสิน โดยให้มีโทษเบาลงมา ทำเพราะความประมาท


      แม้ในทางธรรมก็เหมือนกัน ท่านก็กำหนดองค์ศีลเข้าไว้ ประการแรกเพื่อเป็นเครื่องตัดสินว่าเมื่อล่วงละเมิดทำผิดไปศีลจะขาดหรือไม่ เป็นการขจัดความแคลงใจสงสัยของผู้รักษาศีลได้เป็นอย่างดี เพราะว่าบางครั้งเผลอไผลไปทำอะไรเข้า ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าศีลของตนขาดหรือไม่ เมื่อไม่รู้และลังเลอยู่ก็ทำให้ไม่สบายใจ เมื่อรู้องค์ศีลแล้วนำมาเทียบเคียงดู ก็ทำให้รู้ได้ว่าศีลของตนขาดหรือไม่ หรือด่างไปพร้อยไปอะไรทำนองนี้ อีกประการหนึ่งก็เพื่อจะได้รู้ว่าผลของการทำปาณาติบาตมีโทษแค่ไหนอย่างไร ผู้ที่กำหนดองค์ศีลไว้มิใช่เป็นผู้ตัดสินการกระทำ การกระทำเป็นเรื่องของกรรม กรรมเป็นเครื่องตัดสินว่ามีโทษหนักเบาตามการกระทำของผู้นั้น การกำหนดองค์ศีลเข้าไว้ก็เพื่อให้รู้และให้เข้าใจตามข้อเท็จจริง


     เมื่อเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าชาวประมง พ่อค้า และผู้เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์ย่อมรู้ตัวเองดีว่าตนทำปาณาติบาตเต็มรูปหรือไม่ หรือขาดองค์ศีลข้อไหน อันจะเป็นเหตุให้ผลของการกระทำลดหย่อนลงบ้าง


          อีกประการหนึ่ง จึงคำนึงถึงข้อเท็จจริงในเรื่องการฆ่าด้วยว่า ฆ่าโดยจงใจหรือไม่จงใจ ได้ทำร้ายร่างกายหรือไม่ ได้ทำทรกรรมให้เกิดทุกข์ทรมานหรือไม่ ถ้าฆ่าโดยจงใจเป็นต้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงโทษปกติได้ หากฆ่าโดยไม่จงใจไม่ได้ทำเอง ไม่ได้ทำร้าย ไม่ได้ทำทรกรรม เป็นไปโดยปกติ อันนี้ถือว่าไม่ครบองค์เมื่อไม่ครบองค์ ปาณาติบาตก็ไม่เต็มรูป ผลก็ผ่อนลงมา หรือบางกรณีกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่มีโทษอะไรมาก


          บางท่านอาจสงสัยว่า    ผู้ทำปาณาติบาตหรือผู้มีอาชีพเกี่ยวกับปาณาติบาตจำนวนไม่น้อยที่สุขสบาย มีฐานะร่ำรวย มีหลักมีฐาน มีผู้คนเคารพนับถือ อย่างนี้ถือว่าปาณาติบาตนั้นไม่ให้ผลเสียต่อผู้นั้น แต่กลับให้ผลดีตอบแทน ถ้าเป็นอย่างนี้ การงดเว้นจากปาณาติบาตก็ไม่จำเป็น งดเว้นแล้วยังยากจนกว่าผู้ไม่งดเว้น อะไรทำนองนี้


          ต่อข้อสงสัยนี้   ขอให้ทำความเข้าใจในเรื่องขององค์ประกอบปาณาติบาตให้ดีและให้ลึกซึ้งเถิด ย่อมจะทำให้เข้าใจและหายสงสัยไปได้


      แต่การทำปาณาติบาตที่จะให้ไม่ครบองค์   ๕   นั้นค่อนข้างจะทำได้ยากส่วนใหญ่จะครบองค์ เพราะฉะนั้นผู้มีอาชีพปาณาติบาตส่วนหนึ่งจึงต้องรับโทษจากปาณาติบาต ไม่อาจมีฐานะสุขสบาย ร่ำรวย มีคนเคารพนับถือเหมือนอีกคนหนึ่งที่ทำอย่างเดียวกัน แต่ว่าเขาทำไม่ครบองค์ประกอบ

 

