ศีลข้อที่ ๕ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี
คำว่า สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี แปลว่า เจตนาเป็นเครื่องกำจัดเวร จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่ส่วนใหญ่จะเข้าใจกันว่าหมายถึง การเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
เนื่องจากคำในศีลข้อนี้มีหลายคำ จึงก่อนที่จะกล่าวในรายละเอียดของศีลข้อนี้ ขอนำท่านออกนอกทางสักหน่อย ขอกล่าวความหมายเพื่อให้รู้จักก่อนว่าแต่ละคำมีความหมายอย่างไร
คำว่า สุรา พจนานุกรมฯ ให้ความหมายไว้ว่า น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ตามรูปศัพท์เดิมท่านแปลว่าไว้หลายนัย คือ เครื่องดื่มที่ไหลเข้าลำคอไป, เครื่องดื่มที่ทำให้คนที่ติดแล้วต้องดื่มเรื่อยไป, เครื่องดื่มที่ทำให้คนดื่มเป็นคนกล้า
คำว่า เมรัย พจนานุกรมฯ ให้ความหมายไว้ว่า น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่, น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น ตามรูปศัพท์เดิมท่านแปลไว้ว่า ของเป็นเหตุให้มึนเมา, ของที่ยังความมึนเมาให้เกิด
คำว่า มัชชะ พจนานุกรมฯ ให้ความหมายไว้ว่า น้ำเมา, ของเมา ตามรูปศัพท์เดิมท่านแปลไว้ว่า สิ่งที่เป็นเหตุให้คนบ้าคลั่ง
คำว่า ปมาทะ คือ ประมาท พจนานุกรมฯ ให้ความหมายไว้ว่า ความเลินเล่อ, ขาดความระมัดระวัง, ขาดความรอบคอบ ตามรูปศัพท์เดิมท่านแปลไว้ว่า ภาวะเป็นเหตุให้ไม่ทำกิจที่พึ่งทำด้วยตนเองแห่งบุคคลผู้แม้จะมีความสามารถ, ความมัวเมา, ความพลั้งเผลอ
เมื่อนำรูปศัพท์เหล่านี้มาต่อกันเข้าก็เป็น สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน คือ น้ำเมาหรือของมึนเมาอันได้แก่สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
แค่แปลตามรูปศัพท์และตามความหมายที่ท่านให้ไว้ก็พอจะมองเห็นชัดเจนแล้วว่า สิ่งของต้องห้ามอันเข้าข่ายที่จะทำให้เสียศีลข้อ ๕ นี้มีมากมายไม่ว่าจะเป็นน้ำเมา ของเมา ของเสพติด ยาเสพติดที่มาในรูปลักษณ์ต่างๆซึ่งเมื่อเสพหรือดื่มกินเข้าไปแล้วทำให้เสียสติ ทำให้เกิดความมัวเมา เกิดความพลั้งเผลอ เกิดความบ้าคลั่ง ทำให้เกิดความกล้า เกิดความบ้าระห่ำผิดปกติ
สิ่งหรือของทั้งหมดนั้นล้วนเข้าข่ายต้องห้ามตามศีลข้อนี้ทั้งสิ้น
อันที่จริงคำว่า มัชชะ เราแปลกันมาแต่โบราณว่าน้ำเมา แต่อธิบายเพิ่มเติมว่ารวมถึงของมึนเมาด้วย เมื่อหมายถึงของมึนเมาด้วย มัชชะก็รวมความไปถึงของมึนเมาชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นโดยธรรมชาติ เช่น ฝิ่น กัญชา กระท่อม และที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยสารเสพติด เช่น เฮโรอีน ยาบ้า ยาเสพติด ยาอี เป็นต้น เข้าด้วย
สิ่งที่เสพหรือดื่มกินเข้าไปแล้วทำให้ประมาทคือเสียสติ ทำให้มึนเมาทำให้บ้าคลั่ง ทำให้หลงลืมตัว จัดเป็นมัชชะได้ทั้งสิ้น
สุราพาไป เสียหายทุกด้าน
ศีลข้อนี้ท่านยกเอาสุราขึ้นเป็นหลัก ส่วนเมรัยหรือของมึนเมาอย่างอื่นนั้นเป็นรอง เพราะสุราหาง่าย ดื่มง่าย และติดง่าย อย่างอื่นแม้จะมีโทษรุนแรงกว่าสุราก็มี แต่ก็ไม่แพร่หลายเหมือนสุรา และสุรานั้นกฎหมายไม่ได้ห้ามดื่มยกเว้นบางคนบางสถานที่เท่านั้น จึงทำให้สุรากลายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างหนึ่งของสังคม ทั้งที่มีโทษมหันต์เกินพรรณนา
อันดับต้น สุราที่ดื่มเข้าไปทำให้เมา ทำให้เสียสติ แปรสภาพผู้ดื่มให้กลายเป็นคนละคนก็ได้ เช่น เคยเป็นคนใจดีกลายเป็นคนใจร้ายก็ได้เคยเป็นคนมีเมตตากลายเป็นคนโหดร้ายก็ได้ เคยรักลูกรักเมียกลายเป็นคนฆ่าลูกฆ่าเมียก็ได้ ที่สุดแม้พ่อแม่ก็ฆ่าได้ เพราะมึนเมา เพราะเสียสติ หรือกิริยาบางอย่างไม่เคยทําในเวลาปกติ พอเมาแล้วทำได้สบาย ไม่ละอายอะไร เช่น นอนกลางถนนก็ได้ ร้องรำทำเพลงต่อหน้าผู้คนก็ได้ พูดคำหยาบคายหรือด่าว่าคนทั่วไปก็ได้ก็เพราะมึนเมาเพราะเสียสติเหมือนกัน
อย่างบางคนเมื่อเมาแล้วอยู่นิ่งไม่ได้ ชอบพูดยียวนกวนโทสะของผู้อื่นหรือโดดไปท้าตีท้าต่อยกับเขา ถ้าคนอื่นเป็นคนดีมีสติ ไม่อยากมีเรื่องเดินหนีไปเสีย ก็จะไม่มีเรื่องอะไร แต่ถ้าเป็นคนที่เมาได้ที่เหมือนกัน หรือเป็นคนที่ไม่ยอมใคร ก็จะเกิดทะเลาะ เกิดการชกต่อยทําร้ายกันตามมา ถึงอาจล้มตายกันไปก็ได้ อย่างที่เป็นข่าวกันอยู่ประจำ เพราะเมาเสียสติด้วยฤทธิ์สุราแท้ๆทำให้เกิดเรื่องมากมายใหญ่โต
คนเราเมื่อเสียสติด้วยอำนาจสุราก็ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความไตร่ตรอง ขาดการควบคุมอารมณ์ ขาดความอดทนอดกลั้น เมื่อขาดไปแล้วก็ไปทำอะไรได้ตามฤทธิ์สุรา ทำโดยไร้การควบคุม ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำไปว่าทำอะไรลงไป เมื่อสร่างเมา สติกลับคืนมาแล้ว มองเห็นสิ่งที่ตัวเองทำไว้ก็เกิดความร้อนใจ เกิดความทุกข์ หรือได้รับโทษ ถูกจำคุก ถูกปรับ หรือถูกไล่ออกจากงาน ทำให้อนาคตดับวูบหรือได้รับความลำบากโดยใช่ที่
