ตัวอย่างการตีความของบูรพาจารย์

วันที่ 22 กค. พ.ศ.2567

ตัวอย่างการตีความของบูรพาจารย์

670722_b97.jpg


                  ดังแสดงมาแล้วว่าการตีความพระพุทธพจน์นั้นเหล่าบุรพาจารย์ ท่านได้ทำสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ด้วยเหตุผลว่าเพื่ออธิบายขยายความพระพุทธพจน์ให้ปรากฏชัดเจน เป็นที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนทั้งหลาย ด้วยว่าพระพุทธพจน์นั้นมีความสุขุมลุ่มลึก ละเอียด ยากที่คนด้อยปัญญาจะพึ่งรู้จึงเห็นได้โดยง่ายบัณฑิตชนเท่านั้นจะพึงทราบชัดด้วยปัญญา ดังนั้นเหล่าท่านบุรพาจารย์ผู้รู้ทั้งหลายจึงอาศัยความอนุเคราะห์หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลายได้รจนาตำราปกรณ์ต่างๆ ที่อธิบายขยายความพระพุทธพจน์ไว้เป็นแบบเป็นหลักให้ศึกษาเรียนรู้กันสืบไปการตีความของท่านบุรพาจารย์ที่จะแสดงต่อไปนี้ ได้ยกมาแสดงพอเป็นตัวอย่างและโดยย่อพอให้เห็นเป็นแบบ ทั้งได้ตัดถ้อยคำที่เป็นพลความบางส่วนออก จับประเด็นเฉพาะเนื้อหาสาระแก่นแท้มานำเสนอไว้ หากต้องการได้ความละเอียดจึงสืบค้นแสวงหาจากแหล่งที่มานั้นๆ เถิด ก็จะเกิดปัญญาแตกฉานในเรื่องการตีความมากยิ่งขึ้นไป

                 อนึ่ง ตัวอย่างการตีความของท่านบูรพจารย์ที่จะแสดงต่อไปนี้เป็นการตีความแบบทั่วไป มิใช่ตัวอย่างตามกฎเกณฑ์วิธีการที่แสดงไว้ในเรื่องเทสนาหาระข้างต้น แต่สามารถนำหลักเกณฑ์การตีความ ๖ ประการแห่งเทสนาหาระเข้าไปเทียบเคียงได้ เพราะถึงอย่างไรการตีความทุกรูปแบบก็จะอยู่ในกรอบแห่งการตีความแบบเทศนาหาระ ๕ ประการไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่างแน่นอน ก็อยู่ที่การใช้ความพินิจและความสามารถของผู้ศึกษาเรียนรู้ตัวอย่างการตีความดังกล่าวมีดังนี้คือ
 

(๑) ตัวอย่าง จากขุททกนิกาย จูฬนิเทศ พระไตรปิฎกพระพุทธพจน์


สํสคฺคชาตสฺส ภวนฺติ เสฺนหา
เสฺนหานฺวยํ ทุกฺขมิทํ ปโหติ
อาทีนวํ เสฺนหชํ เปกฺขมาโน
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป ฯ

 

แปลความว่า
                  ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง ทุกข์นี้เป็นไปตามความรักย่อมปรากฏ บุคคลเมื่อเห็นโทษอันเกิดแต่ความรัก จึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น ๆ

 

ท่านตีความไว้ว่า

               “คำว่า เสน่หา ได้แก่ความรัก ๒ อย่างคือ ความรักด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความรักด้วยอำนาจทิฐิ ๑ ขยายความได้ว่า ความรักด้วยอำนาจตัณหา คือการที่บุคคลยึดถือว่าเป็นของเราด้วยตัณหาเช่นยึดถือว่าสิ่งนี้เป็นของเรา บุคคลนี้เป็นของเรา ยึดถือว่ารูป รส กลิ่นเสียง สัมผัสเป็นของเรา ไปจนถึงยึดถือว่าแผ่นดินใหญ่นี้เป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ส่วนความรักด้วยอำนาจทิฐิ คือสักกายทิฐิ ๒๐มิจฉาทิฐิ ๑๐ อันตคาฬิกทิฐิ ความถืออันวิปริต ความถืออันวิปลาส ความถือผิด ความถือว่าจริงในสิ่งที่ไม่จริง