        เมื่อเป็นอย่างนี้ก็อาจมีผู้คิดหลบเลี่ยงทำปาณาติบาตมิให้ครบองค์  ๕   จะได้ไม่ต้องรับผลอย่างเต็มที่ อันนี้ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะการหลบเลี่ยงเช่นนั้นไม่อาจพ้นไปได้ ด้วยว่าการมีเจตนาหลบเลี่ยงก็ยังถือว่ามีเจตนาทำอยู่ เหมือนกับคนที่หลบเลี่ยงขโมยของหรือหลบเลี่ยงทำผิดโดยไม่ให้ใครรู้ใครเห็นถึงแม้ว่าจะไม่ถูกจับหรือมิได้ถูกลงโทษทางคดีความ แต่โทษทางกฎแห่งกรรมไม่อาจหลุดพ้นได้เลย ย่อมต้องรับโทษแห่งความผิดด้วยกฎแห่งกรรมแน่นอน


ปาณาติบาตอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ


           ปาณาติบาตที่จะไม่ครบองค์ ๕ นั้นสำคัญต้องไม่มีเจตนา ไม่มีความตั้งใจทำเป็นพื้นฐาน หากไม่ตั้งใจทำ เมื่อเกิดปาณาติบาตขึ้นก็ไม่ครบองค์ ๕ โทษก็เบาบางลง เช่น ขับรถชนคนตายโดยประมาท เป็นต้น


            เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องทำความเข้าใจให้ดี เมื่อเข้าใจและทําใจได้ แม้จะมีส่วนในปาณาติบาตก็ไม่ถือว่าทำปาณาติบาต


             ขอให้ดูตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระธรรมบท


           สมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์   นายพรานคนหนึ่งชื่อว่ากุกกุฏมิตร   มีอาชีพล่าสัตว์ ครั้นล่าสัตว์ได้แล้วก็บรรทุกเกวียนไปขายในเมืองทำอย่างนี้เป็นอาชีพเลี้ยงตัว


          วันหนึ่งธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งอยู่บนปราสาทเจ็ดชั้นซึ่งบิดาสร้างเก็บตัวนางไว้  เห็นนายพรานนั้นเข้าก็เกิดเสน่หารักใคร่ด้วยบุพเพสันนิวาส จึงให้หญิงรับใช้ไปถามว่าจะกลับตอนไหน เมื่อทราบแล้วก็เก็บทรัพย์สินที่มีอยู่ห่อผ้าแล้วแต่งตัวเหมือนกับหญิงชาวบ้านออกจากบ้านไปรอนายพรานที่ประตูเมืองเมื่อเกวียนนายพรานมาก็เดินตามเกวียนไป นายพรานทักถามก็ตอบเป็นเชิงให้รู้ว่าตนตามเขามา    นายพรานจึงพานางขึ้นเกวียนกลับที่อยู่และอยู่กินกันเป็นสามีภรรยาตามปกติ จนกระทั่งมีบุตร ๗ คน เมื่อบุตรโตแล้วก็จัดการแต่งงานให้ทั้งบุตรและสะใภ้ได้อยู่รวมกันทั้งหมดเป็นครอบครัวใหญ่


           นางอยู่กับสามี   ทำอาหารให้สามีและบุตร  จัดอุปกรณ์ล่าสัตว์ทั้งมีดหอก  และข่ายตามที่สามีสั่ง สามีและบุตรก็ไปล่าสัตว์และนำไปขายเลี้ยงชีพจนอายุมากขึ้น


          วันหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงเห็นว่านายพรานกุกกุฏมิตรและบุตรทั้งเจ็ดคน  สมควรได้รับฟังธรรมจึงเสด็จไปป่า วันนั้นนายพรานดักข่ายไว้แต่ไม่มีเนื้อติดข่ายเหมือนทุกวัน จึงคิดว่าคงมีผู้ปล่อยสัตว์ไป เดินตามหาก็ไปพบพระพุทธเจ้า เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าคงปล่อยเนื้อไปจึงโกรธ คว้าธนูออกมาแล้วโก่งขึ้นเพื่อยิงพระพุทธเจ้า แต่ด้วยพุทธานุภาพทำให้นายพรานไม่อาจปล่อยลูกธนูได้ทั้งจะลดธนูลงก็ไม่ได้ ทำให้เหงื่อไหลท่วมตัว ฝ่ายลูกชายทั้งเจ็ดตามมาทีหลังเห็นบิดายืนท่าอย่างนั้นก็คิดว่าบิดาจะยิงศัตรู จึงดึงธนูออกมาง้างจะยิง แต่ก็ยิงไม่ได้ ลดไม่ได้เหมือนบิดา ทำให้ทุกคนทรมานอย่างยิ่ง