ที่สำคัญ ลูกเมียและพ่อแม่ของคนที่เป็นทาสสุราย่อมเป็นทุกข์ไม่สบายใจ อับอายขายหน้าคนอื่น ไม่กล้าคบหากับผู้คนมากนัก กลัวถูกถามถูกซักไซ้ กลัวถูกดูหมิ่นดูแคลน ทำให้อยู่อย่างลำบาก แต่คนที่ติดสุราหารู้ไม่เพราะมัวแต่ไปดื่มสุรา มึนเมาจนไม่ได้สติที่จะคิดถึงลูกเมียและพ่อแม่ว่าเขาลำบากใจและหดหู่อย่างไร
อีกประการหนึ่ง ศีล ๔ ข้อข้างต้นจะมั่นคงอยู่ได้ ส่วนหนึ่งจำต้องอาศัยการงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยนี้ด้วย เพราะหากมึนเมาเสียสติแล้ว โอกาสที่จะไปทำสิ่งที่เป็นการล่วงละเมิดศีลข้อนั้นๆ ย่อมเป็นไปได้ง่าย หากมีสติแล้วก็จะสามารถควบคุมใจควบคุมอารมณ์ รู้สึกตัว งดเว้นไม่ละเมิดศีลข้ออื่นได้ศีลข้อนี้จึงถือว่าเป็นเครื่องป้องกันมิให้ละเมิดศีลข้ออื่นไปในตัว
สุรากับสุขภาพ
ผู้รู้ทางการแพทย์ทั้งหลายพยายามแนะนำ พยายามบอกเล่า พยายามอธิบาย พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้คน ให้งดดื่มสุรา เพราะสุราเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าไปในทุกส่วนของระบบทางเดินอาหารแล้วกระจายไปสู่เนื้อเยื่อสมอง และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย มีผลทําให้เกิดภาวะเหล่านี้
- สมองเสื่อม
- ตับแข็ง ตับอักเสบ
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคกระเพาะอาหาร
และบอกว่า หญิงมีครรภ์ไม่ควรดื่มสุรา เพราะจะมีผลต่อทารกในครรภ์
นอกจากนั้นยังบอกถึงอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งเมื่อเป็นแล้วย่อมจะมีอาการผิดปกติ เป็นต้นว่า
- ผอม
- ตาเหลือง ตัวเหลือง
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- แน่นท้อง ท้องอืด ตับโต
- ตามัว เห็นภาพไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน
- มือสั่น ขาสั่น เดินทรงตัวไม่ได้
- ความจําเสื่อม หลงลืมง่าย
- ลิ้นรัว พูดไม่ชัด
- เกิดอาการประสาท เช่น ประสาทหลอน นอนไม่หลับ หูแว่ว เห็นภาพหลอน
- อารมณ์แปรปรวน สับสน โกรธง่าย หงุดหงิด
คนที่ชอบดื่มสุราและดื่มประจำ เมื่อมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้นแม้เพียงอย่างเดียวก็พึงรู้เถิดว่ากำลังเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังแล้ว ส่วนคนที่ไม่ได้ดื่มสุราโอกาสที่จะมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นย่อมเป็นไปได้ยาก แต่หากเป็นขึ้นก็ต้องหาสาเหตุว่าเป็นมาจากอะไร จะได้แก้ไขได้ถูกต้อง
เว้นคนที่มีอาการอย่างนี้อยู่ แต่ไม่รู้สึกตัวว่ากำลังเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ไม่รู้ว่าอาการเช่นนี้เกิดจากการที่ตนดื่มสุราประจำ จึงไม่ยอมแก้ไขไม่ยอมรักษา ยังเมามายอยู่เหมือนเดิม หรือรู้ดีว่าเกิดจากอะไร แต่ยังดื่มหนักเหมือนเดิม ย่อมเป็นคนน่าสงสารแท้ ต้องปล่อยไปตามยถากรรม
องค์ของศีลข้อที่ ๕
ศีลข้อที่ ๕ ประกอบด้วยองค์ศีล ๔ ประการ คือ
๑. ของที่ดื่มกินเป็นของทำให้มีนหรือทำให้เมา
๒. จงใจจะดื่มกิน
๓. ดื่มกินของนั้น
๔. ของที่ดื่มกินนั้นล่วงลำคอเข้าไป
องค์แห่งศีลเหล่านี้กำหนดไว้เพื่อ เป็นเครื่องตัดสินว่าจะเป็นการล่วงละเมิดศีลข้อนี้หรือไม่ เหมือนกับศีลข้ออื่นๆ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าที่จะเป็นการล่วงละเมิดถึงกับขาดศีลนั้นอยู่ที่ความจงใจหรือเจตนาเป็นหลักใหญ่เพราะในการดื่มกินของมึนเมานั้นที่ไม่มีเจตนาจะดื่มกินแต่จำเป็นต้องดื่มกินให้ล่วงลำคอเข้าไปก็มีอยู่ จะถือเป็นผิดศีลก็คงไม่ถูกต้อง
เช่น กรณีในการรักษาโรค ต้องใช้ยาประเภทที่ต้องผสมสุราลงไปด้วยผู้รักษาหรือผู้ป่วยต้องการเพียงกินยาเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะดื่มสุรา อย่างนี้ไม่ถือว่าผิดศีลแต่อย่างใด แม้ในข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ ในกรณีเช่นนี้ก็มีหลักว่าให้ถือว่าฉันยามิได้ดื่มสุรา แต่หากมีเจตนาว่ามีโอกาสได้ดื่มสุราไปด้วย ก็ไม่พ้นผิดฐานดื่มสุรา
หรืออย่างที่เป็นข่าวว่า มีครอบครัวที่มีหลักฐานครอบครัวหนึ่ง สามีภรรยามีกิจการเป็นของตัวเองอยู่ในเมือง ต่อมาได้ลูกชายคนหนึ่ง ภรรยาจึงทิ้งงานมาดูแลด้วยตนเองจนลูกโตได้สองขวบ เมื่อเห็นว่าลูกโตแล้วจึงได้ว่าจ้างคนรับใช้หญิงมาคอยดูแลลูกแทนตนซึ่งต้องออกไปทำงานช่วยสามี ปล่อยลูกชายให้อยู่กับหญิงรับใช้ตามลำพังในตอนกลางวัน ลูกก็โตขึ้นทุกวัน แต่เป็นเด็กที่ไม่ซุกซน ไม่ชอบเล่น ไม่ค่อยพูด กิริยาง่วงซึมอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่ก็คิดว่าเป็นปกติวิสัยของลูกตน โตขึ้นคงเหมือนเด็กทั่วไป เลยไม่ได้เอาใจใส่อะไรมาก ต่อมาเด็กโตขึ้นจนอายุ ๖ ขวบ แต่มีอาการเหมือนเด็กปัญญาอ่อน พ่อแม่ก็เอะใจจึงพาไปหาหมอ ให้หมอตรวจสุขภาพหมอตรวจแล้วบอกว่าเด็กเป็นโรคแอลกอฮอลิซึ่ม คือติดสุราอย่างหนัก พ่อแม่ก็ตกใจบอกหมอว่าเป็นเด็กจะเป็นโรคนี้ได้อย่างไร หมอก็ยืนยันว่าในเส้นเลือดมีสุราอยู่ เป็นโรคนี้แน่นอน