                 คำว่า ความเกี่ยวข้อง ได้แก่ความเกี่ยวข้อง ๒ ประการคือความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น ๑ ความเกี่ยวข้องเพราะได้ฟัง ๑ ความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น คือเมื่อบุคคลเห็นสตรีหรือกุมารีที่มีรูปร่างสวยงามน่าดูน่าชมแล้วก็พอใจ รำพันถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันอยู่ด้วยความเสน่หา ความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น คือเมื่อบุคคลได้ข่าวว่าที่หมู่บ้านนั้นที่ตำบลโน้นมีสตรีหรือกุมารีที่สวยงามน่าดูน่าชมก็เกิดชอบใจ รำพันถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันอยู่ด้วยความเสน่หาคำว่า ทุกข์ หมายถึงความทุกข์ความเดือดร้อนทางกายและทางใจ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เช่นถูกจองจำ ถูกฆ่า ถูกทำร้าย ไปจนถึงเข้าถึงนรก ซึ่งเกิดเพราะต้นเหตุคือความเสน่หาข้อว่า จึงเที่ยวไปเหมือนนอแรด มีอธิบายว่า ธรรมดาว่าแรดแต่ละตัวมีนอเพียงนอเดียว ไม่มีสองนอ บุคคลผู้เห็นโทษอันเกิดจากเสน่หาจึงพึ่งอยู่คนเดียว สัญจรไปคนเดียว เหมือนกับนอแรดที่มีอันเดียวบนศีรษะของแรด”

 

(๒) ตัวอย่างจากขุททกนิกาย มหานิเทศ พระไตรปิฎกพระพุทธพจน์


ตสฺส เจ กามยมานสฺส      ฉนฺทชาตสฺส ชนฺตุโน

เต กามา ปริหายนฺติ        สลฺลวิทฺโธว รุปฺปติ ฯ

แปลความว่า

     ถ้ากามทั้งหลายของสัตว์ผู้ปรารถนากามอยู่และเกิดความพอใจแล้วนั้นเสื่อมหายไป สัตว์นั้นย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกยิงด้วยลูกศร ฯ

 

ท่านตีความไว้ว่า

                   “คำว่า กาม ได้แก่กาม ๒ อย่างคือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม๑ วัตถุกาม ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าชอบใจ เครื่องลาดเครื่องนุ่งห่ม ชาย หญิง แพะ แกะ ไก่ สุกร ฯลฯ เงิน ทอง บ้าน ที่ดินและวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีอย่างใดอย่างหนึ่ง กิเลสกาม ได้แก่ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความใคร่ ความหมกมุ่นความติดใจอยู่ในกามคำว่า สัตว์ หมายถึงทั้งผู้ที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรคฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือเป็นมนุษย์คำว่า ปรารถนากามอยู่ คือ ใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนามุ่งมาด ชอบใจอยู่ซึ่งกามคำว่า เกิดพอใจแล้ว คือ เกิดความกำหนัด เกิดความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเสน่หา ความเร่าร้อน ความหมกมุ่น ความติดใจในกามคำว่า เสื่อมหายไป คือ กามเหล่านั้นเสื่อมไปบ้าง สัตว์นั้นเสื่อมไปจากกามทั้งหลายบ้างคำว่า ย่อมเดือดร้อน คือ ย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว ดิ้นรนจุกเสียด เจ็บตัว เจ็บใจ คับแค้นใจ”
 

(๓) ตัวอย่างจากคัมภีร์เนตติสารัตถทีปนี (รจนาโดยพระวิสุทธาจารเถระ)พระพุทธพจน์ (จากมงคลสูตร)

 

ปูชา จ ปูชนียานํ ฯ
แปลความว่า การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา ฯ

 

ท่านตีความไว้ว่า


                  “การบูชา มี ๒ อย่างคือ อามิสบูชา และ ธรรมบูชา (หรือปฏิบัติบูชา) ใน ๒ อย่างนั้น อามิสบูชา ได้แก่การบูชาบุคคลผู้มีคุณด้วยวัตถุสิ่งของ ถ้าตามนัยแห่งพระสูตรมี ๑๐ อย่าง คือ ข้าว น้ำที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มดอกไม้ ยานพาหนะ เครื่องลูบไล้ ของหอมเครื่องนอน และประทีปโคมไฟ ส่วนตามนัยแห่งพระอภิธรรมมี่ 5อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ ถ้าตามนัยแห่งพระวินัยมี 4 อย่างคือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยยารักษาโรค ส่วน ธรรมบูชา ได้แก่ การรักษาศีลและการเจริญภาวนาอันมีปุพพภาคปฏิปทาเป็นเบื้องต้น มีมรรคผลเป็นท่ามกลาง และมีพระนิพพานเป็นที่สุด”
ท่านขยายความต่อไปว่า

 

