ลักษณะของภาษาเทศน์ที่ดี

วันที่ 03 สค. พ.ศ.2567

ลักษณะของภาษาเทศน์ที่ดี

 

670803_b122.jpg
                 เมื่อภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญของการเทศน์เพื่อสื่อสารถ่ายทอดข้อธรรมที่ประสงค์จะแสดงไปสู่ผู้รับสารคือผู้ฟังหรือผู้อ่าน และเมื่อต้องการจะให้ผู้รับสารได้รู้และเข้าใจข้อธรรมนั้นๆอย่างถูกต้องตรงกับผู้แสดงภาษาจึงย่อมมีความสำคัญมากต่อการเทศน์ หากว่าใช้ภาษาไม่ถูก ใช้ไม่ตรงกับความหมายจริง หรือไม่ได้ความหมายตามที่ต้องการ ก็ย่อมทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน หรือไม่เข้าใจเลยก็ได้ ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพิถีพิถันในการใช้ภาษาในการเทศน์แต่ละครั้ง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการเทศน์ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นแต่เพียงได้เทศน์และได้ฟังเทศน์พอเป็นกิริยาบุญเท่านั้น แต่ไม่ได้เนื้อหาสาระของธรรมตามที่ควรจะได้

ภาษาที่ดีที่ควรนำมาใช้ในการเทศน์ก็คือภาษาที่ได้ลักษณะ ๒ อย่างคือ
(๑) ได้คำ
(๒) ได้ความ

 

                  คำว่า “ได้คำ” ก็คือคำที่ใช้นั้นเป็นคำที่ดี คือมีลักษณะเป็นคำที่ไม่มีโทษ เป็นคำไพเราะหู สละสลวย เป็นต้น มิใช่ถ้อยคำที่เป็นภาษาไม่ดีซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า ภาษาที่ใช้เทศน์นั้นหากเป็นถ้อยคำที่ดีย่อมนำมาซึ่งความไพเราะเสนาะหู ฟังแล้วชื่นใจ ไม่สะดุดหู ถ้าเป็นข้อเขียนก็จะสละสลวย น่าอ่าน ไม่สะดุดตาอีกอย่างหนึ่ง คำที่นำมาใช้เทศน์นั้นเป็นคำที่ถูกต้อง ตรงประเด็นตรงกับเรื่อง รับกันลมกันกับเรื่องที่กำลังแสดง เป็นคำที่ไม่ขัดแย้ง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างนี้ก็อยู่ในข่ายที่เรียกว่า“ได้คำ”คำว่า “ได้ความ” คือภาษาถ้อยคำที่ใช้นั้นมีความหมายตรงประเด็น ตรงกับเรื่อง คือสามารถสื่อสารให้รู้และเข้าใจเรื่องได้ตามประสงค์ สามารถแปลความหมายหรือตีความหมายได้ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน ไม่ก่อให้เกิดความสงสัยว่าคำนี้หมายความว่าอย่างไร เพราะคำบางคำมีความหมายหลายอย่าง จำต้องเลือกใช้ให้เหมาะแก่เรื่อง

 

                 คำบางคำมีความหมายที่รัดกุม เหมาะกับเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ คือในเรื่องนี้ต้องใช้ถ้อยคำนี้เท่านั้นจึงจะตรงกับเรื่องและเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายก็ได้ตัวอย่างในเรื่องนี้เช่น จะอธิบายเรื่องความรัก ซึ่งต้องอธิบายว่าความรักมีลักษณะอย่างไร หากอธิบายโดยไม่ใช้ภาษาที่ทั้งได้คำและได้ความมาช่วย ก็อาจอธิบายวกวนจนจับประเด็นความไม่ได้ว่ากำลังอธิบายความรักประเภทใดใน ๒ แบบ คือความรักแบบของพ่อแม่กับความรักแบบหนุ่มสาว หากใช้คำให้ชัดเจนลงไปว่าความรักที่กำลังแสดงอยู่นี้คือ “เมตตา” หรือ “ราคะ” เพราะ ๒ คำนี้ต่างมีความหมายว่า “ความรัก” เช่นเดียวกัน ต่างกันแต่เป็นความรักคนละแบบ คือเมตตา เป็นความรักแบบไม่มีกิเลสผสม เช่นความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ส่วนราคะเป็นความรักแบบมีกิเลสผสม เช่นความรักของหนุ่มสาว เมื่อใช้ภาษาที่ได้คำและได้ความเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ฟังหรือผู้อ่านเมื่อกล่าวโดยทางวิชาการ คำว่า “ได้คำ” ก็คือคำว่า “สพฺยญฺชนํ” (ถึงพร้อมด้วยพยัญชนะ) และคำว่า “ได้ความ” ก็คือว่า “สาตฺถํ” (ถึงพร้อมด้วยอรรถะ) นั่นเอง
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037734401226044 Mins