พ่อแม่พาลูกกลับบ้าน เรียกคนใช้มาซักไซ้จนได้ความ คนใช้รับสารภาพว่าเลี้ยงเด็กคนนี้มาจนเด็กวิ่งได้ เด็กซนมาก ตนไม่มีเวลาจะไปไหน ไม่มีเวลาพักผ่อน ต้องดูแลอยู่ตลอดเวลา นานเข้าก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้เด็กหายซนได้วันหนึ่งเห็นขวดเหล้าที่พ่อบ้านเก็บไว้ในตู้โชว์เต็มไปหมด ก็คิดว่าหากผสมเหล้าลงไปในนมหรือน้ำให้เด็กกินแล้วจะทำให้เด็กง่วงและนอนหลับ จึงได้เปิดขวดเหล้าแล้วรินเหล้านิดหน่อยใส่ในนมบ้างในน้ำบ้างให้เด็กดื่มตอนกลางวัน แล้วเติมน้ำเข้าไปแทนที่ให้เต็มขวดเหมือนเดิม เด็กดื่มแล้วก็หลับไป ตนเองก็มีเวลาพักผ่อนและออกจากบ้านไปหาพรรคพวกบ้าง ไปเที่ยวบ้างตามโอกาส กลับมาเด็กก็ยังหลับอยู่ ตอนเย็นๆ ก่อนที่พ่อแม่จะกลับ เด็กก็ตื่นและมีอาการซึมเซา ไม่ซุกซนอะไร ทำอยู่อย่างนี้มาประมาณ ๔ ปี
คนรับใช้รับสารภาพว่าได้ทำอะไรไปบ้าง มิได้คิดว่าที่ทำลงไปนั้นจะเสียหายอย่างไร เพียงต้องการให้เด็กหายชน นอนหลับนานๆ ตนเองจะได้พักผ่อนหรือออกไปข้างนอกบ้าง
พ่อแม่ฟังแล้วแทบลมจับ สงสารลูก จะเอาผิดคนรับใช้ให้ติดคุกติดตะรางก็ไม่ทำให้ดีขึ้นได้ก่อเวรก่อกรรมต่อไปอีก จึงเพียงให้เขาออกจากบ้านไป ภรรยาเลี้ยงดูลูกเอง สามีหาคนมาขนตู้โชว์สุราขวดเหล้าออกไปจากบ้านหมด ทั้งคู่พาลูกไปหาหมอ รักษาลูกให้หาย ทำตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด
เรื่องนี้เป็นข่าวทางสื่อสาร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เป็นการเตือนพ่อแม่ที่มีลูกน้อยให้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ไม่ไว้วางใจใครให้ดูแลลูกตามลำพังไม่ไว้วางใจแม้กระทั่งตู้โชว์สุรายี่ห้อดังๆ หลากชนิดที่ตั้งไว้อวดแขก เพราะสิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดพิษภัยได้ถ้าไม่ระวัง
เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นตัวอย่างว่าสุรานั้นหากไม่มีเจตนา แม้จะเป็นสุราจริง ดื่มเข้าไปในลำคอจริง ก็ไม่ถือเป็นผิดศีล เช่นในกรณีของเด็กคนนี้ เป็นผู้ที่ผู้ใหญ่ทำให้โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย เขาให้ดื่มนมให้ดื่มน้ำก็ดื่ม เป็นโรคอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ถือเป็นเวรกรรมของตัวที่มาอยู่กับคนใช้ประเภทนั้น ถือเป็นเวรกรรมของพ่อแม่ที่ไว้วางใจคนอื่นเกินไป ต้องมาเสียใจ ต้องมาลำบากในภายหลังถือเป็นเรื่องเตือนสติเตือนใจได้เป็นอย่างดี
โทษของการดื่มสุราเมรัย
การดื่มสุรานั้นมีโทษมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ โดยยกเรื่องการดื่มสุรามาเป็นหลัก และถือกันว่าแม้การดื่มกินของมึนเมาอย่างอื่น เช่น ฝิ่น กัญชา ยาเสพติดต่างๆ ก็มีโทษเช่นเดียวกับการดื่มสุรา และโทษที่ทรงแสดงนั้นเป็นโทษเฉพาะในโลกปัจจุบัน ผู้ดื่มจะได้รับเมื่อตอนมีชีวิตอยู่ โทษนั้นมี ๖ ประการ คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์
๒. เป็นเหตุก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เป็นเหตุเกิดโรค
๔. เป็นเหตุเสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุให้ไม่รู้จักละอาย
๖. ทอนกำลังปัญญา
โทษของการดื่มสุราทั้งหมดนี้ ขอให้รายละเอียดเพิ่มเติมสักเล็กน้อยเพื่อให้เห็นชัด และเพื่อให้ได้ตระหนักของพิษภัยที่จะเกิดขึ้นแน่นอนเมื่อดื่มสุราเข้าไป
๑. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์
อันที่จริง ทรัพย์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของคนเราทุกคน เป็นเครื่องจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงชีวิต บำรุงตนและคนอื่นทั้งใกล้ตัวไกลตัวให้อยู่เย็นเป็นสุข ทรัพย์นั้นหามาได้ไม่ง่ายนัก สำหรับบางคนอาจหาได้โดยง่ายเพราะมีช่องทางมีความรู้ความสามารถ แต่บางคนหาได้ยาก ต้องลำบาก ต้องเหนื่อย ต้องเสียเวลา กว่าจะหาได้พอเลี้ยงชีพ ถึงอย่างนั้นก็จำต้องรู้จักประมาในการใช้จ่าย จ่ายเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นเป็นดีที่สุด คือจ่ายเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
ส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น สุรา บุหรี่ หรือของเล่นของใช้ต่างชนิดที่มีเพื่อดูเล่น เพื่อเป็นของเล่น แม้จะไม่มีก็ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลง อย่างนี้ถ้างดจ่ายได้ก็เป็นการดี
โดยเฉพาะเรื่องสุรา ชาวโลกส่วนหนึ่งมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่ทำให้มีสังคม มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น แสดงถึงความมีไมตรีต่อกันทำนองนี้จึงดื่มสุรากันเป็นเรื่องปกติ ต้องใช้จ่ายทรัพย์จำนวนไม่น้อยเพื่อการนี้ ทั้งที่ไม่จำเป็นอะไร อ้างว่าเพื่อสังคม เพื่อพวกพ้องเพื่อความสัมพันธ์ แต่เมื่อถึงเวลายากจนไม่มีทรัพย์จะซื้อมาดื่มกินกัน หรือเกิดโรคภัยช่วยเหลือใครไม่ได้ไปมาหาสู่ใครก็ไม่ได้ สังคมคือพวกพ้องก็หายเงียบไปหมด ไม่มีใครมาเยี่ยมเยียนขอร้องใครก็ถูกบ่ายเบี่ยงอ้างโน่นอ้างนี่ ท้ายที่สุดก็พึ่งสังคมพวกพ้องเช่นนั้นไม่ได้ กลายเป็นคนไร้พวกไร้เพื่อนโดยสิ้นเชิง