               “สุข โสมนัส อิฏฐารมณ์อันเนื่องด้วยการบูชานั้น ชื่อว่า อัสสาทะ เตภูมิกธรรม (ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) อันเป็นสังสารทุกข์ ชื่อว่าอาทีนวะ มรรคและนิพพานชื่อว่านิสสรณะ อานิสงส์แห่งการบูชา เช่นพ้นจากการติเตียนตนเอง พ้นจากการติเตียนของผู้อื่น พ้นจากทุคติ เป็นต้น ชื่อว่าผละ การบูชาอันเป็นเหตุแห่งการบรรลุผลนั้น ชื่อว่าอุปายะ การแนะนำตักเตือนให้บูชาบุคคลผู้ควรบูชา ชื่อว่าอาณัตติ อาทีนวะและผละ เป็นทุกขสัจ อัสสาทะ เป็นสมุทยสัจ นิสสรณะ เป็นนิโรธสัจ อุปายะและอาณัตติ เป็นมรรคสัจ อีกนัยหนึ่ง โลกิยขันธ์ ๕ ของบุคคลผู้ควรบูชาทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อาจารย์ เป็นต้น จัดเป็นทุกขสัจ ตัณหาที่ยินดีการบูชานั้นซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ จัดเป็นสมุทยสัจ พระนิพพานอันเป็นที่ดับธรรมสองอย่างนั้น จัดเป็นนิโรธสัจ ปฏิปทา อันเป็นเหตุให้ถึงนิโรธนั้น จัดเป็นมรรคสัจถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสคำว่า ปูชา จ ปูชนียานํ ไว้เพื่อประโยชน์อะไรควรวิสัชนาว่า เพื่อให้เหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลายทำการบูชา
บุคคลผู้ควรบูชาแล้วพ้นจากทุกข์ทั้งปวงปทัฏฐานคือต้นเหตุของการบูชา คือโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจพิจารณาด้วยอุบายอันแยบคาย) สัปปุริสปัสสยะ (การเข้าไปคบหาใกล้ชิดบัณฑิต) สัทธัมมัสสวนะ (การได้ฟังธรรมของบัณฑิตนั้น)โดยสืบเนื่องกันไป”

 

(๔) ตัวอย่างจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค (รจนาโดยพระพุทธโฆสาจารย์) บนโลกพระพุทธพจน์
 

                 สีเล ปติฏฺฐาย นโร          สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ

อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ          โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ ฯ

      นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นในศีลแล้วอบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตน ภิกษุนั้นจึงถางชัฎนี้ได้ ฯ
 

ท่านตีความโดยย่อไว้ว่า
 

                “คำว่า นรชน หมายถึง สัตวโลกหรือคนที่เกิดมามีชีวิตอยู่คำว่า ผู้มีปัญญา คือ ผู้มีปัญญาโดยปัญญาอันมาพร้อมกับปฏิสนธิอันเป็นไตรเหตุเกิดแต่กรรมมลทิน)ข้อว่า ตั้งมั่นในศีล คือ ทำศีลให้บริบูรณ์ (มีให้ด่างพร้อยมีในข้อว่า อบรมจิตและปัญญาให้เจริญ นี้ คำว่า จิต หมายถึงสมาธิหรือสมถะ คำว่า ปัญญา หมายถึงวิปัสสนาคำว่า มีความเพียร คือ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสคำว่า มีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน คือประกอบด้วยปัญญา ๓ ประการคือ สุชาติปัญญา ปัญญาที่มาพร้อมกับการเกิด ๑ วิปัสสนาปัญญา ปัญญารู้แจ้ง ๑ ปาริหาริกปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องบริหารตน ๑
 

              ข้อว่า ภิกษุนั้นจึงถางชัฏนี้ได้ อธิบายความว่า ภิกษุนั้นคือภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ คือ ด้วยศีล ด้วยสมาธิที่แสดงโดยหัวข้อคือจิต ด้วยปัญญา ๓ ประการ และด้วยความเพียรเครื่องเผากิเลสนี้ ยืนอยู่บนแผ่นดินคือศีลแล้ว ยกศัสตราคือวิปัสสนาปัญญาที่ลับดีแล้วด้วยศิลาคือสมาธิ ด้วยมือคือปาริหาริกปัญญา อันกำลังคือวิริยะสนับสนุนแล้ว จึงถาง คือพึ่งตัด จึงทำลายซึ่งรัฐคือตัณหาอันตกอยู่แล้วในสันดานของตนนั้นทั้งหมดได้เหมือนบุรุษยืนบนแผ่นดินยกศัสตราที่ลับที่แล้วถางกอไผ่อยู่ฉะนั้น ก็ในขณะแห่งมรรค ภิกษุนี้ชื่อว่ากำลังถางชัฏอยู่ ในขณะแห่งผล ชื่อว่าถางชัฏเสร็จแล้ว ย่อมเป็นอัครทักขิไณยบุคคลของโลกกับทั้งเทวโลก”
 

(๕) ตัวอย่างจากคัมภีร์มังคลัตถทีปนี (รจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์)พระพุทธพจน์

     ปฏิรูปเทสวาโส จ       ปุพเพ จ กตปุญฺญตา
อตฺตสมฺมาปณิธิ จ           เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ

 