       ฝ่ายภรรยาและสะใภ้เห็นสามีล่าช้าผิดปกติจึงตามไปดูในป่า  เห็นทุกคนอยู่ในท่าเงื้อธนูจะยิ่งพระพุทธองค์ นางตกใจร้องลั่นว่าอย่าทำร้ายพ่อของฉันๆนายพรานตกใจคิดว่าคนผู้นี้เป็นพ่อตาของตน บุตรทั้งเจ็ดคนก็คิดว่าผู้นี้เป็นปู่ของตน ต่างก็ทำอะไรไม่ได้ แต่จิตโกรธได้ลดหมดลงไป กลายเป็นเมตตาจิตขึ้นมาแทน เมื่อมีเมตตาจิตแล้วก็สามารถลดธนูลงได้ ทุกคนก้มลงกราบพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพีกถาซึ่งเป็นเทศนาสำคัญให้ฟัง นายพรานพร้อมทั้งลูกชายและลูกสะใภ้ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคลกันทั้งหมด จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับ

 

           เมื่อเสด็จกลับถึงวัด  พระอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากแต่มิได้ตามเสด็จด้วยก็ทูลถามว่าเสด็จไปไหนมา พระพุทธองค์ทรงเล่าให้ฟัง พระอานนท์ก็ทูลถามว่าทรงทำให้นายพรานเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ทำปาณาติบาตอีกแล้วหรือ ทรงรับว่าได้ทำแล้ว ฝ่ายภิกษุทั้งหลายทราบเรื่องจึงไปทูลถามว่านายพรานมีภรรยาคนหนึ่งซึ่งเป็นคนเมืองมิใช่หรือ พระพุทธองค์ตรัสว่า


           “ใช่แล้ว  นางเป็นคนในเมืองนี้  สมัยเป็นสาวอยู่ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว  ก็ไปอยู่กับนายพรานในป่า”


            ภิกษุทั้งหลายจึงโจษจันต่อๆ  กันไปว่า  ได้ยินว่าภรรยานายพรานเป็นโสดาบัน  ไปอยู่กับนายพรานจนมีลูก ๗ คน ถูกนายพรานสั่งให้ทำนั่นทำนี่ให้หุงหาอาหาร ให้จัดอุปกรณ์สำหรับล่าสัตว์ นายพรานพร้อมลูกก็นำอุปกรณ์ที่นางจัดให้ไปทำปาณาติบาต ผู้เป็นโสดาบันแล้วยังทำปาณาติบาตอีกหรือไร

 

           พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสว่า    โสดาบันบุคคลย่อมไม่ทำปาณาติบาตแต่นางทําเช่นนี้ด้วยคิดว่าทำตามคำสั่งสามี แต่นางมิได้มีความคิดว่าสามีจงนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปทำปาณาติบาต เมื่อฝ่ามือไม่มีแผล คนที่กำยาพิษอยู่ ยาพิษก็ไม่อาจแทรกซึมฝ่ามือเข้าไปได้ เช่นเดียวกัน เมื่อบุคคลไม่ได้ทำบาปเพราะไม่มีอกุศลเจตนา แม้จะนำธนูเป็นต้นมาให้เขา บาปก็ไม่มี จากนั้นได้ตรัสข้อความสำคัญไว้ว่า
2567%2007%2017b.jpg
          เรื่องและพระบาลีที่ยกมาแสดงไว้นี้ย่อมเป็นหลักฐาน เป็นข้อสังเกตเป็นข้อตัดสิน และเป็นอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้เรารู้ เข้าใจ และพินิจพิเคราะห์เรื่องปาณาติบาตได้ในระดับหนึ่ง


        ซึ่งประเด็นอยู่ที่ว่า      แม้โสดาบันบุคคลจะยังคลุกคลีอยู่กับปาณาติบาตแต่ไม่เป็นบาปกรรม เพราะไม่ได้ทำ เพราะมิได้สั่งการให้ทำ เพราะไม่มีอกุศลเจตนา เป็นแต่ได้ทำหน้าที่ตามปกติในฐานะภรรยาเท่านั้น จิตใจมิได้โน้มเอียงไปในปาณาติบาตด้วยเลย กิริยาเช่นนี้ถือว่าทําได้ยากสําหรับคนทั่วไป ถ้าใครทำได้ก็ย่อมเอาตัวรอดได้ และย่อมอยู่เป็นปกติสุข มีกินมีใช้สะดวกสบายได้


           ยังมีบุคคลอีกหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับปาณาติบาตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  เช่น บุคคลผู้ทำอาวุธทำอุปกรณ์สำหรับล่าสัตว์ขายเป็นอาชีพ ผู้สร้างเรือประมงขาย ผู้ทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ลอบ ลัน กระจู้ ตะแกรง และผู้มีอาชีพขายอาวุธ อุปกรณ์ และเครื่องมือเช่นนั้น บุคคลเหล่านี้ย่อมมีความรู้สึกตะขิดตะขวงใจไม่น้อยว่าตนทำอาชีพเช่นนี้ และอาจสงสัยว่าตนเป็นบาปไหมจะได้รับผลไหม ในตอนแรกอาจเป็นเช่นนั้น ต่อมานานเข้า วันเวลาล่วงไปความคิดความสงสัยก็รางเลือนไป เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป หรือไม่ก็เห็นว่าคงไม่ผิดไม่เสียหายอะไร เพราะตนทำอย่างนี้มานานแล้วก็ไม่เห็นได้รับผลเสียอะไรมีแต่ทำให้อยู่สุขสบาย มีฐานะ มีหลักฐานมั่นคง จิตใจก็เป็นสุข อะไรทำนองนี้หรืออาจเข้าใจไปว่าตนไม่ได้ทำปาณาติบาตจึงไม่ได้รับผลอะไร

 

2567%20%2007%20%2017%20b%20.jpg
             

          เรื่องทำนองนี้ก็น่าคิดน่าทำความเข้าใจไม่น้อย  แต่เมื่อทำความเข้าใจเรื่องปาณาติบาตทุกแง่มุมแล้วย่อมเข้าใจได้ว่า บุคคลเช่นนี้มิได้ทำปาณาติบาตโดยตรง มิได้เจตนาจะฆ่าโดยตรง เป็นแต่ทำเป็นอาชีพ ไม่ได้ครบองค์ ๕ มิได้พยายามที่จะฆ่า เป็นต้น เมื่อไม่ครบองค์ ๕ โทษก็เบาบางหรือไม่มีเลย ดังเรื่องภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตรที่เล่ามา


            ข้อนี้อาจเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องกับปาณาติบาตโดยอ้อม   โดยเป็นผู้สร้างหรือเป็นผู้ขายอาวุธ ขายเครื่องมือล่าสัตว์ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำ จำต้องมีความเข้าใจและปฏิบัติตนไปตามครรลองที่ควรเป็นได้เป็นอย่างดี ทำให้ชีวิตสุขสบายและมีฐานะมีหลักฐานกว่าผู้ที่ทำปาณาติบาตโดยตรง


              มีตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่อีก


            คือมีชาวประมงที่อาศัยอยู่ริมทะเล  ประกอบอาชีพทางประมงมาแต่บรรพบุรุษ ไม่มีทางไปไหนหรือทำอาชีพอื่นอย่างไรได้ ต้องหาปลามาขายมากินเป็นพื้น บุคคลเหล่านี้บางพวกเล่าว่า พวกตนจำเป็นต้องทำ แต่ก็มีวิธีแก้อยู่คือพวกตนสมาทานศีล ๕ กัน และพยายามรักษาข้ออื่นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เข้าไว้เว้นข้อปาณาติบาตที่ต้องล่วงละเมิด นอกจากนั้นก็ทำบุญทำกุศลที่วัดเป็นประจำ ทำบุญแล้วก็อุทิศส่วนกุศลไปให้แก่สัตว์ที่พวกตนไปจับมา ทำกันเช่นนี้มาโดยตลอด ก็ทำให้วิถีชีวิตของพวกตนดำรงอยู่ได้ มีกินมีใช้ไม่ได้เดือดร้อนนักสัตว์น้ำก็มีให้จับกันอยู่ไม่ขาดแคลนนัก

2567%2007%2017%20B.jpg
       ฟังเรื่องของบุคคลเหล่านี้แล้วก็น่าเห็นใจ และน่าชมวิธีการของพวกเขาที่ปรับพฤติกรรมไปในทางดีด้วยการรักษาศีลและให้ทานกัน แม้ว่าจะไม่อาจรักษาให้บริสุทธิ์ได้ครบทั้งห้าข้อ เว้นไว้ข้อหนึ่ง ก็ยังนับว่าดีอยู่มากแล้วดีกว่าคนที่อยู่เมืองแต่ไม่มีศีล ไม่รักษาศีล หรือไม่รู้จักศีลเสียด้วยซ้ำไป