และสุรานั้นส่วนใหญ่จะต้องซื้อหามาดื่มสถานเดียว จะผลิตสุราต้มเหล้ามาดื่มกินเหมือนก่อนก็ลำบาก ผิดกฎหมาย ทำได้ยาก ซื้อหาง่ายกว่า ผู้ดื่มจึงนิยมจ่ายเงินซื้อ สะดวกสบายและรวดเร็วทันใจกว่าต้มเหล้าเอง เมื่อดื่มกินติดแล้วก็งดยากทิ้งยาก ถึงเวลาก็ต้องดื่ม และมักจะอ้างว่าดื่มแล้วมีกำลัง ดื่มแล้วเจริญอาหาร ดื่มแล้วดีอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งล้วนเป็นข้ออ้างที่คิดเพียงด้านเดียวคือด้านที่คิดว่าได้ประโยชน์เท่านั้น มิได้คิดถึงด้านที่เสียประโยชน์ เสียเงินชื้อหาเสียเวลาตอนดื่มกินและเวลาเมา ตลอดถึงเสียงานเสียการเมื่อเมาได้ที่หรือเมื่อเกิดโรคขึ้น
๒. เป็นเหตุก่อการทะเลาะวิวาท
คนเราทั่วไปย่อมปรารถนาอยู่อย่างสงบ ไม่อยากมีเรื่องอะไรกับใครแต่เมื่อดื่มสุราเข้าไป จิตใจก็เริ่มแปรเปลี่ยนผิดปกติไป เริ่มกล้า เริ่มบ้าบิ่นเริ่ม บันดาลโทสะ เมื่อมีอะไรมาสะกิดนิดเดียวหรือมีใครมาพูดไม่ถูกหูนิดเดียวก็ทนไม่ได้ เกิดโทสะขึ้นมาทันที เข้าไปทำร้ายหรือก่อทะเลาะวิวาทขึ้นทันทีหรือเมื่อทำร้ายคนอื่นไม่ได้ ก็หันมาทำร้ายคนใกล้ชิดรอบข้างซึ่งไม่มีทางต่อสู้ดังนั้น ภรรยา บุตรธิดา โดยที่สุดแม้บิดามารดาจึงถูกลูกหลงกันไปอย่างไม่มีทางหนี
๓. เป็นเหตุเกิดโรค
ข้อนี้มักจะพูดยากว่าสุราเป็นเหตุให้เกิดโรค เพราะคนไม่ดื่มสุราก็เป็นโรคเช่นเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริง โรคที่เกิดจากสุรานั้นมีจริงเป็นจริง อย่างที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น เช่น สมองเสื่อม ตับแข็ง ตับอักเสบ โรคพิษสุราเรื้อรังโรคกระเพาะอาหาร
นอกจากนั้น ยังมีโรคที่มีสาเหตุมาจากสุราเป็นส่วนใหญ่อีกหลายอย่างเช่น อาการติดขัดไหวติงไม่สะดวก เมื่อยขบ เส้นสายตึง แน่นเสียด กินอาหารไม่ได้และมักอ้วก อ่อนเพลียไม่มีแรง นอนไม่ค่อยหลับ เป็นต้น อาการเหล่านี้แม้จะบอกว่าคนไม่ดื่มสุราก็เป็นกันอยู่ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วยอมรับกันว่าสุราเป็นสาเหตุใหญ่ให้เป็นเช่นนั้น
บางคนอาจโต้แย้งว่าตนเป็นอย่างนั้นแล้วดื่มสุรา ปรากฏว่าอาการเช่นนั้นหายไป สุราหาใช่เป็นต้นเหตุอาการไม่ หากแต่สุราเป็นเครื่องรักษาอาการเช่นนั้นต่างหาก อะไรทำนองนี้
ข้อโต้แย้งนี้อาจเป็นไปได้ในเบื้องต้น เพราะสุรามีฤทธิ์ในทางกระตุ้นทำให้อวัยวะในร่างกายหลายส่วนตื่นตัว ทำให้กระฉับกระเฉงว่องไวหรือทำให้เกิดความมึนชา ซึ่งทำให้กลบอาการไม่ดีต่างๆ ลงได้ชั่วขณะเมื่อหมดฤทธิ์สุราแล้ว อาการเหล่านั้นก็ตามมาไม่รู้จบและหนักขึ้นเรื่อยๆ
ในถิ่นที่หนาวเย็น คนเขามักจะพูดว่าสุราแก้หนาวได้ แต่แท้ที่จริงสุราเป็นเหตุทำให้เส้นประสาทมึน และขับโลหิตให้ซ่านไปทั่วร่างกายได้ขณะหนึ่งเท่านั้น ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น ให้เกิดความรู้สึกว่าหายหนาวได้ แต่เมื่อสุราหมดฤทธิ์แล้วก็กลับหนาวเหมือนเดิมหรือหนาวกว่าเดิมเพราะเตโชธาตุในร่างกายผ่อนลง ด้วยสุราเป็นสิ่งที่ทำให้เตโชธาตุด้อยกำลังลง ดังนั้นจึงเห็นอยู่เสมอว่าคนที่ติดสุรานั้นจะเป็นคนไม่อดทนต่อความหนาว ถึงกับเปลี่ยวดำจับก็มี
๔. เป็นเหตุเสียชื่อเสียง
ชื่อเสียงที่ดีเป็นหลักประกันคนเรา ทำให้ได้รับการยกย่อง นับถือ และปฏิบัติตามเป็นแบบอย่าง และทำให้คนรัก ให้การสนับสนุน ทำให้เจริญรุ่งเรืองแต่ชื่อเสียงนั้นใช่ว่าจะหาได้ง่าย ต้องทำต้องปฏิบัติความดีต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนเป็นนิสัยประจำไม่เปลี่ยนแปลง ผู้คนจึงจะยอมรับว่าดีจริง ชื่อเสียงจึงดีตาม หากทำดีชั่วครู่ชั่วยามเพื่อชื่อเสียงก็อาจได้ แต่ไม่คงทน เมื่อหยุดทำเมื่อไร ชื่อเสียงก็หมด
และชื่อเสียงดีนั้นแม้จะมีอยู่แล้ว หากไปทำชั่วไปทำผิดเข้า ชื่อเสียงดีนั้นก็จะหมดไปทันทีเหมือนกัน ชื่อเสียงจึงรักษายาก แต่หมดไปง่าย
คนดื่มสุราเมื่อดื่มแล้วก็จะเมา เมาแล้วก็จะลืมสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้แล้วก็ไปทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรต่างๆ ด้วยไม่อาจระวังความประพฤติของตนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้คนก็ตำหนิ ขาดความนับถือ แม้จะเคยทำความดีมีชื่อเสียงอยู่บ้าง ความดีและชื่อเสียงก็หมดไปทันที เพราะดื่มสุราเป็นเหตุแท้ๆ
๕. เป็นเหตุให้ไม่รู้จักละอาย
ปกติคนเราก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ มีสติคอยควบคุมใจอยู่ ทำให้ทำแต่ในสิ่งที่ดีงามถูกต้อง เพราะรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำควรประพฤติอะไรไม่ควรทำไม่ควรประพฤติ สามารถงดเว้นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติได้ แต่เมื่อดื่มสุราเข้าไปแล้ว ก็ทำให้เมาและขาดสติ ทำให้ใจไร้การควบคุม ส่งผลให้คิดในทางไม่ถูกต้อง พูดในทางไม่ถูกต้อง ทำในทางไม่ถูกต้องเป็นทุจริตอย่างเดียว และเมื่อทำพูดคิดอยู่ก็มิได้เกิดความละอายใจอะไรเพราะไม่มีสติรู้ตัว ความละอายก็หมดไป เมื่อไม่ละอายก็ทำได้ทุกอย่างตามแต่ใจจะคิด ทำ หรือพูดอะไร คนเมาสุราจึงนอนกลางถนนก็ได้ ด่าคนเล่น ท้าต่อยคนเล่น ทําร้ายคน ฆ่าคนก็ยังได้ ล้วนเป็นโทษและมีโทษทั้งสิ้น
๖. ทอนกำลังปัญญา