แปลความว่า
                การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้โดยชอบ ๑ สามประการนี้เป็นมงคลอย่างสูงสุด ๆท่านตีความไว้ว่า“ประเทศอันสมควร ได้แก่สถานที่ที่มีบริษัทสี่เที่ยวไป เป็นที่ที่บุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้นเป็นไป เป็นที่มั่นวังคสัตถุศาสน์รุ่งเรืองการอยู่อาศัยในสถานที่เช่นนั้นจัดเป็นมงคลเพราะเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์ได้ทำบุญกันอนึ่ง สถานที่ตรัสรู้ (ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา) สถานที่ทรงแสดงพระธรรมจักร (สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา) สถานที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์

 

               สถานที่เสด็จลงจากเทวโลก หรือสถานที่อื่นใดซึ่งเป็นที่เสด็จประทับของพระพุทธองค์ เช่นเมืองสาวัตถี เมืองราชคฤห์เป็นต้น ก็ชื่อว่าประเทศอันสมควร การอยู่อาศัยในสถานที่เช่นนั้นก็เป็นมงคลเพราะเป็นเหตุให้ได้อนุตริยะ ๖ ประการ เช่น ได้เห็นพระพุทธเจ้า เป็นต้นผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน ได้แก่ผู้ได้สั่งสมกุศลไว้แล้วคือได้สร้างบุญบารมี(อธิการ) ไว้แล้วในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระขีณาสพในอดีตชาติ ผู้มีบุญเช่นนั้นเป็นผู้มีกุศลมูลหนาแน่นขึ้นแล้ว ได้สดับธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าหรือของพระสาวกแล้วย่อมได้บรรลุพระอรหัตได้ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นแหละผู้มีบุญเช่นนั้นย่อมเป็นผู้มีสิริคือความเป็นใหญ่

 

                โภคะทั้งหลายย่อมหลั่งไหลมาหาผู้มีสิริทั้งทางบกทางน้ำ โภคะเป็นอันมากย่อมล่วงเลยคนอื่นๆ เสียแล้วมาเกิดแก่ผู้ทำบุญไว้แล้ว ในที่ทุกสถานแม้จะมิใช่เป็นที่เกิด ผู้มีนิธิคือบุญย่อมได้สมบัติต่างๆ ทั้งมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติในข้อว่า การตั้งตนไว้โดยชอบ มีอธิบายว่า จิตก็ดี อัตภาพทั้งสิ้นก็ดี ชื่อว่าตน การที่บุคคลทำตนที่ทุศีลให้ดำรงอยู่ในศีลได้ ทำตนที่ไม่มีศรัทธาให้ดำรงอยู่ในศรัทธาได้ ทำตนที่ตระหนี่ให้ดำรงอยู่ในจาคะได้ ชื่อว่าตั้งตนไว้โดยชอบการตั้งตนไว้ชอบเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ละเวรได้ เป็นเหตุให้ได้อานิสงส์มากประการ เช่นสมบัติที่พ่อแม่ไม่อาจให้ได้ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เป็นต้น”


                ตัวอย่างที่แสดงมาทั้งหมดนี้เป็นสำนวนบาลีแท้ จับใจความและประเด็นที่สำคัญๆ มานำเสนอให้เห็นเป็นอุทาหรณ์ ถ้อยคำสำนวนจึงค่อนข้างเป็นสํานวนวัดและสำนวนวิชาการ ฟังค่อนข้างเข้าใจยากทั้งนี้เพราะเป็นสำนวนภาษาโบราณเกินร้อยเป็นพันปีมาแล้ว คนสมัยใหม่ย่อมฟังยากเป็นธรรมดา หากแต่เมื่อต้องการจะนำไปเทศนาเพื่อสั่งสอนผู้คนร่วมสมัยได้รู้และเข้าใจได้ชัดเจนก็จำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงสำนวนเสียใหม่ให้สละสลวย เป็นภาษาร่วมสมัยและเป็นภาษาหนังสือสือหรือภาษาเขียน เว้นภาษาพูดเสีย แต่ต้องคงประเด็นความหรือเนื้อหาสาระแห่งเรื่องไว้ให้สมบูรณ์ ก็จะเพิ่มพูนความไพเราะและความงดงามแห่งถ้อยคำสำนวนที่ใช้ในการเทศนา ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในตัวผู้แสดงธรรมทั้งจิตใจจะดื่มอยู่ในรสแห่งธรรมไม่จืดจางข้อนี้ย่อมมิใช่เป็นเรื่องยากสำหรับนักเทศน์ผู้สนใจใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา เพื่อประโยชน์แก่การเทศนาของตน และเพื่อสร้างบุญกุศลด้วยการสืบสานการตีความของเหล่าบุรพาจารย์ให้มั่นคงดำรงอยู่ตลอดไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03383363087972 Mins