           และเคยได้ฟังมา คนที่อยู่ในเมืองมีอาชีพในการฆ่าสัตว์บ้าง  ในการขายสัตว์ตามตลาดบ้าง ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการแข่งขันบ้าง บุคคลเหล่านี้ก็ไม่ค่อยสบายใจนัก แต่ก็หาทางให้ตนเองสบายใจ คือนำเงินที่ได้จากการนี้มาทำบุญมากบ้างน้อยบ้างตามฐานะ แต่ทำบ่อยไม่ว่างเว้น เพราะเห็นว่าตนเองทำบาปหรือมีส่วนทำปาณาติบาตแทบทุกวัน ทำแล้วก็สบายใจหายกังวล

 

               ก็นับว่าเป็นอุบายที่ดี ฉลาดทีเดียว


         เรื่องปาณาติบาตนี้ละเอียดอ่อนนัก   เข้าใจให้ถูกต้องก็ยาก    แต่จำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจเพื่อป้องกันตนเอง เพราะในชีวิตคนเรานั้นเกี่ยวข้องกับสัตว์ต่างๆ มากมาย และโอกาสที่จะละเมิดศีลข้อนี้ไปทำปาณานิบาตเข้าทั้งโดยจงใจหรือไม่จงใจก็มีอยู่มาก เผลอไม่ได้เลยก็มี


วัตถุประสงค์ของศีลข้อที่ ๑


          การกำหนดเรื่องปาณาติบาตนี้ขึ้นมาเป็นกติกาในสังคม   มีวัตถุประสงค์ใหญ่อยู่   ๒ ประการ คือ


             ๑. เพื่อป้องกันมิให้ผู้คนเบียดเบียนกัน ทั้งเบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันและเบียดเบียนสัตว์ดิรัจฉาน เพราะไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉานต่างก็มีชีวิตและรักชีวิตเหมือนกัน ไม่ต้องการให้ใครมาคร่าชีวิตของตนไป เมื่อผู้คนต่างปฏิบัติตามกติกาข้อนี้กันก็จะไม่เบียดเบียนกัน ไม่ว่าจะโดยการฆ่า การทำร้ายร่างกาย หรือการทำทรกรรม ทั้งคนและสัตว์ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขไม่หวาดระแวงกันและกัน


               ๒. เพื่อให้ผู้คนมีเมตตาจิตต่อกัน  คือมีความรักมีความปรารถนาดีต่อกันไม่มีเวรไม่มีภัยต่อมนุษย์ด้วยกันและสัตว์ดิรัจฉานทั่วไป เมตตาจิตนี้ทำให้คนเราอ่อนโยน มีความรู้สึกห่วงหาอาทรกัน คิดถึงอกเขาอกเรา คิดช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ดุร้าย ไม่เหี้ยมโหด ให้อภัย และมีไมตรีจิตต่อคนและสัตว์รอบข้าง

 

        วัตถุประสงค์ ๒ ประการนี้ถือว่าเป็นหลัก และต้องเป็นไปร่วมกันจึงจะสำเร็จประโยชน์ หากคิดไม่เบียดเบียนกันแต่ขาดเมตตาจิต ก็จะต่างคนต่างอยู่ไม่มีไมตรีต่อกัน ไม่ช่วยเหลือกัน โลกก็จะเงียบเหงา มีคนอยู่ก็เหมือนไม่มี หรือคนมีเมตตาจิตแต่ขาดหลักประกันว่าจะไม่เบียดเบียนผู้อื่น เมื่อเมตตาจิตกลับกลายก็จะเบียดเบียนคนอื่นได้ ฆ่าเขาได้ ทำร้ายร่างกายได้ ทำทรกรรมได้ เช่นบิดามารดาบางครั้งก็อาจฆ่าลูกได้ เจ้านายผู้ใจดีบางคราวอาจเผลอสติทำร้ายทุบตีลูกน้องได้ ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น หากมีครบทั้งสองประการแล้วก็เป็นหลักประกันได้ค่อนข้างแน่ว่าความสุขสงบย่อมเกิดขึ้นและคงอยู่ตลอดกาล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038355163733164 Mins