ปัญญา คือความรู้ ความฉลาด ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ปัญญานั้นมีกำลังและเป็นพลังสำคัญที่ผลักดันให้คนมีปัญญาได้รับความสำเร็จในชีวิตได้รับความก้าวหน้า และได้รับสิ่งต่างๆ มากมายเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีความสุขเมื่อผู้นั้นได้ใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการประกอบกิจต่างๆ
ปัญญาของแต่ละคนแม้จะมีไม่เท่ากัน แต่ก็สามารถแสวงหาได้ พัฒนาให้เพิ่มขึ้นได้ เมื่อเกิดมีแล้วก็พอกพูนให้สูงขึ้นได้ แต่ปัญญานั้นก็หมดกำลังไปได้โดยไม่ยาก เมื่อคนผู้มีปัญญานั้นไปดื่มสุราเข้า
สุราเป็นเครื่องทอนกำลังปัญญาอย่างสำคัญ เป็นเครื่องทำให้สมองมึนชา เชาวน์ปัญญาก็เนือยลงไป คิดอะไรไม่ค่อยทัน เชื่องช้า ถ้าเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังด้วยแล้วก็เป็นเหตุให้สมองเสื่อม ความจำเสื่อม หลงลืมง่ายตามมา
โทษของสุราที่ขยายความมาทั้งหมดนี้จัดว่าเป็น อบายมุข คือ เป็นปากทางแห่งความเสื่อม เสื่อมทั้งสุขภาพร่างกาย เสื่อมทั้งสมอง เสื่อมทั้งทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติคุณที่มีอยู่ก็เสื่อมลงไปด้วยหากไปดื่มสุรายาเมาเข้า
โทษเหล่านี้ผู้ดื่มสุราบางคนได้รับเพียงข้อสองข้อ แต่บางคนได้รับครบทุกข้อ แล้วแต่กรณีหรือแล้วแต่การดื่มสุราในลักษณะใด แต่ผู้มีสติ ระลึกรู้ได้มีปัญญาไตร่ตรอง ย่อมมองเห็นพิษภัยของสุรา จึงเว้นห่างไกลไม่แตะต้องเมื่อไม่แตะต้อง โทษเหล่านี้ก็ไม่เกิด
ผู้มีปัญญาดีบางคนอาจคัดค้านโทษเหล่านี้ เพราะตนเองดื่มสุราแต่ก็ทำงานได้ แข็งแรงดี มีสติปัญญาสั่งการได้ อดทนต่อสู้ ไม่ได้รับโทษจากสุราเหล่านี้แต่ประการใด ทั้งเงินทองก็มีมากมาย สามารถซื้อหาสุราอย่างดีมาดื่มได้โดยไม่เมาและไม่เสียทรัพย์อะไรมาก ผู้ที่คิดและรู้สึกอย่างนี้ในสังคมโลกมีไม่น้อย ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่เสมอว่าจริงหรือไม่จริงที่ดื่มสุราแล้วไม่ได้รับโทษ
ข้อนี้ต้องมองกันไกลๆ มองกันยาวๆ มิใช่มองเฉพาะหน้า โทษของสุรานั้นมีแน่ แต่ผู้ดื่มสุราจะได้รับผลเมื่อไรนั้นต้องดูกันต่อไป อย่าประมาทว่าไม่เป็นไรๆ เพราะเมื่อมันเป็นขึ้นมาแล้ว เงินทองที่มีอยู่ก็เอาความสุขสงบคืนมาไม่ได้ บางครั้งก็เอาชีวิตให้คงอยู่อย่างสบายนานๆ ไม่ได้
อย่างเช่นโรคตับแข็ง ซึ่งทางการแพทย์แสดงว่าเป็นโรคที่เกิดจากการดื่มสุรามากเกินไป โรคนี้มิใช่ว่าจะเกิดปุบปับขึ้นทันทีหลังจากดื่มสุราแล้ว แต่เป็นโรคที่ก่อตัวสะสมกันต่อเนื่อง โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้สึกอะไร เมื่อถึงที่จึงแสดงอาการ ตอนที่ยังไม่แสดงอาการอะไรออกมา ผู้ดื่มสุราประจำจึงคิดเห็นไปว่าดื่มสุราแล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ไม่มีโทษอะไรตามที่ห้ามกันไว้ แต่เมื่อมีอาการออกมาต้องรักษาตัว ต้องเสียเงินทอง ต้องเป็นภาระอีกหลายอย่างตามมาตอนนั้นจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ไม่สำคัญแล้ว เพราะอาจสายไปแล้วก็ได้
พระท่านว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย หรือ คนผู้ประมาทแล้วก็เหมือนคนที่ตายแล้ว
ข้อนี้เชื่อไว้เป็นดี ทำตามได้เป็นดี
อานิสงส์ของศีลข้อที่ ๕
ศีลข้อที่ ๕ นี้ นอกจากจะมีอานิสงส์คือมีผลทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ต้องได้รับโทษ ๖ ประการที่แสดงมาแล้วข้างต้น ผู้ปฏิบัติตามหลักศีลข้อนี้ยังจะได้รับอานิสงส์โดยละเอียดอีกมากประการ ดังที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์อรรถกถาปรมัตถโชติกาไว้ดังนี้
- เป็นคนมีความเข้าใจในกิจที่พึงกระทำทุกอย่างในกาลทั้งสามได้รวดเร็ว
- เป็นคนมีสติมั่นคงทุกเวลา
- ไม่เป็นบ้า
- เป็นคนมีปัญญา
- เป็นคนไม่มีความเกียจคร้าน
- เป็นคนไม่เงอะงะ
- ไม่เป็นคนใบ้
- ไม่เกิดเป็นคนเผอเรอ
- เป็นคนไม่ประมาท
- เป็นคนไม่หลงงมงาย
- ไม่เป็นคนหวาดกลัว
- ไม่เป็นคนแข่งดี
- ไม่เป็นคนช่างริษยา
- เป็นคนชอบพูดแต่คำสัตย์
- เป็นคนไม่ชอบพูดส่อเสียด ไม่ชอบพูดคำหยาบ ไม่ชอบพูดคำไม่มีประโยชน์
- เป็นคนมีความหมั่นทั้งกลางคืนและกลางวัน
- เป็นคนรู้จักคุณที่ท่านทำแล้ว
- เป็นคนที่ชอบทดแทนคุณคนที่ทำอุปการะแล้ว
- เป็นคนไม่ตระหนี่
- เป็นคนเผื่อแผ่
- เป็นคนมีศีล
- เป็นคนซื่อตรง
- เป็นคนไม่มักโกรธ
- เป็นคนมีความละอายต่อบาป
- เป็นคนมักสะดุ้งกลัวบาป
- เป็นคนมีความเห็นตรง
- เป็นคนมีปัญญามาก
- เป็นคนเฉียบแหลม
- เป็นบัณฑิต
- เป็นคนฉลาดในเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
อานิสงส์ทั้งหมดนี้ย่อมเกิดมีแก่ผู้รักษาศีลข้อนี้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีหากศีลด่างไปบ้าง พร้อยไปบ้าง ด้วยประการใดๆ อานิสงส์เหล่านี้ย่อมลดน้อยลงซึ่งผู้รักษาศีลเป็นปกติย่อมทราบดีว่าศีลของตนเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างไรอานิสงส์เหล่านี้ก็ยังแน่วแน่มั่นคงที่จะให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติตามหลักศีลข้อที่ ๕ นี้
วัตถุประสงค์ของศีลข้อที่ ๕
ศีลข้อที่ ๕ ท่านกำหนดกันขึ้นไว้และปฏิบัติกันมาแต่โบราณ ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
๑. เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้คนในสังคม คือการที่จะพัฒนาตัวเองครอบครัว สังคมให้อยู่ดีมีสุขได้นั้น สำคัญคือผู้คนต้องมีสุขภาพร่างกายดีมีสุขภาพจิตใจดีกันทั่วหน้า เมื่อมีสุขภาพดีจะทำให้ทุกคนมีกำลังมีความสามารถ มีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง ประกอบอาชีพดำเนินชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ หากสุขภาพไม่ดีด้วยมีสิ่งที่ทำให้เป็นคือดื่มสุราเข้าไป ผู้คนก็จะติดสุรากันเป็นส่วนใหญ่ สุขภาพก็เสียเมื่อสุขภาพเสีย หน้าที่การงาน การดำเนินชีวิตก็เสีย สังคมก็จะลำบากด้วยประการต่างๆ
๒. เพื่อมิให้ประมาทมัวเมา คือคนเรามีเวลาที่จะทำกิจต่างๆ มีโอกาสที่จะดำเนินชีวิตให้รุ่งเรืองก้าวหน้าและมีความสุขได้ด้วยกัน แต่ต้องเป็นคนไม่ประมาท ไม่เผอเรอ ใช้เวลาเป็น หาโอกาสเป็น ก็จะสมหวัง แต่หากประมาทเสียก็ป่วยการ สิ่งที่ทำให้ประมาทอย่างหนึ่งคือความเมา ความเมานั้นเกิดจากสุราเมรัย สิ่งเสพติดต่างๆเป็นหลัก เมื่อเมามากๆ ก็จะมัวเมาในสิ่งนั้นๆ จนถึงความประมาทได้ เพื่อป้องกันอันนี้ ท่านจึงกำหนดศีลข้อนี้ไว้เพื่อป้องกัน ทำให้สังคมงดงาม เข้มแข็ง และมีความสุขสงบ
๓. เพื่อให้คุ้มครองสติไว้ คือสติเป็นคุณธรรมหลักที่จะคอยควบคุมการกระทำ การพูด การคิดของคนเราให้อยู่ในกรอบแห่งความดีทำให้คนเราทำดี พูดดี คิดดีเป็น หากขาดสติเสียแล้วก็ไม่อาจทำดีพูดดี คิดดีให้ตลอดไปได้ ย่อมทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่วไปบ้าง สตินั้นจะคงอยู่ได้ตลอดก็ด้วยการคุ้มครองไว้ อาการที่จะคุ้มครองสตินั้นก็คือไม่ประมาทมัวเมาด้วยการดื่มสุราเมรัย สิ่งเสพติดให้โทษสิ่งเหล่านี้ดื่มกินเข้าไปแล้วจะทำให้ประมาท คือทำให้สติเสียเมื่อสติเสียแล้วก็ไปทำเรื่องที่ไม่ดีไม่งาม ไม่ถูกต้องประการต่างๆ
วัตถุประสงค์เหล่านี้มุ่งให้ผู้คนในสังคมมีสุขภาพ มีสติ ไม่ประมาทมัวเมาด้วยการงดเว้นจากการดื่มกินสุราเมรัย สิ่งเสพติด หากไม่มีข้อกำหนดเหล่านี้ไว้และไม่ได้กำหนดเป็นข้อห้ามเข้าไว้ ในสังคมก็จะมีคนดื่มกินสุรากันมากเพราะไม่มีอะไรมาคอยยับยั้ง ทำให้สังคมมีแต่คนที่สุขภาพไม่ดี มีแต่คนป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง มีแต่คนประมาทมัวเมา ก่อเรื่องวุ่นวายโกลาหลในที่นั้นๆ ไม่หยุดหย่อนหรือขาดสติควบคุมอารมณ์และจิตใจไม่ได้ ไปทำทุจริตคิดชั่ว ก่อความเดือดร้อนให้คนอื่นร่ำไป หรือมีแต่คนเมาหยำเปเต็มท้องถนน แล้วบ้านเมืองจะน่าอยู่ได้อย่างไร
ที่อยู่ได้ สงบได้ อย่างที่เห็นอยู่ก็เพราะคนส่วนใหญ่มีจิตสำนึกในข้อนี้แล้วมิได้ดื่มสุราเป็นอาจิณจนเมามายกันนั่นเอง
สุราพาวิบัติ
อันว่าสุรานั้นมีพิษภัยร้ายแรงมากมาย เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยหลายอย่างเป็นทางวิบัติหายนะของสมบัติทั้งหลาย เป็นอบายมุขที่ทำให้คนเสื่อมถอยในทุกทาง ข้อนี้เป็นที่รู้กันทั้งนั้นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่สุรานั้นมีมนต์เสน่ห์ในตัวที่มีพลังมหาศาลสามารถดึงดูดผู้คนให้หลงใหลติดใจในรสชาติได้ตลอดมาแม้จะรู้ทั้งรู้ว่ามีพิษมีโทษแต่ก็อดไม่ได้ ไม่วายที่จะต้องติดและดื่มประจำ
สุรานอกจากจะมีพิษภัยในชาตินี้แล้วยัง เป็นเวรอย่างหนึ่งที่จะติดตามให้ผลในชาติหน้าภพหน้าด้วย กล่าวคือทำให้เกิดมาเป็นคนมีปัญญาอ่อนโง่ทึบไม่ทันคน ความจําไม่ดี
แต่คนไม่ดื่มสุราอาจได้รับทุกข์โทษและพิษภัยจากคนดื่มสุรา ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ เพราะคนที่เมาสุราแล้วย่อมขาดสติไม่รู้ตัวและไม่ยอมรับรู้ด้วยว่าตนได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ใครบ้าง โดยที่สุดแม้แก่ลูกเมียหรือพ่อแม่ของตัวเอง
อนึ่ง มารยาทสังคมเกี่ยวกับสถานที่คือต้องรักษามารยาทในการเข้าไปในที่นั้นๆ ด้วยการสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อยเป็นเรื่องที่ผู้ดีเขาทำกัน ยิ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น สถานที่ทางศาสนา เขตพระราชฐาน เหล่านี้ล้วนต้องให้ความเคารพ ไม่ล่วงเกินกระทำการอันแสดงถึงความไม่เคารพ ความไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ความเสียมารยาท ตลอดถึงความควรไม่ควร ผู้ขาดมารยาทสังคมเช่นนี้ย่อมถูกตำหนิสถานเดียวว่าไร้มารยาทหรือไม่มีสมบัติผู้ดี
มีเรื่องที่ท่านเล่าไว้ในชาดกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องกำเนิดสุราและพาความวิบัติมาให้แก่ผู้คนมากมายในอดีต เรื่องมีอยู่ว่า
ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสีพรานป่าคนหนึ่งชื่อสุระได้เข้าไปในป่าหิมพานต์เพื่อหาของป่าเป็นประจำ ที่ป่านั้นมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง มีกิ่งที่สูงจากพื้นดินประมาณเท่าตัวคนแตกออกเป็นสามกิ่งใหญ่ๆ ที่ค่าคบนั้นเกิดมีแอ่งขนาดเท่าตุ่มแอ่งหนึ่งซึ่งเมื่อถึงฤดูฝนก็กลายเป็นที่ขังน้ำอย่างดี และรอบๆ ต้นไม้นั้นมีต้นไม้ประเภทต้นสมอมะขามป้อม พริกไทยขึ้นอยู่และมีกิ่งยื่นเข้าไปยังร่มเงาของต้นไม้ เมื่อต้นไม้เหล่านั้นมีผลสุกงอม ผลก็หล่นลงไปในแอ่งกลางค่าคบ และที่ใกล้ๆ นั้นก็มีแปลงข้าวสาลีที่เกิดเองอยู่ พวกนกแขกเต้าบินมาคาบรวงข้าวสาลีได้แล้วก็บินไปกินบนต้นไม้ ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกบ้าง ข้าวสารที่เปลือกแตกเองบ้างหลุดหล่นลงไปในแอ่งนั้น เมื่อน้ำในแอ่งถูกแสงแดดเผาทุกวันก็ทำให้เป็นสีแดงและมีรสชาติขึ้นพอถึงหน้าร้อนพวกนกทั้งหลายก็มากินน้ำในแอ่งนั้นกันแล้วมึนเมาพลัดตกจากต้นไม้ ม่อยไปพักหนึ่งแล้วก็ขันคูบินจากไป แม้พวกสุนัขป่าและลิงที่มากินน้ำที่แอ่งนั้นก็มีอาการเช่นนั้นเหมือนกัน
นายพรานเห็นดังนั้นก็คิดว่าถ้าน้ำมีพิษพวกสัตว์เหล่านี้คงตายไปแล้ว แต่นี่ม่อยไปพักเดียวก็บินไปวิ่งไปได้ตามสบาย น้ำนี้คงไม่มีพิษแน่ คิดแล้วจึงขึ้นไปบนค่าคบลองกินดู กินแล้วก็มึนเมาและอยากจะกินเนื้อสัตว์จึงก่อไฟขึ้นแล้วจับนกบ้างไก่บ้างที่เมาตกลงมาย่างสุกแล้วก็กินไปรำไอย่างสบายอารมณ์เขาทำอยู่เช่นนั้นสองวัน
ในบริเวณนั้นมีดาบสรูปหนึ่งชื่อวรุณะ นายพรานคิดว่าจะดื่มน้ำกับท่านจึงนำกระบอกไม้ไผ่มาใส่น้ำนั้นจนเต็มแล้วหิ้วพร้อมกับไก่ย่างไปยังอาศรมของดาบสแล้วชวนให้ท่านดื่ม ดาบสก็ไม่ขัดใจ ทั้งสองจึงดื่มกินจนเมามายไปด้วยกันทั้งที่ไม่รู้ว่าเป็นน้ำอะไรกันแน่
ต่อมา จึงมีคนตั้งชื่อน้ำดื่มนั้นขึ้นมาว่า สุรา บ้าง วรุณี บ้าง เพราะพรานสุระและดาบสวรุณะเป็นผู้พบเห็นคนแรก
ทั้งนายพรานและดาบสคิดกันว่ามีลู่ทางทำมาหากินแล้ว จึงไปตัดไม้ไผ่มาทำเป็นกระบอกแล้วกรอกสุราจนเต็มหาบคอนกันไปถึงเมืองชายแดนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระราชาแล้วถวายน้ำนั้น พระราชาทรงดื่มไปสองสามอึกก็มึนเมา ครั้นสร่างเมาแล้วก็ทรงดื่มอีกจนสุราหมดไปในเวลาไม่นาน จึงตรัสถามนายพรานว่ายังมีอีกไหม เมื่อทรงรู้ว่ามีอยู่ที่ป่าหิมพานต์จึงรับสั่งให้ไปนำมาทั้งสองไปนำสุรามาถวายพระราชาเที่ยวสองเที่ยวก็เหน็ดเหนื่อยจึงคิดกันว่าจะผลิตสุราถวายเอง จึงไปที่ต้นไม้นั้นตรวจดูว่ามีเครื่องปรุงอะไรบ้าง ครั้นรู้แล้วก็กลับมาทำสุราขาย ชาวเมืองพากันดื่มสุรากันจนติดแล้วทิ้งการงานหมดสิ้นทำให้ยากจนไปตามๆ กัน เมืองนั้นก็เกือบจะกลายเป็นเมืองร้างไป
ทั้งสองคนเห็นเช่นนั้น จึงเล็ดลอดออกจากเมืองนั้นไปยังเมืองพาราณสีนำสุราไปถวายพระราชาและพวกอำมาตย์จนติดสุรากันและขยายไปถึงประชาชน ทำให้เมืองพาราณสีเป็นเหมือนเมืองร้างอีกเมืองหนึ่ง ทั้งสองก็จากเมืองพาราณสีไปยังเมืองสาเกต ทำให้เมืองสาเกตพินาศแล้วก็ไปยังเมืองสาวัตถีซึ่งขณะนั้นพระเจ้าสัพพมิตต์ทรงเป็นกษัตริย์ครองเมืองอยู่
ทั้งสองคนได้เข้าเฝ้าพระเจ้าสัพพมิตต์แล้วกราบทูลว่าจะปรุงยาวิเศษถวาย ท้าวเธอตรัสถามว่าต้องการสิ่งใดบ้าง จึงกราบทูลว่าต้องการแป้งข้าวสาลีกับตุ่ม ๕๐๐ ใบ ก็รับสั่งให้จัดให้ตามที่ต้องการ ทั้งสองช่วยกันปรุงสุราแล้วใส่ตุ่มไว้จนเต็มทุกตุ่ม แต่เพื่อป้องกันมิให้หนูมารบกวนตุ่มจึงผูกแมวไว้ใกล้ๆ ตุ่มทุกตุ่ม
ในเวลาที่ถูกความร้อน น้ำสุราที่อยู่ในตุ่มได้ไหลออกมาจากปากตุ่มนองอยู่ข้างตุ่ม แมวเหล่านั้นได้กินน้ำสุรานั้นเข้าไปแล้วก็เมามายหลับไป
ฝ่ายผู้จัดการผลประโยชน์คิดว่าพวกแมวกินสุราแล้วตายหมดจึงไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ ท้าวเธอทรงเข้าพระทัยว่าทั้งสองคนปรุงยาพิษไว้ให้พระองค์จึงรับสั่งให้นำไปประหารชีวิตเสีย
ทั้งสองคนได้รับผลกรรมที่ตนเองทำไว้ ต้องถูกประหารชีวิต ทิ้งสมบัติที่ได้มาทั้งหมดไว้บนแผ่นดิน นำติดตัวไปไม่ได้เลย
ฝ่ายแมวเมื่อสุราหมดฤทธิ์แล้วก็ลุกวิ่งเล่นกันตามปกติ
พวกราชบุรุษเห็นแมวลุกขึ้นมาวิ่งเล่นได้จึงไปกราบทูลให้ทรงทราบท้าวเธอทรงดำริว่าถ้าน้ำสุรามีพิษจริงแมวคงตายไปแล้ว ชะรอยน้ำนั้นมีรสอร่อยแน่ น่าจะลองดู ดังนี้แล้วรับสั่งให้ประดับตกแต่งพระนคร สร้างมณฑปขึ้นที่หน้าพระลาน กำหนดงานพิธีดื่มสุราอย่างเป็นทางการ เมื่อถึงวันที่กำหนดแล้วได้เสด็จไปประทับบนบัลลังก์ภายใต้พระเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์มุขมนตรี เตรียมเริ่มพิธีเสวยสุราต่อไป
เมื่อนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงสอดส่องทิพยเนตรตรวจดูสัตวโลกว่าผู้ใดใครบ้างที่ไม่ประมาทในการบำรุงบิดามารดาและในการบำเพ็ญสุจริตสามให้เต็มบริบูรณ์ ก็ทรงเห็นพระเจ้าสัพพมิตต์กำลังประทับนั่งเตรียมจะเสวยสุราอยู่จึงทรงดำริว่าถ้าท้าวเธอจักเสวยสุรานี้ไซร้ ชมพูทวีปต้องพินาศแน่นอน จำต้องรีบแก้ไขมิให้ท้าวเธอดื่มได้ ครั้นแล้วทรงวางหม้อที่มีสุราเต็มใบหนึ่งไว้ในพระหัตถ์จําแลงเพศเป็นพราหมณ์เสด็จมายืนบนอากาศตรงที่ประทับแล้วตรัสว่า
“เชิญท่านทั้งหลายซื้อหม้อใบนี้”
“เชิญท่านทั้งหลายซื้อหม้อใบนี้”
พระเจ้าสัพพมิตต์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์มายืนบนอากาศร้องขายหม้ออยู่ ก็ทรงสงสัยจึงตรัสไต่ถามว่าท่านเป็นใคร มาจากไหน จึงมีฤทธิ์ยืนบนอากาศได้พร้อมทั้งร้องขายหม้ออยู่ หม้อของท่านใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
ท้าวสักกะจึงตรัสว่าถ้ากระนั้นขอทรงฟัง หม้อใบนี้มิใช่หม้อเนยใส มิใช่หม้อน้ำมัน มิใช่หม้อน้ำอ้อยหรือน้ำผึ้ง แต่เป็นหม้อที่ใส่สิ่งที่มีโทษมากมาย ขอทรงสดับพิษภัยของสิ่งที่อยู่ในหม้อนี้ จากนั้นได้ตรัสโทษของสุราไปตามลำดับว่า
“บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วเดินโซเซตกลงไปในเหวบ้าง บ่อบ้าง ถ้ำบ้างแอ่งน้ำครำบ้าง หลุมโสโครกบ้าง บริโภคของที่ไม่ควรบริโภคแม้มากก็ได้หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วไม่มีอิสระในใจ เที่ยวเปะปะไปเหมือนโคที่เที่ยวหาอาหารกินก็ได้ ขับร้องเล่นก็ได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วแก้ผ้าเปลือยกายเที่ยวไปตามตรอกตามถนนในหมู่บ้าน มีจิตหลงเลือน นอนเกินเวลาก็ได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วลุกขึ้นเซไปมา โคลงศีรษะและยกแขนขึ้นร่ายรำเหมือนหุ่นกระบอกก็ได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วแม้ถูกไฟไหม้ก็ยังนอนเฉยอยู่ก็ได้ กินอาหารที่เหลือเดนสุนัขก็ได้ ย่อมถึงการถูกจองจำ ถูกฆ่า และความเสื่อมแห่งโภคะหม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วพูดคำที่ไม่ควรพูดก็ได้ เปลือยกายนั่งในที่ประชุมก็ได้เปรอะเปื้อนจมอยู่ในกองอาจมของตนเองก็ได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วฮึกเหิม นัยน์ตาแดงก่ำ สำคัญไปว่าแผ่นดินทั้งหมดเป็นของเราเท่านั้น แม้พระราชาที่มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบขัณฑสีมาก็ยังไม่เสมอเราดังนี้ก็ได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วถือตัวจัด ก่อการทะเลาะวิวาท ชอบส่อเสียดชอบกล่าวร้าย ชอบเปลือยกาย ชอบเตลิดไป เป็นที่เกิดเป็นที่พำนักของพวกนักเลงเก่า หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
น้ำชนิดนี้ทำตระกูลทั้งหลายในโลกนี้ ซึ่งมั่งคั่งบริบูรณ์มีเงินทองนับพันไม่ถ้วนให้ขาดทายาทได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
คนทั้งหลายอาศัยน้ำชนิดใด ทำให้ข้าวเปลือก ทรัพย์สินเงินทอง ไร่นาโคกระบือในตระกูลพินาศไป ตระกูลที่มั่งมีทั้งหลายนั้นขาดสูญไปเพราะดื่มน้ำชนิดใด หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วเป็นคนหยาบช้า ด่าพ่อด่าแม่ก็ได้ แม้เป็นพ่อผัวก็หยอกเย้าสะใภ้เล่นก็ได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
สตรีที่ดื่มนํ้าชนิดใดแล้วเป็นคนหยาบช้า ด่าพ่อผัวแม่ผัวและผัวก็ได้แม้เป็นทาสเป็นคนรับใช้ก็รับมาเป็นตัวของตนได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วฆ่าสมณะหรือพราหมณ์ผู้ดำรงอยู่ในธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องไปอบายก็ได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วถูกใช้ไปติดต่อส่งข่าวเมื่อมีเรื่องด่วน เมื่อถูกซักถามเข้าก็พูดไม่รู้เรื่อง หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วแม้จะเคยมีใจละอายอยู่บ้าง ก็เปิดสิ่งที่น่าละอายออกมาได้ แม้จะเป็นคนมีปัญญา ชอบสงบ ก็พูดมากได้ หม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วยอมอดอาหารนอนสุมหัวกันเป็นกองเหมือนลูกหมู ถึงกับนอนไม่สบายบนพื้นดินบ้าง ถึงกับสิ้นสง่าราศีบ้าง ถูกข้อครหาบ้างหม้อใบนี้เต็มด้วยน้ำชนิดนั้น
พวกอสูรดื่มน้ำชนิดใดแล้วเมาจนถึงจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วยังสำคัญตัวว่าเที่ยงแท้ ยังมีมายาอยู่อีก ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อทรงรู้ว่าน้ำเช่นนั้นเป็นน้ำเมา หาประโยชน์มิได้ ยังจะเสวยไปทำไม
ในหม้อนี้ไม่มีเนยข้นหรือน้ำผึ้ง พระองค์ทรงทราบอย่างนี้แล้วจงซื้อไว้เถิด สิ่งที่อยู่ในหม้อนี้ข้าพระองค์ได้กราบทูลแก่พระองค์หมดสิ้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้”
พระเจ้าสัพพมิตต์ทรงสดับดังนั้นก็ทรงทราบถึงพิษภัยของสุรา ทรงดีพระทัยตรัสกับท้าวสักกะแปลงว่าท่านมิได้เป็นมารดาบิดาของข้าพเจ้าเลย แต่เป็นคนหนึ่งที่มุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูลหวังประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเท่านั้น ข้าพเจ้าขอทำตามคำของท่านในวันนี้ โดยจะให้บ้านส่วยห้าตำบล ทาสีหนึ่งร้อย โคเจ็ดร้อย และรถเทียมม้าอาชาไนยอีกสิบคันแก่ท่าน และขอท่านได้โปรดเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าด้วย
ท้าวสักกะทรงสดับแล้วได้ตรัสคืนสิ่งของพระราชทานทั้งหมดแล้ว ทรงเปิดเผยความจริงว่าพระองค์เป็นใคร ประทานโอวาทแนะนำให้ท้าวเธอมั่นอยู่ในศีลในธรรมแล้วเสด็จกลับทิพยวิมาน
ชาดกที่แสดงมานี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาเล่าเอง เมื่ออ่านแล้วคงเห็นแล้วว่าอันว่าสุรานั้นมีพิษร้ายแค่ไหน สร้างความวิบัติให้แก่ผู้ดื่มและติดได้อย่างไร